ป่าประท้วง ‘เพชรพระอุมา’ แท้ง !
คอลัมน์ “เปิดกรุ ส่องดารา”
ตอนที่ 1 “เพชรพระอุมา” รฤกการจากไปของ “พนมเทียน”
#เปิดกรุส่องดารา #ละครออนไลน์ #ยืนหนึ่งข่าวละคร
หลายๆครั้งที่มีผู้สร้างคิดจะทำหนังหรือละครโทรทัศน์ ! เรื่อง “เพชรพระอุมา สุดท้ายก็เงียบหายไป...
"ท่านมุ้ย" หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เคยอยากสร้างหนังเรื่องนี้มากถึง 36 ภาค ! บางแห่งบอกแบ่งเป็น 3 ภาคใหญ่ แล้วทุกวันนี้ก็ไม่เห็นท่านพูดเรื่องนี้อีก ! ทางด้านละครโทรทัศน์ ลิขสิทธิ์ “เพชรพระอุมา” อยู่ที่ช่อง 7 HD
นักอนุรักษ์คัดค้านแน่ !
ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ หรือ “พนมเทียน” นั้น เขียนนิยายเพชรพระอุมา “ภาคแรก” เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2507 จนจบ “ภาคสมบูรณ์” ในเวลา 02.45 น. ของคืนวันที่ 21 มิถุนายน 2533 รวมเวลา 25 ปี 7 เดือน 2 วัน เป็นนิยายแนวผจญภัยที่มีความยาวที่สุดในโลก ภาคแรก 6 ตอน และภาคสมบูรณ์อีก 6 ตอน ตอนละ 4 เล่ม ทั้งสิ้น 48 เล่ม ซึ่งพนมเทียนได้แรงบันดาลใจจาก คิง โซโลมอน'ส มายน์ส (King Solomon's Mines) หรือชื่อไทยว่า “สมบัติพระศุลี” นวนิยายของเซอร์ เฮนรี่ ไรเดอร์แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ที่เล่าถึงการผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบภายในทวีปแอฟริกา
เนื่องจากพนมเทียนเป็นนักเดินป่าและล่าสัตว์ตัวยง จับปืนมาตั้งแต่อายุ 14-15 ปี เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธปืนและกระสุนเป็นอย่างดี จึงได้นำเอาประสบการณ์ในการเดินป่า มาผสมผสานถ่ายทอดลงไปในนิยายเรื่องนี้ โดยผ่านตัวละครต่างๆ เช่น "รพินทร์ ไพรวัลย์" อดีตนายตำรวจตระเวนชายแดน, แงซาย อักษรศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ ในคราบของกะเหรี่ยงกองโจรกู้ชาติ และหม่อมราชวงศ์ดาริน วราฤทธิ์ เป็นต้น
ในวิกิพีเดีย พูดถึงอานุภาพของอาวุธปืนในการล่า ผ่านตัวละคร 4 ลักษณะคือ สัตว์ปีก, สัตว์ขนาดเล็ก, สัตว์ขนาดกลาง และการล่าสัตว์ใหญ่
ด้วยบทบาทของนักล่าในสมัยหนุ่ม ไม่ว่าจะจับปืนยิงอะไรมักจะแม่นยำเสมอ บางครั้งตั้งใจยิงสกัดหน้าสกัดหลังแท้ๆ แต่ดันยิงโดนสัตว์เล็กๆ เหล่านั้น ได้แก่ กระรอก กระแต นก สัตว์ชนิดเดียวที่เขาจะไม่ล่าเลยคือ ช้าง เพราะเป็นสัตว์ใหญ่ !
พนมเทียนในวัยหนุ่มมุ่งมั่นหาประสบการณ์ในป่าแถบเมืองกาญจน์และป่าแถวปักษ์ใต้ ไปคราวหนึ่งกินเวลาราว 15-30 วัน เขาเลิกล่าสัตว์ตั้งแต่ปี 2511 เมื่อได้ “ลูกชาย” ! และเปลี่ยนความคิดเป็น “นักต่อต้านการล่าสัตว์” ในเวลาต่อมา
เขาได้เขียนสาระเกี่ยวกับความรู้การใช้ปืน ต่อมาได้รวมเล่ม คือ สารพัดปืน เล่ม1 และ2 , ผ่าปืน โดยใช้ชื่อจริง
เขาเคยเล่าย้อนประสบการณ์ในอดีตในฟังว่า
"เข้าป่าแต่ละครั้ง ผมถือว่า หนึ่งไปพักผ่อน สอง มันมีความรู้สึกว่า ... ยังไงล่ะ... สนุกสนานในการฆ่า Enjoy Killing น่ะ คือ หมายความว่า กระทิงก็ดี หรือไอ้กวางก็ดี อะไรเงี๊ยะ มันผ่านเข้ามาทางปืนเรา แล้วเรายิง เวลามันม้วนกลิ้งลงไปมันเป็นภาพซึ่ง...ซึ่งอธิบายไม่ถูก เวลามันวิ่งเอาหัวชนพื้นก่อนที่ตีลังกาสามสี่ทอด แต่นี่คือ ความคิดของผมในยุคโน้นนะครับ ไม่ใช่ยุคนี้ ยุคนี้ผมทำไม่ได้เลย สงสารมัน... สัตว์มีน้อยเต็มทีแล้ว ตอนนี้ผมอยู่ในกลุ่มต่อต้านการล่าด้วย ขออย่าทำมันเลย มันไม่มีประโยชน์หรอก"
การเขียน "เพชรพระอุมา" นี้ พนมเทียนพัฒนาการเขียนใน 3 ลักษณะคือ ตอนต้น เป็นศิลปะในการล่า ความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และการดำรงชีพในป่า ส่วนภาคหลังจะเล่นกับคุณธรรม มโนธรรม ความอดกลั้น รวมทั้งจิตวิทยา และส่วนสุดท้าย คือต่างคนต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ต้องพลัดพรากกันอีกแล้ว ! (จากโลกนิยาย รายสัปดาห์ ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 29 มีนาคม-4 เมษายน 2539)
ณ วันนี้ ... การทำ "เพชรพระอุมา" ในรูปของภาพยนตร์ และละคร อาจจะไม่ง่าย ! ไม่ใช่แค่เรื่องความซับซ้อนที่จะต้องเข้าใจในวิถีชีวิตแบบพรานป่าเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงาน องค์กร มูลนิธิทั้งหลายที่ทำงานด้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า, ต่อต้านการล่าและทรมานสัตว์ องค์กรเหล่านี้มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย! พร้อมจะเข้ามาทวงสิทธิของป่าและสัตว์ทั้งหลาย
อย่าว่าแต่เสือดำเลย ! แค่ยิง "นก" ตัวเดียวก็อาจจะกลายเป็นเรื่องขึ้นมาได้ ! แม้จะเป็นภาพที่ปรากฏในหนัง-ละครก็ตาม ความละเอียดอ่อนตรงนี้ทำให้คนคิดจะทำหนังหรือละครเรื่อง “เพชรพระอุมา” ต้องคิดหนัก ลำบากใจ ขยับได้ยาก และไม่อาจบรรลุฝันดังที่ตั้งใจไว้!
ยิ่งในยุคโชเชี่ยลมีบทบาท แค่กดไลค์ กดแชร์ หรือเจอแรงต้านด้วยติดแฮชแท็ก ก็ไม่เป็นผลดีกับละครและสถานีแล้ว
จริงอยู่ว่า มีกลุ่มคนที่รักนิยายเรื่องนี้ ถึงขนาดมี “ชมรมคนรักเพชรพระอุมา” ! บางที "เพชรพระอุมา" ก็อาจจะเหมาะกับการอ่าน และจินตนาการ โดยไม่ต้องมี “ดารา” มาสร้างภาพตอกย้ำเรื่องราวให้เป็นรูปธรรม ! แต่ถ้าเมื่อไหร่ผู้สร้างตีโจทย์แตก คิดหาคำตอบกับสังคมได้ อย่างสมเหตุสมผล หรือเลือกทำแค่บางตอนที่เลี่ยงชีวิตการเป็นนักล่าเต็มร้อย “เพชรพระอุมา” ก็อาจจะมีสิทธิ์เป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ก็เป็นได้
"บู๊-พาฝัน" ช่อง 7HD เพียบ !
งานของพนมเทียน เคยหายไปจากช่อง 7 HD อยู่ช่วงหนึ่ง จนในปี 2556 “หน่อง” พลากร สมสุวรรรณ ในฐานะ "กรรมการผู้จัดการช่อง 7" ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุด ได้เช่าซื้องานของพนมเทียน ... ทั้ง “เพชรพระอุมา” และเรื่องอื่นๆ ไว้ในล็อตเดียวกัน
ปี 2560- มัสยา (กรกฎาคม) , ละอองดาว (กันยายน)
ปี 2561- สกาวเดือน (มีนาคม), เล็บครุฑ (เมษายน) / บวงสรวง เด็กเสเพล (ตุลาคม)
ปี 2562- พรายพิฆาต (กรกฎาคม)
ปี 2563 - บวงสรวง สิงห์สั่งป่า, ทางเสือผ่าน (มกราคม)
มัสยา ลงหลักปักฐานที่ช่อง 7 มาถึง 3 ครั้ง ปี 2528 (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง-มนฤดี ยมาภัย), ปี 2543 (แอนดริว เกร้กสัน, บัวชมพู ฟอร์ด) และ 2560 ผลิตโดย พอดีคำ กำกับการแสดงโดย วลีทิพย์ นันทเอกพงศ์ นำแสดงโดย มิกค์ ทองระย้า (ร้อยโทลักษณ์) , มุกดา นรินทร์รักษ์ (มัสยา)
ละอองดาว เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเรื่องหนึ่งของพนมเทียน ทำทั้งหนังและละครมาหลายช่องแล้ว เคยสร้างเป็นหนังมา 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นหนัง 16 มม. เมื่อปี 2507 นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และพิศมัย วิไลศักดิ์ , หนัง 35 มม. ในปี 2523 โดยอัครเศรณีภาพยนตร์ นำแสดงโดย พิศาล อัครเศรณี และเนาวรัตน์ ยุกตะนันท์
ด้านละคร เริ่มที่ช่อง 9 อสมท. โดยกนกวรรณ ด่านอุดม แห่ง “รัศมีดาวการละคร” ในปี 2519 นำแสดงโดย พิศาล อัครเศรณีและกนกวรรณ ด่านอุดม , ในปี 2534 ช่อง 7 ค่ายดาราวิดีโอ นำแสดงโดย วรุฒ วรธรรม และ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ , ช่อง 5 ในปี 2550 ค่ายเอ็กแซ็กท์-ซีเนริโอ นำแสดงโดย สหรัถ สังคปรีชา และ พิยดา อัครเศรณี และล่าสุด เจ เอส แอล โกบอล มีเดีย เป็นผู้ผลิต กำกับการแสดงโดย ชัชวาล คล้องช้าง นำแสดงโดย อรรคพันธ์ นะมาตร์ (กรกฎ), ทิสานาฏ ศรศึก (ละอองดาว) แพร่ภาพไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2560
สกาวเดือน เป็นภาพยนตร์ในปี 2524 จัดสร้างโดยพรเทวาโปรดักชั่น นำแสดงโดย นิลเนตร นฤมล และไกรสร แสงอนันต์ ร่วมด้วยโกวิท วัฒนกุลและสมภพ เบญจาธิกุล
ส่วนละครโทรทัศน์ เริ่มเมื่อปี 2521 ทางช่อง 9 อสมท. นำแสดงโดย เดือนเต็ม สาลิตุล, ภิญโญ ทองเจือ , ในปี 2530 ทางช่อง 7 สี นำแสดงโดย มนฤดี ยมาภัย และอภิชาติ หาลำเจียก, ช่อง 3 ในปี 2538 จอนนี่ แอนโฟเน่ และแคทลียา อิงลิซ ล่าสุด เป็นของค่ายมีเดียซีน ออนแอร์เมื่อเดือนมีนาคม 2561 กำกับการแสดงโดย บุญชู พิทักษ์เลิศกุล นำแสดงโดย เมลดา สุศรี (สกาวเดือน- กระต่าย), วงศกร ปรมัตถากร (ทรงกลด)
ส่วนแนว “บู๊” ที่ทำละครไปแล้วคือ “เล็บครุฑ” ออนแอร์ไปเมื่อปลายเดือนเมษายน 2561 ผลิตโดย ไนน์บีเวอร์ฟิล์ม กำกับการแสดงโดย โอริเวอร์ บีเวอร์ นำแสดงโดย ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ (ร้อยตรีคมน์ สรคุปต์) จีรนันท์ มะโนแจ่ม (มรกต) และสหัสชัย ชุมรุม (จางซูเหลียง)
อีกเรื่องในปีถัดมา 2562 คือ พรายพิฆาต เดือนกรกฎาคม โดย ป๊าสั่งย่าสอน กำกับการแสดงโดย “เตอร์” กัลย์จาฤก แสดงโดย ชนะพล สัตยา และพัชร์สิตา อธิอนันตศักดิ์
อีก 3 เรื่อง บวงสรวง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ! คือ
"ทางเสือผ่าน และ สิงห์สั่งป่า" ทั้ง 2 เรื่อง ผลิตโดยค่าย "ดราเมจิก" ในเครือของ ป๊าสั่งย่าสอนบวงสรวงไปแล้วเมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา โดย "สิงห์สั่งป่า" นำแสดงโดย หลุยส์ เฮสดาร์ซัน และ ปภาวดี ชาญสมอน กำกับการแสดงโดย พลชย เมธา ส่วน "ทางเสือผ่าน" นำแสดงโดย "อ๊อฟ" ชนะพล, "บอม" พงศกร และ "บิว" ณัฐพล
"เด็กเสเพล" บวงสรวงไปแล้วเช่นกัน เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2561 ของค่ายนวประทานพร นำแสดงโดย นักแสดงเลือดใหม่ของช่อง 7 HD ได้แก่ "บลิว" วรพล, "ฌาน" ฌาน์รัชต์ และ "ตรัย" จักภัทร
คาดว่า การเช่าซื้อลิขสิทธิ์บทประพันธ์ในครั้งนั้น น่าจะมีอีกหลายเรื่อง
"ซื้อเอง-เล่นเอง" อย่าได้แคร์
ที่ว่าคนโน้น คนนี้จะทำ "เพชรพระอุมา" ก็ยังไม่เคยเห็นใครทำสำเร็จสักคน ! แต่ที่แน่ๆ เพชรพระอุมา เคยเป็นหนังแค่ครั้งเดียว เมื่อปี 2514 ในนามของ "วิทยา ภาพยนตร์" เป็นหนัง 33 ม.ม. ซีเนมาสโคป (อ่านเรื่องย่อ ท้ายเรื่อง)
เพจ Thai Movie Posters ได้รวบรวมเรื่องราวทั้งหมดไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องย่อ , เบื้องหลัง รวมถึงโปสเตอร์หนัง และรูปบางส่วน ซึ่งมาจาก นิตยสาร "ดาราภาพ" ปี 2514 และนิตยสาร "ดาราภาพยนตร์" ใน ปี 2525 เป็นหลักฐานของ "เพชรพระอุมา" ในโลกภาพยนตร์เพียงครั้งเดียว !
ละครออนไลน์ ได้เรียบเรียงจาก “ข้อเขียน” ชิ้นนี้
หนังเรื่องนี้ พระเอกของเรื่องลงทุนสร้างเอง เป็นพระเอกเอง ! แถมยังใช้ชื่อในวงการว่า "รพินทร์ ไพรวัลย์" ! ชื่อเดียวกับพระเอกของเรื่อง
อาจจะสงสัยว่า พระเอกคนนี้ เป็นใครมาจากไหน ?
เขามีชื่อจริงว่า “วิทยา เวสสวัฒน์” เกิดเมื่อปี 2486 ตอนเล่นหนังเรื่องนี้อายุ 28 ปีแล้ว เขามาจากครอบครัวคหบดี ในจังหวัดอ่างทอง เป็นลูกคนที่ 3 ในบรรดาพี่น้อง 7 คน เรียนจบม.8 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ฝันอยากเป็นหมอ ไปสอบเข้าแพทย์ จุฬาฯ อยู่ 3 ครั้งก็คว้าน้ำเหลว ไม่สำเร็จ ! สุดท้ายไปเรียนด้านธุรกิจที่ฮ่องกงอยู่ 5 ปี และญี่ปุ่นอีก 2 ปี ช่วงที่อยู่ฮ่องกงได้ใช้ชีวิตคลุกคลีกับ “ชอว์บราเดอร์ส สตูดิโอ” มีเพื่อนสนิทเป็นดาราจีนชื่อ "จินฟง" ซึ่งนักแสดงคนนี้ เคยแสดงภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เรือนแพ" ซึ่งร่วมทุนสร้างระหว่าง “อัศวินภาพยนตร์” กับ “ชอว์บราเดอร์ส” เป็นหนังในปี 2504 จินฟง ในบท "ริน" เป็น 1 ใน 3 ของเพื่อนรักในหนังเรื่องนี้ เพื่อนอีก 2 คนในเวอร์ชั่นนี้คือ ส. อาสนจินดา (เจน) และ ไชยา สุริยัน (แก้ว)
เมื่อกลับเมืองไทย เขาประสบผลสำเร็จกับการทำธุรกิจการท่องเที่ยว ชื่อ บริษัท เวิร์ลไวด์ทราเวล จำกัด ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมท่องเที่ยวของโลก (PATA)
นอกจากนี้ เขายังเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า เปิดร้านตัดเสื้อชื่อ "ลอร์ด เทย์เล่อร์" ซึ่งดังมากในยุคนั้น การออกแบบมักถูกเอาไปนำไปออกรายการ "แฟชั่นโชว์" ทางทีวีสมอ มีลูกค้าเป็นคนบันเทิงหลายคน
เหตุผลในการทำหนังเรื่อง "เพชรพระอุมา" มีอยู่ว่า
ปี 2513 วิทยามีเหตุต้องไปพบผู้จัดการธนาคารแห่งหนึ่ง บังเอิญเป็นตอนเที่ยง ห้องผู้จัดการปิดเงียบ ห้ามคนกวน มารู้ทีหลังว่า ผู้จัดการใช้ช่วงเวลาพักเที่ยงอ่าน "เพชรพระอุมา" เหตุนี้ เขาจึงไปติดต่อขอพบกับพนมเทียน เจ้าของนิยายเรื่องนี้ ! ในฐานะ "ผู้จัดสร้างหน้าใหม่" เวลาต่อมา
สมัยนั้น ค่าเรื่องราคาสูงสุดอยู่ที่ 2 หมื่นบาท ! พนมเทียนไม่อยากขายให้กับใครก็ไม่รู้ ! จะปฏิเสธก็จะเสียน้ำใจ จึงเรียกราคาสูงไว้ เพื่อให้อีกฝ่ายเปลี่ยนใจ
ราคาที่พนมเทียนเรียกคราวนั้นคือ 1 แสน 5 หมื่นบาท ผิดคาด ! วิทยา เวสสวัฒน์ จ่ายเงินสดเดี๋ยวนั้น ! ค่าลิขสิทธิ์นี้ กินความกว้าง ตั้งแต่ “ทุกตอน” ไปจนถึงการแปรรูปอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์
ปัญหาของ “เพชรพระอุมา” มีอยู่ตลอดมา เกือบถอดใจ ทิ้งเงิน 2 ล้านบาท ร้องไห้กับชะตากรรมก็หลายครั้ง
เมื่อเขาควานหา “พระเอกหลายคน” มารับบท “รพินทร์ ไพรวัลย์” ปรากฏว่า ตกลงค่าตัวกันไม่ได้ ในที่สุดจึงแก้ปัญหานี้ ด้วยการ “เล่นเอง” !
รพินทร์ ไพรวัลย์ นายพรานใหญ่ผู้เจริญรอยพรานล่าสัตว์อย่างผู้เป็นพ่อ ฝึกสรรพวิชาทั้งหลายเกี่ยวกับการล่าสัตว์ในป่า และวิชาอาคมทั้งหลาย เป็นคู่กัดกับ มรว. ดาริน วราฤทธิ์ ผู้เป็นนายจ้างและคนรักในเวลาต่อมา
เมื่อเทียบกับพระเอกทั่วๆไป วิทยา เวสสวัฒน์ ไม่ได้สูง สง่า รูปร่างบึกบึน เนื้อแน่น ! ดังนั้น เขาจึงต้องออกกำลังตลอด 2 เดือน ลดน้ำหนักจาก 72 เหลือ 60 กิโลกรัม ลดรอบเอวจาก 38 เหลือ 28 นิ้ว อาบแดดทุกวัน วันละ 3 ชั่วโมง เนื่องจากเขาเป็นคนผิวขาว รพินทร์ ไพรวัลย์เป็นพรานป่า ต้องแดด ผิวคล้ำ
อย่างที่บอกว่า เขาไม่เคยทำหนังมาก่อน ดังนั้น ... ใครต่อใครจึงไม่แน่ใจในตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ ประสบการณ์ รวมถึง “เงินทุน” ด้วย
แม้แต่ ส. อาสนจินดาที่เขาหมายตาจะให้เป็น “ผู้กำกับ” ยังพยายามหลบ บ่ายเบี่ยงหลังพบกันเป็นครั้งแรก
เมื่อประมาณ 3 เดือนก่อนการสร้าง “เพชรพระอุมา” วิทยา ขอติดตาม ส. อาสนจินดา ไปดูการทำงานกำกับฯ ภาพยนตร์เรื่อง “คนใจเพชร” หลังจากนั้น ความไม่แน่ใจในตัวเขา ทำให้ ส. บ่ายเบี่ยง ไม่รับนัดที่จะพบเขา...
ส. อาสนจินดา เคยร่วมงานกับจินฟงในเรื่อง “เรือนแพ” ทั้งคู่ได้คุยกัน ส. ว่า งานเพชรพระอุมา เป็นงานในสเกลใหญ่มาก เกรงว่าจะไม่ไหว ! คนทำจะหัวใจวายก่อนหนังเสร็จ...
เมื่อ ส. ไม่ยอมพบตัววิทยา เขาจึงให้ “สุธี มีศีลสัตย์” นักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง เป็น “คนกลาง” พาไปพบ ส. อาสนจินดาอีกครั้ง ครั้งนี้ว่าที่ผู้กำกับฯ ขอพิสูจน์ พระเอกหน้าใหม่ ด้วยการให้เผชิญหน้ากับ “เสือ” จริง !
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2513 เสือลายพาดกลอนสูงแปดศอก อายุ 2 ปีกว่าเข้าฉาก เผชิญหน้ากับว่าที่พระเอกใหม่ ฉากพิสูจน์... ให้เสือกระโจนจากชานเรือนเข้าใส่พระเอกทางด้านหลัง ปรากฏว่า พระเอกหันขวับด้วยความว่องไว ลั่นกระสุนใส่เสือ เสือล้มลงใต้เฟรม กล้องแพนไปยังใบหน้าของเขาที่มีดวงตากร้าว นิ่ง และยิ้มน้อยๆที่มุมปาก อันบอกถึงชัยชนะ !
ส. อาสนจินดา ผู้กำกับ และ พูนสวัสดิ์ ธีมากร ตากล้องผู้ถ่ายภาพ ถูกใจ ! และนั่น ทำให้ “เพชรพระอุมา” พร้อมลุยในทันที
นอกจากถ่ายทำที่เมืองไทยแล้ว ยังขาดสัตว์บางชนิดซึ่งไม่มีในเมืองไทย จึงเป็นเหตุต่อมาให้เขาตัดสินใจไปถ่ายทำที่อัฟริกา ! ในบางฉาก ตลอดการถ่ายทำเต็มไปด้วยปัญหา แต่เมื่อหนังเสร็จ มีเสียงวิจารณ์มากมาย ไม่ประสบความสำเร็จดังที่คาด !
เริ่มจาก พระเอก “วิทยา เวสสวัฒน์” เปลี่ยนชื่อในการแสดงว่า "รพินทร์ ไพรวัลย์" ตามชื่อพระเอกของเรื่อง เนื่องจากเขาตัวไม่สูง จึงถูกวิจารณ์ว่า รูปร่างไม่เหมาะ จนมีการเรียกแซวว่า “พระเอกลังสบู่” เพราะต้องใช้รองเท้าเสริมส้นความสูงหลายนิ้ว ในบางฉากก็ต้องยืนบนลังสบู่ เพื่อเพิ่มความสูง ทั้งยังไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดง จนเกิดประโยคเสียดสีว่า "ใครเขาไม่เอาเป็นพระเอก ก็หาเงินสร้างสิ ได้เป็นพระเอกแน่ๆ"
ส่วนนางเอก สุทิศา พัฒนุช ในบท “ มรว. ดาริน วราฤทธิ์ ศัลยแพทย์และนักมานุษยวิทยา น้องสาวคนเล็กของราชสกุลวราฤทธิ์ ถูกวิจารณ์ว่า ไม่สง่า !
ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ถูกวิจารณ์ว่า บทเละเทะ ยืดยาด อ่อนปวกเปียก !
ส. อาสนจินดา ผู้กำกับ เอา “เพชรพระอุมา” ไม่อยู่
ใช่ว่าจะพูดถึงในทางลบเท่านั้น ! พูนสวัสดิ์ ธีมากร ตากล้อง ผู้ถ่ายหนังเรื่องนี้ ได้รับโล่เกียรติคุณจากนิตยสาร “โลกดารา” และ ชนะ ศรีอุบล ในบท “แงซาย” อดีตนายทหารกองโจรกะเหรี่ยง ผู้ลึกลับ ซึ่งเป็นคู่ปรับของรพินทร์ ไพรวัลย์ก็ได้รับคำชมเช่นกัน
ฉากจบ คณะผจญภัยของรพินทร์ ไพรวัลย์ ไปไม่สุด แต่หยุดที่ “งูยักษ์” พร้อมตัวอักษรบนจอว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป” ! เล่นเอาคนดูอารมณ์ค้าง
วิทยา เวสสวัฒน์ ยอมรับในข้อบกพร่องของหนังเรื่องนี้ทุกประการ ทำหนัง และเล่นหนังเพียงเรื่องเดียวก็เลิกเกี่ยวข้องกับวงการหนังอย่างเด็ดขาด เขาถูกเปรียบเปรยว่า เป็นดั่ง "สมันในฝูงหมาป่า" คือ โดนคนอื่นกัดแทะจนไม่มีชิ้นดี นับเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงๆ !
ที่น่าเห็นใจกว่านั้นคือ นิยายเรื่องยิ่งใหญ่ “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียนไปไม่ถึงฝั่งฝัน !
บันทึกไว้ ณ บรรทัดนี้ว่า ปี 2514 เป็นครั้งเดียวที่ “เพชรพระอุมา” ปรากฏในฐานะ “ภาพยนตร์” และ เขา... วิทยา เวสสวัฒน์ (รพินทร์ ไพรวัลย์) เป็นคนเดียวที่ได้ชื่อว่าเล่นหนังเรื่องนี้ จนปีนี้... 2563 ... ล่วงมาแล้ว 49 ปี ก็ยังไม่มีนักแสดงคนไหน มาสวมบท “รพินทร์ ไพรวัลย์” อีก
ขอบคุณพิเศษ : เพจ Thai Movie Posters
ภาคผนวก
เรื่องย่อ “เพชรพระอุมา” (2514)
บทประพันธ์ : พนมเทียน
บทภาพยนตร์ : ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง
กำกับการแสดง : ส. อาสนจินดา
อำนวยการสร้าง : วิทยา เวสสวัฒน์
ถ่ายภาพ : พูนสวัสดิ์ ธีมากร
ผู้จัดจำหน่าย : อัศวินภาพยนตร์
นักแสดง : รพินทร์ ไพรวัลย์, สุทิศา พัฒนุช, อดุลย์ ดุลยรัตน์, ชนะ ศรีอุบล, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, มานี มณีวรรณ, ล้อต๊อก, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, จุ๋มจิ๋ม ศรทอง และ พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์
พิมพ์และคัดลอก : ละครออนไลน์
#ThaiMoviePosters #ละครออนไลน์ #ยืนหนึ่งข่าวละคร
เรื่องย่อ
มรว. เชษฐา วราฤทธิ์ (อดุลย์ ดุลยรัตน์) มรว. ดาริน วราฤทธิ์ (สุทิศา พัฒนุช) และ พ.ท.ไชยันต์ อนันต์ตรัย (ประจวบ ฤกษ์ยามดี) มีความมุ่งหมายจะไปตาม มรว. อนุชา วราฤทธิ์ ซึ่งเป็นน้องชายกลางของเชษฐา เหตุเพราะอนุชามีเรื่องทะเลาะขัดใจกับเชษฐา แล้วหนีเตลิดเข้าป่าหายไป
ทั้งหมดไปขอความช่วยเหลือจากอำพล (พ.ต.ต. ประชา พูนวิวัฒน์) ซึ่งเป็นผู้จัดการ “บริษัท ไทยไวด์ไลท์” เพื่อให้ช่วยหาพรานนำทางเข้าป่าลึก อำพลมั่นใจในคน ๆ หนึ่งคือรพินทร์ ไพรวัลย์ ซึ่งขณะนั้นได้นำสัตว์ป่าที่จับมาได้มาส่งที่บริษัทพอดี
ทันทีที่ดารินเห็น ได้แสดงความดูถูกรพินทร์ ไม่มั่นใจในตัวรพินทร์ว่า จะเป็นพรานที่แข็งแกร่ง อย่างที่อําพลว่าอย่างไร เพราะรพินทร์เป็นคนรูปร่างเล็ก ไม่ใหญ่โตสมกับเป็นพรานป่าอย่างดารินได้ฝันไว้
แต่เหตุการณ์เฉพาะที่อุบัติขึ้นในระหว่างนั้น ทําให้ดารินทึ่งและกลับใจเมื่อเสือลายพาดกลอนตัวหนึ่งที่จับมาได้อาละวาดทลายกรงหลุดออกมา อําพลห้ามทุกคนไม่ให้ยิงเสือตัวนั้น เพราะเกรงจะถูกคนงาน ซึ่งกําลังหนีแตกตื่น หน้าที่ล่าเสือจึงตกอยู่กับรพินทร์คนเดียว ด้วยชั้นเชิงที่หักกันระหว่างเสือกับสิงห์ รพินทร์ล่าเสือตัวนั้นสําเร็จทําให้เชษฐาและไชยันต์พึงใจในตัวรพินทร์มาก ได้อ้อนวอนให้รพินทร์เป็นพรานนำทางเข้าป่าลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งสู่ขุนเขาพระศิวะ ซึ่งรพินทร์ชำนาญทางไปสู่ชุมเพชรพระอุมาด้วย
เมื่อขบวนเดินทางมุ่งหน้าไปสู่ชุมเขาพระศิวะอันไกลโพ้น ทั้งหมดได้เผชิญหน้ากับแงซาย (ชนะ ศรีอุบล) กระเหรี่ยงป่าซึ่งมากไปด้วยความลึกลับ แงซายโจรกระเหรี่ยง ซึ่งเคยโจมตีค่ายตำรวจชายแดนของรพินทร์ ไพรวัลย์แตกมาแล้ว แต่ครั้งนี้ แงซายเข้ามาร่วมเป็นพรานนำทางด้วย
รพินทร์ ไม่เข้าใจว่าแงซายจะมาไม้ไหน แต่ดารินเมื่อรู้ว่า แงซายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรพินทร์ก็ตกใจ ยุให้เชษฐาพี่ชายรับแงชายไว้ร่วมคณะด้วย
ในระหว่างทางเข้าสู่ป่าหล่มช้าง ดารินเห็นลูกช้างเข้าก็พอใจ แต่รพินทร์ขัดคอไว้ว่าไม่ให้แตะต้อง ดารินไม่เชื่อรพินทร์ ไปแอบขอให้หนานอินช่วยจับลูกช้างตัวนั้นไว้ อินตามจับลูกช้างเข้าไปในป่าช้าง ก็เผชิญหน้ากับ “ไอ้แหว่ง” จ่าโขลงช้างที่ดุร้ายที่สุดเข้า จึงถูกไอ้แหว่งฆ่าตาย
เชษฐาสั่งพวกให้หยุดเดินขบวนเดินทาง แล้วตกลงกับรพินทร์ขอนั่งห้างล่าไอ้แหว่ง แต่ไอ้แหว่งฉลาดกว่าเชษฐา คืนนั้นมันกับพวกไม่ได้หวนกลับมา ทางคณะเดินทาง หากมุ่งหน้าเข้าทลายหมู่บ้านกระเหรี่ยงของโต๊ะถะจนแหลกลาญ
เชษฐาเปลี่ยนแผนใหม่ ใช้วิธีวางระเบิดดักไอ้แหว่ง แต่แล้วตัวของเชษฐาเองกลับถูกระเบิดของตัวเองบาดเจ็บสาหัส
อาการของเชษฐามีแต่ทรุดลง เพราะต้องเสียเลือดไปมาก เลือดของเชษฐาเป็นเลือดกรุ๊ปพิเศษไม่มีใครเหมือน ไม่ว่าจะเป็นของดาริน ไชยันต์ รพินทร์ตลอดจนลูกหาบทั้งหมด
ดารินซึ่งเป็นหมอพอจะช่วยชีวิตของพี่ชายก็สิ้นหวัง จนกระทั่งแงซายเสนอตัวเข้ามาว่า เขามีเลือด “กรุ๊ปเอ.บี.เนกาทีฟ” นั้นเอง ทําให้ดารินลิงโลดใจถึงกับเข้ากอดแงซาย เพราะเชษฐาเองก็มีเลือดกรุ๊ปนั้น
เลือดแงซายช่วยชีวิตเชษฐาไว้ได้อย่างหวุดหวิด ดารินสำนึกตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวนั้นบาปเพราะความที่ต้องการลูกช้าง ทําให้พรานอินต้องเสียชีวิตรับอาสาไปล่าไอ้แหว่งเอง ซึ่งดารินก็ทําสําเร็จ
แต่การล่าช้าง ล้มช้าง อันเป็นสมบัติของจ้าวป่าหัวไทร ทําให้เกิดอาถรรพณ์...ฝนตกใหญ่...พายุจัด.. ทําให้น้ำท่วมป่า พวกคณะเดินทางไปยังเขาพระศิวะประสบกับความวิบัติแห่งชตากรรม ถูกน้ำป่าพัดชัดเซกันไปคนละทิศทาง...
ดารินและรพินทร์หลงไปทางหนึ่ง ระหว่างทางที่เดินป่าด้วยความลําบากไปด้วยกันทั้งสองได้สนิทสนม เห็นใจกัน จนเงาและร่องรอยแห่งความรักปรากฏขึ้นที่ดวงตา และดวงใจของคนทั้งสอง
ในที่สุด การต้อนรับจากหัวหน้ากระเหรี่ยงใหญ่ที่ชื่นชมตัวดาริน ซึ่งสามารถล้มไอ้แหว่ง ซึ่งเป็นอันธพาลป่าตัวร้ายนั้นได้ ชาวกระเหรี่ยงจึงจัดงานเลี้ยงมโหฬารขึ้นต้อนรับคณะเดินทาง
และในวันส่งหัวหน้ากระเหรี่ยงก็ได้ชี้ทาง ซึ่งชด ประชากร หรือคุณชาย อนุชา ได้เดินทางหายเข้าไปให้รพินทร์และเชษฐาได้ทราบ...
ทุกคนจึงมุ่งหน้าใกล้เข้าไปสู่ขุนเขาพระศิวะ อันเป็นที่สถิตอยู่ของเพชรพระอุมา...ได้เผชิญกับมหันตภัย และความลี้ลับอันอัศจรรย์และน่าสะพรึงกลัว ตกอยู่ท่ามกลางวงล้อมของพวกผีดิบทั้งหมู่บ้าน...และเผชิญหน้ากับงูยักษ์หัวเท่ารถไฟ