มวลหมู่เทพอียิปต์ ในละคร “รักนิรมิต”
มารู้จักกับ “เทพอียิปต์” ผ่านละคร “รักนิรมิต” ของมารุต สาโรวาท ซึ่งออกอากาศทุกคืนวันจันทร์-อังคาร เวลา 20.30 น. ทางทรูโฟร์ยู ช่อง 24 โดยจะเริ่มวันจันทร์ที่ 20 เมษายนนี้เป็นตอนแรก น้อยครั้งนักที่จะมีหนังหรือละครสักเรื่องที่พูดถึงอียิปต์หรือไอยคุปต์ ความจริงในละครเรื่องนี้ ได้พูดถึงฉากหลังอยู่ 2 ส่วน
ส่วนแรกคือ อุปรากร “ไอด้า” และอีกส่วนคือ “เทพปกรณัม”ที่เป็นอารยธรรมสมัยลุ่มแม่น้ำไนล์เมื่อราว 5 พันปีมาแล้ว “ละครออนไลน์” จะพูดถึง 2 ส่วนนี้
“ไอด้า” เป็นอุปรากรภาษาอิตาลี ความยาว 4 องก์ โดย จูเซปเปแวร์ดี (Giuseppe Verdi) ชาวอิตาเลี่ยน เรื่องย่อสั้นๆคือ ไอด้า (Aida) เจ้าหญิงของนูเบีย (เป็นภูมิภาคตามแม่น้ำไนล์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศซูดานตอนเหนือ และประเทศอียิปต์ตอนใต้ ) ถูกจับมาเป็นเชลยไปเป็นแรงงานทาสในอียิปต์ เธอได้พบรักกับแม่ทัพราดาเมส (Radames) ซึ่งเป็นหัวหน้าองครักษ์ และว่าที่เจ้าบ่าวของเจ้าหญิงอัมเนอริส (Amneris) ลูกสาวของกษัตริย์ฟาโรห์ ท้ายที่สุด ทั้งคู่เลือกจบชีวิตในอ้อมแขนของกันและกันในวิหารไอซิส จัดแสดงครั้งแรกเมื่อ 24 ธันวาคม 1871 ณ โรงละครในไคโร
ในเมืองไทย อุปรากร เรื่องนี้ เคยถูกนำมาทำเป็น “ละครโทรทัศน์” สมัยช่อง 4 บางขุนพรหม ! เป็นละครที่มีการลงทุนสูงมาก จัดสร้างโดย สักกะ จารุจินดา แห่งคณะ 67 การละคร ในช่วงปี 2503-2504 การลงทุนไม่ว่าจะเป็นฉากท้องพระโรงวังฟาโรห์ และวิหารต่างๆ , ท้องทะเลทราย, ตัวสฟิงซ์หินดำที่วาดบนแผ่นไม้ตัวมโหฬาร
นักแสดงในละครเรื่องนี้ ประกอบด้วย
สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ (แม่ทัพ-องรักษ์รามาเดซ), ลาวัลย์ ดาวราย (เชลยศึก ไอด้า)หรืออาจารย์ ลาวัลย์ อุปอินทร์ จากคณะจิตรกรรม ม. ศิลปากร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์), ดาเรศร์ ศาตะจันทร์ (เจ้าหญิงอัมเนอริส), สมจินต์ ธรรมทัต (หัวหน้านักบวชอียิปต์) , นินารถ ช่ำชองยุทธ (ฟาโรห์แห่งอียิปต์), พฤทธิ์ อุปถัมภานนท์ (กษัตริย์นูเบีย หรือ เอธิโอเปีย)
ถ้าใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่อง “สงครามเทวดา” (Gods of Egypt) เมื่อหลายปีก่อน ก็คือ ตำนานเรื่องราวดัดแปลงจากเทพปกรณัมของไอยคุปต์ หรือ อียิปต์โบราณของเทพเจ้ากลุ่มนี้ ซึ่งทวยเทพหลักๆที่รู้จักกันดีก็ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องนี้ และถ้านับจำนวนเทพเจ้าแล้ว ต้องบอกว่า “ไม่ถ้วน” มีมากถึง 1,500 องค์เลยทีเดียว เนื่องจากศาสนาของอียิปต์โบราณนั้นเป็นแบบพหุเทวนิยม คือนับถือในพระเจ้าหลายพระองค์ และมีการผสมผสานกับการบูชาธรรมชาติ ตามความเชื่อของท้องถิ่น ทั้งในโลกชีวิตและโลกหลังความตายอีกด้วย ซึ่งลักษณะนี้ เป็นเหมือนกับการนับถือพระเป็นเจ้าของฝ่ายฮินดู หรือเซียนในฝ่ายเต๋า ซึ่งมีจำนวนมากเช่นเดียวกัน
เราจะขอตัดเอาเรื่องราวของกลุ่มเทพเจ้าและสัญลักษณ์บางอย่างที่กล่าวถึงในละคร” รักนิรมิต” อ้างถึงจากการผูกเรื่อง ซึ่งได้แก่ เทพเจ้าตามรายนาม ดังนี้ Osiris , Isis , Horus , Seth , Anubis (ซึ่งทั้ง 5 นี้ มีความเกี่ยวข้องกันอยู่) และ Apophis
ตำนาน ... เริ่มเรื่องว่า ปฏิทินของชาวอียิปต์นั้น 1 เดือน มี 30 วัน หมายความว่า 1 ปี จะมี 360 วันเท่านั้น เทพรา หรือสุริยเทพ วันๆหนึ่งจะมี 3 ภาค คือตอนเช้าเป็นเด็ก เที่ยงเป็นผู้ใหญ่ เย็นเป็นคนชรา และตายเมื่อค่ำคืนมาเยือน เดินทางเคลื่อนคล้อยด้วยเรือ ...จนเช้ารุ่งขึ้น วัยเด็กก็เกิดขึ้นมาใหม่ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ชั่วกัลป์
ทรงเป็นบิดาของเทพสำคัญๆ ผูกเรื่องว่า เทพรา (สุริยเทพ) สวามีเทพีนุตอยากจะมีลูก ไม่มีสักทีจนหงุดหงิด สาปว่า เทพีนุตจะไม่มี “วัน” ตั้งครรภ์ ! เธอจึงไปปรึกษาเทพธอท เทพเจ้าแห่งความรอบรู้และชาญฉลาดจึงอาสาไปท้าพนันเดินหมากกับพระจันทร์ เดิมพันด้วยแสงสว่าง จนในที่สุด พระจันทร์มีแสงไม่พอที่จะสาดส่องทุกวัน จึงต้องมีข้างขึ้น ข้างแรม มืดบ้างสว่างบ้าง แสงสว่างที่ได้จากพระจันทร์ก็มากพอที่จะสร้างวันเพิ่มเติมที่ไม่อยู่ในคำสาปได้ 5 วัน ซึ่งเทพีนุตได้คลอดลูกวันละคน วันแรก คลอด “เทพโอซีรีส” , วันที่สอง คลอด “เทพฮามาร์คิส” (เทพนักรบ) ซึ่งต่อมา ได้แบ่งภาคเป็น “ฮอรัส” , วันที่สาม “เทพเชต” ถือกำเนิดโดยฉีกท้องแม่ออกมา, วันที่สี่ให้กำเนิดเทพีไอซิส และวันที่ห้า กำเนิดเทพีเนฟธิส เรื่องเทวตำนานของชาติไหนๆก็เหมือนกัน คือ เล่ากันไปหลายทาง ผสมผสานกับความเชื่อของแต่ละถิ่นที่อาจจะแตกต่างกันไป
เทพเจ้าโอซิริส (Osiris) นับว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์และเกษตรกรรม ถือเป็นแหล่งชีวิตลุ่มแน่น้ำไนล์ รักความสันติสุข เกลียดชังความรุนแรง เมื่อถูกน้องชายแท้ๆคือ เทพเชต ฆ่าชิงบัลลังก์ ก็มาเป็นเทพเจ้าแห่งโลกหลังความตาย หรือ “มัจจุราช” บางตำนานว่า เชตใช้กุศโลบายหลอกล่อให้โอซิริสไปนอนในโลงแล้วทำการปิดฝาล่องไปตามลำน้ำไนล์ ฝ่ายเทพีไอซิสพยายามค้นหาศพของสวามี จนต้องคลอด พระกุมารฮอรัส ซึ่งเป็นอวตารของเทพนักรบ “ฮามาร์คิส” ปรากฏว่า เชตตามมาช่วงชิงศพได้ก่อน และตัดศพทั้งสิ้น 14 ชิ้นทิ้งไปตามที่ต่างๆ กว่าที่เทพีไอซิสจะค้นพบทั้งหมดก็ใช้เวลานาน เทพีไอซิสชำนาญในด้านเวทมนตร์ชุบชีวิตสามีให้เป็นกษัตริย์หลังโลกความตาย ซึ่งมีผู้ช่วยในการพิพากษาดวงวิญญาณถึง 42 องค์ และมีเทพีประจำแต่ละชั่วโมงอีก 24 นาง เครื่องรางคือ เจ๊ต (djed)
เทพีไอซิส (Isis) เป็นน้องสาวแท้ๆของเทพเจ้าโอซิริส ทั้งคู่รักกันตั้งแต่อยู่ในท้องของเทพีนุต ขณะที่เป็นราชินีเคียงข้างบัลลังก์นั้น ได้นำความรู้ในเรื่องหัตถกรรม, จารีต ประเพณี และสาธารณสุข สั่งสอนพสกนิกร ที่ชายหญิงในครอบครัวจะร่วมแบ่งปันความสุขกันได้ ขณะเดียวกันก็ทรงช่วยเหลืองานต่างๆของสวามี ผู้เป็นราชา จนได้ชื่อว่าเป็นราชินีในอุดมคติ เป็นจอมเวทฝ่ายหญิง จัดว่า เป็นเทพมารดา ทั้ง 2 พระองค์ทรงเลือกที่จะครองคู่อยู่ด้วยกันในโลกแห่งความตาย เครื่องรางคือ เงื่อนเท็ต (tyet) เล่าว่า เป็นเทพฮอรัส ผู้เป็นลูกต้องการแก้แค้นเทพเชตที่ฆ่าพ่อ และหมายจะฆ่าตน แต่เทพีไอซิสได้ห้ามไว้เพราะไม่ต้องการให้แผ่นดินลุกเป็นไฟมากกว่านี้ ฝ่ายลูกโกรธแม่จนบันดาลโทสะจึงตัดหัวแม่สิ้นชีพไปในโลกมนุษย์ กลายเป็นราชินีในโลกแห่งความตายเคียงข้างสวามี นำทางคนตายไปสู่โลกอันเป็นนิรันดร์
เทพเจ้าฮอรัส (Horus) เมื่อแรกคือ เทพเจ้านักรบ “ฮามาร์คิส “1 ใน 5 ของลูกเทพเจ้ารา ซึ่งอยู่ในร่างของสฟิงซ์ ต่อมาได้แบ่งภาคมาเกิดเป็นลูกของโอซิริสและไอซิสชื่อ ฮอรัส เป็นการรวมตัวของเทพแห่งแสงสว่าง และเทพนกเหยี่ยว มีเศียรเป็นเหยี่ยว ล้างแค้นเชต และเป็นผู้ดูแลอียิปต์ เครื่องรางคือ ดวงตาฮอรัส (eye of Horus) ชายาคือ เทพีฮาเทอร์ (ภาคหนึ่งของเซคห์เม็ต) สังเกตง่ายๆสำหรับเทพีองค์นี้คือ จะมีเขาหัวโอบดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ นางคือ เทพีแห่งความรักและความสุข
เทพเจ้าเซธ (Seth) เป็นลูกอันดับที่ 3 ของเทพพีนุตกับเทพรา ... มีพละกำลังมาก เกิดในฤกษ์ที่ไม่เป็นมงคล แหวกท้องแม่ออกมาดูโลก .... ฆ่าพี่ชายชิงบัลลังก์ และพยายามจะฆ่าหลานชายเพื่อให้หมดเสี้ยนหนาม เมื่อตอนที่เทพีไอซิสตามหาศพสวามี เซธที่ติดตามนั้นได้สร้างให้ดินแดนที่เคยอุดมสมบูรณ์ เต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ทะเลทราย เรียกอีกอย่างว่า “เทพแดง” (สีแดงแทนความแห้งแล้ง) ภายหลังเมื่อฮอรัส ผู้ชอบธรรมมาทวงสิทธิ์ในสมบัติแล้ว เทพเจ้าเซธต้องไปช่วยเทพราต่อสู้ ใช้หอกทิ่มแทงอโพฟิสที่พยายามกลืนกินเทพรา
เทพเจ้าอานูบิส (Anubis) เป็นลูกของ เทพีเนฟธิส (น้องสาวคนเล็กในกลุ่ม และเป็นชายาของเซธ) กับโอซิริส ซึ่งเธอหลงรักมาก่อน แผนเผด็จศึกโอซิริสของเธอคือ แปลงร่างไปเทพีไอซิส เข้าไปลอบมีสัมพันธ์ จนเกิดเป็นอานูบิส มีรูปร่างเป็นคน แต่ส่วนศีรษะเป็นหมาใน ซึ่งเป็นหมาที่หากินในตอนกลางคืน พบมากในแหล่งรวมของคนตาย เช่นสุสาน เป็นต้น มีหน้าที่นำดวงวิญญาณสู่ยมโลก ตามตำนานว่า มีหน้าที่ทำมัมมี่อีกด้วย เมื่อผู้ตายถึงยมโลก ต้องนำหัวใจขึ้นตาชั่ง เทียบกับขนนกของเทพีมาอัต (เทพีแห่งความซื่อตรง) ถ้าเบากว่าก็แสดงว่า คนนั้นเป็นคนดี เทพีไอซิสรักอานูบิสเหมือนลูกแท้ๆ
อโพฟิส (Apophis) หรือ อีกชื่อคือ อาเปป ไม่ถือว่าเป็นเทพเจ้า เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเลวร้ายทั้งปวง มีรูปร่างอย่างงู อโพฟิสมักโจมตีเทพราเสมอ แต่หลุดพ้นจากภัยพิบัติ ด้วยมีเทพเซธคอยเป็นด่านหน้าบนเรือสุริยเทพเข้าต่อสู้กับอโพฟิสเป็นสามารถ ในบางคราวก็พ่ายแพ้ต่ออโพฟิส เป็นเหตุการณ์สุริยคราส
และนี่คือ กลุ่มเทพอียิปต์โบราณ ที่ถูกกล่าวถึงเป็นฉากหลังของละคร “รักนิรมิต” เรื่องนี้