xs
xsm
sm
md
lg

• #XYแซ่บEP13 : เมื่อ ‘จูบ’ ซีรีส์วายไทย กลายเป็นเรื่องผิดศีลธรรม แล้วระดับไหนถึงพอดี?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เป็นเรื่องชวนปวดใจขึ้นมา เมื่อ ช่องวัน31 เซ็นเซอร์ฉากจูบซีรีส์วายไทย พร้อมขึ้นข้อความว่า เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ขอต้อนรับกลับเข้าสู่ การอัพเดทข่าวสารบ้านวายอีกครั้งค่ะ วันนี้พี่เคทมีประเด็นแซ่บปวดใจมาเล่าสู่กันฟัง ซีรีส์วายเรื่อง “แปลรักด้วยใจเธอ” ที่ถูกนำมารีรันอีกครั้งทางช่องวัน31 ตั้งแต่ 14 พฤศจิกายน 2564 และจบบริบูรณ์ในกลางเดือนมกราคม 2565

ปิดฉากด้วย ฉากจูบของ เต๋ (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และ โอ้เอ๋ว (กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) พร้อมขึ้นคำเตือน “เป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ” ที่กลายเป็นกระแสปรอทเดือดในทวิตเตอร์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาทางช่องต้นสังกัดได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่มีการเซ็นเซอร์ฉากจูบในช่องทางยูทูป มีแค่ในช่องฟรีทีวีเท่านั้น

งานนี้ชาวเน็ตออกมาคอมเมนต์แสดงความเห็นกันอย่างดุเดือดพร้อมจิกกัดเบาๆ ว่า นี่หรือคือประเทศที่ออกมาประกาศตัวว่าเปิดกว้างเรื่องเพศ และสามารถยอมรับซีรีส์ชายรักชายได้อย่างไร้ปัญหา!?

เป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวกันมานานมากแล้วค่ะ สำหรับประเด็นของความหมิ่นเหม่ในฉากรักประเภทจูบจริงโดยไม่ต้องใช้มุมกล้องช่วย ฉากการมีเพศสัมพันธ์บนเตียงแบบถึงพริกถึงขิง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นมานาน ตั้งแต่สมัยที่เรายังถกเถียงกันแค่เฉพาะในซีรีส์ชายหญิง ที่มีคนออกมาวิจารณ์ถึงความเหมาะสมว่าสมควรมีมากน้อยได้แค่ไหน อะไรคือความพอดี และใครจะเป็นผู้ออกมากำหนดว่า เรื่องไหนทำได้มากน้อยแค่ไหน ทำไมฉากแบบเดียวกัน ช่องนั้นทำได้ แต่ทำไมในซีรีส์เรื่องนี้ของช่องนี้ทำไม่ได้

ผลที่ตามมาก็คือ สังคมเกิดความสับสนกับการใส่ฉากเรทลงในในซีรีส์ว่า ควรมีมากน้อยแค่ไหนจึงเหมาะสม และฉากไหนเรียกว่าผิดศีลธรรมจนถึงขั้นขึ้นคำเตือนว่าไม่เหมาะสมไม่ควรเลียนแบบและควรมีผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ



จูบ..แค่ไหนคือพอดี

พี่เคท ได้ยินประโยคนี้มานานมากว่า “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ การแสดงพฤติกรรมในด้านความรัก เช่นการกอดจูบในพื้นที่สาธารณะ เป็นสิ่งไม่เหมาะสม” ดังนั้น การใส่ฉากกอดจูบในซีรีส์ชาย-หญิง ในยุคก่อน จึงไม่มีให้เห็นบ่อยเท่ากับในปัจจุบัน โดยทางผู้จัดหรือผู้กำกับเลือกใช้มุมกล้องช่วยให้ดูเสมือนจริง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีข้อวิพากษ์ถึงความไม่เหมาะสมในภายหลัง และเป็นการป้องการไม่ให้ดาราเกิดข้อครหาในทางเสื่อมเสียอีกด้วย
แต่ในปัจจุบัน โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การถ่ายทำฉากจูบของดารากลายเป็นสิ่งที่เรียกกันในวงการบันเทิงว่า “มืออาชีพ” เผลอๆ ใครที่ต้องแสดงฉากอย่างว่า สามารถเรียกค่าตัวเพิ่มได้อีกต่างหาก



ซีรีส์ชายรักชาย ใช้ข้อกำหนดเดียวกันหรือไม่ในฉากจูบ?

สำหรับซีรีส์วายนั้น เป็นเรื่องราวอันเป็นจินตนาการของนักเขียนนิยายวายมาปรับแต่งเพื่อสร้างเป็นซีรีส์ แน่นอนว่าเนื้อหาในแต่ละฉากค่อนข้างหวือหวาเกินจริง ซึ่งหากมีคนบอกว่า ซีรีส์สร้างมาเพื่อให้เกิดความฟินจิกหมอนแตกเพียงอย่างเดียว ก็ไม่ผิดนะ เพราะซีรีส์วายไม่ว่าจากประเทศไหน กลุ่มผู้ชมก็ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ กลุ่มผู้หญิง ดังนั้น การชมซีรีส์วายเป็นไปเพื่อความบันเทิง ก็นับว่าตรงจุดแล้วค่ะ เพราะในซีรีส์วายแต่ละเรื่องเต็มไปด้วยฉากฟิน ๆ และฉากจูบสารพัดแบบ แต่หากจะมุ่งไปที่กลุ่มรักร่วมเพศหรือกลุ่ม LGBTQ+ เนื้อหาของซีรีส์วายก็อาจไม่ตรงประเด็นสักเท่าไหร่ เพราะผู้จัดยังไม่เน้นสร้างซีรีส์วายเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ อย่างจริงจังนัก



การขึ้นคำเตือน “พฤติกรรมไม่เหมาะสม” ในฉากจูบของชายกับชาย คือการแสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศของสังคมไทยหรือไม่?

เมื่อซีรีส์วายได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก ผู้สร้างแต่ละค่ายออกมาผลิตซีรีส์วายป้อนเข้าสู่ตลาดกันแทบทุกวัน ดาราวายจำนวนมากก็ดังเป็นพลุแตกภายในเวลาอันสั้น บางเรื่องถ่ายทำแค่ ไม่ถึงสิบตอน ดาราคู่พระ-นายก็ดังระเบิดไปทั่วโลก เม็ดเงินซึ่งเป็นผลตอบแทนจากการผลิตซีรีส์และของดาราวายได้มาเป็นกอบเป็นกำในเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับซีรีส์แนวชายหญิงทั่วไป

อย่างที่บอกไปแต่แรก ซีรีส์วายสร้างจากจิตนาการเรื่องราวความรักระหว่างชายแท้กับชายแท้ที่มีใจให้กัน เป็นความรู้สึกแบบพิเศษที่มีให้กันเพียงแค่คนพิเศษที่ตนเองชอบเท่านั้น ซึ่งสาวกวายทั่วไปจะเข้าใจคอนเซ็ปท์นี้ดี ย้ำนะคะว่า สาววายจะฟิน เมื่อได้ชมความรักระหว่างชายแท้หน้าตาดีหุ่นดีที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรักของกลุ่มเกย์หรือรักร่วมเพศใด ๆ และ ซีรีส์วายคือความบันเทิงที่เกิดขึ้นเพื่อสนองความฟินของกลุ่มผู้ชมเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แน่นอนว่า ฉากรักหรือฉากอัศจรรย์ที่ใส่มาในเรื่องจึงนับเป็น จุดขาย สำหรับคนดูซีรีส์วายอย่างแน่นอน เรียกว่า แต่ละช่องใส่มาชนิดดุและแซ่บสุดติ่ง เพราะเจตนาเรียกระแสเพื่อการแข่งขันกันก็ว่าได้ค่ะ



ความนิยมซีรีส์วายพุ่ง การดูแลตรวจสอบกลับสวนทาง?

การที่ซีรีส์วายเข้ามาสู่ตลาดบันเทิงมากมายราวกับ ละอองฝุ่น PM2.5 ...อุ๊บ...ราวกับห่าฝนเช่นในปัจจุบันนี้ ทำให้การควบคุมของวงการทีวีไทยเริ่มมีปัญหาตามมาติด ๆ ชนิดไม่ทันได้เตรียมตัว เพราะผู้สร้างต้องการผลิตซีรีส์ออกมาเยอะๆ เพื่อเอาใจตลาด โดยมุ่งหวังกำไรจากกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจซึ่งก็คือคนดูทั้งหลาย ยิ่งซีรีส์วายประสบผลสำเร็จมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นช่องทางการทำเงิน ทำให้จำนวนซีรีส์ก็มีมากขึ้นเป็นดอกเห็ด สุดท้ายก็มีการนำมาออกอากาศทางฟรีทีวีบ้างเพื่อเอาใจกระแส

แต่การออกฉายทางช่องฟรีทีวี เป็นการเปิดช่องทางให้คนทุกเพศได้เข้าชม ทำให้ผู้ชมซึ่งเป็นคนรุ่นเก่ามีโอกาสได้ชมตามไปด้วยก็เริ่มวิตกหนักขึ้น เมื่อเห็นฉากรักหลากหลายฉากที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับเด็ก ๆ หรือบรรดาลูกหลานที่บ้าน จึงมีการร้องเรียนหรือมีการตั้งคำถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเหมาะสม และถามหามาตรการต่าง ๆ มากำกับดูแล



แยกช่องทางการนำซีรีส์วายออกฉาย คือเทคนิคการแบ่งกลุ่มคนดูได้?

ช่องฟรีทีวีมีข้อกำหนดแตกต่างจากช่องทางแอพพลิเคชั่นหรือทางช่องยูทูป ดังนั้นสิ่งที่ทางต้นสังกัดหรือผู้ผลิตซีรีส์วายจะแสดงความรับผิดชอบได้ก็คงเป็นการใส่คำเตือนลงไปในฉากที่สร้างความไม่สบายใจหรือสร้างความรู้สึกกังวลต่อผู้ปกครอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบขึ้นกับกลุ่มเยาวชนที่เปรียบดั่งผ้าขาว เพราะถ้าพฤติกรรมดังกล่าวหากเกิดการลอกเลียนแบบหรือทำตาม อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ นั่นก็คงประเด็นเรื่อง รักร่วมเพศ นั่นเองแหละค่ะ

และเท่าที่ติดตามดูผลงานซีรีส์วายจากทางยูทูปและทวิตเตอร์มาหลายปี ไม่ว่าซีรีส์วายชาติไหนก็มีเนื้อหาวาบหวิวหรือประเภท 18+ แทบทั้งนั้น

คำถามคือ หากการใส่ฉากเรทไม่ว่าจะเป็นฉากกอดจูบ ฉากร่วมเพศในซีรีส์วาย มีผลทำให้ประชาชนในชาติเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศจริง หรือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับเยาวชนจริง ๆ ทำไมประเทศต่าง ๆ ที่ผลิตซีรีส์วายเหล่านี้ ถึงไม่กังวลเรื่องประชาชนในชาติจะกลายเป็นพวกรักร่วมเพศมากขึ้นเหมือนที่หลายคนในประเทศไทยหรือบางประเทศหวาดกลัวกัน? หรือว่าที่จริงแล้ว ผู้ผลิตซีรีส์วายในประเทศเหล่านั้นทราบดีว่า ประชาชนในประเทศเขา เข้าใจดีว่า การใส่ฉากจูบของชายกับชายลงไปในซีรีส์ แท้จริงแล้ว คือความบันเทิงประเภทหนึ่งเท่านั้น !?



มาตรการเกี่ยวกับการจัดการซีรีส์วายในต่างประเทศ?

กรณีนี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนแล้ว อย่างที่ทราบกัน ประเทศจีนกำลังแบนซีรีส์แนวชายรักชายอยู่ เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นเก่าเริ่มกังวลในเรื่องของกรณีรักร่วมเพศในประเทศ ว่าจะมีเพิ่มมากขึ้น แม้หลายฝ่ายจะยืนยันว่า การชมซีรีส์วายหรือได้เห็นกลุ่มคนที่เป็นรักร่วมเพศ ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนไปเป็นคนรักร่วมเพศได้ง่ายๆ แต่ทางการจีนก็ยืนยันว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ยังไง ๆ ก็ต้องมีการกำจัดซีรีส์วายไปก่อน เพื่อลดปัญหาการเกิดประชากรกลุ่มรักร่วมเพศที่มากขึ้น และยังอาจส่งผลให้ประชากรในประเทศลดลง(จีนกังวลเรื่องกลุ่มแรงงานจะถดถอย) เพราะกลุ่มรักร่วมเพศจะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้นั่นเอง

แต่หากจะวัดกันถึงฉากรักอันดุเดือดของซีรีส์วายที่แต่ละประเทศทำออกมา หากลองค้นหาฉากเด็ดๆ แซ่บๆ ดูแล้ว พบว่าส่วนมากเป็นฉากร้อนๆ เลือดกระฉูดที่มาจากซีรี่ส์วายไทยเรานั่นเอง หากใครอยากทดสอบดูก็ลองพิมพ์หาด้วยคำว่า ฉากรักดุเดือดซีรีส์วาย หรือฉากร้อนจากซีรีส์วาย ดูก็ได้ค่ะ (แต่ต้องพิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษนะคะ) จะพบว่า มากกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของภาพที่ปรากฏ เป็นภาพของซีรีส์วายจากประเทศไทยนี่เอง !

แน่นอนว่า ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ญี่ปุ่น จีนไต้หวัน ต่างก็แข่งกันทำซีรีส์วายออกมาสู่ตลาดโลกไม่หยุดเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงหลายปีมานี้ แต่ฉากเรทหรือฉากจูบที่ใส่มาในเรื่องก็มีทั้งเบาและหนักผสมกันไปตามเนื้อหาและความเหมาะสม



ประเทศอื่นมีปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์บ้างไหม?

แน่นอนว่า ทุกประเทศมีเงื่อนไขและการพิจารณาถึงมุมมองของความเหมาะสมในการเซ็นเซอร์ฉากเรทของซีรีส์ต่างกัน รวมถึงมีข้อกำหนดสำหรับการดูแลภาพที่ไม่เหมาะสมเช่นเดียวกับบ้านเรา แต่ซีรีย์วายของชาติอื่นๆ ต่างก็มีเนื้อหาหลากหลาย มีฉากรักค่อนข้างเปิดเผยชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์จีนไต้หวันเรื่อง Beloved in House หรือ ดาร์กบลูแอนด์มูนไลท์ (Dark Blue and Moonlight) ซึ่งมีฉากจูบดุเดือดให้ชมอย่างแจ่มแจ้ง ฟินเลือดพุ่งออกมาฉายอย่างโจ่งแจ้ง แม้จะบอกว่าซีรีส์ที่ออกมานี้ ได้การมีเซ็นเซอร์ไปบ้างแล้ว แต่ภาพร้อน ๆ เช่นภาพฉากจูบหรือฉากกดจูบบนที่นอน ที่ออกฉายตามช่องยูทูปหรือในแพลตฟอร์มอี่นๆ ก็ยังคงปรากฏให้ชมอยู่ไม่ขาดสาย อีกทั้งเนื้อหาที่ออกฉายเหล่านั้นไม่มีคำเตือนหรือคำแนะนำใด ๆ ทั้งสิ้นอีกด้วย เมื่อเป็นแบบนี้ เราจะทำการกำหนดเนื้อหาและฉากเรทให้ถูกต้องทางศีลธรรมอย่างที่หลายคนต้องการได้อย่างไร



ฉากจูบแบบไหนที่เรียกว่าไม่เหมาะสม และผิดต่อศีลธรรม

เมื่อกำหนดคำว่า “เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” ในฉากชายจูบชาย จึงกลายเป็นประเด็นร้อนแรง และเกิดกระแสการออกมาตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่า อะไรคือพฤติกรรมไม่เหมาะสม พร้อมมีคำถามย้อนกลับไปว่า การจูบ เป็นเรื่องหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมหรือไม่ แล้วถ้าการจูบระหว่างชายกับหญิงไม่นับเป็นเรื่องผิดศีลธรรม เพราะสามารถออกฉายได้ตามปกติและไม่มีขึ้นคำเตือนใดๆ ก็แปลว่า การจูบ ไม่ใช่สิ่งผิดต่อศีลธรรม ใช่หรือไม่?

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เหตุใด ฉากจูบระหว่างชายกับชาย จึงเป็นการไม่เหมาะสม หรือสังคมกำลังจะบอกว่า เพศสภาพของผู้แสดงเป็นตัวกำหนดความคิดของผู้คนในเรื่องความถูกผิดหรือศีลธรรมอันดี เพราะภาพ ชายจูบชาย เป็นการแสดงออกทางพฤติกรรมด้านความรักของคนกลุ่มชายรักชายมิใช่หรือ เช่นนี้แล้วสรุปได้หรือไม่ว่า การไม่ยอมรับฉากจูบระหว่างผู้ชายกับผู้ชายและประณามว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นมาจากการไม่ยอมรับของสังคมไทยในปัจจุบันอย่างแท้จริง และการที่สังคมไทยออกมาพูดว่ายอมรับเรื่องของชายรักชายก็เป็นแค่เพียงลมปากเท่านั้นเอง

วาย และ LGBTQ+ แค่เกี่ยวข้องกัน แต่คนละเรื่องเดียวกัน อย่าหลงประเด็น

นี่ก็เป็นประเด็นร้อนที่พูดกันสามวันสามคืนไม่หมด ต้องตั้งสติแล้วค่อย ๆ กลับมาคิดให้ถ้วนถี่ก่อนว่ากำลังหลงประเด็นหรือนำเรื่องต่างประเด็นมาผสมปนเปกันอยู่หรือเปล่า อยากกระซิบไปยังบรรดาผู้ผลิตงานซีรีส์วายทั้งหลายสักนิด แม้จะแยกแยะกันชัดเจนได้ว่า ซีรีส์วายคือการสร้างละครออกมาเพื่อตอบสนองความฟินของคนบางกลุ่ม ไม่ได้เป็นการสร้างละครเพื่อเน้นกลุ่ม LGBTQ+ หรือเน้นสาระเชิงสังคมหนัก ๆ แต่การคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาหลังการสร้างซีรีส์หรือละครวาย ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ละเอียดอ่อนและไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด อย่างเช่นเปลี่ยนการขึ้นคำเตือนในฉากชายจูบชายว่า “เป็นพฤติกรรมเฉพาะบุคคลเท่านั้น” แทนคำว่า “เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม สมควรให้ผู้ปกครองแนะนำ” แบบนี้ จะดีกว่าไหมคะ

แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ ผู้ผลิตปล่อยซีรีส์ที่มีฉากเรทออกมาฉายช่องทางแอพพลิเคชั่นของแต่ละช่องแบบจัดเต็ม และปล่อยให้ซีรีส์ในเวอร์ชั่นที่มีการตัดฉากเรทบางฉากออกไป ฉายได้เฉพาะทางฟรีทีวี ก็เป็นอีกหนึ่งทางแก้ปัญหา แม้จะยังไม่ดีที่สุดก็ตาม ก็ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำกันไป เพื่อป้องกันการเกิดกรณีเดียวกับประเทศจีนที่ถึงขั้นระงับการฉายซีรีส์วายไปเลย ชาววายทั้งหลายจะชอกช้ำไปตามๆกัน พี่เคทคนหนึ่งละที่จะร้องไห้ให้ดู

อุตส่าห์เขียนเรื่อง จูบ แท้ๆ แต่ทำไมถึงกลายเป็นเรื่องเครียดไปได้นะ เข้าทำนองเพลง... จูบ ใครคิดว่าไม่สำคัญ….ตาย..ๆ จบกัน...ฮัมเพลงนี้รู้ถึงวัยพี่เคทพอดี

หนีก่อนดีกว่า ไว้พบกันกับเรื่องราวแซ่บๆ มันส์ๆ คันๆ หัวใจสาวกวายกันได้ทุกสัปดาห์ ที่นี่นะคะ


เคทอี้ฟาง

รูปภาพประกอบ จาก : เพจเฟซบุ๊ค The Series Y TH

NC : ย่อมาจากคำว่า No Children หมายถึงฉากที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน

ฉากจบที่ควรฟิน กลายเป็นความปวดร้าวใจ

ฉากจบเดียวกันที่ฟินมากกก ทาง LINE TV

จูบใต้น้ำ ใน “แปลรักด้วยใจเธอ”

จะจูบแล้วนะ Dark Blue and Moonlight วายไต้หวัน

จูบดูดดื่มบดขยี้ ใน Dark Blue and Moonlight วายไต้หวัน

 Dark Blue and Moonlight วายไต้หวัน

 Dark Blue and Moonlight วายไต้หวัน

ซีรีส์วายจีนไต้หวันเรื่อง Beloved in House

ซีรีส์วายจีนไต้หวันเรื่อง Beloved in House

ซีรีส์วายจีนไต้หวันเรื่อง Beloved in House

ซีรีส์วายจีนไต้หวันเรื่อง Beloved in House


กำลังโหลดความคิดเห็น