มารู้จัก "ปี่แก้วนางหงส์" กันหน่อย !
คำอธิบายว่าด้วย “ปี่แก้วนางหงส์”
วงดนตรีไทยแบ่งเป็นจำพวกใหญ่ๆ จะมีอยู่ 3 จำพวกคือ 1.วงปี่พาทย์ 2.วงเครื่องสาย 3.วงมโหรี
ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นชื่อเรียกวงปี่พาทย์ประโคมงานศพตามประเพณีส่งวิญญาณขึ้นสู่สรวงสวรรค์ด้วยนกศักดิ์สิทธิ์ คือ หงส์ เพราะหงส์เป็นสัตว์มีปีก บินขึ้นฟ้าได้ แล้วเรียกเป็นนางตามประเพณียกย่องเพศหญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม
นางหงส์ เป็นชื่อเครื่องประโคม มีปี่กับกลองมลายูหลายใบ เรียกกันว่านางหงส์ ไม่ใช่ชื่อเพลงที่ประโคม (สมเด็จฯ เจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2483 ทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)ต่อมาเรียกปี่พาทย์ที่ใช้ประโคมงานศพว่า ปี่พาทย์นางหงส์ นานเข้าก็เหมาเรียกจังหวะหน้าทับกลองที่ตีกำกับทำนองเพลงประโคมตอนเผาศพว่านางหงส์ด้วย
คำว่า นางหงส์ หมายถึง (นาง) นก (ตัวเมีย) ตามประเพณีดึกดำบรรพ์ที่ “ปลงด้วยนก” หมายถึงให้นกพาขวัญและวิญญาณขึ้นฟ้า (สวรรค์) มีหลักฐานเก่าสุดเป็นลายเส้นรูปนกบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ราว 2,500 ปีมาแล้ว ครั้นเปลี่ยนคติทำพิธีเผาศพตามอินเดียก็ยังรักษาร่องรอยดั้งเดิม คือให้นางนกพาขวัญและวิญญาณสู่ฟ้า กลายเป็น “เจ้าแห่งฟ้า” จึงเรียกนางนกอย่างยกย่องว่า “นางหงส์”
เหตุที่ใช้ชื่อวงปี่พาทย์นี้ว่าวงปี่พาทย์นางหงส์ก็เนื่องจากเรียกตามชื่อเพลงที่เล่นคือเพลงเรื่องนางหงส์ โดยจะใช้เล่นเฉพาะงานอวมงคลเท่านั้น เพลงนางหงส์ อันที่จริงแล้วก็คือชื่อเพลงไทยเดิมเพลงหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเพลงนางหงส์ซึ่งเป็นเพลงในอัตราจังหวะสองชั้น ที่ใช้บรรเลงประโคมศพ จะมีหลายเพลงรวมกัน ประกอบด้วยเช่น พราหมณ์เก็บหัวแหวน สาวสอดแหวน แมลงวันทอง กระบอกทอง โดยต่อมาในปัจจุบันวงปี่พาทย์นางหงส์มักจะใช้กลองทัดตีแทนกลองมลายูในเวลาประโคมศพ ซึ่งในหมู่นักดนตรีไทยมักจะพูดเลียนเสียงว่า "ครึ่มครึ่ม" ส่วนกลองมลายูนั้นในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็น อาจเป็นเพราะสาเหตุการใช้หวายทำสายเร่งเสียง ซึ่งหาช่างทำกลองไม่ได้ ฉะนั้นกลองที่ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์ที่เราเห็นในตอนนี้ จะเป็นกลองแขกที่ใช้ไม้งอๆ ตีนั่นเอง
ปี่พาทย์นางหงส์ซึ่งเป็นวงปี่พาทย์ที่มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และฉิ่ง ฉาบ ส่วนปี่ที่ใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์นั้น จะใช้ปี่ชวาและกลองมลายู วงปี่พาทย์นางหงส์ เดิมเป็นวงที่ใช้บรรเลงในงานศพของสามัญชน ต่อมาได้นำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ เมื่อครั้งงานพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระประสงค์ให้นำวงปี่พาทย์นางหงส์ ของกรมศิลปากรมาประโคมย่ำยาม ต่อจากวงประโคมของงานเครื่องสูง สำนักพระราชวัง จึงนับเป็นครั้งแรกที่ได้นำวงปี่พาทย์นางหงส์มาใช้ในงานพระบรมศพด้วย
ส่วนบทประพันธ์เรื่อง "ปี่แก้วนางหงส์" นั้น นางเอกเป่าปี่จนตาย เพราะความรักและกลายเป็นวิญญาณ ซึ่งสันนิษฐานว่าคุณเสน่ห์ โกมารชุน นำเพลงนางหงส์ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้บรรเลงงานศพ เอามาผนวกกับที่นางเอกเป่าปี่แก้ว (ซึ่งจริงๆแล้วปี่ที่นางเอกเป่าในละครเวอร์ชั่นที่แล้วคือปี่ใน) จึงตั้งชื่อเรื่องว่าปี่แก้วนางหงส์ ส่วนคำว่า ปี่แก้ว นั้น มีปรากฏในชื่อเพลงไทยเดิม คือ "เขมรปี่แก้ว" และในบทละครเรื่องนางมโนราห์ ที่ว่า "ลูกเอยเคยฟังแต่ปี่แก้วพร้อมแล้วทั้งปี่ไฉน"
นอกจากนี้ คำว่าปี่แก้ว ยังปรากฏในเรื่องพระอภัยมณีที่ว่า...
“แล้วทรงเป่าปี่แก้วให้แจ้วเสียงสอดสำเนียงนิ้วเอกวิเวกหวาน
พวกโยคีผีสางทั้งนางมารให้เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ”
ในการตีความ ปี่แก้ว จึงไม่ใช่แค่เครื่องดนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญะของโลกียวัตถุ คือเป็นเครื่องดนตรีที่อาศัยเสียงเป็นสื่อเล้าโลมใจคนฟังให้เคลิบเคลิ้ม ซึ่งเสียงดนตรี ก็เป็นหนึ่งในรสสัมผัสทางกามตัณหานั่นเอง ซึ่งโครงเรื่องที่เพิ่มเติมเข้าไปนั้น ใช้ปี่ในการสร้างปัญหาให้แก่ตัวละครเอกที่ยังเป็นปุถุชนที่ยังหนีไม่พ้นเรื่องรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ย่อมหนีไม่พ้นความหลงใหลเรื่องโลกียสุขไปได้ด้วยเหตุนี้หลวงราชจึงมีเมียหลายคน ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดเพื่อชดใช้กรรม ก่อนที่จะละความสุขในระดับโลกียะไปสู่การแสวงหาความสุขในระดับโลกุตระในตอนจบของเรื่อง.