xs
xsm
sm
md
lg

“ใครเป็นใคร” ใน “สุนทราภรณ์ เพลงรัก เพลงแผ่นดิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : “ใครเป็นใคร” ใน “สุนทราภรณ์ เพลงรัก เพลงแผ่นดิน”

"สุนทราภรณ์ เพลงรัก เพลงแผ่นดิน" โดยเพลงเอก ละครเวทีย้อนยุคในช่วงสังคมยังเต็มไปด้วยความละเอียด ละเมียด และละมุน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราว “รักแท้ ความเป็นชาติและจิตวิญญาณแห่งดนตรี” ของขุนพลเพลงรัตนโกสินทร์ "ครูเอื้อ สุนทรสนาน" และ "วงสุนทราภรณ์" วงดนตรีระดับตำนานของประเทศมาถึง 83 ปีในวันนี้

นักแสดงในละครเรื่องนี้ เป็น "นักร้อง" ที่ผ่านการประกวดจากเวทีเพลงเอกทั้ง 2 ซีซั่นของเวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์

"สุนทราภรณ์ เพลงรัก เพลงแผ่นดิน"กำกับการแสดงโดย "อ้า" สันติ ต่อวิวรรธน์ นำแสดงโดย ธัช กิตติธัช แก้วอุทัย (เอื้อ สุนทรสนาน) , พูลิม ณิชกานต์ แก้วอินธิ (อาภรณ์ กรรณสูต สุนทรสนาน) , นุ อนุกูล โกมลอุปถัมภ์ (แก้ว อัจฉริยะกุล) , อาย กุลนรี เกิดอิ่ม(ชอุ่ม ปัญจพรรค์) , โบ๊ท ปรัชญา ธรรมโชติ (สังข์ อสัตถวาสี), แบ็งค์ เฉลิมรัฐ จุลโลบล(เลิศ ประสมทรัพย์) , โก๊ะตุลย์ พันธนนท์ วังกะหาด (วินัย จุลบุษปะ), หลิน วลัญจ์รัช เตชะวงศ์วัฒนา (มัณฑนา โมรากุล) , แบ๋ม สิริรัตน์ คำหงค์ษา(รวงทอง ทองลั่นธม) , แพรว จีรวัลย์ สอนสะอาดดี (ศรีสุดา รัชตะวรรณ) และ หยา จรรยา ธนาสว่างกุล, แท้ป ศรีล สุขุม ฯลฯ โดยมี อาร์ม กรกันต์ สุทธิโกเศศ รับหน้าที่เล่าเรื่องราวในช่วงต่างๆของครูเอื้อในแต่ละช่วงตอน

และนี่คือ เรื่องราวสั้นๆของ "บางบุคคลและเพลง" ที่โลดแล่นอยู่บนเวทีมาให้รู้จักกัน

เอื้อ สุนทรสนาน(21 มกราคม พ.ศ. 2453 – 1 เมษายน พ.ศ. 2524)

ปีพ.ศ.2552 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรี

ครูเอื้อ เกิดที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปลี่ยนชื่อมา 3 ครั้ง จาก "ละออ" เป็น "บุญเอื้อ" และ "เอื้อ" ในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อเข้ามาอยู่กับพี่ชายในกรุงเทพฯ ได้เรียนที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาเรียนที่โรงเรียนพรานหลวง ครูโฉลก เนตรสูตรเป็นผู้สอนไวโอลิน หลวงเจนดุริยางค์ (พระเจนดุริยางค์ในเวลาต่อมา) แนะให้ครูเอื้อเรียนเฉพาะวิชาดนตรี ไม่ต้องเรียนวิชาสามัญ อายุ 12 รับราชการประจำกองเครื่องสายฝรั่งในกรมมหรสพ กระทรวงวัง รับพระราชทานยศ "เด็กชา - พันเด็กชาตรี - พันเด็กชาโท" ตามลำดับ ครูเอื้อมีความรู้ทางด้านดนตรีหลายประเภท ทั้งเพลงคลาสสิก (จากพระเจนดุริยางค์), เพลงแจ๊ส (จากครูนารถ ถาวรบุตร) และเพลงไทยเดิม (จากครูมนตรี ตราโมท) ปี 2479 ครูเอื้ออายุ 26 ปี ได้เล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์ "ถ่านไฟเก่า" โดยบริษัทไทยฟิล์ม (ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล, หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์, นายพจน์ สารสิน และนายชาญ บุนนาค) และร้องเพลง "ในฝัน" แทนเสียงร้องของพระเอก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าวงดนตรีฟิล์ม วงดนตรีนี้มีอายุเพียงปีเดียว

ปี 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้ตั้งสนง.โฆษณาการขึ้น และในสมัยวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดี ได้ยกฐานะของสำนักงานขึ้นเป็น "กรมโฆษณาการ" และโอนตัวครูเอื้อจากวงศิลปากรมาตั้งวงดนตรีและเป็นหัวหน้าวงกรมโฆษณาการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

ปีนั้นเอง วงหัสดนตรีกรมโฆษณาการได้ไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน สุรัฐ พุกกะเวส เลขานุการของโรงแรมรัตนโกสินทร์ ในฐานะผู้จัด เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะหากนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกันว่าควรใช้ชื่อวงเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นเอื้อตกหลุมรักอาภรณ์ กรรณสูต จึงได้นำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ตั้งชื่อวงว่า “สุนทราภรณ์” (สุนทรสนาน+อาภรณ์ = สุนทราภรณ์)

วงดนตรีสุนทราภรณ์ ร้องและบรรเลงด้วยนักดนตรี ครูเพลง และนักร้องชาย-หญิงมามากมายหลายรุ่น นับจากปี 2482 จนถึงปัจุบัน มีเพลงประเภทต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงปลุกใจ-สดุดี, เพลงสถาบัน, เพลงที่เป็นแรงบันดาลใจจากวรรณคดี, เพลงเทศกาล,เพลงประเพณี, เพลงชาวนา-ชาวประมง, เพลงคติธรรมและปรัชญาชีวิต, เพลงยกย่องสตรีและชมธรรมชาติ,เพลงรักและพิศวาส, เพลงสะท้อนสังคม, เพลงประกอบ ภาพยนตร์ ละครเวที ละคโทรทัศน์ ประมาณว่ามีบทเพลงราว 2,000 เพลง เป็นการร่วมคำร้องกับครูเพลงมากมายหลายท่าน ผ่านยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงมาหลายช่วงของสังคมไทย ตั้งแต่ เพลงยุคสงครามอินโดจีน (2482-2484), สงครามมหาเอเชียบูรพา (2484-2488), เพลงยุคหนังไทย (2490), เพลงพระราชนิพนธ์-ละครเวที (2492), เพลงยุคสังคีตประยุกต์ (2494), เพลงยุคลีลาศ (2495), เพลงยุควิทยุ (2496), เพลงยุคโทรทัศน์ (2498)จนถึงยุคดาวรุ่งสุนทราภรณ์ และสุนทราภรณ์การดนตรี จนถึงปัจจุบัน

** "ธัช" กิตติธัช แก้วอุทัย แชมป์เพลงเอก ซีซั่น1 รับบท "เอื้อ สุนทรสนาน"**

ธัช กิตติธัช แก้วอุทัย นอกจากร้องเพลงแล้ว ยังเคยมีประสบการณ์การแสดงละครเวทีมาหลายเรื่อง เช่น The Snakes อสรพิษ,ม่านประเพณี ประกาศิต อาญาสวรรค์, When a man love a man, แฟนจ๋า เดอะมิวสิคัล, ลอดลายมังกร The Epic Musical at LHONG 1919 , บ้านเรือนเคียงกัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล, ALL ABOUT EVE, เทพธิดาบาร์ 21อื่นๆเช่น นักแสดงรับเชิญ ซีรีส์ Together with me (อกหักมารักกับผม), ดีเจออนไลน์ Talk Talk, Vibie Live, พิธีกรรายการ Chillตามดวง ทาง ททบ.5, ซีรีส์ พฤติการณ์ที่ตาย Manner Of Death เป็นต้น

อาภรณ์ กรรณสูต (สุนทรสนาน) เสียชีวิตเมื่อ 25 ธันวาคม 2554 อายุ 88 ปี

อาภรณ์ กรรณสูตอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ลูกสาวของ พระยาสุนทรบุรี เทศาภิบาลนครชัยศรี ครูเอื้อ ชาวสวน นักดนตรี มาเช่าบ้านหลังอาคาร 10 ราชดำเนินใกล้ๆกับบ้านของฝ่ายหญิง ผ่านอุปสรรคทางความรักมามากมาย เพราะพ่อแม่ของฝ่ายหญิงไม่ชอบอาชีพเต้นกินรำกิน ถึงขนาดพรากทั้งคู่ไปกันคนละทิศ แต่ในช่วง 10 ปีได้พิสูจน์รักอันมั่นคงจนได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

เพลงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวความรักของทั้งคู่ เช่น บ้านเรือนเคียงกัน , ศึกในอก , ยอดดวงใจ ฯลฯ

เพลง “บ้านเรือนเคียงกัน” (คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล) เป็นเพลงที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งขึ้นไว้จีบฝ่ายหญิง โดยครูแก้วเป็นผู้เขียนคำร้อง ครูเอื้อต้องมองผ่านรั้วบ้านฝ่ายหญิงทุกวัน
ชอุ่ม ปัญจพรรค์ สนิทและคุ้นเคยกับอาภรณ์ กรรณสูตมาก เล่าถึงอุปสรรคในเรื่องความรักไว้ว่า
"...อารักขนาดยอมทำทุกอย่างที่มีเพื่อหนู (ชื่อเล่นของอาภรณ์ กรรณสูต) เพื่อขอให้ได้รักหนู และเพื่อจะแต่งงานกับหนูน่ะ วันหนึ่งอากลับมาจากทำงาน ถึงบ้านไม่เห็นหนู พอรู้ว่าไปตีแบดมินตันกับเพื่อนของพี่ใหญ่ ที่เพิ่งกลับมาจากนอก อายังเอาหัวชนฝาแทบหัวแตก จนคุณป้าต้องรีบไปตามตัวหนูกลับบ้าน..."
เอาละ...คงต้องเฉลยกันเสียทีว่าเพลงที่ครูเอื้อไม่อยากจะร้องนั้นคือเพลงอะไร?
เพลงนั้นก็คือ "ศึกในอก" (คำร้อง สุรัฐ พุกกะเวส) ซึ่งเป็นเพลงที่กินใจและเป็นเพลงที่ครูเอื้อร้องเมื่อตกอยู่ในห้วงของความรักนั่นเอง

ส่วนเพลง "ยอดดวงใจ" (คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล) ในช่วงทั้งคู่ถูกพรากรัก ฝ่ายหญิงต้องย้ายไปพักที่ต่างจังหวัด ครูเอื้อเขียนจดหมายไปบอกว่า ถ้าอยากฟังเพลง "ยอดดวงใจ" ที่ตั้งใจแต่งให้โดยเฉพาะ ต้องรีบกลับมาฟังที่กรุงเทพฯ ฝ่ายหญิงได้เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า "เป็นเพลงที่ครูเอื้อแต่งให้กับดิฉัน สมัยที่เริ่มรักกัน ประมาณปี พ.ศ.2485 เป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะจับใจ อาจเป็นเพราะเพลงนี้ ที่ทำให้ดิฉันมีความประทับใจในตัวครูเอื้อ และได้แต่งงานกับครูเอื้อในอีก 4 ปีต่อมา"

** “พูลิม” ณิชกานต์ แก้วอินธิ เพลงเอก ซีซั่น2 รับบท "อาภรณ์ กรรณสูต(สุนทรสนาน)" **

แก้ว อัจฉริยะกุล(15 พฤษภาคม พ.ศ. 2458 — 8 ตุลาคม พ.ศ. 2524)

ครูแก้ว เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คนของ นายซี.ปาปา ยาโนปูโลส ชาวกรีก (ชื่อไทยคือ ใหญ่ อัจฉริยะกุล)กับนางล้วน (นามสกุลเดิมคือ เหรียญสุวรรณ) ครูแก้วเกิดที่สี่พระยา จบวิชากฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อแรกรับราชการที่กรมไปรษณีย์โทรเลข หลังปี 2497 เริ่มหันมาทำงานที่ถนัด เช่น ฝ่ายโฆษณาของโรงหนังเฉลิมไทย, เฉลิมเขตร ได้รับเกียรติจากบริษัทภาพยนตร์ของฮอลีวู๊ด มอบรางวัลโฆษณายอดเยี่ยมให้ , นอกจากงานประพันธ์คำร้องให้กับวงสุนทราภรณ์ และยังเป็นที่รู้จักในฐานะ ผู้สร้างสรรค์งานเขียนต่างๆในนาม “แก้วฟ้า” ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายทั้งเรื่องสั้น (ราว 50-60 เรื่อง) -เขียนเรื่องสั้นขนาดยาว 20 ตอนจบเรื่องแรกคือ รุ้งเพชร เคยแปรรูปเป็นละครวิทยุมีความยาว 85 ตอนจบ ,บทละครเวที ราว 50 เรื่อง เป็นคนที่ริเริ่มการแสดงละครเวทีโดย ชายจริงหญิงแท้ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องแรกเรื่อง "นางบุญใจบาป" จากเค้าเรื่อง "บู๊สง" –บทละครโทรทัศน์-ภาพยนตร์ ราว 100 เรื่อง และยังเป็นเจ้าของละครวิทยุ "คณะแก้วฟ้า" (ชื่อ แก้วฟ้า เป็นชื่อสมัยเด็กๆที่พระตั้งให้) บุคลิกเป็นคนสูบบุหรี่จัด การทำงานเพลงของทั้งคู่ ได้ชื่อว่าเป็น "ทำนองเอื้อ-เนื้อแก้ว" ลักษณะคำประพันธ์ของครูแก้ว ส่วนหนึ่งเป็นบทเพลงใช้ภาษาชั้นสูง ไพเราะ เพราะพริ้งราวบทกวี คนไทยคุ้นเคยบทเพลงกับผ่านหูจำนวนมาก ผลงานร่วมกันของครูทั้ง 2 ท่าน มีผู้ประมาณไว้ว่าราว 1,000 เพลง ตัวอย่างคำร้องราวกวีนั้น เช่น เพลงฟ้าคลุ้มฝน (ราตรีนี้มืดไม่เห็นเพ็ญโสมส่องดารามิผ่อง มืดมัวทั่วมุม ร้อนรนหมองไหม้เหมือนไข้รุม ฟ้าดำมิดมืดเหมือนม่านคลุม อกเรียมยิ่งคลุ้มกลุ้มรัญจวน) , เพลงเทศกาลที่เรารู้จักกันดี เช่น รำวงลอยกระทง ซึ่งใช้เวลาสั้นๆ เพียง 30 นาทีในการแต่งเพื่อร้องครั้งแรก ในงานลอยกระทงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , เพลงนางฟ้าจำแลง, บ้านเกิดเมืองนอน หรือเพลงชุด "จุฬาตรีคูณ" (จุฬาตรีคูณ, จ้าวไม่มีศาล, อ้อมกอดพี่, ใต้ร่มมลุลี และ ปองใจรัก) เป็นต้น

** “นุ” อนุกูล โกมลอุปถัมภ์ รองชนะเลิศ เพลงเอก ซีซั่น 1 รับบท "แก้ว อัจฉริยะกุล" **

ชอุ่ม ปัญจพรรค์(10 ธันวาคม พ.ศ. 2464 - 28 กันยายน พ.ศ. 2556)

ทุกปี ในวันเด็ก เรามักจะได้ยินเพลง "หน้าที่เด็ก -- เด็กเอ๋ยเด็กดี ต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน" หรือ สโลแกนที่เราคุ้นเคยของสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 "คุ้มค่าทุกนาที ดูทีวีสีช่อง3" นี่แหละคือ ผลงานของ "ป้าอุ่ม" ชอุ่ม ปัญจพรรค์ซึ่งได้รับรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2546 เป็นพี่สาวของ อาจินต์ ปัญจพรรค์จบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่ 1 เลขประจำตัวที่ 1 แล้วเข้าศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 11งานขีดๆเขียนๆ เป็นงานถนัดของชอุ่ม มีงานนิยายราว 30 เรื่อง หลายเรื่องเคยทำเป็นละครมาแล้ว เรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ "ทัดดาวบุษบา" อื่นๆ เช่น บ้านนอกเข้ากรุง, เมียนอกกฎหมาย , มารพิศมัย , สร้อยฟ้าขายตัว เป็นต้น ส่วนผลงานการประพันธ์คำร้องให้กับวงสุนทราภรณ์ราว 50 เพลง และอื่นๆอีกนิดหน่อย หน้าที่สุดท้ายคือกรรมการเซ็นเซอร์ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 ชีวิตส่วนตัวนั้น เป็นเพื่อนสนิทกับ อาภรณ์ กรรณสูต (ภรรยาครูเอื้อ) เพลงที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น แสนห่วง (เพลงแรก) , รักบังใบ (แจ้งเกิด รวงทอง ทองลั่นทม) , รักเอาบุญ , สำคัญที่ใจ , ขอเป็นจันทร์ , จนนาง , หนึ่งในดวงใจ (แต่งตามคำบัญชาของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อรับวัญ ท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์) ฯลฯ

** “อาย” กุลนรี เกิดอิ่ม เพลงเอก ซีซั่น2 รับบท "ชอุ่ม ปัญจพรรค์"**
มัณฑนา โมรากุล (ปัจจุบัน อายุ 99 ปี)

มัณฑนา โมรากุล เป็นนักร้องหญิงคนแรกของกรมโฆณาการ นอกจากเป็นนักร้องแล้ว ยังเคยรับบท “ดารารายพิลาส” นางเอกละครเวทีเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” จากบทประพันธ์ของพนมเทียน คู่กับ ฉลอง สิมะเสถียร เธอริเริ่มนำการใช้ลูกคอแบบตะวันตกมาใช้ร้องในเพลงไทย เพื่อช่วยการร้องให้เกิดเสียงสูง เรียกว่า "เสียงสมอง" (เพลง กล่อมวนา – มัณฑนาร้องคนแรกที่โรงภาพยนตร์โอเดียน แต่ไม่ได้อัดแผ่นเสียง เนื่องจากลาออกจากวงก่อน ชวลี ช่วงวิทย์เลยมาอัดเสียงคนแรก และบุษบา รังสี อัดเสียงต่อมา) นอกจากนี้ ยังได้รับหน้าที่“โฆษกหญิง”ยุคต้นของกรมโฆษณาการด้วย เธอเป็นสมาชิกของวงดนตรีกรมโฆษณาการและสุนทราภรณ์ 10 ปี และลาออกเมื่อพ.ศ. 2494 เพื่อสมรสกับบุญยงค์ เกียรติวงศ์ มีลูกชาย-หญิงรวมสี่คน ในช่วงการทำงาน 10 ปี แม้จะมีเพลงร้องมากมาย และอัดเสียงเพียงบางส่วน เนื่องจากสามีให้ทำหน้าที่แม่บ้านเพียงอย่างเดียว เพลงเด่นๆของมัณฑนา โมรากุล อาทิ ดวงใจกับความรัก , เทวาพาคู่ฝัน (เพลงพระราชนิพนธ์) , สวมหมวก, วัฒนธรรม (เรียก “มาลานำไทย” ตามนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม), จุฬาตรีคูณ, วังบัวบาน, บัวกลางบึง, ผู้แพ้รัก, สิ้นรักสิ้นสุข, อาลัยลา ฯลฯ “มัณฑนา โมรากุล” ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (ร้องเพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2539

** “หลิน” วลัญจ์รัช เตชะวงศ์วัฒนา (เพลงเอก ซีซั่น1) รับบท “มัณฑนา โมรากุล**

ศรีสุดา รัชตะวรรณ (12 พฤศจิกายน 2473- 1 สิงหาคม 2548)

ในปี 2495 เมื่อตำแหน่งนักร้องหญิงในวงว่างลง เพราะ มัณฑนา โมรากุล , เพ็ญศรี พุ่มชูศรี และ จันทนา โอบายวาทย์ ลาออกจากวง ศรีสุดาจึงไปสมัครอีกครั้ง หลังจากไปครั้งแรก เมื่อปี 2491 ตามคำชักชวนของครูแก้วแต่เนื่องจากตำแหน่งทางราชการเต็ม การสมัครในครั้งนี้มีผู้สอบผ่าน 3 คนคือ วรนุช อารีย์ , ศรีสุดา รัชตะวรรณ และพูลศรี เจริญพงศ์ เธอมีเพลงสนุกๆกับวงมากมาย และมีหลายฉายา อาทิ ครูเลิศ ประสมทรัพย์ ที่ร้องเพลงคู่กับเธอ ตั้งฉายาเรียกเธอว่า “เสียงมะดันดอง” ฉายาอื่นๆ เช่น ดุเหว่าเสียงใส , ราชินีลีลาศ , ราชินีเพลงสนุก คนไทยรู้จักเธอผ่านหลายบทเพลง อาทิ จุดไต้ตำตอ, หนีไม่พ้น,นกเขาไพร, ไพรพิสดาร, พนาโศก, สุขกันเถอะเรา, ชื่นชีวิต ฯลฯ เธอใช้ชีวิตคู่กับ “วินัย จุลละบุษปะ” (เจ้าของฉายา ราชาแทงโก)

** “แพรว” จิรวัลย์ สอนสะอาด เพลงเอก ซีซั่น1 รับบท “ศรีสุดา รัชตะวรรณ”**

รวงทอง ทองลั่นทม (8 พฤษภาคม 2480)

ชื่อเดิมคือ “ทองก้อน ทองลั่นทม” ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “รวงทอง” สร้างชื่อจากเพลงรักบังใบ (คำร้อง ชอุ่ม ปัญจพรรค์) และเพลงที่คนไทยรู้จักกันดีคือ จำได้ไหม (คำร้อง ธาตรี) และในปี 2500 โด่งดังสุดขีดจากเพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” (คำร้อง สมศักดิ์ เทพานนท์ / เพลงประกอบละครช่อง 4 ทีแรก รวงทองไม่ยอมร้อง แต่เมื่อเล่นละครจบ เพลงโด่งดังมาก แผ่นเสียงขายมาก อาจารย์สดใส พันธุมโกมล เคยแปลเพลงนี้ เป็น The Buffalo Song หาฟังได้ในยูทูป) รวงทอง มีฉายาว่า “เสียงน้ำเซาะหิน” ในช่วงที่อยู่กับวงสุนทราภรณ์ ได้รับหน้าที่นางเอกในละครหลายเรื่อง เช่น จุฬาตรีคูณ ทางช่อง4 บางขุนพรหม คู่กับ “อาคม มกรานนท์” , ละครเวที คู่กับ ฉลอง สิมะเสถียรเรื่อง “ลานปาริชาติ” เล่นหนังคู่กับมิตร ชัยบัญชา เรื่อง “ในฝูงหงส์” เล่นหนังของชรินทร์ นันทนาคร เรื่อง “มนต์รักเพลงสวรรค์” และในฐานะของผู้จัดฯ ได้แสดงละคร “จุฬาตรีคูณ” อีกครั้ง คู่กับ ตรัยเทพ เทวะผลิน ทางช่อง 7 (ขาว-ดำ) หรือช่อง 5 ในปัจจุบัน เธอได้ลาออกจากวงสุนทราภรณ์ ทำหน้าที่นักร้องอิสระ ในปี 2503

“รวงทอง ทองลั่นทม” ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (ร้องเพลงไทยสากล) ประจำปี พ.ศ. 2539

** “แบ๋ม” สิริรัตน์ คำหงษ์ษา เพลงเอก ซีซั่น1 รับบท “รวงทอง ทองลั่นทม”**

เลิศ ประสมทรัพย์ (19 กรกฎาคม 2466 – 28 กันยายน 2534)

ครูเลิศ ประสมทรัพย์สมัยก่อนเข้ามาอยู่วงสุนทราภรณ์ ใช้ชื่อ “ล. ลูกทุ่ง” เป็นนักร้องประกวดล่ารางวัลตามงานวัดต่างๆ กวาดรางวัลมาหมด ไม่ว่าจะเป็นวัดสระเกศ, วัดสามปลื้ม, วัดประยุรวงศาวาส , วัดหัวลำโพง จนกรรมการต้องขอร้องให้เลิกประกวด แล้วให้เป็นกรรมการตัดสินแทน ครูเลิศเป็นนักร้องชายคนที่ 3 ในวงโฆษณาการเมื่อปี 2483 และครูสมพงษ์ ทิพยะกลินเป็นคนสอนอ่านโน้ต จากนั้นสมัครเป็นทหารอาสาในสงครามเกาหลีใต้ และในปี 2495 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจากกรม (วงโฆษณาการ) เป็น กรม (วงกรมประชาสัมพันธ์) เลิศ ประสมทรัพย์กลับมาบรรจุเป็นนักร้องในแผนกบันเทิงกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 3 พฤษภาคม 2498 จนเกษียณอายุราชการ โดยเพลงส่วนใหญ่จะเป็นแนวสนุกสนาน คู่ชีวิตคือ มล. ปราลี มาลากุล (ประสมทรัพย์) ครูเลิศมีเอกลักษณ์ในการร้องเพลงในจังหวะตะลุงเท็มโปจนได้รับฉายาว่า "ราชาเพลงตะลุง" ผลงานที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตะลุงสากล ตะลุงชมดง ตะลุงอยากเป็นพระอินทร์ ตะลุงดับเพลิงรัก นอกจากนี้ยังมีผลงานเพลงที่เป็นอมตะอีก 2 เพลง คือ "รำวงสาวบ้านแต้" และ "รำวงหนุ่มบ้านแต้" ที่รู้จักกันดี เป็นนักร้องชายที่ร้องเพลงคู่โต้ตอบสนุกสนานกับศรีสุดา รัชตะวรรณ

** “แบ็งค์” เฉลิมรัฐ จุลโลบล เพลงเอก ซีซั่น 2 รับบท "เลิศ ประสมทรัพย์" **

วินัย จุลละบุษปะ (12 มิถุนายน 2465 - 14 กันยายน 2542)

ครูวินัย จุลละบุษปะ เจ้าของฉายา "ราชาเพลงแทงโก" คู่ชีวิตของ ศรีสุดา รัชตะวรรณ มีผลงานเพลงราว 300 เพลง ปี 2488 ขณะอายุ 23 ปี ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกรมโฆษณาการ จนเปลี่ยนชื่อเป็น "กรมประชาสัมพันธ์" ออกร้องเพลงต่อสาธารณชนจริงๆ เป็นครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์โอเดียน ในปี 2515 ดำรงตำแหน่ง "หัวหน้าวงกรมประชาสัมพันธ์" รับราชการมานานกว่า 38 ปีจนเกษียณ มีเพลงเด่นๆ จำนวนมากที่คนไทยรู้จักกันดี เช่น ฟอร์เฟื่องฟ้า, พรหมลิขิต, เย็นลมว่าว, พรานล่อเนื้อ, น้ำตาลใกล้มด , ดาวล้อมเดือน , จ้าวไม่มีศาล เพลงคู่ ส่วนใหญ่จะร้องคู่กับ ชวลี ช่วงวิทย์ เช่น พายเรือพลอดรัก, ลาวดวงดอกไม้, กระแต เป็นต้น

** “โก๊ะตุลย์” พันธนนท์ วังกะหาด เพลงเอก ซีซั่น2 รับบท "วินัย จุลบุษปะ" **

สังข์ อสัตถวาสี

ประวัติของครูสังข์ อสัตถวาสี หายากและมีน้อย ครูสังข์-ครูเอื้อ เช่าบ้านอยู่ด้วยกันที่ถนนราชดำเนิน บ้านที่ติดๆกับบ้านของอาภรณ์ กรรณสูต นั่นแหละ อื่นๆ ที่พอหาข้อมูลได้เช่น ในเวบ "บ้านคนรักสุนทราภรณ์" พบความเห็นจาก "สบสันต์" จากหมวดบทเพลง เพลง "แม่ทูนหัว" ว่า "เพิ่งกลับเข้ามาดูหลังจากผ่านไปหลายปี .. ขอบคุณทุกท่านที่ช่วยฟังและช่วยด้านพยานหลักฐานเพื่อความถูกต้องครับ .. เพลงนี้ ครูสังข์ อสัตถวาสี ซึ่งเป็นเพื่อนกับ ครูเอื้อฯ อุตส่าห์เข้าไปขอโน้ตจาก ครูเอื้อฯ มา แล้วระบุให้ผมเป็นคนร้องตอนที่อยู่กับชุมนุมดนตรีสากล สมธ. และออกโชว์หลายแห่งตั้งแต่ราวปี 2507 ถ้าเนื้อผิด ผมคงโดน ครูสังข์ฯ ซัดเอาน่วมแล้วละครับ"

อื่นๆ มีความว่า “TU BAND” เป็นชุมนุมดนตรีสากลประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 โดย ครูสังข์ อสัตถวาสีได้รวบรวมนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่มีใจรักในเสียงเพลงและมีความสามารถทางด้านดนตรีมารวมตัวซ้อมกัน จนขยับขยายกลายเป็นวง Full Band ที่คอยขับกล่อมเสียงดนตรีอันไพเราะเคียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มายาวนานกว่า 70 ปี"

บนเวที โบ๊ท ปรัชญา ซึ่งรับบทตัวละครนี้จะเล่นดนตรีบนเวที ในบทเพลง "ใครจะเมตตา"
** “โบ๊ท” ปรัชญา ธรรมโชติ เพลงเอก ซีซั่น1 รับบท "สังข์ อสัตถวาสี" **

เหล่านี้คือ เกร็ดชีวิตของตัวละครสำคัญ "สุนทราภรณ์ เพลงรักเพลงแผ่นดิน" โดย "เพลงเอก" ที่จะโลดแล่นบนเวทีพร้อม บทเพลงอันหลากหลายของสุนทราภรณ์กว่า 30 เพลง ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น7 สยามสแควร์วัน (BTS สถานีสยาม) ณ วันที่ 12-14 สิงหาคมนี้ (วันศุกร์ที่ 12 - 13 สิงหาคม เวลา 13.00 และ
17.30 น. , วันที่ 14 สิงหาคม เวลา 13.00 น.)
บัตรราคา 1,500-4,000 บาท

เช็ครอบและจองบัตรได้ที่ Thaiticketmajor โทร. 02-262-3456

ภาพประกอบ : อินเทอร์เนต



ธัช  กิตติธัช แก้วอุทัย

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

“พูลิม” ณิชกานต์ แก้วอินธิ, “อาย” กุลนรี เกิดอิ่ม

ครอบครัว “สุนทรสนาน”

ไวโอลินและคันชัก สัญลักษณ์ประจำตัวของครูเอื้อ

ชอุ่ม ปัญจพรรค์

“นุ” อนุกูล โกมลอุปถัมภ์

ครูแก้ว อัจฉริยะกุล

แก้วฟ้า

“โบ๊ท” ปรัชญา ธรรมโชติ, “แบ็งค์” เฉลิมรัฐ จุลโลบล , “โก๊ะตุลย์” พันธนนท์ วังกะหาด

ครูเอื้อ และ ครูสังข์ อสัตถวาสี

ครูเลิศ ประสมทรัพย์

งานแต่งงานของครูเลิศ ประสมทรัพย์กับมล. ปราลี มาลากุล

ครูวินัย จุลละบุษปะ

“หลิน” วลัญจ์รัช เตชะวงศ์วัฒนา, “แบ๋ม” สิริรัตน์ คำหงส์ษา, “แพรว” จิรวัลย์ สอนสะอาด

มัณฑนา โมรากุล นักร้องหญิงคนแรกของกรมโฆณาการ

หนังสือ “ดาวประดับฟ้า” มัณฑนา โมรากุล

รวงทอง ทองลั่นทม (ธม)

ศรีสุดา รัชตะวรรณ

เลิศ ประสมทรัพย์ กับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ

คู่ชีวิต ครูวินัย จุลละบุษปะกับศรีสุดา รัชตะวรรณ

“อาร์ม” กรกันต์ สุทธิโกเศศ ผู้เล่าเรื่องราว



(อดีต)โรงภาพยนตร์โอเดียน (ปัจจุบัน) ซุ้มประตูวัฒนธรรมไทย-จีน (Cr. 77PPP)

ภาพนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นต่างๆ





























ตัวอย่าง “หนังสือเพลงสุนทราภรณ์” ของสนพ.ต่างๆที่วางขายในท้องตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น