Scoop ส่องความรัก... “ออมมา” (แม่ๆ) ในซีรีส์เกาหลีดัง!
โดย AnsurLady
จาก Was it love ถึง It’s okay to be not okay ส่องความรัก... “ออมมา” (แม่ๆ) ในซีรีส์เกาหลีดัง!
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศเดือน “วันแม่แห่งชาติ” เดือนสำคัญสำหรับการระลึกถึงพระคุณแม่ในประเทศไทย จึงชวนมาร่วมส่องแง่มุมความรักของ “ออมมา”เกาหลี ( แม่ ภาษาเกาหลีคือ 엄마 ออม-มา ) คุณแม่ในซีรีส์ที่กำลังออกฉายอยู่ในขณะนี้ว่าสะท้อนมุมมอง “แม่-ลูก” ในสังคมประเทศเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจ “ดูละครแล้วมองย้อนดูตัว”กันอย่างไรได้บ้าง
สำหรับคนเกาหลีแล้ว จะไม่มีการแยกวันพ่อหรือวันแม่เหมือนกับชาวไทย แต่จะให้ความสำคัญกับผู้เป็นพ่อและแม่ในวันเดียว โดยยกให้มี “วันพ่อแม่”(อา บอ อี นัล)เพียงวันเดียว ในทุกวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งในวันนี้ ลูกๆ ในแดนกิมจิก็มีธรรมเนียมปฏิบัติยอดนิยม ด้วยการหาซื้อ “ดอกคาร์เนชั่น” มามอบแทนความรักให้กับบุพการี ตลอดจนหาซื้อของขวัญมามอบให้พ่อแม่ตามกำลังทรัพย์ของลูกๆ แต่ละคน
แม้มองเผินๆ ลักษณะครอบครัวคนเกาหลีจะมีความคล้ายคลึงคนไทยอยู่มาก โดยเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับครอบครัว ในอดีตมีการรวมตัวเป็นครอบครัวใหญ่ จากการยึดหลักคำสอนตามลัทธิ “ขงจื้อ” แต่การได้รับอิทธิพลการใช้ชีวิตตามแบบวัฒนธรรมอเมริกัน ปัจจุบันสังคมจึงมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในเกาหลีใต้ ทำให้รูปแบบของครอบครัวเริ่มยอมรับในความหลากหลาย อาทิ เกิดรูปแบบของครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแต่งงานเป็นครั้งที่สอง หรือเลือกที่จะอยู่คนเดียวไปเลย
ครอบครัวของคนเกาหลีจะให้เกียรติผู้ชายในครอบครัวเป็นใหญ่ โดยเฉพาะผู้เป็นพ่อ หากแต่ในยุคสมัยใหม่อย่างซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง Was it love ที่ออนแอร์ทางช่อง JTBC และ Netflix ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 21.00 น.กลับพยายามถ่ายทอดให้เห็นความสัมพันธ์ของแม่-ลูก ผ่านทัศนคติที่คนในสังคมเกาหลี ซึ่งมีต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
เพราะสำหรับแดนกิมจิแล้ว แม้สภาพสังคมในตอนนี้จะเจริญรุดหน้าไปเพียงไหน แต่ความเหลื่อมล้ำเรื่องการกระจายผลประโยชน์ไปยังกลุ่มผู้หญิง เยาวชน หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ยังมีช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนในกลุ่มนี้อยู่หลายประการ จนกระทั่งรัฐบาลเกาหลีเองมีการออกกฎหมายช่วยเหลือครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อส่งเสริมสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของเด็กในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวให้ดีขึ้น โดยรัฐพยายามจะดูแลสุขภาพแม่และเด็กโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อลดอัตราการทำแท้งหรือการตั้งครรภ์แบบไม่พร้อม อัตราการเกิดในประเทศจะได้เพิ่มจำนวน
ว่ากันว่า หากจะมีลูกสักคนในประเทศเกาหลีใต้นั้น ค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนของบุตรตลอดจนจบการศึกษา จะมากถึงราว 12-20 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งด้วยตัวเลขที่สูงขนาดนี้ ทำให้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน กลายมาเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้หนุ่มสาวชาวเกาหลีเลือกที่จะไม่แต่งงานกันมากขึ้น และส่งผลกระทบให้อัตราการเกิดของประชากรในแดนกิมจิอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำมากกว่าชาติอื่นๆมาก
ดูเผินๆ พล็อตเรื่องของ Was it love อาจดูคล้ายซีรีส์เรื่อง To All The Guys Who loved Me จากพล็อตเด่นที่ว่าด้วยการที่นางเอกถูกมะรุมมะตุ้มรุมรักโดยผู้ชายหลายคน หากแต่โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์สาว โนแอจอง (รับบทโดย ซงจีฮโย)นางเอกใน Was it love กลับถูกวางตัวให้มีมิติการแสดงที่มากกว่าความรักหลายเส้าของหนุ่มสาวทั่วไป เพราะหัวใจของเธอเต็มไปด้วยความรักที่มีให้กับลูกสาวหนึ่งเดียววัย 14 ปี โนฮานี แม้รายรอบตัวเธอจะเต็มไปด้วยความรักมากมายจากชายหนุ่มหล่อ โปรไฟล์ดีมากถึง 4 คน
นับเป็นซีรีส์ที่เน้นปูเส้นเรื่องราวรักโรแมนติกชุลมุนไปพร้อมๆกับการฉายภาพการใช้ชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของนางเอก ผู้ต้องรับบทเป็น “ซิงเกิลมัม” หรือ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวยังสาว ซึ่งในโลกของความจริงที่โหดร้าย ทำให้เธอต้องถูกออกจากมหาวิทยาลัย แม้จะกำลังเรียนอยู่ในปีสุดท้ายแล้วก็ตาม เพราะในสังคมชาวเกาหลีนั้น ยังมีความเข้มงวดอยู่สูงต่อกรณีหญิงโสดตั้งครรรภ์ โดยกฎหมายกำหนดให้ หากหญิงโสดตั้งท้องในวัยเรียนต้องพ้นสภาพทันที และหากอยู่ในวัยทำงานก็ต้องออกจากงาน
หากแต่นางเอกก็เลือกที่จะก้มหน้าก้มตาทำงานหนักเลี้ยงดูลูกสาวเพียงลำพังโดยไม่ยอมคบหาหรือแต่งงานใหม่มากับใครเลยมานานถึง 14 ปี เพราะโนแอจองอุทิศชีวิตของตัวเองในการ “อยู่เพื่อลูก” แม้ตัวเองจะเคยเป็นสาวฮอตที่มีหนุ่มๆ มาหลงรักหลายคนในอดีตก็ตาม แต่เธอก็เลือกที่จะหันมาทุ่มเทชีวิตให้กับการหาเงินและการทำงานเป็นหลัก เพื่อดูแลลูกสาวคนเดียวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด เพราะเธอจะต้องอยู่ท่ามกลางความกดดันของสภาพสังคมเกาหลีใต้ ที่มักมีอคติกับกลุ่มแม่โสดที่มีลูกโดยไม่ผ่านการแต่งงาน
ซีรีส์เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นผ่านฉากที่ลูกสาวของโนแอจองรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในความไม่ยุติธรรมที่แม่ของเธอยอมคุกเข่าขอโทษให้กับพ่อแม่ของเพื่อนคนหนึ่งทันทีที่มีเรื่องกับโนฮานี โดยไม่ยอมสอบถามข้อเท็จจริงจากปากลูกสาวก่อนให้แน่ชัด ซึ่งเผยให้เห็นมุมดราม่าที่น่าเศร้ารวมอยู่ในซีรีส์ด้วย
Was it love จึงเป็นซีรีส์ที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงมุมความรักของคู่แม่ลูกที่แม้ครอบครัวจะมีเพียงแค่สองคนหากแต่ความรักระหว่างแม่ลูกในเรื่องที่มีให้แก่กันกลับเติมเต็มความอบอุ่นแก่หัวใจคนดูให้อิ่มเอมได้ เพราะตัวลูกสาวเองก็อยากช่วยหา “แฟน” ให้กับแม่ของตัวเอง เพราะอยากให้แม่มีความสุขบ้างโดยไม่คำนึงถึงแต่ความสุขของตัวเอง หรือกลัวว่าใครจะมาแย่งความรักจากแม่ไป เหมือนกับเด็กในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวบางคนที่มักจะหวงบุพการีมาก และไม่อยากให้แม่แบ่งปันความรักให้ใคร เพราะมัวแต่มองว่า ตนเองเป็นเด็กที่ “ขาด” จากความไม่สมบูรณ์ในครอบครัวอยู่แล้ว
ต่างกันมากกับบรรยากาศความรักระหว่างแม่-ลูกในซีรีส์สุดฮอตอย่าง It’s okay to not be okay ของช่อง tvN เมื่ออารมณ์ที่สื่อสารกับด้านเปราะบางของคนได้ คือ “ความเศร้า” และ “สัญชาตญาณแห่งความกลัว” ที่ซ่อนอยู่ภายในซีรีส์เรื่องนี้เลยเลือกที่จะนำเสนอด้านที่ไม่สวยงามของการตีความนิยามคำว่า “ครอบครัว” ที่แท้จริง ว่าบางครั้งการมีครอบครัวที่ครบสมบูรณ์ อาจไม่ได้หมายถึง ความรักที่ได้มาจากการมีแค่สมาชิกครอบครัวครบถ้วน พ่อแม่ลูกเท่านั้น หากแต่การได้รับความรัก ความหวังดีและการปกป้องจากคนที่รักเราอย่างแท้จริงต่างหาก คือ สิ่งที่ทุกคนล้วนแสวงหา และคาดหวังจะได้รับจากใครสักคน โดยเฉพาะจากคนที่เรียกได้ว่าเป็น “ผู้ให้กำเนิด” อย่าง พ่อและแม่
นางเอก “โกมุนยอง” ผู้ประสบภาวะทางจิตเวชจากการเป็นคนต่อต้านสังคม เนื่องจากปัญหาในครอบครัว หากแต่เธอเลือกที่จะเดินหน้าเข้าหาปมของตัวเอง เพราะเธอคิดได้ว่า การเผชิญหน้ากับปมในใจของตัวเองต่างหาก ที่อาจจะแก้ปัญหาให้ดีขึ้นจริงๆจากข้างใน ไปพร้อมๆ กับที่เธอได้ค้นพบความหมายของคำว่า “ครอบครัว” จากความรักบริสุทธิ์และการปกป้องเธอด้วยใจจริงของพระเอก “มุนคังแท” และพี่ชายผู้เป็นออทิสติก “มุนซังแท” ซึ่งมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มอบให้เธออย่างแท้จริง
แม้จะเกิดในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยและอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก หากแต่โกมุนยองกลับเกลียดแม่ เพราะแม่รักเธอมากเกินไป และไม่ต้องการให้เธอรักใครนอกจากแม่ แม่ของเธอเลือกที่จะทำลายและทำร้ายทุกชีวิตที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกสาวของตัวเอง เพราะแม่นางเอกรักลูกเสมือนเป็น “สมบัติล้ำค่า”ของตัวเอง จนเลือกที่จะฆ่าทุกคนที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับนางเอก ทุกครั้งที่นางเอกจะมีเพื่อน มักถูกขัดขวางจากแม่ ทำให้ โกมุนยองจำใจต้องร้าย เพื่อป้องกันคนอื่นไม่ให้ถูกทำร้ายจากแม่
ซีรีส์It’s okay to not be okay พยายามให้น้ำหนักไปกับการก้าวข้ามความเจ็บปวดและปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต สอดแทรกผ่านการถ่ายทอดเส้นเรื่อง “ความรักของคนในครอบครัว” ที่สมบูรณ์และดีงามจริงๆแล้วควรเป็นอย่างไรกันแน่
น่าจะเป็นสัญญาณข่าวดีสำหรับแฟนๆ ซีรีส์เรื่องนี้ว่า ปมความเครียดเรื่องแม่ของนางเอกที่หลายคนต่างเดา ต่างลุ้นตอนจบกันมาหลายอีพี อาจกำลังเดินเข้าสู่การปิดฉากที่สวยงาม เหมือนกับการเปรียบเปรยที่แสนย้อนแย้งของชื่อเรียกโรงพยาบาลจิตเวชรื่นรมย์ในเรื่องนี้ อันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน ซึ่งถูกมองว่ามีปัญหาทางจิต ทว่าความหมายของชื่อโรงพยาบาลในภาษาเกาหลีนั้นกลับแปลว่า“โอเค หรือ ไม่เป็นไร”
เพราะท่ามกลางความซับซ้อนทั้งหมดของชีวิตที่ผ่านมาที่ซีรีส์ได้นำเสนอมาตลอด แม้ปมปัญหาหนักหนามากมายของตัวละครทุกตัวล้วนมีปมดราม่าที่มาจากเรื่องราวบอบช้ำภายในครอบครัว หากแต่ในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครก็ตาม บางทีชีวิตอาจจะเป็นเพียงแค่เรื่องง่ายๆ ที่เราเพียงแค่ต้องเรียนรู้ ยอมรับ และเข้าใจว่า ไม่มี “ใคร” หรือ “ครอบครัว” ไหนสมบูรณ์แบบไปซะหมด
It’s okay to not be okay แบบชื่อซีรีส์ซะบ้าง…ตามวัฎจักรชีวิตที่หมุนเวียนไปด้วยสุข-ทุกข์คละเคล้ากันไป ขอเพียงปล่อยวางทุกปัญหาที่เฝ้าแบกไว้ไม่ยอมปล่อยเลือกมองสิ่งดีที่เรามี มากกว่ามัวโฟกัสในสิ่งที่ขาดหาย เพียงเท่านี้ เราทุกคนก็จะใช้ชีวิตแบบเบาสบายขึ้นได้อีกเยอะมากแล้ว
ฉากสุดพีคที่ทิ้งทวนให้ต้องตามลุ้นว่าความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอกจะเดินหน้าต่ออย่างไรภายหลังเกิดปมชวนหน่วงหัวใจว่าแม่ของนางเอกอาจเป็นคนฆ่าแม่ของพระเอกก็เป็นได้