xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวาร์ป “พระเอกขายตัว” สั่งรักด้วยเงิน! (มีคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดวาร์ป “พระเอกขายตัว” สั่งรักด้วยเงิน!




เรื่อง "ผู้ชายขายตัว" เป็นข่าวครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2517 พาดหัวข่าวว่า"เผยแหล่งผู้ชายขายตัว มีดารา-นร.นอกหุ่นดี บริการหญิงอารมณ์เปลี่ยว" ผู้ทำสกู๊ปชิ้นนี้คือ "สันติ เศวตวิมล" ข่าวนี้เป็นที่มาของหนังเรื่อง "ผู้ชายขายตัว" ในปีเดียวกัน !

กรุง ศรีวิไล พระเอกขายตัวคนแรก เมื่อปี 2517

คัตเอาต์ “กรุง ศรีวิไล” เปลือยกาย แขวนข้อความ sale กลางแก่นกาย ! ประกาศเชิญชวนให้โลกรู้ ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ตำรวจขอให้ผู้สร้างหนังเอาคัตเอาต์นี้ลง เพราะอุจาดตาเหลือเกิน ! สันติ เศวตวิมล เล่าเรื่องหนัง “ผู้ชายขายตัว” ในอดีตให้ “เปิดกรุ ส่องดารา” ฟัง ! ...

ยุคนี้ “ผู้ชายขายตัว” และ "บาร์โฮสต์" เป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ทุกคนรู้จักกันดี แต่เมื่อ 46 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย
ต่อมา ยังมีหนังเรื่องอื่นๆที่เล่าพล็อตแตกต่างกันของผู้ชายขายตัวในสถานบริการอีกหลายเรื่อง เด่นๆ เช่น “ช่างมันฉันไม่แคร์” ของ มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล และ “ผู้ชายป้ายเหลือง” ของ เริงศิริ ลิมอักษร
ชื่อ "สันติ เศวตวิมล” ที่ปรากฏในโปสเตอร์หนัง ทำให้ “เปิดกรุส่องดารา” ต้องยกหูถามหนังในอดีตเรื่องนี้ทันที เพราะไม่เหลือข้อมูลใดๆนอกจากโปสเตอร์เพียงใบเดียว !

นอกจากโปสเตอร์ที่ “กรุง ศรีวิไล” และ “ดามพ์ ดัสกร” เอามือกุมหำแล้ว !ยังมีภาพเก่าที่ช่างภาพ Daniel Vaulot บันทึกภาพหน้าโรงหนังเพชรเอ็มไพร์ไว้ด้วย คัตเอาต์หน้าโรงหนัง แก่นกายของนักแสดงทั้งสอง แขวนกระดาษตัดเป็นรูปหัวใจ เขียนคำว่า TAXI และช่วงนั้นมีหนังชื่อแรงๆอีกเรื่องคือ “ผัวเช่า” ดูแค่ชื่ออาจคิดว่า หนังมีแนวใกล้เคียงกัน แท้จริงแล้ว 2 เรื่องนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง ! วันหลังจะเล่าโครงเรื่องย่อ “ผัวเช่า” ให้ฟัง ดรามา สนุกมาก ปรับสักหน่อยเหมาะกับการรีเมกทำหนังและละครมาก ... ขอบอก ! เจ๊ฉอด ฟังไว้ !

หนังเรื่อง "ผู้ชายขายตัว" จัดสร้างโดย ก.เจริญภาพยนตร์ นำแสดงโดย กรุง ศรีวิไล, อโนมา ผลารักษ์, รุ้งลาวัลย์ ศรีปฏิมากูล และ ดามพ์ ดัสกร สร้างจากงานสืบค้นของ "สันติ เศวตวิมล" โดยมี ราม ทิพย์รส สร้างบทภาพยนตร์ , วารินทร์ กำกับการแสดง , สำราญ เจริญผล ถ่ายภาพ และ เหลี่ยม โอวาท อำนวยการสร้าง

สันติ เศวตวิมลเปิดเผยว่า ขณะนั้น เขาอายุ ราวๆ 25-26 ปี ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำข่าวประเภทเอ็กคลูซีฟ หรือ “ข่าวสกู๊ปพิเศษ” เป็นข่าวที่คิดสร้างสรรค์ขึ้นเอง และเป็นข่าวที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในสังคม ... ตอนนั้นเขาได้ข่าวว่า มีบาร์ผู้ชายขายตัวแห่งหนึ่งตั้งอยู่แถวพัฒนพงษ์ ! โดยสัญชาติญาณของนักข่าว ย่อมต้องทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวนั้นให้สังคมได้รับรู้

“แผนหนึ่ง” ... เมื่อเขาไปดูลู่ทางเพื่อจะเข้าบาร์แห่งนี้ก็เห็นว่า เป็นบาร์ที่ปิดลับ มีมาเฟียคุ้มกันหนาแน่น โอกาสที่จะมุ่งหน้าไปทำข่าวอย่างเปิดเผย ยาก เสียยิ่งกว่ายาก ! จึงต้องบ่ายหน้ากลับ เพื่อคิดและวางแผนใหม่ อย่างไรเสีย นักข่าวเอ็กคลูซีฟอย่างเขาไม่มีวันล้มเลิกโปรเจกต์นี้แน่นอน !
“แผนสอง” .... เขาเริ่มต้นหันไปคบกับเด็กขายในบาร์แห่งนั้น ตีซี้จนสนิทสนม แล้วทำทีว่า มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเรียนหนังสือ อยากขายตัวด้วย ! เรื่องการ “แฝงตัวล้วงความลับ" เป็นหนึ่งในวิธีที่นักข่าวสมัยหนึ่งนิยมใช้กัน ไม่เฉพาะแต่ “ไทยรัฐ” เท่านั้น แม้แต่ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ในสมัยก่อนก็เคยใช้ นักข่าวบางคนแฝงตัวกบดานเป็นเดือน หรือหลายเดือน หูตาต้องไว กว่าจะเก็บรูป เก็บข้อมูลจนแน่ใจว่าครบถ้วนกระบวนความเสร็จสิ้นแล้วก็ลาออก ! จากนั้น ก็ลงมือ เรียบเรียง เขียน ตีแผ่ เพื่อให้สังคมได้รับรู้

ผู้ชายขายบริการเหล่านี้จะแต่งตัวดี หุ่นสมาร์ท ไว้หนวด สวมแว่นดำ สมัยนั้นที่พัฒนพงศ์มีบาร์ผู้ชายขายตัวเพียงแห่งเดียว! เป็นคลาสแบบทั่วๆไปไม่ได้หรูหรามาก เมื่อข่าวชิ้นนี้ ปรากฏที่หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เซ็งแซ่กันทั่วกรุงแล้ว นักธุรกิจหัวใส ผุดบาร์ใหม่ๆ อีก 2-3 แห่งในละแวกเดียวกัน
“ข่าวตอนนั้น ดังมากเลย ผู้สร้างหนังท่านหนึ่ง ผมจำชื่อเค้าไม่ได้ ... เจริญผล (สำราญ เจริญผล) อะไรเนี่ย ถามผมว่า เอาสตอรี่ทั้งหมดมาทำหนังได้มั้ย ผมบอก ได้!"

เรื่องราวของหนังเรื่องนี้ ก็มาจากชุดข้อมูลนี้แหละ !
“ผมเก็บข้อมูลมาใช้ เล่าถึงการเข้าไปเป็นสมาชิก ต้องทำอย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าได้ เสียเงินอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ ข้างในมีบริการกับผู้หญิงอย่างไร ผู้หญิงที่มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นใคร เพราะอะไรจึงมาใช้บริการ การจะไปอยู่ในบาร์นี้ก็ต้องรู้ว่า จะบริการกับลูกค้าที่เป็นสาวแก่ แม่ม่ายอย่างไร ซึ่งตอนนั้น ยังไม่มีโรคเอดส์นะ วิธีป้องกันใช้ถุงยางอะไรพวกนี้เท่านั้นเอง พอมาเป็นหนัง มันต้องมีเรื่องราว ซึ่งข้อมูล เราได้จากที่คุยกับผู้หญิงหรือเด็กในบาร์บางคนมาเล่าให้ฟัง ทำไมหญิงพวกนี้ต้องมาใช้บริการ บางคนมีอารมณ์ทางเพศรุนแรง บางคนก็มีอารมณ์วิปริต วิตถาร บางคนต้องการความอบอุ่น หลากหลายมาก แล้วแต่จะว่ากันไป มันไม่ได้หมายความว่า ทุกคนมาที่บาร์แล้วต้องการเซ็กส์อย่างเดียว เราเก็บข้อมูลพวกนี้มาใช้ ตอนเก็บข้อมูล บางเรื่องของผู้หญิงบางคนเป็นเรื่องสะเทือนใจ น่าเห็นใจมาก พอเมื่อเราได้ข้อมูลจนเป็นที่พอใจแล้ว ได้ภาพที่เราแอบถ่ายมา เมื่อทุกอย่างครบก็ลาออกมา !”

เมื่อสกู๊ปชิ้นนี้ ขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เขาบอกว่า
“เจอหน้าเพื่อนไม่ได้ มันจะเตะกระทืบเอา ต้องหลบหน้าอยู่พักหนึ่ง มันว่า ทำให้มันเดือดร้อน แต่ความจริงไม่ใช่ พอออกข่าวไปแล้ว สังคมไทยกลับยอมรับว่ามันมีจริง ผู้ชายขายตัวแบบหญิงได้ เป็นอาชีพหนึ่งเหมือนกัน และกลายเป็นอาชีพที่มีเด็กหนุ่มทำกันเยอะแยะเลย”

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาขยี้ให้เป็นบทภาพยนตร์ เพื่อให้ดาราชั้นนำสมัยนั้น ได้แสดงกัน
“กรุงเป็นพระเอกที่ดังในตอนนั้น หุ่นสูง สมาร์ท ส่วนดามพ์เป็นดาวร้าย มีลักษณะที่ตรงกับบุคลิกผู้ชายขายตัว ! ดามพ์เค้าไว้หนวดอยู่ คนก็ช็อกวงการ เพราะบริษัทหนังเค้าทำโฆษณาเก่ง เค้าเอารูปกรุงแก้ผ้าหมด เป็นคัตเอาต์ใหญ่ที่สามเหลี่ยมดินแดง ตรงอวัยวะเพศทำเป็นป้ายแขวนว่า Sale ช็อกวงการเลยโปสเตอร์อย่างนี้ไม่เคยมีใครทำ ตำรวจสั่งรื้อทันที ! เพราะอุจาดตา แต่ด้านหนึ่งก็ทำให้คนสนใจ ตั้งคำถามกับสังคม มีด้วยหรือผู้ชายขายตัว ! สมัยก่อน ไม่มีใครเชื่อว่า ผู้ชายขายตัวได้ แต่ตอนหลังกลายเป็นอาชีพจริงๆ แล้วก็จะเป็นสโมสร มีพวกคนรวยไปซื้อบริการ กระจายไปตามแหล่งบันเทิง แถวสีลมก็มี สุขุมวิทก็มี พัทยาก็มี มีเยอะแยะหมดเลย”

ถามเรื่อง รายได้จากหนังเรื่องนี้ เขาว่า “แค่กลางๆไม่เปรี้ยงปร้าง แต่ถูกด่าเยอะเหมือนกัน หาว่า ทำลายศีลธรรม ตอนแรกทุกคนคิดว่าเป็นการสร้างเรื่องโกหก ตอนหลังพิสูจน์ว่ามีบาร์แบบนี้จริง ตำรวจเองก็ยอมรับ เรื่องนี้เป็นทรูสตอรี สร้างหนัง เป็นดรามาจากเรื่องจริง"
ที่ว่ากันว่า หนังเรื่องนี้ มีการเปลี่ยนชื่อให้เบาลง ! สันติ เศวตวิมลบอกว่า ใช้ชื่อนี้แหละ ไม่เปลี่ยน !

ลิขิต เอกมงคล พระเอกขายตัวคนที่ 2 เมื่อปี 2529

ผ่านเวลามาอีก 12 ปี หนังผู้ชายขายตัวเรื่องที่ 2 ที่โด่งดังมากคือ “ช่างมันฉันไม่แคร์” ของคุณน้อย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
ลิขิต เอกมงคล แรกเริ่มเดิมที เรียกชื่อเล่นว่า "แจ๊ค" ต่อมาเป็น "แด๊กซ์" เป็นพระเอกหนังและละครไทย ในช่วงปี 2527 เป็นต้นมา มีหนังเด่นๆที่เขาเป็นพระเอกหลายเรื่อง เริ่มมาเล่นละครจริงจัง ในปี 2531ปัจจุบันออกจากวงการบันเทิงไปแล้ว

นางเอกของเรื่อง "ช่างมันฉันไม่แคร์" ชื่อ “พิม ภรณี” (สินจัย หงษ์ไทย) ที่คุณน้อยหยิบชื่อมาจากสาวเก่งในแวดวงโฆษณาท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากในวงการ โดยฉากหลังของหนังเรื่องนี้ได้ปูพื้นความสัมพันธ์การแปรเปลี่ยนทางอุดมการณ์ของคนคู่หนึ่งจาก เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พิม นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รอดชีวิตจากฆาตกรรมทางการเมือง เพราะได้ คมสัน (สหัสชัย ชุมรุม) รุ่นพี่จาก ม. ศิลปากรช่วยพิมไว้ ขณะเหตุการณ์ในวันสังหารนกพิราบกำลังเข้มข้นและดำเนินไป ทั้งคู่ปวดร้าวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หนีไปอยู่ด้วยกันที่เกาะเสม็ด และ เลือกทางชีวิตของตนเองในเวลาต่อมา

พิม ภรณี เป็นครีเอทีฟ นักโฆษณามือรางวัล ภายใต้ลุคของผู้หญิงที่มั่นใจในตัวเอง ! ส่วนสมหวัง (ลิขิต เอกมงคล) หรือชื่อเล่นที่รู้จักกันในการทำงานชื่อ “เบิร์ธ” (Birth) ทำงานในบาร์ขายตัวให้กับเรนโบว์บาร์ เพื่อนคนหนึ่ง (กฤษดา ยะอนันต์) ก็ทำงานอยู่ด้วยกัน บรรดาสาวแรงสูงที่มาใช้บริการกับเบิร์ธ อาทิ ธิติมา สังขพิทักษ์, ชนาภา นุตาคม เป็นต้น
ในช่วงนี้เอง ที่ “โรคเอดส์” เริ่มเข้ามาคุกคามในวงจรเพศสัมพันธ์ เรื่องนี้จึงกำหนดให้เพื่อนของเบิร์ธต้องเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ !

วันหนึ่ง บริษัทโฆษณารับงานมาชิ้นหนึ่ง เป็นโฆษณา “กางเกงในชาย” และเธอต้องการนายแบบ เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่เบิร์ธต้องส่งเงินไปให้ครอบครัว จึงตัดสินใจรับงาน ด้วยคิดว่า บางทีงานโฆษณาอาจจะทำให้เขาเป็นที่ต้องการสาวน้อย สาวใหญ่ที่มาซื้อบริการมากขึ้นก็ได้
เมื่อทั้งคู่ร่วมงานกัน ความใกล้ชิด คนซื่อๆจริงใจของเขา ทำให้พิมมีความสุข

คมสันทิ้งอุดมการณ์ กลับมาในฐานะนักธุรกิจ ร่ำรวย และพยายามใช้กำลังปลุกปล้ำพิม แต่เบิร์ธมาช่วยไว้ทัน
พิม ภรณี เริ่มเบื่อหน่ายกับวงการโฆษณา เพราะเธอคิดว่า งานที่ทำอยู่เหมือนการขายตัวระดับมันสมอง อยากจะเลิกอาชีพนี้ ! เช่นเดียวกับเบิร์ธ ที่ต้องการเลิกขายเรือนร่าง ก่อนที่พิมจะรู้เบื้องหลังว่าเขาเป็นผู้ชายขายตัว !

พิม รับรางวัลโฆษณาดีเด่นและประกาศลาออกจากวงการ คืนนั้น คมสันหอบช่อดอกไม้มาร่วมแสดงความยินดี ! ขณะเดียวกัน เบิร์ธ ตั้งใจรับงานสุดท้าย ! แต่บังเอิญว่า เป็นแผนกระชากหน้ากากเด็กขาย ที่กลุ่มของคมสันต้องการให้พิมหูตาสว่าง ไม่ถูกหลอก
ในร้านอาหาร ลูกค้าสาวใหญ่นั่งหันหลัง เบิร์ธทักทาย ทันทีที่สาวชุดดำคนนั้นหันมา กลายเป็น “พิม ภรณี” !

ทุกอย่างจบแล้ว ... เบิร์ธ วิ่งหัวซุกหัวซุนไปตามถนนที่ฝนตกกระหน่ำ พิม ภรณี วิ่งตาม เหล่าสาระแนจอมวางแผนวิ่งตามไปดูความสำเร็จ
เบิร์ธ จนตรอกถึงซอยตัน หลบร้องไห้เสียใจอยู่ที่ข้างกองขยะ ... พิม เดินเข้าไปดูหน้าใกล้ๆ พลางโอบกอดกายอันหนาวเหน็บจากสายฝน พลางบอกว่า กลับบ้านเราเถอะ !

ต่อมา หนังเรื่องนี้ ได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ในปี 2536 โดย สินจัย เล่นคู่กับนักมวยรูปหล่อ “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” ทางช่อง 5 เพลงประกอบชื่อ "ช่างมันฉันไม่แคร์" เมื่อเป็นหนัง ร้องโดย “หงา” สุรชัย จันทิมาธร ครั้นเป็นละครเป็นเสียงของ “โต๊ะ” วสันต์ โชติกุล

วิศรุต เกษประสิทธิ์ พระเอกขายตัวคนที่ 3

ในปีถัดมา 2530 วิศรุต มีผลงานการแสดงไม่กี่เรื่อง“ผู้ชายป้ายเหลือง” เป็นงานกำกับของ “เริงศิริ ลิมอักษร” นอกจากนี้ เขายังมีละครเรื่อง “ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ” กับค่ายกันตนา ทางช่อง 7 ฝีมือกำกับของเริงศิริเช่นเดียวกัน ในระยะหลังหนุ่มคนนี้ เน้นการถ่ายอัลบัมนู้ด เป็นส่วนใหญ่ ...

ผู้ชายป้ายเหลือง วิศรุตแสดงร่วมกับ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ , ปรารถนา สัชฌุกร , เสาวลักษณ์ ลีละบุตร บันทึกไว้ว่าเป็นหนังเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ “แอม” เสาวลักษณ์ มาร่วมแสดง ! ทั้งยังมี “ไก่” วรายุทธ มิลินทจินดา และ “เล็ก มัตสึดะ” เจ้าของบาร์เกย์ชื่อ “ซุปเปอร์เล็ก” ที่โด่งดังในอดีต ถูกรับเชิญมาเล่นในช่วงแรกด้วย

โครงเรื่องกล่าวว่า ยุทธ(วิศรุต เกษประสิทธิ์) ผู้ชายขายบริการ เพื่อที่จะหาเงินให้แม่และเป็นค่าเล่าเรียน โดยที่เขามาอาศัยอยู่กับเพื่อน ซึ่งมีอาชีพเดียวกัน และด้วยงานนี้ทำให้ยุทธได้พบกับดา (เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) สาวใหญ่ที่มาติดพัน และชวนยุทธกับแม่ให้มาอยู่กับเธอที่บ้าน พร้อมทั้งออกค่าใช้จ่ายในการเรียนให้ยุทธ ในขณะเดียวกันที่มหาวิทยาลัย เขาได้พบกับแหม่ม (แอม เสาวลักษณ์) หญิงสาวที่เพียบพร้อม เขาจึงเริ่มมีใจให้กับแหม่มและคบหากัน เมื่อดารู้ว่ายุทธไปมีผู้หญิงอื่น เธอเสียใจมาก ส่วนยุทธเองก็ได้รู้ว่า แท้จริงแล้ว ดาก็คือเมียน้อยของพ่อแหม่ม (กำธร สุวรรณปิยะศิริ) เขาจึงย้ายกลับไปอยู่กับเพื่อนเหมือนเดิม ดาพยายามที่จะมาอธิบายให้ยุทธฟังแต่เขาก็ไม่รับฟัง สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยคิดจะทำ นั่นคือ การฆ่าตัวตาย!

นับจากปี 2517 ต้องยอมรับว่า ธุรกิจบาร์ประเภทนี้มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน แต่ละบาร์ได้กำหนดระดับของตัวเอง .... และปัจจุบัน เรารู้จักกันในนามของ “บาร์โฮสต์” นั่นเอง

ภาคผนวก

“กระหร่วยเกลื่อนกรุง” !

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับที่ 174 วันที่ 2-8 เมษายน 2533 เซกชั่น "ปริทรรศน์" ได้ทำสกู๊ปปกเรื่อง "กระหร่วยเกลื่อนกรุง!" เปิดกรุส่องดารา ได้คัดลอกและสรุปข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับ "ผู้ชายขายบริการ" ดังนี้
ความในโปรยส่วนหนึ่งว่า
“ผู้จัดการรายสัปดาห์ ส่งทีมงานตะลุยทุกคลับบาร์ พบผู้หญิงนักเที่ยวหลายรูปลักษณ์จากเถ้าแก่เนี้ยยันเด็กเลาจน์และหมอนวด !”

เรื่องราวของผู้ชายขายบริการทางเพศได้มีการเปิดเผยครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2517 ภายใต้พาดหัวข่าวว่า
"เผยแหล่งผู้ชายขายตัว มีดารา-นร.นอกหุ่นดี บริการหญิงอารมณ์เปลี่ยว"
สถานที่ซึ่ง "โสเภณีชาย" ใช้เป็นที่นัดลูกค้าคือบริเวณราชดำริ โดยเฉพาะร้านกาแฟของ "โนกุจิ" (โอซามู โนกูจิ) ต้นตำรับ "คิ๊กบ็อกซิ่ง" ถึงขนาดมีการติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะขึ้นภายในร้าน ทั้งนี้เพื่อให้โสเภณีชายใช้เป็นที่นัดพบลูกค้าโดยสะดวก ผู้ชายเหล่านี้จะสวมเสื้อทันสมัย สีฉูดฉาด ไว้หนวด และสวมแว่นตาดำเป็นสัญลักษณ์ ผู้ชายขายตัวส่วนใหญ่จะเป็นดาราตัวประกอบ หรือนักเรียนนอกที่ยังหางานทำไม่ได้ ราคาค่าตัวในการขายบริการทางเพศแต่ละครั้งนั้นอยู่ระหว่าง 200-1,000 บาท

ทั้งยังได้ระบุเส้นทางเปลี่ยนผ่านจากย่านพัฒนพงศ์ไปสู่ "เมมเบอร์เลดี้คลับ" ในยุคนั้น ....
ปลายปี 2527 ธุรกิจบาร์ประเภทนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น เริ่มจาก "แหวว" เพื่อนนักเรียนนอกของ "วิทิต ตันสัจจา" ได้นำวิดีโอบรรยากาศของบาร์ "ซิพเพนเดลส์" ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มาศึกษาก่อนทำ "เมมเมอร์เลดี้คลับ" ชื่อเดียวกันในประเทศไทย เปิดเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ในปีถัดมา "ซิพเพนเดลส์" อยู่ในโรงแรมแมนฮัตตัน สุขุมวิท 11 จากนั้นมีบาร์อื่นๆตามกันมาในยุคนั้นอีกหลายแห่ง เช่น มอนติ คาร์โล (โรงแรมวินเซอร์), คาริเปียน (โรงแรมราชา), ลีโอ (โรงแรมแอมบาสเดอร์), เพนเนสซี่ (โรงแรมคอนติเนนตัล), คลาสิกเคิล (โรงแรมฟอร์จูน่า) มีอินโฟกราฟฟิกชิ้นหนึ่ง บ่งบอกถึง "เส้นทางสู่ความสุขของผู้หญิงไทยวันนี้" โดยระบุถึง ชื่อบาร์ - ที่ตั้ง - หุ้นส่วน - ค่าดื่มของโฮส - ค่าสมาชิกและสิทธิพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ "เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่" ยังเปิดเผยในคอลัมน์ "ฅ. คน" หน้า 66 ว่า
"คนชอบมองสถานที่แบบนี้ว่าน่าเกลียด ชอบคิดไปไกล เลยเถิดว่า จะพาเด็กไปนอน เรื่องนี้คิดว่าอยู่ที่บุคคลที่ไปเที่ยวมากกว่า กติกาเขาก็มีวางไว้ ถ้ามีการนัดแนะ หรือ "ออฟ" กันในคลับ พนักงานจะถูกไล่ออกทันที แต่ส่วนมาก อาจจะมีการนัดแนะนอกเวลางาน อย่างนั้นมันก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา อย่างดิฉันเคยเอาเด็กชิพฯ 3-4 คนเพื่อไปงานเต้นรำในตอนกลางวัน ก็ถามความสมัครใจของเด็กว่าไปไหม ดิฉันเห็นว่า ไม่มีอะไรเสียหาย บางคนยังหางานทำตอนกลางวันยังไม่ได้ บางคนมีเงินเดือนแค่ 3-4 พันบาท มันเป็นเรื่องของชีวิตที่ต้องดิ้นรน จะไปโทษว่า เขาทำผิดประเพณีก็ไม่ได้ เพราะเขาทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ดิฉันว่า อยู่ที่คนจ้างพวกเขาไปทำอะไรต่างหาก ดิฉันขอยืนยันว่า คลับแบบนี้สะอาดกว่าพัฒนพงษ์เสียอีก แล้วทำไมจะเปิดไม่ได้" นั่นเป็นเสียงจาก "เจ้าป้า" ซึ่งถึงแก่พิราลัย เมื่อปี 2548

โปสเตอร์หนัง “ผู้ชายขายตัว” ปี 2517

คัตเอาต์หน้าโรงหนังเพชรเอ็มไพร์ ปากคลองตลาด บันทึกภาพโดย Daniel Vaulot จากเพจ @77PPP

กรุง ศรีวิไล พระเอกดังในช่วงปี 2517

ดามพ์ ดัสกร ดาวร้ายของหนังไทยในอดีต

สันติ เศวตวิมล ผู้สื่อข่าว ทำสกู๊ปพิเศษเรื่อง “ผู้ชายขายตัว” ลงนสพ. ไทยรัฐ ในปี 2517 ภาพจาก Mix Magazine

บรรยากาศพัฒนพงษ์ตอนกลางวันในอดีต ภาพจาก Patpong Museum

โปสเตอร์หนัง “ช่างมันฉันไม่แคร์” ปี 2529 กำกับการแสดงโดย หม่อมหลวงพันธ์เทวนพ เทวกุล

ลิขิต เอกมงคล เมื่อตอนที่เข้าวงการใหม่ๆ

เซ็กซี่มั้ย ! ลิขิต เอกมงคล

หลังฉากของหนัง “ช่างมันฉันไม่แคร์”

หลังฉากของหนัง “ช่างมันฉันไม่แคร์”

โปสเตอร์ “ผู้ชายป้ายเหลือง” ปี 2530 กำกับการแสดงโดย เริงศิริ ลิมอักษร จาก Thai Movie Posters

วิศรุต เกษประสิทธิ์ และเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ จาก “ผู้ชายป้ายเหลือง”

วิศรุต เกษประสิทธิ์ และเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ จาก “ผู้ชายป้ายเหลือง”

HEAT อัลบั้ม รวมรูปนู้ดของ “วิศรุต เกษประสิทธิ์”

ลีลาการโพสท่าของนายแบบนู้ด

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับที่ 174 วันที่ 2-8 เมษายน 2533 เซกซั่น “ปริทรรศน์” ทำสกู๊ปเรื่อง “กระหร่วยเกลื่อนกรุง” เส้นทางของชายขายบริการ

อินโฟกราฟิก แสดงข้อเปรียบเทียบของเมมเบอร์เลดี้คลับต่างๆ ในช่วงปี 2533




กำลังโหลดความคิดเห็น