xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตคาบาเรต์ของ "อั้งตี๋" (ทิฟฟานี &เพลงสุดท้าย) มีคลิป!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกู๊ปชิ้นนี้ คือ เรื่องราวบันทึกจากความทรงจำ เพื่อไว้อาลัยให้กับ "วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน" ผู้วายชนม์ซึ่งมีคุณูปการกับวงการ LGBT ในฐานะผู้บุกเบิก "ทิฟานีโชว์" และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ "เพลงสุดท้าย และรักทรมาน"



วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน หรือชื่อจีนว่า "นายอั้งตี๋ แซ่ลิ้ม" ในวัย 76 ปี เธอเป็น "ผู้บุกเบิก" หลายสิ่งซึ่งเป็นสิ่งแรกของวงการ LGBT อาทิ ตั้งบาร์เกย์แห่งแรกที่กรุงเทพฯ และ พัทยา, บุกเบิก "ลิปซิ้งค์" คณะ "ทิฟฟานีโชว์" จากบาร์เล็กๆในพัทยาใต้ สู่โรงละครที่พัทยาสายสอง, เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "เพลงสุดท้าย - รักทรมาน" ที่มีนางโชว์ในคณะเป็นตัวเอก ตามศัพท์ที่นิยมเรียกสมัยนั้นว่า "เพศที่สาม"

และนี่คือ เรื่องราวของเธอ คนคุ้นเคยเรียก "พี่ตี๋" ! บรรดาลูกสาวนางโชว์ในสมัยนั้นเรียก "ฮองเฮา-คุณนาย" ! ถ้าอายุทิ้งห่าง จะเรียกอย่างเคารพว่า “คุณอา”

ณ วันนี้ ... วงการLGBT เปลี่ยนไปมาก ทั้งพฤติกรรมและศัพท์แสง ... ลิปซิ้งค์ในอดีต พัฒนาเป็น "คาบาเรต์โชว์" ส่วนอะโกโก้ เรียกกันต่อมาว่า"โคโยตี้บอย" ในยุคต้น มีเพียง เกย์ (คิง - ควีน), กะเทย, เลสเบี้ยน (ทอม-ดี้) ที่เป็นเพศสถานะ เรียกรวมๆว่า “เพศที่สาม” เท่านั้น แต่วันนี้ จัดเป็นความหลากหลายทางเพศ ที่มีการสร้างศัพท์เรียกอีกหลายคำในความหมายต่างๆกันไป

นางโชว์ในยุคบุกเบิก "สวยสตรอง" ไม่ได้สวยงาม อ้อนแอ้น อ่อนหวานอย่างผู้หญิงเหมือนนางโชว์สมัยนี้ที่เข้าถึงการศัลยกรรมจนความสวยลามไปทุกอณูบนเรือนร่าง

คนยุคนี้ คุ้นเคย "ทิฟฟานี่โชว์"ที่เป็นโรงละครใหญ่โต โก้หรู ที่พัทยาสายสอง ภายใต้การบริหารงานของ "จ๋า" อลิสา พันธุศักดิ์

เรื่องราวของทิฟฟานีโชว์ เริ่มตั้งแต่ปี 2517 ต้นคิดโดย วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสินคนนี้ ! และเปลี่ยนมือมาเป็นของสุธรรม และอลิสา พันธุศักดิ์ ในเวลาต่อมา

ชีวิตลิขิตเอง !

อั้งตี๋ แซ่ลิ้ม เกิดในครอบครัวคนจีน การชอบเล่นขายของในวัยเด็กได้สร้างจุดเด่นให้เธอแตกต่างจากเด็กผู้ชายในวัยเดียวกัน เธอรู้จักเก็บเงินๆทองๆ ที่หาได้ตั้งแต่ตอนอายุ 5-6 ขวบ ขายทุกอย่างที่ขวางหน้า ไอศกรีม , ล็อตเตอรี, พวงมาลัย และอื่นๆอีกสารพัด ได้กำไรก็เก็บสะสมไว้ ไม่ชอบไปโรงเรียน ไม่ชอบเรียนหนังสือหนังหา อ่านออกเขียนได้เก่งคำนวณ เนื่องจากต้องใช้กับการค้าขาย แม้ที่บ้านจะส่งเสริมการศึกษา แต่ก็ระอาใจเหมือนกัน ที่ลูกหลานคนนี้ไม่เหมือนเด็กทั่วไป บางครั้งก็มีการดุด่าว่ากล่าวเฆี่ยนตีบ้าง เพราะไม่ไปโรงเรียน แต่ไม่ได้ถูกตีเพราะลูกมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนแต่อย่างไร

เมื่อราว40 กว่าปีก่อน เธอทำธุรกิจร่วมกับเพื่อนเปิดบาร์เกย์แห่งแรกในกรุงเทพฯ ชื่อ "ทิวลิปบาร์" ณ 285/1 หัวมุมถนนคอนแวนต์ สีลม ความจริงในบาร์ยุคเดียวกัน มี Sea Hag (ซีแหก) กับ Siamese (ไซมิส) รวมอยู่ด้วย แต่เนื่องจากบาร์ทั้ง 2 แห่งนี้รับเฉพาะบุคคล ไม่ได้รับนักเที่ยวทั่วไป ช่องว่างนี้จึงทำให้ TULIP BAR (ทิวลิปบาร์) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2512

เธอเอาเงินเก็บสะสมจากกำไรการค้า 2 หมื่นกว่าบาทมาลงทุน กิจการฉลุยมีกำไร หลายปีต่อมา เธอเกิดความคิดอยากทำธุรกิจบันเทิงที่พัทยา จึงเทหุ้นที่ทิวลิปบาร์ขายทั้งหมด

พัทยา คือ แหล่งกำเนิดของ "ทิฟฟานี" ชื่อนี้ มาจากไหนหนอ !? ทำไม ... ต่อมาถึงโด่งดัง อลังการ ทำเงินมากมาย จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเมืองพัทยาในเวลาต่อมา

ทิฟฟานีโชว์ แบ่งเป็น 3 ยุค

ทิฟฟานีในยุคแรก (พ.ศ. 2517-2523)
เป็นธุรกิจของวิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสินเพียงคนเดียว เป็นบาร์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ ซึ่งเขาเซ้งต่อจาก "ทิฟฟานี ค็อกเทลเล้าจน์" ซึ่งเป็นบาร์ผู้หญิงทำกินไม่ขึ้น ขาดทุนทุกเดือน ผู้คนร้างเงียบ หลังเซ้งกิจการ จึงใช้ "ชื่อเดิม" ไม่ได้เปลี่ยน เพราะคิดว่า ทิฟฟานี เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของ "เพชรดี มีราคา" และมีประวัติยาวนานกว่าร้อยปีไม่ได้ไปให้หมอดูตั้งชื่อมงคลที่ไหน เรียกว่า "มากับดวง!" แท้ๆ ก็ว่าได้ เพียงแต่ “คิดต่าง” เปลี่ยน "กลุ่มเป้าหมาย" ขายความแปลกใหม่ก็กลายเป็นบาร์เกย์แห่งแรกในพัทยาทันที

เมื่อแรกเป็นบาร์เกย์สำหรับนั่งดื่ม ลูกค้าที่เป็นเกย์ใช้เป็นสถานที่นัดพบ คุย ชอบ และไปกันเอง ไม่เกี่ยวกับทางร้าน พอลูกค้ามากขึ้น ที่ทางของบาร์ก็แคบเกินไป จากร้านเล็กๆจึงมีการขยายบาร์ ปรากฏว่า คราวนี้ที่ทางกว้างขวาง คนเที่ยวแม้จะมากขึ้น แต่บาร์มีพื้นที่มากเกินไปและดูโหรงเหรง การปล่อยให้บาร์มีสภาพนี้ จะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงแก้ไข หากิจกรรมเข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

ในอดีตก่อนหน้านี้ คืนหนึ่ง ! ณ ทิวลิปบาร์ หัวมุมถนนคอนแวนต์ ในช่วงปีใหม่ จะมีโชว์พิเศษ โดยเธอเอาเด็กในสังกัดมาแต่งหญิง ร้องโชว์ลิปซิ้งค์ ขยับปากไปตามเพลง คนชอบกันมาก จึงเป็นไอเดียที่จะเอาการแสดงแบบนี้มาใช้กับบาร์ทิฟฟานี พัทยาใต้

คืนแรกที่ทิฟฟานี แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ ใช้นางโชว์เพียงคนเดียว โชว์ 7 เพลงรวด ! ... สองอาทิตย์ถัดมามีนางโชว์มาสมัครเพิ่มเป็น 2 คนและเพิ่มเป็น 3 คน จนถึง 8 คน ตามลำดับ จึงมีการตั้งคณะโชว์อย่างเป็นกิจลักษณะ จากนักแสดงจาก 8 คน ใช้เวลาประมาณหนึ่ง จึงเพิ่มเป็น 15 คน ! แกนหลักในยุคก่อตั้ง นอกจากเธอแล้ว ยังมี ตุ้ยดำ และ อ๊อด (สุภาพ แสงชูโต) อีกด้วย
เกณฑ์ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคนั้นคือ เปลี่ยนโชว์ทุก 6 เดือน โดยเก็บเพลงเดิมไว้ครึ่งหนึ่ง แล้วจัดเพลงใหม่เข้ามาเสริมเพลงที่คัดออก ซึ่งหมายความว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล โดยเฉพาะชุดโชว์ทั้งตัวเมน และลูกคู่ในแต่ละเพลงที่ต้องออกแบบ ตัดเย็บ ปักเลื่อม ฯลฯ ขนาดบาร์เล็กๆที่ยังไม่ใช่แบบโรงละคร ในปี 2517 ยังใช้เงินแต่ละคราวถึง 3-4 แสนบาท

หลังจากทำธุรกิจโชว์ที่พัทยาใต้เป็นเวลา 7 ปี ก็มีชาวต่างชาติมาติดต่อให้ไปโชว์ที่ประเทศเยอรมัน ! เป็นเวลา 4 เดือน บาร์ที่พัทยาใต้จึงปิดอยู่ช่วงหนึ่ง บาร์อื่นๆในเวลานั้น ยังไม่มีคณะใดที่ทำโชว์เช่นเดียวกับทิฟฟานี การไปเยอรมันในครั้งนั้น ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้กับนักแสดงและธุรกิจโชว์ของทิฟฟานีเป็นอย่างมาก คณะผู้ทำงานมีโอกาสศึกษาดูโชว์ต่างๆจากเมืองนอกเพิ่มเติมเพื่อเอามาประยุกต์ใช้กับคณะในเวลาต่อมา... ทั้งยังมีโอกาสไปโชว์อีกหลายประเทศในเวลาต่อมา

การเปลี่ยนโชว์ลิปซิ้งค์ในทิฟฟานีบาร์ พัทยาใต้ มาเป็นโรงละครที่พัทยาสายสอง เริ่มจากวันหนึ่ง สุธรรม พันธุศักดิ์ นักธุรกิจที่มีชื่อเสียงในเมืองพัทยา มาที่แหลมบาลีฮาย พัทยาใต้ เพื่อดูโชว์

สุธรรม เล่าไว้ในหนังสือ "อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ สุธรรม พันธุศักดิ์” ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2559ให้ฟังว่า

“นายอั้งตี๋ แซ่ลิ้มเป็นเจ้าของโรงแรมแบบบังกะโลเล็กๆอยู่ที่พัทยาใต้ ซึ่งเปิดการแสดงแบบคาบาเร่ต์ของสาวประเภทสอง แม้จะมีผู้แสดงอยู่เพียง 7-8 คน แต่ก็มีรถพานักท่องเที่ยวมาชมการแสดงอยู่มิได้ขาด แต่เป็นความโชคร้ายของนายอั้งตี๋ และเป็นความโชคดีของผมที่ทางเข้าไปสู่โรงละครนั้นเป็นทางแคบ รถคันใหญ่ที่จะพานักท่องเที่ยวเข้าไปชมการแสดงไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ นอกจากต้องใช้เส้นทางเล็กในการเข้าถึงโรงละคร จึงเป็นอุปสรรคของลูกค้าในการเข้ามาชมการแสดง จึงถือเป็นโชคดีที่เหมาะสำหรับผมซึ่งมีที่ดินที่เช่ามาถึง 7 ไร่ (เช่าต่อจากปริญญา ชวลิตธำรง) จึงเสนอนายอั้งตี๋ว่า หากเขาสนใจจะสร้างโรงละครใหม่ขนาด 400 ที่นั่ง บนที่ดินที่ผมถือสิทธิ์อยู่ ผมจะร่วมทุนด้วย โดยให้คุณอั้งตี๋มาเช่าโรงละครเอาสัญญาค่าเช่าค้ำประกัน ผมจึงสามารถกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพ 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 18 % ต่อปีมาสร้างโรงละคร ผมเชื่อว่า หากเราย้ายธุรกิจจากแหลมบาลีฮายมาเปิดการแสดงในโรงละครใหม่ที่ทันสมัยกว่า ใหญ่กว่า เราน่าจะมีธุรกิจที่รุ่งโรจน์ได้”

โรงละครทิฟฟานีเวทีกว้างขวาง ส่งผลให้ต้องเพิ่มนางโชว์อีกเท่าตัว ราว 30 คน และนี่คือ จุดเริ่มต้นของ "ทิฟฟานีโชว์" ที่พัทยาสายสองในระยะแรก การใช้จ่ายเงินในด้านต่างๆก็มากขึ้นเป็นทวีคูณ

“สำหรับโรงละครชั้นล่าง ผมได้เปิดสนามยิงปืนบริการให้เช่าสำหรับซ้อมยิง ... ครั้งละ 100 บาท และจำหน่ายลูกกระสุน นัดละ 10 บาท ก่อนหน้านั้น นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมการยิงปืน และมักจะเช่าเรือออกไปยิงขวดเบียร์ในระยะ 4-5 เมตร เป็นเหตุให้เศษแก้วแตกกระจายอยู่ตามชายฝั่ง ผมรู้สึกเป็นกังวลเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อม จึงมาจัดที่เฉพาะไว้เป็นที่บริการ”

ยุคที่ 2 (พ.ศ. 2523 - 2541)

“ปีแรกที่โรงละครทิฟฟานี (Tiffany) เปิดการแสดงที่ถนนพัทยาสายสอง กิจการมิได้เป็นไปดั่งคาด มีแขกบ้าง ไม่มีบ้าง คาดหวังอะไรไม่ได้”
ช่วงนั้นมีสงครามตะวันออกกลางที่อ่าวเปอร์เซีย ! อยู่ด้วย
จนวันหนึ่ง อั้งตี๋สารภาพกับสุธรรมว่า คงจะไปไม่ไหว อยากถอนตัว ! หยุดกิจการ เพราะบางเดือนก็พอมีเงินจ่ายค่าเช่า , บางเดือนถ้าหมุนเงินไม่ทัน ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า

“ผมจึงขอร้องนายอั้งตี๋ว่า อย่าเพิ่งถอนตัวทันที ขอเวลาให้ผมอีกหน่อย ผมยอมที่จะรับภาระเรื่องการเงินและการบริหารจัดการ แต่ต้องขอให้นายอั้งตี๋ควบคุมการแสดง หรือเรื่องโปรดักชั่น
เมื่อผมมาจัดการด้านบริหาร ธุรกิจเริ่มมีระบบขึ้น กิจการก็ดีขึ้นตามลำดับ เพียงในระยะเวลาสามถึงสี่ปี ยอดขายพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมต้องขยายโรงละครถึงสามครั้ง จาก 400 ที่นั่ง ในปัจจุบันโรงละครสามารถจุผู้ชมได้ถึงสองเท่าครึ่งเป็น 1,000 ที่นั่ง การแสดงทิฟฟานีเป็นที่ลือลั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่นิยมความแปลกใหม่ที่น่าตื่นเต้นของสาวประเภทสอง เปิดโอกาสให้คนทั้งโลกเข้ามาชมได้อย่างตื่นเต้น กล่าวได้ว่า ที่นั่งในทิฟฟานีเต็มแน่นทุกรอบ นักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่มาเที่ยวพัทยา มักไม่พลาดการแสดงของทิฟฟานี จนทิฟฟานีกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนพัทยา หรืออาจจะกล่าวอย่างเต็มปากได้ว่า ทิฟฟานีมีส่วนสำคัญในการสร้างพัทยาจนเป็นที่กล่าวขานก้องโลก”

ทางสังคมช่วงนี้กลุ่มเกย์เริ่มเติบโตชัดเจนขึ้น ในด้านคู่แข่ง มีคาบาเร่ต์ผุดขึ้นมากมาย ทั้งประเภทโรงละคร และคณะโชว์ต่างๆ ซึ่งบาร์เป็นเจ้าของคณะเองก็มี, คณะโชว์อิสระก็มี ส่วนคุณภาพการโชว์แต่ละประเภทก็ลดหลั่นกันไป

ช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2541 - ปัจจุบัน)
อลิสา พันธุศักดิ์ ลูกสาวของสุธรรม ได้ก้าวมาเป็นเจ้าของและผู้บริหารทิฟฟานีอย่างเต็มตัว ทิฟฟานี โชว์จุผู้ชมได้ 1,000 ที่นั่ง ...กรุ๊ปทัวร์ขยายจากชาวจีน เป็นเกาหลี เวียดนาม และยุโรป และยังส่งเสริมการประกวดMiss International Queen และ Miss Tiffany’s Universe อีกด้วย

“ในปี ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ผมเดินทางไป Los Angeles พร้อมด้วย ดร. เสรี วงษ์มณฑา และคุณอั้งตี๋ เพื่อเป็นตัวแทนและกำลังใจแก่ผู้เข้าประกวดฝ่ายเรา เมื่อกลับมาเราเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาว่า ถึงเวลาที่เราควรจะจัดการประกวดเสียเองที่เมืองไทย เราให้ชื่อการประกวดของเราว่า Miss International Queen .... เป็นโอกาสทองของสาวประเภทสองที่ได้ประกาศตัวอย่างเชิดหน้าชูตา ที่สำคัญ กลายเป็นอีเว้นท์ที่ได้รับการตอบรับอย่างยิ่งใหญ่ของกลุ่มเกย์ทั่วโลกที่ยินดีในการยอมรับสถานภาพทางเพศและสิทธิมนุษยชนของตน ทุกๆปี Miss International Queen Event ที่พัทยาทำรายได้ไม่แพ้งาน Mardri Gras ในประเทศอื่นๆ”

หมายเหตุ - ผลงานทางธุรกิจของสุธรรม พันธุศักดิ์ อาทิ บ. ทิฟฟานี โชว์ พัทยา, บ. พัทยาสปอร์ต บาซาร์, Woodlands Group, บ. ลา บาเก๊กต์ นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์ทางลูกเสือมากมาย และประสบการณ์ทางการเมืองก็มากมายเช่นกัน เช่น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2557-2559), สมาชิกวุฒิสภา (2554-2557), สมาชิกสภาเทศบาลเมืองพัทยา 4 สมัย และกิจกรรมสังคมด้านอื่นๆ

นายทุน "เพลงสุดท้าย" !

"...แสงตะวัน แสงจันทร์ แสงดาวพร่างพราว เป็นประกายแต่ตัวฉัน เป็นเพียงแสงไฟ
ใกล้ริบหรี่ อยู่ในแสงเทียน
เจ็บปวดทั้ง กายและใจเป็นเพราะชายคนนั้นทิ้งความเศร้า ไว้ให้กับฉันดั่งใจฉัน ใกล้ดับ พร้อมกับแสงเทียน..."

นี่คือเพลงสุดท้าย ที่เขียนคำร้องโดย จิตนาถ วัชรเสถียร ... ต้นฉบับขับร้องโดย สุดา ชื่นบาน เพื่อเป็นเพลงโชว์ในฉากไฮไลท์ประกอบภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน
เพลงนี้ถือเป็นเพลงประจำตัวของ "เม้า" สุดา ชื่นบาน ซึ่งเป็นที่รู้จักและยังร้องโชว์ตราบเท่าวันนี้ ...

เพลงสุดท้าย คือ ภาพยนตร์เรื่องแรกของเมืองไทย ที่มีเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวกับเกย์ - กะเทย - ทอม -ดี้ และแวดวงนางโชว์ในวงการคาบาเรต์ และเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ไทยมี "กะเทย" (ผู้หญิงข้ามเพศ) เป็นตัวเอกของเรื่อง !

บทบาทของ "ชลิต เฟื่องอารมย์" (2528)และนิรุตต์ ศิริจรรยา (2549)ในบท "ซ้อเทือง" หรือ ประเทืองใน "เพลงสุดท้าย" แท้จริงแล้วคือ ภาพชีวิตเสี้ยวหนึ่งของ วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน คนนี้ !

แม้ว่า ตอนเด็ก เธอจะเคยคิดอยากจะสร้างหนังตามประสาคนช่างฝัน แต่ชะตาก็ลิขิตให้มาทำโชว์ !

วันหนึ่ง ปี 2526 พิศาล อัครเศรณี สร้างภาพยนตร์เรื่อง หัวใจทมิฬ (สรพงษ์ ชาตรี, สุพรรษา เนื่องภิรมย์) มาติดต่อเพื่อขอใช้ โรงละครทิฟฟานี ในการถ่ายทำภาพยนตร์ แล้ว "เปี๊ยก" พิศาล อัครเศรณี อดีตพระเอกตบจูบ และผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้ล่วงลับ (21 มิถุนายน พ.ศ. 2488 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561) ก็อยากรู้ชีวิตของคนเพศที่สาม ! จึงถาม หาความรู้จากการคุยกับอั้งตี๋!

"ชีวิตกะเทย...น่าสงสาร" เธอเล่าเรื่องราวฉากชีวิตทั้งสุขและทุกข์ของเธอให้พิศาลฟังอย่างไม่อำพราง จนพิศาลเกิดแรงบันดาลใจในการทำหนังทันที และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เพลงสุดท้าย" ! ในเวลาต่อมา
พิศาลชักชวนเธอร่วมหุ้นทำภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยกัน ตอนแรก เธอปฏิเสธเพราะงานทิฟฟานีล้นมืออยู่แล้ว ! ผู้กำกับคนดัง เห็นว่า เธอคลุกคลีอยู่ในวงการคณะโชว์ น่าจะมองอะไรที่ทะลุกว่าเขา ซึ่งมีความถนัดในเรื่องการกำกับการแสดงเพียงอย่างเดียว

ต่อมา เมื่อเธอพิจารณาถึงภาพรวมเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสทองของทิฟานีโชว์ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ จึงเสนอดาวเด่นของทิฟฟานีในสมัยนั้นอย่าง "สมหญิง ดาวราย" ("ต่าย" สมนึก ชาติพุดซา )เป็นตัวเอกของเรื่อง
ทุกอย่างลงตัว คุยกันรู้เรื่อง เธอตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนร่วมทำหนังเรื่องนี้ ในฐานะ "ผู้อำนวยการสร้าง" ในนาม “วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน”

เพลงสุดท้าย (2528) พระ-นางคือ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ / สมหญิง ดาวราย พิศาล อัครเศรณีเป็นคนเขียนบท โดยใช้ชื่อ "วรรณิศา" และกำกับภาพยนตร์ สร้างในนาม "อัครเศรณีโปรดักชั่น"
ในหนัง - ก่อน สมหญิง ดาวรายจะขึ้นโชว์เพลงไฮไลท์ ภายในห้องแต่งตัวของคณะโชว์ เพื่อนๆรายล้อม ปลอบใจเธอ ...

"อีหญิงพวกกูรักและเห็นใจมึงทุกคน กูก็เคยเจ็บเหมือนมึง เหล้าที่มึงกินไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะ / เที่ยวสิวะ หลอกแม่งให้ดะไป / ดูดให้ซีด / ยึดโลกเป็นของเรา / หลอกมาสมรส / แยงแล้วทิ่ม / ปิดปมของเราไว้ อย่าให้ใครรู้ว่า เรามีกรรม / มันช่วยไม่ได้ ที่พวกเราเกิดมาเป็นพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว / ใช้มันให้คุ้มสิวะ อีหญิง ทั้งมืดและสว่าง"

"ขอบใจเพื่อนทุกคนที่รักและดีกับกูมาตลอด รักเดียวใจเดียวเป็นกะเทยที่โง่ กูจะอยู่กับพวกเราทุกคน กูเกิดที่นี่ก็ขอตายที่นี่"

พล็อตเรื่องว่า
"สมหญิง ดาวราย ดาวเด่นของทิฟฟานี่โชว์เคยเชื่อว่า "ไม่มีรักแท้ในเพศที่สาม" เพราะเห็น"ซ้อเทือง" กะเทยรุ่นใหญ่ เจ้าของทิฟฟานี ซึ่งสมบูรณ์พร้อม แต่ต้องทุรนทุรายเพราะความรักเมื่อ "บดินทร์" เด็กหนุ่ม นักร้องหน้าม่าน กอบโกย ผละหนี "บุญเติม" นักร้องหนุ่มคนใหม่ จากการปลุกปั้นของซ้อเทืองกับสมหญิงเข้าสู่วงการ ... สมหญิงชื่นชมในความซื่อและเป็นคนดี เธอดิ่งลึกหลงรักบุญเติม ขณะที่บุญเติมให้คำมั่นกับ "อรทัย" สาวคนรักที่เคยเป็น "ดี้" มาก่อน สุดท้ายบนเวที... สมหญิง ดาวรายโชว์เพลงสุดท้ายและใช้ปืนจ่อขมับฆ่าตัวตายบนเวทีคาบาเรต์โชว์"

พิศาล แยกข้อมูลจาก “ชีวิตอั้งตี๋” ออกเป็น 2 ตัวละคร ด้านหนึ่งผ่านตัวเอกของเรื่องอย่าง "สมหญิง ดาวราย" และอีกตัวในบท "ซ้อเทือง" !

ในโชว์การ์ด หนังเรื่องนี้ พิศาล กล่าวว่า

"หัวใจชายอยู่ในร่างเธอ หัวใจหญิงอยู่ในร่างเขาความรักที่เกิดขึ้น มีหรือจะไม่เจ็บปวด ขมขื่น และผิดหวังทุกคน ทุกชีวิตที่มีหัวใจ ย่อมเรียกร้องและใฝ่หา "ความรัก" เพื่อความชื่นบานของชีวิต
เมื่อรักได้ ก็สมรักได้ เมื่อหวังได้ ก็ผิดหวังได้คงไม่ยากนักหรอกที่จะสมหวัง ถ้ารักนั้นเป็นรักในรูปแบบ หญิงรักชาย และชายรักหญิงแต่... เมื่อไหร่ ชายรักชาย และ หญิงรักหญิง โอกาสที่จะสมหวัง ก็มีอยู่น้อยเหลือเกิน ... แค่จะออกปากฝากรัก ก็มีอุปสรรคเสียแล้วแทนการรับรัก อาจกลายเป็นเสียงหัวเราะเยาะหยัน
ชีวิตจึงเหมือน ยืนอยู่ลำพังคนเดียวในโลก อ้างว้าง ว้าเหว่เดินไปคนเดียว บนทางสายเปลี่ยว ที่มีน้ำตาเป็นเพื่อน และทุกครั้งที่ฟังคำว่า "คู่สร้าง-คู่สม" ก็คงมีแต่ความสะท้อนใจชีวิตของเขาจะพบ "คู่สร้าง-คู่สม" อย่างเราๆท่านๆบ้างไหม ?
ดูชีวิตและเรื่องราวของ "เพศที่สาม" ใน "เพลงสุดท้าย" และช่วยบอกที... ยุติธรรมอยู่ที่ไหน ?

ด้วยรักและสุจริตใจ พิศาล อัครเศรณี"

หลังภาพยนตร์ เพลงสุดท้าย (2528) เธอและพิศาล อัครเศรณี ได้ร่วมกันสร้าง "เพลงสุดท้าย (ภาค 2)" หรือ "รักทรมาน" (2530)กำหนดให้ สมหญิง ดาวราย ที่เสียชีวิตในภาคแรกมีฝาแฝด ชื่อ "สมนึก" ที่หน้าตา บุคคลิก ใกล้เคียงกับพี่สาว ! กลับมาล่อลวง "บุญเติม" ให้รู้จักคำว่า "เจ็บ" เพลงเอกคือ "รักทรมาน" ของ อรวรรณ วิเศษพงษ์ อดีตนักร้องหญิงวง The Green Apple
ในช่วงนี้ พระ-นางของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายแฟชั่นให้กับนิตยสารเกย์เพื่อโปรโมตภาพยนตร์ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ โชว์บอดี้ในแนวสปอร์ต ส่วนสมหญิง ถ่ายแบบเสื้อผ้าในแนว Street Fashion

ผ่านปี 2528 เพลงสุดท้าย เคยรีเมกอีก 2 ครั้ง

ปี 2549 พิศาล อัครเศรณี ทำ "เพลงสุดท้าย" อีกครั้ง ! (สหมงคลฟิล์ม) พระ- นางคือ วชรกรณ์ ไวยศิลป์, อารยา อริยะวัฒนา ไตเติ้ลเครดิต วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน ควบคุมการสร้าง เพลงเดิม เปลี่ยนคนร้องเป็น คณาคำ อภิรดี ปรับเปลี่ยนพล็อต ตัวละครบางส่วนเพื่อความเหมาะสมกับยุคสมัย

เดือนพฤศจิกายน 2560 บทภาพยนตร์ถูกปรับเป็นละครเวที แปลงบทโดย เมธาวิน ศรีวโรทัย,ผศ.ดร. ชุติมา มณีวัฒนา จัดแสดงที่โรงละครศิลปกรรมศาสตร์ วิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

ดูลิปซิ้งค์โชว์ที่บาร์ SECOND TIPS

ช่วงนั้น นอกจากทำหนังแล้ว วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสินยังดูแลบาร์อีกแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ด้วย
ปี 2529 เริ่มทำบาร์ "Second Tips" Cocktail Lounge & Cabaret Shows บริเวณเลขที่ 90/79 ข้างโรงภาพยนตร์โอเอ ถนนราชปรารภ (ปัจจุบันรื้อไปแล้ว) และค่ำคืนไหน ที่เธอเดินทางจากพัทยาเข้ากรุงเทพฯ เธอจะนั่งอยู่ที่มุมเคาน์เตอร์บาร์ สายตาอันคมกริบของเธอ สาดมองพนักงานทุกคน ตรวจตราความเรียบร้อย ... ตั้งแต่นางโชว์ พนักงานต้อนรับหนุ่ม และพนักงานฝ่ายอื่นๆ สถานบันเทิงแห่งนี้จะมี "ลิปซิ้งค์โชว์" สลับคั่นด้วย "อะโกโก้บอย" ซึ่งเป็นความนิยมในสมัยหนึ่งของสถานบันเทิงสำหรับชาวสีรุ้ง

ยุคหลังภาพยนตร์เพลงสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงครบรอบปีของบาร์ ได้ทำละครเวทีกึ่งโชว์ เรื่อง "บนเส้นทางของนางโชว์" ใช้ "สมหญิง ดาวราย" เป็นจุดขาย โดยอั้งตี๋เป็นคนพล็อตเรื่องเอง และใช้เพลงดังมาก ภาษากวางตุ้งชื่อ “ซุ่นเลาอี่เลา" (順流逆流) ของสวีเสี่ยวฟ่ง หรือ Paula (徐小鳳) เป็นเพลงเอก ! เพราะในช่วงเวลานั้น ละครเวทีที่ มณเฑียรทองเธียเตอร์ อย่าง “ฉันผู้ชายนะยะ” กำลังได้รับความนิยม

โชว์คาบาเรต์ที่นี่จะแบ่งเป็น 3 รอบ เพลงไม่เหมือนกัน ! ...
เหล่านางโชว์สมัยนั้นอาทิ สิทธิ์,ป็อด, เทพ, ป้ากิ่ง, ไก่ฟู, รูดี้, ฟิต, มล ฯลฯ ...โลดแล่นพริ้วลีลาบนเวทียกพื้น นักเที่ยวจะนั่งดื่มที่โซฟาเตี้ยในมุมต่างๆของทางร้าน

เพลงโชว์ในยุคคลาสสิกสมัยนั้นมีเพลงอะไรกันบ้าง ... ยกเป็นตัวอย่างจากเพลงที่ได้ชม-ฟังจนคุ้นหูในสมัยนั้น เช่น

เพลงสากล อาทิ เพลงของ Elaine Paige, Shirley Bassey, Paul anka

Lydia Murdock -Superstar
Elaine Paige- One night only,Memory, Don't Cry for Me Argentina
Shirley Bassey- Goldfinger, Diamonds Are Forever , Big Spender , I Who have nothing(โชว์ตลก)
Paul anka -One Man Woman/One Woman Man

เพลงจีน อาทิ
少女慈禧 เพลงจากภาพยนตร์โทรทัศน์ “ซูสีไทเฮา” ร้องโดยหลิวอิ่งหง(柳影紅)

天女散花(นางฟ้าโปรยดอกไม้) เพลงประเภท "หวังเหมยเตี้ยว" จากภาพยนตร์ "จอมใจจักรพรรดิ" ของชอว์บราเดอร์ส ร้องโดย Tsin Ting(靜婷)

เติ้งลี่จวิน หลายเพลง อาทิ 卖肉粽 (เซียวบะจ่าง - โชว์ตลก) , เถียนมี่มี่ (甜蜜蜜)

เพลงไทย อาทิ เพลงสุดท้าย (สุดา ชื่นบาน) , รักทรมาน (อรวรรณ วิเศษพงษ์) , ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน (พุ่มพวง ดวงจันทร์) ยายฉิมเก็บเห็ด (เตือนใจ บุญพระรักษา - โชว์ตลก) เป็นต้น
..........ฯลฯ..........

SECOND TIPS ไม่ได้มีเฉพาะนักเที่ยวในกลุ่มเกย์-กะเทยเท่านั้น สังคมยุคนั้นเริ่มเปิดกว้างให้ผู้หญิงเข้ามาสัมผัส เรียนรู้กับบาร์ประเภทนี้มากขึ้น และต่อมา เธอได้เปิดบาร์ชื่อ ไนซ์กายส์ (Nice Guys) เน้นกลุ่มเป้าหมายนักเที่ยวซึ่งเป็น "ผู้หญิง" และมีผู้ชายเป็น "บริกร" ที่ Park Avenue เอกมัย ...

เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เขาปิดฉากธุรกิจ ใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวและเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของโลก LGBT จนสู่วาระอันสมควร... ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563

เธอเป็นตำนานของเพชรดี มีราคาและมีค่าในตัวเอง ในชื่อ "ทิฟฟานี โชว์" ที่ทำให้ชาวสีรุ้งมีความสุข .... นับเริ่มจากวันนั้นถึงวันนี้ ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ยอมรับความหลากหลายทางเพศกว่าเมื่อก่อน แม้จะยังไม่บรรลุเป้าของความเท่าเทียมกันของมนุษย์อย่างที่ควรจะเป็นก็ตาม

วิชัย เลิศฤทธิ์เรืองสิน หรือ อั้งตี๋ แซ่ลิ้ม ต้นคิด ผู้บุกเบิก ทิฟฟานี และ เพลงสุดท้าย

โปสเตอร์ภาพยนตร์ เพลงสุดท้าย (2528) บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, สมหญิง ดาวราย

Pisal Biography จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปานกิจศพ ‘พิศาล อัครเศรณี’ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561 ณ วัดเทพศิรินทราวาส

โชว์การ์ด กับความในใจของพิศาล อัครเศรณี

โชว์การ์ดของภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย

โชว์การ์ดของภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย

โชว์การ์ดของภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย

โชว์การ์ดของภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย

โชว์การ์ดของภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย

โปสเตอร์ เพลงสุดท้าย รุ่น 2  (2549) วชรกรณ์ ไวยศิลป์, อารยา อริยะวัฒนา

ภาพในฉากจากภาพยนตร์เพลงสุดท้ายรุ่น 2

นิรุตต์ ศิริจรรยา รับบท ซ้อเทือง เจ้าของทิฟฟานี ใน เพลงสุดท้าย รุ่น 2

โปสเตอร์ละครเวทีเรื่อง เพลงสุดท้าย ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา

นักแสดงนำ - เสรี วงษ์มณฑา, สมหญิง ดาวราย และ ชลิต เฟื่องอารมย์ในบท ซ้อเทือง คนแรก จากภาพยนตร์ เพลงสุดท้าย ถึง รักทรมาน

โปสเตอร์ รักทรมาน (เพลงสุดท้าย ภาค 2)

The Legendary Life of A True Scout  จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ  สุธรรม พันธุศักดิ์ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2559

สุธรรม เล่าเรื่อง ทิฟฟานี ไว้ใน The Legendary Life of A True Scout

สุธรรม เล่าเรื่อง ทิฟฟานี ไว้ใน The Legendary Life of A True Scout

สุธรรม เล่าเรื่อง ทิฟฟานี ไว้ใน The Legendary Life of A True Scout

ครอบครัวพันธุศักดิ์ ภาพแถวบน คนที่ 3 คือ อลิสา ลูกสาวสุธรรม ปัจจุบันคือ ผู้บริหารโรงละครทิฟฟานี พัทยา และภรรยาของ อั๋น ภูวนาท คุนผลิน

ต่าย สมหญิง ดาวราย (ชื่อจริงคือ สมนึก ชาติพุดซา) ขณะกำลังโชว์ลิปซิ้งค์ ที่บาร์เซคั่นทิปส์

เม้า สุดา ชื่นบาน ขณะกำลังโชว์ เพลงสุดท้าย ในรายการ The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ทางช่อง วัน 31 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม ปีที่แล้ว

สวีเสี่ยวฟ่ง นักร้องเพลงกวางตุ้ง ที่อั้งตี๋ เอาเพลงเก่งของเธอ “ซุ่นเลาอี่เลา (順流逆流) มาเป็นเพลงประกอบละครเวที เรื่อง บนเส้นทางของนางโชว์  ในช่วงครบรอบปีของบาร์เซคั่นทิปส์

นักร้องตัวแม่ระดับตำนาน Shirley Bassey ที่นางโชว์มักเลือกเพลงของเธอมาขยับปากบนเวที

บทเพลงคุ้นหูของนักร้องจีนตัวแม่ เติ้งลี่จวิน (ผู้ล่วงลับ) ในยุคนั้น มักถูกนำเพลงมาโชว์ด้วยเช่นกัน

One Man Woman/One Woman Man  ของ Paul anka ในยุคนั้น จะโชว์แบบครึ่งชาย-หญิงในร่างเดียวกัน

Elaine Paige นักร้องเสียงดีอีกคนหนึ่งของวงการที่นางโชว์ในยุคนั้น มักหยิบเพลงของเธอมาโชว์บนเวที

ภาพนี้ จากเรื่อง จอมใจจักรพรรดิ ของชอว์ บราเดอร์ส ที่ดังมาก - อั้งตี๋ เลือกเพลง天女散花 หรือ นางฟ้าโปรยดอกไม้ ในหนังคลาสสิกเรื่องนี้มาอยู่บนเวทีโชว์

นี่เป็นแผ่นเสียงของ LYDIA MURDOCK เพลงโด่งดังของเธอคือ Superstar เมื่อบาร์เซคั่นทิปส์ จะโชว์เพลงนี้ นางโชว์จะขยับปาก จูงมือ แนะนำ บริกรหนุ่มหล่อ ของทางร้านบนเวที !


กำลังโหลดความคิดเห็น