xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 28 ปี "พุ่มพวง ดวงจันทร์" (ตอน 2) แฟชั่นไร่อ้อย! (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รำลึก 28 ปี พุ่มพวง ดวงจันทร์ (ตอน2) แฟชั่นไร่อ้อย!






#28ปีพุ่มพวง #ยุ้ยญาติเยอะ #แฟชั่นไร่อ้อย #เปิดกรุส่องดารา #ละครออนไลน์ #ยืนหนึ่งข่าวละคร


ปี 2536 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ในยุคที่ไพโรจน์ จันทรนิมิ เป็นบรรณาธิการ ต้องการคืนกำไรให้คนอ่านด้วยแฟชั่นหน้า 58-59 (คู่กลาง) ทุกปลายเดือน เดือนละครั้ง โดยอิงคอนเซ็ปต์กับสังคม ดังเช่น "วาเลนไทน์ แต่งงานจานด่วน" แสดงแบบโดย "เบิร์ด" พิทยา ณ ระนอง และ "แอน" วาสนา พูนผล, รำลึก "พฤษภาทมิฬ" แสดงแบบโดย วีนัสมีวรรณ์ และ วัชรเกียรติ บุญภักดี (ฉบับวันที่ 17-23 พฤษภาคม 2536) , เสี้ยวชีวิต "พุ่มพวง ดวงจันทร์" (ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม- 1 สิงหาคม 2536) แสดงแบบโดย จริยา ปรีดากูล หรือ "ยุ้ย ญาติเยอะ" โดยมีกินรีสีรุ้ง ที่เรียกตัวเองว่า "ชมรมดอกไม้แดง" เป็นหางเครื่องจำเป็น

หลังงานพระราชทานเพลิงศพ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ณ วัดทับกระดาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2535 ในปีต่อๆมา ถือเอาวันที่ 13 มิถุนายน เป็นงานประจำปีของวัดที่จะรำลึกถึง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ราชินีลูกทุ่ง โดยจัดให้มีการแสดงดนตรี ในปีแรกๆนั้น เป็นงานที่จัดขึ้นหลายคืน มีวงดนตรี และนักร้องลูกทุ่ง และคนบันเทิงต่างหมุนเวียนผลัดกันมาขึ้นร้องเพลงบนเวที ด้วยระบบแสงสีเสียงตระการตา ผู้คนหนาแน่นมาจากทั่วทุกสารทิศต่างขับรถพาครอบครัว ลูกหลาน มาร่วมสนุกกันที่งานวัด ตลอดสองข้างทาง และบริเวณวัด มีร้านรวงต่างๆมาเปิดร้านกันเป็นแถว ทั้งกิจกรรมร่วมสนุกทั้งหลาย ขนม และอาหารการกิน ตลอดจนการจำหน่ายเทปเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ตลอดจนถึงรูปถ่ายและโปสเตอร์ที่ระลึก

เราใช้งานครบรอบ 1 ปีของพุ่มพวง ดวงจันทร์นี้ เป็นฉากหลังของการถ่ายแฟชั่นชุดนี้
“ยุ้ย ญาติเยอะ” หรือจริยา ปรีดากูล ตอนนั้นอยู่ในสังกัดของ “จี๊ด” สุนทร สุจริตฉันท์ อดีตนักร้อง-นักดนตรีวง รอยัลสไปรท์ส

27 ปีที่แล้ว “ยุ้ย” ตอนที่ถ่ายแฟชั่นชุดนี้ อายุแค่ 15 ปี ! สังคมตอนนั้น รู้จัก “ยุ้ย” ในฐานะผู้ชนะการประกวด คอนเสิร์ตคอนเทสต์ เมื่อตอน 9 ขวบ จากเพลง “คนดังลืมหลังควาย” ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ในการประกวด ต่อมา ได้เป็นศิลปินของค่ายคีตา ออกงานชุดแรกคือ “ญาติเยอะ” ก็เลยเป็นฉายาที่เรียกกันต่อมาว่า “ยุ้ย ญาติเยอะ” ผลงานชุดที่สองคือ “หยดแมะ” นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ทัวร์คอนเสิร์ตกับพุ่มพวง ดวงจันทร์อยู่ระยะหนึ่ง ความที่มีหน้าตาใกล้เคียงกันของทั้งคู่ ถึงขั้นมีข่าวลือว่า “ยุ้ย” คือ ลูกสาวของพุ่มพวง ไปโน่น เหตุนี้กระมัง เลยทำให้ยุ้ยมารับบท “พุ่มพวงวัยเด็ก” ของหนังเรื่อง “รักอาลัย พุ่มพวงดวงจันทร์” ที่แม่เล็ก จิตรหาญควักทุนสร้างเอง โดยมี ทิพวรรณ จันทร์เกตุ แสดงเป็น “พุ่มพวง” ! นอกจากงานหนังแล้ว ยังได้ออกงานเพลง “หนึ่งในดวงใจ” หรือ “ดวงจันทร์ในดวงใจ” จากฝีมือการแต่งเพลงของครูลพ บุรีรัตน์ เพื่อระลึกถึงพุ่มพวง ดวงจันทร์ อีกด้วย !

เมื่อจะเริ่มต้นงานแฟชั่น “สาวไร่อ้อย พุ่มพวง ดวงจันทร์” ในวินาทีนั้น คงจะไม่มีใครเหมาะเท่ากับยุ้ย ญาติเยอะอีกแล้ว เมกอัพอาร์ตติสท์ ทุกคนฟันธงว่าต้องเป็น “พี่ฃวด” มนตรี วัดละเอียด เท่านั้น เพราะพี่ฃวดนอกจากจะเป็นมือแต่งสเปเชี่ยลเอฟเฟ็กต์ที่มีชื่อเสียงของวงการแล้ว ในช่วงนั้น มีผลงาน “แต่งให้เหมือน” ซึ่งเป็นงานโชว์ในนิตยสารลลนา ที่เอาดารา – นางแบบ มาแต่งให้เหมือนคนโน้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา จนได้รับคำกล่าวขาน และบังเอิญว่า ช่วงที่เรากำหนดการทำงาน เป็นจังหวะที่พี่ฃวดมีคิวว่างอยู่ ทั้งนี้แฮร์สไตลิสต์ขึ้นอยู่กับพี่ฃวดเป็นคนจัดการ ซึ่งพี่ฃวดเลือก “เจี๊ยบ” กาญจนพร กมลรัตนโยธิน (ซึ่งปัจจุบัน เธอเปลี่ยนชื่อเป็น จามรินทร์ กมลรัตนโยธิน) ส่วนช่างภาพ ที่เราเลือกมาทำงานแฟชั่นทุกเช็ตคือ “เกด” ลัคณา วิรุณานนท์ งานนี้รัวชัตเตอร์ฟิล์มสไลด์ไปทั้งหมด 17 ม้วน ! ตอนนั้น วงการแฟชั่น นอกจากจะมีงานประเภท "สวยรอดปลอดภัย" ซึ่งเราใช้คอนเซ็ปต์นี้กับแฟชั่นแอด ส่วนที่ต้องอิงกับเรื่องราว เราจะสร้างงานเทคนิคที่นิยมในงานแฟชั่นยุคนั้น คือ ใช้ฟิล์มสไลด์แต่ล้างน้ำยาเนกกาทีฟซึ่งจะได้ภาพที่สีแปลกตา สลับบางม้วนด้วยฟิล์มขาว-ดำ และไม่ใช่แค่งาน “แบบ” เท่านั้น ยังต้องเพิ่มการถ่ายในวิถีอื่นๆ เช่น หางเครื่องหลังเวที , ผู้คนที่มาชมดนตรี ฯลฯ เพื่อนำเอาภาพทั้งหมดนี้มาบอกเล่า บันทึกเหตุการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยฟิล์มทั้งหมด ล้างที่ ไอคิวแล็บ หรือ อิมเมจ ควอลิตี้แล็บ ซึ่งวงการโฆษณารู้จักกันดี

เนื่องจากเป็นงานถ่ายแบบในวิถีชาวบ้าน จึงไม่ต้องไปหยิบยืมเสื้อผ้าจากดีไซเนอร์ที่ไหน ? เสื้อที่เป็นทางการ มีเพียงชุดเดียวที่เราต้องซื้อพร้อมพล็อบคือ เสื้อ - กระโปรง-รองเท้า ถุงเท้า -กระเป๋านักเรียน ก็ได้จากบางลำพู แหล่งชอปชุดนักเรียนใกล้ออฟฟิศ อื่นๆ ที่เผื่อไว้คือ เสื้อผ้าในสไตล์อื่นๆ เช่น เสื้อยืด , หมวก , ผ้าขาวม้า ฯลฯส่วนเสื้อสำหรับช่วงเวทีคอนเสิร์ต ใช้เสื้อจริงของยุ้ย !

ใกล้ถึงวันทำงาน มีเพื่อนฝูงหลายกลุ่ม หลายคนที่ตั้งใจไปเที่ยวงานวัดทับกระดานก็ให้ตามกันไป และใครอยากร่วมสนุกกับงานแฟชั่นเชตนี้ ก็มาร่วมด้วยช่วยกันได้ "ชุด" ! เราจะเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็มีผู้แจ้งความจำนงมาจำนวนหนึ่ง

ตอนเย็น ก่อนเดินทางในช่วงเช้า จึงไปกวาดชุด "นักร้องคาเฟ่" บริเวณแถวซอยบุปผาสวรรค์ ชุดไหนสวยก็กวาด เช่า ไป กวาดแบบ ไม่รู้ "ไซส์" ! วันทำงาน ปรากฏว่า กินรีทั้ง 5 คน ซึ่งได้แก่ อุ๊บ วิริยะ , ป้าจอย, โหน่ง วิทยา, เจสด้า และ นก ลูกสาวของอุ๊บ วิริยะ แต่ "ชุด" ที่กวาดไปนั้น ใส่หน้า ... ปริหลัง ! รูดซิปไม่ได้สักคน ก็เลยต้องแก้ปัญหาแค่โชว์ด้านหน้าอย่างเดียว คนใส่ได้ทุกชุด หุ่นดี ! มีคนเดียว คือ โหน่ง วิทยา สุภากิจ (สไตลิสต์ ผู้ล่วงลับ)

เหล่ากินรีสีรุ้ง เรียกตัวเองในคราวนั้นว่า “ชมรมดอกไม้แดง” นั้น มีภารกิจหนึ่งคือ ต้องร่วมเข้าฉากถ่ายภาพร่วม ทั้งในส่วนที่มีฉากหลังเป็นไร่อ้อย และบนเวทีคอนเสิร์ต

ออกเดินทางกันแต่เช้า ! พี่ฃวดเอารถไปเอง เจ๊อุ๊บเอารถไปเอง ทีมงานขนทุกสิ่งอย่างไปรถตู้ นัดเจอกันที่สุพรรณบุรี โดยนางแบบ "ยุ้ย" ไปเจอกันที่นั่นเหมือนกัน! โดยเปิดห้องพักไว้ 1 ห้อง สำหรับเก็บข้าวของ อาบน้ำ แต่งตัวของทีมงาน

โลเกชั่น เริ่มจาก ป่าอ้อย หลังโรงเรียนวัดทับกระดาน !, ข้างทางต่างๆ , งานวัด และเวทีคอนเสิร์ต โดยส่วนของเวทีคอนเสิร์ต พวกเราเจิมก่อนเช็ตหนึ่ง และจะตามเก็บบรรยากาศในช่วงงานจริงในตอนค่ำอีก 1 เช็ต เพื่อนำมาประกอบ ตลอดการทำงานหลายชั่วโมง มีแต่ "เสียงฮา" ไม่หยุด !

และเมื่อเสร็จจากการเก็บรูปคืนนั้นแล้ว แวะ กิน เที่ยว แถบตัวเมืองสุพรรณบุรี ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ภาพชุดนี้ ตีพิมพ์เมื่อ 26 กรกฎาคม- 1 สิงหาคม 2536 ยังดี วจีจันทร์ (กวี ผู้ล่วงลับ) ได้เขียนบทกวี ประกอบ

เปาะแปะร่วงหล่นบนใบไม้
เปาะแปะร่วงลงใจสะอาดขาว
เปาะแปะทั่วป่าฉ่ำดั่งแววดาว
เปาะแปะทั่วกายพราวดั่งวาวเดือน
เปาะแปะบนใบอ้อยนับร้อยหยาด
คือพลังธรรมชาติที่ขับเคลื่อน
เหมือนมนต์เพลงลูกทุ่งไม่ลบเลือน
สาวจึงเหมือนต้องมนต์จนฝันไกล
ตัดสินใจทิ้งทุ่งตอนรุ่งสาง
จำใจห่างน้องนุ่งสู่เมืองใหญ่
สมบัติเพียงเส้นเสียงเพียงดวงใจ
พร้อมจะฝ่าผองภัยไปเป็นดาว
เปาะแปะร่วงหล่นบนทางเท้า
เป็นอีกเช้าวันหนึ่งซึ่งเหน็บหนาว
ไมเคิลแจ๊กสันดังเกรียวกราว
สาวไร่อ้อยกลับฮึกห้าวและก้าวชน !

นี่คือ ความหลังที่ยังพอจำได้เมื่อ 27 ปีที่แล้วที่วัดทับกระดาน ! ที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อการรำลึกถึงพุ่มพวง ดวงจันทร์ในปีนี้

ภาคผนวก


เรื่องย่อ “ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์”


เค้าโรงเรื่อง : ดัดแปลงจากชีวประวัติพุ่มพวง ดวงจันทร์
บทโทรทัศน์ : สรรพชัย เกิดอุทัย
กำกับการแสดง : บุรณี รัชไชยบุญ
แนวละคร : ดรามา
ผลิต : บ. เจ.อส.แอล. จำกัด
วันเวลาออกอากาศ : ปี 2542 ทางช่อง 7 สี
ที่มา : ละครออนไลน์ พิมพ์ - คัดลอกจาก "นิตยสารอัลบั้มชีวิตดารา" ปีที่ 7 ฉบับที่ 192 วันที่ 25 ก.พ. - 4 มี.ค. 2542

เรื่องย่อ

ผึ้ง หรือรําพึง จิตรหาญ (ด.ญ.บิสมิลลา นานา) เด็กหญิงวัยไม่ถึงสิบปี ลูกสาวคนที่ 5 ของครอบครัว พ่อสําราญ(จรัล มโนเพ็ชร) และ แม่เล็ก (ฉันทนา กิติยพันธ์) ที่มีลูกมากถึง 12 คน ความยากจนข้นแค้นทําให้เธอตัดสินใจเลิกเรียนหนังสือตั้งแต่ ป.2 เพื่อเปิดโอกาสให้พี่ๆ ได้เรียนหนังสือ ให้คนในครอบครัวได้อิ่มท้อง ด้วยรายได้เพียงเล็กน้อยที่เธอกรำแดดตัดอ้อยอย่างเหน็ดเหนื่อย วันแล้ววันเล่า....

ความเป็นพระเอกโขนเก่าของพ่อ และน้ำเสียงเอื้อนที่มีกังวานใสของแม่ ล้วนมีผลตกทอดแก่ลูกๆ ทั้งอํานาจ รําพึงและน้องๆ บางคน ต่างสืบสายเลือดศิลปินมาจากพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว วัยเด็ก... อํานาจและรําพึงจับคู่กันเดินสายประกวดร้องเพลงตามงานวัดงานบุญที่จัดขึ้นที่บ้านดอนตําลึงและละแวกใกล้เคียง ได้ที่หนึ่งและที่สองสลับกันไปจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งนอกจากการประกวดร้องเพลงจะทําให้อํานาจและรําพึงมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ มาจุนเจือครอบครัวแล้ว รําพึงยังไปรับจ้างร้องเพลงตามไร่อ้อยให้คนงานฟังหลังงานเลิกอีกด้วย ซึ่งเพลงส่วนใหญ่ที่รําพึงร้องนั้น เป็นเพลงของนักร้องสาวชื่อดัง ผ่องศรี วรนุช และขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงพื้นเมือง ขวัญใจชาวสุพรรณบุรีนั่นเอง

วันหนึ่งวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ (รอง เค้ามูลคดี) เดินสายมาแสดงที่บางปลาม้า สุพรรณบุรี สําราญและแม่เล็กได้พารําพึงไปฝากฝังกับครูไวพจน์เพื่อให้ฝึกเป็นนักร้อง ไวพจน์เห็นแววความสามารถของรําพึงจึงยอมรับเข้าวงและรับเป็นลูกบุญธรรมด้วย

รําพึง(รชนีกร พันธุ์มณี) เดินสายไปกับวงของไวพจน์เรื่อยมา แต่ยังไม่ได้เป็นนักร้องเสียที จนกระทั่งวันหนึ่งมีหางเครื่องป่วย เธอจึงรับอาสาขอไวพจน์ขึ้นไปเต้นหางเครื่องแทน ด้วยลีลาการเต้นที่สนุกสนาน ไวพจน์จึงเมตตาให้เธอเป็นหางเครื่อง และขึ้นร้องเพลงช่วงหัวค่ำ ก่อนนักร้องชื่อดังจะขึ้นเวทีทุกๆ ครั้ง ความฝันที่จะเป็นนักร้องของเธอจึงใกล้เข้ามาทุกที ต่อมาไวพจน์ได้แต่งเพลง “แก้วรอพี่” ให้รําพึงเพื่อหวังปั้นให้เป็นนักร้องหน้าใหม่ ร้องบันทึกแผ่นเสียง พร้อมตั้งชื่อใหม่ให้รําพึงว่า “น้ำผึ้ง แก้วสุพรรณ”

การทํางานในห้องบันทึกเสียงเริ่มสร้างความหนักใจให้ไวพจน์ เพราะรําพึงไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้เลย ไวพจน์จึงใช้วิธีอ่านและร้องให้ฟัง แต่ไวพจน์ก็ต้องประหลาดใจและทึ่งกับลูกสาวบุญธรรมคนนี้มาก เพราะฟังแค่เที่ยวสองเที่ยว รําพึงก็สามารถร้องตามได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน แถมน้ำเสียงและลีลาการร้อง การเอื้อน ยังจับใจน่าฟังยิ่งนัก

ไวพจน์เริ่มสร้างชื่อเสียงให้น้ำผึ้ง เพชรสุพรรณ ด้วยการวางแผ่นเสียง “แก้วรอพี่” ตามสถานีวิทยุกระจายเสียงภาคต่างๆ และทันทีที่เพลงแก้วรอพี่ถูกเปิด แฟนเพลงทางวิทยุต่างๆ ประทับใจและจดจําชื่อของ “น้ำผึ้ง เพชรสุพรรณ” ไว้ในฐานะนักร้องสาวคนใหม่

ขณะที่น้ำผึ้งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น เธอได้ใกล้ชิดและมีความรู้สึกพิเศษกับนักดนตรีเป่าแซกโซโฟนนามว่า “ธีระพล แสนสุข” (วรวุฒิ นิยมทรัพย์) ซึ่งเพิ่งเลิกกับภรรยา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนไวพจน์เรียกทั้งสองมาตักเตือน ด้วยเห็นว่าน้ำผึ้งยังเด็กนักยังไม่ถึงเวลาที่จะมีคู่ แต่ที่สุด ธีระพลก็พาน้ำผึ้งหนีออกไปจากวงไวพจน์ สร้างความเสียใจให้แก่ไวพจน์มาก

ธีระพลพาน้ำผึ้งมาฝากฝังกับ ครูมนต์ เมืองเหนือ (ธรรมศักดิ์ สุริยน) ครูเพลงชื่อดัง เพื่อให้ช่วยส่งเสริม แต่ครูมนต์ไม่อยากผิดใจกับไวพจน์ ธีระพลและน้ำผึ้งจึงต้องไปกราบขอขมาพ่อไวพจน์และขอลามาอยู่กับครูมนต์ ครูมนต์จึงยอมรับน้ำผึ้งไว้ และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ซึ่งในตอนแรกเธอไม่ชอบชื่อนี้เลย บ่นว่ามีทั้ง “พุ่ม” ทั้ง “พวง” แต่เธอต้องยอมรับ

ครูมนต์จัดหานักแต่งเพลงมือดีในวงการมาแต่งเพลงให้พุ่มพวงหลายเพลง อย่างเช่นเพลง “ความรักเหมือนยาขม” หรือเพลง “อกสาวเหนือสะอื้น” ซึ่งแต่งโดยธีระพล แฟนหนุ่มของเธอนั่นเอง และเพลงนี้ก็ได้ทําให้ชื่อเสียงของพุ่มพวง ดวงจันทร์โด่งดัง ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคําพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2521 ชื่อเสียงของพุ่มพวงมีมากขึ้นเรื่อยๆ อํานาจปรึกษากับแม่เล็กว่าจะตั้งวงดนตรีเอง โดยมีธีระพลเป็นผู้จัดการวง แม่เล็กเห็นดีด้วย ตัดสินใจขายที่ดินที่ชัยนาท เพื่อรวบรวมเงินเป็นทุนตั้งวงดนตรี “พุ่มพวง ดวงจันทร์” โดยพ่อแม่พี่น้องของพุ่มพวงได้เข้ามาร่วมทํางานในวงตามหน้าที่ต่างๆ

วงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ เดินสายให้ความบันเทิงแก่แฟนเพลงทั่วทุกภาคของเมืองไทย ได้กําไรบ้าง ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ในที่สุดก็ไม่ประสบความสําเร็จด้านรายได้ ถึงแม้เพลงของพุ่มพวงจะดังและไพเราะจริง แต่นักร้องอย่างพุ่มพวงยังไม่สวยพอที่จะดึงดูดแฟนเพลงได้ สุดท้ายวงก็ต้องเลิกในที่สุด

พุ่มพวงได้เข้ามาอยู่กับหมอเอื้ออารีย์ ในสังกัดเสกสรรเทป โดยมี ประจวบ จําปาทอง เป็นผู้สนับสนุน มีการจับคู่ให้ร้องเพลงกับ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง, ขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด, เสรี รุ่งสว่าง นายห้างใหญ่ประจวบสร้างชื่อเสียงให้พุ่มพวงขึ้นมาอีกระดับหนึ่งด้วยการเปิดวง “เสรี-พุ่มพวง” ให้ออกเดินสายคู่กัน วางแผนโปรโมตให้พุ่มพวงได้ออกโทรทัศน์รายการสด “ชุมทางคนเด่น” ของห้างกวนอิม ทางช่อง 7 ซึ่งเป็นรายการประกวดนักร้องลูกทุ่ง และมีการนํานักร้องที่มีชื่อเสียงมาร้องเพลงก่อนที่จะมีการประกวด เพลงเด่นๆ ของเธอในช่วงนี้ก็คือเพลง สวยบริสุทธิ์, เสียสาวเมื่ออยู่ ม.ศ. และ พรุ่งนี้ฉันจะเป็นสาว เส้นทางชีวิตของพุ่มพวงทําท่าจะราบรื่นแต่ก็ต้องหยุดชะงัก เมื่อวงดนตรี เสรี-พุ่มพวง ต้องปิดตัวเองลงหลังจากที่หมอเอื้อเสียชีวิตไม่นานนัก ธีระพลพยายามตั้งวงดนตรีขึ้นมาใหม่

ปี พ.ศ. 2524 ธีระพล และ เชิดศักดิ์ เปลี่ยนศรี ได้พาพุ่มพวงเข้าสู่สังกัดอโซน่า ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งวงการ ที่นี่ทําให้เธอมีพัฒนาการทั้งด้านการร้อง บุคลิก ลีลา รวมทั้งการโปรโมชั่นที่ดี ผลงานเพลงที่คุ้นหูได้แก่เพลง จะให้รอ พ.ศ.ไหน, แฟนพุ่มพวง, ดาวเรืองดาวโรย, สาวนาสั่งแฟน และ คนดังลืมหลังควาย ช่วงนี้ชีวิตของพุ่มพวงรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้ง ทั้งยังได้รับการติดต่อให้แสดงภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “สงครามเพลง, ผ่าโลกบันเทิง” ชีวิตความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกัน ชีวิตรักของเธอกลับล้มเหลวลงเรื่อยๆ ธีระพลเริ่มใช้เงินฟุ่มเฟือย ปรนเปรอหญิง ติดดาราหนัง ทุ่มเทเงินทองให้สาวๆ ไม่อั้น พุ่มพวงรับรู้เรื่องราวมาโดยตลอด ในที่สุดเธอตัดสินใจแยกทางเดินกับธีระพล แต่ยังให้ธีระพลเป็นผู้จัดการวง

พุ่มพวงใช้ชีวิตในเส้นทางบันเทิงอย่างโดดเดี่ยว มีชายหนุ่มมาติดพันบ้างตามประสา แต่เธอก็ยังไม่ตกลงปลงใจกับใคร ธีระพลมีปากเสียงกับพุ่มพวงเมื่อพุ่มพวงเอ่ยปากขอหย่า เขาขู่ว่าจะประจานเรื่องของเธอให้หนังสือพิมพ์ได้รับรู้ แม่เล็กเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหา ธีระพลเอ่ยปากขอ สลักจิต (สุกัญญา วรวิทย์) เป็นเมีย และหวังปั้นให้เป็นนักร้องแทนพุ่มพวง สลักจิตจํายอมเพื่อให้พี่สาวเป็นอิสระ และเพื่อให้คนในครอบครัวของเธอได้มีรายได้จากวงดนตรีของธีระพล

วันหนึ่ง พุ่มพวงได้รับเชิญไปร้องเพลงที่หัวหิน ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ มีศิลปินและดารามากมายที่ได้รับเชิญไปในงานวันนั้น ในงานนี้ ดาราหนุ่มรูปหล่อ ไกรสร แสงอนันต์ (ธีรเดช วงศ์ พัวพันธ์) ก็ถูกเชิญไปปรากฏตัวเป็นดารารับเชิญด้วย พุ่มพวงได้พบไกรสรครั้งแรกในงานนี้ ไกรสรรู้สึกทึ่งในความสามารถของพุ่มพวง ทั้งที่เมื่อแรกรู้สึกไม่พอใจนิดๆ ที่พุ่มพวงมาช้า

ต่อมาเพลง “สาวนาสั่งแฟน” ของพุ่มพวงดังมาก รังสี ทัศนพยัคฆ์ จึงสร้างภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักนักเพลง” ให้ไกรสรแสดงคู่กับพุ่มพวง ทั้งคู่จึงเริ่มใกล้ชิดสนิทสนมกัน และเกิดเป็นความรักความสงสารอย่างจริงใจของไกรสรที่มีต่อพุ่มพวง พุ่มพวงเริ่มเปิดใจยอมรับเขามากขึ้น หลังจากภาพยนตร์เสร็จสิ้น ความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งคู่ยังมีอยู่ แม้ว่าไกรสรจะมีผู้หญิงมากหน้าหลายตามาให้ความสนใจ เนื่องจากรูปร่างหน้าตาและความรูปหล่อของเขา แต่ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง ไกรสรจะตามพุ่มพวงไปเวทีแสดงทุกครั้ง ที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยจัดพิธีผูกข้อไม้ข้อมือ ประกาศให้รับรู้เฉพาะในหมู่ญาติ

และเมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันสักพัก พุ่มพวงก็ขอร้องให้ไกรสรหยุดรับงานแสดง แล้วหันมาเป็นผู้จัดการส่วนตัว คอยรับงานและจัดคิวดูแลทุกๆ อย่างให้กับเธอ ไกรสรได้เข้ามาจัดการเรื่องงานให้พุ่มพวงเต็มที่ และใช้ความสามารถในการจัดการทางด้านธุรกิจที่มีเขาปกป้องและดูแลผลประโยชน์ให้กับพุ่มพวงตามที่เธอควรจะได้รับอย่างยุติธรรม ไกรสรได้นําพาชีวิตของพุ่มพวงให้ก้าวขึ้นไปสู่สังคมอีกระดับหนึ่ง เขาสอนให้เธอรู้จักเข้าสังคม รู้จักวางตัวในสังคม พัฒนาการร้องและการแต่งเนื้อแต่งตัวมากขึ้นไปอีก ได้รู้จักกับ ครูลพ บุรีรัตน์ (ญาณี ตราโมท) นักแต่งเพลงฝีมือดี ได้ทําเพลง ชุด “อื้อฮื้อหล่อจัง” ที่เป็นแนวสวิงสวาย ผู้หญิงยุคใหม่ที่กล้าลุกขึ้นจีบผู้ชาย จนได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นอีกครั้ง ได้ก้าวขึ้นเวที 7 สีคอนเสิร์ตและอีกหลายๆ เวที

จากความสําเร็จในงานชุดนี้เอง ครูลพได้สร้างงานเพลงชุด “ห่างหน่อยถอยนิด” ให้เธอร้องอีก ซึ่งในเพลงชุดนี้มีเพลง “สยามเมืองยิ้ม” ที่เธอทุ่มเทพลังในการร้องอย่างสุดหัวใจ จนทําให้เธอได้รับรางวัลพระราชทานขับร้องเพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ความโด่งดังอย่างสูงสุดของเธอในขณะนั้น ไกรสรพยายามผลักดันเธอให้สู่ความเป็นสากลมากขึ้น ต้องการให้ผู้คนยอมรับเพลงลูกทุ่ง ที่สุดก็สามารถทําให้พุ่มพวงเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ก้าวขึ้นไปเปิดการแสดงที่โรงแรมดุสิตธานีต่อหน้าพระที่นั่ง

ต่อมาพุ่มพวงได้ตัดสินใจ ย้ายค่ายเพลงไปอยู่กับ อาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ซึ่งเป็นบุคคลที่ไกรสรให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก เป็นผู้ที่ปั้นไกรสรเข้ามาสู่วงการบันเทิง เทปชุดแรกที่ทํากับอาจารย์ไพจิตรคือชุด “ตั๊กแตนผูกโบว์” ต่อมาครูลพได้แต่งเพลง “โลกของผึ้ง” ไปถ่ายมิวสิควิดีโอที่ประเทศจีน เป็นเพลงที่โด่งดังอีกเพลงหนึ่ง พร้อมกันนั้นพุ่มพวงก็เริ่มตั้งครรภ์อ่อนๆ ไกรสรเอาใจใส่อย่างดี ทั้งยังเริ่มวางแผนลงทุนทางธุรกิจเพื่ออนาคต ซึ่งทําให้ครอบครัวของพุ่มพวงไม่ค่อยพอใจกับการใช้จ่ายเงินของไกรสร

อาจารย์ไพจิตรห่วงว่าชื่อเสียงของผึ้งจะลดลงเมื่อตั้งครรภ์ ก็เลยให้พุ่มพวงออกเทปเพลงลูกกรุงชื่อ “กล่อม” ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า พุ่มพวงทํางานเพลงนี้เพื่อจะเป็นที่ระลึกแก่ลูกของเธอที่กําลังจะเกิดมา และลูกของคนทั่วประเทศ ซึ่งงานนี้ก็ได้รับการยอมรับอย่างดี งานโชว์ตัวเล่นคอนเสิร์ตของพุ่มพวงไม่ได้ลดลงเลย เธอขับขานเพลงให้แฟนเพลงจนใกล้คลอด และแล้วเธอก็ให้กําเนิดลูกชาย ลูกเพชร หรือ สันติภาพ ลีละเมฆินทร์

ชื่อเสียงของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ มิใช่จะโด่งดังแค่เมืองไทยเท่านั้น อาจารย์ไพจิตรได้เป็นผู้แนะนําชี้ทางให้เธอเดินสายร้องเพลงที่อเมริกา ซึ่งก็สร้างชื่อเสียงให้เธอไม่น้อย พร้อมๆ กับได้ข่าวร้ายว่า ธีระพลสามีเก่าของเธอได้จบชีวิตแล้วจากการมีปากเสียงกับ นเรศ (คุปต์ คุปตะวาทิน) น้องชายที่เธอรักมาก ทั้งคู่ขัดแย้งกันรุนแรง ธีระพลด่าทอถึงแม่เขา ทําให้นเรศยั้งอารมณ์ไว้ไม่อยู่ จึงเกิดการต่อสู้กันขึ้นจนปืนลั่นถูกธีระพลตาย

ต่อมาพุ่มพวงได้ย้ายมาอยู่กับท็อปไลน์ เซ็นสัญญากับคุณทวีชัยเพื่อทํางานเพลงชุดต่อๆ ไป เธอเริ่มมีอาการป่วยไข้ ตัวเริ่มบวม ถึงแม้ว่าเธอจะไม่สบาย แต่งานที่รับไว้แล้วเธอก็ต้องไปร้องตามสัญญา เพื่อไม่ให้แฟนเพลงผิดหวัง หลายครั้งที่เธอต้องกัดฟันร้องจนจบเพลง บางครั้งถึงกับล้มฟุบกลางเวที

ไกรสรทราบถึงอาการป่วยของพุ่มพวงตั้งแต่แรก ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และได้ย้ายครอบครัวไปอยู่เชียงใหม่ เพื่อให้พุ่มพวงได้อยู่ในที่ๆ อากาศดี และพยายามให้รับงานน้อยลง แต่งานที่พุ่มพวงรับไว้นั้นมีคิวยาวมาก ทําให้เธอต้องลงมากรุงเทพฯ ชั่วคราว และในช่วงนี้เองทําให้เธอและไกรสรต้องแยกจากกัน เพราะไกรสรต้องอยู่ดูแลลูกเพชรที่เชียงใหม่ เนื่องจากลูกต้องเรียนหนังสือ จากความห่างกัน และความท้อแท้เนื่องจากโรคภัยที่คุกคาม พุ่มพวงเริ่มมีความหวาดระแวงว่าไกรสรจะไปมีหญิงคนอื่น ทําให้อาการของเธอทรุดหนักขึ้น ตัวไกรสรเองก็รู้สึกน้อยใจภรรยา แต่ไม่ได้แก้ความเข้าใจผิด พยายามอยู่ดูแลและหวังให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ในขณะที่ครอบครัวของพุ่มพวงที่พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาอาการป่วยของเธอ ไม่ว่าจะเป็นทางไสยศาสตร์ ซึ่งไกรสรไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่สามารถพูดอะไรได้มากนัก เพราะถึงอย่างไร ครอบครัวของเธอก็ห่วงเธอเช่นกัน ข่าวคราวการป่วยไข้ของราชินีลูกทุ่งเป็นที่สนใจของแฟนเพลงเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนเฝ้าห่วงใย ภาวนาให้เธอหายจากโรคร้าย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง กลับมาร้องเพลงให้ความสุขกับแฟนเพลงอีก แต่โรคร้ายก็กําเริบขึ้นเรื่อยๆ ต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลตลอด ทําให้เธอเกิดความท้อแท้ยิ่งนัก

บนเตียงเล็กๆ ภายในห้องพักของโรงพยาบาล เธอได้ร้องเพลง “ขอเพียงที่พักใจ” ด้วยความรู้สึกปวดร้าว ขมขื่น และทุกข์ทรมานยิ่งนัก อันเป็นเพลงสุดท้ายที่เธอมีโอกาสได้ร้อง

วาระสุดท้าย พุ่มพวง ดวงจันทร์ เดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก และความตั้งใจในจุดหมายต่อไปของเธอคือการได้ไปพบลูกชายสุดที่รักของเธอที่บ้านพักเชียงใหม่ แต่เธอก็ต้องสิ้นใจ ไม่สมหวังที่จะได้พบหน้าลูกแม้กระทั่งลมหายใจสุดท้าย

ในขณะเดียวกันกับที่พุ่มพวงเสียชีวิตนั่นเอง ไกรสรได้รับข่าวร้ายนี้ทางโทรศัพท์ ความรู้สึกสูญเสียประดังเข้ามามากมายนัก เขากอดลูกเพชรไว้ในขณะที่น้ำตาของลูกผู้ชายไหลอาบแก้ม ความรู้สึกผิดรุมเร้าเข้ามาจนไม่อาจให้อภัยตัวเองได้ เขาพร่ำบอกกับตัวเองว่าทําไมเขาจึงไม่ได้อยู่กับเธอ เรื่องที่เกิดขึ้นต้องไม่เป็นความจริง ตลอดทางของการขับรถจากเชียงใหม่พร้อมด้วยลูกเพชรและพ่อแม่ของไกรสร น้ำตาที่ออกมานั้นเทียบไม่ได้กับความรู้สึกที่ต้องสูญเสียคนที่เขารัก และเธอไม่มีวันกลับมาให้เขามีโอกาสได้แก้ไขสิ่งที่ผ่านมาแล้วได้เลย

ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ จากไปแล้ว คงเหลือเพียงภาพชีวิตและบทเพลงของเธอที่กลายเป็นตํานานเล่าขานของคนไทย อย่างไม่รู้จบ

จบบริบูรณ์

รายชื่อนักแสดง "ราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์”

รชนีกร พันธ์มณี แสดงเป็น ผึ้ง-รําพึง-พุ่มพวง
ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ แสดงเป็น ไกรสร แสงอนันต์ (ลีละเมฆินทร์)
จรัล มโนเพ็ชร แสดงเป็น พ่อสําราญ
ฉันทนา กิติยพันธ์ แสดงเป็น แม่เล็ก
วรวุฒิ นิยมทรัพย์ แสดงเป็น ธีระพล แสนสุข
ทองขาว ภัทรโชคชัย แสดงเป็น อํานาจ พี่ชายคนรอง
คุปต์ คุปตะวาทิน แสดงเป็น นเรศน์ น้องชายคนที่ฆ่าธีระพล
สุกัญญา วรวิทย์ แสดงเป็น สลักจิต น้องสาวพุ่มพวง
สุภาลักษณ์ หล่อเจริญ แสดงเป็น อมรรัตน์ น้องสาวพุ่มพวง
รอง เค้ามูลคดี แสดงเป็น ไวพจน์
ญาณี ตราโมท แสดงเป็น ครูลพ
กนกวรรณ บุรานนท์ แสดงเป็น อี๊ด เพื่อนสนิท
น้อย โพธิ์งาม แสดงเป็น พี่แดง หางเครื่อง
ด.ญ.บิสมิลลา นานา แสดงเป็น พุ่มพวงตอนเด็ก
นัยนา คชแสง แสดงเป็น ป้าทัศน์ คนดูแลแต่งหน้าพุ่มพวง
ศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม แสดงเป็น ครูหมี ครูสอนหางเครื่อง
นภาพร หงสกุล แสดงเป็น ป้าแช่ม แม่บ้านของพุ่มพวง
กนกพร โลศิริ แสดงเป็น ดารกา ภรรยาเก่าไกรสร
ธรรมศักดิ์ สุริยน แสดงเป็น ครูมนต์ เมืองเหนือ
ราตรี วิทวัส แสดงเป็น จันทร์ หางเครื่อง
รัชนี ศิระเลิศ แสดงเป็น โสภี คนที่ทําให้พุ่มพวงและธีระพลเลิกกัน



เสี้ยวชีวิต พุ่มพวง ดวงจันทร์ ใน นสพ. ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม- 1 สิงหาคม 2536



































งานของช่างภาพ เกด  ลัคณา วิรุณานนท์

ลัคณา วิรุณานนท์

เมกอัพอาร์ติสท์ : มนตรี วัดละเอียด

รำลึก พฤษภาทมิฬ โดย วีนัสมีวรรณ์ และ วัชรเกียรติ บุญภักดี ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17-23 พฤษภาคม 2536

สัญลักษณ์ : ม็อบมือถือ !

สัญลักษณ์ : ป้อมมหากาฬ ผ่านฟ้า

สัญลักษณ์ : อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพประกอบ ในบทกวีของ ยังดี วจีจันทร์ ในผู้จัดการรายวัน ฉบับวันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2536

ตัวอย่าง วาเลนไทน์ - แต่งงานจานด่วน แสดงแบบโดย เบิร์ด พิทยา ณ ระนอง และ แอน วาสนา พูนผล


กำลังโหลดความคิดเห็น