สกู๊ปพิเศษ "คืนความเป็นธรรมให้วันทอง !"
พระสุริยงเทวี ตรัสว่า "ไม่ว่าหญิงหรือชายก็ควรมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน"
วันทอง ว่า "ถ้าวันหนึ่งหญิงกับชายเท่าเทียมกัน เค้าจะลุกขึ้นมายืนด้วยตัวเอง ใช่หรือไม่ เพคะ"
ใหม่ “ดาวิกา” บอกว่า “มันเป็นความคิดที่แปลกใหม่ในสมัยนั้น เพราะสมัยก่อนผู้ชายมีเมียหลายคนเป็นเรื่องปกติ มันคือสิ่งแสดงถึงยศถาบรรดาศักดิ์ แล้วผู้หญิงยุคนั้นก็ต้องยอมรับและเข้าใจ แต่ตัววันทองกลับรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้เธอจึงลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อต่อสู้ และเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง แม้จะต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไปก็ตาม ก็เป็นบทบาทที่ท้าทายมากๆ เพราะใหม่จะต้องรับบทวันทอง ในทุกๆ ช่วงอายุตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เริ่มตั้งท้อง จนเป็นแม่คน แถมฉากดราม่าในเรื่องก็เยอะเหมือนกัน”
ครั้งนี้ .... เหตุผลของนางวันทองคืออะไร !?
ขุนแผน เรื่องเล่าศาลาริมน้ำ
เรื่องราวของ "ขุนช้าง ขุนแผน วันทอง" เป็นเรื่องเล่า ไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ แต่ฉากหลังทั้งหมดนั้น อาจจะมองย้อนถึงยุคสมัยในประวัติศาสตร์อยุธยาได้ ผ่านยุคสมัยจนมาถึงเรื่องที่เพิ่งสร้างในรัตนโกสินทร์ก็มีปรากฏ นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าที่มีกลิ่นอายชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องชาวบ้านที่มีกลิ่นชนชั้นสูงเหมือนเรื่องอื่นๆ
วิถีชาวบ้านมีหลายมิติ สนุกสนาน โปกฮา และสีสันมากมาย ครอบคลุมด้วยเนื้อหาหลายศาสตร์ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น พิชัยสงคราม วางทัพ จับศึก เวทมนตร์ คาถา ไสยศาสตร์ คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม ตลอดจนการใช้ชีวิตของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน เป็นอยู่ หลับนอน รวมถึงเพศรสและชีวิตคู่ของตัวละคร และชาวบ้านในท้องที่ต่างๆ รวมอยู่ด้วย
ในกลอนเสภาเรื่อง "ขุนช้างขุนแผน" ตัวเอกฝ่ายหญิง นอกจากวันทองแล้ว ในเรื่องยังมีเมียรองคนอื่นๆของ “คาสโนวานักรัก” อย่างขุนแผนอีก 4 คนได้แก่ สายทอง (อริศรา วงษ์ชาลี) ,ลาวทอง (เรวิญานันท์ ทาเกิด) , แก้วกิริยา (กรกช แข็งขัน ) และ บัวคลี่ (ลัลณ์ลลิน เตจะสา เวศซ์) ซึ่งผู้หญิงทุกคน ถูกขุนแผน พิชิตและกดขี่ทางเพศมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่เรื่องของ "วันทอง-ขุนแผน-ขุนช้าง" คือ ตัวละครหลักเรื่องนี้ ดังนั้น ผู้หญิงคนอื่น หากต้องการแปรรูปเป็นภาพยนตร์และละครต้องเติมรายละเอียดให้โดดเด่นมีสีสันมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มุมมองในเรื่องการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ จากนิทานเรื่องนี้ มีพูดถึง วิพากษ์วิจารณ์กันบ้าง เพราะ วรรณคดีในอดีตได้ส่งต่อความคิดและความเชื่อของคนไทยมารุ่นแล้ว รุ่นเล่าหลายเรื่องไม่ถูกต้องชอบธรรม ในศตวรรษที่ 21 อย่างปัจจุบัน ความคิด ทฤษฎี และมุมมองใหม่ทางวิชาการ ความรู้เหล่านี้ได้ต่อยอดเปิดแง่มุมใหม่ให้กับการรับรู้ของคน
การตีความเรื่อง "วันทองสองใจ" ก็เป็นส่วนหนึ่งของแง่มุมใหม่นี้! และเคยทำกันมาบ้างแล้ว
คนส่วนใหญ่กล่าวหา กระทบ กระแทก เปรียบเปรยหญิงมากรัก เป็นอย่างตัวละครในวรรณคดีเรียกวันทองบ้าง กากีบ้าง เพราะนางถูกคนโน้นลากไป คนนี้ลากมา กรณี นางวันทอง เมื่อสืบค้น พบว่าเคยให้ความเป็นธรรมแก่นางในทางวิชาการ และผ่านการแสดงละครเวทีมาบ้างแล้ว เรื่องแรกใช้ชื่อ “พิมพิลาไลย” ซึ่ง ชไมพร จตุรภุช รับบท “วิญญาณนางวันทอง” เธอเป็นนักแสดงอาชีพคนเดียวที่ร่วมงานกับคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ละครเวทีร่วมสมัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสีสันวรรณกรรมในระดับอุดมศึกษา กำกับและดัดแปลงบทโดย อ. ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อีกเรื่องคือ “วันทอง เดอะมิวสิคัล” ละครเวทีณ ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก จ.ขอนแก่น ตีความใหม่จากเหตุเรื่องนางวันทองถูกกล่าวหาว่าสองใจ นำแสดงโดย ปุยฝ้าย AF4 และ แม็ค วีรคณิศร์ AF6
นักเล่านิทาน เรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ในสมัยก่อน มักจะเล่ากันที่ศาลาริมน้ำในสมัยอยุธยาตอนไหนสนุก คนชอบก็ขยายหน่อยเพื่อสร้างสีสัน ขยายเรื่องราว เมื่อมีการบันทึกเป็นกลอนเสภาในชั้นหลังจึงมีความหลากหลายมากเป็นเรื่องที่ราชสำนักและชาวบ้านต่างให้ความสนใจในความลื่นไหล มีความเป็นDrama และMass ถูกจริตคนไทยถึงสมัยนี้ นำเรื่องเก่ามาปัดฝุ่น ย้อมสีสันสักหน่อยก็ขายได้ ! ขุนแผน เป็นภาพยนตร์และละครมา ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ในระหว่างปี 2478จนถึงปัจจุบัน
สังคมโบราณ เจ้านาย เสนาอำมาตย์ รวมถึงผู้ชาย และผู้มีอันจะกินทั้งหลายส่วนใหญ่มักจะมีเมียมากกกว่า 1 คนเพราะเป็นการแสดงออกถึงบารมีไว้ประดับยศถาบรรดาศักดิ์ ในวรรณคดีแล้ว หลายเรื่องในอดีตมีเนื้อหาพิลึกพิลั่นมาก ลากไปลากมา โฉบไปโฉบมา ตัวละครรักข้ามสปีซี่ไปหมด คนไปสังวาสกับ ยักษ์, กินรี, เงือก, นางฟ้า ฯลฯ เรื่องแต่งเอาสนุกมากจินตนาการ จะแฟนตาซี มโนแค่ไหนก็ทำได้ เป็นนิยายประโลมโลกย์ หาใช่นิยายแบบเรียลลิสติก สมจริงสมจัง หรือสร้างจากเรื่องจริง
ขุนแผน เซียน “ป้อและล่อ” !
"ขุนแผน" เลื่องชื่อเรื่อง “ป้อและล่อ” มาตั้งแต่สมัยเป็น "สามเณรแก้ว" รู้จักพอที่ไหน ! มีผู้หญิงในฮาเร็มถึง 5 คน ถ้าใครมีมากกว่านี้ เอาตำแหน่ง "คาสโนวา" นี้ไป ไม่ได้เป็นสุภาพบุรุษสง่างาม ดิบดี อะไรมาก ออกจะเป็น“Bad Boy”ด้วยซ้ำไป มือคลำไม่มีหางเป็นต้องมุด ใช้เป่ามนตร์มหาเสน่ห์ ให้ฝ่ายหญิงระทวย ก่อนจะลงเจิมเกมสังวาส ร้อยผู้หญิงไว้อย่างมีจุดหมาย ทั้งยังเกี่ยวข้องกับศาสตร์จอมขมังเวทย์กำกับด้วยเวทมนตร์คาถาและวิธีพิสดาร ไปจนถึงคว้านท้องเมีย เอาลูกมาย่างทำกุมารทองพระเอกถูกกำหนดให้เหนือผู้อื่นด้วยของวิเศษคู่กายเช่น นางโหงพราย, กุมารทอง , ม้าสีหมอก, ดาบฟ้าฟื้น ว่ากันว่าเรื่องนางบัวคลี่ และแก้วกิริยา เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาใหม่ในชั้นหลัง เพราะฉบับ “เก่าแก่” อย่างวัดเกาะ ไม่มี 2 ตัวละครนี้ วิชาด้านไสยศาสตร์ของนิทานเรื่อง ถูกเกจิอาจารย์ทั้งหลายเอามาอ้างเพื่อทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกุมารทอง หรือ สร้างวัตถุมงคลขุนแผนโดยอ้างว่ามีสรรพคุณทางเสน่ห์ต่อเพศตรงข้าม เมตตามหานิยม เป็นต้น ซึ่งพิสูจน์ได้ยาก !
ในชีวิตรักของขุนแผนกับวันทองนั้น ฝ่ายชายสร้างทุกข์ให้แก่นางด้วยมากรักหลายเมีย ผู้หญิง ถูกข่มเหงด้วยอำนาจจากผู้ชาย ! ขุนช้างใช้เงิน-ทรัพย์สินเป็น”อำนาจ” , ขุนแผนใช้ “รูปร่างหน้าตา และมนตรา” พิชิตผู้หญิงแต่ละคน เรื่องเดิมมาจบสมบูรณ์เมื่อวันทองตาย ! ว่าไปแล้ว นิทานต้องการสื่อ “ชีวิตด้านมืด” ของตัวละครทั้งหลายที่ห่อหุ้มด้วยความเป็นมนุษย์ที่มีเรื่อง รัก กิเลส ตัณหา ชักพาให้ทุกตัวละครดำเนินไป และเป็นเหยื่อของชะตากรรม พ่ายแพ้กับอำนาจที่วิ่งเข้ามาครอบงำ
ถ้าทำละครใน “รสเดิม” ไม่ตีความ ไม่คิดมาก ก็จะได้ละครในแนวพีเรียด ร้องเสภาไปตามเรื่อง แต่ปัจจุบันต้องถูกปรุงเพื่อตอบสนองคนดูรุ่นใหม่ ตีไข่ใส่สี มีกรรมวิธีปรุงที่ทันสมัย ต้องให้คนผ่านไปผ่านมาเห็นว่า แกงหม้อนี้อร่อยแน่ ! ไม่ใช่หยิบอะไรยัดใส่เป็นต้มจับฉ่าย ... โดยเฉพาะในบรรดาสาวในฮาเร็มของขุนแผนแสนสะท้านนี้ เป็นเรื่องเด่นถูกจริตคนไทย แม้เรื่องหลักจะกำหนดให้ 1 หญิง 2 ชายยื้อแย่งกันไปมา กระชากลากถูไปบนพื้นกระดานเรือนไม้ , ผู้เล่านิทานต้องการสร้างตัวละคร “ขุนช้าง” เป็นตัวตลก เปรียบเทียบ เสียดสี สร้างความสนุกสนานให้กับเรื่องเท่านั้นเอง
วันทองสองใจจริงหรือ?
เรื่องรักของ “นางพิม-พลายแก้ว” ธรรมดาที่ไหน !?
จริงอยู่ว่า นางพิม ทำอะไรไม่เป็น นอกจากเป็นแฟชั่นนิสต้า มีความงามกระฉูดเด้งนำหน้า เข้าวัดฟังธรรมในเทศกาลสงกรานต์ เจอเณรแก้ว รูปหล่อ จีบปาก จีบคอ ร้องไต่บันไดเสียงเทศน์ “กัณฑ์มัทรี” ไพเราะหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเสกมนตร์กำกับฯลงไปด้วย ได้ผล ถึงขนาดนางพิมเปลื้องสไบสีทับทิมถวายกัณฑ์เทศน์ ถึงขนาดเณรแก้วขอสึกสลัดผ้าเหลือง ไปนัดพบกันที่ไร่ฝ้ายในทันที ก่อนจะย่องเข้าหาตอนดึกเอานางพิมทำเมีย แล้วกลับไปห่มผ้าเหลืองต่อ ! จนเมื่อขุนช้างมาขอเจรจาเข้าทางนางศรีประจัน แม่นางพิม นางพิมก็ให้แม่สื่ออย่างสายทองไปบอก พลายแก้วผ้าเหลืองร้อนจนต้องสึก และขอให้แม่ คือ นางทองประศรี ซึ่งเป็นเกลอเก่าของศรีประจันไปขอนางพิม ทั้งคู่อยู่กินไม่นาน พลายแก้วก็ต้องไปรบที่เชียงของ ปลูกโพธิ์เสี่ยงทายไว้ ฝ่ายขุนช้างได้ทีก็มาบอกว่า พลายแก้วตายแล้ว นางศรีประจันกลัวลูกสาวเป็นม่ายหลวง จะให้ลูกสาวเปลี่ยนมือ ฝ่ายนางพิมก็ตรอมใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ล้มป่วยด้วยห่างเสน่หาจากคนรัก ขรัวตาจู วัดป่าเลไลย์บอก คราวนี้เคราะห์หนักต้องเปลี่ยนชื่อ เป็น “วันทอง” พร้อมยืนยันกับนางสายทองว่า ดูชะตาแล้วพลายแก้วยังอยู่ดี ไม่ถึงเดือนก็จะกลับมา ไม่กลับท้าให้มาเผาวัด
พลายแก้ว ชนะการรบ ได้รับบรรดาศักดิ์ ยกชั้นไพร่เป็น “ขุนแผนแสนสะท้าน” ทั้งคู่มีเรื่องไม่เข้าใจกัน นางลาวทองก็มีปากเสียงเพราะวันทองไม่รับไหว้ ขุนแผนพลาดพลั้งเผลอตบวันทองเข้า ความสัมพันธ์จึงขาดสะบั้น วันทองเข้าห้องไปหมายจะผูกคอตาย นางสายทองช่วยไว้ ขุนแผนไม่ดูดำดูดี พาลาวทองไปหาแม่ทองประศรีที่เมืองกาญจน์ พอหายโกรธแล้วกลับมา ปรากฏว่า ขุนช้างปล้ำนางวันทองทำเมียซะแล้ว
เรื่องดำเนินถึงว่า ขุนแผนกลับมาลักพานางวันทองไปอยู่ด้วย จนตั้งท้องพลายงาม จึงกลับมารับโทษ เพราะเห็นว่าเมียท้องใหญ่ขึ้น ไปมาลำบาก จนนางวันทองคลอดลูก ซึ่งขุนช้างจะฆ่าพลายงาม นางจึงต้องพาลูกไปอยู่กับย่า ต่อมาสองพ่อลูกไปรบชนะที่เชียงใหม่ พลายงามมีเมียสองคือ สร้อยฟ้ากับศรีมาลา ขุนช้างฟ้อง พระพันวษา สั่งประหารชีวิต นางวันทอง ด้วยใจโลเล ไม่ยอมตัดสินใจว่าจะเลือกอยู่กับใคร ? เรื่องพลายงามนี้มีโครงเรื่องคล้ายกับขุนแผน ต่อเติมและขยายความสำเร็จของพ่อมาให้ตัวละครรุ่นลูก
โครงหลักเล่าเรื่องเพียงเท่านี้ แต่มีรายละเอียดซุกซ่อนอยู่ในแต่ละบทเยอะมาก ถ้าจะหยิบมาขยายเป็นบทโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ จะยิ่งสนุกเป็นทวีคูณเหมือนวันนี้ที่ช่องวัน 31 ปรับลุค ขยายพล็อต ให้ "นางวันทอง" บอกเล่าเรื่องราวของเธอ
เรื่องเดิมมาจบที่นางวันทองถูกประหารชีวิต - ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ บทสุดท้ายที่ 36 ว่า " ตั้งแต่เจ้าพระยายมราชเอานางวันทองไปฆ่าที่ตะแลงแกง พระไวยทูลขอโทษนางวันทอง สมเด็จพระพรรษา (ฉบับวัดเกาะ ใช้ชื่อ พระพรรษา ต่างจากพระพันวษาในเสภาอื่นๆ) ประทานโทษนางวันทอง พระไวยกลับไม่ทันฆ่านางวันทอง สมเด็จพระพรรษาทรงช่วยการศพ พระไวยทูลขอลาบวชหน้าไฟ ขุนช้างบวชหางนาคให้นางวันทอง แล้วสมเด็จพระพรรษาให้ขุนแผนออกไปครองเมืองกาญจน์บุรี ขุนแผนก็มอบดาบฟ้าฟื้นไว้กับพระไวย นางแก้วกิริยายอมมอบพลายชุมพลให้นางทองประศรีเลี้ยงไว้ ขุนแผนพานางแก้วกิริยากับลาวทองไปอยู่เมืองกาญจน์บุรี
คาสโนวา เมีย 5 จึงจบลง เหลือเมียเพียง 2 คน ไว้คอยออกงานสังคมด้วยฉะนี้
เมียอีก 4 คนของขุนแผน
ในปัจจุบัน สังคมเปลี่ยนไป ถ้า “มองภาพรวมและผู้หญิง" ในกลอนเสภา "ขุนช้างขุนแผน" ก็ควรได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบพูด วิเคราะห์กัน ไม่ใช่เชื่อกันต่อๆมา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เล่ห์เพทุบาย, การกดขี่เอารัดเอาเปรียบเพศตรงข้าม, ความเหลื่อมล้ำทางเพศระหว่างชาย-หญิง, การสร้างความรุนแรงในครอบครัว เรื่องพวกนี้ แต่ง ฟังเอาสนุกแค่ควรเตือนตนให้ระมัดระวัง ไม่ควรลอกเป็น "แบบอย่าง" เพราะสังคมวันนี้ เชื่อเรื่องความเสมอภาค เท่าเทียมของมนุษย์เป็นพื้นฐาน และไม่เห็นด้วยกับ กฏ ความเชื่อเก่าแบบจารีต ที่กดความเป็นคนไว้
มารู้จักผู้หญิงคนอื่นๆของขุนแผนแบบย่นย่อกัน
สายทอง : นางศรีประจันซื้อตัวมาให้กินนอนกับลูกสาว เพื่อเป็น "พี่เลี้ยงนางพิม" เพราะนางพิมเอาแต่สวยทำอะไรไม่ค่อยเป็น สายทองเป็นแม่สื่อและดูต้นทางให้นางพิม และคอยส่งข่าวให้สามเณรแก้ว เมื่อไปส่งข่าวเรื่องขุนช้างที่กุฏิ เณรแก้วเป่ามนตร์ฉุดผ้าแก้บน เปิดล่าง ขอชมของดีมาแล้ว พลายแก้วได้เป็นเมียเป็นทางการเมื่อตอนขึ้นเรือนนางพิมตอนสึกแล้ว ทุกช่วงวิกฤตชีวิตของนางพิม ก็ได้สายทองคอยดูแล แม้ในวันสุดท้ายที่นางวันทองจากโลกไปด้วยต้องโทษประหารชีวิต
ลาวทอง: ลูกสาววัย 15 ปีของแสนคำแมน กับนางศรีเงินยวง บ้านจอมทอง มีฝีมือในการปักสะดึง เป็นผู้หญิงที่ทำให้ความสัมพันธ์ของขุนแผนกับวันทองแตกสลาย ส่งผลให้ขุนช้างแผ่อิทธิพลทางการเงินเข้าครอบนางศรีประจัน สาว 2 นางเจอกันครั้งแรกก็ด่าทอกัน เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้นางวันทอง คิดจะผูกคอตาย ขุนแผนก็ไม่ใยดี พานางลาวทองไปหาแม่ทองประศรีที่เมืองกาญจนบุรี ทั้งคู่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะขุนแผนรับราชการติดเวร จนลาวทองป่วยหนัก ขุนแผนข้ามจังหวัดไปเยี่ยม ขุนช้างฟ้องพระพันวษาว่า ขุนแผนหนีเวรไปหาเมีย พระพันวษาเลยยึดนางลาวทองไปทำหน้าที่ปักสะดึงในวัง ทั้งคู่ห่างกัน 19 ปี ขุนแผนกับพลายงาม หรือพระไวยไปรบชนะอีกครั้งที่เชียงใหม่ นางลาวทองจึงได้ออกมาอยู่กับขุนแผนร่วมกับนางแก้วกิริยาอีกครั้ง ลูกชายของลาวทองคือ พลายณรงค์
นางแก้วกิริยา: ลูกสาวเจ้าเมืองสุโขทัยที่เอามาขัดดอกกับขุนช้าง เมื่อขุนแผนย่องขึ้นหานางวันทองที่เรือนขุนช้าง บังเอิญเข้าห้องผิด จึง "โอม เพี้ยง" ใส่นาง จนเคลิ้ม ตกเป็นเมียขุนแผนและขุนแผนให้เงินไว้ไถ่ตัวกับขุนช้าง มีลูกด้วยกันกับขุนแผนคนหนึ่งคือ พลายชุมพล เป็นเมียที่อยู่ด้วยกันยาวนานกับ “พระสุรินทฦาชัย”เจ้าเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายของขุนแผน นางแก้วกิริยานี้ ฉบับวัดเกาะไม่มี !
บัวคลี่: ลูกสาวนักเลง หมื่นหาญกับนางสีจันทร์ ขุนแผนดูโหงวเฮ้ง ว่านางจะมีลูกชายคนหัวปี ! ความจริงนิทานเรื่องนี้ ส่งเสริมความเป็นชายมาก ลูกทุกคนของขุนแผนไม่ว่าจะเป็นเมียคนไหน ชายทั้งนั้น เพราะรู้ว่า สังคมสมัยนั้น ถ้าเป็นหญิง คงจะโดนกดขี่บีฑาจากเพศผู้ !
หมื่นหาญเป็นพวกซ่องโจร ไม่ชอบที่ขุนแผนเก่งกว่า จึงบอกลูกสาวให้วางยาขุนแผน และจะหาผัวใหม่ให้ทีหลัง นางโหงพราย ผีที่ขุนแผนเลี้ยงไว้มากระซิบบอก ขุนแผนจึงขอลูกในท้อง เพราะการทำกุมารทองนั้น ผู้เป็นแม่ต้องยกลูกให้จึงจะขลัง ดังนั้น ขุนแผนจึงผ่าท้อง เอาลูกทำกุมารทองในพระอุโบสถ หน้าพระประธาน รุ่งขึ้นปราบพยศหมื่นหาญ แล้วขี่คอกุมารทองกลับเมืองกาญจน์นางบัวคลี่ ฉบับวัดเกาะไม่มี ! เช่นกัน
บรรดาสาวๆของขุนแผนที่มีเป็นตัวเป็นตนก็เท่านี้