สกู๊ปพิเศษ
"เสด็จในกรม" บุพเพฯ ๒ LGBT ต้นรัตนโกสินทร์ !?
ตัวละครจริงในประวัติศาสตร์ที่นำมาอิงกับภาพยนตร์บุพเพสันนิวาส๒เปิดเผยชื่อกันจะๆ ยกเว้น ตัวละคร "เสด็จในกรมฯ" ที่หลายคนอยากรู้ และพากันถามไถ่ว่า เป็นใคร มีตัวตนไหม !?
แม้ว่า จะมีข้อความระบุว่า หนังได้แรงบันดาลใจจากเกร็ดประวัติศาสตร์และเป็นเรื่องสมมติก็ตาม
แน่นอนว่า “เสด็จในกรมฯ” มีตัวตนจริง อุปนิสัยของตัวละครนี้ "เก่งกล้า ใจนักเลง เปิดเผย และตรงไปตรงมา" และมีวังที่อยู่ใกล้กับโรงละครนอก ซึ่งใช้ “ชายล้วน” นำแสดง เค้าโครงนี้ เมื่อพิจารณา บุคคลในประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 3 มีเค้าว่า น่าจะเป็นการดึงเอาเกร็ด “บางส่วน” ของ "หม่อมไกรสร" มาเป็นแรงบันดาลใจ
หลังรอบสื่อมวลชน มีการถามว่า ตัวละครผู้นี้คือใครกัน ! อาจจะเป็นเพราะว่า นักแสดงอย่าง “นน - ชานน สันตินธรกุล” หล่อ ขาว สะอาด ถูกใจผู้ชม แม้ว่า จะวาจาก้าวร้าว ดุดันตามบทบาทก็ตาม ในหนังเป็นเจ้าของโรงละคร จึงมี “เศียรครู” วางรายเรียงเป็นฉากหลัง! และเจ้านายซึ่งมีโรงละครในรัชกาลที่ 3 ก็คือ “หม่อมไกรสร”ท่านนี้
อ้างถึง วิกิพีเดีย เข้าถึงเมื่อ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ว่า
พระนามเดิมคือ “พระองค์เจ้าไกรสร” ต่อมามีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ( 26 ธันวาคม พ.ศ. 2334 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391)เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่1. และเจ้าจอมมารดาน้อยแก้ว ทรงเป็นต้นราชสกุล พึ่งบุญ และสกุลอนิรุทธเทวา
ก.ศ.ร. กุหลาบ บันทึกว่า "พระองค์ท่านเปนจอมปราชญ์ จินตะกระวีบัณฑิตย์ ชาติ์ราชตระกูลสุริยวงศ์อันประเสริฐ"และจากวารสารภาษาอังกฤษที่ชื่อ Siam Repository กล่าวถึงความโดดเด่นโดยเฉพาะด้านการศาสนาและโหราศาสตร์ ว่า "ทรงมีความรู้ทางด้านศาสนาพุทธอย่างดีเยี่ยม เหนือกว่าพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ"
ทรงเป็น "กรมหมื่นรักษ์รณเรศ" ทรงงานเคียงคู่กับ "กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ท่านเป็น อาของรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น “กรมหลวงรักษ์รณเรศ” และโปรดให้กำกับ “กรมวัง”
ทุกเรื่องราว ในหนังไม่ลงรายละเอียด เพื่อความเหมาะสม ! แต่ความจริงที่ปรากฎในเอกสาร.... "ท่านเป็นสวาทกับพวกละคร" !!
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกเกี่ยวกับหม่อมไกรสร มีประเด็นคำพิพากษา คือ หม่อมไกรสรประพฤติกำเริบ ทำตนเทียมเจ้าในงานลอยกระทง เกลี้ยกล่อมเจ้านาย ขุนนางและซ่องสุมกองทหารรามัญไว้เป็นพวกพ้อง แต่ถูกสอบสวนว่าซ่องสุมผู้คนไว้มากเพื่อคิดกบฏหรือไม่ หม่อมไกรสรตอบปฏิเสธว่า "ไม่ได้คิดกบฏ" แต่กล่าวว่า หากเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อไหร่ก็จะไม่ยอมเป็นข้าใคร ตุลาการในสมัยนั้นจึงมีคำตัดสินออกมาส่วนหนึ่ง ว่า "...กรมหลวงรักษ์รณเรศมีความผิด ต้องลดอิสริยศักดิ์สมญาเป็นหม่อม ตลอดทั้งวงศ์วาน..."
นี่เป็นมูลเหตุ การถูกสำเร็จโทษ !
นอกจากนี้มูลเหตุอีกอย่างหนึ่งที่พระองค์เจ้าไกรสรถูกถอดอิสริยยศคือ ทรงเลี้ยงโขนผู้ชายไว้มากมาย บรรทมอยู่แต่กับพวกโขนละคร ไม่บรรทมกับพวกหม่อมห้ามในวังเลย รัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้เอาพวกโขนละครมาไต่สวน ได้ความสมกันว่า "...ทรงเป็นสวาทกับพวกละคร ไม่ถึงกับชำเรา แต่เอามือพวกละครและมือของพระองค์ท่านกำคุยหฐาน ของทั้งสองฝ่ายจนภาวธาตุเคลื่อน..."
นอกจากนี้ ที่มาของ “พระไพรีพินาศ” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก็มีที่มาจากเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับหม่อมไกรสร เช่นกัน
เมื่อราว พ.ศ. 2391 มีผู้นำ พระพุทธรูปศิลา แบบมหายานปางประทับนั่งประทานอภัย
มาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งขณะนั้นยังผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร และอยู่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระไพรีพินาศองค์นี้ทรงแสดงอภินิหารให้เป็นที่ประจักษ์ปรากฏแก่ อริราช ศัตรูที่คิดปองร้ายพระองค์ต่างมีอันเป็นไป และพ่ายแพ้ภัยตนเอง พระองค์จึงโปรดให้ถวาย พระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระไพรีพินาศ"โดยมีหลักฐานเป็นกระดาษซึ่งพบในพระไพรีพินาศเจดีย์ มีอักษรเขียนว่า "พระสถูปเจดียสิลาบัลลังองค์ จงมีนามว่า พระไพรีพินาศเจดียเทิญ" และอีกด้านเขียนว่า "เพราะตั้งแต่ทำแล้วมา คนไพรีก็วุ่นวายยับเยินไปโดยลำดับ" หลักฐานดังกล่าวได้ค้นพบเมื่อวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2507 ระหว่างการซ่อมแซมพระเจดีย์ 96 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ตอบสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ลงวันที่ 10 มีนาคม 2477 ว่า บุคคลที่พระจอมเกล้าฯ เห็นว่าเป็นไพรีต่อพระองค์คือหม่อมไกรสร ซึ่งเป็นคู่รักคู่แค้นตั้งแต่ก่อนพระจอมเกล้าฯ ผนวช และขณะทรงผนวช
วาระสุดท้าย หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2391 รวมพระชันษา 56 ปี และเป็นพระราชวงศ์องค์สุดท้ายที่ถูกสำเร็จโทษด้วยวิธีนี้