xs
xsm
sm
md
lg

พรพิรุณ : “ดิฉันเกลียดความสุข” !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ
พรพิรุณ : “ดิฉันเกลียดความสุข” !

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน เวลา 17.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินทร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นางสุคนธ์ พรพิรุณ ณ เมรุ1 ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

นางสุคนธ์ พรพิรุณ (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 – 23 กันยายน พ.ศ. 2563) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พ.ศ. 2561
การแต่งเพลงของครูพรพิรุณ ใช้คำง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต้องแปลอีกชั้นให้ยุ่งยาก แต่ละบทเพลงเข้าถึง คนฟังแล้วเกิดความกินใจ ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงรัก หวาน เศร้า ล้วนมีคติเตือนใจ นอกเหนือจากบทเพลงทั่วไปแล้ว ยังมีเพลงสถาบันต่างๆเป็นจำนวนมาก รวมถึงเพลงในวาระสำคัญของชาติอีกด้วย เช่น เพลง “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2529, เพลง "กาญจนาภิเษก" ในวาระครองราชย์ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2538, เพลง "72 พรรษานวรัชจักรีมหาราชา" เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อ พ.ศ. 2541, เพลง “ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่ง” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547

ครูพรพิรุณ เขียนเพลงมาตั้งแต่อายุ 13ปี (2491) เรื่อยมา จนในปี 2501 เริ่มทำงานกับครูสมาน กาญจนะผลิน และ มาร่วมกับครูเอื้อ แห่งวงสุนทราภรณ์ เมื่อปี 2503 ... นอกเหนือจากการประพันธ์เพลงแล้ว ยังมีความสามารถในการร้องเพลงและเล่นดนตรีอีกด้วย สำหรับคนรุ่นเก่า อาจจะเคยไปนั่งฟังเพลง รับประทานอาหารที่ เมธาวลัย ศรแดง ราชดำเนิน ซึ่งช่วงหนึ่งครูพรพิรุณเคยเห่กล่อมแฟนเพลงอยู่ที่นั่น และยังมีที่อื่นๆ ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง ขนาดเดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ลพบุรี ก็ทำมาแล้ว

“พรพิรุณ” มาจาก ชื่อม้าแข่ง!
ชื่อเดิมคือ “สุคนธ์ กุสุมภ์” ชื่อเล่นว่า “อี๊ด” เกิดที่ราชบุรี พื้นเพตระกูลฝ่ายพ่อเป็นคนโคราช ... ครูอี๊ดเป็นลูกของ พ.อ. (พิเศษ) จรัส กุสุมภ์ และแม่ นางสาคร กุสุมภ์ มีวัดของตระกูลในจังหวัดชื่อ วัดกุสุมภ์ศรัทธาธรรม ที่ตรอกจันทร์ ถนนมิตรภาพ ที่คุณย่าแหน กุสุมภ์ สร้างไว้ เธอต้องโยกย้ายตามพ่อที่เป็นข้าราชการทหาร ผ่านการเรียนหนังสือในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฉะเชิงเทรา เชียงราย อยุธยา จนมาศึกษาต่อที่โรงเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จากนั้นมาจบที่พยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยชั้น1 ที่วิทยาลัยพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถีในปัจจุบัน) ในปี 2498 ประกอบอาชีพพยาบาลพักหนึ่งก่อนลาออกมาประกอบอาชีพอิสระ

ค่านิยมว่า “นักประพันธ์ไส้แห้ง-อาชีพเต้นกินรำกิน” ที่เป็นคำปรามาสจากคนในครอบครัวของเธอ ... “สกุลฉันไม่มีใครเต้นกินรำกิน” !?
หลังจากทำงานแต่งเพลงตั้งแต่อายุ 13 โดยใช้นามปากกาต่างกันไป จนในปี 2501 เมื่อร่วมงานกับครูสมาน กาญจนะผลิน นามปากกา “พรพิรุณ” จึงเกิดขึ้น !

ปกติ วันหยุด ครูสมาน และครูเพลงคนอื่นๆมักจะแวะไปที่สนามม้านางเลิ้ง ชมการแข่งม้านัดสำคัญ บังเอิญว่า ในวันหยุดคราวนั้น ครูสมานต้องไปคุมห้องอัดเสียง เมื่อครูอี๊ดนำเพลงไปให้ ครูสมานบอกว่า วันนี้ม้าจากคอกเคเอสชื่อ “พรพิรุณ” ลงแข่งด้วย ถ้าฝนตก ฝากแทงด้วยเพราะม้าตัวนี้ชอบฝน ครูสมานบอกไปเล่นๆ ไม่คิดว่า ครูอี๊ดจะแทงให้ด้วย และเพลงที่นำไปส่งคราวนั้น ครูสมานใช้นามปากกาผู้แต่งชื่อ “พรพิรุณ” จนภายหลัง สกุลเดิมคือ “กุสุมภ์” ก็ถูกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการเป็น “สุคนธ์ พรพิรุณ” เป็นต้นสกุลตั้งแต่นั้น

ครูอี๊ดเริ่มเขียนเพลงให้ละครคณะพันตรีศิลปะ ต่อมาเขียนให้วงดนตรีคณะโฆษณาสาร ซึ่งมีครูสมพงษ์ ทิพยกลิน เป็นหัวหน้า และวงอื่นๆ เช่น วงวายุบุตรของกองสลาก, วงดนตรีของธนาคารออมสิน ในยุคที่ครูสมาน กาญจนะผลิน เป็นหัวหน้าวง, วงดนตรีสุราบางยี่ขัน ในยุคที่ครูประสงค์ ภาคสุขเป็นหัวหน้า จนสุดท้ายมาแต่งเพลงร่วมกับคณะสุนทราภรณ์ของ ครูเอื้อ สุนทรสนานในปี 2503 บรรดาครูเพลงทั้งหลายที่เธอรู้จัก เธอบอกว่า ครูเอื้อจู้จี้มากกว่าครูท่านอื่นทั้งหมด !

เพลงของครูพรพิรุณ จึงมีทั้งงานเพลงลูกกรุงทั่วไป จนถึงเพลงของสุนทราภรณ์ ยกตัวอย่าง “10 เพลงยอดนิยม” พร้อมเกร็ดเล็กน้อยมาฝากกัน

1.“ขอให้เหมือนเดิม”
ถ้าคุณเป็นคนในวัย 50 ย่อมรู้จักเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ของวงสุนทราภรณ์ เป็นอย่างดี ! เพลงนี้เขียนเมื่อมีอายุ 30 ปี ... ครูพรพิรุณ เล่าว่า ทุกครั้งที่ไปกรมประชาสัมพันธ์ ตอนกลับ ครูเอื้อ สุนทรสนานจะกรุณาไปส่งถึงบ้านแถวราชวัตร ระหว่างนั่งรถกลับบ้านในวันหนึ่ง ปีนั้นคือปี 2508 ครูเอื้อได้ให้ชื่อเพลงและพล็อต บอกให้แต่งเพลงชื่อนี้ให้ที ก็ยังได้ท้วงว่า ชื่อเพลงแสนจะเชย ที่ว่าเชยเพราะคำว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม อาการคงเดิม เป็นภาษาในโรงพยาบาล
ครั้นเมื่อบันทึกเสียงที่กมลสุโกศล ได้ไปฟังแล้ว ปรากฏว่า มีเสียงดนตรีแปลกกว่าทุกเพลง เนื่องจากวันนั้น ทางวงมีงานในช่วงเย็น ต้องแยกวงไปเกือบหมด เหลือเพียงครูสริ ยงยุทธเล่นออแกนเพียงคนเดียว ในภายหลังได้บอกครูเอื้อว่า เพลงนี้จะดังกว่า "ฉันยังคอย" ท่านบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ก็ได้พนันกับท่าน เพลงนี้เริ่มดังระเบิดในปี 2511 ทุกสถานีพบแต่เพลงนี้
เพลงนี้ เธอมอบให้กับครูเอื้อเพื่อเป็นการบูชาครู กลายเป็นเพลงยอดฮิตในช่วงที่ครูเอื้อใกล้เกษียณอายุราชการ

“ก่อนจากกันคืนนั้นสองเรา แนบซบเนาเคล้าคลอพ้อพลอดภิรมย์”...
เพลงนี้ดังมากจนเป็นที่มาของเพลงอื่นๆอีกหลายเพลงที่เข้ามา “โต้ตอบ” !โดยครูเพลงท่านอื่นๆ เช่น ฉันยังเหมือนเดิม (คำร้อง ประเทือง บุญญประพันธ์) โดย ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ, ไม่อยากให้เหมือนเดิม (คำร้อง-ทำนอง พรพิรุณ) โดย รวงทอง ทองลั่นทม, ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม (คำร้อง รังษีรัตน์) โดย บุษยา รังสี, นอกจากนี้เมื่อธานินทร์ อินทรเทพ นำเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” มาร้องใหม่ ก็มีเพลงโต้ตอบ ครูพรพิรุณ เขียนเพลงให้ฝ่ายหญิง ชื่อ “เสียใจฉันเปลี่ยนไปแล้ว” โดย จิตราภรณ์ บุญญขันธ์ “ก่อนจากกันคืนนั้นฉันจำ ถ้วนทุกคำของเธอ เพ้อพร่ำสัญญา” นอกจากนี้ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ นักจัดรายการวิทยุ ยังเขียนเพลงล้อเลียนชื่อ “เซ็งเสียแล้ว” ให้ ศิริพร วงศ์สวัสดิ์ อดีตนักแสดงช่อง4 บางขุนพรหม ขับร้องอีกด้วย
ไม่จบแค่นั้น ต่อมาเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ถูกนำมาดัดแปลงคำร้องและขับร้องใหม่เป็นภาษาอังกฤษโดย ริกซ์ ฮาร์ดี้ (Rick Hardy) ใช้ชื่อเพลงว่า "Our Last Kiss" ต่อมา มิส ราเชล (Miss Rachel) ได้นำมาขับร้องลงบนแผ่นเสียง7นิ้ว สปีด45 ประกบกับเพลง White Lotus ที่ดัดแปลงมาจากเพลงบัวขาว นอกจากนี้ยังมีขอให้เหมือนเดิม เวอร์ชั่นภาษาจีนด้วย !

2.“คิมหันต์พิศวาส”
... “เมื่อคิมหันต์ฉันได้จูบเธอ ต่างพร่ำเพ้อละเมออาลัย พอเหมันต์เธอกลับเปลี่ยนแปลงจางไป ร้าวใจเมื่อไม่มีเธอ” วิทวัส สระทองคำกล่าวว่า “Summer Kisses, Winter Tears ผลงานเพลงของ Elvis Presley เป็น 1 ใน 4 เพลงที่เคยถูกคัดเป็นเพลงประกอบในหนังเรื่อง Flaming Star ที่เอลวิส นำแสดง เข้าฉายในปี 1960 ด้วยเนื้อหาที่เขาตัดพ้อต่อว่า คร่ำครวญหาแต่เธอกับความสุขที่เคยได้รับเมื่อหน้าหนาวที่ผ่านมา แต่หน้าร้อนนี้เธอกลับเปลี่ยนไป แต่สุดท้ายเพลงนี้ถูกคัดออกไป จนหนังฉายไปแล้ว 5 ปี Summer Kisses, Winter Tears จึงถูกนำไปบรรจุลงในอัลบั้มที่ขื่อ Elvis for Everyone! ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 23 ของ Elvis Presley ผลิตในปี 1965 ติดอันดับ 10 ของ The Top Pop Albums chart ในปีนั้น Summer Kisses, Winter Tears ถูกลอกทำนองนำมาใส่เนื้อไทย จากการ ประพันธ์คำร้องของ พรพิรุณ โดยยังคงเนื้อหาของเพลงต้นฉบับเดิม ในชื่อเพลง "คิมหันต์พิศวาส" และมอบให้ ชรินทร์ นันทนาครเป็นผู้ขับร้อง”

3.“รอยมลทิน”
ในยุคช่อง 7 ขาว-ดำ (ช่อง 5 ในปัจจุบัน) คณะละครในยุคนั้นคือ ศรีไทยการละครของเทิ่ง สติเฟื่อง (บรรยงค์ เสนาลักษณ์) ได้นำนวนิยาย “รอยมลทิน” ของทมยันตีมาทำละคร ครูพรพิรุณ ได้แต่งเพลง “รอยมลทิน” เพื่อประกอบละครเรื่องนี้ ละครเรื่องนี้ ฮือฮา ประสบความสำเร็จมาก เพราะเทิ่งได้นำเอา“บุศรา นฤมิตร” ที่มีภาพลักษณ์เรียบร้อยมารับบทหมอนวด ชื่อ”ทม” ต่อมาในปี 2517 “รอยมลทิน” ถูกกรุงเกษมภาพยนตร์นำมาทำเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง กำกับการแสดงโดยครูเนรมิต นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ รุ้งลาวัลย์ ศรีปฏิมากูล
เพลง"รอยมลทิน" ... “โอ้ชีวิตฉันนั้น ด่างพร้อยไปสิ้น” ... เป็นเพลงสะท้อนชีวิตเศร้าของสาวคนหนึ่งที่ชีวิตของเธอต้องแปดเปื้อนราคีด้วยความจำเป็น มีรอยมลทินประทับจิตใจเธอไม่จางหาย เธอเฝ้ารอคนที่จะมาลบรอยมลทินรอยนั้นในใจเธอ ขับร้องโดย รวงทอง ทองลั่นทม คำร้อง-ทำนอง พรพิรุณ เรียบเรียงเสียงประสานโดยครูใหญ่ นภายน

4. “ฉันยังคอย”
เป็นงานเพลงแรกที่พรพิรุณร่วมงานกับสุนทราภรณ์ อัดแผ่นครั้งแรก โดยพรพิรุณ ได้เล่าเกร็ดเพลงนี้ว่า “เพลงนี้ ที่บ่งบอกถึงความเป็นอัจฉริยะของครูเอื้อ ซึ่งครูดำได้เล่าว่า เพลงนี้เกิดจากเสียงของ นกกางเขนที่มาเกาะอยู่ที่ต้นมะขาม และส่งเสียงร้องทุกวันประมาณตีห้าครึ่งที่ริมหน้าต่างห้องของครูเอื้อ ครูเอื้อท่านได้หยิบปากกามาบันทึกเสียงร้องของนกกางเขนเป็นตัวโน้ต (ตี่...ตี...ตี....ติ๊ด...ตี.... .เมื่อยามจะนิทรา...หลับตายังมิลง....)แล้วก็แต่งทำนองจนจบในทันที และได้ส่งไปให้ครูพรพิรุณใส่เนี้อร้อง ซื่งดิฉันมีความประทับใจมากกับเรื่องราวที่ได้รับฟังมา จืงได้นำมาเล่าต่อ...ค่ะ”

5.“ฝนหยาดสุท้าย”
พรพิรุณ เขียนเพลง“ฝนหยาดสุท้าย” เป็นผลงานในอันดับที่ 2 รองจากเพลงแรกคือ “ฉันยังคอย” เพลงนี้เขียนขึ้นจากเรื่องราวของนายแพทย์หนุ่มคนหนึ่งเขาเดินทางจากภาคเหนือเข้ามาอบรมที่กรุงเทพฯ เขาและพรพิรุณได้พบกัน และต่างประทับใจต่อกัน เมื่องานอบรมเสร็จสิ้น แพทย์หนุ่มต้องกลับเมืองเหนือ สัญญาว่า ไม่เกินหน้าฝนจะกลับมาอีกครั้ง แต่ปรากฏว่า คำสัญญานั้นล่องลอยไปกับสายลม เขาแต่งงานไปกับสาวคนอื่นแล้ว หลังเขียนและส่งมอบเนื้อร้องให้ครูเอื้อแล้ว ก็ลาออกจากจากกองดุริยางค์มณฑลทหารบกที่1หลบไปเลียแผลใจทำงานในคลินิกของเพื่อนที่ฝั่งลาวราว 1 ปี พอกลับเมืองไทย ถึงรู้ว่า เพลง "ฝนหยาดสุดท้าย" โด่งดังมาก บุษยา รังสี บันทึกเสียง ... “ฝนหยาดสุดท้าย...หัวใจหวั่นไหวให้ตรม ซ่อนรอยน้ำตาขื่นขม ร้าวระบมสุดที่จะฝืน ถึงคราวจำพราก โศกช้ำ...กล้ำกลืน ฉันนอนซบหมอนสะอื้น ค่ำคืนผวาโศกศัลย์” ต่อมา เพลงนี้มีนักร้องอื่นนอกวงสุนทราภรณ์นำมาบันทึกเสียงใหม่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น ดนุพล แก้วกาญจน์, ดาวใจ ไพจิตร, อรวรรณ เย็นพูนสุข, ศรันย่า ส่งเสริมสวัสดิ์, อรวี สัจจานนท์ เป็นต้น

6.“รางวัลชีวิต”
“พระพุทธองค์ ท่านทรงสอนเรื่องเวรกรรม คนไหนใครทำ กรรมเคยก่อเอาไว้อย่างไร ก่อนนั้น เคยทำกรรมไว้ชาติใด ชาตินี้ต้องได้ รับกรรมที่ทำก่อนนั้น” ... พันเอก ถาวร ช่วยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 7 ขาวดำ)ในขณะนั้น สั่งให้ครูพรพิรุณแต่งเพื่อประกอบละครในชื่อเดียวกันของศรีไทยการละคร และให้ ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ รองนางสาวไทยปี 2508 ขับร้อง

“คุณแป๊ด” ชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ รองนางสาวไทยปีเดียวกับสุทิศา พัฒนุช ซึ่งในปีนั้น จีรนันทน์ เศวตนันทน์ ครองตำแหน่ง “นางสาวไทย” ทั้งสุทิศา และ ชัชฎาภรณ์ ได้เข้าสู่วงการบันเทิงต่อมา คุณแป๊ดมีผลงานการแสดงภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และร้องเพลงจำนวนหนึ่งไม่มากนัก
ต่อมา เธอคือ เจ้าแม่ช่อง 7 สีคนแรก ! คุณแป๊ด แต่งงานกับพ.ท.ชายชาญ เทียนประภาส นายใหญ่ของช่อง 7 สี จนสามีเสียชีวิตจากการถูกลอบยิงจึงได้ลาออกจากช่อง 7 สีแต่บัดนั้น ตามศักดิ์แล้ว คุณแป๊ดคือ พี่สะใภ้ของคุณแดง "สุรางค์ เปรมปรีดิ์" นั่นเอง

เพจ "พร่างเพชรในเกร็ดเพลง" กล่าวว่า
“เพลง"รางวัลชีวิต" เป็นอีกเพลงที่เป็นผลงานประพันธ์ของครูพรพิรุณ เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบละครโทรทัศน์เรื่อง"รางวัลชีวิต" ทางโทรทัศน์ ช่อง 5 (ช่อง 7 ขาวดำ) เป็นเพลงที่มีเนื้อหาให้คติสอนใจพุทธศาสนิกชนได้ดี โดยเน้นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องของกฎแห่งกรรม ซึ่งอาจเห็นผลทันตาในชาตินี้ หรือผูกพันไปยังชาติหน้า เพลง"รางวัลชีวิต" มักถูกนำไปใช้ประกอบการสอนศีลธรรมแก่นักเรียนในโรงเรียน ตลอดจนใช้เป็นส่วนหนึ่งในการอบรมจิตใจในโครงการค่ายเยาวชนต่างๆ คุณชัชฎาภรณ์ รักษนาเวศ ขับร้องเพลงนี้ได้อย่างถึงอารมณ์ ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งดื่มด่ำไปตามเสียงเพลงด้วย”

7.“คนใจมาร”
เพลงนี้ ครูแต่งก่อนเปลี่ยนนามสกุล ครั้งนั้นใช้ชื่อ “สุคนธ์ จุลการ” ในการประพันธ์เพลงนี้ ที่มา
ของเพลง คือ ชีวิตครูเจอแต่เรื่องผิดหวังในความรัก เรื่องรุนแรงในครอบครัวระหว่างครูกับพ่อของลูกชายทำให้เกิดเพลง"คนใจมาร"ขึ้น ครูแต่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2509 ขึ้นต้นเพลงว่า "ต่อให้เธอมาคุกเข่า เฝ้าง้อวิงวอน ฉันไม่ใจอ่อนอภัย..." บันทึกเสียงครั้งแรกโดย วิภาจรีย์ ศรีสวัสดิ์ (ซึ่งไม่มีต้นฉบับในYOUTUBE) และ ดาวใจ ไพจิตร ร้องบันทึกเสียงเป็นคนต่อมา
หมายเหตุ ลูกชายครูพรพิรุณชื่อ บัณฑิตพงศ์ พรพิรุณ

8.“กว่าเราจะรักกันได้”

“กว่าเราจะรักกันได้ สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล” เป็นผลงานในลำดับที่ 1 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลของครูเอื้อ สุนทรสนาน บรมครูแห่งวงการเพลงไทยสากล และผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกประจำปี 2553 โดยทาง เจเอสแอล โกบอล มีเดีย และมูลนิธิสุนทราภรณ์ ได้สร้างสรรค์ละครเวทีฟอร์มยักษ์ บอกเรื่องราวความรักของคนสามคู่ จากบทที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ผสมผสานกับวรรณกรรมยอดนิยม “จุฬาตรีคูณ” นำแสดงโดย บอย-พิษณุ นิ่มสกุล, จ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดม, มิวสิคAF4 –รัชพล แย้มแสง, อี๊ฟ-พุทธิดา ศิระฉายา, สุเมธ องอาจ, ครูอ้วน-มณีนุช เสมรสุต, สุประวัติ ปัทมสูต คลื่นลูกใหม่สุนทราภรณ์ และนักแสดงอีกคับคั่ง แสดงเมื่อวันที่ 21 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2554 เพลง “กว่าเราจะรักกันได้” ผลงานของครูพรพิรุณ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชื่อของละครเรื่องนี้
ครูพรพิรุณ เล่าว่า ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนองเพลงนี้ให้ขณะพบกันที่กรมโฆษณาการ ตอนนั้นวงได้ย้ายไปอยู่ทางเรือนไม้ ติดกับกรมสรรพากร และกำลังเปลี่ยนชื่อกรม จากกรมโฆษณาการเป็นกรมประชาสัมพันธ์ เพลงกว่าเราจะรักกันได้ บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรก โดย “พันธ์พร” นักร้องดาวรุ่งสุนทราภรณ์ในยุคนั้น เพลงนี้โด่งดังพอควรทีเดียว”

9. “รักหนึ่งในดวงใจ”

เพลงนี้แต่งขึ้นในช่วงที่บ้านเมืองร้อนระอุด้วยเกมการเมือง ครูเอื้อบอกว่า สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงขอให้แต่งเพลงปลุกใจรักชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงมาร์ช เพลงนี้จึงเกิดขึ้นโดย ครูพรพิรุณ เป็นผู้ให้คำร้อง บันทึกเสียงครั้งแรกโดย มาริษา อมาตยกุล

10.”ใจชายใจหญิง”
เพลงนี้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ให้ทำนองในจังหวะบีกิน มีเค้าจากโคลงโลกนิติ ตอนที่ว่า “สามวันจากนารีเป็นอื่น” ครูพรพิรุณแต่งคำร้องในครั้งแรก เนื้อร้องไม่ถูกใจครูเอื้อ ติว่า น่าจะเอ่ยเป็นคำพังเพยของโบราณบ้าง ครูพรพิรุณ จึงเปลี่ยนคำขึ้นต้นประโยคใหม่ว่า “ถ้อยพังเพย เปรียบเปรยไว้” แทนเนื้อร้องเดิมที่ว่า “หากความรัก เปรียบดั่งไฟ คงเผาใจให้เป็นเถ้า” เพลงนี้ บันทึกเสียงโดย ธรรมรัตน์ นวะมะรัตน์ และอรณี กานต์โกศล ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับนักร้องทั้งสองเป็นอย่างมาก”

“เพลงชีวิต” – ทมยันตีเขียนชีวิต “พรพิรุณ”

“อี๊ด” เป็นชื่อเล่นของ พรพิรุณ และ ทมยันตี ทั้งคู่สนิทสนม รู้จักกัน และทมยันตีเคยเขียนเสี้ยวชีวิตของนักแต่งเพลงผู้นี้ ผ่านนวนิยายชื่อ “เพลงชีวิต” ... โดยให้ตัวละครชื่อ “เอียด” !

เพลงบทนี้ ขอมอบแด่... หัวใจดวงที่ขาดความรัก และรอคอยว่าเมื่อไหร่จะมีคนรักเราสักคน
ชีวิตของ ‘เอียด’ในนวนิยายอันเสมือนบทเพลงชิ้นเอกของทมยันตีนี้ เป็นเรื่องราวของผู้หญิงที่สู้ชีวิตมาด้วยความอดทน อดกลั้น สร้างชีวิตด้วยน้ำพักน้ำแรง ดำรงชีวิตด้วยน้ำใจอันงดงาม แต่เพลงชีวิตของเธอดุจโดนแต่งแต้มด้วยโชคชะตาที่อาภัพ เธอบอกตนเองเสมอว่า เธอล้มเหลวเพราะ ชอบตีราคาคนอื่นแบบที่หัวใจตนเองคิด แต่ไม่เคยมีใครตีคุณค่า หรือแม้แต่ราคาหัวใจของเธอเลย สำหรับชีวิต ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสมหวัง ก็ล้วนแต่เป็นกำไรของชีวิตเองทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า ความสมหวัง เป็นกำไรทางวัตถุ แต่ความผิดหวัง ล้มเหลว เป็นกำไรทางจิตใจ ซึ่งจำทำให้เราเข้มแข็งขึ้นในกาลต่อไป เพลงชีวิต จึงเป็นบทเรียนยิ่งใหญ่ของลูกผู้หญิงทุกคน “คนที่เคยอยู่ในที่มืดตลอดเวลา จะไม่มีวันลืมมือที่ยื่นดวงเทียนแห่งความหวังให้แก่ตนเลย”

ในปี 2524 นวนิยายเรื่อง “เพลงชีวิต”นี้ เคยเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 9 อสมท. รัชนู บุญชูดวง รับบทเป็น “เอียด” ร่วมด้วยนักแสดงอื่นๆ โกวิท วัฒนกุล, ศักดิ์ รอดริน, จิระวดี อิศรางกูร , สีดา พัวพิมล, อรสา พรหมประทาน ,สุกัญญา นาคสนธิ์

ดิฉันเกลียดความสุข!

ครูพรพิรุณเล่าไว้ในสูจิบัตร “สุนทราภรณ์รำลึก” ครั้งที่ 35 (เพลง พรพิรุณ) วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2539 ที่จัดโดย ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ว่า “ดิฉันผ่านการมีครอบครัว และก็ประสบมรสุมในเวลาต่อมา ความเจ็บปวด ความโกรธแค้น ความเศร้าโศก กลับกลายเป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับดิฉันไปเสียแล้ว
จนกระทั่งทุกวันนี้ ดิฉันยังต้องนำความอบอุ่น ความรักมาชั่งเพื่อเสี่ยงกับความผิดหวังความระทมตรมตรอมว่า ดิฉันเลือกอย่างไหน เพราะค่าที่ดิฉันรักเพลงเป็นชีวิตจิตใจ ดิฉันเลยต้องตอบตัวเองว่า ดิฉันเกลียดความสุข ความสมหวัง เพราะมันเป็นศัตรูตัวร้ายในการเขียนเพลงของดิฉัน เมื่อไหร่มีคนรักจริง ให้ความอบอุ่นดิฉันจริง เมื่อนั้นสมองของดิฉันในด้านการเขียนเพลง จะเหมือนคนที่รับประทานอาหารถูกใจจนอิ่มล้นกระเพาะแล้วเลยทำให้ขี้เกียจ”

ละครออนไลน์ ขอส่งครูพรพิรุณ ด้วยข้อความและเรื่องราวเหล่านี้ ไว้เป็นที่ระลึก !

หมายเหตุ ส่วนหนึ่งของเพลงครูพรพิรุณ มีรู้จักกันดี อาทิ ขอให้เหมือนเดิม , ฝนหยาดสุดท้าย , หาดผาแดง , ถ้าเธอรักฉันก็จะรอ , กว่าจะรักกันได้ , ใจชายใจหญิง , รักที่ต้องมนตรา , ผกากำสรวล , ฉันยังคอย , ฝนเอย , จันทร์เจ้าขา , ยามหทัยต้องมนต์ , ร้อนใจรัก, ผิดด้วยหรือถ้าเราจะรักกัน , น้ำตา เพื่อนใจ , รอยมลทิน, ใครก็ได้ถ้ารักฉันจริง, อดีตรักที่ผาแดง , คิมหันต์พิศวาส , ฉันจะรอเธอที่วังขนาย, อยากรักคนที่พลาดรัก, รางวัลชีวิต , รางวัลของพระเจ้า , บางที, อยากให้เหมือนเมื่อวานนี้ , ไร้อาวรณ์, น้อยใจ, ประชดอารมณ์, เสียแรงคิดถึง, รักหนึ่งในใจ, ราตรีอ่างแก้ว, ราตรีแห่งความรัก, จะเป็นอย่างไรถ้าชายหญิงไม่รักกัน, อะไร,หนุ่มง้อสาวงอน, รำวงม่านทองยองใย, ใครก็ได้ที่รักกันจริง ฯลฯ



ตัวอย่างแผ่นเสียง “ขอให้เหมือนเดิม” สุนทราภรณ์

“Our Last Kiss” โดย Rick Hardy หรือ “ขอให้เหมือนเดิม” ภาคภาษาอังกฤษ

ปกซีดี “ยังคอย” ของชรินทร์ นันทนาคร

ปกหลัง “ยังคอย” มีเพลง“คิมหันต์พิศวาส” ซึ่งมาจากทำนองเพลง “Summer Kisses, Winter Tears ของ Elvis Presley

ปกแผ่นเสียง “รอยมลทิน” ต้นฉบับ รวงทอง ทองลั่นทม

เทิ่ง สติเฟื่อง แห่งศรีไทยการละคร ให้ “บุศรา นฤมิตร” นางเอกบุคลิกเรียบร้อย รับบท “หมอนวด” สู้ชีวิต ทางช่อง 7 (ขาวดำ)

โปสเตอร์หนัง “รอยมลทิน” นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ รุ้งลาวัลย์ ศรีปฏิมากูล

ฝนหยาดสุดท้าย ของ บุษยา รังสี

ปกเทป “รางวัลชีวิต” ของอดีตเจ้าแม่ 7 สี(คนแรก) และรองนางสาวไทยปี 2508 – ชัชฎาภรณ์  รักษนาเวศ

ซีดีเพลง “ดาวใจ ไพจิตร” (ชุด 30 ปีทองชุด3 ของห้างกรุงไทย) มีเพลง คนใจมาร รวมอยู่ด้วย

โปสเตอร์ “กว่าเราจะรักกันได้ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล”

“รักหนึ่งในดวงใจ” ขับร้องโดย มาริษา มาริษา อมาตยกุล เป็นเพลงปลุกใจรักชาติของวงสุนทราภรณ์ตามรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

นวนิยาย “เพลงชีวิต” เรื่องราวของชีวิตครูพรพิรุณ ที่ทมยันตี เพื่อนรัก เขียนให้ !

“สุคนธ์ พรพิรุณ” หรือชื่อจริงในอดีตคือ  “สุคนธ์ กุสุมภ์”  นามสกุล “พรพิรุณ” ครูสมาน กาญจนะผลินตั้งให้จากชื่อม้าจากคอกเคเอสที่ชอบฝนชื่อ “พรพิรุณ” ที่ลงแข่งในสนามม้านางเลิ้ง

รัชนู บุญชูดวง นางเอกละครเรื่อง “เพลงชีวิต” ในปี 2524 ทางช่อง 9 อสมท.


กำลังโหลดความคิดเห็น