xs
xsm
sm
md
lg

Scoop พิเศษ : ถอดปรากฏการณ์ซีรีส์ระดับโลก Squid Game มีอะไรมากกว่าความบันเทิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“Squid Game - สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ซีรีส์ที่ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ ก็ทะยานขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในรายการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ของวงการซีรีส์เกาหลี และ Netflix
อย่าแปลกใจหากเวลานี้คนรอบตัวจะพูดถึง “Squid Game - สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” ซีรีส์แนว Survival Drama ที่ใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งสัปดาห์ ก็ทะยานขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในรายการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

มากที่สุดทั้งในประวัติศาสตร์ของวงการซีรีส์เกาหลี และ Netflix ที่มียอดผู้ชมมากสุดกว่า 90 ประเทศทั่วโลก รวมถึงสถิติใหม่ของ #SquidGame ใน TikTok ที่ทะลุ 2.2 หมื่นล้านครั้งในชั่วข้ามคืน

ความสำเร็จนั้นยิ่งใหญ่ถึงขนาดที่ เท็ด ซาราดอน CEO ของ Netflix ต้องออกมายอมรับว่า “นี่เป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

ทุนนิยมกับความเหลื่อมล้ำ นำไปสู่ ‘ความโลภ’ และ ‘ความตาย’

Squid Game เป็นมินิซีรีส์ 9 ตอน ที่ออนแอร์ทาง Netflix ว่าด้วยเรื่องราวในโลกดิสโทเปีย เมื่อคนรวยล้นฟ้าแสวงหาสีสันและความแปลกใหม่ในชีวิต พวกเขานึกสนุกด้วยการครีเอทเกมสุดโหดขึ้นมาเพื่อเล่นสนุกกับจิตใจของผู้คน ด้วยการคัดเลือกคนที่มีหนี้สินรุงรัง ชีวิตพัง ปัญหารุมเร้า และคนที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เพราะคนกลุ่มนี้ยอมทำทุกอย่างเพื่อเงิน แม้แต่การลงแข่งขันในรายการ Reality Show สุดอำมหิตชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอนในกระปุกออมสินรูปหมูยักษ์ เทียบเท่ากับค่าหัวของผู้เข้าแข่งขันที่มีจำนวน 456 คน (คนละ 100 ล้านวอน)

หนึ่งในผู้ได้รับคำเชิญจาก ‘กงยู’ (นักแสดงรับเชิญ) ให้เข้าร่วมเกมปลดหนี้คือ ‘ซองกีฮุน’ (รับบทโดย อีจองแจ) พ่อหม้ายวัย 48 ปี ผู้ล้มเหลวจากการติดพนันและมีหนี้สินกว่าร้อยล้านวอน หลังถูกวางยาสลบแล้วพาตัวไปยังเกาะร้างกลางทะเล เขาก็พบกับผู้เล่นอีก 455 คนที่ต่างก็มีหนี้สินหลายร้อยล้านวอนติดตัว (ถึงขนาดแฉขึ้นจอเลยทีเดียว)

ทุกคนถูกจับแต่งตัวด้วยชุดวอร์มสีเขียว ตัดกับชุดสม็อคสีชมพูของกลุ่มผู้คุมหรือกลุ่มหน้ากาก ฉากในเกมก็ตกแต่งให้มีสีลูกกวาดเพื่อให้ทุกอย่างดูละมุนเช่นเดียวกับตุ๊กตาสังหาร แต่เกมที่แสนจะเรียบง่ายกลับเต็มไปด้วยความโหดร้ายเพราะกฎข้อเดียวที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ “ผู้ชนะได้ไปต่อ คนแพ้ก็นอนตายตรงนั้นแหละ”
เมื่อพ่ายแพ้ในเกม เด็กน้อยอย่าง “เอ อี ไอ โอ ยู หยุด!” คนที่ยังเคลื่อนไหวก็ถูกระดมยิงจนเลือดสาดราวกับผู้ชมกำลังดูการสังหารหมู่อย่างไร้เหตุผล หลังจบเกมแรกผู้เล่นส่วนใหญ่เลยตัดสินใจโหวตไม่ไปต่อและกลับไปสู่ชีวิตแบบเดิมๆ แต่เมื่อต้องเผชิญกับโลกแห่งความจริง หลายคนก็ตัดสินใจกลับมาเล่นเกมแห่งความตายอีกครั้ง แต่คราวนี้ผู้เล่นบางคนแอบลักลอบนำอาวุธเข้ามา บางคนฮั้วกับผู้คุมเกม ฮั้วกับผู้เล่นเกม รวมถึงตำรวจสุดหล่อที่แฝงตัวมาสืบราชการลับ ทำให้เรื่องราวทั้งน่าลุ้น น่าตื่นเต้น และน่าติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ

แม้แต่ละเกมจะเป็นแค่เกมเด็กเล่น แต่ก็ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ สติ และเทคนิคการเอาตัวรอด เพราะมีชีวิตเป็นเดิมพัน

สำหรับคอหนังแอ็คชั่นอาจจะนั่งหาวเป็นช่วงๆ เพราะสอดแทรกปมดราม่าเข้ามาให้เราอินกับตัวละคร แต่คนรักซีรีส์แนว survival drama คงจะถูกใจไม่น้อย เพราะมันสะท้อนดาร์คไซต์ในจิตใจของมนุษย์ในยามที่ต่างคนต่างก็เอาตัวรอด รวมถึงการเสียดสีสังคมอย่างแสบๆ คันๆ จนบางคนถึงกับอุทานว่า “โคตรมัน”

ขณะที่บางตอนก็สุดแสนจะโหดร้ายไร้ศีลธรรรม เพราะมันเป็นการฆาตกรรมหมู่เพื่อความบันเทิงของคนรวยเพียงหยิบมือ

ปมดราม่าของตัวละคร สะท้อนปมชีวิตและการแบ่งชนชั้น

นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและเงินรางวัลใน Squid Game จะดึงดูดใจผู้ชมให้รู้สึกลุ้นเอาใจช่วยไปกับผู้เข้าแข่งขัน

ตัวละครหลักอย่าง ‘ซองกีฮุน’ ยังเป็นตัวแทนชนชั้นล่างที่ชีวิตล้มเหลว ไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีชื่อเสียง และไม่มีอำนาจ ส่วนเพื่อนวัยเด็กอย่าง ‘โจซังอู’ (รับบทโดย พัคแฮซู) เป็นตัวแทนของคนฉลาด การศึกษาดี แต่มั่นใจในตัวเองสูงจนการตัดสินใจที่ผิดพลาดทำให้เขากลายเป็นหนี้มหาศาล ซังอูตั้งใจจะฆ่าตัวตายเพื่อหนีคดีความและความอับอาย แต่แล้วเกมปลาหมึกก็ดึงเขากลับสู่โหมดการต่อสู้อีกครั้ง ถึงอย่างนั้นเขาก็แสนจะเลือดเย็นและอำมหิตเมื่อถึงเวลาต้องเอาชีวิตรอด

สองตัวละครที่แจ้งเกิดจากซีรีส์เรื่องนี้คือ ‘คังแซบยอก’ (รับบทโดย จองโฮยอน-นางแบบชื่อดัง ที่ปัจจุบัน IG มียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นหลายล้าน) เธอเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือ ที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้ต้องรับมือกับนายหน้าจอมหลอกลวง เธอยึดอาชีพนักล้วงกระเป๋ามือกาวและเก็บเงินช่วยเหลือพ่อแม่ในการอพยพไปอยู่เมืองจีน ถึงอย่างนั้นความไม่ไว้ใจใครและไหวพริบเป็นเลิศก็ทำให้เธอเอาตัวรอดในเกมได้อย่างดี

ส่วน ‘อับดุล อาลี’ (รับบทโดยอนุพัม ตรีพาติ) แรงงานต่างด้าวชาวปากีสถานที่หอบลูกเมียมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเกาหลี แต่กลับถูกนายจ้างเอาเปรียบและไม่จ่ายค่าแรง เขาเป็นตัวแทนชนชั้นแรงงานและแรงงานต่างด้าวที่ต่อสู้กับความยากจน ซึ่งหลายคนก็มักจะโดนหลอกและมีชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ในต่างแดน

นอกจากนี้ ยังมีผู้เล่นหมายเลข 240 อย่าง ‘จียอง’ (รับบทโดย อียูมี-ที่ยอดผู้ติดตามทะลุล้านทันทีที่ซีรีส์ออกอากาศ) เธอเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาอย่างไร้ความฝันในครอบครัวชายเป็นใหญ่ พ่อของเธอเป็นบาทหลวงแต่กลับทำร้ายแม่จนเสียชีวิต และสวดภาวนาอ้อนวอนขอให้พระเจ้าล้างบาป ทำให้เธอตั้งคำถามกับความดีด้วยหัวใจไร้ศรัทธา-ไร้ศาสนา (เช่นเดียวกับคนยุคใหม่ที่หลายคนประกาศตัวเป็นคนไม่มีศาสนา) ส่วนผู้เล่นหมายเลข 111 คุณหมอบยองกี (รับบทโดย ยูซองจู) ที่เป็นหนี้มหาศาล ความเป็นคนฉลาดแกมโกงจึงแอบช่วยกลุ่มผู้คุมเกมลักลอบขายอวัยวะแลกกับคำใบ้ ไม่ต่างอะไรกับคนยอมขายวิญญาณเพื่อแลกกับความสำเร็จในชีวิต

จากเกมเด็กเล่นสุดดาร์ค สู่ปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมระดับโลก

ด้วยความที่ซีรีส์หยิบยกประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมมาพูดถึง จึงทัชใจผู้คนทั่วโลกอย่างมาก ส่งผลให้ Squid Game ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับ ‘Parasite’ ภาพยนตร์เกาหลีที่คว้ารางวัลออสการ์ในปี 2019 ถึงขนาดครองแชมป์สตรีมมิ่งในตลาดสุดหิน (ที่ไม่นิยมซีรีส์ภาษาต่างประเทศ) ภายในเวลาไม่กี่วัน

นั่นทำให้ทีมผู้บริหารของ Netflix ถึงกับหน้าบานเก็บอาการไม่อยู่ พร้อมประกาศสนับสนุนวงการบันเทิงเกาหลีที่มอบมงกุฎแห่งชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่าง Disney+ และ Amazon Prime ด้วยการทุ่มเงินลงทุนเป็นการตอบแทน

คังดงฮยอก ผู้เขียนบทและผู้กำกับ Squid Game ได้แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจาก ‘The Hunger Games’ และ ‘Battle Royale’ โดยนำเสนอซีรีส์ตีแผ่ความไม่เท่าเทียมในสังคม (ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นในซีรีส์กระแสหลักของวงการบันเทิงเกาหลีใต้) รวมถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น และโจมตีระบบทุนนิยมสุดขั้วที่ส่งผลให้เกิด ‘ความโลภ’ ไม่มีสิ้นสุดในจิตใจ จากซีรีส์ที่ถูกดองมาตั้งแต่ปี 2551 เพราะยุคนั้นไม่มีผู้สร้างคนใดกล้าลงทุนกับซีรีส์นอกกระแสแนวนี้ แต่เมื่อ Netflix นำมาปัดฝุ่นพร้อมกับให้ทุนสร้างเมื่อสองปีก่อน ความสำเร็จครั้งนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าและสร้างมิติใหม่ให้กับวงการบันเทิงของเกาหลีอยู่ไม่น้อย

The Wall Street Journal (WSJ) เว็บไซต์ชื่อดังจากอังกฤษ นำเสนอบทความเกี่ยวกับความสำเร็จของ Squid Game ว่าเป็นซีรีส์เรื่องแรกของเกาหลีที่ติดอันดับหนึ่งของการสตรีมมิ่งใน 90 ประเทศทั่วโลกจน Netflix ต้องทุ่มเงินลงทุนกว่า 500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีใต้ปี 2021 (ก่อนหน้านี้ Netflix ทุ่มเงินไปกว่า 700 ล้านดอลล่าร์ฯ ระหว่างปี 2015-2020)

เช่นเดียวกับกระแสความนิยมชุดวอร์มสีเขียวและชุดสม็อคสีชมพูสด (แบบเดียวกับที่เห็นในซีรีส์) ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในช่วง Pre Halloween ปีนี้ รวมถึงความร้อนแรงของ ‘Squid Game World’ สนามเด็กเล่นป๊อปอัพในย่านแทวอน (โปรโมทซีรีส์) ที่ทำให้ชาวเกาหลีแห่กันออกมาเล่นเกมถล่มทลายแบบไม่แคร์โควิด-19 จนรัฐบาลต้องสั่งปิดตัวเพราะหวั่นจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ภายในไม่กี่วัน

สำนักข่าวชื่อดังหลายแห่งนำเสนอบทความเกี่ยวกับ World Phenomenon หรือปรากฎการณ์ระดับโลกของ Squid Game ที่กลายเป็นกระแสไวรัลภายในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ละตินอเมริกา และอเมริกา (เพราะชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่นิยมอ่านซับไตเติ้ล) แต่ Squid Game สามารถทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเพียง 4 วัน ทั้งยังคว้าแชมป์ซีรีส์ภาษาต่างประเทศที่ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากอังกฤษภายในเวลาชั่วข้ามคืน

ในบทความของ WSJ เรียกความสำเร็จของซีรีส์นี้ว่า “ปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมระดับโลก” เพราะเป็นการนำเสนอได้ถูกช่วงเวลาอย่างมาก และเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ซีรีส์ประสบความสำเร็จถล่มทลาย

อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับและคนเขียนบท คังดงฮยอก ที่กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของโลก ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนแย่ลงไปอีก นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอินกับซีรีส์เรื่องนี้มากขึ้น”

กระแสความนิยมของ Squid Game สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตทางวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี (Korean Pop Culture) ที่แผ่ขยายอาณาจักรไปทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งยังตอกย้ำความสามารถทางการแข่งขันของซีรีส์เกาหลีบนเวทีโลกที่ไร้ขีดจำกัดทางภาษา ขณะเดียวกันมันก็เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับวงการบันเทิงของเกาหลี ที่ไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จด้วยซีรีส์โรแมนติก-คอเมดี้ หรือการสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงามให้เกาหลีเสมอไป

The Korea Times วิเคราะห์ความสำเร็จของ Squid Game ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจบันเทิงของเกาหลีว่า “นี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลเกาหลีจำเป็นต้องให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิง รวมถึงผู้ให้บริการสตรีมมิ่งภายในประเทศมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ การวางแผนกลยุทธ์ใหม่เพื่อช่วยส่งเสริมการผลิตเนื้อหาที่แปลกใหม่ และวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์สู่สายตาของชาวโลก”

แล้วคุณล่ะ? พร้อมเข้าสู่เกมการแข่งขันเพื่อแลกกับเดิมพันนับหมื่นล้านวอนแล้วหรือยัง? 



ร้อยเรียงเรื่องราว : Glinda
อ้างอิงเรื่องและภาพ :
https://www.nbcnews.com/pop-culture/pop-culture-news/netflix-s-squid-game-sensation-here-s-why-it-s-n1280646
https://variety.com/2021/biz/asia/squid-game-netflix-lawsuit-korea-isp-1235080147/
https://www.bbc.com/news/world-asia-58787264
https://www.marca.com/en/lifestyle/tv-shows/2021/10/01/6157178546163f62728b45ae.html
https://www.netflix.com/th-en/title/81040344
ทวิตเตอร์ NetflixKR , NetflixTH











‘ซองกีฮุน’ (รับบทโดย อีจองแจ) พ่อหม้ายวัย 48 ปีที่ชีวิตพังเพราะติดการพนันและขโมยเงินแม่ จนต้องมาเล่นเกมสุดโหด

‘โจซังอู’ (รับบทโดย พัคแฮซู) หนุ่มโสดวัย 46 ปี ที่การศึกษาดีแต่ล้มเหลวในการทำธุรกิจจนติดหนี้นับร้อยล้านวอน

‘คังแซบยอก’ (รับบทโดย จองโฮยอน) ผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ ที่โดนนายหน้าหลอกลวงและยึดอาชีพนักล้วงกระเป๋า เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือพ่อแม่ให้อพยพไปเมืองจีน

‘อาลี’ (รับบทโดย อนุพัม ตรีพาติ) ตัวแทนชนชั้นแรงงานต่างด้าว หนึ่งในตัวละครที่หลายคนเอาใจช่วย



















จากซ้าย พัคแฮซู , ผู้กำกับและผู้เขียนบท คังดงฮยอก (กลาง) และ อีจองแจ

ผู้กำกับและผู้เขียนบท คังดงฮยอก (สวมแว่นตาคาดมาสก์)


กำลังโหลดความคิดเห็น