xs
xsm
sm
md
lg

“เคว้ง” ออริจินัลซีรีส์ไทยเรื่องแรกของ Netflix

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เคว้ง” ออริจินัลซีรีส์ไทยเรื่องแรกของ Netflix

วันนี้ Netflix ผู้นำความบันเทิงยักษ์ใหญ่ระดับโลก จับมือร่วมกับ GMM Grammy และ H2L Media Group สร้าง ‘เคว้ง’ (The Stranded) กำกับการแสดง โดยผู้กำกับมากฝีมืออย่าง จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ อำนวยการสร้างโดย เอกชัย เอื้อครองธรรม, แกรี่ เลวินสัน, คริสเตียน เดอร์โซส์, สตีเวน ซิมส์, บิลลี่ ไฮน์ รวมถึงยังได้ทีมงานนานาชาติจาก ลอสแองเจลิส สิงคโปร์ และประเทศไทย ที่มาช่วยเติมเต็มกับผลงานเรื่องนี้

“เคว้ง” ซีซั่นแรก ในแนว “ดราม่า-ไซไฟ-แฟนตาซี” มีทั้งสิ้น 7 ตอน ให้ชมพร้อมกันทั่วโลก 190 ประเทศ ในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562 คาดว่า จะมีผู้ชมถึง 150 ล้านคน !

“เคว้ง” เป็นเรื่องราวของ ‘คราม’ เด็กหนุ่มวัย 18 ปี พร้อมด้วยเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังประจำเกาะปินตู เกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งทางตอนใต้ของไทย ได้กลายเป็นผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติสึนามิครั้งใหญ่ในฝั่งทะเลอันดามัน ทำให้นักเรียนสามสิบกว่าชีวิตต้องพยายามเอาตัวรอดอยู่บนเกาะที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังนี้ให้ได้ ในระหว่างที่ความช่วยเหลือยังไม่มีวี่แววว่าจะมาถึง นอกจากการต้องต่อสู้กับความลำบากหลังภัยพิบัติครั้งใหญ่กันโดยลำพังแล้ว เด็ก ๆ ยังต้องรับมือกับเหตุการณ์ปริศนาที่เริ่มจะแปลกประหลาดขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน ระหว่างที่ความเลวร้ายกำลังย่างกรายใกล้เข้ามาในทุกขณะ คราม จึงต้องลุกขึ้นเป็นผู้นำในการช่วยเหลือตัวเองและพาเพื่อน ๆ ให้สามารถรอดพ้นสถานการณ์เหล่านี้ไปให้ได้

ซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ได้โฟกัสเรื่องผจญภัยหรือเด็กติดเกาะพบภัยพิบัติ สิ่งหนึ่งที่ทั้งฝั่งผู้กำกับฯ และทีมผู้สร้างทุกฝ่ายเชื่อคือ ความเป็นไทยซึ่งมีวัฒนธรรมโดดเด่นมาก นั่นคือเรื่องความเร้นลับ ตำนาน เรื่องเล่า หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถทำให้กลายเป็นจุดขายสำคัญได้

ซีรีส์เรื่องนี้ นำทีมนักแสดงโดยแถวหน้าของวงการอย่าง นก-สินจัย เปล่งพานิช พร้อมด้วยนักแสดงรับเชิญรุ่นใหญ่อย่างคู่สามีภรรยา ตั้ว-ศรัณยู และ เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง รวมถึงเหล่าดารานักแสดงชั้นนำของไทยทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ มาร่วมแสดงในผลงานยิ่งใหญ่ครั้งแรกนี้ อาทิ เมฆ-หัฒศนัย (วินัย) ไกรบุตร, บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์, แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช, มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, แจ็ค-กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา, โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ ฯลฯ

ก่อนจะมาเป็น “เคว้ง”
ผู้กำกับฯ “จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฎ์” เคยมีผลงานเป็นที่รู้จักกันดีหลายเรื่อง เช่น ลัดดาแลนด์, เพื่อนที่ระทึก, ฝากไว้ในกายเธอ หรือ โปรแกรมหน้าวิญญาณอาฆาต เป็นต้น
ส่วน “เอกชัย เอื้อครองธรรม” ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ดีกรีระดับโลก จาก GMM Bravo ในเครือของ GMM Grammy มารับหน้าที่ “อำนวยการสร้าง”
ไอเดียตัวบท มาจาก H2L Media Group บริษัทผู้ผลิตซีรีส์และภาพยนตร์สัญชาติอเมริกา เมื่อ Netflix ประทับใจกับไอเดียดังกล่าว จึงนำเสนอมาทาง GMM Grammy จากนั้นเมื่อทุกอย่างลงล็อกแล้ว ทีมเขียนบทก็รวมตัวกันขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 8 คน รวมเป็นผู้สร้างฝั่งไทย และ H2L Media Group ผสานพลังสร้างสรรค์ผลงาน

“เคว้ง” เป็น Netflix Original ของไทยเรื่องแรก และซีรีส์เรื่องนี้จะถูกพัฒนาเป็น “ซีรีส์หลายซีซั่น” จบแบบ Cinematic series ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการเล่าเรื่องในแบบของ Netflix ที่ไม่ได้มีเรื่องตอนเดียวแล้วจบบริบูรณ์
“เคว้ง” เป็นซีรีส์ที่มีทั้งความเป็นท้องถิ่นและความเป็นสากลรวมอยู่ในเรื่องเดียว ประเทศไทยมีต้นทุนเดิมอยู่มากในแง่ของความเชื่อ เรื่องเล่า ประเพณี และเอกลักษณ์ประจำถิ่น โดยให้ตัวละครขับเน้นเรื่องมิตรภาพ ความผูกพัน รวมถึงการเอาตัวรอดท่ามกลางความโหดร้ายหลังภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกคนล้วนรู้สึกเชื่อมโยงด้วยอย่างเป็นสากลไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตาม จนกลายเป็นซีรีส์เรื่องแรกจากไทย และเป็น 1 ใน Netflix Original ของฝั่งเอเชียได้อย่างไม่ต้องสงสัย

นักแสดงเจ้าบทบาทรุ่นใหญ่ “สินจัย เปล่งพานิช” กล่าวถึงการทำงานกับซีรีส์เรื่องนี้ว่า
“ได้อ่านบททั้งหมด รู้สึกเหมือนดูซีรีส์ Netflix แหละ คือต้องรอติดตามเรื่องราวต่อไปเรื่อย ๆ
เป็นการทำงานและเล่าเรื่องแบบชาวต่างชาติ นี่คือส่วนที่ดีสำหรับนักแสดง หลาย ๆ อย่างเวลาเราเล่นละคร
เล่นหนัง บ่อยครั้งที่เราได้บทไม่ครบ ได้บททีหลัง หรือได้แต่เรื่องย่อก่อน พอถึงเวลาแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันไม่ถูกต้องนัก แต่อันนี้ทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ แล้วก็มีการคุยกันถึงเป้าหมายคิดว่านี่เป็นการทำงานที่ดี”

บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ นักแสดงผู้รับบท “คราม” นักแสดงหน้าใหม่ที่ต้องมาเป็น “ตัวละครหลัก” ใน Netflix Original เรื่องแรกของไทย ประกบกับนักแสดงชั้นครูและนักแสดงรุ่นเดียวกัน กล่าวว่า
“ในแง่ของบท ตัวละคร จริง ๆ ผมว่าบทไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่ว่ามันหลากหลายขึ้นสำหรับเรา เพราะเราไม่เคยได้รับบทที่มันหลากหลายขนาดนี้ในหนึ่งเรื่อง แล้วเรื่องนี้ตัวละครมันหลากหลายมากเลย ซึ่งความยากมันคือ การที่เราต้องทำทุกความหลากหลายให้แสดงออกมาได้ในหนึ่งตัวละคร โดยลักษณะภายนอกแล้ว ตัวผมจะเป็นคนที่มีพลังงานค่อนข้างสูง เป็นคนรักสนุก เป็นคนเฮฮา เป็นคนสนุกสนาน แต่ครามไม่ใช่คนแบบนั้น ครามจะเป็นคนค่อนข้างรีแลกซ์ ชิลล์กับทุกอย่าง ซึ่งลักษณะกายภาพภายนอกของผมกับครามจะออกมาไม่เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่ยากสุดเลยสำหรับผม คือการปรับเปลี่ยนลักษณะภายนอกให้เป็นครามได้

ฉากหลัง “เคว้ง”
เบื้องหลังอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเสาหลักของทีมโปรดักชั่นดีไซน์คือ “ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ” (ชื่อเดิมคือ ศักดิ์ศิริ จันทรังษี) ผู้ออกแบบงานสร้าง และเป็นผู้กำกับศิลป์แห่งวงการโฆษณาและภาพยนตร์ไทย บุคคลผู้อยู่เบื้องหลังผลงานมีชื่อหลายเรื่อง อาทิ แฝด นางไม้ หรือ ทวิภพ เป็นต้น
นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งแรกของ โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ กับ พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ

“ตั้ม-พวัสส์ สวัสดิ์ชัยเมธ” ในฐานะ “ผู้ออกแบบงานสร้าง”
การทำงานครั้งนี้ ต้องสร้างเกาะขึ้นมา ก็ต้องรู้ถึงขนาดพื้นที่ของเกาะ สภาพภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สภาพอากาศ ฯลฯ แล้วลงรายละเอียดในการสร้างโปรดักชั่น ทั้งยังมีโทนสีของหนัง รวมถึง CGI (Computer Generated Imagery) ซึ่งเป็นการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยสร้างการทำเทคนิคเหนือจริงต่าง ๆ ในการทำงานด้านโปรดักชั่น และส่วนที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นฉากหลัก อย่าง ตัวอาคารโรงเรียน

“เกาะในเรื่องของเราชื่อเกาะ พินตู เป็นรากศัพท์ภาษามลายู แปลว่า Exit (ทางออก) เกาะนี้จริง ๆ ผมกับจิมเราทำงานด้วยกัน แล้วเราค่อนข้างแคร์กับความเป็นจริงของมันมาก เราหาพิกัดของมันด้วยนะ ว่าถ้าเกิดเกาะนี้มันอยู่ในอันดามันจริง ๆ มันจะต้องอยู่ตรงไหน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่เราใช้เล่า”
ซีรีส์เรื่อง “เคว้ง” เลือกสถานที่ถ่ายทำในหลายโลเกชั่น ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ, กระบี่, ราชบุรี, ชุมพร, ตรัง, เกาะสีชัง ทุกสถานที่ล้วนแต่มีรายละเอียดในการสร้างโปรดักชั่นต่างกันออกไป”

เขายกตัวอย่างการทำงานในพื้นที่อย่างชุมพรให้ฟังว่า
“ที่ชุมพรเราเลือกเป็นโลเกชั่นสำคัญ เพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ส่วนของน้ำทะเลจะใกล้ชิดฝั่งอันดามัน ชุมพรจะดีสุดถ้าเป็นช่วงมิถุนายน ดังนั้นการวางตารางคิวถ่าย เราจะเลือกชุมพรเพราะว่าเป็นโลเกชั่นที่ดีสุด สองมันเป็นการทำงานบนพื้นดิน พูดง่าย ๆ ว่ากองถ่ายสามารถทำงานได้จริง ถ้าเราทำงานบนเกาะมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่นี่ควบคุมได้หมด ทุกอย่างนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเรามาทำที่ตรงนี้ จริง ๆ โลเกชั่นนี้ก็ได้รับการยอมรับกันอยู่แล้วแหละว่าดี ในกลุ่มกองถ่ายสากลที่เข้ามาบ่อย ๆ ในบริเวณนี้ เราก็ได้ทำการวางแผนไว้ตั้งแต่ต้น เพราะเราเชื่อว่าในเวลานี้ของปี ตรงนี้คือที่ที่ดีที่สุด เราเรียกว่า Main Beach คือสถานที่หลัก”

และเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังการทำงานยังมีอีกมากมาย พิสูจน์การทุ่มเทการทำงานทุกภาคส่วนขนาดนี้ มาตรฐานของซีรีส์ไทย “เคว้ง” สูงแน่นอน ว่าแต่วันนี้ คุณชม “เคว้ง” ซีรีส์ 7 ตอนของ Netflix หรือยัง !?
























กำลังโหลดความคิดเห็น