“ขุนไกร” พา “ดาวเรือง” เที่ยวเลาะกรุงเก่าเล่าประวัติศาสตร์ในละคร “สายโลหิต”
ถ้าพูดถึงละครย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ นาทีนี้ต้องยกให้ละคร “สายโลหิต” ของทางช่อง 7HD เพราะออกอากาศไปเพียงไม่กี่ตอน ก็ครองใจแฟนละครเป็นที่เรียบร้อย ดูได้จากกระแสชื่นชมทางโซเชียล ที่แฟนละครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โลเคชั่นถ่ายทำสวยงาม ซีจีเนียนสมจริง พร้อมพากันติดแฮชแท็ก #ขุนไกร #ดาวเรือง #สายโลหิต แฟนละครส่วนใหญ่ประทับใจฉาก ขุนไกร (พอร์ช-ศรัณย์ ศิริลักษณ์) อาสาพา ดาวเรือง ตอนเด็ก (น้องแคนดี้-สุภาภัสสร์ ผลเจริญรัตน์) เดินเที่ยวชมพระราชวังหลวง ในเมือง“กรุงเทพมหานครบวรทราวดีศรีอยุธยา” หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน แล้วเราจะช้าอยู่ใย ไปเที่ยวตามรอยขุนไกร เลาะกรุงเก่าเล่าประวัติศาสตร์ที่สวยงามกันดีกว่า
วัดพระศรีสรรเพชญ์
พระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา มีวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดหลวงประจำพระราชวัง เช่นเดียวกับ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่เป็นวัดหลวงประจำพระบรมหาราชวังของกรุงเทพฯ ไม่มีเขตสังฆาวาสให้พระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้น ยังมีการแบ่งเขตพระราชฐานเป็นฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ด้วยกำแพงพระราชวัง ชั้นในอีกรอบหนึ่ง มีพระสถูปเจดีย์ใหญ่ 3 องค์เรียงกัน ซึ่งในละครสายโลหิต ทำซีจีออกมาได้อย่างสวยงาม มีสีทอง สะท้อนแสงยามเย็นเหลืองอร่าม และมีมณฑป 2 องค์ระหว่างกลางยอด สลับกับหลังคาสีแดงราวสวรรค์
ดาวเรือง: สวยจังค่ะ เจดีย์ 3 องค์เรียงกันงามเหลือเกิน ยอดมณฑปเป็นสีทอง หลังคานั่นสีแดง ขุนไกร…สวยเหมือนสวรรค์เลยค่ะ
ขุนไกร: เคยเห็น?
ดาวเรือง: ไม่เคยค่ะ
ขุนไกร: เจดีย์ 3 องค์นั่น ข้างในใส่อัฐิธาตุของขุนหลวง 3 องค์
ดาวเรือง: ค่ะ...คุณย่าเล่าอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วพระพุทธรูปยืนล่ะคะ...จะพาไปดูมั้ยคะ
ขุนไกร: อยู่ในวิหารหลวง ทางนู้น
พระศรีสรรเพชญดาญาณ
เป็นพระประธานแห่งวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระอารามในพระบรมมหาราชวังกรุงศรีอยุธยา สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (กษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระนามเดิมว่า พระเชษฐา เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) โดยหล่อพระพุทธรูปยืนสูง 8 วา (ประมาณ 16 เมตร) หุ้มทองคำน้ำหนัก 286 ชั่ง (ประมาณ 171 กิโลกรัม)
ขุนไกร: งามเหลือเกิน สูง 8 วานะเจ้า
ดาวเรือง: อย่างดาวเรืองนี่สูงกี่วาคะขุนไกร
ขุนไกร: ดาวเรืองหรือ...ครึ่งวาเห็นจะได้กระมัง (เสียงหัวเราะเกรียว)
พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท
เป็นปราสาทองค์กลาง ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยหนีจากอิทธิพลของสถาปัตยกรรมขอมและไทยเหนือ ดังนั้นพระที่นั่งองค์นี้จึงเป็นที่รวมความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยาเข้าไว้ด้วยกัน ใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ ออกรับแขกเมืองของพระมหากษัตริย์ สร้างขึ้นคู่กับพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาท เมื่อ พ.ศ. 1919
ดาวเรือง: เหมือนเรือนะคะ
ขุนไกร: ใช่แล้ว เหมือนเรือ มุขหน้ากับมุขหลังยาว มุขข้างสั้น มีมุขเด็จ ตรงนั้นเป็นมุขหน้า ที่ตั้ง พระที่นั่งบุษบก
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกกันเป็นสามัญว่า ปราสาททอง เพราะเป็นปราสาทปิดทององค์แรกในสมัยอยุธยา มีลักษณะเป็นปราสาทยอดปรางค์ มีมุขหน้าหลังยาว และมุขข้างสั้น มุขหน้ามีมุขเด็จตั้งพระที่นั่งบุษบกมาลา มีกำแพงแก้วล้อมรอบ พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธี เช่น พิธีราชาภิเษก เป็นต้น(ทำนองเดียวกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ของพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ)
ดาวเรือง: งามเหลือเกินค่ะขุนไกร
ขุนไกร: เจ้าสนใจอย่างนี้ค่อยน่าพาเที่ยวหน่อย ทางโน้นมีพระที่นั่งอีก 1 องค์ตามพี่มา
พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ เป็นพระที่นั่งองค์เหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นปราสาทจตุรมุข มีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่น ๆ คงจะใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรข้ามกำแพงไปสู่แม่น้ำได้ ต่อมาในสมัยพระเจ้าบรมโกศ ได้แปลงนามเป็นพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เพื่อให้คล้องกับพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท
ดาวเรือง: งามเหลือเกินค่ะ เหมือนวิมารนะคะ
ขุนไกร: พี่จะพาเจ้านั่งเรือกลับ สั่งเรือไว้แล้ว
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พระราชวังหลวงในเมือง “กรุงเทพมหานครบวรทราวดีศรีอยุธยา” หรือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน ที่ละคร “สายโลหิต” นำมาถ่ายทอดให้เยาวชนคนรุ่นหลัง ได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และเห็นภาพสถานที่ต่าง ๆ ด้วยซีจีที่สวยงาม จูงใจให้น่าติดตามมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีฉากสู้รบเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดให้รอดพ้นจากข้าศึก แสดงให้เห็นถึงสายโลหิตไทยที่เข้มข้น ใครบังอาจมาบุกรุกย่ำยี คนไทยจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย
เมื่อย้อนเวลาไปเที่ยวเลาะกรุงเก่ากันแล้ว ก็อย่าลืมไปสนุกกันต่อในละคร “สายโลหิต” ทุกคืน วันศุกร์ เวลา 20.05 น. และวันเสาร์ อาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทาง ช่อง 7HD กด 35 และ Facebook LIVE ทาง Ch7HD หรือสามารถรับชมละครย้อนหลังได้ทาง BUGABOO.TV
และสามารถติดตามเรื่องราวประวัติศาสตร์เพิ่มเติมได้ทางสารคดีสั้น ชุด บรรพชน “ฅน” ชาติไทย ในรายการข่าวภาคค่ำ วันที่ 28 กันยายน - 21 ตุลาคม ออกอากาศทุกวันศุกร์ - อาทิตย์ และในวันที่ 22 - 29 ตุลาคม ออกอากาศทุกวัน หรือรับชมย้อนหลังได้ทาง news.ch7.com