สกู๊ปพิเศษ
"ภพ" คลั่งรักถึงชาติหน้าจนเจอ "พุดตาน" !
อย่าลุกจากที่นั่งจนกว่าหนัง "บุพเพสันนิวาส ๒" จะจบสนิทบริบูรณ์ !
เรื่องราวเหมือนจะจบ แต่ยังไม่จบดอกหนาออเจ้า มี “ภาคต่อ” แน่ๆ เพราะท้ายของท้าย สุนทรภู่ จอม "มูเตลู" กับขุนสมบัติบดี ได้ฝัง “กล่องไม้” ซึ่งบรรจุของบางอย่างฝังไว้ใต้พื้นดิน …. ในกาลข้างหน้า ... กี่ปีหนอ ! เรื่องราวของ “แม่พุดตาน” จึงเริ่มขึ้น !
เป็นที่ชื่นใจของชาวพระนครและหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ได้ลิ้มรสเรื่องราวความรักของ “ภพกับเกสร” จนนอนฝันดี น้ำลายยืดกันเป็นทิวแถว แม้เนื้อเรื่องในละคร จะเท็จบ้าง จริงบ้าง เล่นมากบ้าง น้อยบ้าง ไปกับเรื่องสมมติที่วาดขึ้นเป็นเรื่องราว
เรื่องราวของ "เกศสุรางค์ (การะเกด) และ "พี่หมื่น ขุนศรีวิสารวาจา" คนเดิมจากสมัยอยุธยา มาโผล่มาช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็น "ภพ หรือขุนสมบัติบดี" และ "เกสร" ซึ่งไม่มีในภาคนิยายของ “รอมแพง”
‘ขุนสมบัติบดี’ นายช่างใหญ่ประจำกรมพระคลัง เทียบได้กับวิศวกรในปัจจุบัน มียศตำแหน่งมั่นคง แต่ไม่ยอมออกเรือนเสียที เพราะยึดมั่นกับผู้หญิงนางหนึ่งที่ฝันเห็นมาตลอด 10 ปี จนวันหนึ่งได้พบกับเธอตัวเป็นๆ ราวกับบุพเพสันนิวาส ในโรงละครนอกของเสด็จในกรมฯ แต่เธอ แม่เกสร กลับมองว่าเขาเป็น ‘ไอ้หน้ายิ้มหัวโบราณ’ จนชาวสยามทั่วทุกทุ่ง คุ้งน้ำ ต่างขนานนามให้ว่า เขาคือ ‘บิดาแห่งการรักเธอทุกชาติภพไป’
ทั้งภพ (ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) , เกสร (เบลล่า ราณี แคมเปน) และ เมธัส (ไอซ์ พาริส อินทรโกมาลย์สุต) ต่างทำให้ การใช้ปืนใหญ่ถล่มกำแพงวังไม่เป็นผล !
ร่วมด้วยนักแสดงในบทต่างๆ และบุคคลในประวัติศาสตร์ ทั้ง 4 คน ที่ถูกลอกคราบมาโชว์ขำ อยู่ในหนังเรื่องนี้
นิมิตร ลักษมีพงศ์ รับบท พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่
‘สุนทรภู่’ หรือ ‘พระสุนทรโวหาร’ เจ้าของฉายา "เชกสเปียร์เมืองไทย" และ ‘กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์’ โดดเด่น เป็นที่ปรึกษาของภพ ด้านผลงานการประพันธ์ที่โดดเด่นและรู้จักดีคือ พระอภัยมณี ! ฉาก สบตา เห็นกันเป็นครั้งแรกของพระ-นาง จึงมีฉากตัวละคร “พระอภัยมณี” ในโรงละครนอกของเสด็จในกรมฯ ถึง จังหวะ “เป่าปี่” พอดิบพอดี! เพราะ พระอภัยมณีใช้เสียงปี่ลดความรุนแรง ! สร้างความรัก
กวีผู้นี้มีความรู้กว้างขวาง รอบรู้ในภาษาต่างๆ นอกเหนือจากภาษาไทย ดังนั้น งานเขียน "พระอภัยมณี" จึงได้สร้างเนื้อหาที่แปลกใหม่ เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความสนุก และแฝงการเมืองการปกครองของต่างประเทศ ตลอดจนวัฒนธรรมของต่างชาติเอาไว้
สุจิตต์ วงษ์เทศว่า สุนทรภู่เขียนนิทานคำกลอนนี้เป็นตอนๆ ขณะบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม จากการวิเคราะห์พบว่า เกาะแก้วพิสดารมิใช่ "เกาะเสม็ด (เสร็จทุกราย) และมีเนื้อหาต่อต้านสงครามล่าอาณานิคมของอังกฤษ เพราะสมัยนั้น อังกฤษได้ยึดอินเดีย, ลังกา และกําลังแผ่อำนาจเข้ายึดอุษาคเนย์ทางแหลมมลายู, พม่า
สุนทรภู่ ชื่นชม หญิงที่มีความรู้ ความสามารถ จึงสร้างตัวละคร "นางวาลี" แม้รูปร่างจะไม่น่าพิสมัย แต่ ฉลาด รอบรู้ หาตัวจับยาก เป็นที่ปรึกษาของพระอภัยมณี
ส่วนเรื่องเมามาย จนได้ฉายาทางโหราศาสตร์ว่า "สุนทรภู่ อาลักษณ์ขี้เมา" อาจจะเป็นการแสร้งแกล้งทำเพื่อสร้างความครื้นเครงในหมู่เพื่อนฝูง เพื่อเป้าหมายบางอย่าง!
ในหนัง “สุนทรภู่” เฮฮา ครื้นเครง แถมยัง “มูเตลู” อีกต่างหาก บทส่งท้ายให้สุนทรภู่สามารถร่ายมนตร์สันสกฤต "กฤษณะกาลี"กำจัดคนชั่วอีกต่างหาก
สตีเฟน โธมัส รับบท แดน บีช แบรดลีย์ (หมอบรัดเลย์)
‘หมอบรัดเลย์’ จากรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมายังสยามเมื่ออายุ 31 ปี ทำงานในคณะหมอสอนศาสนา พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะสำเพ็ง หรือ วัดสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน และได้เปิด “โอสถศาลา” แห่งแรกในสยาม ทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้
ในปี พ.ศ. 2379 หมอบรัดเลย์ได้ทำการผ่าตัดแขนขาให้กับภิกษุรูปหนึ่งที่โดนสะเก็ดระเบิดในงานฉลองวัดประยุรวงศาวาส นับเป็นการผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกของสยาม และยังได้ทำการผ่าตัดต้อกระจก รวมถึงทำการรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษ นอกจากนั้นยังได้เขียนตำราการปลูกฝีไว้ใช้ในการเผยแผ่ความรู้ให้คนในสมัยนั้นได้นำมาใช้ในการป้องกันโรคฝีดาษเพื่อการรักษาและการป้องกันที่ถูกต้องอีกด้วย
ในหนังจึงต้องเชิญมารักษาภพซึ่งเกิดอุบัติเหตุไม้ทิ่มตูดและต้องเย็บแผลกันสดๆ
นอกจากนั้นหมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์ในสยามฉบับแรกชื่อว่า (The Bangkok Recorder) นับว่าทำให้เกิดการพัฒนาของวงการสื่อสารมวลชนของไทยไปอีกขั้น จนได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งการพิมพ์ไทย’ อีกด้วย
ในหนัง เมธัส ได้อ่าน “บันทึกเกศกรุงศรีฯ” และโพล่งถามชื่อออกไป หมอบรัดเลย์ชื่นชอบจนนำไปตั้งเป็นชื่อหนังสือพิมพ์
โจนาธาน แซมซัน รับบท ฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (ปาลเลอกัวซ์)
‘ปาลเลอกัวซ์’ จากประเทศฝรั่งเศส อายุ 25 ปีเดินทางเข้าประเทศไทย พักอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ บางรัก เรียนภาษาไทยอยู่หลายเดือน ก่อนทำงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสประจำวัดคอนเซ็ปชัญ ซึ่งคริสต์ศาสนิกชนต่างเลื่อมใสศรัทธาท่านเป็นอย่างมาก
ปาลเลอกัวซ์ นำวิชาความรู้ของชาติตะวันตก เช่น ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศส รวมทั้งเรื่องคริสต์ศาสนามาให้แก่ชาวสยาม ท่านชอบเรียนรู้ และได้ศึกษาภาษาบาลี ภาษาไทย พระพุทธศาสนา และพงศาวดารสยาม จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญอย่างยิ่ง และภายหลังท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศสยาม เช่น เล่าเรื่องกรุงสยาม ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยนั้น และท่านยังเป็นบุคคลแรกที่สั่งซื้อกล้องถ่ายรูปแบบดาแกร์ (Daguerreotype) จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาในสยามอีกด้วย
ถึงคราวที่คู่หมั้น "ขุนสมบัติบดีและเกสร" ต้องถ่ายรูปคู่กัน ภพมีความเชื่อเดิมว่า เป็นเครื่องดูดวิญาณ !
ในหนัง ปาลเลอกัวซ์ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้เกสร, ซื้อกล่องใส่สมุดบันทึก “จดหมายเกดกรุงศรี” จากชาวจีนย่านตักลักเกี้ย หรือตลาดน้อยมา ซึ่งทำให้รู้เรื่องราวที่เกศสุรางค์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ต่างๆ ตลอดจน รูปเครื่องมือสื่อสาร อย่าง “มือถือ” เพื่อที่จะร้อยเรียงเอาเรื่องที่เมธัสจากปัจจุบัน ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเมธัสเป็นลูกหลานของนายหันแตร
แดเนียล เฟรเซอร์ รับบท หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (โรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือ นายห้างหันแตร)
‘หันแตร’หรือ ‘โรเบิร์ต ฮันเตอร์’ (หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช) พ่อค้าชาวอังกฤษเชื้อสายสก๊อต เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาตั้งร้านค้าในประเทศไทย เป็นผู้พบและนำ “อิน-จัน” แฝดชาวไทยไปเมืองนอกจนเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช’ รวมไปถึงยังเป็นผู้สร้างห้างสรรพสินค้าแห่งแรกขึ้นในสยาม คนนิยมเรียกห้างนี้ว่า ‘ห้างหันแตร’ เขาสมรสกับหญิงไทยเชื้อสายโปรตุเกส ลูกหลานของ “ท้าวทองกีบม้า” ที่บ้านกุฎีจีน ชื่อว่า ‘แองเจลิน่า’
ภายหลังความสัมพันธ์ระหว่างนายฮันเตอร์กับทางการไทยเริ่มเกิดปัญหา เมื่อทางไทยจะทำการรบกับโครชินไชน่า (เวียดนาม) นายฮันเตอร์ได้เสนอขายปืนคาบศิลาจำนวน 200 กระบอก และต้องการให้ทางไทยซื้อให้หมด ทั้งที่ทางการไทยต้องการเพียง 100 กระบอกเท่านั้น และยังเป็นผู้นำเรือกลไฟ ‘เอ็กสเปรส’ (Express) มาเสนอขายแก่สยาม แม้คนไทยในเวลานั้นจะฮือฮา เพราะไม่เคยเห็น "เหล็กลอยน้ำได้" อย่างเรือกลไฟมาก่อน แต่ทางไทยมองว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบธรรม จนนำมาซึ่งเรื่องลุกลามบานปลาย จนเกิดข้อพิพาทกับสยามในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ยังมี ชานน สันตินธรกุล, สุวัจนี พานิชชีวะ, ปวีณ์นุช แพ่งนคร ฯลฯ รวมถึง จรรยา ธนาสว่างกุล และ รมิดา ประภาสโนบล ผู้เคยรับบทบ่าวในอดีต รับเชิญมาแจวเรือตามรัก ให้ "เกสร" ในท้ายเรื่อง
นี่คือเหล่าตัวละครหลักๆ ทั้งหลายใน บุพเพสันนิวาส ๒ สนุกจริงๆนะ ออเจ้า !
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์