กลับมาเขย่าชาร์ต Top 10 ของ Netflix อีกครั้ง หลังสองซีซั่นแรกสร้างความแปลกใหม่คว้าใจผู้ชมและคว้า Emmy Awards มากถึง 11 รางวัล กลับมาปีนี้ Love, Death & Robots Season 3 I กลไก หัวใจ ดับสูญ (2022) นำเสนอเรื่องสั้น 9 ตอนที่นอนดูจบครบทั้งซีซั่นได้ภายใน 2 ชั่วโมงกว่า ๆ สอดแทรกความรัก ความโลภ ความโกรธ ความลุ่มหลง สัจธรรม โศกนาฏกรรม และความตายอันเป็นความจริงสูงสุดของชีวิต ที่ชวนให้ตั้งคำถามกับจริยธรรม มโนธรรม และจิตใจของเราเอง
งานนี้ใครไม่เคยดู 2 ซีซั่นแรกก็ไม่เป็นไร เพราะทุกเรื่องสั้นในแอนิเมชันสุดล้ำชุดนี้ไม่ได้เชื่อมต่อกัน ทั้งยังมีความแปลกแหวกขนบผสานเทคนิคแอนิเมชันอันแพรวพราว
ว่าแต่ ”Love, Death & Robots” ซีซั่น 3 มีอะไรควรค่าแก่การสตรีมมิ่งกันบ้าง? ใครที่ยังลังเลว่าจะดูดีหรือจะดองดี 4 เรื่องควรรู้จากนี้อาจจะช่วยให้คุณตัดสินใจง่ายขึ้น! (จากนี้ไปจะเป็นการสปอยล์กรุบกริบ)
1.Love, Death & Robots โปรเจกต์ซนๆ ของคนกล้าฝัน
ที่มาของความบันเทิงโปรเจกต์นี้ เกิดจากไอเดียซนๆ ของคนสร้างหนังกระแสดีอย่าง ‘เดวิด ฟินเชอร์’ (David Fincher) ผู้กำกับฯ Fight Club, Gone Girl และ Se7en จับมือกับ ‘ทิม มิลเลอร์’ (Tim Miller) ผู้กำกับฯ Deadpool โดยได้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของแอนิเมชันแนวแอ็กชั่น-ไซไฟที่พวกเขาเคยทำงานด้วยกันมาก่อนอย่าง ‘Heavy Metal’ บวกกับการนำกวีนิพนธ์ (Anthology) เรื่องสั้นมาสร้างสรรค์เป็นแอนิเมชันโดยสตูดิโอชั้นนำทั่วโลก ครอบคลุมทุกเทคนิคทั้ง 2D, 3D, CGI ผสานความบันเทิงกับแนวเพลงหลากหลาย ครบทุกสไตล์หนังทั้งไซไฟ แฟนตาซี คอเมดี้ ดราม่า และปรัชญา
ในส่วนของความยาวก็ไม่ย้วยจนน่าเบื่อเหมือนซีซั่นสอง มีให้ชมตั้งแต่ 7-15 นาที ทั้งยังเป็นโปรเจ็กต์มัน ๆ ที่รวมมือระดับพระกาฬของวงการภาพยนตร์ไว้หลายคน เหมือนเป็นเวทีให้พวกพี่ ๆ ได้ปล่อยของกันแบบไม่ยั้ง คงต้องขอบคุณความใจป๋าของ Netflix เพราะหลังจากทั้งสองผู้กำกับฯ ตระเวนหาผู้ใจดีควักกระเป๋าลงทุนอยู่หลายปี ก็มาจบที่ Netflix ที่พร้อมจะสนับสนุนความแปลกใหม่ให้ผู้ชมทั่วโลก แล้วมันก็ตามมาด้วยยอดวิวสูงกว่า 30 ล้านชั่วโมงภายในเวลาเพียง 9 วันที่ซีซั่น 3 ออนแอร์!
2.รวมความ ‘โหด-มัน-เลือดสาด’ ประสาแอนิเมชั่นเวอร์ชั่น 18+
ในส่วนของเนื้อเรื่องทั้ง 9 ตอนในซีซั่น 3 ดูเหมือนจะทำการบ้านจากคำวิจารณ์ในซีซั่นก่อน ๆ มาแล้วอย่างดี แต่เราขอจัดเรต 18+ เพราะแอนิเมชันชุดนี้มีเนื้อหารุนแรงชนิดไม่ดีต่อใจของเด็กและเยาวชน อย่าง ‘Kill Team Kill’ ผลงานของผู้กำกับฯ Jennifer Yuh Nelson จาก ‘กังฟู แพนด้า’ ที่เคยทำน้องแพนด้าน่าเอ็นดูมาเอาใจคุณน้อง ๆ หนู ๆ แต่คราวนี้กลับมาชวนให้หดหู่นิด ๆ เมื่อหน่วยทหารต้องมาสู้กับหมีไซบอร์ก เรื่องนี้เลือดสาด-ขาดกระจุย สะท้อนความเป็น ‘Death & Robots’ ที่หยอดความผูกพันระหว่างคนกับหุ่นยนต์ไว้นิด ๆ
เช่นเดียวกับ ‘In Vaulted Halls Entombed’ ของผู้กำกับฯ Jerome Chen มือทองของวงการ VFX ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา Visual Effects จาก ‘Stuart Little’ ในซีรีส์ Love, Death & Robots เรื่องนี้เขานำเสนอแอนิเมชันสยองขวัญสุดลี้ลับเมื่อหน่วยทหารรับภารกิจช่วยเหลือตัวประกัน กลับต้องมาสู้กับกองทัพสัตว์ประหลาดจนหลุดเข้าไปเผชิญหน้ากับปีศาจในนรกแบบงง ๆ พร้อมความโหดเลือดสาดและฉากจบที่ดูแล้วต้องคิดตาม
อีกเรื่องที่แม้จะโหดเลือดสาด-ขาดกระจุย แต่ก็จบแบบ feel good บนความโหดร้ายไปแบบสวย ๆ ต้องยกให้ ‘Mason’s Rat’ ของผู้กำกับฯ Carlos Steven เรื่องราวของ ‘เมสัน’ ชาวนารุ่นเก๋าที่สู้รบปรบมือกับกองทัพหนู และเลือกที่จะสู้ด้วยการนำนวัตกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สุดอำมหิตมาใช้ แต่แล้วความเกลียดชังได้แปรเปลี่ยนเป็นความสงสาร ความเมตตา และค้นพบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในที่สุด
3.เทคนิคใหม่ในวงการแอนิเมชั่น ผสมการเล่าเรื่องอย่างมี ‘ศิลปะ’
ซีซั่นนี้มีหลายเรื่องที่ใช้เทคนิคแอนิเมชันได้อย่างน่าสนใจ แล้วเนื้อหายังพาเราไปเหยียบดวงจันทร์ ประชันกับสัตว์ประหลาด ดำดิ่งสู่ใจกลางโลก จนถึงเผชิญหน้าวันสิ้นโลก อาทิ ‘Night of the Mini Dead’ ผลงานของผู้กำกับฯ Robert Bisi และ Andy Lyon ที่มีความยาวแค่ 7 นาทีแต่สนุกจนคอหนังซอมบี้ยกนิ้วโป้งให้เลย เพราะเป็นการรวบตึง Zombie apocalypse ย่อยยิบการเล่าเรื่องผ่าน CG คู่กับการใช้ภาพสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และเลนส์ Tilt-Shift ที่ให้อารมณ์เหมือนเล่น Sim City ตอนซอมบี้บุกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์
ส่วนเรื่องสั้นขั้นเทพของ อัลเบอร์โต มิเอลโก (Alberto Mielgo) เจ้าของรางวัลออสการ์ 2022 จากแอนิเมชันเรื่อง ‘The Windshield Wiper’ ที่เคยฝากผลงานสร้างชื่อในซีซั่นแรกอย่าง ‘The Witness’ กลับมาซีซั่นนี้ก็ไม่ทำให้สาวกผิดหวังด้วยการเล่าเรื่องผ่านเทคนิค 2 มิติบน 3 มิติผสานเทคนิค motion ขั้นสูงอย่าง ‘ฆีบาโร’ (Jibaro) ว่าด้วยกองทัพอัศวินที่ต้องมาปะทะกับ ‘ไซเรน’ ภูติสาวในบึงน้ำรูปหัวใจ นางตกหลุมรักอัศวินหูหนวกเพราะเขาเป็นคนเดียวที่ไม่ได้พ่ายแพ้ต่อพลังเสียงปลิดวิญญาณ เกิดเป็นโศกนาฏกรรมความรักที่ซาบซึ้ง หดหู่ กินใจ และชวนให้ตราตรึงถึงการร่ายรำของไซเรน เรื่องนี้มี 3 แอนิเมเตอร์ชาวไทยอย่าง วีรพงศ์ จังสมบัติศิริ (ที่เคยฝากผลงานใน Avengers : Infinity War), ณัชพัฒน์ แจ่มทักษา และสาวิตรี สวนมิ (นาคี 2) อยู่เบื้องหลัง (รออะไร...ปรบมือสิค่ะ)
4.รวมเรื่องสั้นของนักเขียนนิยายไซไฟชื่อดัง
อีกหนึ่งความน่าสนใจของ Love, Death & Robots Season 3 มาจากการนำเรื่องสั้นของนักเขียนนิยายแนวไซไฟชื่อดังอย่าง ‘Bad Travelling’ (ผลงานการกำกับฯ ของเดวิด ฟินเชอร์) และ ‘Mason’s Rat’ ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของ Neal Asher นักเขียนนิยายไซไฟชาวอังกฤษ ‘Three Robots : Exit Strategies’ ดัดแปลงจากเรื่องสั้น ‘Robots VS Fairies’ ผลงานของ John Scalzi นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน ‘The Very Pulse of the Machine’ สร้างจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันและเป็นเจ้าของรางวัล Hugo Award for Best Short Story (1999) ผลงานของนักเขียนรุ่นเก๋าอย่าง Michael Swanwick จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า หนึ่งในความสำเร็จของแอนิเมชันเรื่องนี้มาจากบทประพันธ์ที่น่าสนใจและสร้างความแปลกใหม่ให้ผู้ชมได้อย่างดี อีกทั้งการนำเสนอในเวลาสั้น ๆ ยิ่งทำให้สนุก กระชับ ฉับไว ไม่น่าเบื่ออีกด้วย
เปลี่ยนจากการดูซีรีส์ยาว ๆ หลายตอนมานอนดู Love, Death & Robots ซีซั่น 3 แล้วคุณจะพบความสนุกของแอนิเมชันที่เรายืนยันว่า ไม่ได้สร้างมาเพื่อน้อง ๆ หนู ๆ วัยต่ำกว่า 18 ปี หรือจะให้ดีควรมีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำเรื่องความรุนแรง ดิบเถื่อน โหดร้าย แต่ก็แฝงไว้ด้วยสัจธรรมของชีวิต
ร้อยเรียงเรื่องราว : Rassarin
อ้างอิงเรื่องและภาพ :
https://www.netflix.com/
https://www.polygon.com/
https://fictionhorizon.com/
www.imdb.com
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์