พนมเทียน เล่าความหลัง“จุฬาตรีคูณ”
คอลัมน์ “เปิดกรุ ส่องดารา”
ตอนที่ 2 พนมเทียน เล่าความหลัง “จุฬาตรีคูณ”
#เปิดกรุส่องดารา #ละครออนไลน์ #ยืนหนึ่งข่าวละคร
ที่มาของจุฬาตรีคูณ
ปี 2490 พนมเทียนอายุ 16 ปี เรียนชั้น ม.6 อยู่ที่วัดสุทธิวราราม ประทับใจกับบทเรียนภาษาไทยเรื่อง "กามนิต" ซึ่งเป็นนวนิยายอิงพุทธศาสนา แปลโดย เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ต้นฉบับเป็นของชาวเดนมาร์ก ชื่อ "คาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป" ตอนหนึ่ง วาสิฏฐีสนทนากับกามนิตถึงวังน้ำวนอันศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่บรรจบของแม่น้ำคงคา - ยมุนา ซึ่งตอนกลางคืนบนท้องฟ้าจะมีทางช้างเผือก เรียกคงคาสวรรค์ มาบรรจบอีกสาย เรียก "จุฬาตรีคูณ"
ปีถัดมา พนมเทียนมาเรียนที่แผนกอักษรศาสตร์โรงเรียนสวนกุหลาบ เริ่มค้นคว้าศึกษาเรื่องภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของอินเดียโบราณ จากงานของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อใช้เป็นข้อมูลฉากหลังของนิยายเรื่องนี้ และรู้ว่า สถานที่บรรจบของแม่น้ำทั้ง 3 สายนั้นอยู่ที่แคว้นกาสี ซึ่งมีเมืองพาราณสีเป็นเมืองหลวง !
ต่อมา ไปอ่าน “เทวปกรณัมของกรีก” เจอกับ เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "นาร์ซิสซัส" ซึ่งเป็นลูกของแม่น้ำเซฟิสซัสกับนางไม้ชื่อ ลีไรโอพี นาร์ซิสซัสเป็นหนุ่มรูปงาม หลงตัวเอง และชอบแสวงหาความสมบูรณ์ ทางการแพทย์ใช้ชื่อนี้เรียกคนไข้ที่ "หลงตัวเอง" !
พนมเทียน ดัดแปลงจากบุรุษให้เป็นสตรีนางหนึ่งชื่อ "ดาราราย" จุฬาตรีคูณ เป็นนิยายที่แต่งขึ้นเรื่องแรกๆ เป็นเรื่องที่ 2 สมัยที่ยังเรียนหนังสืออยู่ เรื่องแรกคือ เห่าดง แต่ยังไม่ได้เผยที่ไหน
ระหว่างที่เขียนจุฬาตรีคูณ พนมเทียนแวะไปกราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ "พระมหาธีรราชเจ้า" ที่หน้าสวนลุมพินีเสมอ ซึ่งตอนนั้นฐานอนุสาวรีย์ยังเป็นฐานเตี้ย ไม่ได้สูงอย่างทุกวันนี้ บางวันไปหลังเลิกเรียน บางวันไปในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ขอพรให้งานเขียนราบรื่น และได้เป็น "นักประพันธ์" ดังใจปรารถนา ! ตลอดการทำงานไม่มีอุปสรรคใดๆ ความคิดอ่านปลอดโปร่งตั้งแต่บรรทัดแรกจนจบ !
อรุณ แสงทอง เพื่อนพี่ชายที่เป็นอัยการ พิมพ์ดีดต้นฉบับจากลายมือ แลกเปลี่ยนกับการที่พนมเทียนช่วยแปลหนังสือ Plam Mystery ให้... ความยาวราว 120 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป และมีก็อปปี้อีก 1 ชุด เป็นการง่าย ถ้าโรงพิมพ์จะขออ่านต้นฉบับ ! แต่ก็ไม่มีสำนักพิมพ์หรือนิตยสารเล่มใดสนใจ
แก้วฟ้า-พนมเทียน
วรุณ ฉัตรกุล เป็นคนนำต้นฉบับ จุฬาตรีคูณ ไปให้ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แห่งคณะละครวิทยุแก้วฟ้า ดู !ครูแก้วอ่านแล้วขอดูตัวคนเขียน และคุยกันในรายละเอียด...
ครูแก้วบอกจะนำไปเป็นละครวิทยุ เล่นเดือนละครั้ง 2 ตอนจบ และจะแต่งเพลงประกอบให้ละครเรื่องนี้ 5 เพลง โดยความร่วมมือของ "เอื้อ สุนทรสนาน” แห่งวงสุนทราภรณ์ และ เพื่อให้บทได้รับการต้อนรับและไว้เนื้อเชื่อใจจากแฟนละครวิทยุ ต้องฃอใช้ชื่อพ่วง เป็น "แก้วฟ้า-พนมเทียน" เพราะในเวลานั้น ยังไม่มีใครรู้จักกับพนมเทียน เรียกว่ามีครูแก้วช่วยฝึกบิน มีเพลงช่วยประคอง ว่างั้นเถอะ
บทเพลงที่ประกอบในละครวิทยุ ทั้ง 5 เพลง(คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล - ทำนอง เอื้อ สุนทรสนาน) คือ จุฬาตรีคูณ (มัณฑนา โมรากุลร้องและรับบท “ดารารายพิลาส”), จ้าวไม่มีศาล (วินัย จุลละบุษปะร้องและรับบท “ขัตติยะราเชนทร์”), อ้อมกอดพี่ (สุนทราภรณ์ร้องและรับบท “อริยวรรต”), ใต้ร่มมลุลี(วินัย - เพ็ญศรี พุ่มชูศรีร้องและรับบท “อาภัสรา”) และ ปองใจรัก ( สุนทราภรณ์– มัณฑนา) ละครวิทยุเรื่องนี้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ประสบความสำเร็จมาก
เรื่องย่อ จุฬาตรีคูณ
เรื่องราวของจุฬาตรีคูณ กล่าวถึง .... พระมารดาชื่อ“ดาราราย” ว่าคลอด “เจ้าหญิงดารารายพิลาส” ผู้เป็นลูกสาวของกษัตริย์กรุงพาราณสี แล้วหนีไปหาคนรักเก่า ชาวเมืองจึงมีมติให้นำนางมาถ่วงน้ำที่จุฬาตรีคูณ จบสิ้นชีวิตที่นั่น !
ดารารายพิลาส มักจะไปบวงสรวงบูชา อธิษฐานต่อจุฬาตรีคูณสถาน ด้วยฝังใจว่า แม่ของนางนั้นถูกสังเวยชีวิตเพราะความงาม ดังนั้น นางจึงเฝ้าอ้อนวอนขอให้นางมีหน้าตาอัปลักษณ์ ไม่มีใครรัก จะได้ไม่ต้องจบชีวิตเหมือนแม่ของนาง
เจ้าชายอริยวรรต แห่งแคว้นมคธ ยกทัพมาหยุดที่ฝั่งแม่น้ำคงคา หมายจะข้ามไปตีกรุงพาราณสี เกิดนินิตในคืนหนึ่ง เห็นนางผู้เลอโฉมนางหนึ่งสะอึก สะอื้น ร้องไห้ ชิงชังในความงามของตัวเอง จึงเลิกทัพ ชักชวนน้องชายคือขัตติยะราเชนทร์ ปลอมตัวข้ามฝั่งไปค้นหานางในฝันด้วยจิตใจที่ร้อนรุ่ม
ฝ่ายขัตติยะราเชนทร์ชักชวนให้พี่ชายเปลี่ยนใจกลับไปอภิเษกกับเจ้าหญิงอาภัสรา ซึ่งเป็นคู่หมั้นของอริยะวรรต แม้ว่าอาภัสรากับขัตติยะราเชนทร์จะมีใจให้แก่กันก็ตาม อริยวรรตรู้เรื่องนี้ พยายามสนับสนุนให้ทั้งคู่สมปรารถนา แต่น้องชายกลับปฏิเสธ เพราะเรื่องนี้ พ่อได้หมั้นหมายทั้งคู่ไว้ก่อนสวรรคต
อริยวรรตปลอมตัวเป็นพราหมณ์ตาบอดชื่อ “วิพาหะ” ส่วนขัตติยะราเชนต์เป็น “กัญญะ” วณิพกเสียงทองแสนจะไพเราะ ทั้งสองเดินทางถึงพาราณสีในวันที่ดารารายพิลาสเข้าพิธีหมั้นกับกษัตริย์เวสาลี ชื่อกาฬสิงหะ ขณะมาบวงสรวงพระศิวะที่เทวาลัย เทวตี ผู้ดูแลศาล เชิญดารารายพิลาสเข้าเทวาลัย สองพี่น้องหาทางลักลอบเข้าเทวาลัยด้วย เกิดแผ่นดินไหว หินถล่ม ทั้งเทวตีและเหล่านางกำนัลผู้ติดตามตายสิ้น วิพาหะช่วยชีวิตเจ้าหญิงไว้ทัน และได้รับคำเชื้อเชิญให้พราหมณ์เข้ามาอยู่ในพระราชวัง
พราหมณ์แสร้งวางแผนการให้ ดารารายพิลาสจูบที่ดวงตาที่บอด แล้วจะหายคืนเป็นปกติ และให้นางตั้งจิตอธิษฐานต่อจุฬาตรีคูณ ให้คืนรูปเป็นชายหนุ่มผู้สง่างาม อริยวรรตไม่ได้เปิดเผยว่าตนคือใคร เมื่ออริยวรรตโดนจับได้และถูกจับเข้าคุก ดารารายพิลาสลอบมาปล่อยตัว พร้อมขออย่างเดียวว่า ขออริยวรรตอย่าทำลายแผ่นดินเกิดของนาง แต่อริยวรรตไม่รับปาก ขัตติยะราเชนทร์ขี่ม้ามาช่วยพี่ชายไว้ทัน แต่อริยวรรตจับตัวดารารายพิลาสและขี่ม้าหนีไป ส่วนขัตติยะราเชนทร์ถูกจับตัวไว้แทน เมื่อแรกคิดจะแลกเปลี่ยนเชลย แต่เมื่อขัตติยะราเชนทร์หนีได้ จึงยับยั้งการแลกเปลี่ยน
"ปฏิญาณมาเดี๋ยวนี้" ... "ตามแต่เจ้าดีกว่า ยอดรัก" ... "เทวะ! ข้าแต่จุฬาตรีคูณอันศักดิ์สิทธิ์" ... "หากองค์อริยวรรตทรยศต่อรักข้า โดยอุปภิเษกกับสตรีอื่นแล้วไซร้ ขอให้ท้าวเธอจงสิ้นพระชนม์ด้วยคมอาวุธ จากผลแห่งความทรยศข้า จุฬาตรีคูณจงเป็นสักขีพยานด้วยเถิด" ...ดารารายเอ่ยขึ้นด้วยสุรเสียงกังวานหนักแน่น
ภายหลัง อริยวรรต ยกทัพบุกแคว้นพาราณสี และต้องอาวุธเสียชีวิต ส่วนดารารายพิลาส ถูกกาฬสิงหะ และราษฎรทั้งอาณาจักรบังคับสู่จุฬาตรีคูณสถาน เช่นเดียวกับเสด็จแม่ของนาง
ดารารายเล่าให้ฟัง !
มัณฑนา โมรากุล นักร้องหญิงคนแรกของกรมโฆษณาการ พูดถึงเกร็ดเพลง ในหนังสือ”ดาวประดับฟ้า” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 ว่า เธอเล่นละครเวทีเป็นครั้งแรก และเรื่องเดียวเท่านั้น ในปี 2493 ละครเรื่องนี้แสดงอยู่ 3 สัปดาห์ที่ศาลาเฉลิมไทย
“สมาคมศิษย์เก่าวชิรวุธ ให้ จิตตเสน ไชยยาคำมาขอให้ครูแก้วแปลงบท แสดงเป็นละครเวที เพื่อเก็บเงินสร้างพระราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ที่หน้าสวนลุมฯ (พนมเทียนว่า สร้างฐานให้สูงอย่างในปัจจุบัน) ซึ่งต้องใช้เงินถึง 6 แสนบาท เดิม ส. อาสนจินดา แสดงเป็นพระเอก มัณฑนา โมรากุล เป็นนางเอกร้องเพลงเอง แต่บทของ ส.อาสนจินดา หัวหน้า (หมายถึงครูเอื้อ) ต้องมายืนร้องเพลงที่ข้างหลืบ ต่อมา ส.อาสนจินดา ไปแสดงภาพยนตร์ จึงได้ฉลอง สิมะเสถียรมาเป็นพระเอกแทน”
ในปี 2535 มัณฑนา โมรากุล ย้อนความหลังถึงละครเวทีเรื่องนี้กับ MGR Online ว่า
“ตอนซ้อมบทตัวละครชื่อ ดาราราย ต้องร้องไห้ไป หัวเราะไป ยายข้างบ้านเป็นคนจีนก็นึกว่า ดิฉันบ้า(ฮา) มันเดินไปถามพี่สะใภ้ คุณมัณฑนาอีเป็นอะไร อีเข้าห้องน้ำก็ร้องไห้ไป หัวเราะไป พี่สะใภ้บอก มันซ้อมละคร อายจะตายตอนนั้น น้าสมพงษ์ ทิพยกลิน (ครูเพลงคนหนึ่งในวงสุนทราภรณ์) บอกว่าเล่นทั้งเรื่อง ดีหมด ยกเว้นตอนกอดฉลอง สิมะเสถียร (ซึ่งเธอใช้ข้อศอกยันไว้) อ้าว...ก็เมียเค้า(กัณฑรีย์ นาคประภา) จ้องมาตาเขม็งอย่างนั้น ฉันไม่ใช่ดารามืออาชีพนะ ไม่ใช่แบบสุพรรรณ (บูรณพิมพ์) ถึงกล้ากอดกับ ส. (อาสนจินดา) กลม หนูเป็นข้าราชการ”
นอกจากนี้ วันหนึ่งหลังซ้อมละคร มัณฑนาเกิดอ่อนเพลีย ไม่ค่อยสบาย ณัฐ จิตระจินดา (ผู้แต่งเพลง รักเร่) จึงชวนนั่งสามล้อไปกินน้ำขม น้ำเต้าทองที่สามแยก ขากลับ บังเอิญเจอเพื่อนของณัฐคนหนึ่งเข้า เพื่อนคนนี้เลยเย้าว่า ไปกินน้ำขม ไม่รู้หรือว่า เขาใช้คางคกแห้งเป็นส่วนผสมของตัวยา พอได้ยิน มัณฑนาจึงคลื่นไส้อาเจียนไปตลอดทาง ผิวเป็นผื่นลายทั้งตัว จนสร้างความโกลาหลกับทีมงาน ต้องตามหมอมารักษาเป็นกรณีพิเศษ จึงมีการแซวว่า ดาราลาย !
นักแสดงใน “ละครเวที” ได้แก่ ฉลอง สิมะเสถียร เป็น “อริยวรรต”, มัณฑนา โมรากุล เป็น “ดารารายพิลาส”, ชาลี อินทรวิจิตร เป็น “ขัตติยะราเชนทร์”, สวลี ผกาพันธ์ เป็น “อาภัสรา”, พฤหัส บุญหลง เป็น “พระเจ้ากรุงพาราณสี”, ชูศรี มีสมมนต์ เป็น “พระพี่เลี้ยงของดาราราย” โดยมนัส รามโยธิน กำกับเวที
“จุฬาตรีคูณ” เป็นละครที่ดังมากในยุคนั้น มัณฑนาได้ค่าตัวสูงมาก ถึง 8 พันบาท หลังการแสดงละครเวทีแล้ว จึงนำเพลงทั้งหมดมาอัดแผ่นเสียงในปี 2494 กับห้างกมลสุโกศล ตราโคลัมเบีย และเป็นแผ่นชุดที่ขายดีที่สุด” มัณฑนา โมรากุลว่า
เคยเป็นหนัง 2 ครั้ง
ต่อมา วันที่ 29 ธันวาคม 2510 ภาพยนตร์เรื่อง “จุฬาตรีคูณ” ฉายที่โรงหนังโคลีเซี่ยม ช่วงต้อนรับปีใหม่ โดย วัฒนภาพยนตร์ กำกับการแสดงโดย ดอกดิน กัญญามาลย์ , ถ่ายภาพโดย สมาน ทองทรัพย์สิน และไพรัช กสิวัฒน์ อำนวยการสร้าง ใช้ฟิล์ม 16 มม. เวอร์ชั่นนี้ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, สมบัติ เมทะนี, เพชรา เชาวราษฎร์ และเนาวรัตน์ วัชรา บทเพลงทั้ง 5 ได้ถูกบรรเลงใหม่โดยวงซิมโฟนี่ ออร์เครสตร้าของกองทัพเรือ โดยไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการเพลง และอาดิง ลิลล่า เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานจุฬาตรีคูณ(จินตนา สุขสถิตย์), จ้าวไม่มีศาล (สมบัติ เมทะนี / สุเทพ วงศ์กำแหง), ใต้ร่มมลุลี (สมบัติ เมทะนี และ สวลี ผกาพันธ์), อ้อมกอดพี่ (สุเทพ วงศ์กำแหง), ปองใจรัก (สุเทพ วงศ์กำแหง และ จินตนา สุขสถิตย์)
มนัส กิ่งจันทร์ บันทึกข้อมูลว่า ต่อมา “กมล กุลตังวัฒนา” ได้นำฟิล์ม 16 มม ของเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” มาปรับ พากย์ และบันทึกเสียงใหม่ด้วยฟิล์ม 35 มม. และออกฉายที่โรงหนังแอมบาสเดอร์ สะพานขาว เมื่อ 10 ธันวาคม 2535 และทั่วประเทศอีกครั้ง แต่ฉากเพลงเรื่องนี้ เสียหายเป็นส่วนใหญ่
เวอร์ชั่นต่อมาเป็นของเอเพ็กซ์ภาพยนตร์ ฉายเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2523 ที่โรงหนังโคลีเซี่ยม, สยาม และอินทรา เรื่องนี้ นันทา ตันสัจจา อำนวยการสร้าง และ พรพจน์ กนิษฐเสน กำกับการแสดง ในนามของ ช. พจน์ฟิล์ม แสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี (อริยวรรต), เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์(ดารารายพิลาส), ปิยะ ตระกูลราษฎร์ (ขัตติยะราเชนทร์) และวาสนา สิทธิเวช (อาภัสรา) เพลงทั้งหมด ถูกถ่ายทอดใหม่ ดังนี้ จุฬาตรีคูณ (อุมาพร บัวพึ่ง), จ้าวไม่มีศาล (ชรัมภ์ เทพชัย) , อ้อมกอดพี่ (ธานินทร์ อินทรเทพ), ใต้ร่มมลุลี (ชรัมภ์ – วัชราภรณ์ สุขสวัสดิ์) และ ปองใจรัก (ธานินทร์-อุมาพร)
เพลงทั้ง 5 นี้ ถือเป็นเพลงป๊อบปูลาร์ในหมู่นักฟังเพลงมานานราว 70 ปี เป็นบทเพลงที่มีการบันทึกเสียงใหม่สืบเนื่องโดยนักร้องร่วมสมัยในยุคต่างๆ กันอย่างมากมาย
ละครซ้อนละคร ฉลองชาติกาลครูเอื้อ
และปี 2554 ทางเจ เอส แอล โกบอล มีเดีย ร่วมกับมูลนิธิสุนทราภรณ์ จัดละครซ้อนละคร เรื่อง“กว่าเราจะรักกันได้ สุนทราภรณ์เดอะมิวสิคัล”เนื่องในวาระเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน ตามที่องค์กร ยูเนสโก ได้ประกาศไว้ ละครที่ซ้อนอยู่ในเรื่องคือ “จุฬาตรีคูณ” พร้อมเพลงทั้ง 5 นำแสดงโดย พิษณุ นิ่มสกุล, พริมรตา เดชอุดม, รัชพล แย้มแสง, ณัฏฐ์นรี มะลิทอง
ทั้งหมดคือเรื่องราวของ “จุฬาตรีคูณ” นิยายอีกเรื่องหนึ่งของ พนมเทียน ที่เคยเป็นภาพยนตร์ให้ชมกัน ...
ศิวาราตรี ชีวิตของแฝดพี่น้อง 3 คน
ในกลุ่มนิยาย "ภารตะ" นอกจาก "จุฬาตรีคูณ" แล้ว ยังมี "ปฐพีเพลิง และศิวาราตรี" ด้วย
“ปฐพีเพลิง” ไม่เคยเป็นหนังหรือละครเลย แต่ “ศิวาราตรี” ไม่ปรากฏว่า เคยสร้างภาพยนตร์ แต่เคยสร้างเป็นละครครั้งหนึ่ง เมื่อ 43 ปีที่แล้ว โดย “รัศมีดาวการละคร” ของกนกวรรณ ด่านอุดม ทางช่อง 9 อสมท. นักแสดงได้แก่ พิศาล อัครเศรณี, กนกวรรณ ด่านอุดม, อัศวิน รัตนประชา, เดือนเต็ม สาลิตุล และ ธานินทร์ อินทรเทพ กำกับการแสดงโดย ทัต เอกทัต แสดงครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2520 ทุกวันจันทร์ 21.40 น.
เนื้อเรื่องของ “ศิวาราตรี” พูดถึง พิษณุมหาราชกรีฑาทัพเข้ามาล้างเผ่าพันธุ์มิลักขะ ที่เกี่ยวข้องกับ เจ้าชายแฝด 3 พระองค์คือ “ทุษยันต์, เวชยันต์, ทัสสยุ” ซึ่งทั้งสามเป็นโอรสของจักรพรรดิชาตะเวทกับพระนางวิชนีแห่งเทวทหะ โอรสทั้ง 3 ประสูติในคืนศิวาราตรี 15 ค่ำเดือน 3 ที่ฝ่ายพราหมณ์ถือเป็นประเพณีในการ พร่ำบ่น มนตรา "โอม มนัส ศิวายา" เพื่อบูชาพระศิวะผู้เป็นเจ้า และถือว่า เป็นวันที่มนุษย์ทั้งหลายจะไถ่บาปกัน
พิษณุมหาราช ได้ทำลายอาณาจักรเทวทหะลงอย่างย่อยยับ และครองอำนาจกดขี่บีฑาชาวมิลักขะมายาวนานถึง 20 ปี บางพวกก็หนีไปส้องสุมกันที่หุบผาสิงห์คำรณ มุ่งมั่นในภารกิจลับกู้ชาติ !
“ทุษยันต์” เจ้าชายองค์โต ได้รับการเลี้ยงดูจากสุภัททะ นักบวชผู้ทรงศีล ซึ่งเป็นอดีตจักรพรรดิของอารยัน ผู้สละบัลลังก์เพื่อแสวงหาโมกษะ ความหลุดพ้น ทุษยันต์เจนจบในสรรพวิชาทั้งหลาย เป็นบุคคลในอุดมคติที่มีความสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน
“เวชยันต์” เจ้าชายองค์รอง มีอัวลา นางสิงห์เลี้ยงดู ดื่มนมจากเต้าของนางราชสีห์ เติบโตท่ามกลางฝูงราชสีห์ ทุกวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวงก็จะเกิดปรากฏการณ์พิเศษ เป็น “นรสิงห์” ครึ่งคนครึ่งสิงห์ บ้าคลั่ง คำราม มีสัญชาติญาณผิดมนุษย์ ผ่านพ้นคืนเพ็ญจึงเป็นปกติ ต่อมาได้โจรแห่งผาสิงห์คำรณไปเลี้ยงเป็นลูก ฝึกปรือทั้งอาวุธและอาคมทั้งมวลให้
“ทัสสยุ” เจ้าชายองค์สุดท้อง ผู้ได้รับการดูแลจากนายมายากร ชื่อกุเวร เป็นคนคล่องแคล่ว ขี้เล่น ร่าเริง เจ้าคารม และมีพรสวรรค์ในการดนตรี สังคีตทั้งปวง ถนัดอาวุธ เช่น มีดสั้น แส้ เคยแสดงมายาศาสตร์ให้พิษณุมหาราชชม ใช้มนต์สะกดให้มหาราชและทหารทั้งปวงเห็น พิราบกลายเป็นงู จากงูเป็นลูกไฟ เปลี่ยนเป็นธิดามาร และปวงเทพแห่งความหายนะ รวมถึงเจ้าแม่กาลีและสัตว์นรกทั้งหลาย
แก่นของเรื่อง “ศิวาราตรี” ต้องการพูดถึงความสุขแท้จริงของมนุษย์ว่าคือ สงบ สุข สันติ และเอื้ออาทรต่อกัน หาใช่การใช้อำนาจ กดขี่ บีฑา ทำลายล้างผู้อื่นแต่อย่างใด !
นี่คือ งานเขียนในแนวภารตะ ซึ่งเป็นอีกแนวหนึ่งของพนมเทียน ...