ก่อนอำลา “เดาง์-พ่อนกยูง เจ้าเสน่ห์” เมืองเมียนมา
สัปดาห์นี้ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ซีรีส์ของสถานีไทย พีบีเอส มาถึง 2 ตอนสุดท้าย(เสาร์-อาทิตย์ที่ 5-6 กุมภาพันธ์) และถ้าหากว่า คุณเป็นคนที่ชอบดูความเคลื่อนไหวในTwitter, TikTok ก็จะเห็นว่า ซีรีส์เรื่องนี้ถูกพูดถึงมาก แม้ว่าเนื้อหาต่างๆจะไม่มีการรบราฆ่าฟัน ตีเมือง ขูดทอง อย่างที่กล่าวหากัน , ไม่มีการเหยียด เหยียบชาติใด , ไม่มีตัวร้ายที่ ชอบถลึงตา แหกปากใส่กัน แต่ทุกเรื่องราวที่ถูกปรุงขึ้นโดย “แนท” ชาติชาย เกษนัส ทั้งด้านบทโทรทัศน์และผู้กำกับการแสดง การถ่ายทอดตั้งแต่ Ep.1 จนจบ นับว่า มีชาติตระกูล สง่า สมศักดิ์ศรี
แต่ที่สนใจกว่านั้นคือ มีคนตกหลุมรัก Daung(เดาง์) บางคนเรียก เดาง์ ว่า “พ่อนกยูง” เพราะ ชื่อ Daung นั้น หมายถึง นกยูงสีเขียว เป็นสัตว์ประจำชาติเมียนมา
ในซีรีส์ เราเรียก “หม่องสะ” หรือ “สะสะ” บุคลิกตัวละครนี้คือ “ศิลปินเอกลูกครึ่งมอญ-เมียนมาแห่งโรงละครหลวงในราชสำนัก มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และเรียบเรียงบทละคร มีความสามารถด้านดนตรีที่หลากหลาย พูดและเข้าใจภาษาโยเดีย มีความเป็นผู้นำ พึ่งพาได้ แต่เป็นคนอ่อนไหว โรแมนติก”
“โยเดีย” หรือ “โยดะยา” เป็นการออกเสียงเรียกชื่อเดิมของกรุงศรีอยุธยา หรือ อโยธยา ตามสำเนียงพม่า คำนี้ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพม่าของชิน อน ญอ
เรื่องราว ณ หมู่บ้านโยเดีย บนแผ่นดินอังวะ คราวนั้น เจ้าฟ้าหญิง 2 พระองค์คือ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้า มงกุฎ (พระราชธิดาสองพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่เจ้าฟ้าสังวาล มเหสีฝ่ายซ้าย) เมื่อยังอยู่กรุงศรีอยุธยา ทั้งสองพระองค์ได้ฟังเรื่องเล่า นิทานอิงพงศาวดารชวา จากนางกำนัลซึ่งเป็นเชลยเมืองปัตตานี เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงนิพนธ์บทละคร “ดาหลัง” (อิเหนาใหญ่) ส่วนเจ้าฟ้ามงกุฎ นิพนธ์ “อิเหนาเล็ก” หลังเสียกรุง ต้นฉบับเสียหายไปบางส่วน เมื่อมาอยู่อังวะได้เขียนขึ้นใหม่ และทรงเผยแพร่นาฏศิลป์อยุธยาให้แก่ราชสำนักพม่า และส่งอิทธิพลตกทอดถึงนาฏศิลป์พม่าในยุคปัจจุบัน
หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม พระองค์จึงทรงรวบรวมบทละครเรื่อง ดาหลัง และ อิเหนาเล็ก พระนิพนธ์เดิมของเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎที่เสียหายไปนั้นมาเรียบเรียงใหม่ โดยมีเนื้อหาในพระราชนิพนธ์ อิเหนา ฉบับรัชกาลที่ 1 ความว่า
อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้องสำหรับงานการฉลองกองกุศล
แต่ก่อนเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์ แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป
หม่องสะ ในซีรีส์นั้น คือปราชญ์สำคัญ มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ชื่อ "เมียวดี มินจี อูสะ" และซีรีส์เรื่องนี้
เป็นละครที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวศิลปะชาวอยุธยาในตำรามหาคีตะของเมียนมา ซึ่งตำรานี้ว่าด้วยศาสตร์และศิลป์คีตะดนตรี ทั้งลายกนก งานจิตรกรรม รามเกียรติ์ และวรรณคดีเรื่องอิเหนา ปรากฏอยู่ในตำรา นั่นทำให้เห็นว่า ไม่ว่าเราจะจดจำเมียนมาในฐานะอย่างไร แต่ชาวพม่าได้เปิดรับวัฒนธรรม และเก็บศิลปะของไทยเอาไว้ ทั้งยังมีการแปลและเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมของชาติไทย นับเป็นหนึ่งในมิตรภาพระหว่างบ้านพี่เมืองน้องของเรา
"เมียวดี มินจี อูสะ" ครูในราชสำนักมัณฑะเลย์ผู้นี้ ได้แปลรามเกียรติ์และอิเหนาเป็นภาษาพม่าที่เรียบเรียงออกมาได้อย่างสวยงาม เป็นบุคคลที่มีความสำคัญในด้านของศิลปะ ดนตรี บทเพลง ทำให้ชาวเมียนมาได้ซึมซับดนตรีนาฎศิลป์จนกลายเป็นการแสดงในพระราชสำนักของเมียนมาในเวลาต่อมา อีกทั้งยังเป็นผู้ประพันธ์เพลง อิเหนาโยเดีย ซะแล เปียวอวา ไน ที่ปัจจุบันก็ยังมีการแสดงกันอยู่ ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะท่านนี้ได้รับใช้กษัตริย์ถึง 5 พระองค์ในช่วงเวลานั้น
สำหรับเดาง์ นักแสดงเมียนมาร์ฝ่ายประชาธิปไตยผู้นี้ ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานมาแล้ว เช่น Little Father's School (2016), The Second Heart (2016), Umbrella Story (2017), Dannayi Moe (2018) ล่าสุด รับบทช่างภาพในหนังสยองขวัญเรื่องThe Only Mom (มาร-ดา) ซึ่งทำให้เดาง์ได้รู้จักและร่วมงานกับชาติชาย เกษนัส มาก่อน
การแสดงของเดาง์ในซีรีส์ “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” เรื่องนี้ถูกพูดถึงมาก ! โดยเฉพาะฉากร่ายรำที่งดงาม แฝงด้วยลีลาอย่างอีโรติกอันงดงาม เข้าเรื่องอิเหนาตอนนี้ว่า นางบุษบาปลอมตัวเป็นอุณากรรณไปเสี่ยงเทียนว่า ใครเป็นเนื้อคู่ของนาง ! ตามที่มะเดหวีสอนให้ ระหว่างพิธี ก็มีเสียงจากพระปฏิมาในวิหารว่า "...อันนางบุษบานงเยาว์ จะได้แก่อิเหนาเป็นแม่นมั่น จรกาใช่วงศ์เทวัญ แม้นได้ครองกันจักอันตราย" แท้จริงแล้ว หาใช่เสียงศักดิ์สิทธิ์อันใดไม่ แต่เป็นอิเหนาที่ซ่อนตัวอยู่หลังพระพุทธรูปนั่นเอง แสร้งอุบายให้เทียนจรกาดับ แล้วต้อนค้างคาวเข้ามาบินจนเทียนในวิหารดับหมด จากนั้นอิเหนาจึงออกจากหลังพระพุทธรูปมาร่ายรำเกี้ยวพาราสีนางบุษบา ดังที่ปรากฏในฉากรำนั่นแหละ
แต่เดิมก่อนจะถึงฉากนี้ บรรดาสาวๆโดนสายตาพ่อหนุ่มคนนี้ตกมาแล้ว ยิ่งเจอฉากนี้ เรียกว่า ตายสงบ ศพสวย เพราะหลายๆคนต่างต่างค้นหาเรื่องราว รูปภาพต่างๆมาประกาศความน่ารักของหนุ่มเซอร์คนนี้ให้ได้ชมกันในโชเชี่ยลมีเดีย.... โดยเฉพาะ TikTok ดูเรื่องราวกันได้ยันเช้าเลยทีเดียว !
ภาพจาก เพจ Sweet Memories of DAUNG
ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อจริง “Thuya Aung
ชื่อเล่น Daung(เดาง์) Daung หมายถึง นกยูงสีเขียว เป็นสัตว์ประจำชาติเมียนมาร์
วันเดือนปีเกิด 30 มีนาคม 1990 ปัจจุบันอายุ 32 ปี
ปี2010 - เป็นนักฟุตบอลและต่อมาได้เซ็นสัญญา 3 ปี เพื่อเล่นให้กับ Southern Myanmar F.C. ในตำแหน่งเป็นกองหน้า
ผลงาน
เช่น Little Father's School (2016)
The Second Heart (2016)
Umbrella Story (2017)
Dannayi Moe (2018)
The Only Mom (มาร-ดา) (2019)
จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ไทยพีบีเอส (2022)