มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมเปิดการแสดงโขนตอน “สืบมรรคา”
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี และนับเป็นวาระพิเศษที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทย (KHON: MASKED DANCE DRAMA IN THAILAND) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา
เพื่อเผยแพร่นาฏศิลป์ชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย อีกทั้งเพื่อให้คนรุ่นใหม่ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่สืบไป ในปี ๒๕๖๒มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” มาจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวง ผสานกับความตระการตาของฉากเทคนิคที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยจัดรอบบูรพทัศน์ (Preview) การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ๒๕๖๒ ตอน“สืบมรรคา” พร้อมเผยฉากสำคัญ และการแสดงไฮไลท์ให้ได้ชมก่อนใคร อย่างขบวนทศกัณฐ์ และรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน และหนุมานรบนางอังกาศตไลเมื่อเร็ว ๆนี้ ณ หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวแสดงความยินดี และภาคภูมิใจที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่การแสดงโขนสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผ่านการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปีเป็นที่ประจักษ์ในพัฒนาการของการแสดงโขนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบ เทคนิคการแสดง จึงทำให้เป็นที่เลืองลือของประชาชนทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนสถาบันการศึกษา เด็ก และเยาวชน ให้ความสนใจมาชมโขนกันเพิ่มมากขึ้นทุกปี
“โขน เป็นนาฏศิลป์และศิลปะชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์โดดเด่น รวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรม และ
งานช่างฝีมือต่าง ๆซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมองการณ์ไกลในการที่ทรงฟื้นฟูการแสดงโขน และทรงมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมอันมีคุณค่านี้ต่อไป”รมว.กระทรวงวัฒนธรรม กล่าว
ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวถึงการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเปิดแสดงนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งสิ้น ๘ ตอน ได้แก่ ศึกพรหมาศ, นางลอย, ศึกมัยราพณ์, จองถนน,
ศึกกุมภกรรณ ตอน โมกขศักดิ์, ศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ, ศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ และพิเภกสวามิภักดิ์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยในปีนี้จัดแสดงตอน “สืบมรรคา” ซึ่งมีเนื้อหาสนุกสนาน หลากรส และชวนติดตามไปกับการผจญภัยของหนุมานทหารเอกของพระราม นอกจากนี้ยังมีตัวละครใหม่ ๆ เช่น นกสัมพาที นางผีเสื้อสมุทร นางอังกาศตไล ยักษ์ปักหลั่น และที่น่าจับตาชมคือเครื่องแต่งกายของตัวละครที่แปลกตากว่าตอนอื่นๆ เช่น ทศกัณฐ์สวมศรีษะโขนหน้าทองมีผ้าคล้องไหล่ พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และพัดด้ามจิ้วจันทน์ที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ รวมถึงจะได้ชมกระบวนรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่สวยงาม แสดงความเจ้าชู้ยักษ์ของตัวทศกัณฐ์ที่เข้าไปเกี้ยวพาราสีนางสีดา
ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงฯ กล่าวต่ออีกว่าตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปีที่
ผ่านมาก็ยังมีผู้พลาดชมการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และได้รับคำเรียกร้องให้จัดทุกปี
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัยที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่คนหนุ่มสาว และเด็ก ๆ พากันจูงผู้เฒ่า ผู้แก่ในครอบครัวไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น อันเป็นภาพที่น่าชื่นใจอย่างยิ่ง จึงมี
พระราชเสาวนีย์ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องกันทุกปี ด้วยทรงเห็นความสำคัญในโขนซึ่งเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติ และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่สืบไป”
อาจารย์นิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์กล่าวถึงการให้การสนับสนุน และความร่วมมือในการแสดงโขนครั้งนี้ว่า “ในฐานะสถาบันที่มีการเรียนการสอนทางด้านนาฏศิลป์ คีตศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ขอเป็นตัวแทนของเยาวชนไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งทุกคนพยายามพัฒนาฝีมือ เพื่อที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้แสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และรอคอยที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขน ต้องขอบพระคุณมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ อย่างสูงในการสร้างเยาวชนให้รัก หวงแหน และเผยแพร่ศิลปะชั้นสูงนี้ไว้ เพื่อให้เป็นสมบัติของประเทศชาติสืบต่อไป”
อาจารย์ประเมษฐ์ บุญยะชัย ที่ปรึกษาอาวุโสกล่าวว่า ด้วยพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงรื้อฟื้นการแสดงโขนให้กลับคืนมาเป็นที่สนใจของประชาชนชาวไทยมากว่าทศวรรษทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของไทยไม่สูญไปกับกาลเวลา
ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านนาฏศิลป์จากรุ่นสู่รุ่น การฟื้นฟูเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ รวมทั้งการสืบทอดผู้แสดงโขนรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งล้วนเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นศิลปะการแสดงโขนและช่างฝีมือทั้งหลายคงมีอันสูญหายกันไปนานแล้ว
“การแสดงโขนแต่ละตอนจะมีความพิเศษซึ่งเป็นมรดกที่ได้รับการสืบทอดมาจากครูบาอาจารย์ อาทิ ทศกัณฐ์หน้าทอง ซึ่งหัวโขนทศกัณฐ์หน้าสีทอง ถือเป็นหัวโขนที่เป็นศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม โดยเป็นฝีพระหัตถ์ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร ซึ่งตกทอดมายังกรมมหรสพ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตามลำดับ โดยครูอร่าม อินทรนัฎได้นำมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่าง และแสดงให้เห็นถึงทศกัณฐ์ที่อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส รวมทั้งกระบวนท่ารำต่าง ๆ ในการแสดงโขนครั้งนี้ที่เชื่อกันว่า สืบทอดมาจากกรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 โดยคุณครูอร่าม ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในกรมศิลปากร ก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณหญิงนัฏกานุรักษ์ และนำมาถ่ายทอดมาสู่รุ่นครูต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นกระบวนท่าที่รักษาและสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น”
ดร. สุรัตน์ จงดาผู้เขียนบท และกำกับการแสดง การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ๒๕๖๒ กล่าวถึงความสนุกสนานของการแสดงโขน ตอน สืบมรรคา ว่า “เป็นตอนที่มีความสนุกสนาน หลากรส และเต็มไปด้วยสีสัน มีการทำฉากเทคนิคให้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา แฟนตาซีมากกว่าเดิม สนุกสนานมากขึ้น และจะได้เห็นหนุมานผจญภัยที่ด่านต่าง ๆ จนถึงเมืองลงกา รวมทั้งมีฉากไฮไลท์เช่น ฉากแม่น้ำใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในฉากเด่นของตอน โดยหนุมานและเหล่าวานร พบแม่น้ำใหญ่ หนุมานจึงนิรมิตกายให้ใหญ่โตเอาหางพาดต่างสะพานให้กองทัพวานรไต่ข้ามแม่น้ำมีตัวละครใหม่ๆ อย่างนางอังกาศตไลที่จะปรากฏเฉพาะในตอนนี้เท่านั้น ตลอดจนท่วงท่าการรำได้มีการรื้อฟื้นท่ารำแม่บทเก่าแก่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยแสดงในการโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ครั้งใดมาก่อน โดยเชิญครูผู้เชี่ยวชาญระดับศิลปินแห่งชาติมาเป็นผู้ฝึกสอน ที่สำคัญการดำเนินเรื่องก็กระชับ ฉับไว และตื่นเต้น เข้ากับรสนิยมของผู้ชมรุ่นใหม่ รับรองว่าสนุกสนานชวนติดตาม แฟนโขนทุกคนไม่ควรพลาดชม”
ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดการแสดงฉากสำคัญที่เตรียมมาเป็นพิเศษสำหรับงานบูรพทัศน์ 2 ชุด ได้แก่ “รำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน” แสดงให้เห็นถึงลีลาท่ารำของทศกัณฐ์ที่แสดงถึงความเจ้าชู้ กรุ้มกริ่ม แต่แฝงไว้ด้วยความเข้มแข็ง ยิ่งใหญ่ตามลักษณะของพญายักษ์ และ“หนุมานรบนางอังกาศตไล” เป็นตอนที่
หนุมานเหาะเหินเดินอากาศเข้ากรุงลงกา ต้องสู้รบกับนางอังกาศตไล เสื้อเมืองลงกา ผู้คุมด่านทางอากาศ นางยักษ์สวมใส่มงกุฎยอดน้ำเต้าห้ายอด สีหงเสน (สีส้มแดง) แต่งกายด้วยผ้าสไบนางยักษ์ แต่นุ่ง
โจงกระเบน มีสี่หน้า แปดมือ และมีความสามารถในการใช้อาวุธมากมาย ได้แก่ ง้าว กระบอง
จักรศร รวมทั้งได้เห็นความซุกซนของหนุมานที่เข้าหยอกล้อนางอังกาศตไลหลากหลายกระบวนท่ารำ รวมทั้งท่าเปิดสไบ ซึ่งผ้าผืนนี้ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ ร่วมระดมฝีมือจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง
จ.อ่างทอง และสมาชิกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ปักเป็นลวดลายสำหรับนางยักษ์ คือลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่ง ออกแบบโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย
นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ให้เกียรติเข้าร่วมงาน เช่น ดร.อนุชา ทีรคานนท์, อาจารย์สุดสาคร ชายเสม, อาจารย์ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว, อาจารย์วัชรวันธนะพัฒน์ และอาจารย์พีรมณฑ์ ชมธวัช ร่วมเผยรายละเอียดสำคัญต่าง ๆ ในการแสดงโขนครั้งนี้ด้วย
สำหรับการแสดงโขนส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” มี ๒ องก์ รวม ๑๐ ตอน โดยมีฉากรบเด่นเช่น ฉากหนุมานรบนางอังกาศตไล, ฉากกลางทะเล ที่หนุมานเหาะมาถึงกลางทะเล นางผีเสื้อสมุทร รักษาด่านเมืองลงกา เห็นหนุมานเหาะมาจึงนิมิตขวางหน้าไว้และจะกินหนุมาน หนุมานจึงเหาะเข้าปากผ่าท้องนางผีเสื้อสมุทร และฉากรักเด่น เช่น ฉากตำหนักในกรุงลงกา ซึ่งเล่าถึงทศกัณฐ์ตั้งแต่ได้นางสีดามาและนำไปไว้ในสวนขวัญ ทศกัณฐ์เฝ้าคิดถึงแต่นางสีดาทุกคืนวัน ทศกัณฐ์จึงสั่งให้จัดขบวน และแต่งกายให้งดงามเพื่อไปเกี้ยวนางสีดาที่สวนขวัญ เป็นต้น
การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” จะเปิดการแสดงระหว่างวันที่
๖ พฤศจิกายน ถึง ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com หรือสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.khonperformance.comและเฟซบุ๊กKhon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ