สกู๊ปพิเศษ : เรื่องซ้อนทับในหนัง-ละคร ของ “ทมยันตี”
ขณะนี้มีการสวดอภิธรรมศพคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี ณ ศาลา 10 วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร และจะมีงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 23 กันยายนนี้ ...
ละครออนไลน์ ร่วมแสดงความอาลัย มาณ ที่นี่ พร้อมกับ เรื่องราวของหนังและละคร จากนวนิยายของท่าน ....
นวนิยายจากปลายปากกาสีม่วงของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ในนามปากกา และแนวนิยายที่แตกต่างกันไปได้รับการแปรรูปเป็นจำนวนมาก แต่ละเรื่อง ผ่านการผลิตซ้ำ ตอกย้ำความสำเร็จนับไม่ถ้วน ว่ากันว่า 70 % ของงานเขียนเหล่านี้ ได้รับการเช่าซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อผลิตหนังและละคร ครั้งแล้วครั้งเล่า ชีวิตนักประพันธ์ เริ่มต้นเขียนเรื่องสั้นมาตั้งแต่อายุ 14 เริ่มเรื่องยาวเรื่องแรกคือ ในฝัน เมื่ออายุ 19 ในนามปากกา “โรสลาเรน” งานยุคแรกตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ ในเครือขวัญเรือน นวนิยายของทมยันตี นิยมใช้ภาษาอย่าง “หลวงวิจิตรวาทการ” งานเขียนทั้งหมด ใช้ 6 นามปากกาตามแนวเรื่องที่แตกต่างกันไป
“โรสลาเรน” หยิบมาจากชื่อของนางเอกนักร้องโอเปร่าในเรื่องสั้นของหลวงวิจตรวาทการ ใช้กับเรื่องรักแนวพาฝัน และใช้กับนิยาย “ในฝัน” เป็นลำดับแรก เรื่องอื่นๆ เช่น โสมส่องแสง, รอยอินทร์, เงา
“ลักษณาวดี” เป็นชื่อมเหสีของพระลอดิลกราช ในวรรณคดี “ลิลิตพระลอ” ใช้เขียนนิยายรัก ประเภทเจ้าชาย เจ้าหญิง งานเขียนในนามปากกานี้ เช่น เลือดขัตติยา, ดั่งดวงหฤทัย, รัศมีจันทร์, ในฝัน, หนี้รัก , สายใจ
“กนกเรขา” เป็นชื่อนางในวรรณคดีของเรื่อง “กนกนคร” ใช้ในการเขียนเรื่องเบาสมอง เช่น พ่อครัวหัวป่าก์, อุบัติเหตุ, แรงรัก, พ่อหม้ายที่เด็ด, พ่อปลาไหล, เดชแม่ยาย, ไอ้คุณผี, แต่งกับงาน , บิ๊กเสี่ย
ทมยันตี นางในวรรณคดี จากเรื่อง “พระนลคำหลวง” ใช้เขียนเรื่องสะท้อนสังคม รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับจิตวิญญาณ นิยายเรื่องแรกที่ใช้นามปากกานี้คือ “รอยมลทิน” เล่มอื่นๆ เช่น คู่กรรม 1-2 , พิษสวาท , อย่าลืมฉัน, ใบไม้ที่ปลิวปลิว, ทวิภพ, คุณหญิงนอกทำเนียบ, สะพานดาว,ถนนสายหัวใจ, สิ้นสวาท, เพลงชีวิต, แผลหัวใจ, ทิพย์, ใยเสน่หา, เมียน้อย, กฤตยา, คำมั่นสัญญา, พี่เลี้ยง, นางเอก, ดาวเรือง, แก้วกลางดง, สายรุ้ง, อตีตา, ล่า, รอยลิขิต, กษัตริยา, รักลวง, ประกาศิตเงินตรา, เถ้ากุหลาบ,แนวสุดท้าย , สุดหัวใจ ฯลฯ
“มายาวดี” และ “วิม-ลา” ใช้กับเรื่องศาสตร์เทวะต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานในยุคหลัง เพื่อถวายตัวรับใช้พระเป็นเจ้า และสร้าง “ล้านนาเทวาลัย” และใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่นั่น มายาวดี เคยเป็นนามปากกาของคอลัมน์ “สนธยากาล” ในขวัญเรือน และต่อมาทั้งสองนามปากกกาได้ย้ายมาสืบต่องานเขียนในเฟซบุ๊ก “ล้านนาเทวาลัย” ในปี 2562
งานเขียนที่หลากหลายนั้นลม้ายคล้ายชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน ไม่ว่าจะเป็นวัยไหน เรื่องอะไร โรแมนติก รักหวาน เศร้าสะเทือนใจ สนุกสนาน ไปจนถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ชีวิตเธอเหมือนเหรียญสองด้าน เป็นทวิลักษณะ ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวของชีวิตที่ถูกถ่ายทอดความเป็นไปในช่วงนี้ ต่างๆนานา
“คู่กรรม” โกโบริ เกิดจากหลุมศพทหารเนเธอร์แลนด์
ในปี 2508 ทมยันตีเดินทางไปที่กาญจนบุรี ! เข้าใจว่า น่าจะเป็นวันรำลึกสงครามโลกครั้งที่ 2
“แสงสว่างแห่งชีวิตอุบัติขึ้น และบัดนี้ แสงสว่างนั้นได้ดับลงแล้ว ฝากรอยจูบและหยดน้ำตา มากับกลีบกุหลาบทุกกลีบ” ความนี้เขียนไว้บนการ์ดใบหนึ่ง ซึ่งผูกติดกับดอกไม้ช่องาม วางบนหลุมฝังศพของบุคคลอันเป็นที่รัก ณ สุสานทหารพันธมิตรดอนรัก ถนนแสงชูโต เยื้องสถานีรถไฟกาญจนบุรี เมื่อสอบถามได้ความว่า ผู้วายชนม์ในหลุมศพนั้นเป็นทหารชาวเนเธอร์แลนด์มาเสียชีวิตที่เมืองไทย และพ่อแม่ก็ไม่อาจมาร่วมงานรำลึกครั้งนี้ได้
“สงครามไม่เคยให้อะไร นอกจากความสูญเสีย” จากภาพที่เลือนรางนี้ ทมยันตีจรดเส้นหมึกสีม่วงวาดตัวละคร ถ่ายทอดในนิตยสาร “ศรีสยาม” ในเครือนิตยสารขวัญเรือนเมื่อปี 2512 และปีนั้นเอง ภาพของชายคนหนึ่งก็เดินทางจากแดนไกล มาทิ้งร่างบนแผ่นดินสยาม ตำนานรักของ “โกโบริ และอังศุมาลิน” เกิดขึ้น ! นักแสดงคู่แรกและคู่อื่นๆ อีกหลายคู่ก็ตามมา
“โกโบริ และ อังศุมาลิน” มีมากถึง 11 คู่ +1 เป็นทั้งละครโทรทัศน์ , ภาพยนตร์ และละครเวที แม้แต่เสียงในเทปคาสเซ็ทลำเรื่อง 3 ม้วนจบ
เทิ่ง สติเฟื่อง หรือ ยรรยงค์ เสนารักษ์ แห่งศรีไทยการละคร นักธุรกิจโฆษณามือหนึ่งในยุคนั้น สร้าง “คู่กรรม” ครั้งแรกในปี 2513 ทางช่อง 4 บางขุนพรหม มีความเป็นไปได้สูงที่เทิ่งจะชอบตัวละครแดนอาทิตย์อุทัยผู้นี้ เพราะ แม่ของเขา เป็นชาวญี่ปุ่น ชื่อ โทมิโกะ พระ-นาง คู่แรกคือ มีชัย วีระไวทยะ และ บุศรา นฤมิตร
คู่กรรม ได้รับการรีเมกอีกครั้งในปี 2515 ทางช่อง 4 อีกเช่นเดียวกันโดย ชนะ ศรีอุบล และ ผาณิต กันตามระ และอีกครั้งในปี 2521ที่ช่อง 9 นิรุตต์ ศิริจรรยา คู่กับ ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ ทั้ง 3 คู่นี้ ถือเป็นพระ-นางในยุคแรก
ในปี 2533 สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ให้ “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร แห่งดาราวิดีโอ สร้างละคร โดยนำซูเปอร์สตาร์อย่าง “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย เล่นคู่กับ “กวาง” กมลชนก โกมลฐิติ ได้รับการบันทึกว่าเป็นละครโทรทัศน์เรตติ้งสูงสุดในประเทศไทย ใช้เวลาหลายสัปดาห์ขยี้บทกว่าโกโบริจะทอดร่าง ! สู่ขิต โดย ศัลยา นักเขียนบทมือหนึ่ง
ปี 2547 “เรด ดรามา” ทำละครแพร่ภาพทางช่อง 3 แสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์ และ พรชิตา ณ สงขลา กำกับการแสดงโดย นพดล มงคลพันธ์
ปี 2556 เอ็กแช็กท์และซิเนริโอ สร้างออกอากาศทางช่อง 5 โดย บี้ สุกฤษฏิ์ วิเศษแก้วและ หนึ่งธิดา โสภณ
นั่นเป็นคู่พระ-นางทั้ง 6 คู่ ในละครโทรทัศน์ ในด้านภาพยนตร์แล้ว ผ่านการสร้างมา 4 ครั้ง ใช้พระ-นาง 4 คู่ +1
ก่อนจิรบันเทิงฟิล์ม จะสร้างภาพยนตร์คู่กรรมในปี 2516 ผ่านเรื่องราวต่างๆ...มากมายหลายเรื่อง เมื่อแรก วางตัว “โกโบริ” ให้สมกับเรื่องราวในนวนิยาย เพื่อให้คนอินกับภาพยนตร์ พระเอกคนแรก ที่เกือบจะได้เป็นโกโบริ คือ “มูกะ ทาเควากิ” (Muga Takewaki) ตอนนั้นพระเอกหนุ่มชาวญี่ปุ่นคนนี้ มีผลงานที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “ซันชิโร่ ยอดยูโด” เขาได้บินมาเมืองไทย เจรจาตกลงเป็นพระเอกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2515 นางเอกที่วางตัวไว้คือ อัมพร กีรติบุตร นางนพมาศ ปี 2510 จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในจังหวะนั้น ก่อนสังคมไทยเข้าสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทางศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้รณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ที่บริเวณหน้าห้างไดมารู ราชดำริอาเขต เหตุนี้จึงทำให้ พระ-นางคู่นี้ ไม่ได้รับบทบาทตามที่หวังไว้ เปลี่ยนพระ-นางเป็น นาท ภูวนัย และ ดวงนภา อรรถพรพิศาล สำหรับคู่กรรมที่ฉายในเมืองไทย แต่ต้นฉบับที่ไปฉายในต่างประเทศ เปลี่ยนตัวนางเอกเป็น “หวาเหลียน” ชาวฮ่องกง ดังนั้น คู่กรรม ในเวอร์ชั่นนี้จึงต้องถ่าย 2 ครั้ง
ในปี 2531 พระ-นาง คู่ที่ 2 คือ “โอ” วรุฒ วรธรรม และ “แหม่ม” จินตหรา สุขพัฒน์ กำกับการแสดงโดย รุจน์ รณภพ ของไฟว์สตาร์โปรดักชั่น
ปี 2538 คู่กรรมกลับมาอีกครั้ง โดยแกรมมี่ภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย ยุทธนา มุกดาสนิท “เบิร์ด ธงไชย” พ่อดอกมะลิ ขวัญใจแม่ยก กลับมาอีกครั้งคู่กับ “อุ๋ม” อาภาศิริ นิติพน
พระ-นาง คู่ล่าสุดในยุคนี้ แสดงไว้เมื่อปี 2556 คือ ณเดชน์ คูกิมิยะ คู่กับ ริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส ในนามของ M 39
“เซกิ โอเซกิ” โกโบริแห่งมิวสิคัล
คู่กรรมเดอะมิวสิคัล ของ Dreambox มาในปี 2546 เป็นละครร้องทั้งเรื่อง หรือที่เรียกว่า sung-through musical แสดงโดย น้ำมนต์ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย และ เซกิ โอเซกิ นายแบบ-นักแสดงชาวญี่ปุ่น จากเมืองฟุกุชิมะ
นอกจากนี้ ยังพบหลักฐาน ลำกลอนเรื่อง คู่กรรม 3 ม้วนจบ ซึ่งมาในช่วงละคร “เบิร์ด –กวาง” กำลังดังสุดๆ หาฟังได้จาก Youtube ลำโดย ป. ฉลาดน้อย, บานเย็น ศรีวงษา, ดาว บ้านดอน, หงส์ทอง , พลับพลึง
จากอียิปต์ถึงอยุธยา ที่มาของพิษสวาท !?
“พิษสวาท” เป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาก ถูกจริตกับความเชื่อของคนไทยในเรื่องไสยศาสตร์ ชาติภพและกฎแห่งกรรมเป็นอย่างยิ่ง !
บทความ ชื่อ “มารี คอเรลลี กับนวนิยายและเรื่องสั้นของไทย” โดย วินิตา ดิถียนต์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือที่เรารู้จักเธอจากนวนิยายในนามปากกา “ว. วินิจฉัยกุล และ แก้วเก้า” หน้า 120 กล่าวว่า
ทมยันตีได้ใช้วิธีดัดแปลงนิยายของ มารี คอเรลลี โดยไม่เอ่ยถึงที่มาอีกครั้งหนึ่งใน “พิษสวาท” ซึ่งดัดแปลงมาจาก Ziska ฉบับแปลในไทยชื่อ “กงเกวียน” ของ อมราวดี
ในเรื่องนี้ แทนที่จะเป็นฉากประเทศอียิปต์ ก็เป็นกรุงเทพมหานครแทน โดยเกี่ยวโยงกลับไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย แทนที่จะเป็นอียิปต์ในยุคโบราณ
เนื้อเรื่องส่วนใหญ่คล้ายคลึงกัน แต่เปลี่ยนแปลงตอนจบที่สอดคล้องกับคติทางพุทธศาสนาว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
โดย วินิตา ดิถียนต์ ได้เทียบชื่อตัวละครหลัก 3 ตัวว่า อัคนี (อามังค์ แจวาส) , สโรชินี – อุบล (เจ้าหญิงซิสก้า) และ ทิพอาภา (เฮเลน เมอร์เรย์)
ระหว่างปี 2514- 2559 พิษสวาท เคยเป็นทั้งละครโทรทัศน์, ภาพยนตร์ , และละครวิทยุ มาถึง 5 ครั้ง และถ้าไม่ประสบกับโรคระบาด โควิด-19 เราคงจะได้ชม “พิษสวาท เดอะมิวสิคัล” กันไปแล้ว!
ครั้งแรกในปี 2514 สร้างโดย ศรีไทยการละคร โดยเทิ่ง สติเฟื่องและทมยันตี ร่วมกันเขียนบท เพื่อเป็นละครทางช่อง 5 หรือ ช่อง 7 ขาว-ดำในสมัยนั้น ผู้รับบท อุบล และ สโรชินี คือ เสาวนีย์ สกุลทอง
แต่เดิมวางละครเรื่องนี้ไว้ 3 ตอน แต่นางเอกเล่นได้เพียงตอนเดียวก็เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต และไม่มีใครเล่นต่อ จึงต้องตัดจบใน 2 ตอน
ครั้งที่ 2 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, อรัญญา นามวงศ์ และ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ทั้งยังเป็นละครวิทยุของคณะอัชชาวดีของจีรภา ปัญจศิลป์ พี่สาวของไพโรจน์ สังวริบุตร อีกด้วย
ครั้งที่ 3 รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง และ วรยุทธ พิชัยศรทัต จัดสร้างให้กับช่อง 3 นำแสดงโดย สมภพ เบญจาธิกุล , รัชนู บุญชูดวง และ ลินดา ค้าธัญเจริญ โดยในเวอร์ชั่นนี้ รัชนู นางเอกของเรื่อง ได้ฝันถึงผู้หญิงในชุดโบราณ ชื่อ “บัว” และยังเกิดเหตุการณ์แปลกๆ ในกองถ่ายกับเธออีกด้วย
ในบทความของวินิตา ดิถียนต์ กล่าวว่า “เรื่องนี้ จะด้วยความเข้าใจผิด หรือเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ตาม เมื่อนำไปเป็นละครโทรทัศน์ ได้มีการอ้างว่ามาจากเรื่องจริง และวิญญาณของอุบลนั้นมีตัวตนจริงจนปัจจุบันนี้ ผู้แสดงเป็นสโรชินีหรืออุบล อันได้แก่ รัชนู บุญชูดวง ถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า ฝันเห็นวิญญาณของอุบลมาปรากฏกายในลักษณะสตรีโบราณ ก่อให้เกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างมาก ในเรื่องนี้ ไม่ปรากฏว่า “ทมยันตี” ให้สัมภาษณ์ในทำนองชี้แจงว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยแค่ไหน และไม่เคยเอ่ยถึง Ziska หรือ “กงเกวียน” เลยว่า เป็นที่มาของ “พิษสวาท”
ครั้งที่ 4 สร้างโดยกันตนา ออนแอร์ทางช่อง 5 นำแสดงโดย เล็ก ไอศูรย์ , ลีลาวดี วัชรโรบล และ วรรณิศา ศรีวิเชียร โดย วรรณิศา ในบท ทิพอาภา เล่นได้ครึ่งเรื่องก็เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรงจนต้องถอนตัว ครึ่งเรื่องหลังจึงต้องให้ “ปัทมา ปานทอง” มาเล่นแทน
ล่าสุดครั้งที่ 5 ที่เราคุ้นเคยกัน คือการแสดงของ ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ และ นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี การประสบความสำเร็จจากละครเรื่องนี้ ส่งผลให้ซีเนริโอจะทำ “พิษสวาท เดอะมิวสิคัล” ในลำดับต่อไป ! ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ช่วงก่อนโควิด-19 ไปแล้ว
เลือดขัตติยา อย่าอ่อนไหวและคิดมาก !
สังคมไทย อ่อนไหวและเปราะบางที่สุด กับหลายๆเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นๆจะเกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ละครหลายๆเรื่อง จึงเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความปลอดภัย
เลือดขัตติยาในนามปากกา “ลักษณาวดี” นี้ เป็นละครมาแล้ว 3 ครั้ง และ มิวสิคัลอีก 1 ครั้ง แนวเจ้าชาย-เจ้าหญิง ที่เรียกหรือรู้จักกันว่า “ลิเกฝรั่ง” (เช่น ในฝัน, เลือดขัตติยา, ดั่งดวงหฤทัย)
“เจ้าหญิงทิพยรัตน์ดารากุมารีที่รักของอโณทัย เกิดมาพร้อมหน้าที่ค้ำจุนแผ่นดิน”
ครั้งแรก ผ่านฉลุย ในปี 2521 ทางช่อง 9 อสมท. แสดงโดย พิศาล อัครเศรณี และ กนกวรรณ ด่านอุดม
ครั้งที่ 2 จัดสร้างโดย วรยุทธ พิชัยศรทัต และรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ทางช่อง 3 ในปี 2526
ถ่ายเสร็จ ระบุวันแพร่ภาพเรียบร้อย สู่ขิตขึ้นเมรุ ด้วยเหตุผลที่เนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง ! เขาว่าอย่างนั้น อยากรู้ต้องตีความกันเอาเอง ! ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ “ตั้ว” ศรัณยู วงษ์กระจ่าง แสดงเป็นเรื่องแรกในชีวิต แต่เมื่อไม่ได้ออกอากาศ ละครเรื่องต่อมา “เก้าอี้ขาวในห้องแดง” จึงได้ชื่อว่าเป็นละครเรื่องแรกในการแสดงของศรันยู นักแสดงในเลือดขัตติยาเวอร์ชั่นนี้ เช่น นพพล โกมารชุน, ภิญโญ ทองเจือ , วาสนา สิทธิเวช , อุทุมพร ศิลาพันธ์ เป็นต้น
ครั้งที่ 3 นำแสดงโดย ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี และ อ้อม พิยดา อัครเศรณี ทางช่อง 5
นอกจากนี้ ยังเป็นมิวสิคัล พระ-นางคือ แกงส้ม ธนทัต ชัยอรรถ และ หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ
จะเห็นว่า ถ้าดูเลือดขัตติยาเพื่อความสนุกแฝงคติธรรม ไม่ทึกทักว่าลม้ายคล้ายต่อต้าน ก็จะผ่านฉลุย! ไม่เห็นจะมีอะไร
“ทวิภพ” มณีจันทร์ทะลุกระจกสู่ชาตินิยม
ทวิภพ เป็นนวนิยายประเภท “ชาตินิยม” ใช้เวลาเขียน 2 ปีตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย โดยอิงประวัติศาสตร์ในช่วง ร.ศ. 112 ทมยันตีใช้ตัวละครและเหตุการณ์เพื่อเสนอมุมมองผ่านความคิดและอุดมการณ์ อิงไปกับความรักและชาติบ้านเมือง ในช่วง 15 ปี ระหว่างปี 2533 – 2548 เคยเป็นทั้งภาพยนตร์, ละคร และ มิวสิคัลมาแล้วถึง 6 ครั้ง
เชิด ทรงศรี สร้างภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 2533 นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช และ จันทร์จิรา จูแจ้ง
ในปี 2547 สุรพงษ์ พินิจค้า สร้างเป็นครั้งที่ 2 ในนามของ “ฟิล์มบางกอก” นำแสดงโดย รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง และ ฟลอเรนซ์ วนิดา เฟเวอร์
ช่อง 7 สี นำไปสร้างเป็นละคร 2 ครั้ง ครั้งแรก ในปี 2537 แสดงโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง คู่กับ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ และอีกครั้งในปี 2554 แสดงโดย อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์ และ แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์
ทวิภพ เคยเป็น มิวสิคัลของซีเนริโอ 2 ครั้ง ในปี 2548 มีนักแสดง 2 คู่ คือ กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี และ ปนัดดา เรืองวุฒิ, และคู่ 2 คือ กัปตัน ภูธเนศ หงษ์มานพ และ แพท สุธาสินี พุทธินันท์ และการ
รีสเตจอีกครั้ง เมื่อปี 2554 นำแสดงโดย โดม ปกรณ์ ลัม และ นัท มีเรีย
เรื่องที่แทรกซ้อน เป็นเกร็ดในทวิภพ ปราฏเป็นข่าวในนสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ เซกชั่นปริทรรศน์ ฉบับวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2533 เล่าว่า
ตัวละคร “หลวงอัครเทพวรากร” ขุนนางในปีพุทธศักราช 2436 หรือรัตนโกสินทร์ศกที่ 112 (ร.ศ. 112) และต่อมาได้เป็นทูตไทยคนแรกประจำสหรัฐอเมริกา ไปพ้องกับ บุคคลจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีขุนนางไทยชื่อ “พระอนันต์นรารักษ์” ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองตระเวน ฝ่ายกองรักษาในกระทรวงนครบาล
ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งต่อมาในปีพุทธศักราช 2444 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอรรคราชวราทร” หรือ “เจ้าคุณอรรคราชวราทร” และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอรรคราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นคนแรก
ทั้ง 2 ชื่อใกล้เคียงกันมาก มิหนำซ้ำต่างได้เป็น “ทูต” ไทยคนแรกในสหรัฐอเมริกา! และ “นีโน่”- เมทนี บุรณศิริ ดารา-พิธีกรชื่อดัง มีศักดิ์เป็น “เหลน” ของท่าน
เรียกว่า ตัวละครในจินตนาการของทมยันตี ไปพ้องกับบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างบังเอิญ จะเป็นเรื่องเล่าต่อๆไป จริงหรือเปล่า ใช่หรือไม่ เพราะเหตุผลใด ไม่มีใครรู้ รู้แต่ว่า เรื่องแบบนี้ สร้างเสน่ห์ให้คนได้เล่าขานกันสืบไป
“ร่มฉัตรเหนือหัวของแม้นวาด”
สี่แผ่นดิน ของ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มี “แม่พลอย” , ร่มฉัตร ของ ทมยันตี มี “แม้นวาด” ทั้งคู่ มีชีวิตในสมัยรัชกาลที่ 5 ผ่านวัยต่างๆจนวาระสุดท้าย กับสิ่งที่เทิดทูนไว้เหนือหัว ! เรียกว่า ร่มฉัตรเป็นอิทธิพลมาจาก “สี่แผ่นดิน” โดยแท้ เป็นนิยายที่เชิดชูอุดมการณ์ทางการเมืองอีกเรื่องหนึ่งของทมยันตี เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากว่า อยากให้กลับมาเป็นละครอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมา ทำแค่ 2 ครั้งเท่านั้นเอง !
ครั้งแรก เป็นละครทางช่อง 9 ในปี 2522 จัดสร้างโดย สีนีนาฏ โพธิเวส พระ-นางคือ นิรุตต์ ศิริจรรยาและ รัชนู บุญชูดวง เมื่อเล่นสดจบตอนแรก ปรากฏว่า พระเอกหนุ่มกับผู้จัดมีปัญหาเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกัน จึงไม่แสดงต่อ หลังจากนั้น สมภพ เบญจาธิกุล จึงมารับไม้ต่อในตอนที่ 2 จนจบ
“ร่มฉัตร” ที่คนพูดถึงกันมาก จัดสร้างโดย ไก่ วรายุฑ มิลินจินดา ในปี 2538 นำแสดงโดย ฉัตรชัย และ สินจัย เปล่งพานิช และเนื่องจากเนื้อเรื่องถูกวางไว้ในแต่ละช่วงอายุ จึงมีนักแสดงหลายคนหลายรุ่น มาร่วมแสดงในบทตัวละครเดียวกัน ในหนุ่ม-สาว , กลางคน และชรา เป็นต้น
ในปี 2559-2560 หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล วางแผนจะสร้าง “ร่มฉัตร” เพื่อผลิตให้กับ ทรูโฟร์ยู วางตัว “แพนเค้ก” เขมนิจ จามิกรณ์ไว้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้สร้างจนถึงวันนี้
“คุณหญิงนอกทำเนียบ” ทมยันตี หาข้อมูลในซ่อง !
ภาพโสเภณีในนิยายปรากฏอยู่ในงานของนักเขียนมากหน้าหลายคน มีเรื่องราวต่างกันไป และ มีเกร็ดเล็กๆ เล่าให้ฟัง เกี่ยวกับนิยายเรื่อง คุณหญิงนอกทำเนียบ และ รอยมลทิน ให้ฟังว่า
คุณหญิงนอกทำเนียบ เรื่องราวของคุณหญิงศุภศจี ที่มีชื่อเดิมว่า “ศจี” มีเบื้องหลังชีวิตที่เดินอยู่บนเส้นทางระหว่างวัดกับซ่อง เธอเป็นลูกสาวของนังจุก ที่แขกอินเดียซื้อบริการจากซ่องยายปริก ให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ซึ่งตอนนั้น นังจุกสัญญามั่นเหมาะกับตาศรี ผัววัยดึกว่าจะเลิกขายนาผืนน้อย ครั้งนั้นครั้งเดียว นางก็ตั้งท้อง ติดลูก คลอดลูกสาว หน้าตาคมคาย ตาศรีเห็นก็ดีใจ คิดว่า พระส่งเด็กมาเกิด รับงานไม่เกี่ยงงอน ไม่ว่าจะต่อโลง เป็นสัปเหร่อ ก็ตาม
การเขียนนวนิยายเรื่องนี้ ทมยันตี หาข้อมูลภาคสนามในซ่อง สอบถามถึงเบื้องลึก เบื้องหลังของคนที่เกี่ยวข้องกับอาชีพนี้ “คุณหญิงนอกทำเนียบ” เคยสร้างเป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว เมื่อปี 2517 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี คู่กับ อรัญญา นามวงศ์ และ เป็นละครอีก 4 ครั้ง
ละครครั้งแรกทางช่อง 5 นำแสดงโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช และ วิยะดา อุมารินทร์
ครั้งที่ 2 ทางช่อง 3 นำแสดงโดย ภิญโญ ทองเจือ , นันทวัน เมฆใหญ่ และ ลินดา ค้าธัญเจริญ
ครั้งที่ 3 ทางช่อง 7 นำแสดงโดย นพพล โกมารชุน, อภิรดี ภวภูตานนท์ และ นุสบา วานิชอังกูร
และครั้งที่ 4 ในปี 2558 นำแสดงโดย พีท ทองเจือ, นุสบา ปุณณกันต์ และ ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ทางช่อง 8
สังคมฟอนเฟะกับเรื่องราวของโสเภณี และธุรกิจสีเทากลายเป็นเรื่อนอ่อนไหวที่ผู้ใหญ่และข้าราชการรับไม่ได้ “ทมยันตี” นามปากานี้ ใช้กับการเขียนนิยาย “รอยมลทิน” .... ชีวิตของ “ทม หญิงขายบริการ” เป็นเรื่องแรก รอยมลทิน ถูกสร้างเป็นละครและภาพยนตร์อย่างละครั้ง
ช่อง 5 โดยเทิ่ง สติเฟื่อง ร่วมเขียนบทกับทมยันตี เป็นละครสด ความยาว 3 ตอนจบ สร้างความฮือฮาให้กับวงการด้วยการดึงเอา “บุศรา นฤมิตร” นางเอกบุคลิกเรียบร้อย ซึ่งเคยรับบท อังศุมาลิน” คนแรกมารับบทหมอนวดชื่อ “ทม” หลังแพร่ภาพ เพียงตอนเดียว นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คนดี จาก สันติบาล อยากให้โลกสะอาด ก็โทร.มาที่สถานี เอ่ยถามเสียงแข็งว่า “เอาละครกะหรี่แบบนี้มาออกอากาศได้อย่างไร” ! แค่นี้ทุกอย่างก็วงแตก จึงเป็นที่มาของการตัดจบในตอนที่ 2 แต่พอมาเป็นภาพยนตร์ในปี 2517 แสดงโดย สมบัติ เมทะนี กับรุ้งลาวัลย์ ศรีปฏิมากูล ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ครับทั่น!
พล็อตก็ขายนะจ๊ะ !
ทมยันตี เป็นนักเขียนหญิงคนแรกๆ ที่ขายพล็อตให้กับภาพยนตร์และละครอีกด้วย หนังและละคร 4 เรื่องนี้ไม่มีต้นฉบับนวนิยาย
ภาพยนตร์เรื่อง “ใครจะร้องไห้เพื่อฉัน” ในปี 2517 สร้างโดย ชาลี อินทรวิจิตร นำแสดงโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ และ ภาวนา ชนะจิต ทั้งคู่โด่งดังมาจากภาพยนตร์ “พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ” ก่อนหน้านี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวงการหนัง ซึ่งนางเอกตายตอนจบ!
“พ่อไก่แจ้” ในนามปากกา “กนกเรขา” เชิด ทรงศรี สร้างเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 2519 นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล และ ทัศน์วรรณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งหนังเรื่องนี้ ถือเป็นอานิสงส์จากหนังเรื่อง “พ่อปลาไหล” ที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ แม้รายได้จะไม่มากเท่าก็ตาม ต่อมา ช่อง 3 ได้ซื้อมาทำเป็นละคร นำแสดงโดย หลุยส์ สก็อต และ จ๊ะ จิตตาภา อีกครั้ง
“อุ้มบุญ” ในปี 2533 ทมยันตีขายพล็อตเพียง 1 หน้า ให้กับสุรางค์ เปรมปรีด์ ช่อง 7 สี ซึ่งต้องการสร้างละครเรื่องนี้ เนื่องจากสังคมตอนนั้น มีปรากฏการณ์ “อุ้มบุญหรือตั้งท้องแทน” เป็นข่าวดัง ทั้งบ่น และปลุกปั่น เขย่าจนบทโทรทัศน์ลงตัว โดย ปราณประมูล นำแสดงโดย “แซม” ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ “ฮันนี่” ภัสสร บุญยเกียรติ
“มณิมนตรา” ละครเรื่องแรกในกลิ่นภารตะของ ดวงตา ตุงคมณี แสดงคู่กับ ภิญโญ ทองเจือ ทางช่อง 9 อสมท. เมื่อปี 2524 เป็นอีกเรื่องที่ขายพล็อต
อื่นๆ .... อีกบางเรื่อง
“พ่อปลาไหล” จากงานของกนกเรขา เชิด ทรงศรี เคยทำเป็นภาพยนตร์มาถึง 2 ครั้ง และเป็นละครโทรทัศน์อีก 4 ครั้ง
“ล่า” ไพรัช กสิวัฒน์ สร้างเมื่อปี 2520 โดยมีผู้กำกับร่วมอีก 2 คนคือ ท่านมุ้ย และเชิด ทรงศรี แสดงโดย สมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์ และ ลลนา สุลาวัลย์ เล่นเป็นลูกที่โดนข่มขืน ก่อนจะมาเป็นละครในปี 2537 ทางช่อง 5 แสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช และเป็นละครเรื่องแรกของ ดญ. ทราย เจริญปุระ มาโด่งดังในปี 2560 จากการแสดงของ หมิว ลลิตา ปัญโญภาส
“ดาวเรือง” ในแนวสนุกสนาน เป็นนวนิยายที่เขียนต่อยอดเพิ่มจากเรื่องสั้น เป็นภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว กำกับการแสดงโดย เสรี วงษ์มณฑา แสดงโดย วีระยุทธ ศิลาภิรัต , ลลนา สุลาวัลย์ นอกนั้นเป็นละครถึง 4 ครั้ง
“พี่เลี้ยง” ทำหนัง 1 ครั้ง ละคร 2 ครั้ง ละครครั้งแรก “ต้อม” รัชนีกร พันธุ์มณี มาเป็นนางเอกเรื่องแรก เช่นเดียวกับ “หมวย” สุภาภรณ์ คำนวณศิลป์ มาเล่นเป็นบทคนดีเป็นเรื่องแรก เมื่อ 2 แรกเจอกันเลยมีเรื่องต้อง “แลก” !
“อย่าลืมฉัน” เป็นภาพยนตร์ 1 ครั้ง ในนาม อัญชลี โปรดักชั่น หรือชื่อจริง – นามสกุลจริงของอรัญญา นามวงศ์คือ อัญชลี ชอบประดิษฐ์ แสดงโดย สมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์ เป็นละครช่องต่างๆอีก 4 ครั้ง แต่หลังสุดที่ทำให้คนรู้จักกันดี เป็นเวอร์ชั่นของ แอน ทองประสม คู่กับติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี
“อดีตา” การเดินทางข้ามภพของอดีต สมัยบางระจัน อยุธยาตอนปลายกับปัจจุบัน สร้างครั้งแรกในปี 2544 แสดงโดย วินัย ไกรบุตร, อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร และทราย เจริญปุระ แส่วนเวอร์ชั่นล่าสุดปี 2559 โดย อ๋อม อรรคพันธ์ นะมาตร์ , ไมค์ ภัทรเดช สงวนความดี, ปุ๊กลุก ฝนทิพย์ วัชรตระกูล เป็นต้น
ขอบคุณภาพบางส่วนจากอินเทอร์เน็ต
ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/
#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์