xs
xsm
sm
md
lg

Review ซีรีส์ : "หญิงเหล็กศาลเยาวชน - Juvenile Justice" ผู้พิพากษาท้าชนอาญชากรเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิในเมืองไทยจนพุ่งทะยานครองแชมป์อันดับหนึ่งทาง Netflix และติดท็อป 10 นานหลายสัปดาห์ “Juvenile Justice I หญิงเหล็กศาลเยาวชน” ซีรีส์ที่จะเปลี่ยนมุมมองความคิดต่อเยาวชนสู่การเป็น “อาชญากรเด็ก” ซึ่งก่อคดีร้ายแรงไม่แพ้ผู้ใหญ่ ทั้งฆ่าหั่นศพ ค้าประเวณี ค้ายาเสพติด ฉ้อโกง ทำร้ายร่างกาย

ทว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้นำเสนอการชิงไหวชิงพริบ เล่ห์เหลี่ยม หรือกลเม็ดเด็ดใจลูกขุนเหมือนซีรีส์แนว Legal Drama ทั่วไป หากแต่อัดแน่นด้วยเงื่อนปมทางจิตวิทยาและปัญหาครอบครัวที่ซุกไว้ใต้พรมจนเป็นปมชีวิตของเด็ก เล่าเรื่องได้อย่างกระชับ ลึกลับ น่าติดตาม กระทั่งชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงปมในวัยเด็กของตัวเองก็เป็นได้

เราอาจจะเคยวิเคราะห์กันเองว่า เด็ก ๆ มักจะทำอะไรวู่วาม เอาแต่ใจ ไร้เดียงสา แยกแยะผิดชอบชั่วดีไม่ได้ ต่อให้ทำความผิดร้ายแรงแค่ไหน อย่างมากสุดก็แค่ส่งตัวไปปรับทัศนคติตามสถานพินิจและคุ้มครองเยาวชน แต่ไม่ใช่กับเรื่องราวที่คุณจะได้พบใน “หญิงเหล็กศาลเยาวชน” ที่เราอาจจะต้องปรับทัศนคติตัวเองกันใหม่ ภายใต้หน้ากากไร้เดียงสาอาจเก็บซ่อนความเป็นอาชญากรโรคจิต และด้านมืดของจิตใจแสนอำมหิตจนเราคาดไม่ถึง

ผู้พิพากษาหญิงเหล็ก ผู้ไม่ปรานีต่อ “อาชญากรเด็ก”
ซีรีส์แนว Courtroom Drama หรือ Legal Drama ว่าด้วยเรื่องราวคดีความในศาลแขวงแผนกคดีอาญาเด็กและเยาวชน เขตยอนฮวาของเกาหลีใต้ เปิดฉากด้วยคดีสะเทือนขวัญ “ฆ่าหั่นศพ” เด็กชายวัย 8 ขวบแล้วนำชิ้นส่วนไปซ่อนไว้บนชั้นดาดฟ้าของอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง ก่อนที่เด็กชายวัย 13 ปีจะเข้ามอบตัวกับตำรวจแล้วอ้างว่า เขาเป็นฆาตกรฆ่าหั่นศพจนกลายเป็นข่าวใหญ่ที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก

เผือกร้อนตกไปอยู่ในมือของ “ชิมอึนซอก” (รับบทโดย คิมฮเยซู) ผู้พิพากษาหญิงคนใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาประจำการ เธอผู้มีสีหน้า แววตา และบุคลิกเยือกเย็นดุจราชินีน้ำแข็ง มาพร้อมชื่อเสียงที่เลื่องลือถึงความโหดระดับ 10-10-10 ชิมอึนซอก มีม็อตโตประจำตัวว่า “ฉันเกลียดอาชญากรเด็ก”
นี่เป็นเหตุผลที่เธอไม่เคยปรานีเมื่อต้องขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีในศาล เพราะเธอมักจะพิจารณาโทษสูงสุดให้กับเยาวชนหลายคดี จนเป็นที่เข็ดขยาดของเหล่าผู้ปกครองและอาชญากรเด็กหลายคน

หากแต่ภายใต้ความเย็นชา จริงจัง และลึกลับ เธอกลับมีปมฝังใจในอดีต ซึ่งทำให้เธอไม่เคยรอมชอมให้กับการกระทำความผิดของเยาวชนเหมือนผู้พิพากษาคนอื่น ๆ ซึ่งมักจะพิจารณาโทษไม่รุนแรงจนทำให้เด็กแสบบางคนมองเห็นช่องโหว่ของกฎหมายเยาวชน (อายุไม่เกิน 14 ปี) เลยทำให้พวกเขาไม่สำนึกผิด แถมเธอยังเป็นขาลุยลงสนามตามสืบคดีเองไม่ง้อตำรวจ ซึ่งแค่ตอนแรก ๆ เราก็อาจจะถึงกับต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออาชญากรเด็กเสียใหม่ บางทีพวกเขาอาจไม่ได้ “ใส ใส ไร้เดียงสา” อย่างที่คิด

ตรงกันข้ามกับผู้พิพากษา “ชาแทจู” (รับบทโดย คิมมูยอล) ผู้มีบุคลิกอบอุ่น อ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยเฉพาะเยาวชน ทว่าภายใต้ความอ่อนโยนดุจพ่อพระและความเมตตาอารี (จนเราเผลอขยี้ตานึกว่ามีปีกสีขาวอยู่ข้างหลัง) ผู้พิพากษาชาก็มีปมฝังใจในวัยเด็กที่รุนแรงเช่นกัน นั่นทำให้เขาลุกขึ้นมาปกป้องเยาวชนอย่างสุดความสามารถ แรกทีเดียวผู้พิพากษาชาไม่ค่อยถูกชะตากับการทำงานของผู้พิพากษาชิมเท่าไหร่

จะเห็นได้จากการเปิดฉากด้วยการพบปะเยาวชนพ้นโทษเพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สดใส ในขณะที่ผู้พิพากษาหญิงแกร่งกลับไม่แย่แสและเย็นชาจนเขาไม่พอใจ แต่กลับมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เขาต้องทบทวนความคิดตัวเองอีกครั้ง ถึงกับมองผู้พิพากษาชิมในมุมใหม่และยอมคล้อยตามวิธีการถึงลูกถึงคนชนิดไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ เพราะเธอพยายามค้นหาความจริงอย่างถึงที่สุดเพื่อคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของศาล ปกป้องเหยื่อ (ตัวจริง) และครอบครัวของผู้เคราะห์ร้ายให้ได้รับความยุติธรรม

ซีรีส์ยังนำเสนอการทำงานของผู้พิพากษาที่ไม่ใช่แค่ยึดหลักตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทว่าต้องนำหลักจิตวิทยามาประกอบการพิจารณาคดี รวมถึงการตัดสินบทลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งยังสอดแทรกการกระทำความผิดเล็ก ๆ ในบางตอน อย่างการล้วงกระเป๋า ลักทรัพย์ สูบบุหรี่ และหนีออกจากบ้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นอาชญากรร้ายในอนาคต

จาก “ฆาตกรหั่นศพ” ถึง “แม่เล้าเยาวชน” รู้เท่าไม่ถึงการได้ผลจริงหรือ?
เมื่อผู้พิพากษาสายโหดและผู้พิพากษาสายเมตตาต้องมาทำงานร่วมกัน พวกเขากลายเป็นส่วนผสมที่กลมกล่อม เพื่อให้ผู้ชมเรียนรู้ปมชีวิตเบื้องหลังอาชญกรเด็กผ่านมุมมองของ 2 ตัวละครหลักคือ “ผู้พิพากษาชา” ผู้เชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า เด็ก (บางคน) พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ หากมีใครสักคนเชื่อมั่นในตัวเขาและพร้อมจะปกป้องคุ้มครองให้ความอบอุ่นเหมือนครอบครัว ขณะเดียวกัน “ผู้พิพากษาชิม” ก็สอนให้เราค้นพบความยุติธรรม ความมุ่งมั่นทุ่มเท ไม่ด่วนสรุป ภายใต้ความเย็นชาเปี่ยมด้วยความเมตตาและมนุษยธรรม

ซีรีส์จำนวน 10 ตอน ผลงานเขียนบทของ “คิมมินซุก” (เจ้าของผลงาน NoteBook From My Mother) จับมือกับผู้กำกับฯ “ฮงจงซาน” (จากเรื่อง Life, Her Private Life) สะท้อนเบื้องลึกของปมชีวิตอาชญากรเด็กที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสถาบันครอบครัว หลายคดียังคุ้น ๆ เหมือนข่าวหน้าหนึ่งบ้านเราอย่าง เยาวชน-ชนแล้วหนี / คดีโกงข้อสอบ / กระทำชำเราหมู่

แม้บางตอนจะไม่เร้าใจเหมือนคดีแรกที่ชูประเด็นจิตเภทและการฆ่าหั่นศพเป็นคดีชวนให้เราเห็นพ้องคล้อยตามว่า การดำเนินคดีอาญาเด็กและเยาวชนควรเปลี่ยนบทลงโทษให้เทียบเท่ากับผู้ใหญ่ แต่ก็ถือว่าสลับสับเปลี่ยนอารมณ์ของผู้ชมได้อย่างน่าติดตาม และเล่าเรื่องได้กระชับไม่หนืดเนือย
หลายตอนยังสามารถหยิบยกมาเป็นบทสนทนากับเพื่อน ๆ ได้ด้วยว่า “รู้เท่าไม่ถึงการ” ยังใช้ได้ผลในสังคมยุคใหม่จริงหรือ? ถ้าอาชญากรเด็กเหล่านั้นต่างก็รู้สึกตัวดี มีเจตนา และบางคนถึงกับมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ หนำซ้ำยังกลับไปทำผิดรูปแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มาร่วมไขปริศนาและนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีไปกับเหล่าผู้พิพากษา และการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมภายในศาลแขวงคดีอาญาเด็กและเยาวชนเขตฮยอนวาใน “Juvenile Justice I หญิงเหล็กศาลเยาวชน” ได้ทาง Netflix

เรียบเรียงเรื่องราว : รัสรินทร์
อ้างอิงเรื่องและภาพ 
: mydramalist.com
 www.hancinema.net/

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์




















กำลังโหลดความคิดเห็น