xs
xsm
sm
md
lg

หนูอยากกลับบ้าน ! ช่วยหนูด้วย (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปพิเศษ : หนูอยากกลับบ้าน ! ช่วยหนูด้วย



1."แม-เอิว-นัง-ล็อบ-เปอะ-เตีย แปลว่า แม่จ๋า พ่อจ๋า หนูอยากกลับบ้าน"

2.วันนี้ “ตุ๊กตา” ได้รับการรีเมกอีกครั้ง โดย ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น บทโทรทัศน์โดย ภาวิต กำกับการแสดงโดย แดง บูรพา นำแสดงโดย "บูม" กิตตน์ก้อง และ "แม๊กกี้" อาภา ซึ่งยังคงความเป็นละครแนวดรามา ลึกลับ และ คงต้องดูกันว่า การดัดแปลงเรื่องราวให้เหมาะสมกับยุคสมัยนี้จะเป็นอย่างไร... ซึ่ง แรงงานเด็ก ไม่ได้เป็นภาพจำของผู้คนเช่นในยุคก่อน

3."ตุ๊กตา" เรื่องสั้นขนาดยาว 12 บทของ "วาณิช จรุงกิจอนันต์" ตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสารสตรีสารรายสัปดาห์ ระหว่างเดือนสิงหาคม- ธันวาคม ปี 2530 และรวมเล่มครั้งแรกโดย"อู่พิมพ์เพกา" เมื่อปี 2531 และพิมพ์เรื่อยมา ไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง

4.เรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ หัวใจอยู่ที่การสะท้อนปรากฏการณ์ของ “แรงงานเด็ก” ในยุคหนึ่งของสังคมไทย แต่การดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ ก็เพิ่มและดัดแปลงให้มีฉากของของเร้นลับ สยอง ตื่นเต้น เร้าใจ และน่ากลัวผ่านตุ๊กตาที่เด็กหญิงบูรณาเป็นเจ้าของ โยงความน่าตื่นเต้นไปสู่ชีวิตของแรงงานเด็กในโรงงานอับทึบ ... สร้างเรื่องให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งจากอีสาน มาทำงานในโรงงานตุ๊กตาของ "สมร" ที่กำแพงรั้วสูง ตุ๊กตาที่โรงงานนี้ทำขายมีลักษณะเหมือนคนมีชีวิตจริงๆ สุวภาพ ซื้อเป็นของขวัญให้ลูกสาวชื่อ บูรณา จากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ต่อมาลูกสาวมีพฤติกรรมพูดคนเดียว ฝ่ายแม่เข้าใจว่า เป็นตุ๊กตาผีสิง จึงเอาไปทิ้ง พรรษา เด็กในโรงเรียนเดียวกับบูรณาเก็บได้ ทั้งคู่ต่างแย่งชิงเป็นเจ้าของ พันชั่ง ลุงของพรรษา เริ่มเข้ามาคลี่คลายเรื่องต่างๆ จนรู้ว่า โรงงานนี้ใช้แรงงานเด็ก เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ป่วยหนัก และ ส่งกระแสจิตผ่านตุ๊กตาตัวนี้ เพื่อบอกเล่าชีวิตและความรันทดของเธอ สิ่งที่เธอต้องการก่อนสิ้นชีวิตคือ กลับไปหาพ่อแม่ !

5.ตุ๊กตา เวอร์ชั่นแรก ปี 2531 สร้างโดย ดาราวิดีโอ แสดงโดย มยุรา ธนะบุตร : สุวภาพ, นิรุตต์ ศิริจรรยา: พันชั่ง, น้องแป้ง ดญ. กัญญาลักษณ์ บำรุงรัตน์: บูรณา และ น้องอ้วน ดญ.ดวงแข : พรรษา

6.Ost เพลงประกอบละคร "ตุ๊กตา" - "หนูอยากกลับบ้าน ช่วยหนูด้วย..." แต่งเนื้องร้องโดย วิทยา อัมภสุวรรณ ซึ่งมีอาชีพเป็นนักพากษ์, พระเอกละครวิทยุ คณะเกศทิพย์ นอกจากนี้เขายังได้แต่งเพลงที่รู้จักกันดีอีกหลายเพลงเช่น ตำรับรัก, มัสยา, จันทร์ครึ่งดวง ฯลฯ และเพลงที่รู้จักกันดีในหมู่นักชมละครโทรทัศน์ ยุคนั้นคือ อีสา เวอร์ชั่น อภิรดี ภวภูตานนท์ ช่อง 7 สี ที่มีเนื้อร้องว่า ... “ผ่านมา...ผ่านไป หัวใจไม่เคยหยุดพัก”

7.ความเหลื่อมล้ำภายใต้สังคมที่กดทับ ความยากจน การไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน ฯลฯ เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน เหล่านี้กลายเป็นส่วนที่ผลักดันให้เด็กต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันสมควร โดย พ่อแม่ได้ขายเด็กให้กับนายหน้า เพื่อให้เด็กมาทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระของครอบครัวลงไปหนึ่งชีวิต โดยไม่รู้ว่า หนึ่งชีวิตนั้นต้องเผชิญกับกดขี่ ขูดรีด และทุกข์ทรมานเยี่ยงทาสแค่ไหน

8.ความในเรื่อง หน้า 90 ว่า "มีข่าวเกี่ยวกับการทลายโรงงานที่ใช้แรงงานเด็ก อ่านข่าวแล้ว แม้จะรู้สึกสะเทือนใจ แต่เขาก็ไม่ได้แปลกใจนัก การขายลูกเพื่อให้ได้ไปทำงานเป็นสิ่งที่เขาเคยพบในหมู่ผู้คนตามต่างจังหวัด จะโทษพ่อแม่ก็ออกจะลำบาก ลูกใครเขาก็คงจะรัก แต่ความแร้นแค้นลำเค็ญ บางทีมันก็เหลือจะรับ" (พิมพ์ครั้งที่ 6 อู่พิมพ์เพกา เมษายน 2559)

9.ในช่วงปี 2524 มีองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOS เกิดขึ้นเพื่อทำงานในด้านต่างๆเป็นจำนวนมาก ทั้งงานการเมือง งานสิทธิมนุษยชน งานการศึกษา งานการศึกษา งานศาสนา งานสิ่งแวดล้อม งานด้านเด็ก และงานด้านผู้หญิง เป็นต้น ในภาคส่วนเหล่านี้ มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และนักการศึกษาสนใจในปัญหาเฉพาะด้านเกิดขึ้นมาก และหน่วยงานด้านแรงงานเด็ก ในสมัยนั้นมีศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ของมูลนิธิเด็ก (ต่อมาได้แยกเป็นมูลนิธิ ในปี 2539) เช่าสำนักงานอยู่บนถนนพระอาทิตย์ เพื่อรณรงค์และช่วยเหลือด้านสิทธิเด็ก ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ และประสานงานกับหน่วยงานในส่วนอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรณรงค์ บำบัด ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ทั้งยังเป็นตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายให้เด็กอีกด้วย

10.ถ้าย้อนกลับไปดูหนังสือพิมพ์ในช่วงดังกล่าว จะเห็นว่า มีข่าวแรงงานเด็ก และโสเภณีเด็ก ชุกชุมมาก มีการทลายโรงงานต่างๆเพื่อช่วยเด็ก หรือทลายซ่องเพื่อช่วยเด็กผู้หญิง สภาพของเด็กทั้งหลาย จัดว่า แย่ ! บางคนง่อยเปลี้ยก็มีปรากฏ หลังผ่านการช่วยเหลือจากโรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันฟื้นฟูระยะหนึ่งก่อนพาเด็กส่งกลับบ้าน ทั้งแถวอีสาน หรือบนดอยสูงทางภาคเหนือ เรื่องเหล่านี้ Google ช่วยไม่ได้ นอกจากค้นจากหนังสือพิมพ์รายวันในช่วงนั้น

10 พฤษภาคมทุกปี "วันปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ"

แม้จะไม่มีข้อมูล "เคส" หรือ ภาพตัวอย่างโรงงานที่ถูกทลายเพราะใช้แรงงานเด็กในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา แต่ที่พูดถึงมาก คือ โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เพราะเป็นโรงงานผลิตตุ๊กตา แม้จะทิ้งห่างจากนิยายเรื่องนี้ ถึง 5 ปี บางคนยังสับสนว่าเป็นที่เกิดเหตุ ! ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์เป็นโศกนาฏกรรมเรื่องหนึ่งของเมืองไทย พอๆกับเรื่อง "แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่" ปี 2533 , "โป๊ะล่มที่ท่าพรานนก" ปี 2538 ... ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" เพื่อให้เห็นความสำคัญในการป้องกันของการป้องกันอันตราย และดูแลความปลอดภัยของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ

โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 4 อ.สามพราน จ.นครปฐม วันเกิดเหตุ คนงานชาย-หญิง ถูกย่างสด ถึง 188 คน เป็นชาย 17 คน หญิง 171 คน และยังมีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน เหตุเกิดจากการทิ้งก้นบุหรี่ ข้อมูลที่ระบุไว้จากข่าวของ Manager ว่า
1. การก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น เหล็กก่อสร้างไม่ทนไฟ ดังนั้น จึงทำให้อาคารถล่มลงมาอย่างง่ายดายเมื่อโดนความร้อน , ไม่มีบันไดหนีไฟ, ประตูทางออกฉุกเฉินไม่ได้ขนาดมาตรฐาน , จำนวนประตูน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนพนักงาน
2. ช่วงไฟไหม้ ยามแต่ละชั้น ได้ปิดประตูในแต่ละชั้น ด้วยเกรงว่า คนงานจะฉวยสิ่งของออกไปขณะชุลมุน
3. โรงงานแห่งนี้ เคยไฟไหม้มาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งแรก 16 สิงหาคม 2532 เกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อม ไฟลัดวงจร , ครั้งที่ 2 ไฟไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2536 ไหม้ชั้น 2-3 อาคาร 3 สินค้าเสียหาย
4. โศกนาฎกรรม เมื่อ 10 พฤษภาคม ถือว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในภาคอุสาหกรรมของไทย เป็นข่าวไปทั่วโลก



















สยม สังวริบุตร แห่งดีด้า รีเมก “ตุ๊กตา” อีกครั้ง

พิมพ์ครั้งที่ 6

เรื่องย่อ ตอนจบของตุ๊กตา ในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อปี 2531

นักแสดงจาก “ตุ๊กตา” ปี 2531

นักแสดงจาก “ตุ๊กตา” ปี 2531

นักแสดงจาก “ตุ๊กตา” ปี 2531

Ost ตุ๊กตา อยู่ในเทปม้วนนี้

ภาพจากเหตุการณ์โรงงานเคเดอร์

ภาพจากเหตุการณ์โรงงานเคเดอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น