นวนิยายสุดปัง ! "เลือดข้น คนจาง"
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 สำนักพิมพ์ มติชน เปิดตัวนวนิยายจากละคร "เลือดข้น คนจาง" ที่ถูกพูดถึงมากในโชเชี่ยลมีเดียเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า "ใครฆ่าประเสริฐ" !? วันนี้... ถูกแปรรูปเป็น "นวนิยาย"
"ย้ง" ทรงยศ สุขมากอนันต์ ผู้กำกับละครเรื่องนี้ เห็นความต่างจากละครว่า
"ตัวหนังสือเหล่านั้นจะสร้างจินตนาการให้เรา มันจะเป็นภาพของเราเอง ไม่ใช่ภาพที่ผู้กำกับและนักแสดงทำให้ มันจะเป็นการรับรู้เรื่องราวของครอบครัวจิระอนันต์ในรสชาติใหม่ๆ ในความรู้สึกใหม่ๆ ต่อให้มันเป็นเรื่องราวเดิมๆก็ตาม"
"อ้ำ" ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ หัวหน้าทีมเขียนบทละครเรื่องนี้ ได้รับมอบหมายให้สร้างอรรถรสใหม่ในรูปของนิยาย เธอกล่าวในคำนำว่า ได้นำบทโทรทัศน์เป็นตัวตั้ง และใช้ตัวละครคนหนึ่งเป็นคนเล่าเรื่อง
คนหนึ่งผู้นั้นคือ อาม่าปรานี !
"เพราะว่าวิธีเขียนมันต่าง วิธีคิดเพื่อที่จะให้มันจบ End Product มันก็ต่าง คือเราเขียนบทโทรทัศน์จะเห็นว่า มันจะถูกทำเป็นภาพอย่างไร ในขณะที่ เวลาที่เราเขียนนิยาย นักเขียนคนอื่นเป็นยังไงไม่รู้นะ แต่สำหรับพี่ มันเป็นการเดินทางเข้าไปในความคิด เป็นการเชื่อมความคิดของตัวละครกับจินตนาการของคนอ่าน พี่รู้สึกว่า การเขียนนี้ มันเหมือนการสนทนาตัวต่อตัวระหว่างตัวละครกับคนอ่านนวนิยายเลือดข้น คนจาง เพื่อจะค้นว่า ในใจของตัวละครแต่ละตัว เขาคิดอะไร ยังไง ทำไม ถึงทำอย่างนั้น"
สำนักพิมพ์มติชน มอบหมายให้ "ชมพู-อุรุดา โควินท์" มาทำหน้าที่ "บรรณาธิการ" ทุกวันนี้เธอใช้ชีวิต ณ สมิงพระราหู จังหวัด เชียงราย
ชื่อ "สมิงพระราหู" นี้ แรกเริ่มเดิมที เป็นชื่อ สุนัขที่เธอรักมากตัวหนึ่ง ต่อมา เป็นชื่อเรื่องสั้น เมื่อปี 2556 ณ วันนี้เป็นชื่อสถานที่พัก พิเศษกว่านั้นคือ อาณาบริเวณนี้ ทำเป็นห้องพัก 3 ห้อง ขายที่พัก พร้อมอาหารเช้า และมีห้องสมุดให้ใช้ และบุคคลทั่วไปสามารถเดินทางเข้ามาอ่านหนังสือหรือใช้ในวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์
ผลงานนวนิยายล่าสุดคือ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา และ ค่อยๆไปแต่ไม่หยุด
เธอเป็นนักเขียนมานานร่วม 20 ปี และเป็นครั้งแรกกับการทำหน้าที่ "บรรณาธิการ" ให้กับนวนิยาย "เลือดข้น คนจาง" เล่มนี้ !
เธอยอมรับกับ "ละครออนไลน์" ว่า เธอถนัดการเขียนถึงความสัมพันธ์ในทุกๆประเภท แต่ไม่ใช่การเขียนในรูปแบบโรแมนติก หากแต่เป็นงานเขียนที่ลงลึก ไม่หลบโลก บางเรื่องอาจจะค่อนข้างมืดด้วยซ้ำ แสดงแง่มุมและให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์
นวนิยาย "เลือดข้น คนจาง" เป็นเรื่องซึ่งบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหลายโดยแท้
"นักเขียนทุกคนเป็นบรรณาธิการได้ พูมั่นใจแบบนั้น เพราะนักเขียนทุกคนจะเป็นบรรณาธิการให้ตัวเองอยู่แล้ว แต่การเป็นบรรณาธิการให้คนอื่น มันต้องเกิดจากความเชื่อมั่นของคนอื่นว่า เราทำได้ก่อนเป็นอันดับแรก อันดับต่อมาคือ เราต้องเห็นเสน่ห์ของเรื่องนั้นๆ ข้อสามคือ เราต้องมีเวลา พูเห็นว่า 3 ข้อนี้พูมีครบ เลยรับทำ"
จะไม่เห็น "เสน่ห์" ได้อย่างไร !? ช่วงที่ละครกำลังออนแอร์นั้น เธอชอบไถ่ถามน้องคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่มติชน และเคยเป็นทีมเขียนบทของนาดาวมาก่อน พยายามจะให้น้องคนนั้นบอกให้ได้ว่า ใครฆ่าประเสริฐ !
"ทางมติชนจะรู้ว่า พูชอบละครเรื่องนี้มาก ขณะเดียวกัน ทางสำนักพิมพ์ก็ต้องการใครสักคนที่มีเซ้นต์ทางวรรณกรรมเข้ามาเป็นบรรณาธิการ เพื่อให้หนังสือดีตามศักยภาพของมัน" ชมพู กล่าวกับ "ละครออนไลน์"
อุรุดา โควินท์ เห็นว่า
"ผู้เขียนนิยาย จะให้ตัวละครทุกตัวมีสิทธิ์พูด แม้กระทั่งคุณประเสริฐ อะไรที่นักแสดงไม่สามารถพูดออกมาได้ หรือเราอาจจะเห็นไม่หมดจดในละคร ผู้เขียนได้เติมเข้าไปตอนที่เป็นนิยาย ทำให้คนอ่านได้รู้จักตัวละครในมิติที่ลุ่มลึกมากขึ้น เห็นความยุติธรรมกับตัวละครมากขึ้น เค้ามีสิทธิ์ในสิ่งที่เค้าอยากพูด อย่างบางทีเราอาจจะรู้สึกหมั่นไส้เหม่เหม แต่พอมาได้อ่านความคิด เหม่เหมจะบอกว่า เค้ารู้สึกอย่างไร เป็นอะไร อ่านแล้วทำให้เราเข้าใจในตัวละครตัวนี้ ความหมั่นไส้หายไปเลย ... หรือตัวละครเล็กๆในละคร อย่าง ก๋วยเตี๋ยว ที่เล่าถึงตอนอยู่กับอาม่า ทำให้เราซาบซึ้งมาก"
การเดินเรื่องในนวนิยาย ยังคงเร็ว กระชับ รัดกุม และสนุก
หน้าแรกๆของนวนิยาย ... ปูพื้นครอบครัว "จิระอนันต์" ว่า
"จิระอนันต์" คือนามสกุลของพวกเรา และเป็นชื่อซอยซึ่งมีบ้านของพวกเรา บ้านของฉัน และบ้านของลูกๆ อีก 4 หลัง
บรรพบุรุษของเราเป็นคนจีน ฉันและสามีเดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก เราเคยใช้แซ่ เพิ่งเปลี่ยนมาใช้นามสกุลตอนที่ลูกๆเข้าโรงเรียน ซินแสบอกว่า จิระแปลว่ายั่งยืน อนันต์หมายถึงไม่สิ้นสุด รวมกันแล้วก็เป็นมงคลดี
.........
ชมพูใช้เวลาราว 1 เดือนกับการอ่านต้นฉบับ 2 ครั้ง เมื่อขัดเกลา ตรวจแก้ตามหน้าที่แล้ว ได้ส่งกลับไปให้ "อ้ำ" ฤทัยวรรณ พิจารณา ...
"มีบางช่วงในนิยายเรื่องนี้ ทั้งๆที่เราอ่านถึงสองครั้ง แล้วยังรู้สึกขนลุก พูจะเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ให้ผู้เขียนทั้งหมด ขัดเกลาเฉพาะส่วนที่พูคิดว่าช่วยเหลือได้ เพื่อที่จะให้คนอ่าน อ่านได้ลื่นไหลยิ่งขึ้น และอาจจะมีข้อแนะนำในบางจุดที่คิดว่า น่าจะปรับแล้วจะดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เขียนก็เห็นด้วยนะคะ เมื่อปรับแล้วมันก็อ่านดีขึ้นจริงๆ"
อ่านแล้ว "ขนลุก" คือ ช่วงที่ภัสสรไปเยี่ยม ขอโทษและสนทนากับเมธในคุก !
"มันจะเป็นสารที่จะส่งตรงถึงเราว่า คนเราจะดำเนินชีวิตอยู่ได้คือ ต้องเผชิญหน้ากับความจริงและปัญหา ! เพื่อก้าวต่อไป ถ้าเราผิด เราต้องขอโทษ ความจริงชีวิตมันง่ายๆแค่นี้เอง"
"ภัสสร" เป็นตัวละครที่มีคาแร็กเตอร์และเสียงชัดเจนที่สุด เหมือนว่าเธอจะอุ้มเรื่องราวทั้งหมดไว้เพื่อเป็นแกนหลักของเรื่อง
"ถ้าไม่มีภัสสร เรื่องนี้ก็ไม่รู้จะไปทางไหนเหมือนกัน อย่างน้องๆ แม้ว่าทุกคนจะมีคาแร็กเตอร์ต่างกัน แต่เนื่องจากอยู่ในวัยเดียวกัน มันก็อาจจะไม่แสดงความโดดเด่นมาก ส่วนอาม่ากับอากง มันเหมือนฉากหลัง ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากการเลี้ยงดูและประเพณีของบ้านหลังนี้ แม้ว่าตัวละครคู่นี้จะไม่พูดอะไรมาก หรือมีบทบาทอะไรเยอะ แต่ออกมาครั้งใดก็จะมีผลต่อเรื่องเลย" ชมพูกล่าวกับ "ละครออนไลน์"
นวนิยาย 30 บทของเล่มนี้ ไล่เรียงมาถึงบทสุดท้าย "เพราะเราต้องไปต่อ"
1 ปีผ่านไป...
อากงเอ๊ย อั๊วคิดถึงลื้อ
ลื้ออยู่บนนั้นสบายดีหรือเปล่า ลื้อมองลงมาเห็นพวกเราทะเลาะกัน แตกแยกกัน มีคนตาย มีคนติดคุก มีคนเจ็บปวดแต่ไม่พูด ทำไมลื้อช่วยอะไรพวกเราไม่ได้เลย ทำไมบรรพบุรุษของเราไม่ช่วยอะไรเลย อั๊วไปทำกรรมอะไรไว้ ทำไมครอบครัวมันถึงวุ่นวายขนาดนี้
แล้วทำไมเช้านี้บ้านเรามันถึงได้เงียบเหงาเหลือเกิน...
..........
ฉันรู้ว่าครอบครัวเราจะยังอยู่ และเราจะเดินต่อไปแม้ว่ามันไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ฉันฝันไว้
ข้างนอกนั่น ผู้คนในสังคมจะเรียกขานพวกเราว่า "จิระอนันต์ ตระกูลเลือด" มันก็ไม่มีความหมายอะไรแล้ว
อากง ลื้อคอยมองพวกเรานะ