xs
xsm
sm
md
lg

เชิดมังกร จุดพลุ เหนือคฤหาสน์ "สือพาณิชย์" @ หวั่งหลี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เชิดมังกร จุดพลุ เหนือคฤหาสน์ "สือพาณิชย์" @ หวั่งหลี

เพื่อร่วมฉลองครบรอบ 1 ปี โครงการ “ล้ง1919” จัดการแสดงละครเวทีเรื่อง "ลอดลายมังกร The Epic Musical at LHONG 1919" เพื่อถ่ายทอดบทประพันธ์ของ ประภัสสร เสวิกุล (22 เมษายน 2491 - 18 กันยายน 2558) ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554 เรื่องราวเสื่อผืนหมอนใบผ่านการแสดงกลางแจ้งผสมผสานมัลติมีเดีย บนแผ่นดินท้องมังกร โดยเปิดลานกลางแจ้งบ้านหวั่งหลี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นฉากหลังการแสดง



ความเป็นมาของ "ล้ง 1919"

ชื่อ "ล้ง" มาจากชื่อเดิมของสถานที่ว่า "ฮวย จุ่ง ล้ง" หมายถึง "ท่าเรือกลไฟ" ตั้งอยู่ ณ สุดถนนเชียงใหม่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย - เยาวราช สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2393 (ค.ศ. 1850) โดยพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ต้นตระกูลพิศาลบุตรซึ่งเป็นคนจีนที่เกิดบนแผ่นดินสยาม บรรพบุรุษของท่านได้เดินทางจากเมืองจีนมาค้าขายและตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ โดยท่าเรือนี้มีพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ พร้อมพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร ท่าเรือ "ฮวย จุ่ง ล้ง" ใช้เป็นท่าเรือกลไฟ โดยชาวจีนในอดีตที่เข้ามาค้าขายหรือย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากในประเทศไทยจะเทียบท่าเรือ พร้อมลงทะเบียนชาวต่างชาติที่ท่านี้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าธุรกิจ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้า และโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ ต่อมาเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้ากับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือ "ฮวย จุ่ง ล้ง" ค่อยๆลดบทบาทลง

คุณหญิง จำนงศรี (รัตนิน) หาญเจนลักษณ์ ทายาทรุ่นที่ 4 เคยเล่าไว้ในหนังสือ "ดุจนาวากลางมหาสมุทร" ว่า
เจ้าสัวต้นตระกูลหวั่งหลี ชื่อ นายตัน ฉื่อ ฮ้วง เดินทางมาสยามในปี พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เจ้าสัวหวั่งหลี ไม่ได้มาแบบเสื่อผืนหมอนใบเหมือนชาวจีนโพ้นทะเลคนอื่น หากเห็นว่า เมืองไทยุดมสมบูรณ์ เหมาะที่จะใช้เป็นโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว

บุตรชายคนโตของเจ้าสัว ชื่อ นาย ตัน ลิบ บ๊วย เกิดกับภรรยาคนไทยชื่อ "หนู" ของบ้านโปษ์กี่ (โปษยานนท์) ต่อมา บิดาส่งลูกชายไปเรียนรู้สรรพวิชาทั้งหลาย รวมทั้งธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่เมืองจีน โดยมีแม่ใหญ่ ภรรยาที่เป็นคนจีนของเจ้าสัวเป็นคนดูแล

เมื่อกลับเมืองไทย และในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) นาย ตัน ลิบ บ๊วย เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของพื้นที่ต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และได้ปรับท่าเรือดังกล่าวให้กลายเป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการค้าด้านการเกษตรของตระกูลหวั่งหลี

มีศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วที่นับถือ ประดิษฐานอยู่คู่กับท่าเรือฮวย จุ่ง ล้ง มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง

บ้านหวั่งหลีได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2527

ปี 2016 ได้มีการบูรณะและปรับพื้นที่คืนสภาพมาเป็นท่าประวัติศาสตร์ เรียกว่า " Lhong 1919" เปิดให้คนหลั่งไหลมากราบไหว้สักการะหม่าโจ้ว อายุกว่า 180 ปี และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในเมืองไทย

“ในเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกจากฉลองครบ 1 ปี การฟื้นฟูพื้นที่ประวัติศาสตร์แล้ว ในปีนี้ ล้ง 1919 ยังมีอายุก้าวสู่ปีที่ 100 นับจากการเริ่มกิจการธุรกิจของตระกูลหวั่งหลีที่ท่าเรือประวัติศาสตร์แห่งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะจัดการฉลองด้วยการแสดงครั้งยิ่งใหญ่ “ลอดลายมังกร The Epic Musical at LHONG 1919" โดยจัดการแสดงที่ลานกลางแจ้งบ้านหวั่งหลี ซึ่งเป็นบ้านโบราณของตระกูล อายุกว่า 100 ปี งดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณที่อนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ส่วนตัวของตระกูลหวั่งหลี ซึ่งปกติไม่ได้เปิดให้สาธารณะเข้าชม ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกและอาจจะเป็นครั้งเดียวที่เปิดให้ผู้ชมการแสดงได้ชมความงดงามของบ้านหวั่งหลีอย่างใกล้ชิด พร้อมกับแสง เสียง มัลติมีเดีย เต็มรูปแบบ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางมาเมืองไทยของชาวจีนโพ้นทะเล และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของเรื่องราวลอดลายมังกร ถ้าหากย้อนเวลากลับไป เหลียง (ตัวละครหลักของเรื่องลอดลายมังกร) เมื่อคราวนั่งสำเภาจากเมืองจีนมาถึงเมืองไทยก็คงต้องมาขึ้นฝั่งที่ล้ง1919 แห่งนี้" เปี๊ยะ- รุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการล้ง 1919 และผู้อำนวยการผลิตกล่าว


อาเหลียง : ตำนานเสื่อผืนหมอนใบ

อาเหลียง มีภรรยาชื่อ เหมยหลิง มีลูกชายเล็กๆ 2 คน ชื่อ อาเทียนกับแอนดี้ อาเหลียงได้เดินทางจากซัวเถามาสู่เมืองไทยด้วยเรือสำเภาพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คนคือ อาจั๊วและหลงจู๊บุ๋น ด้วยความหวังที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว

อาเหลียงได้เริ่มกิจการเล็กๆจนขยับขยายให้ใหญ่ขึ้น และได้แต่งงานอีกครั้งกับภรรยาชาวไทยชื่อ เนียม (ซึ่งต้องยุติความฝันในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยมาแต่งงานกับอาเหลียง) มีลูกด้วยกันหลายคน โดยลูกคนโตเป็นลูกชาย ชื่อนัฐกิจ จนกระทั่งเหมยหลิงพร้อมลูกได้เดินทางสู่เมืองไทยเพื่อตามหาอาเหลียง ความวุ่นวายในครอบครัวก็เกิดขึ้น พร้อมๆกับการขยายตัวของกิจการ ซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ด้วยความยึดมั่นในคุณธรรมและความขยัน เตือนใจด้วยอักษรคำว่า "หงี" ซึ่งหมายถึง คุณธรรมที่ติดไว้กลางบ้าน

หลายปีผ่านไป ...
ลูกหลานของอาเหลียง เหมยหลิง และเนียมก็เติบโตขึ้น หลายคนได้ช่วยขยับขยายกิจการจนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะแอนดี้ บุตรชายคนรอง ในขณะที่อาเทียน บุตรชายคนโต กลับทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จเลย ในขณะที่หลานๆของอาเหลียงแต่ละคนมีบุคลิก นิสัยแตกต่างกันออกไป และชาญชัย ลูกชายเพียงคนเดียวของแอนดี้และเป๊กกี้ ภรรยาชาวฮ่องกงของแอนดี้ ผู้เป็นลูกสาวของโรเจอร์เฟย มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการเดินเรือชาวฮ่องกงที่ถูกเลี้ยงมาด้วยการเอาใจมาแต่เล็กก็ได้สร้างความหายนะให้แก่กิจการและเสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลในบั้นปลายชีวิตของอาเหลียง โดยที่เรื่องราวทั้งหมดถูกบอกเล่าผ่านโดยนภา หลานชายของอาเหลียงที่เป็นลูกชายของนภ ลูกชายคนรองของอาเหลียงกับเนียน

“ลอดลายมังกร The Epic Musical at LHONG 1919"กำกับการแสดง โดย ถกลเกียรติ วีรวรรณ จะเปิดการแสดงครั้งแรกและครั้งเดียว เพียง 7 รอบการแสดงเท่านั้น ในวันที่ 16 / 17 / 18 / 22 / 23 / 24 / 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 19.30 น. ราคาบัตร6,000 บาท / 3,500 บาท / 3,000 บาท / 2,500 บาท / 2,000 บาท และ 1,500 บาท บัตรมีจำหน่ายที่ ไทยทิตเก็ต เมเจอร์ หรือติดต่อ โครงการล้ง 1919 โทร. 091-387-1919 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: LHONG1919

#ล้งลอดลายมังกร #LHONG1919




















กำลังโหลดความคิดเห็น