xs
xsm
sm
md
lg

"อุ๋ย นนทรีย์" เปิดหลุม "นางนาก" 20 ปี !

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"อุ๋ย นนทรีย์" เปิดหลุม "นางนาก" 20 ปี !

อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร และ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ เข้าร่วมพิธีไหว้ ศาลย่านาค ณ วัดมหาบุศย์ ในวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2562 เวลา 09.09 น. เพื่อกราบไหว้ขอพรและกราบขอบคุณ “ย่านาค” ที่ทำให้ภาพยนตร์ “นางนาก” เป็นที่รู้จักจนถึงทุกวันนี้ พร้อมขออนุญาตย่านาคอีกครั้งในการนำภาพยนตร์ “นางนาก” กลับมาฉายในรอบ 20 ปี ด้วยระบบ 4K (โฟร์เค) ในโรงภาพยนตร์
..........



เมื่อเรื่องราวโลดแล่นมาถึงฉากชาวบ้านเผาเรือนนางนาก นางอุ้มลูกปรากฏกาย ...
"พวกมึงคิดจะจองเวรกูไปถึงไหน กูไม่เคยไปเกี่ยวข้องอะไรกับพวกมึงเลย ทำไมต้องมาแส่เรื่องผัวเมียของกูนัก กูอยู่กับลูก กับผัวของกูดีๆ ไม่เคยไปฆ่าใคร พวกมึงที่ตาย ล้วนแต่เป็นกรรมสนองที่คิดพรากลูก พรากผัวเค้า หาใช่กูทำไม่ ดีล่ะ ! วันนี้ พวกมึงมารังแก เผาเรือนกู กูจะอาละวาดให้มึงเห็นสักครา"

จังหวะนั้น ... สายลมพัดทวีความแรงขึ้น เรือนร้างที่ทรุดโทรมอยู่แล้ว เมื่อถูกไฟโหม ซ้ำเจอแรงลมก็ทรุดหักโค่น พัดปลิวส่วนต่างๆของเรือนที่ติดไฟไปโดนหมู่ชาวบ้านที่มาเผาเรือนนางนาก ไฟลามติดลุกท่วมตัวชาวบ้านนั้นจนสิ้น ...

นางนากในอดีต
นางนาก หรือ "แม่นาคพระโขนง" ผ่านรูปแบบทั้งภาพยนตร์ , ละครโทรทัศน์ และละครเวที ด้วยชื่อและเรื่องราวที่ต่างกันไป ... ชื่ออื่นๆ นอกเหนือ "แม่ (นาง)นาคพระโขนง" อาทิ ลูกแม่นาค, ลูกแม่นาคพระโขนง, แม่นาคคืนชีพ,วิญญาณรักแม่นาคพระโขนง, แม่นาคคนองรัก, แม่นาคพระนคร, หม้อแม่นาค, แม่นาคอาละวาด, แม่นาคอเมริกา,แม่นาคบุกโตเกียว, นางนาค ภาคพิสดาร, แม่นาค 30, แม่นาคคืนชีพ, แม่นาคเจอผีปอบ, นาค รักแท้/วิญญาณ/ความตาย ...

นักแสดงที่รับบท "ผีแม่นาก" มีเป็นจำนวนมาก อาทิ ปรียา รุ่งเรือง, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, อรัญญา นามวงศ์, สุภัค ลิขิตกุล, เปียทิพย์ คุ้มวงศ์, อรสา พรหมประทาน, สีดา พัวพิมล, ชุดาภา จันทเขตต์, ตรีรัก รักการดี, ดาริน กรสกุล, ทราย เจริญปุระ, ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ (ภาพยนตร์) ปริศนา วงศ์ศิริ, ตรีรัก รักการดี, ลีลาวดี วัชโรบล, กุลณัฐ ปรียาวัฒน์,พัชราภา ไชยเชื้อ, สุธีวัน ทวีสิน (ละครโทรทัศน์) นัท มีเรีย, ธีรนัยน์ ณ หนองคาย (ละครเวที)

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นละครร้องในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454 คณะปรีดาลัย เรื่อง "นางนากพระโขนง" เคยมีโอเปร่าเรื่อง "แม่นาค" และมีเคยเป็นมิวสิคัล เมื่อปี 2552 ทั้งค่ายซีเนริโอ และ ดรีมบ็อกซ์พร้อมใจกันทำเรื่องนี้ !
พฤศจิกายน ปีนี้ "แม่นาค เดอะมิวสิคัล" ของค่ายดรีมบ็อกซ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วจะกลับมาแสดงอีกครั้ง เพื่อฉลองวาระ 33 ปีของละครเวทีค่ายนี้

7 รางวัลสุพรรณหงส์
ปีนี้ ครบรอบ 20 ปี ของ "นางนาก" ซึ่ง "โมโนฟิล์ม" และ ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นต์" ได้นำหนังเรื่องนี้ที่เคยทำรายได้สูงถึง 150 ล้านบาท กลับมาให้ชมกันอีกครั้ง
ภาพยนตร์เรื่อง นางนาก การันตีคุณภาพด้วย 7 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 9 ในปี 2542 ได้แก่
1. รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม - นางนาก ไท เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
2. รางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม - นนทรีย์ นิมิบุตร
3. รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม - ณัฐวุฒิ กิตติคุณ
4. รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม - ภควัฒน์ ไววิทยะและชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
5. รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม - เอก เอี่ยมชื่น
6. รางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม - น้ำผึ้ง โมจนกุล
7. รางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยม - เบญวรรณ สร้อยอินทร์
"นางนาก" ได้รับการบันทึกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ เมื่อปี 2547


ละเอียดทุกขั้นตอน
ในสมัยนั้น นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับ ได้เล่าเรื่องการทำงานทั้งหมด ผ่าน หนังสือชื่อ "นางนาก" (สนพ. แพรวเอนเตอร์เทน) ส่วนวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ออกหนังสือ "นางนาก บทภาพยนตร์จากต้นฉบับ" ซึ่งบันทึกไว้ด้วยภาษาอย่างโบราณ เขาบอกเหตุผลในการทำ "นางนาก" ว่า อยากดูในเวอร์ชั่นที่เป็นความคิดของตัวเอง เพราะว่า ในหลายเวอร์ชั่นที่ทำๆกันมา ยังไม่ใช่แบบที่อยากดู !

เริ่มตั้งแต่ชื่อ ทั่วไปมักคุ้น "นาค" สะกดด้วย "ค" แต่เรื่องนี้ สะกดด้วย "ก" - นาก ด้วยเหตุผลว่า คนสมัยก่อนนิยมตั้งชื่อในทางมงคลเป็นของมีค่า เช่น ทอง นาก เงิน

สันนิษฐานว่า นางนาก เป็นเรื่องที่น่าจะเกิดก่อนขุดคลองประเวศบุรียมย์ ในปี 2415 หรือน่าจะเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2412 - 2414

นางนาก จัดเป็นผีตายโหง ประเภท "ตายทั้งกม" (ปัจจุบันใช้ "ตายทั้งกลม" ซึ่งผิด ! ความจริง "กม" คือคำไทยโบราณเก่าแก่ มีหลักฐานในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ 1 หรือในหนังสือไตรภูมิพระร่วงก็ปรากฏ "ตายทั้งกม" จึงถูกต้อง แปลว่า ตายหมดทั้งแม่และลูกในท้อง)

ในภาพยนตร์ - ละคร ทั่วไปแล้ว "แม่นาคพระโขนง" คือ "ผีดุ" ! แสดงออกด้วยการอาละวาดฆ่าคนเป็นหลัก ! ถูกปรุงแต่งเสียมาก ... ไม่ว่าจะเป็น ยุคสมัย เสื้อผ้า หน้าผม ไปจนถึงเนื้อเรื่องต่างๆ ...
เวอร์ชั่นนี้ เน้น "แนวสมจริงสมจัง มีเหตุและผล" นี่คือ ความต่างจากที่เคยมีอยู่โดยสิ้นเชิง ... เป็นหนัง "รักคลาสสิก" ที่ห่อหุ้มด้วยความน่าสะพรึงกลัว !
ความน่าสะพรึงนี้ ไม่เกี่ยวกับ "ผี" ! ไม่มีฉากแหวกอก แลบลิ้น ปลิ้นตา ...ทั้ง วิญญาณนางนาก หน้าตารูปร่างก็ยังเป็นดังสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ ยกเว้นแต่ศพเท่านั้น

เรื่องถูกผูกไว้ว่า เมื่อฝ่ายชายกลับจากราชการทหาร ไม่รู้ว่าเมียทั้งทั้งกม แต่กลับมาอยู่กินกับเมียที่เป็นผี ทั่วทั้งบางพระโขนงทุกคน ตั้งแต่ฆราวาส ถึงพระสงฆ์องค์เจ้ารู้เรื่อง "ผีนางนาก" หมด แม้แต่คนดู ! มีคนเดียวที่ไม่รู้ (มาตั้งแต่สมัย ร. 4 จนปัจจุบันและอนาคตอันไกลโพ้น) คือ พ่อมาก ! ฝ่ายผัวรู้ว่า เมียเป็นผี เพราะเห็น "มือเมีย" ยาว ... หยิบลูกมะนาว ! โครงนี้ใช้กันทุกเรื่อง ทุกสมัย ...

นางนากในเรื่องนี้มีน้ำเสียงปกติ ! ผัวต้องอยู่กิน หลับนอนกับเมียที่เป็นผี เมียผีก็เฝ้าปรนนิบัติพัดวีสามีเป็นอย่างดี ... ดังนั้น เสียงของผี ควรจะเป็นเสียงปกติดั่งคนทั่วไป ไม่ได้พูดช้า ลากเสียงยาว เนื้อตัวเย็นเฉียบ ! ให้ผัวต้อง เอ๊ะ ...สงสัย !

เรื่อง "คนตาย" ที่บางพระโขนงในสมัยนั้น พิสูจน์ไม่ได้ว่า เป็นฝีมือของผีนางนากหรือไม่ ดังนั้น ... เวอร์ชั่นนี้จึงมีการคุยแต่แรกว่า ในกรณีคนตายทั้งหลายนี้ต้องทำเรื่องให้ดูกำกวม ! และสอดใส่บรรยากาศในสมัยนั้น ที่พระโขนงยังเป็น "ป่า" แวดล้อมด้วยสัตว์ต่างๆ มีคุ้งน้ำที่คดเคี้ยวเลี้ยวลด รกเรื้อด้วยหมู่ไม้สูงท่วม ไม่มีไฟฟ้า รวมถึงการนำสัตว์ต่างๆตามธรรมชาติ อย่าง จระเข้, งู และสัตว์ตามความเชื่อของคนไทย เช่น นกเค้าแมว, นกแสก, ตัวเหี้ย , แมงมุม (ตีอก), หนู ฯลฯ เข้ามาเสริมบรรยากาศเพื่อสร้างความน่ากลัวชวนขนลุก

หัวใจของเรื่องคือ การพลัดพราก !

พลัดพราก 1 "พ่อมาก -นางนาก" จากกันที่ศาลาท่าน้ำ
พลัดพราก 2 เพื่อนพ่อมาก ชื่อ "ปลิก" ตายในสงคราม
พลัดพราก 3 เพื่อนพ่อมาก "อ่ำ" ที่บอกข่าวเรื่องนางนากตาย , "ยายเอิบ" หมอตำแย ตาย , หมู่ชาวบ้านตายและบาดเจ็บในกรณีเผาเรือนนางนาก จะด้วยกรรม ด้วยอุบัติเหตุ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นถูกโยนบาปไปให้นางนาก เสียงร่ำลือถึงอิทธิฤทธิ์นี้ดังจากพระโขนงถึงพระนคร - ธนบุรี
พลัดพราก 4 พ่อมากและนางนาก อยู่กันคนละโลก
สุดท้าย พ่อมาก อำลาชีวิต "โลกียะ" สู่ "โลกุตระ" บวชเป็นพระภิกษุ

ไม่ว่า "นางนาก" จะเป็นเรื่องจริง เรื่องแต่ง ตำนาน นิยายพื้นบ้านก็ตาม แต่คนไทยมีความผูกพันกับเรื่องนี้สูงมาก และ "แม่นาก" เป็นบุคคลที่คนไทยรู้จักดี ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยสอบถามกับคนผ่านเข้าออกประตูเมือง !

เรื่อง "นางนาก" เกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 จากการค้นคว้า พบว่า ผู้หญิงสมัยนั้น "ผมสั้น - กินหมาก - ฟันดำ"
"ลักษณะแปลก อย่างแรกที่ฝรั่งรับไม่ได้คือฟัน ฝรั่งฟันขาว แต่คนไทยมีความเชื่อว่า ฟันขาวต้องเป็นพวกผี เพราะว่าของเราแฟชั่นคือฟันดำ สมัยก่อน จริงๆแล้วไอ้ฟันดำนี่มันไม่ใช่เขากินหมากจึงฟันดำ แต่จะขัดด้วยยาง โดยเอากะลามาเผาไฟจนเกิดยางขึ้นมาเรียกว่า "ชี่" แล้วเขาจะเอาขัด มันจะเข้าไปในกระดูกเนื้อ คือจริงๆแล้ว เรียบเหมือนปกติ คือ ดูไม่เขลอะเหมือนกับที่เราเห็นคุณยายเรากินหมาก ในสมัยเราทันเห็นยายเท่านั้นเองที่มันดูเขลอะๆ แต่จริงๆของโบราณเขาเรียบร้อยเหมือนฟันปกติ แต่ว่ามันฝังสีไว้ในกระดูกฟัน ยิ้มออกมาสวยมากเลย แบบว่า โทนแดงดั่งแสงทับทิม" เอก เอี่ยมชื่น โปรดักชั่นดีไซเนอร์กล่าวไว้
คนไทยเปลี่ยนฟันดำเป็นฟันขาวอย่างสากลนิยม หลัง ร. 5 ประพาสยุโรป

"นางนาก" แตกต่างจากผีตนอื่นคือ ไม่กลัวพระ ! พระสงฆ์องค์เจ้า สามเณร วัดมหาบุศย์หนีกระเจิงมาหลายครั้ง จนมีเรื่องเล่าสืบมา ...

สมเด็จโตอยู่วัดระฆัง ธนบุรี ได้ยินเรื่องนางนากอาละวาด จึงเดินทางไปพระโขนง คุยกับนางนากที่ปากหลุมศพ
"สีกาเอ๋ย ขอเชิญขึ้นมาสนทนาสักหน่อยเถิด"

ไม่มีใครรู้ว่า ท่านคุยเรื่องอะไรกัน ! เดาเอาว่า อาจจะคุยเรื่อง "หลักพระไตรลักษณ์" (อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) สุดท้าย ...

"มาก ข้ามันวาสนาน้อยนัก จำเป็นต้องติดตามพระคุณเจ้าไปบำเพ็ญจนกว่าจะหมดเวร หมดกรรม แต่นี้ไป ข้าคงไม่ได้อยู่ปรนนิบัติเองแล้ว... อ้ายมาก"

... นับแต่นั้นมา ก็ไม่มีใครได้ยินข่าว ผีนางนากออกอาละวาดอีกเลย ส่วนท่านสมเด็จพุฒาจารย์ โต ก็ได้นำกระดูกหน้าผากชิ้นนั้นมาทำเป็นปั้นเหน่งรัดประคดเก็บไว้กับตัวตลอดมา เล่าลือกันว่า หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว กระดูกหน้าผากนางนากชิ้นนั้นได้ตกไปอยู่กับสมเด็จ กรมหลวงชุมพรฯ และเปลี่ยนมือไปอีกหลายคน จนบัดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ใด กระดูกหน้าผากอันเป็นที่สถิตวิญญาณนางนากชิ้นนี้ได้สาบสูญไปแล้ว เหลือเพียงตำนานเล่าขานถึงความรัก ความภักดีต่อผัว อันเป็นตำนานอมตะที่ยังร่ำลือตราบจนทุกวันนี้ ...

กะโหลกหน้าผากแม่นาค จึงเป็น "สิ่งเดียว" ที่ยืนยัน สัมผัสได้ถึง "ความมีตัวตน" ของปีศาจสาวตนหนึ่ง ที่เล่าอ้างว่าชื่อ "นางนาก" !? ในสมัยนั้น

ตอนต่อไป - เปิดเอกสารใหม่ "กรมหลวงชุมพร" ตรัส "แม่นาก" ยืนปลายเตียงพระธิดา !

ความรู้เรื่อง "ศพ" และ "กะโหลก"

ในหนังสือ "นางนาก" ของนนทรีย์ นิมิบุตร นอกจากพูดถึงการทำงานในแต่ละขั้นตอนแล้ว ยังมีเรื่อง "ข้อมูลประกอบภาพยนตร์" ให้ความรู้จากการศึกษาเรื่องต่างๆอาทิ ภูมิหลังนางนาก, ปูมวัดมหาบุศย์,ประวัติขรัวโต, บทสรุปเรื่องวัน-เวลา, พระโขนงยุคนางนาก, เหตุการณ์บ้านเมืองร่วมสมัย, คนไทยสมัยนางนาก, ความเชื่อของคนไทย, ชีวิตริมคลอง, การเกณฑ์ทหาร, เรื่องของข้าวกับคนไทย
ยกตัวอย่างส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ "ศพ" และ "กะโหลก"

การแต่งตัวศพมีเคล็ด ดังนี้
ศพก่อนจะนำเข้าโลง จะต้องอาบน้ำให้หมดจด ถือว่าเสมือนไปสรงสนานยังแม่น้ำคงคา ให้ตัดเล็บมือเท้าศพให้เรียบร้อย อาบน้ำแล้วให้เอาขมิ้นสดมาตำขยำกับมะกรูด ซึ่งเฉือนเอาผิวออกแล้วคั้นแต่น้ำ เอาไปลูบไล้ทาศพให้ทั่ว การหวีผมศพให้หวีสามหนเท่านั้น เมื่อหวีเสร็จแล้วต้องหักเป็น 2 ท่อน เอาโยนทิ้งหรือโยนลงไปในโลง บางคนอาจจะถือเคล็ดหักเป็น 3 ท่อน แล้วกล่าวว่า "อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา"
การสวมเสื้อศพให้เอากระดุมไปด้านหลัง แล้วจึงเอาผ้าธรรมดาสวมทับอีกทีหนึ่ง แล้วเอาเงินใส่ปากศพไว้ 1 บาท เพื่อให้ผู้ตายมีเงินใช้สอยในปรโลก แล้วเอาขี้ผึ้งแผ่ให้กว้างเท่ากับหน้าคน หนาครึ่งนิ้ว แผ่ออกปิดหน้าศพ ถ้าคนมีเงินก็เอาแผ่นทองคำปิดหน้าแทนขี้ผึ้ง แล้วเอากรวยดอกไม้ ธูปเทียนให้ศพพนมมือถือไว้

การเผาศพ
เจ้าภาพจะต้องทิ้งเบี้ยและเงินลงที่เชิงตะกอน 33 เบี้ย ตำนานว่าให้แก่ตากาลี ยายกะลา เพื่อซื้อที่ ก่อนนำศพขึ้นบนเชิงตะกอน ให้เปิดฝาโลง เอามีดตัดตราสัง เอาศพคว่ำหน้าลง และเจาะฝาโลงเป็นช่องๆให้ไฟแลบจะได้ไหม้เร็ว แล้วยกศพเวียนเชิงตะกอน ให้เวียนซ้ายจนครบสามรอบ มีลูกหลานญาติมิตรเดินตาม เมื่อตั้งบนเชิงตะกอนแล้ว ให้ต่อยมะพร้าว เอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพ แล้วจึงจุดไฟ การจุดไฟต้องจุดเอง ห้ามจุดต่อกัน พอไฟไหม้ ให้เอาผ้าคลุมโลงโยนข้ามไฟกลับไปมาจนครบสามครั้ง พอไฟโทรม ก่อนจะกลับบ้านให้ชักฟืนออก 3 ดุ้น กลับมาถึงบ้านจะต้องเอาน้ำล้างหน้าเสียให้สะอาด

การเฝ้าศพ
ศพที่ยังใส่โลงไม่ทันด้วยค่ำมืดเสียก่อน จะต้องปฏิบัติดังนี้คือ
1. เอาผ้าคลุมศพไว้
2. ต้องอยู่ยามตามไฟ
3. ระวังอย่าให้แมวกระโดดข้ามศพ
เพราะระวัง 3 ประการนี้ จึงต้องมีคนเฝ้าศพ ปิดประตูหน้าต่างหมด ไม่ให้แมวไปใกล้ศพ ถ้าแมวข้ามศพ กล่าวว่า ปีศาจจะคนอง หรือศพลุกขึ้นได้ ท่านจึงเอาศพนอนไว้ตรงรอดหรือตรงขื่อ หันหัวศพไปทางทิศตะวันตก กางมุ้งเป็นเพียง 2 หูคร่อมศพไว้ บางแห่งต้องเอาศพนอนขวางเรือน (คือตามยามของเรือน) หันหัวไปทางฝากั้นห้องกลาง เสื่อปูศพต้องกลับล่างขึ้นบน กลับหัวนอนเป็นปลายตีน
เพราะเหตุนี้ คนโบราณท่านจึงมิให้คนเป็นๆนอนขวางเรือน คือนอนตามความยาวของเรือน เพราะเป็นอาการของผีตาย ว่าจะเกิดผีอำ ผีเข้า ผีหลอก เป็นต้น

กะโหลก
กะโหลกศีรษะของมนุษย์ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นที่บรรจุของมันสมองและระบบประสาททั้งปวง มีส่วนอำนวยความควบคุมไปจากศูนย์กลางคือ สมอง เช่น ความทรงจำ ความคิดอ่าน และควบคุมการทำงานระบบอัตโนมัติในร่างกาย ในความเชื่อถือของชาวฮินดูถือว่า กะโหลกคือ ที่สถิตของวิญญาณ หรือพลังของจิตที่เรียกว่า "ปราณ" ฤษีเจ้าสำนักมักจะสั่งให้ลูกศิษย์ใกล้ชิดคอยดูแล ถ้าอาจารย์หมดปราณไปแล้ว ก็ให้ศิษย์ทำลายกะโหลกศีรษะ คือทุบกระโหลกให้แหลก เชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยวิญญาณให้เป็นอิสระ อย่ากักขังไว้

ว่ากันว่า การที่เอากะโหลกศีรษะมะพร้าวมาทุบตรงปากโลง เพื่อเอาน้ำมะพร้าวล้างหน้าศพนั้น อาจจะมีผลสืบเนื่องจากประเพณีการทุบกระโหลกของผู้ตายก็ได้ เป็นวีธีการไสยศาสตร์อย่างหนึ่ง เนื้อมะพร้าวที่ทุบเอาล้างหน้าศพนั้น ก็ถือว่าเป็นยาแก้เคล็ดบางอย่าง คือ แก้โรคภัยไข้เจ็บได้ โดยเฉพาะโรคละเมอ โรคนอนกัดฟันกรอดๆ ขณะนอนหลับ


























กำลังโหลดความคิดเห็น