“เทอมสอง สยองขวัญ” (ข้อมูล-รายละเอียด)
เรื่องสยองในมหา’ลัย ถูกเล่าลือมาทุกยุคสมัย จากรุ่นสู่รุ่น จากคณะสู่คณะ จากมหา’ลัยสู่มหา’ลัย
หลายตำนานความเฮี้ยน หลากเรื่องราวความหลอนที่ คนในอยากหลอก คนนอกอยากเล่า
สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล” เตรียมเปิดปีการศึกษา 2565 พร้อมปลุก “ตำนานผีมหา’ลัย” บทใหม่กับ “3 ความสยองที่ไม่เคยถูกเล่า”
ประเพณีการเข้าห้องเชียร์ปีนี้จะไม่ใช่ปีสุดท้าย ถ้าเหตุการณ์สยองในวันนั้นไม่เกิดขึ้น ผีนักศึกษาแพทย์สุดหลอนจะกลับมานอนที่เตียงซีในหอพักในวันสถาปนามหาวิทยาลัยของทุกปี ณ ตึกวิทย์เก่าที่ยืนหนึ่งเรื่องความสยองแห่งนั้น แค่เลี้ยวเข้าผิดทิศ ชีวิตก็อาจสู่ขิตไปตลอดกาล
แท็กทีม “6 นักศึกษารุ่นใหม่” ที่พร้อมท้าทายและเผชิญหน้าด้วยความขนพองสยองกล้า
กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ (กิต Three Man Down) , เขมิศรา พลเดช , ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ (เจมส์), ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์ (นาน่า) , ปาณิสรา ริกุลสุรกาน (แคร์), แพรวา สุธรรมพงษ์ (มิวสิค BNK48),
เตรียมเข้าคลาสสัมผัสทุกอณูความสยอง 24 มีนาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
ชื่อเรื่อง : เทอมสอง สยองขวัญ: เชียร์ปีสุดท้าย
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย : สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง : Hello Filmmaker
อำนวยการสร้างบริหาร : สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
อำนวยการสร้าง : จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการสร้าง : โชติรัตน์ วารีรัตนโรจน์
กำกับภาพยนตร์ : ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์
เรื่อง : Hidden Agenda
บทภาพยนตร์ : ธนบูรณ์ นันทดุสิต เอกราช มอญวัฒ, ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์, ออมทรัพย์ ธนะฤทธิ์สุวรรณ
กำกับภาพ : สิทธิชัย เหลืองอมรเลิศ, พสิษฐ์ ตันเดชานุรัตน์, ธีรุตม์ ธรรมแท้
กำกับศิลป์ : ณัฐพงศ์ โพธิ์เขียว
ออกแบบเครื่องแต่งกาย : วัลลิภา กันทะเขียว
แต่งหน้า : ธนพัฒน์ อุดมทรัพย์, กิรณาพัชญ์ ธนาสุขศรีรัตน์
ทำผม : ธัชมาพันธุ์ วงศ์ชัย, กรรณ์ สินพลเกิด, กิรณาพัชญ์ ธนาสุขศรีรัตน์
แต่งหน้าเทคนิคพิเศษ : หทัย เขียวเเสง
ดนตรีประกอบ : เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน, รัฐกรณ์ โกมล
ลำดับภาพ : อภิสิทธิ์ ว่องไวตระการ
เทคนิคภาพพิเศษ : เซอร์เรียล สตูดิโอ
ฟิล์มแล็บ : ไวท์ไลท์ สตูดิโอ
บันทึกเสียง : ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ทีมนักแสดง : แพรวา สุธรรมพงษ์, ปาณิสรา ริกุลสุรกาน
เรื่องย่อ
ประเพณีการเข้า “ห้องเชียร์” ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีสุดท้าย ถ้าเหตุการณ์สยองในวันนี้ไม่เกิดขึ้น...
“เมษา” (มิวสิค BNK48) และ “ต่าย” (แคร์ ปาณิสรา) เด็กเฟรชชีของคณะฯ ต้องเข้าร่วมกิจกรรมเชียร์เหมือนเช่นที่ทุกๆ ปีทำกันมา แต่แล้วเมื่อเมษาเห็น “บางอย่าง” ในห้องเชียร์โดยไม่คาดฝัน บางอย่างที่จะพลิกผันความสัมพันธ์ของสองเพื่อนสาว และทำให้ห้องเชียร์รุ่นนี้กลายเป็นรุ่นสุดท้ายของมหา’ลัย!
บทบาท-คาแร็กเตอร์
เมษา (รับบทโดย มิวสิค BNK48-แพรวา สุธรรมพงษ์) – นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 1 เป็นคนไม่ค่อยเปิดเผยอารมณ์ มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจึงกังวลเรื่องการเข้าสังคม แต่ถ้าเธอไว้ใจใครแล้วก็จะสนิทกันมากจนหลายครั้งก็ยอมทำตามที่เพื่อนคนนั้นบอกแต่โดยดี และ “ต่าย” ก็คือเพื่อนสนิทที่รู้ทุกความเป็นไปและความลับที่เมษาปิดซ่อนคนอื่นเอาไว้
“เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับสิคเลยค่ะ เพราะว่าทั้งด้วยตัวละครและเนื้อเรื่องบวกกับที่หนูเพิ่งเคยมาแสดงคู่กับนักแสดงที่ไม่ใช่เพื่อนในวง BNK48 เป็นครั้งแรกเลยก็นับว่าเป็นการชาเลนจ์ท้าทายตัวเองแล้วก็ต้องทำการบ้านทำความเข้าใจตัวละครหนักมากๆ ค่ะ ประเด็นเรื่องเพื่อนกับห้องเชียร์ในเรื่องนี้หนูรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากๆ การที่เราเข้ามหา’ลัย ต้องเจอเพื่อนใหม่ การรับน้อง หรือว่าห้องเชียร์ หนูรู้สึกว่าตัวละคร ‘เมษา’ เค้าเป็นคนที่สามารถสะท้อนระบบโซตัสที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ได้ดีมากเลยค่ะ
บรรยากาศความหลอนของฉากห้องเชียร์ คือตึกที่เราเลือกไปถ่ายทำมันก็มีตำนานประจำตึกของเค้าอยู่แล้ว ซึ่งสิคไม่มั่นใจว่าในวันนั้นสิคก็เจอด้วยเหมือนกันหรือเปล่า แต่มันมีเหตุการณ์ที่แบบโดนแล้วนะอะไรอย่างนี้เกิดขึ้นด้วย ทีนี้พอต้องมาถ่ายต่อหนูเลยรู้สึกว่ามันหนักไปหมดเลยจริงๆ เลยรู้สึกว่ามันเป็นฉากที่น่ากลัวมากๆ ก็เลยรู้สึกระแวงตลอดเวลา กลัวด้วย กดดันด้วย เพราะมันมีจุดที่เจอจริงๆ ค่ะ”
ต่าย (รับบทโดย แคร์-ปาณิสรา ริกุลสุรกาน) - นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปี 1 มีนิสัยเข้ากับคนค่อนข้างง่าย มองโลกในแง่ดี คาดหวังว่าทุกคนจะมอบมิตรภาพดีๆ ให้ เธอเป็นเพื่อนสนิทกับ “เมษา” มานาน รู้นิสัยกันดีทุกอย่าง คอยอยู่เคียงข้างกันตลอด และพยายามปกป้องเพื่อนอยู่เสมอ แต่อีกใจหนึ่งต่ายก็อยากมีเพื่อนใหม่และสังคมใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย เธอจึงชอบทำกิจกรรมต่างๆ และอยากให้เมษาได้เข้าสู่โลกใบใหม่นี้ด้วยกันจนนำไปสู่เหตุการณ์คืนสยองเกินคาดเดา
“เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทสองคนที่เพิ่งเข้าเรียนมหา’ลัยด้วยกัน ทั้งคู่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเชียร์ของคณะ แล้วก็ดันไปเห็นความสยองบางอย่างที่รุนแรงมากจนกลายเป็นความขัดแย้งและจุดเปลี่ยนทั้งความสัมพันธ์และกิจกรรมห้องเชียร์นี้ไปเลย
ตอนที่ถ่ายฉากในห้องเชียร์ หนูรู้สึกขนลุกทำไมก็ไม่รู้ ด้วยกลองที่ตี ด้วยเพลงเชียร์อะไรต่างๆ พอคนร้องประสานเสียงกันหนูว่ามันขลังแต่ว่ามันหลอนมากกว่า มันเหมือนเป็นพิธีกรรมแบบทุกคนมานั่งแล้วก็ร้องเพลงเชียร์เหมือนสวดมนต์อะไรสักอย่าง คือถ้าสมมติว่าหนูอยู่ในห้องเชียร์แล้วหนูนั่งร้องเพลงเชียร์อยู่ดีๆ แล้วแบบมีผีโผล่ขึ้นมา หนูว่าก็คงจะวิ่งหนีไปเลย แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ หนูคงแบบก้าวขาไม่ออก ทำอะไรไม่ถูกซะมากกว่า”
ประวัติผู้กำกับ “เชียร์ปีสุดท้าย”
“พลอย-ภัทรภร วีระศักดิ์วงศ์” จบการศึกษาด้านภาพยนตร์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและผู้กำกับของ “Hello Filmmaker” เธอมีผลงานกำกับหนังสั้น, โฆษณา และมิวสิกวิดีโอ อาทิ หนังสั้น Nikon “ภาพ...ความรู้สึก” (2558), ซีรีส์มิวสิกวิดีโอของ “Room 39” เพลง “ความจริง” (2558), “อย่าให้ฉันคิด” (2559), “เป็นทุกอย่าง” (2560) ฯลฯ
ผลงานทั้งหมด: https://vimeo.com/user75778405
“คอนเซปต์โดยรวมของเรื่องนี้ก็คือเป็นการนำตำนานจากแต่ละมหา’ลัย เอามาดัดแปลงและถ่ายทอดออกมาให้เป็นภาพยนตร์ 3 เรื่อง ส่วนเรื่องของพลอยก็จะมาจากตำนานของมหา’ลัยหนึ่งที่มันเกี่ยวกับห้องเชียร์และความสัมพันธ์ของเพื่อนสองคนที่ต้องมาเจอสังคมใหม่ๆ มันจะมีการปรับตัวอะไรยังไง รวมถึงเรื่องราวความสยองที่ต้องพบเจอด้วยค่ะ
ประเด็นของเรื่องที่พลอยอยากเล่าคือการยอมรับตัวตนของเพื่อนและตัวเราเอง มันมีส่วนหนึ่งของเรื่องที่เราชอบเลยคือหนังผีทั่วไปก็จะเล่าแบบตัวละครเห็นผีแล้วก็กลัว แล้วก็หนี หรืออะไรสักอย่างที่มันเป็นแอ็กชัน แต่ว่าเรื่องนี้เราอยากเล่าตรงที่ตัวละครเห็นผีแล้วกลัว แล้วจะยังไงต่ออีก เค้าจะอยู่กับการเห็นผีของเค้ายังไง รวมถึงอีกฝ่ายจะอยู่ยังไงกับการที่เพื่อนของเค้าเห็นผีแล้วเกิดอาการหลอนอะไรอย่างงี้ เค้าจะเทกแอ็กชันจะจัดการกับเหตุการณ์ตรงนี้ยังไง อันนี้ก็เป็นธีมหลักของเรื่องเหมือนกันค่ะ”
บันทึกผู้กำกับ “เชียร์ปีสุดท้าย”
เมื่อนึกถึงชีวิตในมหาวิทยาลัย “กิจกรรมเชียร์” เป็นกิจกรรมที่มักจะถูกพูดถึงเป็นหลักอยู่ช่วงหนึ่งของชีวิตนักศึกษามหา’ลัย ในยุคนั้น “เชียร์” ของแต่ละสถาบันก็ถูกพูดถึงในรูปแบบต่างๆ กันไป มีทั้งในแง่ดีมากและแง่ที่เลวร้ายมากๆ และส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพียงการบอกเล่าต่อๆ กันมา ไม่ได้มีภาพหรือคลิปให้ดูมากนัก
“เชียร์” เลยดูเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นไปได้ในหลากหลายแบบมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ อย่างเช่นเราเจอเชียร์ที่แบบเบามากๆ เน้นเอนเตอร์เทนเป็นหลัก ส่วนเพื่อนอีกคณะเจอเชียร์ที่เป็น “ระบบโซตัส” และกดดันมากๆ
ปัจจุบันถึงแม้กิจกรรมเชียร์เป็นกิจกรรมที่กำลังจะถูกให้ความสำคัญลดลง และมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ หายไป อาจจะด้วยความสมัครใจ ด้วยช่วงเวลา และทัศนคติที่เปลี่ยนผ่าน แต่สำหรับเราก็คิดว่า “เชียร์” ยังน่าจะถูกพูดถึงและเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจในแง่มุมต่างๆ
ตอนที่เราได้รับโจทย์ภาพยนตร์ “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เชียร์ปีสุดท้าย” มาทำในยุคปัจจุบันเลยรู้สึกว่ามันค่อนข้างจะท้าทายอยู่เหมือนกัน เนื่องจากว่าคนยุคนี้จะไม่อินกับ “ระบบกดทับ” แบบนี้แล้ว และด้วยประสบการณ์ที่เราผ่านมา เราก็ไม่ได้ผ่านการเชียร์แบบโซตัสสุดโต่งขนาดนั้น เชียร์ที่เราได้ผ่านมามันก็เป็นกิจกรรมที่เราคิดถึงในทางที่ดี เราจึงเลือกที่จะลดความเข้มข้นของโซตัสลง มีการบังคับกันที่ (เหมือนจะ) น้อยลง และให้ในภาพยนตร์เป็น “ยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่าน” ซึ่งการตัดสินใจแบบครึ่งๆ กลางๆ ในยุคเปลี่ยนผ่านมันก็มีปัญหาของมัน
ส่วน “ผี” ในเรื่อง ด้วยว่าเรื่องนี้เน้นไปที่ความสัมพันธ์ของตัวละครหลัก 2 ตัว มันจึงมี Conflict อื่นอีกด้วยนอกจากการที่ตัวละครเจอผี ผีในเรื่องจึงค่อนข้างจะเชื่อมโยงกับความรู้สึกแปลกแยกของตัวละคร เช่นเป็นผีที่ตายด้วยการฆ่าตัวตายหรือถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งตัวละครหลักก็จะรู้สึกทั้งกลัวและถูกดึงดูดจากผีพวกนั้นด้วย เหมือนว่าตัวละครเองก็จะก้ำกึ่งไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะกับพื้นที่ตรงไหนมากกว่ากันระหว่าง “โลกห้องเชียร์” กับ “โลกของผี”
เรื่องผีดราม่าเป็นแนวทางกำกับใหม่ที่พลอยยังไม่เคยได้ลองทำ มันจึงมีความยากในหลายๆ ส่วน แต่ก็พยายามและตั้งใจทำเต็มที่ ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ทาง “สหมงคลฟิล์มฯ” มอบให้ค่ะ หวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะไปได้ไกลและมีการตอบรับที่ดีค่ะ
ชื่อเรื่อง : เทอมสอง สยองขวัญ: เดอะซี
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย : สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง : มิตรกับภาพ
อำนวยการสร้างบริหาร : สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
อำนวยการสร้าง: จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการสร้าง : ปวรนันท์ กันต์ไพเราะ
กำกับภาพยนตร์ : จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์
เรื่อง : Hidden Agenda
บทภาพยนตร์ : ธนบูรณ์ นันทดุสิต เอกราช มอญวัฒ
กำกับภาพ : ณิชา จุไรรัตนาภรณ์, บุณยนุช ไกรทอง
ออกแบบงานสร้าง : ธีระชาติ พงศ์วิไล
ออกแบบเครื่องแต่งกาย : ศิริวรรณ ก้านชูช่อ
แต่งหน้า : พรเมษา สุอภิชยา
ทำผม : สุพิชฌาย์ ซื่อตรงจิตติ
แต่งเทคนิคพิเศษ: เมธาพันธ์ ปิติธันยพัฒน์, วราภรณ์ ศรีสวัสดิ์, มีนา จงไพบูรณ์, กนกกร นาครัตน์
ดนตรีประกอบ : เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน
ลำดับภาพ : อิทธิวัฒน์ ภู่บัณฑิต
เทคนิคภาพพิเศษ : เซอร์เรียล สตูดิโอ
ฟิล์มแล็บ : ไวท์ไลท์ สตูดิโอ
บันทึกเสียง : ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ทีมนักแสดง : ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ, ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์
เรื่องย่อ
หอพักนักศึกษาแพทย์ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยจะเป็นวันที่เงียบเหงาที่สุด ไม่มีใครกล้าอยู่หอ... เพราะมีเรื่องเล่าลือกันว่า “ผีนักศึกษาแพทย์” จะกลับมานอนที่ “เตียงซี” ของเขาในวันนั้นของทุกปี แต่ปีนี้ “แทน” (เจมส์ ธีรดนย์) หนุ่มนักศึกษาแพทย์ปีหนึ่งจำเป็นต้องอยู่หอเพียงคนเดียวในคืนนั้น เพราะเขามี “ความลับ” บางอย่างปกปิดไว้ นั่นทำให้เขาต้องเผชิญหน้าและเอาชีวิตรอดจากเจ้าของเตียงซีในตำนาน
บทบาท-คาแร็กเตอร์
แทน (รับบทโดย เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) - นักศึกษาแพทยศาสตร์ ปี 1 ผู้จริงจังกับชีวิต ตั้งใจเรียน มองอนาคตไกล แทนหวังจะเป็นที่พึ่งและผู้นำให้กับคนที่เขารัก แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็มักจะชอบเก็บงำไว้กับตัวเองโดยไม่บอกให้ใครรู้ นั่นจึงเป็นการสร้างระยะห่างกับคนอื่นโดยไม่รู้ตัวโดยเฉพาะกับ “แตง” แฟนสาวที่อยู่คณะเดียวกัน
“คือผมว่าเล่นเรื่องนี้เนี่ย เรื่องข้อมูลเรื่องอินเนอร์ก็เป็นเบสิกที่เราต้องเตรียมมาอยู่แล้ว ทีนี้พอมันต้องใช้ร่างกายเยอะมาก สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวให้ดีเลยคือสุขภาพหรือบอดี้ของเรา เพราะมันต้องใช้ร่างกายแบบสุดมากๆ คือประมาณครึ่งเรื่องเลยครับที่ต้องเจอผีแล้วคลาน ไม่ได้เดินเลยครับ ตอนอ่านบทก็โอเค มันคงไม่ได้คลานหนักมากหรอก เค้าคงมีมุมแบบคลานๆ หยุดๆ ตัดมาของจริงคือเหมือนเราวิ่งห้าสิบเมตรแล้วคลานห้าสิบเมตรอะไรอย่างนี้เลย มันเหนื่อยมาก สมจริงมาก เหนื่อยแต่มันส์ ได้แผลทุกวัน มันยากแบบที่เราต้องบาลานซ์ร่างกายที่มันเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มร้อย มันก็ต้อง Keep อินเนอร์ที่เรารู้สึกว่าเรากลัว จุดประสงค์ที่เราต้องการหนีจากที่นี่ ทุกอย่างมันต้องบาลานซ์กันทั้งหมด
มันเป็นแอ็กชันสยองเลยครับในเรื่องนี้ ในแง่ความสยองก็ลองจินตนาการดูว่าต้องอยู่หอในคนเดียวทั้งหอ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีผีโผล่มา แค่นี้ผมว่ามันก็สยองแล้วนะ ตัวละครผมโดนผีเล่นงานสาหัสมากครับ ต้องลุ้นกันว่าจะเอาชีวิตรอดออกมาจากห้องนั้นได้ยังไงครับ แล้วจริงๆ มันก็คือทางแยกของชีวิตวัยรุ่นแบบว่าเฮ้ย...สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดเนี่ย วันนี้มันกำลังจะพังทลายลงเพราะอะไรบางอย่างจริงๆ เหรอ มันก็จะมีคอนฟลิกซ์สำหรับตัวเองอยู่ด้วยครับ”
แตง (รับบทโดย นาน่า-ศวรรยา ไพศาลพยัคฆ์) - นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ปี 1 เป็นคนจริงจังทั้งเรื่องเรียนและความรัก บุคลิกเรียบร้อย แต่ก็แอบขี้เล่น ชอบแกล้งหยอกคนอื่นแบบเนียนๆ ถึงแม้ว่าแตงจะดูเข้ากับคนอื่นได้ดี แต่สิ่งที่เธอไม่ชอบคือความไม่ชัดเจน เพราะมันทำให้แตงคิดไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะกับ “แทน” แฟนหนุ่มที่เธอรู้สึกแคร์
“เอาจริงๆ หนูชอบแสดงหนังผีนะคะ เพราะหนูรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เราไม่ได้เจอในชีวิตจริง แล้วพอเราได้มามีประสบการณ์ตรงนี้มันก็รู้สึกสนุก ก็อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ มันจะเป็นยังไง มันเหมือนได้ปลดปล่อยอารมณ์แบบ Extreme ออกไปค่ะ มันเหมือนเราต้องบิลด์ ต้องใช้เทคนิคให้อารมณ์มันอยู่ข้างบนตลอดเวลา มันจะเหนื่อยแต่มันสนุกมาก หนูชอบ คือหนูว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่แค่หนังผี มันคือหนังที่เล่าถึงคน จิตใต้สำนึกของคนที่มันถูกรีเฟล็กต์ออกมาผ่านหนังเรื่องนี้ ซึ่งหนูว่าทุกคนน่าจะต่อติดได้ โดยเฉพาะวัยรุ่นน่าจะเข้าใจ น่าจะอยากรู้ น่าจะดูแล้วมันส์ไปกับตัวละครและเรื่องนี้ค่ะ”
ประวัติผู้กำกับ “เดอะซี”
“ก๋วยเตี๋ยว-จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์” จบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง มีประสบการณ์ทั้งในตำแหน่งผู้กำกับและผู้กำกับภาพ เขาผ่านงานกำกับมาหลากหลายทั้งโฆษณา, มิวสิกวิดีโอ, หนังสั้น และซีรีส์ อาทิ มิวสิกวิดีโอ “ไม่เป็นไร...เข้าใจ” (Goodbye) ของ “วิโอเลต วอเทียร์” (2560), ซีรีส์ “เด็กใหม่ The Series ซีซัน 1” (Girl From Nowhere Season 1) EP.6, 7, 9 (2561), ซีรีส์ “GGEZ เกรียนเมพเทพศาสตร์” (2561), หนังสั้น “กักตัว Stories ตอนที่ 9 The Coach จูนความคิด..ปิดความทุกข์” (2563), ซีรีส์ “เด็กใหม่ The Series ซีซัน 2” (Girl From Nowhere Season 2) EP.7 (2564) ฯลฯ
ผลงานทั้งหมด: https://vimeo.com/guayteaw
“ความเป็นหนังสยองแอ็กชันของ ‘เดอะซี’ คือเรื่องนี้ฟอร์มแรกมันคือ Suspense มันเกิดความตึงเครียด ตัวละครมันถูกจำกัดความสามารถ มันควบคุมตัวเองไม่ได้ ทีนี้ในหอพักมันก็ดันมีผีโผล่มาด้วย ซึ่งมันจะเกิดเหตุการณ์ที่ผีมันโกรธตัวละครหลักแล้วก็ไล่ล่ากัน ตรงนี้แหละที่ทำให้เกิดแอ็กชันการเอาตัวรอด ตัวผีเองนอกจากจะน่ากลัวแล้ว ระหว่างทางมันจะมีการอัปเลเวลทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้อิสระมากขึ้น มันก็เลยเกิดเป็นซีนแอ็กชันขึ้นมาจากการต้องเอาตัวรอดให้ได้ในพื้นที่จำกัดอะไรแบบนี้ครับ
ผมคิดว่ามันใกล้ตัว ทุกคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์เรื่องผีในมหา’ลัยหรือว่าในสถานศึกษา มันเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเชื่อมต่อได้ง่าย มันเป็นหนังผีเสพง่าย และเราก็พยายามให้มันเอนเตอร์เทนคนดู คนที่คาดหวังความน่ากลัวก็คาดหวังว่าจะได้รับ คนคาดหวังความผีสางมันก็จะเป็นอย่างนั้น ซึ่งสำหรับเรื่องนี้มันก็มีความเป็นมนุษย์แทรกเข้าไปอยู่ดีในท้ายที่สุด แม้มันเป็นผีปีศาจอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายมันยังคอนเนกต์กับมนุษย์คนหนึ่งอยู่ ความกลัวในการที่เราจะเป็นในสิ่งที่เราฝันไว้ไม่ได้ การต้องยอมรับว่าเราไม่เหมาะกับสิ่งที่เราทำอยู่ มันก็เจ็บปวดมากพออยู่แล้ว ผีอาจจะเป็นแค่ตัว Trigger ความรู้สึกนั้นขึ้นมา การเอาตัวรอดจากผีอาจจะทำให้เราได้คำตอบ มันเหมือนกับการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ร้ายๆ บางอย่างในชีวิตเรา แล้วเราพบว่ามันให้คำตอบกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตของเราได้ มันคอนเนกต์กับมนุษย์ได้ มันเป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้นี่แหละครับ”
บันทึกผู้กำกับ “เดอะซี”
หลายครั้งในชีวิต “ความกลัว” เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตเกิด “ความเปลี่ยนแปลง”
ความกลัวนั้นมีหลากหลายชนิด ในภาพยนตร์เรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เดอะซี” นอกจากความกลัวผีที่ผลักดันให้ต้องเอาชีวิตรอดแล้ว คุณจะได้พบกับความกลัวรูปแบบอื่นที่ซ่อนเร้นอยู่ในใจของตัวละคร “แทน” (ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) อีกด้วย
แรกเริ่มกับโปรเจกต์นี้ ภาพปลายทางของผมคือภาพยนตร์ระทึกขวัญที่นำเสนอความน่ากลัวเป็นหลัก เป็นหมุดหมายและทิศทางที่นำพาชิ้นงานดำเนินไป เพียงแต่เมื่อใช้เวลามากขึ้น ผมกลับพบสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ความกลัวเบื้องลึกที่ส่งผลต่อตัวละครเอกนั้นช่างมี “ความเป็นมนุษย์” ซับซ้อนอย่างไร้เหตุผล แต่ก็เข้าใจได้ในท่าที และมนุษย์เรากันเองนั้นต่างก็มีความกลัวรูปแบบนี้ซุกซ่อนอยู่ภายใน
อย่างเช่น กลัวที่จะไม่เป็นไปดังหวังเหมือนกับขณะที่กำลังทำภาพยนตร์เรื่องนี้หรืองานกำกับอื่นๆ ผมมักประสบพบเจออยู่เสมอ ไม่เคยเบาบางลงเลยแม้เวลาล่วงเลยมาหลายปี และตัวผมเองก็เรียนรู้ที่จะยอมรับมันและก้าวต่อไปให้ได้เสียแล้ว
หลายครั้งในชีวิต “ความกลัว” เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ชีวิตเกิด “ความเปลี่ยนแปลง”
ครั้งนี้ก็คงเช่นกัน แต่อาจจะต้องบอกทุกคนก่อนว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้นแยกออกจากการประสบความสำเร็จ เราอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง แต่ที่สำคัญคือไม่ได้หยุดอยู่ที่เดิมอย่างแน่นอน
“เทอมสอง สยองขวัญ ตอน เดอะซี” (The C) หรือ “ผีเตียงซี” จึงเป็นเรื่องราวของ “มนุษย์” คนหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง กับเรื่องราวของ “ผี” อีกซักตนหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป โดยมีเบื้องหลังเป็นมนุษย์ที่กลัวผีและแมลงหลายขาอย่างผมเป็นผู้ได้เล่าให้ทุกคนได้ชมได้ฟัง ทุกคนที่ก็คงไม่แคล้วมีความกลัวอะไรซักอย่างซุกซ่อนห่อหุ้มอยู่ภายในหัวใจ บ้างก็รู้ตัว บ้างก็ไม่รู้ตัว
ขอให้ทุกคนสนุกสนานขวัญระทึก รู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวในภาพยนตร์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะมีแง่มุมใดมุมหนึ่งที่คุณได้สัมผัสในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่จะสามารถปลอบประโลมและอยู่เคียงข้าง ความกลัวลึกๆ ในหัวใจของทุกคนได้ด้วยเช่นกัน
ชื่อเรื่อง : เทอมสอง สยองขวัญ: ตึกวิทย์เก่า
บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่าย : สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
บริษัทดำเนินงานสร้าง : กระต่ายตื่นตัว
อำนวยการสร้างบริหาร : สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
อำนวยการสร้าง: จาตุศม เตชะรัตนประเสริฐ
ควบคุมการสร้าง : กิรกร กรจิรพนธ์
กำกับภาพยนตร์ : เอกภณ เศรษฐสุข
เรื่อง : Hidden Agenda
บทภาพยนตร์ : ธนบูรณ์ นันทดุสิต เอกราช มอญวัฒ, เอกภณ เศรษฐสุข
กำกับภาพ : พณิช จิระวัฒนานันท์, วิจักข์ตรี ถิระพัฒน์
กำกับศิลป์ : เลอพงษ์ ภู่อ่อน
ออกแบบเครื่องแต่งกาย : วัลลภา ตั้งมิตรเจริญ
แต่งหน้า : อมฤต โชคปรีชา, พัชรี กรองมาลัย
ทำผม : มานิตย์ ทานศิลา, กุลวัชร เฉลียวชาติ, นรภทร เหมือนเดช
แต่งหน้าเทคนิคพิเศษ: ศิริพงศ์ สุขุมวาท
แต่งเทคนิคพิเศษ : อาภรณ์ มีบางยาง
ดนตรีประกอบ : เทิดศักดิ์ จันทร์ปาน
ลำดับภาพ : ลาฟ คัท
เทคนิคภาพพิเศษ: เซอร์เรียล สตูดิโอ
ฟิล์มแล็บ : ไวท์ไลท์ สตูดิโอ
บันทึกเสียง : ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา
ทีมนักแสดง : กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์, เขมิศรา พลเดช
เรื่องย่อ
ใครๆ ก็ไม่กล้าย่างกรายไปที่ “ตึกวิทย์เก่า” แห่งนั้น เพราะตำนานความสยองขวัญอันเป็นที่เลื่องลือ...
แต่โลกนี้ดันมีคนซื่อบื้ออย่าง “กอล์ฟ” (กิต Three Man Down) น้องชายผู้ไม่เอาไหนที่จำเป็นต้องเอาของไปส่งให้ “มีน” (เบลล์ เขมิศรา) พี่สาวสุดห้าวที่เรียนอยู่ตึกวิทย์ใหม่ เพียงแค่กอล์ฟเลี้ยวเข้าผิดตึก ชีวิตของเขาและพี่สาวก็อาจสู่ขิตไปตลอดกาล
บทบาท-คาแร็กเตอร์
กอล์ฟ (รับบทโดย กิต Three Man Down-กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์) - เด็กหนุ่มหัวขบถผู้เรียนไม่จบ เหมือนไร้จุดหมายในชีวิต แต่เขาก็เลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการเป็นไรเดอร์ส่งของ กอล์ฟมีพี่สาวชื่อ “มีน” ที่มักจะมองว่าน้องชายเป็นคนไม่เอาไหน ทำให้มีเรื่องทะเลาะกันเป็นประจำ แต่ลึกๆ แล้วพี่น้องคู่นี้ก็รักและเป็นห่วงกัน วีรกรรมนำพาผีฮาละวาดของกอล์ฟทำให้เขาและพี่สาวต้องเอาชีวิตรอดจากคืนสยองนั้นให้ได้
“นี่เป็นหนังผีเรื่องแรกของผมเลย ผมชื่นชอบหนังผีอยู่แล้ว ก็อยากจะฝากให้ติดตามเรื่องนี้กันด้วยนะครับ ผมว่าความสนุกของเรื่องนี้ก็คือคาแร็กเตอร์ของผมที่มันไม่เชื่อว่าผีมีจริงอยู่แล้วก็คิดว่าพวกผีเป็นคนปกติ พอเจอก็พูดคุยกันเป็นปกติ พี่เป็นอะไรรึเปล่า พี่ตามผมมาก่อน ก็เชิญชวนผีทุกตัวจากตึกวิทย์เก่าตามไปหาพี่สาวที่ตึกวิทย์ใหม่ พี่สาวพอเห็นว่าเป็นผีก็ตกใจแล้วก็มีการสู้กับผีเกิดขึ้น สุดท้ายเราก็ต้องคลี่คลายให้กับผีทุกๆ ตัว
เรื่องผีมันก็เป็นเรื่องความเชื่อ ขนบเก่าๆ มีความโบร่ำโบราณอยู่ ผมก็เหมือนเป็นคนที่ไม่เชื่อแต่หาคำตอบ อยากรู้แหละว่ามันมีผีอยู่บนโลกใบนี้ แต่ยังไม่เจอก็เลยยังไม่เชื่อ ความขัดแย้งความขบถในตัวกอล์ฟก็เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ก็อยากให้ไปดูว่าไอ้ตัวนี้จะนำพาให้หนังเรื่องนี้มันสนุกยังไงบ้าง ซึ่งในขณะเดียวกันตัวพี่สาวเราเองก็เรียนวิทยาศาสตร์ทำให้โลกเราพัฒนาก้าวต่อไปแต่ทำไมยังเชื่อเรื่องผีอยู่อะไรอย่างนี้ครับ มันจะมีความขัดแย้งกัน แต่สุดท้ายแล้วมันก็พูดถึงเรื่องของสังคมด้วยว่าความเชื่อเก่าๆ บางอย่างมันก็อาจจะมีต้นมีปลาย ตัวกอล์ฟเองก็มาเข้าใจแล้วก็แก้ไขมันอีกที”
มีน (รับบทโดย เบลล์-เขมิศรา พลเดช) - นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ปี 4 ที่ใกล้จะเรียนจบ เธอมีนิสัยห้าวๆ เรียนเก่ง มีความมั่นใจ ความเอนจอยอย่างหนึ่งในชีวิตของเธอคือการนั่งเมาท์และเล่าเรื่องผีให้แก๊งเพื่อนฟัง แต่เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับผีจังๆ ก็สนุกไม่ออก เธอมักจะทะเลาะกับน้องชายที่ชื่อ ‘กอล์ฟ’ เป็นประจำ แต่เรื่องผีๆ ในมหา’ลัยคืนนั้นก็กลับทำให้พี่น้องคู่นี้เข้าใจกันมากขึ้น
“นี่เป็นหนังเรื่องแรกของเบลล์และก็เป็นหนังผีด้วย มันคือผีทั้งเรื่อง มันก็เลยต้องเอาความกลัวเข้ามาเยอะกว่าเรื่องอื่นๆ ก็จะมีความเหนื่อยในเรื่องของการเล่นแอ็กติง เรื่องอารมณ์ เรื่องความกลัว ซีนหลอนไฮไลต์สำหรับเบลล์ก็คงเป็นซีนที่โดนผีไล่ล่า มันจะมีทั้งความสนุก ความสยอง และก็ความฮาที่ต้องรอชมกันว่าจะเป็นยังไง
เรื่อง ‘ตึกวิทย์เก่า’ นี้ก็จะเป็นสไตล์สยองคอมเมดี้เสียดสีสังคมคนยุคเก่าที่ชอบยึดติดแต่ที่เดิมๆ ไม่ยอมไปไหนสักที แต่ว่าอีกสองเรื่องก็จะเป็นแนวสยองดราม่ากับสยองแอ็กชัน มันก็จะครบรสในเรื่องเดียวที่อยากดูกันเลย ก็อยากให้ทุกคนลองไปดูแล้วตีความได้เลยว่าคิดแบบไหนกันบ้าง ส่วนเบลล์รู้สึกว่าคนเราเวลาอยู่ที่เดิมๆ มันจะคุ้นชินกับที่เดิมๆ ไม่ได้ไปไหนอะไรอย่างนี้ อาจจะต้องแบบเลิกยึดติดกับสิ่งเก่าๆ แล้วก็ลองไปสิ่งใหม่ๆ ที่อาจจะเป็นสิ่งที่ดีขึ้นก็ได้ค่ะ”
ประวัติผู้กำกับ “ตึกวิทย์เก่า”
“ต้น-เอกภณ เศรษฐสุข” จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้กำกับหนังสั้น “กลียุค” เจ้าของรางวัลช้างเผือกจาก “เทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 15” (2554) ผลงานที่ผ่านมาของเขามีทั้งโฆษณา, ซีรีส์ และมิวสิกวิดีโอ อาทิ ซีรีส์ “Love Rhythms: อยากจะร้องดังดัง” (2559), MV “ทางของฝุ่น” ของ “อะตอม ชนกันต์” (2559), MV “ไม่ควรมีคนเดียว” ของ “เป๊ก ผลิตโชค” (2563), MV “Heavy Rotation” ของ “BNK48” (2563) ฯลฯ
ผลงานทั้งหมด: https://vimeo.com/eakarpon
“ผีแต่ละตัวในเรื่องนี้ที่เราดีไซน์ไว้ก็จะให้มันเป็นตามขนบหนังไทยคือพอเห็นผีตัวนี้ปุ๊บก็จะรู้เลยว่ามันหลุดมาจากไหน ฟังก์ชันผีของเรื่องนี้มันก็จะดูหลอนและน่ากลัวเป็นปกติอยู่แล้ว รวมทั้งเราก็ต้องการให้พวกเค้าเป็นตัวแทนของอะไรบางอย่าง และผีแต่ละตัวมันก็จะมีความขัดแย้งที่เหมือนมันยึดติดกับสถานที่หรืออะไรตรงนั้นอยู่ทำให้มันยังไม่ไปไหน ยังคงออกมาหลอกหลอนเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง
ผู้กำกับแต่ละคนก็จะมองในมุมมองของตัวเองว่ามันเป็นยังไงกันแน่ มันไม่ใช่แค่ตำนานเรื่องเล่าเฉยๆ แต่มันเป็นเรื่องเล่าในมุมมองของเราว่ามันจะปรับแปลงให้มันเหมาะกับหนังผีในปัจจุบัน ให้มันดูโมเดิร์นหน่อยได้ยังไง เพราะว่าเราไม่ได้เล่าแบบหนังวินเทจที่ไปเล่าออริจินัลของเรื่องเลย แต่เราเล่าเรื่องของเรื่องเล่าเหล่านี้ให้มันเป็นปัจจุบันว่าคนสมัยนี้ยังมองเรื่องเล่าพวกนี้เป็นยังไงบ้าง ซึ่งทั้งสามเรื่องเนี่ยรสชาติก็จะแตกต่างกันไป มันมีเรื่องที่น่ากลัวมากๆ เรื่องที่เป็นความสัมพันธ์ดราม่า แล้วก็มาเรื่องของผมที่มันก็จะทั้งน่ากลัวผสมความฮากวนๆ มันจะมีความสนุกและได้ลุ้นไปกับมิชชันในหนังว่ามันเกิดอะไรขึ้นและมันจะไปจบลงที่ตรงไหน ในภาพรวมของหนังทั้งเรื่องผมเชื่อว่ามันน่าดูครับ มันเป็นเรื่องที่คนมาดูเรื่องเดียวก็จะได้หลากหลายรสชาติ ทั้งทีมงาน ผู้กำกับ และนักแสดงก็เต็มที่กันทุกคน มีอะไรก็ใส่กับมันไปหมด ผมคิดว่าผู้ชมน่าจะคุ้มและสนุกกับหนังเรื่องนี้กันครับ”
บันทึกผู้กำกับ “ตึกวิทย์เก่า”
ต้นปี 2021 เราได้รับโจทย์ “หนังผีเรื่องหนึ่ง” ที่มีแก่นเรื่องเกี่ยวกับการเล่าตำนานภูตผีปีศาจต่างๆ ที่สิงอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็นเรื่องราวที่ถูกเล่าต่อๆ กันมาจนเป็นความเชื่อ เป็นตำนานมหา’ลัยอันโด่งดัง เราได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาไตร่ตรองในกรอบของยุคปัจจุบัน ยุคที่เต็มไปด้วยกระแสแห่งการพยายามที่จะพิสูจน์และหาเหตุผล ที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะ “เชื่อ” หรือ “ไม่เชื่อ” ในสิ่งเหล่านั้น
หนังผีเรื่องนี้จึงเป็นเหมือนการเล่ามุมมองความคิดของ “คนยุคเก่า” และ “คนยุคใหม่” ในเรื่องของกรอบความคิด ความเชื่อ และการยึดติด ที่เกิดขึ้นจากการได้เรียนรู้จากชุดข้อมูลที่แตกต่างในต่างยุคต่างสมัยกัน นั่นรวมถึง “การเล่าตำนานผีเก่าแก่ในรั้วมหา’ลัย” ในมุมมองของคนยุคนี้ด้วย
ภาพยนตร์ “เทอมสอง สยองขวัญ ตอน ตึกวิทย์เก่า” เรื่องนี้ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเรา หลังจากที่เราได้อยู่ในวงการโฆษณาและมิวสิกวิดีโอมาเกือบสิบปี หลายๆ อย่างทั้งในขั้นตอนการคิดและการถ่ายทำมีทั้งเหมือนและไม่เหมือนกับที่เคยจินตนาการไว้ก่อนที่จะเข้ามาทำ แต่เราเองก็ยังคงสนุกอยู่ สนุกที่ได้ทดลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เราพยายามใส่สไตล์ของเรา วิธีการเล่ารวมถึงมูดแอนด์โทน (Mood and Tone) ในแบบที่เราอยากจะดูเข้าไปในหนังผีเรื่องนี้ ประเด็นที่เราพยายามใส่เข้าไปในหนังตลอดคือประเด็นของ ”การยึดติด” ซึ่งสุดท้ายระหว่างทาง เรากลับค่อยๆ ซึมซับมันเข้าไปในร่างกาย และได้นำหลักคิดของการรู้จักที่จะ “ปล่อยวาง” และรู้จักที่จะ “Move On” เข้ามาใช้ในชีวิตของเรามากขึ้น
เหมือนเป็นการทำหนังเพื่อบอกตัวเราเอง...