สกู๊ปพิเศษ
รู้จัก “บุญทิ้ง” หรือ "มิตร ชัยบัญชา" อดีตพระเอกใจบุญ !
วันที่ 8 ตุลาคมนี้ เป็นวันครบรอบ 51 ปี ที่พระเอกระดับตำนาน มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต การนี้จะมีพิธีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้นักแสดงคนดัง ที่วัดสุนทรธรรมทาน หรือวัดแคนางเลิ้ง โดยเวลา 09.00 น. จะมีการจัดพิธีเครื่องไหว้ไว้ที่ช่องบรรจุอัฐิ จากนั้นเวลา 14.00 น. จะมีการทอดผ้าบังสกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลที่ศาลาการเปรียญ โดยมี เพชรา เชาวราษฎร์ เป็นประธานในพิธี
สมเด็จ รับสั่ง ‘มิตร ชัยบัญชา’ – “เขาเป็นคนดี อ่านข่าวแล้ว สงสารจนนอนไม่หลับ”
ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เวลา 17.00 น. ของวันที่ 13 ต.ค. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กลุ่มนักข่าวหญิงจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ จำนวน 23 คน เข้าเฝ้าเพื่อทูลถวายเงินจำนวนหนึ่งแสนบาท โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย จากรายได้ของการจำหน่ายหนังสือตำราอาหารชุดพิเศษสุด
ในโอกาสเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับสั่งถึงการเสียชีวิตของพระเอกหนังไทย มิตร ชัยบัญชาว่า “ทราบข่าวแล้วสงสารจนนอนไม่หลับ เขาเป็นคนดีและคนของประชาชน” นอกจากนี้ สมเด็จฯได้ตรัสถึงอาชีพการแสดงภาพยนตร์ของมิตร ชัยบัญชาว่า เป็นอาชีพที่ดี ทำให้การเงินหมุนเวียนดีขึ้น ทรงเสียดายและเสียพระทัย และทรงพระอักษรจากหนังสือพิมพ์เป็นการใหญ่ รวมทั้งมีพระราชดำรัสชมเชยถึงการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ว่า ทำข่าวได้รวดเร็วดีมาก
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำรัสตอบคำทูลถาม จากนางอนงค์ เมฆประสาท นักข่าวหญิง ซึ่งทูลถามเกี่ยวกับการเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ของมิตร ชัยบัญชา โดยทรงรับสั่งว่า ได้ไปชมการแสดงบ่อยครั้ง เมื่อมีผู้มาเชิญในรอบปฐมทัศน์ ฉันก็เป็นแฟนภาพยนตร์คนหนึ่งเหมือนกัน”
(หนังสือ “ชีวิตและผลงาน 14 ปี ในวงการภาพยนตร์ ของ พระเอกดาราทองพระราชทาน มิตร ชัยบัญชา” หน้า 9)
วันที่ 3 พฤษภาคม 2509 มิตร ชัยบัญชา ได้รับรางวัลพระราชทานโล่เกียรตินิยม รางวัลดาราคู่ขวัญ “มิตร-เพชรา” ในงานตุ๊กตาทองประจำปี 2508 ในสาขา "ดาราฝ่ายชายที่ทำรายได้สูงสุด" จากภาพยนตร์เรื่อง "เงิน เงิน เงิน" และวันที่ 24 มีนาคม 2510 มิตรได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานรางวัลดาราทอง ในฐานะนักแสดงนำฝ่ายชายที่ได้รับผลโหวตสูงสุดจากเพื่อนๆนักแสดงด้วยกัน ยกย่องให้มีคุณสมบัติครบถ้วนคือ ศรัทธา,หน้าที่,ไมตรีและน้ำใจ
ตลอดชีวิตการแสดงภาพยนตร์ มิตร ชัยบัญชา มีผลงานทั้งหมด 266 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นหนังขนาด 16 มม. และ มีขนาด 35 มม. เสียงในฟิล์มเพียง 16 เรื่อง แสดงคู่กับนางเอกมากกว่า 29 คน โดยแสดงคู่กับ“เพชรา เชาวราษฎร์” มากที่สุดถึง 172 เรื่อง มิตรแสดงภาพยนตร์ “ชาติเสือ” เป็นเรื่องแรก คู่กับเรวดี ศิริวิไล และคู่กับเพชรา ใน "บันทึกรักของพิมพ์ฉวี" เป็นเรื่องแรกในปี 2504
วันสุดท้าย ... หลังตั้งศพบำเพ็ญกุศลครบ 100 วันที่วัดแคนางเลิ้ง ได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพจัดเมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2514 ในวันงานมีประชาชนหลั่งไหลเข้าไปร่วมงานจำนวนหลายหมื่นคน สำหรับการพระราชทานเพลิงศพย้ายจากวัดแคไปวัดเทพศิรินทร์ พิธีจัดท่ามกลางประชาชนนับแสนคน จน “ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” ถึงกับออกปากว่า “เป็นงานศพของสามัญชน ที่มีคนมาร่วมงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์”!
"ละครออนไลน์" ร่วมรำลึกถึง "ความดี" ของ มิตร ชัยบัญชา 8 ตุลาคมในวาระ 51 ปี 2564 !
ชีวิต “บุญทิ้ง” สู่ “มิตร ชัยบัญชา”
@ คนเราเลือกที่เกิดไม่ได้
พ่อแม่ฉันเป็นใคร ยังไม่เคยเห็นหน้า
ต้องเป็นเด็กวัดปรนนิบัติหลวงอา
เกิดมากำพร้า อาศัยพระพึ่งพิง
@ใจเอ๋ยแทบขาดเป็นเสี้ยว
สิ้นคนเหลียวแลดู ต้องต่อสู้ทุกสิ่ง
อดอยากยากไร้ ไม่มีสุขเสียจริง
โอ้เราบุญทิ้ง บุญไม่อิงอบอุ่น
@เวรสาปบาปหนุนบุญทิ้งให้ผิดพลาด
ข้าวก้นบาตรเท่านั้นเจือจุน
อยากมีพ่อแม่เฝ้าแลเกื้อหนุน
ลูกจะแทนพระคุณ พ่อแม่อยู่หนใด
@เดียวดายลูกที่ขาดแม่พ่อ
พ่อแม่จ๋าลูกรอ รอให้มาชิดใกล้
บาปกรรมลูกแท้พ่อแม่ต้องจากไกล
ลูกอดแค่ไหน อยู่เพราะข้าวก้นบาตร II@
ข้อความนี้เป็นเนื้อเพลงชื่อ “ข้าวก้นบาตร” ประพันธ์โดย “สมโภช ล้ำพงษ์”นักแต่งเพลงแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ร่วมกับ บำเทอง โชติชูตระกูล อดีตผู้จัดการส่วนตัวของมิตร และประธานชมรม "มิตรชัยบัญชาอนุสรณ์" ซึ่งเนื้อหาของเพลงนั้น มาจากชีวิตของ “บุญทิ้ง ระวีแสง” หรือ มิตร ชัยบัญชา นั่นเอง เสียดายที่ไม่พบเพลงในยูทูป
เด็ก “บุญทิ้ง” หรือชีวิตส่วนตัวของ พ.อ.ท. พิเชษฐ์ ชัยบัญชา ( มิตร ชัยบัญชา) นายชม ระวีแสง ผู้เป็นพ่อ ได้มอบลิขสิทธิ์ให้กับนายบำเทอง โชติชูตระกูล ให้มีอำนาจในการทำหนังสือ ภาพยนตร์ เพื่อเป็นเกียรติคุณแก่มิตร ชัยบัญชาได้ เอกสารลิขสิทธิ์ชิ้นนี้ได้ใช้หัวกระดาษในนามของ “ชัยบัญชาภาพยนตร์” และ มีพยานร่วมลงนาม 2 คนคือ พ.ต.ท. สุรินทร์ วิริยะรัตน์ และนายสมเกียรติ พัฒนทรัพย์
มิตร ชัยบัญชา คบ “อู๊ด”บำเทอง โชติชูตระกูล มาตั้งแต่เรียนชั้นป.1 ประวัติคร่าวๆว่า เคยเป็นเลขาฯของ พล.ต.ท. จำรัส มังคลารัตน์ ในยุคก่อนที่ท่านจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , เป็นอุปนายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย, เป็นบรรณาธิการวารสาร สบท. , เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “เจ้าสาว”, เป็นกรรมการประชาสัมพันธ์ รมน. 28 กองทัพภาคที่ 1 และเป็นกรรมการสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และประธานมูลนิธิอนุสรณ์มิตร ชัยบัญชาอนุสรณ์
จังหวะชีวิตของบุญทิ้งผ่านความลำบากแต่ละช่วงอายุ และมีชื่อเรียกต่างๆไป
เริ่มต้นวัยทารก เกิดที่ตลาดท่ายาง จ. เพชรบุรี ตอนแรกไม่รู้ วัน-เดือน-ปี-เวลาเกิด ที่แน่นอน ! จึงแจ้งเกิดเมื่อ 1 มกราคม ต่อมาเป็น " 28 มกราคม 2477 ปีจอ แรม 9 ค่ำเดือนยี่ เวลา 11.58 น. " พ่อชื่อ พลตำรวจชม ระวีแสง ส่วนแม่ชื่อ สงวน (ยี) ระวีแสง (อินเนตร) เมื่อแรกเกิด ชื่อ "บุญทิ้ง" ถึง 1 ขวบ พ่อหายไปจากบ้าน แม่เลี้ยงบุญทิ้งเพียงผู้เดียว จากนั้นแม่ก็เอาเด็กคนนี้ไปทิ้งให้ปู่รื่น-ย่าผาด เลี้ยงจนถึง 5 ขวบ ช่วงอายุ 4 ขวบ ปู่กับย่าก็ให้หลานชายไปอยู่กับหลวงอาแช่ม น้องชายของพ่อแท้ๆ ขณะนั้นบวชเณร ที่วัดสายค้าน บ้างว่า วัดท่ากระเทียม และตามมาอยู่ด้วยกันที่วัดสนามพราหมณ์ เพชรบุรี จนอายุ 8 ขวบ ช่วงนี้เรียนหนังสือที่โรงเรียน ประชาบาลวัดจันทร์
หลังเสียชีวิตไปหลายปี นางยี ระวีแสง แม่ของมิตร ชัยบัญชา เล่าไว้ในหนังสือ “พระเอกไตรภูมิ มิตร ชัยบัญชา ยอดดาราทอง” ว่า “มิตรเป็นเด็กดี นิสัยดี ร่าเริงมีเพื่อนเยอะ ตอนเล็กๆไม่ค่อยซน ตัวผอมสูง เคยถูกเพื่อนรังเกียจและรังแก จึงแอบไปให้ครูสอนวิชามวยไทยจนเตะศอกเข่าเก่ง แต่เก่งแล้ว มิตรก็ไม่เคยไปล้างแค้นคนที่เคยรังแกหรือดูถูกเหยียดหยาม เว้นแต่ว่า ถ้าใครมารังแกอีก คราวนี้จะไม่ยอมหนีอีกแล้ว”
เรื่องหมัดมวย มีบันทึกต่อมาว่า ในช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.1 ได้ฝึกหมัดมวยกับ ประสิทธิ์ แชมป์มวยราชดำเนิน ซึ่งมีค่ายมวยอยู่แถวบางลำพู เมื่อชกมวยคล่องก็ขึ้นชกมวยนักเรียนรุ่นใหญ่ ได้เหรียญทอง ตอน ม.4 และได้รองแชมป์มวยสากลนักเรียน เมื่อเรียน ม.6
ระหว่าง อายุ 8-20 ปี แม่มารับไปอยู่กรุงเทพฯ ที่บ้านเลขที่ 207 ถนนพะเนียง หน้าวัดแค นางเลิ้ง เนื่องจากพ่อหายตัวไปอีกครั้ง ไม่กลับมาที่บ้านปู่ย่าเหมือนเคย นางยีให้ลูกชายเรียกว่า “ป้า” บุญทิ้งเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "สุพิศ นิลศรีทอง" ซึ่งยืมนามสกุลมาจาก “บรรจบ นิลศรีทอง” น้องเขยของแม่ ชื่อนี้ใช้ถึงอายุ 19 ปี ช่วงจังหวะที่อยู่กทม.นี้ เรียนหนังสือที่โรงเรียนไทยประสาทวิทยา ถนนหลานหลวง จนจบ ม.6 หลักฐานใบเกิดว่าเป็นลูกของบรรจบ เพื่อที่จะรับสิทธิ์การเบิกค่าเล่าเรียน !
เปลี่ยนชื่ออีกทีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่ออายุ 20 เป็น "พิเชษฐ์ พุ่มเหม" ซึ่งเป็นนามสกุลของพ่อเลี้ยงชื่อเฉลิม และเข้าเรียนที่ โรงเรียนศิษย์การบิน รุ่น ป. 15 นครราชสีมา ช่วงนั้น ขณะเข้าเวร มีเพื่อนนักเรียน ขโมยเครื่องบินไปลาว จึงถูกสอบสวน จากนั้นได้ย้ายมาเรียนต่อที่ โรงเรียนจ่าอากาศโยธิน ดอนเมือง และเป็นครูฝึกในเวลาต่อมา พออายุได้ 22 ปี ได้ประดับยศ “จ่าอากาศโท” และในปีนี้ 2500 ได้เริ่มทำงานบันเทิงด้วย จนปี 2506 ได้ลาออกจากราชการ เมื่ออายุ 28 ปี ประดับยศ “พันจ่าอากาศโท” เวลานั้น มิตรได้เข้าสู่วงการภาพยนตร์มา 6 ปี ในปีแล้ว มีเรื่องบันทึกว่า ปีนั้น หนัง“เหยี่ยวดำ” เข้าฉายที่โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง เขายืนแจกภาพถ่ายที่สวมเครื่องแบบทหารอากาศ และกล่าวกับแฟนหนังว่า
"...ถึงแม้ว่าได้เลือกอาชีพการแสดงภาพยนตร์เพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ทั้งร่างกายและจิตใจของผม คือ ทหาร ผมรักเครื่องแบบทหาร ชื่อเสียงความนิยมที่ประชาชนมอบให้ผมในฐานะนักแสดง ผมก็ถือว่าเป็นชื่อเสียงของกองทัพอากาศเช่นกัน การให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ทุกครั้ง ผมไม่เคยลืมที่จะกล่าวถึง การเป็นทหารอากาศ มากกว่าการให้สัมภาษณ์อย่างอื่น ถึงแม้ว่าการแสดงจะเป็นภาระจนทำให้ผมต้องตัดสินใจลาออก แต่จิตใจของผมและทั้งตัว คือ ทหารอากาศ ..."
เมื่ออายุ 33 ปี ใช้ชื่อ พิเซษฐ์ แต่เปลี่ยนสกุลใหม่ เป็น “ชัยบัญชา”
ก่อนเข้าสู่การแสดงภาพยนตร์ “จ่าอากาศโทสมจ้อย” เป็นคนพามิตรไปรู้จักกับ "กิ่ง แก้วประเสริฐ" ซึ่ง กิ่ง ได้แนะนำให้ "ประทีป โกมลภิศ" ดูตัวที่โรงแรมผ่านฟ้า ถนน นครสวรรค์ ดูตัวแล้ว ประทีป นัด "รังสรรค์ ตันติวงศ์" ผู้อำนวยการสร้าง "ชาติเสือ" พบที่โรงแรมเวียงใต้อีกครั้งหนึ่งเพื่อตัดสินใจ รังสรรค์ให้เงิน 3 พันบาทเพื่อให้มิตรไปปรับลุค ตัดผม , ซื้อเสื้อผ้า-กางเกง รองเท้าใหม่ เตรียมตัวเป็นพระเอกใหม่ของวงการ
ในปี 2499 เริ่มถ่ายทำ "ชาติเสือ" ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่โคกสำโรง จ. ลพบุรี เรื่องนี้ เขาเล่นคู่กับเรวดี ศิริวิไล กวาดรายได้กว่า 8 แสนบาท
ประทีป โกมลภิศ เป็นคนที่ตั้งชื่อ-นามสกุลในการแสดง จาก พิเซษฐ์ พุ่มเหม เป็น "มิตร ชัยบัญชา" โดยประทีปถามพิเชษฐ์ 2 ข้อว่า
1. ในชีวิตสิ่งใดสำคัญที่สุด มิตรตอบว่า "เพื่อนครับ" ประทีปบอกว่า "เพื่อน คือ มิตร เมื่อรักเพื่อนก็เก็บเพื่อนไว้กับตัว งั้นใช้ชื่อใหม่ว่า 'มิตร' ก็แล้วกัน"
2. ในชีวิตเกิดมาภูมิใจสิ่งใดมากที่สุด มิตรตอบว่า "ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลในพิธีสวนสนามวันปิยมหาราชครับ" มิตรได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพล ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด และเขาได้ทำหน้าที่นี้ทุกปีตลอดการเป็นทหารของเขา จึงเป็นที่มาของนามสกุล "ชัยบัญชา" !
จุดยืน "มิตร ชัยบัญชา"
มิตร ชัยบัญชา มีจุดยืนในการทำงานว่า
@ ความดีไม่สร้าง ไม่มีทางเป็นผู้ทรงเกียรติ ความชั่วไม่สร่าง ไม่มีทางสงบสุข
@ สร้างสมแต่เมตตา ผลตามมาคือความสุข สร้างสมแต่ความเกลียดชัง ผลตามมาคือความทุกข์
@ จะกตัญญูรู้คุณ
@ จะซื่อสัตย์ต่ออาชีพ
@ จะตรงเวลานัดหมาย
@ จะกตัญญูรู้คุณที่ได้รับความเมตตาจากประชาชน
@ จะยุติธรรม รักษาคำพูด
@ จะไม่ลืมตัว
@จะช่วยงานกุศลเท่าที่สามารถจะช่วยได้
ส่วนหนึ่งของเงินบริจาค
เรามาดูกิจกรรมต่างๆที่นอกเหนือจากการเล่นหนัง
"มิตร ชัยบัญชา" มีรายได้จาการแสดงมากเท่าไรยิ่งทำบุญมากขึ้น ทำให้หนังสือพิมพ์ตั้งฉายาเขาว่า "พระเอกมิตร ชัยบัญชา พระเอกผู้ใจบุญ เขาเชื่อว่า ถ้าไม่ได้วัดเป็นที่พึ่งพิง อาศัยข้าวก้นบาตร ก็คงไม่มีนายทหารอากาศและพระเอกภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งของการทำบุญที่ได้บันทึกไว้ ใน“ชีวิตและผลงาน 14 ปี ในวงการภาพยนตร์ ของ พระเอกดาราทองพระราชทาน มิตร ชัยบัญชา” หน้า 59-60 ว่า
1.บริจาคเงินร่วมกับ "บำเทอง โชติชูตระกูล" 12,900 บาท เป็นทุนริเริ่มคนแรกสร้างอนุสาวรีย์เจ้ากาวิละ (เชียงใหม่) เมื่อปี 2512
2. บริจาคเงิน 10,000 บาทร่วมกับ"บำเทอง โชติชูตระกูล", ทวิทย์ โปสินธุ์ (ยิ่งยง สะเด็ดยาด-ไทยรัฐ) มอบให้ "มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ" ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระราชชนนีฯ
3. บริจาคเงินสร้างโต๊ะหมู่ , โลงทอง, ให้กับวัดเพ็ญญาติ อ. ฉลาง จ. นครศรีธรรมราช เป็นเงิน 15,000 บาท
4. บริจาคเงินส่วนตัวสร้างโบสถ์วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค-นางเลิ้ง) เป็นเงิน 46,500 บาท และเป็นเจ้าภาพทอดกฐินให้วัดสุนทรธรรมทาน ตั้งแต่พ.ศ. 2510 -2513 รวม 3 ปี ได้เงินถึง 402,082.00 บาท (สี่แสนสองพันแปดสิบสองบาท)
5. นอกจากวัดสุนทรธรรมทานแล้ว มิตร ชัยบัญชา ยังนำกฐินและผ้าป่าไปทอดที่วัด สนามพราหมณ์ , วัดสระพัง, วัดวังไคร้, วัดสายด้าน, ใน จ. เพชรบุรี , วัดเขาพระศรีสรรเพชรตาราม สุพรรณบุรี, วัดตะบอนน้อย จันทบุรี, วัดผาสุขไพบูลย์ ปราจีนบุรี, วัดแสนสุขวิสุทธิวราราม ชลบุรี และยังมีหลายสิบวัดที่มิตร ชัยบัญชา ไปร่วมทำบุญ
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ริเริ่ม "กฐินดารา" และ ยังร่วมงานการกุศลต่างๆ เช่น ร่วมฟุตบอลดาราโดยเสด็จพระราชกุศล หน้าพระที่นั่ง 2 ครั้ง ร่วมปรากฏตัวกับฟุตบอลดาราการกุศลไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น อุดรธานี, เชียงใหม่, หนองคาย, นครราชสีมา, เชียงราย, สงขลา, ร้อยเอ็ด, อุบลราชธานี, ลพบุรี, นครสวรรค์, นครปฐม, ราชบุรี และอีกหลายสิบจังหวัด และงานกุศลตามวัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อจะได้มีโอกาสใกล้ชิดกับประชาชน และในงานกาชาดทุกปี มิตรจะไปร่วมงานไม่เคยขาด
ชีวิตในช่วงสุดท้าย มิตรมีความตั้งใจที่จะร่วมสร้างโบสถ์วัดสุนทรธรรมทานให้สำเร็จ และหาทางช่วยเหลือเด็กกำพร้า และพิการของ "มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ" ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระราชชนนีฯ ที่ปากเกร็ด เมืองนนทบุรี
นอกจากนี้ มิตร ชัยบัญชา ยังเคยสมัครผู้แทนราษฎรอีกด้วย และในวันที่ 27 มกราคม 2512 "มิตร" - พ.อ.ท. พิเชษฐ์ ชัยบัญชา คนของประชาชน กลุ่มหนุ่ม หมายเลข 34 ได้หาเสียงที่เวทีท้องสนามหลวง ประกาศว่า
"เป็นเวลา 12 ปีแล้วที่ผมเป็นคนของประชาชน อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน และประชาชนได้ช่วยอุ้มชู อุปการะผมมาตลอด จากคนไม่มีอะไรเลย มาจนกระทั่งบัดนี้มีบ้านอยู่อาศัย ซึ่งทุกอย่างมาจากน้ำพักน้ำแรงของประชาชน ที่ช่วยกันสละช่วยกันสร้างสรรค์ให้ผมมีทุกอย่าง ซึ่งผมไม่มีโอกาสที่จะตอบแทนพระคุณอันนี้ ต่อประชาชนได้เลย อันเปรียบเสมือนว่า ประชาชนคือผู้ปกครองและให้ความเมตตาอุปการะแก่ผม ผมเปรียบเสมือนสุนัขซึ่งประชาชนช่วยกันเลี้ยงไว้ ถ้าผมทรยศต่อคำพูด ต่อหน้าที่ ผมก็เลวเต็มทน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผมต้องมาเล่นการเมือง เพื่อจะได้มีโอกาสรับใช้ประชาชนผู้มีพระคุณต่อผม ต่อประเทศชาติอันเป็นที่รักของผมและประชาชน สิ่งใดที่ทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน ผม มิตร ชัยบัญชา พร้อมที่จะทำทุกวิถีทาง"
เหตุการณ์สำคัญอื่น อาทิ
ปี 2506 ก่อตั้ง “ชัยบัญชาภาพยนตร์”
ปี 2510 ก่อตั้งบริษัทสร้างภาพยนตร์ชื่อ “สหชัยภาพยนตร์” เพื่อให้เพื่อนๆในวงการได้สลับกันเป็นผู้อำนวยการสร้าง มิตร พร้อมเป็นพระเอกโดยไม่คิดค่าตัว
ปี 2511 ลงสมัครเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพฯ
ปี 2512 ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ปี 2513 ได้รวบรวมทรัพย์สิน ทั้งบ้าน ที่ดิน เพื่อขายและจำนองธนาคาร เพื่อรวบรวมเงินซื้อที่ดินบริเวณสะพานผ่านฟ้า เนื้อที่ 514 ตารางวา ราคา 7 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงภาพยนตร์ชัยบัญชา เพื่อฉายภาพยนตร์ไทยอย่างเดียว
หลังจากที่มิตร ชัยบัญชาสิ้นชีวิตเมื่อ 8 ตุลาคม 2513 แล้ว บำเทอง โชติชูตระกูล อดีตผู้จัดการส่วนตัวของพระเอกหนุ่ม และประธานชมรม "มิตร ชัยบัญชา" อนุสรณ์ ได้สานเจตนารมย์ ตั้ง "ทุนการศึกษา มิตร ชัยบัญชา อนุสรณ์" ขึ้น เพื่อทำการแจกทุนการศึกษาให้กับนักเรียนยากจนในหลายโรงเรียน เพื่อยึดหลักที่มิตรเคยตั้งใจไว้
อย่างในปี 2524 ได้ให้ความร่วมมือกับโรงเรียนวัดลาดพร้าว บางกะปิ กทม. จัดงานเพื่อหาเงินให้นักเรียนยากจน ได้เงิน 3 หมื่นเศษ ทางคณะอาจารย์ได้นำไปจัดซื้อหนังสือเรียน เสื้อผ้า รองเท้าให้กับเด็ก โดยมีเจ้าอาวาสวัดลาดพร้าว ร่วมเป็นสักขีพยาน , ปี 2526-2527 แจ้งมอบทุนอีก 2 ทุนๆละ 1 พันบาทให้โรงเรียนวัดลาดพร้าว และยอดเงินที่แฟนๆส่งมาเพื่อทุนการศึกษา รวมเป็นจำนวน 9,847 บาท เก็บรักษาไว้ที่ธนาคารกรุงเทพฯ สาขาผ่านฟ้า ในนามของ "ชมรมมิตร ชัยบัญชา"
นั่นคือเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวในอดีต ซึ่งบันทึกถึงเรื่องราวชีวิต หน้าที่การงาน และความดี ของ “บุญทิ้ง” หรือที่เรารู้จักเขาในนาม “ มิตร ชัยบัญชา” ... พระเอกหนังคนสำคัญของโลกภาพยนตร์ไทย ในช่วงปี 2500-2513
ช่องทางละครออนไลน์
เว็บไซต์
:https://mgronline.com/drama
ยูทูป
:https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG :https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok :https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/