xs
xsm
sm
md
lg

ปิดตำนานและรวมผลงานของ "สมโพธิ แสงเดือนฉาย" (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : ปิดตำนานและรวมผลงานของ "สมโพธิ แสงเดือนฉาย"



“ด.ช. เล็ก” เด็กวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร จ. สมุทรปราการ มีความฝันอยากสร้างภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ได้แรงบันดาลใจจากรูปการ์ตูนของประยูร จรรยาวงษ์ และหนังเร่ที่มาฉายข้างวัด เจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อจาก “เล็ก” เป็น “สมโพธิ” หมายถึง สัมโพธิญาณ หรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั่นเอง

เขาเริ่มเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ในปี 2505 โดยทำงานในฝ่ายภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารออมสิน ก่อนได้รับทุนไปฝึกงานกับบริษัท “โตโฮ” บริษัทผลิตภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น และร่วมงานกับ "เอจิ ซึบูราญ่า" หัวหน้าแผนกเทคนิคพิเศษของโรงถ่าย ผู้ให้กำเนิด "ก๊อดซิลล่า" เขาได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิคพิเศษต่างๆ มากมาย และนับถือเอจิ ซึบูราญ่า เป็นอาจารย์คนสำคัญของชีวิต

ปี พ.ศ. 2506 เอจิ ซึบูราญ่า ได้ก่อตั้งบริษัทของตนเอง ริเริ่มโครงการสร้าง “อุลตร้าแมน” โดยทีมงานได้ส่งแบบร่างลักษณะของอุลตร้าแมนมาให้เลือกมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นแบบที่พัฒนามาจากรูปพระอัฏฐารส พระพุทธรูปปางเปิดโลกแห่งวัดมหาธาตุ ที่สมโพธินำมาให้ดู ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นต้นแบบของอุลตร้าแมน ออกแบบโดย โทรุ นาริตะ ผู้กำกับศิลป์ของโรงถ่ายโตโฮ

เมื่อกลับเมืองไทย เขาทำงานใกล้ชิดกับ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะช่างภาพของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ปี 2509 และได้ตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ โดยอาจารย์หม่อมเป็นคนตั้งชื่อ “บริษัทไชโยภาพยนตร์” ซึ่งหมายถึง “ชัยชนะ”

อย่างที่ทราบและเป็นข่าว ปี 2563 ภาพยนตร์ 9 เรื่อง ลิขสิทธิ์ได้ตกเป็นของ บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จํากัด ประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ 1. ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ (Giant and Jumbo A) 2. หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (Hanuman and the Seven Ultraman) 3. อุลตร้าแมน 1 'อุลตร้าคิว' (Ultraman 1 'Ultra Q') 4. อุลตร้าแมน 2 (Ultraman 2) 5. อุลตร้าแมนเซเว่น (Ultraman Seven) 6. รีเทิร์นอุลตร้าแมน (Return Ultraman) 7. อุลตร้าแมน เอซ (Ultraman Ace) 8. อุลตร้าแมนทาโร่ (Ultraman Taro) 9. จัมบอร์กเอช (Jumborg Ace)

งานภาพยนตร์ของสมโพธิ แสงเดือนฉาย และไชโยภาพยนตร์ เป็นงานแนวแฟนตาซี ใช้เทคนิคพิเศษ เชิดชูวีรบุรุษผ่านตัวละคร "ซูเปอร์ฮีโร่" เขาได้รับฉายา “เจ้าพ่อสเปเชียลเอฟเฟ็กต์เมืองไทย” หนังส่วนใหญ่มีชื่อเขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง บางเรื่องเป็นผู้กำกับ แต่ส่วนใหญ่จะดูแลด้านเทคนิคต่างๆ มีผลงานเริ่มจากงานโทรทัศน์ก่อนไปทำงานกับญี่ปุ่น และกลับมาทำงานภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

งานประเภทซูเปอร์ฮีโร่ไทยปะทะญี่ปุ่นเด่นชัดในหนัง 4 เรื่องคือ ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ และ หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (2517) และ 10 ปีต่อมา ในปี 2527 สมโพธิ ได้เพิ่ม "เจ้าพ่ออุลตร้าแมน, อุลตร้าแมนเลโอ, อุลตร้าแมนแอสตร้า และอุลตร้าแมนคิง" อีก 4 ตัว รวมกับของเดิมอีก 7 เป็นที่มาของหนังเรื่อง "หนุมานพบ 11 ยอดมนุษย์" ฮีโร่อีกตัวหนึ่ง ปรากฏในหนัง "หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง" ใน ปี 2518

ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ และ หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ ร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

1) “ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ”นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน และ อรัญญา นามวงศ์ เนื้อหาว่า นางจังกล นำเหล่าสัตว์ประหลาดออกอาละวาด หมายจะทำลายโลกให้สิ้นซาก ส่งมนุษย์กลางหาวไปขโมยเพชรสุริยคราสที่วัดอรุณฯ เพื่อนำไปติดตั้งบนดวงจันทร์เพื่อรวมกับพลังแสงอาทิตย์ยิงมายังโลก ยอดมนุษย์จัมโบ้เอจึงต้องร่วมมือกับยักษ์วัดแจ้ง ปะทะนางจังกลกับมนุษย์กลางหาว เพื่อนำเพชรสุริยะคราสกลับคืนสู่วัดอรุณฯ - 7 วันแรกฉายที่โคลีเซี่ยม กวาดรายได้กว่า 1 ล้านบาท หนังเรื่องนี้ได้ไปฉายอีกหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, อิตาลี, เยอรมนี และ อังกฤษ

2) “หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์” ที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้ชื่อแปลไทยว่า “6 พี่น้องอุลตร้าปะทะ กองทัพสัตว์ประหลาด” นำแสดงโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ และภาวนา ชนะจิต เนื้อเรื่องกล่าวถึงเด็กชายโก๊ะที่ถูกโจรตัดเศียรพระยิงตาย เจ้าแม่อุลตร้าเห็นความดี จึงเรียกวิญญาณของหนุมานไปสิงร่างให้มีชีวิตต่อไป วันหนึ่ง การทดลองจรวดของ ดร.วิสุทธิ์ เกิดการผิดพลาด จนทำให้สัตว์ประหลาด 5 ตัวออกอาละวาด หนุมานและเหล่าพี่น้องอุลตร้าทั้งหกจึงต้องไปช่วย - หนังฉายในช่วงปิดเทอม ประสบความสำเร็จทางรายได้เช่นเดียวกับเรื่องแรก หน้าโรงหนังเฉลิมกรุงมีการสร้างหุ่นหนุมานจำลองขนาดใหญ่ตั้งหน้าโรง กวาดรายได้ 2 วันแรกไปกว่า 3 แสนบาท ความสำเร็จนี้ ทำให้ "รัน รัน ชอว์" ประธานบริษัทชอว์บราเดอร์สแห่งฮ่องกง ได้เดินทางมายังประเทศไทย เพื่อติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์หนังไปฉายยังต่างประเทศ ลงนามเซ็นสัญญากันที่โรงแรมดุสิตธานี

อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นไม่เห็นด้วยที่จะเอาตัวละครเอกในวรรณคดีไทยและฮีโร่ของญี่ปุ่นมาพบกัน ทว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลเชิดชูวัฒนธรรมของเอเชีย ในงานประกวดภาพยนตร์เอเชียที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และต่อมา หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ เป็น 1 ในภาพยนตร์ 25 เรื่อง ที่กระทรวงวัฒนธรรมเลือกให้เป็นมรดกของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ประจำปี 2555

3) "หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง" นำแสดงโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ และ ธัญญรัตน์ โลหะนันท์ กล่าวถึง “องค์กรก็อดที่ชั่วร้าย ส่งเหล่าสมุนปีศาจออกอาละวาด จับผู้หญิงสาวสูบเลือดเพื่อเพิ่มพลังให้แก่ คิงดาร์ค ผู้เป็นประมุข เหล่าไรเดอร์ทั้ง 5 ได้เข้ามาขัดขวาง คิงดาร์คจึงบังคับให้ ดร.วิสุทธิ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย สร้างปีศาจค้างคาวที่มีพลังเหนือกว่าเหล่า คาเมนไรเดอร์ จนสำเร็จ วิธีรับมือคือ ต้องรวบรวมพลังระหว่างคาเมนไรเดอร์ทั้ง 5 และเจ้าหนุมานเท่านั้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าเจ้าหนุมานจะปรากฏกายเมื่อใด"

การนำวรรณคดีมาสร้างเรื่องราวจินตนาการ เพ้อฝัน ที่เรียกว่า แฟนตาซี นั้น สมโพธิทำตั้งแต่ปี 2513 เรื่อง "ไกรทอง" ตามด้วยพระอภัยมณีในปี 2514 เรื่องอื่นๆ ที่ไม่สามารถสืบค้นได้คือ ยายกะตา และร้อยป่า ในชีวิตการทำงานของสมโพธิ ได้สร้าง ไกรทอง มาถึง 4 ครั้ง

ภาพยนตร์โทรทัศน์ ไกรทอง เมื่อประสบความสำเร็จในปี 2513 ได้นำฟิล์มเก่ามาตัดต่อใหม่ ฉายในปี 2515 และเปลี่ยนชื่อเป็น "ชาละวัน" ทั้งยังได้ทำสูจิบัตรประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

ภาพนักแสดงไกรทองนี้ เพจ ThaiMoviePosters ได้ระบุนักแสดงดังนี้ “ในรูป ผู้หญิงจากซ้าย มาลาริน บุนนาค (วิมาลา) , จอมใจ จรินทร์ (เลื่อมลายวรรณ) ,ปรีดา จุลละมณฑล (ไกรทอง) , ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี (ตะเภาทอง) และผู้ชายที่นอนคว่ำหน้าคือดามพ์ ดัสกร (ชาละวัน)

ถัดมาในปี 2514 ได้จัดสร้าง “พระอภัยมณี”และ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2536 เป็นพระเอก กำกับการแสดงโดย สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ร่วมด้วยนักแสดงคนอื่นๆ เช่น ปริม ประภาพร (นางเงือก), ปัญญาผล บุญชู (ผีเสื้อสมุทร) , รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ( นางผีเสื้อสมุทร -แปลงกาย) และบัญชา แคล่วคล่อง ( สินสมุทร)

ในช่วงปี 2516- 2528 ไชโยภาพยนตร์มีผลงานทั้งสิ้น 13 เรื่อง เรียงตามลำดับดังนี้

1) ท่าเตียน (2516)
2) 7 วันในปักกิ่ง (2518)
3) ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ (2520)
4) แผ่นดินวิปโยค (2521)
5-6) กากี และ ไกรทอง (2523)
7-8) พระรถเมรี และ จระเข้ (2524)
9-10) จระเข้เถนขวาด และ พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ (2525)
11) ศึกกุมกรรณ ( 2527)
12) ไกรทอง 2 และ กิ้งก่ากายสิทธิ์ (2528)

"ท่าเตียน" คือหนังเรื่องแรกของไชโยภาพยนตร์ ผู้ออกทุนสร้างคือโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นับเป็นการออกทุนให้กับภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ 2 รองจาก “พันท้ายนรสิงห์” ของอัศวินภาพยนตร์ ในปี 2493

ท่าเตียน เรื่องราวของ ท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร มีเรื่องเล่ากันว่า ยักษ์วัดแจ้ง ฝั่งธนบุรี ยกพวกมาตีกับยักษ์วัดโพธิ์ ที่ฝั่งพระนคร ไม่ทราบผลแพ้ชนะ แต่สถานที่พังพินาศไปหมด จึงได้ชื่อว่า "ท่าเตียน" ... ภาพยนตร์ เล่าเรื่องผ่านตัวละครว่า ชบา (สุภัค ลิขิตกุล) ลูกสาวนางพญานาคกับพฤกษาเทวาไปเที่ยววัดแจ้งกับนเรนทร์ (สมบัติ เมทะนี) ชบาเกิดความคิดพิเรนทร์ อยากชวนยักษ์เที่ยว จึงเสกยักษ์ทั้งยักษ์วัดแจ้งและวัดโพธิ์ให้มีตัวเล็กเท่ามนุษย์ เหตุวิวาทเพราะ ขอยืมเงิน อีกฝ่ายไม่ให้เพราะยังไม่จ่ายเงินยืมครั้งก่อน จึงวางมวย ปะทะกัน จนชาวบ้านเดือดร้อน ร้อนถึงชีปะขาวต้องเข้ามาช่วยปราบยักษ์ทั้งสองให้กลับมาทำหน้าที่เฝ้าวัดเหมือนเดิม

หนังที่มีเค้าจากวรรณคดี เนื้อหาจะดำเนินตามต้นฉบับเป็นส่วนใหญ่

"กากี"แสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี (คนธรรพ์) , ทูน หรัญทรัพย์ (พญาครุฑ) , อำภา ภูษิต (กากี) , ส. อาสนจินดา (ท้าวพรหมทัต) , ดามพ์ ดัสกร (โจรสลัด) , และดวงชีวัน โกมลเสน (สนมเอก)

"ไกรทอง" ในปี 2523 เป็นวรรณคดีชาวบ้าน ที่สมโพธิ แสงเดือนฉาย มักนำมาสร้างใหม่หลายครั้ง ในเวอร์ชั่นนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 กำกับการแสดงโดย เนรมิต และ ฉลวย ศรีรัตนา นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี (ไกรทอง), สมบัติ เมทะนี (ชาละวัน) , อรัญญา นามวงศ์ (วิมาลา) , อำภา ภูษิต (ตะเภาแก้ว) , สุพรรษา เนื่องภิรมย์ (ตะเภาทอง) และ ดวงชีวัน โกมลเสน (เลื่อมลายวรรณ) และในปี 2528 "ไกรทอง 2" ก็กลับมาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 โดยทีมสร้างและนักแสดงจากชุดแรก โดยมีตัวละคร "ไอ้เคี่ยม" (จระเข้น้ำเค็ม) แสดงโดย ลักษณ์ อภิชาติ เข้ามาในหนัง

"พระรถเมรี นางสิบสอง" นำแสดงโดย ทูน หิรัญทรัพย์, สุพรรษา เนื่องภิรมย์, อำภา ภูษิต, ดามพ์ ดัสกร, รณ ฤทธิชัย, ดวงชีวัน โกมลเสน, เมตตา รุ่งรัตน์, จันทนา ศิริผล, สีเทา, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ม.ล.รุจิรา อิศรางกูร, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม ฯลฯ งานโฆษณาในใบปิดกล่าวว่า “ชมเทคนิคมหัศจรรย์ระดับโลก! ยักษ์ตัวใหญ่เท่าภูเขากินคนทั้งเมือง! ถิ่นมะงั่วหาว มะนาวโห่!”

"จระเข้เถนขวาด" กำกับการแสดงโดย เนรมิต มาจากตอนหนึ่งในตำนานพื้นบ้านเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี (ขุนแผน) , ทูน หิรัญทรัพย์ (พระไวย) , เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ( ศรีมาลา, ดวงชีวัน โกมลเสน (สร้อยฟ้า) , สีเทา (จระเข้เถนขวาด) , ธนิต พงษ์มนูญ (พลายชุมพล), ส. อาสนจินดา (พระพันวษา) และ ด.ช.สามารถ (จระเข้เณรจิ๋ว)

"ศึกกุมภกรรณ" เป็นตอนที่ 25 ของวรรณคดีเรื่อง "รามเกียรติ์" เป็นครั้งแรกที่สร้างภาพยนตร์ไทยจากโขน หนังเรื่องนี้ เป็น 1 ในภาพยนตร์ 25 เรื่อง ที่กระทรวงวัฒนธรรม เลือกให้เป็นมรดกของชาติ เนื่องในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย ประจำปี 2555

นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์ประเภทอื่นๆ อาทิ

"ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์" กำกับการแสดงโดย สันต์ เปสตันยี นำแสดงโดย ยอดชาย เมฆสุวรรณ, ดวงชีวัน โกมลเสน สร้างพล็อตทำให้เกิด "มนุษย์คอมพิวเตอร์คนแรก" ของไทย มีพลังมหาศาล วิ่งเร็วกว่ารถไฟ ผ่านตัวละคร “ขี้มูกมาก-มือปาม-หูกาง-ตูดแหลม”

"แผ่นดินวิปโยค" อิงเหตุการณ์จริง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. องค์พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ สาเหตุจากฝนตกหนักและเกิดพายุพัดแรงติดต่อกันหลายวัน สร้างความโศกเศร้าต่อพุทธศาสนิกชนสองฝั่งโขงเป็นอย่างมาก สมโพธิ กำกับและอำนวยการสร้าง ใช้เวลาสร้างหนังเรื่องนี้ 2 ปี แสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี และ ปิยะมาศ โมนยะกุล

"จระเข้" ในปี 2524 เขียนบทโทรทัศน์โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์และเทคนิคต่างๆ ภายใต้การร่วมสร้างของหลายชาติ และเหล่านักแสดงหลากหลายเชื้อชาติ หนังเรื่องนี้ ถูกนำไปฉายยังต่างประเทศ ประสบความสำเร็จทำรายได้อย่างมาก นำแสดงโดย นาท ภูวนัย, มานพ อัศวเทพ, มีน วู, เถียน หนี, แองเจลา เวลล์, เคิร์ก วอร์เรน, สมชาย สวามิภักดิ์ และโรเบิร์ต ชาน เล่าเรื่องว่า "อาคม (นาท ภูวนัย) และ มีน (มีน วู) เป็นสองนายแพทย์ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่กรุงเทพ ทั้งคู่ไม่มีเวลาให้ครอบครัวมากนัก จนกระทั่งได้หยุดพักผ่อน จึงพาครอบครัวไปเที่ยวเล่นน้ำทะเลที่พัทยา แต่ปรากฏว่า ลูกสาวและภรรยาของทั้งคู่เกิดจมน้ำหายไป ศพถูกทำร้ายด้วยสัตว์ร้ายขนาดใหญ่ ต่อมาเมื่อปรากฏข่าวทางหนังสือพิมพ์ จึงเชื่อว่าเป็นการกระทำของจระเข้ขนาดใหญ่ที่กลายพันธุ์เป็นจระเข้ยักษ์ เป็นผลมาจากการทดลองระเบิดปรมาณูในมหาสมุทร ทั้งคู่จึงออกตามล่าด้วยความแค้น ด้วยความช่วยเหลือจากชาวประมง (มานพ อัศวเทพ)”

"พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์" นับเป็นหนังอิงประวัติบุคคลสำคัญในสมัยอยุธยา หนังเรื่องนี้ แสดงโดย สมบัติ เมทะนี (พระเจ้าเสือ) , สรพงศ์ ชาตรี (พันท้ายนรสิงห์) ร่วมด้วย อาภาพร กรทิพย์, พิศมัย วิไลศักดิ์, เมตตา รุ่งรัตน์, ส.อาสนจินดา, มานพ อัศวเทพ, สุพรรณ บูรณพิมพ์, สีเทา, จำนงค์ บำเพ็ญทรัพย์ ข้อความในใบปิดโฆษณาระบุว่า "ชม พระเจ้าเสือตามล่าจับช้างป่า โขลงช้างอาละวาดโหดเหี้ยม! ช้างออกลูก บุกทำลายจับเสือโคร่งแม่ลูกฟาดจนเละ ขบวนแห่เรือเอกชัยเข้าคลองโคกขาม หัวเรือหักสะบั้น พันท้ายนรสิงห์ เทพเจ้าผู้ซื่อสัตย์ยอมถวายหัวเพื่อรักษากฎหมาย"

"กิ้งก่ากายสิทธิ์" เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในปี 2528 ของไชโยภาพยนตร์ เป็นหนังแฟนตาซีแนวตลก เค้าโครงเรื่องพูดถึงกิ้งก่าตัวใหญ่ ที่เฝ้าแก้วมณีใต้ฐานพระปรางค์วัดอรุณ แล้วจู่ ๆ แก้วมณีนี้ก็ถูกมนุษย์ต่างดาวมาขโมยเอาไป กิ้งก่ากายสิทธิ์จึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากยักษ์วัดแจ้ง ขณะที่ตัวเองก็ต้องวิ่งไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อหนีการตามล่าของคนที่ต้องการตนไปออกงานวัด โดยจะต้องผจญภัยกับสิ่งต่างๆ เช่น จระเข้กินคน, ฝูงช้างป่ากับเสือ, หมีควายแม่ลูกอ่อน, วิ่งหนีรถไฟ, ยุงยักษ์ และผีโครงกระดูกในถ้ำมหาสมบัติ แสดงโดย เด๋อ ดอกสะเดา, เหี่ยวฟ้า, สีเทา, ล้อต๊อก, ลักษณ์ อภิชาติ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากภาพยนตร์ไทยเริ่มถอยให้กับวิดีโอเทป ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ต่อมาในปี 2545 หนังเรื่องนี้ได้รับการผลิตเป็นวีซีดีจำหน่าย

“7 วันในปักกิ่ง” - ย้อนเหตุการณ์ประวัติศาตร์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเหตุการณ์สำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้จีนกับไทย ซึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกันหันมาเป็นมิตรกัน ยุติความเป็นศัตรู และความไม่เข้าใจต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2492

สมโพธิ แสงเดือนฉาย ตั้งใจทำสารคดีเรื่อง “7 วันในปักกิ่ง” เนื่องจากนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นเจ้านายเก่าผู้มีพระคุณ แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่ได้ฉาย ท่ามกลางกระแสข่าวต่างๆ นานา ว่ากันว่า โดนเซ็นเซอร์!

ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ทางหอภาพยนตร์จัดกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา “45 ปี คึกฤทธิ์เยือนจีน” ด้วยการจัดฉายภาพยนตร์ "ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ เยือนจีน" ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2563 ที่ผ่านมา โดยมี 2 วิทยากรรับเชิญ คือ "เตช บุนนาค" หนึ่งในคณะทำงานที่รัฐบาลไทยส่งให้ไปเจรจาสถาปนาความสัมพันธ์ที่จีน ก่อนหน้าการเดินทางของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต่อมาท่านเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง พ.ศ. 2529 – 2533 และอีกท่านคือ "สุทธิชัย หยุ่น" ผู้ร่วมเดินทางไปในฐานะคณะผู้สื่อข่าวไทย และวันนั้น ในการสนทนายังมีการกล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง "7 วันในปักกิ่ง" ที่สร้างโดย ไชโยภาพยนตร์ ของ สมโพธิ แสงเดือนฉาย ซึ่งมีการจัดทำเป็นโปสเตอร์ออกมาแล้ว และมีผู้ให้ข้อมูลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเซ็นเซอร์ห้ามฉาย ! อย่างไรก็ตาม หลังงานสนทนา หอภาพยนตร์ได้สอบถามเรื่องนี้กับ สมโพธิ แสงเดือนฉายโดยตรง และได้รับข้อมูลว่า ไม่ได้ถูกเซ็นเซอร์ แต่เป็นหนังที่สร้างไม่เสร็จ จึงไม่ได้ออกฉาย

เหล่านี้คืองานภาพยนตร์ และภาพยนตร์โทรทัศน์ของสมโพธิ แสงเดือนฉาย แห่งไชโยภาพยนตร์

ละครออนไลน์ขอแสดงความเสียใจ ในการจากไปของท่านในวัย 80 ปี มา ณ โอกาสนี้

ติดตามทุกข่าวสารเกี่ยวกับละครและวงการบันเทิง ได้ที่
FB : https://www.facebook.com/lakornonlinefan/
ยูทูป : https://www.youtube.com/channel/UCQAR4HLhUFJhx_-rRbaZXGA
IG : https://www.instagram.com/lakorn_online/
TikTok : https://vt.tiktok.com/ZSJCY5xQa/

#ยืนหนึ่งข่าวละคร #ละครออนไลน์

สมโพธิ แสงเดือนฉาย วัย 20 ปี ขณะศึกษาการถ่ายทำและกำกับฯที่ บ. โตโฮ

เอจิ ซึบูราญ่า

ยักษ์วัดแจ้งพบจัมโบ้เอ ปี 2517 (ไชยา สุริยัน-อรัญญา นามวงศ์)

พระ-นาง ไชยา สุริยัน , อรัญญา นามวงศ์ และ ด.ช. สนิท แก้วดี

. ซูเปอร์ฮีโร่ของไทยและญี่ปุ่นจากโชว์การ์ด

หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์  ปี 2517(ยอดชาย เมฆสุวรรณ-ภาวนา ชนะจิต)

ในปี 2527 เพิ่มยอดมนุษย์อีก 4 เป็น หนุมานพบ 11 ยอดมนุษย์

หนุมานพบ 5 ไอ้มดแดง ปี 2518 (ยอดชาย เมฆสุวรรณ-ธัญญารัตน์ โลหะนันท์)

. รัน รัน ชอว์ ประธาน บ. ชอว์ บราเดอร์ส (ฮ่องกง) บินมาขอซื้อลิขสิทธิ์หนังถึงเมืองไทย

ภาพยนตร์โทรทัศน์ ไกรทอง ปี 2513 “ในรูป ผู้หญิงจากซ้าย มาลาริน บุนนาค (วิมาลา) , จอมใจ จรินทร์ (เลื่อมลายวรรณ) ,ปรีดา จุลละมณฑล (ไกรทอง) , ขวัญตา บัวเปลี่ยนสี (ตะเภาทอง) และผู้ชายที่นอนคว่ำหน้าคือดามพ์ ดัสกร (ชาละวัน) - cr. ThaiMoviePosters  

 จากภาพยนตร์โทรทัศน์ มาตัดต่อใหม่ เป็นภาพยนตร์ เรื่อง ชาละวัน

สูจิบัตร หนังเรื่อง ชาละวัน ฉายที่ โรงหนังบรอดเวย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ในภาพยนตร์โทรทัศน์ พระอภัยมณี ( Cr.Sakphubet)

 ปัญญาผล บุญชู ในบท ผีเสื้อสมุทร ( Cr.Sakphubet)

 ท่าเตียน ปี 2516 (สมบัติ เมทะนี-สุภัค ลิขิตกุล)

 โชว์การ์ด ท่าเตียน

ยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์ กับตึกสูงของโรงแรม ดุสิตธานี

กากี ปี 2523 (สรพงษ์ ชาตรี, ทูน หิรัญทรัพย์, อำภา ภูษิต)

ไกรทอง ปี 2523 ถือเป็นครั้งที่ 3 ของไชโยภาพยนตร์ (สมบัติ เมทะนี, สรพงษ์ ชาตรี)

ไกรทอง 2 ปี 2528 เป็นครั้งที่ 4 ใช้นักแสดงเดิม เพิ่มลักษณ์ อภิชาติในบท ไอ้เคี่ยม จระเข้น้ำเค็มเข้ามา

. พระรถเมรี นางสิบสอง  ปี 2524 (ทูน หิรัญทรัพย์, สุพรรษา เนื่องภิรมย์)

จระเข้เถนขวาด  ปี 2525 จาก ขุนช้างขุนแผน (สมบัติ เมทะนี, ทูน หิรัญทรัพย์, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, ดวงชีวัน โกมลเสน)

 ศึกกุมภกรรณ ปี 2527 จากโขนเป็นภาพยนตร์ครั้งแรก

ยอดมนุษย์คอมพิวเตอร์ ปี 2520 (ยอดชาย เมฆสุวรรณ, ดวงชีวัน โกมลเสน)

แผ่นดินวิปโยค ปี 2521 อิงเหตุการณ์พระธาตุพนมถล่ม ปี 2518 (สรพงษ์ ชาตรี, ปิยะมาศ โมนยะกุล)

จระเข้ ปี 2524 (นาท ภูวนัย,มีน วู, มานพ อัศวเทพ)

พระเจ้าเสือ พันท้ายนรสิงห์ ปี 2525 (สมบัติ เมทะนี, สรพงษ์ ชาตรี, อาภาพร กรทิพย์)

 กิ้งก่ากายสิทธิ์ ปี 2528 เรื่องสุดท้ายของไชโยภาพยนตร์ (เด๋อ ดอกสะเดาและผองเพื่อนชาวตลก)

7 วันในปักกิ่ง ปี 2518 ภาพยนตร์สารคดีที่สร้างไม่เสร็จจึงไม่ได้ฉาย ! (ในภาพ มรว. คึกฤทธิ์ และ ประธาน เหมา เจ๋อตง)


กำลังโหลดความคิดเห็น