สกู๊ปพิเศษ
“โกมินทร์” (ฉบับ5Gสวมผ้าใบ) ต้นเค้าจาก “นาจา” เทพเจ้าจีน!
“โกมินทร์” ผ่านการรีเมกถึง 4 ครั้ง มีชื่อ “โกมินทร์ผู้กล้า” !
ฮีโร่เด็กในยุค 5G คนนี้มาในสายสปอร์ต สวม “รองเท้าผ้าใบ” ทันสมัย ล้ำยุคเกินจินตนาการเกินจะคาดเดา! แต่จะประสบความสำเร็จแค่ไหน หรือไม่ ก็ต้องดูกันไป ... งานนี้ คนที่เคยผ่านโกมินทร์มาหลายยุค อาจสะดุ้งเบาๆกับจุดยืนใหม่ “รองเท้าผ้าใบ” หรือจะเป็นโฆษณาแฝง !
อยากชม โกมินทร์ เวอร์ชั่นนี้ให้เตะตา ต้อง 08.00 น. เช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง 7 HD
โกมินทร์ เป็นหนึ่งในนิทาน ที่นำมาจาก “นิทาน (วรรณกรรม)วัดเกาะ” มาเรียบเรียงใหม่โดย บุราณ หรือ “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร หนังสือเล่มเล็กๆเหล่านี้ มากถึง 300 เล่ม ไพรัช ได้รับมอบมาจาก “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ”
อะไรคือ “นิทานวัดเกาะ”
“โกมินทร์ผู้กล้า” มาแทน “ลูกผู้ชายชื่อไกรทอง” ที่เพิ่งลาจอไป ละครพื้นบ้าน จักรๆวงศ์ๆ ที่ผลิตซ้ำ วนเวียนอยู่หลายๆเรื่อง ตั้งแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน มาจาก “นิทานวัดเกาะ” นี่แหละ! ยกตัวอย่าง นิทานที่คนไทยคุ้นเคยหลายเรื่อง เช่น ปลาบู่ทอง, โสนน้อยเรือนงาม, พระรถ-เมรี, โกมินทร์, นางอุทัย, แก้วหน้าม้า, พระสุธน-มโนราห์, แก้วพิสดาร, พระอภัยมณี, เกราะแก้วกายสิทธิ์, แตงอ่อน, โม่งป่า, สามฤดู, หลวิชัยคาวี, ชัยเชฐ, รวมถึงวรรณคดีอย่าง อิเหนา, ขุนช้าง-ขุนแผน, ราชาธิราช ฯลฯ งานพิมพ์เหล่านี้เคยอยู่ในรูปของร้อยกรองหรือกาพย์ แต่เรียงบรรทัดเหมือนร้อยแก้ว วรรณกรรมวัดเกาะที่ว่านี้ มีทั้งนิทานพื้นบ้าน วรรณคดี พงศาวดารจีน ชาดก สุภาษิตคำสอน และตำราประเภทต่างๆ ส่วนนิทานส่วนใหญ่นั้น มักมีเรื่องข้องแวะกับอิทธิฤทธิ์ อาวุธและสัตว์วิเศษ สัมพันธ์กับผู้คน ตั้งแต่ชนชั้นสูง กษัตริย์ ถึงชาวบ้าน ตลอดจนถึงทวยเทพ แก่นของเรื่องหนีไม่พ้นเรื่อง ความรัก อิจฉาริษยา พยาบาทอาฆาต เป็นต้น หนังสือบางๆแต่ละเรื่องนั้นจะพิมพ์หลายเล่มกว่านิทานเรื่องนั้นๆจะจบสมบูรณ์
เดิมทีหนังสือนี้แพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดพิมพ์โดย “โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ” หรือ รู้จักกันในชื่อ “โรงพิมพ์วัดเกาะ” ตั้งบนตึกแถวคูหาเดียวหน้าวัดเกาะ หรือวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4นั้น “แซมมวล เจ. สมิธ” มิชชันนารีชาวอเมริกันได้ตั้งโรงพิมพ์พิมพ์วรรณคดีไทยขาย ต่อมาถูกศาลกงสุลว่า ผิดวิสัยมิชชันนารีที่พิมพ์หนังสือประโลมโลกย์ขายจึงต้องหยุด ขายต้นฉบับให้โรงพิมพ์อื่นไปพิมพ์ขายต่อ
วรรณกรรมวัดเกาะนี้ ต่อมาถูกนำไปแปรรูปในสื่ออื่นสารพัดรูปแบบตามสมัยนิยม เช่น ละครชาตรี, เพลงทรงเครื่อง, ลิเก, ลำตัด, การ์ตูน, ละครวิทยุ, ละครโทรทัศน์ บางเรื่องเป็นแอนิเมชั่น รวมถึงเกมก็มี เป็นต้น
โกมินทร์ บทดัดแปลงของ “บุราณ”
“เด็กน้อยผู้เกิดมาจากสวรรค์ พร้อมพละกำลังมหาศาลและกำไลกับแพรแดง ของวิเศษที่ใช้ปราบอธรรม แต่กลับมีปมด้อยขาดความรักจากพ่อ”
ณ เมืองกุสินคร มีพระราชานามว่า “โกสุทัม”(พบศิลป์ โตสกุล) และพระมเหสีนามว่า “ฉวีวรรณ” (กุสุมา ตันสกุล)ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสถึงสามพระองค์ คนโตนามว่า “โกเมศ”(สุพศิน แสงรัตนทองคำ) คนรองคือ “โกมล”(วงสวัสด์ สุริยะชัยวัฒนะ) และน้องเล็กสุดท้องที่ทรงฤทธานุภาพ เพราะตอนแรกเกิด ได้มีของวิเศษติดตัวมาด้วยอัน ได้แก่ ผ้าเมาลีสีแดง และกำไลหยกที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้ นามว่า “โกมินทร์” (เด็กชายชัญญ จรัสวสุท / ภูธนิน สินสมใจ)
แม้นว่าโกมินทร์ยังเป็นเด็กอายุเพียง 12 ปี แต่ความสามารถไม่เป็นรองใคร ความที่เก่งกล้าเฉพาะตัว แถมยังมีอาวุธวิเศษ ทำให้โกมินทร์ไม่เกรงกลัวผู้ใด ทำให้เป็นที่ริษยาของอำมาตย์นามว่า “อภิมัน” (สุธี ศิริเจริญ) ส่วนโกเมศและโกมล พระราชาโกสุทัมได้ส่งไปศึกษาวิชากับพระดาบสเพื่อจะได้มีความเก่งกล้าสามารถ แต่โกมินทร์กลับคิดว่าพ่อไม่รักจึงไม่ส่งตนไปเรียนเหมือนกับพี่ ๆ วันหนึ่งโกมินทร์กับเพื่อนนามว่า “มัสกา” ซึ่งก็เป็นลูกชายของอำมาตย์อภิมันได้ไปเที่ยวแถวชายทะเล แล้วไปพบกับ “อัคคี” (ธนบดี เปรมทอง) บุตรชายของ “กะโตหน” (ณพบ ประสบลาภ) พญานาคราชแห่งเมืองใต้บาดาล เกิดการเขม่นกันจนถึงขั้นต่อสู้กัน กระทั่งโกมินทร์พลั้งมือฆ่าอัคนีตาย เมื่อกะโตหนรู้ว่าบุตรชายถูกฆ่าตาย ก็พาทหารเอกคือ “นัคคา” บุกมาถึงเมืองกุสินคร ขู่บังคับให้โกสุทัมส่งโกมินทร์มาให้ตนลงโทษ โกสุทัมเกรงกลัวอำนาจกะโตหน จึงคิดจะส่งโกมินทร์ให้ แต่โกมินทร์ไม่ยอม ทำแสร้งเป็นหนีไป กะโตหนออกไล่ล่าและสู้กัน แต่กลับพ่ายแพ้แก่โกมินทร์ และถูกโกมินทร์พามาเฝ้าโกสุทัม พร้อมให้สาบานว่าจะไม่คิดมารุกรานเมืองกุสินครอีก จากนั้นโกมินทร์จึงปล่อยตัวกะโตหนกลับไป โกสุทัมดีใจที่ลูกชายสามารถปราบพญานาคราช ได้ ทุกคนปลื้มและชื่นชมยกเว้นอภิมันที่เจ็บแค้นโกมินทร์ เพราะฝังใจว่าโกมินทร์คือต้นเหตุที่ทำให้บุตรชายถูกนัคคาฆ่าตาย ในระหว่างที่โกมินทร์แสร้งทำเป็นหนีกะโตหนไปเขาไกรลาศ จึงเก็บความแค้นเอาไว้ตลอดมา มาร่วมลุ้นและผจญภัยไปด้วยกันกับละครพื้นบ้านเรื่อง “โกมินทร์ผู้กล้า” (รายชื่อนักแสดงจากเวอร์ชั่น“โกมินทร์ผู้กล้า”)
โกมินทร์ 4 เวอร์ชั่น +1
ปี 2518 “โกมินทร์” ถูกสร้างครั้งแรก โกมินทร์วัยเด็ก นำแสดงโดย “ลอร์ด” สยม สังวริบุตร ลูกชายคนรองของอาหรั่ง ซึ่งเป็นผู้บริหารของ สามเศียร และดีด้า ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้น อายุได้เพียง 12 ปีเท่านั้น , ส่วนโกมินทร์ตอนโตคือ ไพโรจน์ สังวริบุตร คู่กับนางเอกคือ เยาวเรศ นิสากร ความโด่งดังของหนังทีวีเรื่องนี้ ทำให้ต้องนำฟิล์ม 16 มม. มาปรับเป็นหนังใหญ่ 35 มม. ในชื่อ “อภินิหารโกมินทร์” ฉายในโรงภาพยนตร์ ในปี 2520
ในยุคแรก ไพรัช สังวริบุตรเริ่มก่อตั้ง “บริษัทดาราฟิล์ม” ด้วยทุน 8 หมื่นบาท ผลิตภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “ปลาบู่ทอง” บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์ประเภท นิทานพื้นบ้าน จักรๆวงศ์ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรม วรรณคดี จากนั้น “ดาราฟิล์ม” ได้พัฒนาเป็น “สยามฟิล์ม” และขยายเป็น ดาราวิดีโอ,ดีด้า โปรดักชั่น , สามเศียร ฯ ตามลำดับ ปรับเปลี่ยนการถ่ายทำ เข้าสู่การทำละครสมัยใหม่ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จนวันนี้... ละครพื้นบ้านยังอยู่คู่กับช่อง 7 HD เพียงแต่ย้ายมาอยู่ช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์
ยุคแรก วรรณคดีที่สร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์และประสบความสำเร็จมากคือ “ขุนแผนผจญภัย” บทเดิมมีเพียง 8 ตอน ไพรัชได้รับมอบมาจาก “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ” ไพรัชนำมาเขียนต่อเติมไปเรื่อยๆ จนถึง 500 ตอน ถึงขนาดกุมารทองโตกว่านางพราย ก็ปรับนักแสดงกันไป
โกมินทร์สร้างครั้งแรกเมื่อปี 2518 เรตติ้งสูงมากจนชนะขุนแผนผจญภัยที่เคยทำไว้ ตอนจะเปิดกล้อง ออนแอร์ ยังหาโกมินทร์วัยเด็กไม่ได้ “ลอร์ด” สยม สังวริบุตร บอกพ่อว่า “เดี๋ยวลอร์ดเล่นเอง” !
ความตอนหนึ่ง ที่ปรากฏในนิตยสาร a day ฉบับที่ 42 “กาลครั้งนี้... สวรรค์มีเรื่องราว” ว่า
“ยุคเฟื่องฟูมากคือ ยุคที่ทำ โกมินทร์ เรตติ้งสูงมาก ไปไหนคนสนใจเยอะ อย่างลอร์ด (สยม สังวริบุตร) เดินไปปั๊บ คนแก่หยิบมานั่งตักเลย ร้องห่มร้องไห้บอก “ยายให้เงิน” ผมบอก “คุณยายไม่ต้องไปให้หรอกเขาก็มี” ไม่ได้ หลานของยาย ไพรัชเล่าเลียนเสียงคุณยาย พร้อมทำท่าโศกเศร้าสงสารของคุณยายครั้งนั้น แต่เรื่องความโด่งดังของหนังโทรทัศน์เรื่องนี้ยังมีอีก”
“แล้วพวกขายไอติมอะไร มันเอารูปลอร์ดไปใส่แบงก์ เราก็ต้องไปแจ้งความ มันไปขายใบละ 15 บาท ขายกันให้เกร่อตอนดัง มันน่าจะทำให้หนังจักรวงศ์ดังขึ้นมากที่สุด เพราะเดี๋ยวนี้ ยังมีคนพูดถึงอยู่ เนื่องจากมันมีตัวตนไง เจ้าลอร์ดมันยังอยู่” ไพรัช กล่าว ปัจจุบัน ด.ช. สยม สังวริบุตร กลายเป็นผู้บริหารกำลังสำคัญของบริษัทดีด้า ผลิตละครทันสมัยเพื่อผู้ชมทางช่อง 7 เช่นเดียวกับบิดา”
ปี 2532 ใช้ชื่อ “โกมินทร์กุมาร” ผลิตโดย ดาราวิดีโอ กำกับโดย สมชาย สังขสวัสดิ์ นำแสดงโดย ชาตรี พิณโณ,พอพล สุพรรณพงษ์ , เอกชัย ฉิมพะวงศ์ (ศรีวิชัย) , ดช พีรพันธ์ ศุขประยูร, สิงห์แก้ว ศรีวิลา, สมบูรณ์ สุขีนัย, อำภา ภูษิต, สุรพล ไพรวัลย์, พรอนันต์ ศรีจันทร์, เศกศักดิ์ เนติลักษณ์, บรรเจิดศรี ยมาภัย, สมาน หินลาด, แบล็ค ผมทอง
ปี 2547 ในชื่อ “เจ้าชายโกมินทร์” นำแสดงโดย เด็กชายอรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์/ ฆธาวุธ ปิ่นทอง และรุ้งรดา ( หรือ ศิริวัฒนา เบญจมาธิกุล หรือ แยม ธมลพรรณ์ ภานุชิตพุทธิวงศ์ (ประเสริฐวิทย์) - ซึ่งกำลังมีข่าวเกี่ยวกับการทำเว็บโป๊ และพนันออนไลน์ ในตอนนี้) เจษฎา รุ่งสาคร , ศุภชัย เธียรอนันต์ , วณิษฐา วัชโรบล , พิพัฒน์พล โกมารทัต , พลกฤษณ์ จักรสุวรรณ กำกับการแสดงโดย เสกศักดิ์ วรสิทธิ์
และเวอร์ชั่นปัจจุบัน 2566 “โกมินทร์ผู้กล้า” ละครออนไลน์เรียกขำๆว่า “โกมินทร์ 5G สายสปอร์ต” แสดงโดย เด็กชายชัญญ จรัสวสุท / ภูธนิน สินสมใจ
แม้ว่าละครพื้นบ้านสมัยนี้ไม่ได้เป็นที่นิยมเช่นสมัยก่อน ลงทุนอาจจะไม่สูงมาก บทอาจจะไม่ได้แข็งแรงมากมายนัก เสื้อผ้า หน้าผม ก็ไม่จำเป็นต้องเป๊ะ อย่างในละครพีเรียดที่ต้องค้นคว้าความถูกต้อง ละครพื้นบ้านพวกนี้ เกิดในเมืองสมมุติ จินตนาการเอาเป็นว่า อย่างนั้น อย่างนี้ ดังนั้น “โกมินทร์” ในยุคหลังจะให้สมบูรณ์ ดีงามอย่างมาสเตอร์พีชเช่นเดียวกับอดีตคงเป็นไปไม่ได้ ! แต่ความสนุกมีแน่ อย่าคิดซับซ้อน ชอบก็ดูกันไปเถอะ ไม่ชอบก็นอนต่อ (เช้าวันหยุดทั้งที) เข้าใจว่า นิทานพื้นบ้านที่สามเศียรทำอยู่นั้น เพื่อให้เด็กๆได้ชมละครเหล่านี้
แต่ถ้าเมื่อใดที่นิทานบางเรื่องถูกตีความใหม่ พัฒนาด้วยต่อยอดด้วยระบบความคิดอ่านที่ซับซ้อน ก้าวหน้า เพราะก้าวหน้าไม่ได้แปลว่า ไม่อนุรักษ์ ! ผูกโยงสร้างเรื่องใหม่ หนังใหญ่พยายามทำ แน่นอนว่า มันจะไม่ใช่ หนังสำหรับเด็กอีกต่อไป "พระราชา ผู้คนและสวรรค์" ถูกนำมาเล่าใหม่ เหมือนอย่างเกาหลีเคยเล่า “ตำนานไซอิ๋ว” บทใหม่! ให้เราดู
“นาจา” เทพเจ้าจีนคือต้นเค้า “โกมินทร์”
โกมินทร์มีต้นเค้าและดัดแปลงจากเรื่องเทพเจ้าเด็กพระองค์หนึ่งของลัทธิเต๋าคือ นาจา (หน่าจาซาไทจื้อ) ในเมืองไทย เป็นเทพประธานของ “วิหารเทพสถิตพระกิตติเฉลิม ศาลเจ้าหน่าจาซาไทจื้อ” ซึ่งตั้งอยู่ที่อ่างศิลา ชลบุรี, ในกรุงเทพฯหรือบางจังหวัด มีรูปเคารพในศาลเจ้า-วัดจีนในบางแห่ง, ภายหลังได้สร้างเป็นเทพอารักษ์หน้าห้างสรรพสินค้าบางแห่ง เช่น แพลตตินัม ประตูน้ำ และ ห้างเมกาพลาซา สะพานเหล็ก
เรื่องราวของ “นาจา” (บ้างเขียนว่า หน่าจา) ปรากฏอยู่ใน “ห้องสิน” พงศาวดารว่าด้วยการสถาปนาเทพเจ้าฝ่ายจีน ต่อมา เทพนาจาได้รับการเสริมแต่งเพิ่มอีกหลายสำนวน อันเป็นเรื่องปกติของการยอเกียรติของเทพเจ้าในทุกศาสนาจนเป็นที่มาของปางต่างๆมากมาย
การจัดสร้างภาพยนตร์-ซีรีส์ เคยมีนักแสดงซึ่งรับบท“นาจา”หลายคน ทั้งจากเรื่องราวของ “เทพนาจา” โดยตรง หรือ เป็นตัวละครหนึ่งในเรื่องอื่นๆ และตำนาน “เทพนาจา” มีเรื่องราวไปไกลกว่าโกมินทร์เยอะ !
“ซ่งซู่เอ่อร์” รับบทเป็น นาจา ในเรื่อง อภินิหารโคมวิเศษ ภาค 2 | Prelude of Lotus Lantern
“หวังจูหลิน” จากเรื่อง Nezha and Yang Jian
“เฉินฮ่าวหมิน” จากเรื่อง God of Honour | นาจาเทพจอมอิทธิฤทธิ์
“เซี่ยเหมียว” แสดงเรื่อง Nezha Conquers the Dragon King
“เจียงอี้อี้” แสดงเรื่อง Heroic Journey of Nezha | นาจา ตำนานเทพพิชิตมาร (ดูได้จาก Monomax)
ไกลกว่านั้น ยุค Shaw Brothers เคยสร้าง นาจาถล่มจ้าวสมุทร | Na Cha the Great นำแสดงโดย “ฟู่เซิง”
เหล่านี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างประกอบเท่านั้น ซึ่งน่าจะมีอีก !
เรื่อง “เทพนาจา” ของจีน กล่าวว่า
พ่อของนาจาเป็นแม่ทัพหลี่จิ้ง เคร่งครัดในกฎระเบียบ วินัยทหารอย่างชาตินักรบ เมียชื่อนางฮึ่นสี หรือนางฮิง ครอบครัวนี้มีบุตรชาย 3 คนคือ กิมจา บักจา และนาจา นางฮิง ตั้งท้องลูกคนเล็กอยู่นาน 3 ปี 6 เดือน ตอนคลอด ปรากฏเป็นก้อนเนื้อ (บ้างว่า ลูกแก้ว) ถูกรกพันเต็มไปหมด หลี่จิ้งเข้าใจว่าเป็นปีศาจจึงเอามีดพันรก ปรากฏเป็นกุมารน้อยน่ารัก ถือ แพรแดง กับ ห่วงทอง มาด้วย นักพรตไท้อิกจิงยิ้งมาร่วมแสดงความยินดี พร้อมบอกให้พ่อแม่คลายกังวลว่า เด็กคนนี้มีบุญญาธิการ พร้อมขอนาจาไปเป็นศิษย์ จะถ่ายทอดสรรพวิชาให้ เมื่ออายุ 7 ขวบ นาจาไปเล่นน้ำทะเล เหวี่ยงผ้าแพรลงน้ำเล่นสนุกสนานประสาเด็ก จนใต้บาดาลสะเทือน บุตรชายเจ้าสมุทรพร้อมทหารออกมาตรวจดู และมีเรื่องปะทะกันจนลูกเจ้าสมุทรถึงแก่ความตาย พญามังกรโกรธจัดจะเอาน้ำทะเลถล่มเมือง เพื่อไม่ให้ใครเดือดร้อนจากการกระทำของตนเอง นาจาจึงควักไส้ แล่เนื้อคืนแม่ ตัดกระดูกคืนพ่อ สิ้นชีวิตในโลก ฝ่ายนักพรตบอกนางฮิงให้ตั้งศาล ถึงฤกษ์จะชุบชีวิตลูกชายให้ นาจาเมื่อครั้งมีชีวิตได้ช่วยชาวบ้านหลายเรื่อง ชาวเมืองเลื่อมใส พากันกราบไหว้บูชา ขุนพลหลี่จิ้งโมโห สั่งรื้อศาล ทำให้นักพรตต้องใช้ ก้านบัวแทนกระดูก , รากบัวแทนเนื้อ, ใยบัวแทนเอ็น , ใบบัวแทนอาภรณ์ มาชุบชีวิตศิษย์รัก พร้อมมอบทวนอัคคี กับกงล้อเพลิงให้กับเทพนาจา แม้นาจาจะเป็นเทพนักรบ (ปราบปีศาจ) เช่นเดียวกับพ่อ แต่มีความเป็นขบถ เสรีชน กล้าพูด กล้าแย้ง และเห็นต่าง
เมื่อแม่ทัพหลี่จิ้งหมดอายุขัยในโลก เง๊กเซียนฮ่องเต้ ทรงแต่งตั้งเป็น “หลี่เทียนอ๋อง” หรือ เทพเจดีย์ หรือ ท้าวกุเวร (เวสสุวรรณ) พระกายดำ ถือเจดีย์วิเศษเป็นสัญลักษณ์ เจดีย์นี้สามารถกักขังได้ทั้ง เทพ-เทวดา, ปีศาจ และวิญญาณทั้งหลาย แม้แต่หงอคงก็เคยโดนกักขังไว้ในเจดีย์วิเศษนี้
ส่วนนาจา เง๊กเซียนฮ่องเต้ แต่งตั้งเป็น “จงตั๋นหง่วนโส่ย” เทพผู้เฝ้าประตูและคุมทหารสวรรค์ คุมทัพซันไทกุน มีคุณสมบัติในการปราบปีศาจร้าย
จะเห็นว่า ความเหมือนของโกมินทร์-นาจา ก็คือ 3 พี่น้อง กิมจา (โกเมศ), บักจา(โกมล), นาจา(โกมินทร์) ของวิเศษเมื่อแรกเกิด ผ้าแพร (ผ้าแพรสีแดง), ห่วงทอง (กำไลหยก), ลูกชายพญามังกรจ้าวสมุทร (พญานาค)
เรื่อง “โกมินทร์และนาจา” เป็นตัวอย่างการถ่ายเทวัฒนธรรมในเรื่องเดียวกัน ผ่านช่องทางต่างๆตามความนิยมของยุคสมัย เนื้อแท้เหมือนกัน หากแต่ต่างกันในบางรายละเอียด ตามความเชื่อของแต่ละพื้นถิ่น ประเพณี วัฒนธรรมเท่านั้น อย่าทึกทักเคลมว่า “โกมินทร์” เป็นของไทยเชียวนะ ! เดี๋ยวทัวร์จะลง...