โด่งดังเป็นพลุแตกพร้อมกระแสดราม่าจากชาวเน็ตจีน สำหรับ ‘เทียบท้าปฐพี’ (Who Rules The World – 2022) ซีรีส์จีนฮอตปรอทแตกกับยอดวิวติดชาร์ตอันดับต้น ๆ ทั้งในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน รวมถึงในหลายประเทศที่มีการฉายซีรีส์เรื่องนี้
แต่ท่ามกลางความเปรี้ยง ไม่วายเจอกระแสดราม่า เมื่อเทียบท้าปฐพีฉายมาได้กลางเรื่องก็มีชาวเน็ตจีนวิจารณ์ว่า บางฉากในเทียบท้าปฐพีลอกเลียนบทโทรทัศน์ มาจากซีรีส์ ‘ลำนำกระเรียนทอง’ (Royal Nirvana - 2019) ในฉากการไขปริศนาคดีโกงข้อสอบคัดเลือกจอหงวนในส่วนเส้นเรื่องของเฮยเฟิงซี ซึ่งเป็นฉากดัดแปลงเพิ่มเติมจากบทประพันธ์เดิม ย้ำว่าเป็นดราม่าในส่วนบทโทรทัศน์ เพราะนิยายต้นฉบับไม่ได้มีฉากนี้ งานนี้ไม่วิจารณ์เปล่า? ขนาดชาวเน็ตมีการเทียบบทพูดของตัวประกอบของซีรีส์ทั้งสองในฉากดังกล่าว
ถึงตอนนี้ Youku ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซีรีส์ลำนำกระเรียนทองยังไม่ได้แสดงท่าทีอันใด ก็ได้แต่รอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
แต่ถึงจะมีกระแสวิจารณ์ดังกล่าว ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความปังของเทียบท้าปฐพีแต่อย่างใด ล่าสุด Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับโลกยังคว้ามาลงจอ เตรียมจ่อคิวฉายไปอีกกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ยกดีกรีความแรงไปสู่ระดับสากล
ทั้งนี้ปัญหาการลอกเลียนแบบในวงการบันเทิง เป็นปมหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในจีน และจีนเองก็พยายามแก้ไข แต่ยังแก้ไม่ตกสักที ซึ่งก็มีการลอกเลียนแบบสารพัดจะก็อปปี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มีหลายเลเวลความหนักหน่วง อาทิแค่โดนเกรียนคีย์บอร์ดมาป่วน (จริงไม่จริงก็ไม่รู้ เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้) ไปจนถึงมีมูล ถึงขั้นไปจบกันในชั้นศาลเรียกค่าเสียหาย และบางกรณีไปไกลขนาดกลายเป็นการฟ้องร้องข้ามชาติก็มี อยู่ที่ว่ามีการค้นหาหลักฐานมาพิสูจน์กันให้เห็นว่าก็อปปี้กันจริงหรือเปล่า? หรือแค่ได้อิทธิพลหรือแรงบันดาลใจ
วันนี้จะมาย้อนรอยข่าวคราวความดราม่ากันสัก 4-5 เหตุการณ์ว่าด้วยเรื่องการก็อปปี้ในวงการบันเทิงจีนกันสักหน่อย เพราะถ้ายกมาหมดคิดว่า 10 หน้าก็ไม่น่าพอเขียน บางเรื่องถ้าไม่ใช่ติ่งตามติดเรื่องนั้นจริง ๆ ก็ทำเอาเหวอ...ไปเหมือนกัน
หยิน หยาง ศึกมหาเวทสะท้านพิภพ ถูกกล่าวหาเป็นแฝดหมอแปลกซะงั้น
เรื่องราวของเทียบท้าปฐพี ทำให้นึกถึง หยิน หยาง ศึกมหาเวทสะท้านพิภพ : สู่ฝันอมตะ (The Yin-Yang Master : Dream Of Eternity – 2020) ภาพยนตร์แฟนตาซีฟอร์มใหญ่เมื่อไม่น่ามานี้ ที่ดัดแปลงจากอมตะนิยายญี่ปุ่นเรื่อง ‘องเมียวจิ’ ของบาคุ ยูเมะมาคุระ ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1986 แต่นำมาปรุงใหม่ในเวอร์ชั่นจีน โดยได้นักแสดงผัวเทพ VS ผัวทิพย์ของเหล่าทีมเมียมโนอย่างจ้าวโหย่วถิง-เติ้งหลุน มาแสดงนำ
กระแสความฮอตแค่เข้าฉายโรงภาพยนตร์ที่จีนเพียง 3 วันแรก ก็กวาดรายได้ไป 200 ล้านหยวนแล้ว และสรุปรายได้ Box Office ที่ 400 ล้านหยวน หรือราว 2 พันล้านบาท แถม Netflix ยังคว้ามาลงจอเพียงไม่กี่วันหลังจากเข้าฉายในจีน
คิดว่าถ้าไม่โดนถอดออกจากโรงภาพยนตร์ที่จีนกลางคันหลังฉายไม่ถึงเดือน เชื่อว่าหยิน หยาง ศึกมหาเวทสะท้านพิภพฯ คงทำรายได้มากกว่านี้ นั่นเพราะในจีนเกิดประเด็นถกเถียงกันในหมู่ชาวเน็ตที่ไปชมภาพยนตร์เรื่องมาแล้ว โดยการลอกเลียนแบบไม่อยู่ที่การดัดแปลงบทประพันธ์ แต่อยู่ที่การดีไซน์ฉาก CG ‘วงกลมเรืองแสง’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของฉากแอคชั่น CG ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปคล้ายกับ CG ของภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ค่าย Marvel อย่าง Doctor Strange งานเลยเข้า กั้วจิ้งหมิง ผู้กำกับภาพยนตร์ไปเต็ม ๆ
ตัวอย่างภาพยนตร์ หยิน หยาง ศึกมหาเวทสะท้านพิภพฯ
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กั้วจิ้งหมิง ผู้กำกับชื่อดังที่ประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์ Tiny Times (เส้นทางฝันสี่ดรุณ) โดนดราม่าลักษณะนี้ ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในผลงาน ‘สงคราม 7 จอมเวทย์’ (L.O.R.D - 2016) ภาพยนตร์โชว์ CGI เหนือจริง Surrealistic ที่ระดมนักแสดงแถวหน้าวงการบันเทิงจีนไว้คับจอว่าดีไซน์ตัวละครในเรื่องไปคล้ายกับคาแรคเตอร์ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของอเมริกาอย่าง ‘เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์’
เหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่? ผู้ชมตามไปส่องกันเองในตัวอย่าง L.O.R.D – 2016 กัน โดยภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในไทยด้วย
นอกจากนี้ผู้กำกับคนดังยังเคยมีเรื่องอื้อฉาว กรณีผลงานหนังสือของเขา Never-Flowers in Never Dream แพ้คดีในชั้นศาลเมื่อปี 2003 เนื่องจากมีเนื้อหาลอกเลียนแบบผลงานเขียนของคนอื่น อีกทั้งกั้วจิ้งหมิงยังเคยโดน 111 คนในวงการภาพยนตร์และทีวีจีนร่วมลงนามในจดหมายเรียกร้องให้คว่ำบาตรเขาในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์ โดยในจดหมายระบุว่า เขาเป็น "ตัวแทนของการลอกเลียนแบบ" (Representatives of plagiarism) ที่ไม่ควรเป็นแบบอย่างสำหรับผู้สร้างรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และทีวี (แรงส์)
กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของวงการบันเทิงจีนไม่ใช่น้อย
ฉู่เฉียว ซีรีส์ผู้ปล่อยแฟนละครไว้ก้นทะเลสาบ เพราะ?!?
จากภาพยนตร์มาที่ซีรีส์กันบ้าง หนึ่งในนั้นคือซีรีส์ ‘ฉู่เฉียว จอมใจจารชน’ (Princess Agents - 2017) สำหรับแฟนซีรีส์จีน ย่อมต้องเคยผ่านตาซีรีส์ย้อนยุคเข้มข้นสุดโด่งดัง กระแสดีเว่อร์วังไปทั่วเอเชียเรื่องนี้ ซึ่งนำแสดงโดย จ้าวลี่อิง VS หลินเกิงซิน แต่ไปเหวอตรงที่ตอบจบของเรื่อง ตัดจบไปแบบดื้อ ๆ ให้คุณชายอวี่เหวินเยว่ พระเอกของเราจมทะเลสาบไปซะแบบนั้น ปล่อยอารมณ์ผู้ชมค้าง ๆ คา ๆ ไปเฉย ๆ ได้แต่เฝ้ารอภาคสองที่ไม่รู้จะมาเมื่อไร
ส่วนหนึ่งเพราะคิวนักแสดงนำคู่เดิมไม่ตรงกันได้สักทีในการเริ่มภาคสอง อีกส่วนหนึ่งเพราะตัวนิยายฉู่เฉียว จอมใจจารชน ซึ่งแต่งโดยเซียวเซียงตงเอ๋อร์ (นามปากกา) ขึ้นศาลถูกฟ้องร้องว่ามีการก็อปปี้ประโยคทองบางส่วนจำนวน 17 แห่ง (แต่บางแหล่งข่าวก็ระบุว่า 15 แห่ง) มาจากนิยาย 九州·斛珠夫人 (จิ่วโจว-ฮูหยิน หูจู) ของนักเขียนนามปากกาว่าเซียวหรูเซ่อ นิยายที่นำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ ‘ไข่มุกเคียงบัลลังก์’ (Novoland : Pearl Eclipse - 2021) นั่นเอง
ฟังแล้วอาจงง...ฉู่เฉียวฉายก่อน ทำไมบอกว่าไปลอกไข่มุกเคียงบัลลังก์ที่มาฉายทีหลัง จุดนี้ต้องแจงก่อนว่าในแง่สร้างเป็นซีรีส์ ไข่มุกเคียงบัลลังก์สร้างภายหลังฉู่เฉียวหลายปี แต่ตัวนิยายนั้นไข่มุกเคียงบัลลังก์เขียนก่อนฉู่เฉียว ซึ่งประเด็นฟ้องร้องนี้ เป็นเรื่องการก็อปปี้ตัวนิยาย โดยเมื่อกลางปี 2019 ศาลชั้นต้นของจีนตัดสินใจออกมาแล้วว่า นิยายฉู่เฉียวมีการก็อปปี้ประโยคดังกล่าวจริง ทำให้จ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 50,000 หยวน ถึงตอนนี้มีการจ่ายชดเชยกันไปเรียบร้อย รวมถึงออกแถลงการขอโทษและลบประโยคทองออกไปเลย
เคลียร์จบชัดเจนแบบนี้ เป็นไปได้ว่าโครงการสร้างซีรีส์ฉู่เฉียวภาค 2 คงพอมีหวัง
รายการวาไรตี้จีน โดนจวกว่าก็อปปี้แดนโสม
ข้ามมาฝั่งรายการวาไรตี้จีนกันบ้าง ที่มีบางรายการถูกโจมตีว่าก็อปปี้มาจากแดนกิมจิ หากยังจำกันได้เมื่อปี 2021 ซีรีส์เกาหลี Squid Game (สควิดเกม เล่นลุ้นตาย) คือซีรีส์โด่งดังไปทั่วโลก ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเกมเอาตัวรอดสุดดาร์กที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม รวมถึงในประเทศจีน แม้ตัวซีรีส์จะไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการที่จีนก็ตาม แต่มีคอซีรีส์ไม่น้อยเป็นแฟนซีรีส์เรื่องนี้
นั่นเป็นเหตุให้พวกเขาตาดีจับโป๊ะ ‘ความเหมือน’ ของรายการวาไรตี้จีนชุดใหม่ที่กำลังเตรียมออนแอร์ของ Youku แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งยอดนิยมของจีน ในชื่อ Squid's Victory
จากรายงานของ bbc เมื่อตุลาคม 2021 เผยว่ามีชาวเน็ตจีนกล่าวหาว่า Squid's Victory ลอกเลียนแบบซีรีส์ Squid Game เนื่องจาก Squid’s Victory ใช้เงื่อนไขดำเนินรายการเล่มเกมให้ผู้แข่งขันเล่นเกมส์แบบเด็ก ๆ และถ้าใครแพ้บทลงโทษ คือ ตาย (ตายปลอม ๆ อะนะ) ซึ่งคล้ายกับซีรีส์ Squid Game มาก
นอกจากนี้แม้กระทั่งโปสเตอร์โปรโมท Squid’s Victory ยังใช้โลโก้คล้ายกับโลโก้ Squid Game อีกด้วย โดยชาวเน็ตต่างประณามการกระทำนี้ว่า "ไร้ยางอาย" ด้าน Youku เองก็ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการผ่าน Weibo พร้อมชี้แจงว่าโปสเตอร์โปรโมทรายการเป็นเพียงข้อผิดพลาดการทำงานโปสเตอร์ฉบับร่างเท่านั้น
งานนี้ทัวร์ลงยาว เพราะเหล่าชาวเน็ตจีนไม่เพียงไม่เชื่อถ้อยแถลงของ Youku ยังมีบางคนตอกกลับอีกว่า "ฟังดูเป็นการปกปิดที่ง่อยมาก" และมีผู้ใช้ Weibo อีกหลายคนบอกไปในแนวทางเดียวกันว่า รู้สึกเบื่อหน่ายกับผู้ผลิตจีนที่ลอกเลียนแบบเนื้อหาเกาหลี ตัวอย่างรายการประกวดเพลงแร็พยอดนิยม The Rap Of China ก็โดนวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนว่าเป็นก็อปปี้มาจาก Show Me The Money ของเกาหลีใต้
“เหตุใดผู้ผลิตของเราจึงคิดไอเดียของเราเองไม่ได้ มันเป็นเรื่องน่าอายมาก” หนึ่งในความเห็นของชาวเน็ตเกี่ยวกับประเด็นนี้
จากประโยคนี้ทำให้พอเดาได้ว่ามีรายการวาไรตี้ก็อปไอเดียรายการแดนกิมจิมาไม่น้อย และไม่ซบอารมณ์ชาวจีนเท่าไรนัก
การ์ตูนอนิเมชั่นเซินเจิ้นก็มา
เรื่องราวการก็อปปี้ไม่เว้นแม้แต่การ์ตูนอนิเมชั่น ย้อนไปปี 2016 จากรายงานของ CNBC เผยว่า ดิสนีย์บริษัทสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ของโลก ยืนฟ้องต่อศาลจีนว่า 3 บริษัทในจีน ได้แก่ Blue MTV บริษัทโปรดักชั่น, Beijing G-Point บริษัทสื่อ และแพลตฟอร์มออนไลน์ PPLive มีส่วนร่วมผลิต The Autobots การ์ตูนอนิเมชั่นจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่มีหน้าตาและเรื่องราวคล้ายกับ Cars ผลงานของ Pixars ที่โฉลกออกมาราวกับฝาแฝด โดยทางดิสนีย์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินหลายล้านหยวนในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์
อย่างที่ผู้คนทั่วโลกรู้กันว่า Cars เป็นการ์ตูนอนิเมชั่นชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ผลงานการสร้างของ Pixar ที่มี Walt Disney Pictures เป็นผู้จัดจำหน่าย เข้าฉายภาคแรกเมื่อปี 2006 ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและรายได้จนมี Cars 2 และ 3 ตามมา
ทั้งนี้ดิสนีย์ตัดสินใจยื่นฟ้องดำเนินคดีผู้สร้าง The Autobots โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าตัวละครเอกที่ชื่อว่า K1 และ K2 ของ The Autobots นั้น มีความเหมือนกับตัวละคร ไลท์นิ่ง แมคควีน กับ ฟรานเชสโก เบอร์นูลลี่ ในแฟรนไชส์อนิเมชั่น Cars มาก แถมโปสเตอร์โปรโมทยังมีความเหมือนกันในหลาย ๆ จุด
ด้าน จั้วเจียนหลง (Zuo Jianlong) ผู้กำกับ The Autobots ออกมายืนยันว่า ผลงานของพวกเขาไม่น่าเข้าข่ายลอกเลียนแบบงานของ Pixar เพราะทีมงานสร้างสรรค์หนังเรื่องนี้ขึ้นมาเอง และยังพยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันในหลาย ๆ ด้านของหนังทั้งสองเรื่อง
“คนจำนวนมากพูดถึงเรื่องการลอกเลียนผลงาน แต่สำหรับประเด็นทางกฎหมายแล้วมันชัดเจนว่านี่ไม่ใช่พฤติกรรมแบบนั้นแน่ ๆ ถ้าคุณเอาหนังทั้งสองเรื่องมาเทียบกัน จะเห็นว่ามันแตกต่างกันอย่างชัดเจน”
ส่วนใครจะว่าลอกหรือไม่? ลองไปดูภาพโปสเตอร์โปรโมทของเขาก่อน เหมือนตรงไหนเอาปากกามาวง! แต่ที่แน่ ๆ ทางทีมผู้สร้าง The Autobots ไม่แคร์กระแสดราม่า เพราะในระหว่างการฟ้องร้องยังดำเนินไป ทีมงานเตรียมแผนสร้าง The Autobots 2 ต่อ
นี่แค่ส่วนหนึ่งของข่าวคราวดราม่าการลอกเลียนแบบที่มีอยู่ดาษดื่นในจีน แต่ต้องบอกว่าก่อนอย่าเพิ่งเหมารวมไปทั้งหมด วงการบันเทิงจีนยังมีนักสร้างสรรค์ที่มีความสามารถและเก่งกาจที่ผลิตผลงานดี ๆ เทพ ๆ ออกมาประดับวงการอีกมากมาย เพราะทุกวันอุตสาหกรรมบันเทิงจีนถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว ฉะนั้นเชื่อว่าจีนเองไม่ได้นิ่งนอนใจในการคิดหาวิธีการขจัดปัญหาเหล่านี้ให้เบาบางลงเช่นกัน
ร้อยเรียงเรื่องราว : Softlens
อ้างอิงเรื่องและภาพ :
mydramalist.com/
www.imdb.com
https://www.globaltimes.cn/page/202012/1211158.shtml
https://www.globaltimes.cn/page/202012/1210679.shtml?id=11
https://www.whatsonweibo.com/guo-jingming-the-yin-yang-master-dream-of-eternity-pulled-from-theaters/
https://www.hotpot.tv/news/plagiarism-controversy-surrounds-newly-released-novoland-pearl-eclipse-poster
https://www.jaynestars.com/news/zanilia-zhao-fans-accuse-yang-mi-for-plagiarizing-princess-agents-poster/
https://lujuba.cc/en/344732.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-58991127
https://www.cnbc.com/2016/06/22/cars-vs-autobots-disney-sues-china-firms-in-copyright-dispute.html
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์