เรื่องย่อ : "สายโลหิต"
บทประพันธ์ : โสภาค สุวรรณ
บทโทรทัศน์ : ศัลยา สุขะนิวัตติ์
กำกับการแสดง : เพ็ญลักษณ์ อุดมสิน
แนวละคร : พีเรียด อิงประวัติศาสตร์
ผลิต : บ. ดาราวิดีโอ จำกัด
ผู้จัด : สยาม สังวริบุตร
อำนวยการผลิต : คณะกรรมการพิจารณาการผลิตโทรทัศน์ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7
วันเวลาออกอากาศ : ทุกวันศุกร์ เวลา 20.05 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทางช่อง 7 HD กด 35 หรือทาง Facebook LIVE Official Fanpage BBTV Channel7 และสามารถรับชมย้อนหลังได้ทาง BUGABOO.TV
ระยะเวลาออกอากาศ : เริ่มตอนแรก วันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2561
#สายโลหิต #ดาราวิดีโอ #ช่อง7HD #ch7dramasociety #lakornonlinefan #ลมหายใจคือละคร
เรื่องย่อ
พุทธศักราช2301 กรุงเทพมหานครบวรทราวดีศรีอยุธยา ราชธานีของอาณาจักรสยาม ตั้งบนเกาะหนองโสน มีแม่น้ำล้อมรอบเกาะที่รูปพรรณสัณฐานคล้ายสำเภานาวา บ้านเมืองสงบร่มเย็นไพร่ฟ้าหน้าใสด้วยว่างเว้นการศึกเป็นเวลาถึงร้อยกว่าปี เมื่อปลอดศึกจึงมีเวลาทะนุบำรุงบูรณะพระบรมมหาราชวังทั้งพระที่นั่งในกรุงและพระที่นั่งนอกกรุง รวมทั้งวัดวาอารามที่ลาดหลังคาโบสถ์วิหารและพระปรางค์เจดีย์ด้วยแผ่นทองคำ ความงามของกรุงศรีอยุธยาเป็นที่เลื่องลือว่าราวสวรรค์ชั้นฟ้า ยามกลางวันบ้านเมืองคึกคักด้วยผู้คนสัญจรไปมาเรือจากทุกสารทิศบรรทุกสินค้ามาค้าขาย แม่น้ำที่ล้อมรอบกรุงเต็มไปด้วยแพขายสรรพสิ่งของต่างๆ นับคร่าวๆ แล้วประมาณสองหมื่นเศษพันปลาย ถึงฤดูลมสำเภาพัดเข้ามาในกรุง เรือสินค้าจากต่างประเทศทั้งจีนแขกฝรั่งมาจอดทอดสมอ แลกเปลี่ยนสินค้าทันสมัยแดนไกลกับสินค้าพื้นเมืองของชาวอยุธยา
กรุงศรีอยุธยาจึงเป็นราชธานีที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ณ เวลานั้น
สามครอบครัวขุนนางของอยุธยา ที่คนในครอบครัวมีชีวิตเกี่ยวพันกันทั้งรักทั้งแค้นจนกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันจนวาระสุดท้ายของชีวิต คือ
ครอบครัวของพระสุวรรณราชาเป็นช่างทองหลวง พระสุวรรณ มีบุตรชายหญิง3 คน คือ พ่อเดือน รับราชการเป็นหลวงเสนาสุรภาค ลำดวน บุตรีคนต่อมา และ ดาวเรือง บุตรีคนสุดท้องอายุ10ขวบ แม่ของลูกสามคนเสียชีวิตแล้ว ลูกๆจึงมี ย่านิ่ม เป็นผู้เลี้ยงดู
อีกครอบครัวคือ พระยาพิริยะแสนพลพ่ายและคุณหญิงศรีนวล มีบุตรชายหญิงสามคนเช่นกัน คือ หลวงเทพฤทธิ์อริศัตรูพ่าย รับราชการเป็นทหาร และเพิ่งแต่งงานกับลำดวน ขุนไกร วัยยี่สิบปีเป็นบุตรคนที่สองรับราชการทหารเช่นกัน และ แม่เยื้อน บุตรีคนสุดท้องอายุเพิ่งย่างรุ่นสาว
ครอบครัวที่สามคือ พระวิชิตปรีชาและคุณหญิงปริก ทั้งสองมีบุตรชายเพียงคนเดียวคือ หมื่นทิพเทศา เป็นลูกทูนหัวทูนเกล้าของคุณหญิงปริกทั้งรักและตามใจจนหมื่นทิพหยิ่งผยอง สามหาวและเจ้าเล่ห์แสนกล หมื่นทิพเข้ามาเกี่ยวดองกับครอบครัวของพระยาพิริยะแสนพลพ่าย เพราะเจ้าเล่ห์ล่อหลอกจนแม่หญิงเยื้อนตกหลุมรัก แม้ขุนไกรพี่ชายที่รู้เช่นเห็นชาติหมื่นทิพดี จะทักท้วงอย่างแรงด้วยรู้นิสัยชั่วร้ายของหมื่นทิพ แต่แม่เยื้อนไม่เกรงกลัวใดๆ ยืนยันจะแต่งงานกับหมื่นทิพให้จงได้ คุณหญิงศรีนวลสนับสนุนหมื่นทิพเต็มที่เพราะอยากได้ของกำนัลที่หมื่นทิพนำมาให้มิได้ขาด ขุนไกรกับหมื่นทิพจึงเป็นไม้เบื่อไม้เมากันเรื่อยมา
คุณย่าเลี้ยงดาวเรืองให้โตขึ้นมาอย่างไม่เหมือนเด็กหญิงคนใดในอยุธยา ดาวเรืองเรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ เรื่องงานฝีมือร้อยดอกไม้ปักสะดึงไปจนถึงเย็บที่นอน หัดดูแลพยาบาลคนป่วยไข้ หัดทำอาหารการครัวรวมทั้งดูแลกิจการในบ้าน ทุกอย่างที่เป็นหน้าที่ลูกผู้หญิงแม้แต่การสืบทอดวิธีการทำทองก็ตกทอดถึงดาวเรือง นอกจากนี้คุณย่าให้ดาวเรืองเรียนหนังสือ และการเรียนนี่เองทำให้ดาวเรืองไม่อยากอยู่ในโลกแคบคือบริเวณบ้าน แต่อยากออกไปเห็นโลกภายนอกที่กว้างใหญ่กว่าจึงเป็นต้นเรื่องวุ่นวายทั้งหลายเพราะวันหนึ่ง ดาวเรืองหนีคุณย่าและหนีนางเยื้อน บ่าวพี่เลี้ยงที่รักดาวเรืองทูนหัวทูนเกล้า ออกไปเที่ยวกับยายชดแม่ครัว ยายชดพาดาวเรืองไปเที่ยว “ป่า” ซึ่งหมายถึง “ตลาด” ที่มีทั่วอยุธยาขายของนานาชนิด ดาวเรืองสนุกสนานเป็นที่สุดเพราะตรงกับนิสัยที่อยากรู้อยากเห็น จนสุดท้ายยายชดพาไปเที่ยวถึงในคุกหน้าวัดเกศ ดาวเรืองก็ไปทั้งๆ ที่เป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้หญิง หารู้ไม่ว่าหมื่นทิพอยู่แถวนั้นเห็นทุกอย่าง
หมื่นทิพถือเป็นโอกาสขู่เข็ญดาวเรืองให้นำเพลงยาวไปส่งให้แม่หญิงเยื้อน มิฉะนั้นจะฟ้องคุณย่า ดาวเรืองทั้งโกรธทั้งเกลียดหมื่นทิพแต่จำใจต้องทำ การไปบ้านแม่เยื้อนก็ต้องออกอุบายหลายอย่าง แม่เยื้อนรับเพลงยาวที่ส่งมาเรื่อยๆ และดาวเรืองเพิ่มความเกลียดหมื่นทิพ ขุนไกรเห็นความผิดปกติและในที่สุดก็จับได้ ดาวเรืองสารภาพทั้งน้ำตาว่าอัดอั้นตันใจมานานแล้ว ขุนไกรมองใบหน้าอ่อนสะอาดชุ่มด้วยน้ำตาใจอ่อนยวบเพราะสงสาร วันต่อมาขุนไกรบุกถึงบ้านหมื่นทิพจับตัวให้ดวลดาบกันแต่หมื่นทิพคนขี้ขลาดไม่กล้า ขุนไกรจึงขู่ว่าอย่าได้บังคับดาวเรืองอีก และอีกอย่างอย่าบังอาจส่งเพลงยาวให้น้องสาวของตนอีก เพราะแม่หญิงเยื้อนไม่มีวันยอมเข้าหอกับคนขี้ขลาดอย่างหมื่นทิพเป็นเด็ดขาด ถ้ารู้ว่าทำทั้งสองอย่างอีกหมื่นทิพได้ตายโหงแน่ หมื่นทิพแค้นแทบกระอักจึงไปบีบคั้นนางปริกให้จัดการสู่ขอแม่หญิงเยื้อนให้ได้
เมื่อคุณย่ารู้เรื่อง ยายชดจึงโดนห้ามขาดไม่ให้พาดาวเรืองไปเที่ยวที่ใดอีก ขุนไกรรู้เข้าสงสารจึงรับอาสาคุณย่าเป็นคนพาไปเอง
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นความผูกพันของเด็กหญิงกับขุนไกร สำหรับดาวเรืองพี่ไกรคือพี่ชายที่ใจดี อ่อนโยนสุภาพและเก่งกาจไปเสียทุกอย่าง เห็นใครถูกรังแกพี่ไกรก็จัดการคนพาลสันดานหยาบจนหมอบ เห็นคนแก่ไม่สบายพี่ไกรก็ช่วยปฐมพยาบาลจนหาย เห็นแม่ค้าขายของไม่ดีพี่ไกรก็ช่วยขายจนของหมด พี่ไกรสามารถสานกระบุงตะกร้าทำตุ๊กตาให้เด็กผู้หญิงและสอนมวยฟันดาบให้เด็กผู้ชาย พี่ไกรช่วยหลวงพ่อซ่อมแซมศาลาวัด บันไดท่าน้ำและหลังคาโบสถ์ที่ชำรุดเสียหาย ดาวเรืองเห็นภาพพี่ไกรทั้งอ่อนโยนทั้งเข็มแข็ง ทั้งใจดีขี้เล่นหัวเราะง่ายและบางครั้งก็ดุดันสมเป็นชายชาติทหาร ดาวเรืองจึง “ติด” พี่ไกร เช่นเด็กๆ ทั่วไปที่ติดคนที่รักและตามใจ
เหนือสิ่งอื่นใด ขุนไกรรู้จักอยุธยาทุกซอกทุกมุม ขุนไกรพาดาวเรืองไปทุกตารางนิ้วของสำเภานาวาลำนี้ พร้อมคำบอกเล่าทั้งประวัติความเป็นมา ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามต่างๆ ทั่วอยุธยาตั้งแต่วัดประจำเมืองเช่นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ หรือวัดพระศรีสรรเพชญ์ จนถึงวัดเล็กวัดน้อยที่เก่าแก่ ขุนไกรพาดาวเรืองซอกซอนไปพร้อมยายชดและนางเยื้อนพี่เลี้ยง ที่ต้องติดสอยห้อยตามไปด้วย ตลาดทั้งในกรุง รอบกรุง ป้อมปราการสำคัญเช่นป้อมเพชร แม้แต่วังหลวงขุนไกรก็พาดาวเรืองไปเดินชมพระราชวังและหมู่มณเฑียรมหาปราสาททั้งปวง แม้แต่โรงช้างหลวงก็ตาม หลายครั้งที่ขุนไกรอุ้มดาวเรืองที่หลับคอพับคออ่อนกลับมาส่งที่บ้านในช่วงเย็น ไม่เพียงแต่ดาวเรืองที่สนุกเต็มที่กับการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วอยุธยา ขุนไกรเองก็เอ็นดูดาวเรืองในความฉลาด ช่างซักถามและสนใจใคร่รู้ต่อสรรพสิ่งทั้งปวง ทั้งยังช่างจดช่างจำเป็นที่พอใจกับคนเล่ายิ่งนัก
วันหนึ่งดาวเรืองขออนุญาตคุณย่าไปบ้านเจ้าคุณพิริยะ เพื่อเอาขนมไปให้ขุนไกร ไปถึงต้องตกใจมากเพราะขุนไกรและหมื่นทิพกำลังประดาบกันอยู่ หมื่นทิพผู้ซึ่งบัดนี้เข้านอกออกในบ้านนี้ได้แล้วเยาะหยันขุนไกรในทีว่าตนจะมาเป็นลูกเขยบ้านนี้อยู่แล้ว ขุนไกรโกรธจัดเข้าฟาดฟันสุดแรงเกิด หมื่นทิพถอยร่นเพลี่ยงพล้ำจนน่าจะเจ็บตัวอย่างหนัก ถ้าแม่หญิงเยื้อนไม่ลงมาห้ามด้วยตัวเอง แต่กระนั้นหมื่นทิพก็ได้แผลกลับไป ความแค้นมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ขุนไกรแค้นจนพูดไม่ออก ดาวเรืองรับฟังคำบอกเล่าถึงความเลวของหมื่นทิพ พร้อมคำปรามาสว่าถ้าไปทัพเห็นทีจะหาที่แอบซ่อนตัวแทบไม่ทัน นี่ดีว่าการศึกสงบเงียบไม่มีวี่แวว ดาวเรืองเล่าว่าคุณย่าดูชะตาบ้านเมืองและว่าจะมีศึกในไม่ช้า ขุนไกรแย้งว่ากรุงศรีอยุธยาว่างศึกมาเกือบสองร้อยปี ประจวบเหมาะเหลือเกินที่ขณะนั้นเป็นเวลาเดียวกับม้าเร็วจากทิศตะวันตกพุ่งตรงมาอย่างพายุ เพื่อแจ้งข่าวว่าพม่ายกทัพมาใกล้จะถึงมะริดและตะนาวศรีอยู่แล้ว
ชาวเมืองโจษขานหวั่นไหวเรื่องศึก พรุ่งนี้เช้ากองทัพหลวงจะออกเดินทาง แม่ทัพคือ เจ้าคุณรัตนาธิเบศร์ พระยาพิริยะหลวงเสนา หลวงเทพหรือพ่อเทพ และตัวขุนไกรเอง รวมทั้งหมื่นทิพล้วนต้องไปทัพครั้งนี้ทั้งสิ้น
ดาวเรืองปลุกนางเยื้อนตั้งแต่ยังไม่สว่าง ชวนไปประตูไชยเพื่อเอาพระห้อยคอไปให้พี่ไกร ขุนไกรซาบซึ้งรับรู้ความห่วงใยที่ส่งผ่านสายตาเด็กหญิงที่จ้องจับใบหน้าตน กองทัพเคลื่อนพล ขุนไกรบนหลังม้าสายตามองนิ่งที่ร่างเด็กหญิงที่ยืนโบกมือส่ง แสงใต้จับหยาดน้ำตาที่คลอตาเป็นเงาวับ ภาพนั้นติดตาขุนไกรแม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปี รู้ซึ้งถึงความผูกพันที่ก่อเกิดขึ้นในใจ
ขณะที่ทุกคนไปทัพ ทั้งพระยาพิริยะแสนพลพ่าย หลวงเสนาสุรภาค ขุนไกร และหมื่นทิพ
ไม่มีใครอยู่ทางกรุงศรีอยุธยา คุณหญิงปริกแม่ของหมื่นทิพเห็นเป็นโอกาสจึงเข้าหาทางพระสนมเอกของพระเจ้าอยู่หัวให้ไปสู่ขอแม่หญิงเยื้อน แม่หญิงเยื้อนยินดีด้วยหลงใหลคำป้อยอและของกำนัลของหมื่นทิพเข้าไปเต็มเปา
เวลาผ่านไปเป็นเดือน วันหนึ่งหมื่นทิพกลับมาจากทัพมาบอกว่าเสียมะริด และตะนาวศรีให้กับพม่าแล้ว ดาวเรืองเสียใจมาก นอกจากนั้นได้รับข่าวร้ายว่าพี่ชายคือหลวงเสนาสุรภาคกับขุนไกรเสียชีวิตไปด้วย ทุกคนช็อคกับข่าวร้ายรุนแรงนี้ แต่แล้ววันหนึ่งขุนไกรก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมหลวงเทพและบอกความจริงว่า หมื่นทิพเป็นคนโกหกมดเท็จ ความจริงคือหมื่นทิพควรจะไปช่วยกองหน้าคือหลวงเสนาสุรภาคและขุนไกรรบที่อ่าวหว้าขาวบริเวณที่จะสกัดพม่า ที่นั่นขุนรองปลัดชูและชาววิเศษไชยชาญอาสาสมัคร รวมทั้งขุนไกรและหลวงเสนาได้สู้รบกับพม่าอย่างกล้าหาญ แต่ด้วยกำลังพลน้อยกว่าจึงเพลี่ยงพล้ำ หมื่นทิพไปถึงพอดีเห็นฝ่ายเราเพลี่ยงพล้ำแทนที่จะช่วยแต่หนีกลับก่อน แต่การณ์ครั้งนี้ไม่สามารถเอาโทษกับหมื่นทิพได้ เพราะไม่มีพยานหลักฐานอีกทั้งหมื่นทิพก็เป็นคนโปรดของเจ้าคุณรัตนาธิเบศร์ ผู้ซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองด้วย แต่โชคร้ายที่พระยาพิริยะพ่อของขุนไกรและหลวงเสนาสุรภาคพี่ชายของดาวเรืองที่ไปร่วมสู้รบถูกทหารพม่าฟันเสียชีวิต ซึ่งเป็นไปตามคำทำนายมหาทักษาซึ่งมีย่านิ่มเท่านั้นที่ล่วงรู้ ยิ่งทำให้ย่านิ่มใจเสียว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ยิ่งขึ้นอีก ตามคำทำนายที่ย่านิ่มรู้คนเดียว
ต่อมา พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือ ขุนหลวงหาวัด ได้ลาผนวชออกมาช่วยปกป้องพระนคร จัดกองทัพใหม่สั่งให้เจ้าคุณรัตนาธิเบศร์และพระยาราชบังสัน เป็นนายกองออกไปตั้งรับข้าศึกที่ชายแดนเมืองสุพรรณ เจ้าคุณรัตนาธิเบศร์เกณฑ์ขุนไกรให้ไปด้วย เพราะ คุณหญิงปริกที่คิดกำจัดให้ขุนไกรไปทัพเพื่อจะได้ไม่ขัดขวางการสู่ขอแม่หญิงเยื้อนได้ไปขอจากเจ้าคุณรัตนาธิเบศร์พร้อมของกำนัลมากมาย ในสมรภูมิการสู้รบดำเนินไปจนวันหนึ่งทหารคนสนิทของขุนไกรชื่อ นายพันสิงห์ หนีทัพมาที่บ้าน นำข่าวมาบอกว่า ไพร่พลจากพระนครฝีมืออ่อนสู้พม่าไม่ได้ หนีกันหมดทิ้งค่ายร้างทุกค่าย เจ้าคุณรัตนาธิเบศร์ลอบหนีเข้าพระนครแล้วกราบทูลกล่าวโทษพระยาราชบังสันว่าเป็นกบฎตนเองก็ถูกยิงค่ายจนแตก
คุณย่านิ่มทอดถอนใจ ในชะตากรรมของบ้านเมืองที่มีแม่ทัพที่ขลาดเขลา ไม่ต่อสู้เพื่อประเทศชาติ ก็เหลือแต่ขุนไกรที่ว่าจะสู้ตาย และก็สู้จนถูกฟันหลายแห่งจนจมน้ำไป ก่อนขุนไกรจะจมหายไปได้สั่งให้พันสิงห์นำดาบบรรพบุรุษที่ตนได้นำไปร่วมสู้รบกลับคืนยังบ้านของขุนไกรให้จงได้ ครานี้กองทัพพม่ามีชัยเหนือกองทัพกรุงศรีฯ กำลังเดินทัพมุ่งหน้ามาตีพระนคร ทุกคนต่างตื่นตระหนกหวาดกลัวยิ่งนัก พันสิงห์มาพักรักษาตัวให้นางเยื้อนเป็นผู้ดูแล และรักกันในที่สุด ขุนไกรนั้นรอดกลับมาได้แต่บาดเจ็บสาหัสจนต้องพักรบ ส่วนหมื่นทิพก็ไปประจำอยู่กับปลัดกรมพระตำรวจในขวา หวังใจว่าจะไม่ต้องไปออกร่วมทัพจับศึกอีก แต่ไม่วายต้องไปร่วมเป็นกองหนุนทัพของ หลวงอภัยพิพัฒน์ หัวหน้าเหล่าคนจีนที่เข้ามาตั้งรกรากอาศัยในพระนคร กะเกณฑ์ ชาวจีนออกไปช่วยรบด้วยเห็นแก่คุณของแผ่นดินไทย
สุดท้ายทัพจีนแตกต้องถอยทัพกลับ นายพันสิงห์ส่งข่าวกลับมาว่า กองหนุนของหมื่นทิพไม่ทันได้เข้าช่วยก็หนีกลับตามเคย เห็นว่าเพลี่ยงพล้ำบาดเจ็บถูกหอกแทงเข้าที่ขาขณะกำลังหนี ทุกคนได้ฟังก็ให้รู้สึกสมเพชในความขี้ขลาดของหมื่นทิพเป็นกำลัง ขุนไกรคลุ้มคลั่งเต็มที่ต้องการออกไปรบทั้งที่ร่างกายยังไม่หายจากบาดเจ็บ เนื่องจากตนฝันเป็นลางบอกเหตุร้าย เห็นแสงเพลิงลุกโชติช่วงข้างใต้กรุง ให้รุ่มร้อนใจห่วงกรุงศรีฯ เป็นกำลัง ดาวเรือง ต้องคอยไปชวนพูดคุยเรื่องต่างๆ ให้ขุนไกรคลายความกังวลลง
แต่แล้ววันหนึ่ง พันสิงห์ก็มาบอกว่าข้าศึกที่มาตั้งค่ายอยู่ที่วัดหน้าพระเมรุส่งคนเข้าตีท้ายคูด้านใต้ของกรุงศรี ทั้งเรือหลวง เรือราษฎรถูกพม่าเผา ราษฎรซึ่งเป็นชาวเรือไม่มีอาวุธก็ถูกฆ่าตายเกลื่อนแม่น้ำ รวมถึงพ่อแม่พี่น้องของพันสิงห์ด้วย ขุนไกรได้ทราบเช่นนั้นก็โลดแล่นออกไปทัพทั้งๆ ที่ยังเจ็บอยู่ โชคดีที่เวลาต่อมาปืนใหญ่บนเชิงเทินยิงถูกพระเจ้าอลองพญาแม่ทัพบาดเจ็บสาหัส พม่าจึงต้องถอยทัพกลับกรุงหงสาวดีไปและสุดท้ายกษัตริย์พม่าสวรรคต ณ ชายแดนระหว่างไทยและพม่า
หมื่นทิพแต่งงานกับแม่หญิงเยื้อน ขุนไกรเจ็บแค้นนักหนารู้ดีว่า หมื่นทิพไม่รักแม่หญิงเยื้อนเท่าใดนักแต่อยากเอาชนะตนมากกว่า หมื่นทิพตามมาหาเรื่องเย้ยหยันขุนไกร ทางขุนไกรที่ยังฝังใจเรื่องที่หมื่นทิพหนีทัพก็ยกออกมาพูดจนหมดสิ้น หมื่นทิพหน้าชาเต้นเร่าๆ ปราดเข้าชกต่อยขุนไกรวิวาทกันจนเจ็บตัวไปทั้งสองฝ่าย ขุนไกรไม่สามารถอยู่ร่วมชายคาเดียวกับหมื่นทิพได้ จึงขอไปรับราชการเมืองเหนือ
เวลาผ่านไปดาวเรืองเติบโตขึ้น อายุได้ 15 ปี เป็นสาวสดสวย หน้าตาผิวพรรณผุดผ่อง หมื่นทิพมาเกะกะระรานเพราะดาวเรืองสวยจัด แม่หญิงเยื้อนซึ่งร่างกายไม่สู้แข็งแรงนักจึงไม่สามารถมีลูกกับหมื่นทิพได้ ไม่นานหมื่นทิพก็หมดรสสวาทกับแม่หญิงเยื้อน ไล่เอาบ่าวไพร่สาวๆ ในบ้านเป็นเมียแม้แต่คนที่ยังเพิ่งแตกเนื้อสาว อีกทั้งยังได้ไปสมาคมกับ พระยาพลเทพ ที่มักมากในเหล้ายาและนารีเช่นกัน แม่หญิงเยื้อนชอกช้ำจากการกระทำของหมื่นทิพ ถึงกับล้มป่วย และในที่สุดก็ตรอมใจตาย ดาวเรืองหวาดหวั่นไปถึงว่าขุนไกรกลับจากราชการจะโกรธแค้นที่แม่หญิงเยื้อนตายจนถึงทำร้ายหมื่นทิพหรือไม่ วันงานศพแม่หญิงเยื้อน คุณหญิงศรีนวลนัยน์ตาฝาดไปเห็นว่าแม่หญิงเยื้อนมากวักมือเรียก จึงก้าวถลำพลาดตกบันไดเรือนถึงแก่ชีวิตไปอีกคน
และวันหนึ่ง ขุนไกรก็กลับมาด้วยร่างบึกบึนแข็งแกร่ง ผิวกร้านแดดลมจนดูคล้ำเกรียม ท่าทีองอาจเข้มแข็ง แต่ดูครุ่นคิดเงียบขรึมขึ้น ขุนไกรจำดาวเรืองไม่ได้ ด้วยว่าโตเป็นสาวเต็มตัว ความหลังระหว่างสองคนถูกรื้อฟื้น ขุนไกรซาบซึ้งความห่วงใยที่ดาวเรืองมีให้ ส่วนดาวเรืองความประทับใจที่มีต่อชายคนเดียวที่รักและเอื้อเอ็นดูต่อตนตลอดมา ความผูกพันแปรเปลี่ยนเป็นความรัก ขุนไกรให้แหวนแทนหัวใจไว้กับดาวเรืองก่อนกลับไปราชการอีกครั้ง พลางบอกว่าจะขอย้ายกลับพระนครเพราะเป็นห่วงดาวเรือง กลัวว่าหมื่นทิพจะมาราวีดาวเรือง ก่อนที่ขุนไกรจะกลับไปมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนยศขุนไกรเป็น หลวงไกรสรเดช และหมื่นทิพเป็นขุนทิพเทวา ขณะนั้นมีข่าวว่า พม่ายกทัพมาอีกเพื่อจะมาปราบเมืองทวายที่มาเข้ากับฝ่ายไทย ศึกครั้งนี้เป็นศึกใหญ่เพราะ พม่ายกทัพมาหลายทาง ทั้งหลวงไกร และคนอื่นๆ อีกมากถูกเกณฑ์ไปรบทั้งหมดรวมทั้งขุนทิพด้วย
ก่อนไปหลวงไกรได้ฝากฝัง ให้คุณย่าดูแลของรักคือดาวเรือง คุณย่ารับปากและให้กำลังใจแก่หลวงไกรว่าอย่าได้เป็นห่วง ให้รบอย่างเต็มกำลังก่อนไปขุนทิพสร้างวีรกรรมชั่วอีกคือให้ ไอ้มิ่ง กับ ไอ้มา ไปล่มเรือดาวเรืองแล้วถือโอกาสล่วงเกินดาวเรืองในน้ำ เหตุการณ์ล่มเรือเป็นเหตุให้นางตาดพี่เลี้ยงของดาวเรืองตาย พระสุวรรณราชาแค้นใจประกาศจะจัดการกับคนล่มเรือให้ได้
ลำดวนรู้ตัวเองว่าตั้งครรภ์ ในวันที่หลวงเทพสามีเดินทางไปทัพ เมื่อกองทัพจากไปไม่นานคนแจ้งเหตุมาบอกว่า หลวงเทพบาดเจ็บหนัก ลำดวนรุ่มร้อนใจเพราะเป็นห่วงยิ่งนัก ส่วนขุนทิพได้กลับเข้ามาประจำปืนใหญ่รักษาวัง เพราะนางปริกผู้เป็นแม่เข้าทางพระสนมเอกขอตัวกลับมา เมื่อกลับมาพบกับดาวเรืองที่ใดก็ตามขุนทิพเทวาจะพยายามเกี้ยวพาราสีทั้งวาจาและกายไม่ขาด ทำให้ดาวเรืองหวาดหวั่นทั้งยังทวีความเกลียดชังยิ่งขึ้น
ลำดวนได้ลูกชายตั้งชื่อให้ว่า ทอง หลวงเทพกลับมาเห็นหน้าลูกเพียงวันเดียว ต้องไปราชการต่อที่เมืองราชบุรี ระหว่างนี้คุณย่านิ่มผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์เห็นดวงเมืองของกรุงศรีอยุธยาด้วยความหวาดหวั่น เพราะตามดวงเมืองนั้น กรุงศรีอยุธยาจะต้องถึงคราพินาศด้วยน้ำมือข้าศึก แต่คุณย่าก็ไม่ได้ปริปากพูดกับใคร วันหนึ่ง ดาวเรืองกำลังนั่งร้อยมาลัยอยู่ที่ลานบ้าน ตกใจเพราะมีเสียงแกรกกรากด้านหลัง แต่แล้วก็ต้องผวาขึ้นเต็มตัวเมื่อปรากฎว่าคือหลวงไกร ผู้ซึ่งขอเจ้าเมืองสุโขทัยมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยาเพราะทางกรุงกำลังคับขันเนื่องจากพม่ารุกใกล้เข้ามาทุกที หลวงไกรเผชิญหน้ากับขุนทิพที่เมาสุราและพลั้งปากพูดเรื่องล่มเรือดาวเรือง หลวงไกรโกรธแค้นมากเข้าชกต่อยขุนทิพไม่ยั้ง น่วมทั้งไปหมดทั้งขุนทิพ ทั้งไอ้มิ่ง ไอ้มา แต่พระสุวรรณราชาเข้ามาห้ามทัพไว้เตือนสติหลวงไกรให้คิดถึงศึกบ้านเมืองดีกว่ามาฆ่ากันเอง ขุนไกรถือโอกาสสู่ขอดาวเรืองกับพระสุวรรณราชาและจัดการตบแต่งไว้เพื่อให้ขุนทิพเกรงกลัวไม่กล้ามาเกาะแกะกับดาวเรืองอีก
วันแต่งงานหลวงไกรกับดาวเรือง หมายเกณฑ์ก็มาถึงให้หลวงไกรไปเป็นกองหน้าทัพที่จะเดินทางไปรักษากรุงธนบุรี เป็นแผนการณ์ชั่วของหมื่นทิพเพราะความริษยาที่หลวงไกรแต่งงานและยังไม่ต้องไปรบไกลบ้าน จึงเข้าทางผู้มีอำนาจคือเจ้าคุณรัตนาธิเบศร์ให้สับเปลี่ยนตัวหลวงไกรต้องไปในทันทีทั้งๆ ที่เข้าหอเพียงอึดใจเดียวยังไม่ได้ฤกษ์ส่งตัวด้วยซ้ำ หลวงไกรไปไม่นานความทุกข์ก็ถาโถมเข้ามาอีกครั้ง เมื่อคุณย่าสิ้นลมด้วยอาการสงบในเช้าวันหนึ่ง คำสั่งเสียสุดท้ายคือให้เก็บงำข้าวของฝังดินและพูดถึงหลวงไกรว่าเคราะห์ร้ายนัก
การณ์เป็นจริง กรุงธนบุรีทานกำลังพม่าไม่ได้ หลวงไกรบาดเจ็บ สาเหตุเป็นเพราะว่าพระยารัตนาธิเบศร์หนีทัพกลับกรุงศรีอยุธยา หลวงไกรยิ่งเจ็บแค้นขึ้น และยิ่งได้พบกับพันสิงห์ ผู้ถูกส่งไปรักษาเมืองนนทบุรี และด้วยเหตุผลเดียวกันคือพระยายมราชแม่ทัพหนีกลับเมืองหลวงเช่นกัน หลวงไกรยิ่งทวีความแค้นจึงตัดสินใจไปเข้ากับค่ายบางระจัน ช่วยฝึกปรือวิชาอาวุธให้กับชาวบ้านที่มารวมตัวสู้พม่า จนเห็นที่เลื่องลือว่าชาวบ้านบางระจันกล้าหาญรบชนะพม่าหลายครั้งหลายหน ค่ายบางระจันเป็นที่ยึดมั่นที่ใครๆ ที่เลือดรักชาติเข้มข้นไปเข้าด้วยเพื่อช่วยป้องกันแผ่นดิน หลวงไกรมาจากบางระจันเข้ากรุงศรีเพื่อมาขอปืนใหญ่ไปให้พวกบางระจัน ขุนทิพใช้กลอุบายจนมีคำสั่งไม่ให้หลวงไกรกลับไปบางระจันอีกแต่ให้อยู่รักษากรุง แล้ววันหนึ่งบางระจันก็แตกเพราะไม่มีปืนใหญ่จะยิงต่อสู้กับข้าศึก
หลวงไกรสงสัยว่าจะมีไส้ศึก เพราะสังเกตุเห็นมอญแปลกหน้าคนหนึ่ง ป้วนเปี้ยนอยู่กับขุนทิพอย่างผิดปกติ และในที่สุดก็รู้ว่ามอญผู้นั้นเองที่อาสาพม่าไปตีค่ายบางระจันจนแตก จนได้รับยศเป็นสุกี้พระนายกอง และต่อมานั้นทุกค่ายของไทยก็ถูกตีแตกหมด พม่าเคลื่อนกำลังใกล้เข้ามาทุกที เหลือแต่กรุงศรีอยุธยาเป็นที่มั่นสุดท้ายก็ถูกพม่าวางเพลิงที่โน่นที่นี่หลายแห่ง จนพระเจ้าอยู่หัวต้องเจรจาขอเลิกรบยอมเป็นเมืองขึ้นแต่พม่าไม่ยอม ฝ่ายไทยพยายามต่อสู่ป้องกันพระนครกันอย่างเต็มที่ พระสุวรรณราชาซึ่งเข้าช่วยปกป้องบ้านเมืองถูกปืนของข้าศึกยิงเสียชีวิต ณ ที่ป้อมเชิงเทิน
ไอ้มิ่งบ่าวของขุนทิพรู้ความลับว่าหลวงทิพกับพระยาพลเทพเป็นไส้ศึกส่งเสบียงกรังให้พม่า ไอ้มิ่งทนต่อความทรยศนี้ไม่ได้จึงมาบอกหลวงไกร หลวงไกรให้ไอ้มิ่งนำไปหาขุนทิพด้วยยังไม่เชื่อสนิทใจนักว่ามิ่งจะทรยศนายนำเรื่องใหญ่โตเช่นนี้มาบอก ต่อหน้าขุนทิพไอ้มิ่งบอกความจริงว่ารู้เรื่องขุนทิพส่งเสบียงให้พม่า ขุนทิพฟาดดาบลงที่ตัวไอ้มิ่ง เป็นเวลาเดียวที่ไอ้มิ่งเสียบดาบเข้าที่ชายโครงของขุนทิพที่กระเสือกกระสนจะเข้าไปทำร้ายหลวงไกรด้วยความอาฆาตแต่ทนบาดแผลไม่ได้จึงตายแทบเท้าหลวงไกรอย่างน่าอเน็จอนาถ
ในที่สุดไทยก็เสียกรุงให้แก่พม่า พม่าเผาทุกอย่างจนราบเรียบ หลังจากเก็บทรัพย์สมบัติขนกลับไปพม่า ผู้คนแตกฉานซ่านเซ็น ลำดวน หลวงเทพและทอง ลูกชายถูกกวาดต้อนพร้อมกับข้าราชการมหาดเล็ก แม้แต่องศ์ขุนหลวงหาวัดเองไปเป็นเชลย ณ กรุงอังวะ พม่าทั้งปล้น ทั้งฆ่า แย่งชิงสมบัติและฆ่าข่มขืนชาวบ้านผู้หญิง ขุนไกรพาดาวเรือง นางเยื้อนพี่เลี้ยงและพันสิงห์สามีหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา หนีไปไม่ได้เท่าไหร่ก็ถูกจับได้ ทั้งหมดถูกพาไปกักขังที่ค่ายโพธิ์สามต้น แยกระหว่างค่ายหญิงและค่ายชาย หลวงไกรเป็นผู้สอนเชลยคนอื่นๆให้สานกระบุงตะกร้า ส่วนดาวเรืองเป็นคนเย็บที่นอน
ดาวเรืองรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ แต่ไม่บอกให้หลวงไกรรู้เพราะเกรงว่าจะเป็นห่วงจนไม่มีแก่ใจไปทำศึก หลวงไกรทำความดีให้พม่าตายใจได้ออกมายังชายป่าเพื่อตัดไม้ไผ่ พบเรือรั่วลำหนึ่งจึงเพียรไปอุดรอยรั่วทุกวันจนเรือใช้การได้ ต่อจากนั้นหลวงไกรจึงนัดแนะดาวเรืองและพันสิงห์และนางเยื้อนหลบหนีจากค่ายโพธิ์สามต้น จุดมุ่งหมายคือไปสมทบกับพระยากำแพงเพชร หรือที่ผู้คนเรียกว่า เจ้าตาก ที่เมืองจันทบุรี เมื่อไปถึงหลวงไกรเข้าสบทบกับพระยากำแพงเพชรยกขึ้นไปกรุงธนบุรี ดาวเรืองอยู่ในค่าย ลูกในครรภ์โตขึ้นตามลำดับ แต่ก็ได้ยายเผื่อนหมอตำแยใจดีที่คอยช่วยดูแล จนวันหนึ่งหลวงไกรกลับมาพร้อมกับข่าวดีว่าตนเองจะได้เป็นพ่อ แต่ก็ต้องสูญเสียพันสิงห์นายทหารคนสนิทไปในการรบครั้งนี้ด้วย
ขุนไกรกลับไปทัพ เจ้าตากตีพม่าค่ายโพธิ์สามต้นได้แล้วเลยไปตีพม่าที่รักษากรุงแตกพ่ายกระเจิง และดำรัสสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงต่อไป เจ้าตากขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาที่ 4
บ้านใหม่ริมคลองบางหลวงของหลวงไกรกับดาวเรือง เหมือนบ้านเก่าที่กรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง หลวงไกรได้เลื่อนยศเป็น พระสีหราชฤทธิไกร และพระยาไกรสีห์ราชภักดีตามลำดับ ทั้งสองมีบุตร 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน คือ จันทร์ กลด กล้า บัวผัน และ พลับพลึง ดาวเรืองสืบทอดความรู้ด้านโหราศาสตร์จากคุณย่าพยากรณ์และตรวจสอบดวงชะตาให้แก่คนคุ้นเคยและคนทั่วไป เวลาล่วงเลยไปหลายปี วันหนึ่งพระยาไกรสีห์ก็ลาดาวเรืองเพื่อไปรบพม่าที่ยกทัพเข้ามาที่เมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมไป ดาวเรืองใจหาย แต่พระยาไกรสีห์ปลอบว่าไม่ไปนานก็จะกลับมา
และวันนั้นก็มาถึง มีแต่ดาบโบราณของบรรพบุรุษที่กลับมาพร้อมข่าวร้าย พระยาไกรสีห์ต่อสู้จนเสียชีวิตในการรบ เจ้าพระยาจักรีมาหาดาวเรืองถึงบ้าน มาปลอบโยนพร้อมรับพ่อจันทร์ลูกชายคนโตไปอยู่ด้วย ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีประชวร เจ้าพระยาจักรีขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และย้ายราชธานีมาตั้งที่พระนคร
ดาวเรืองมอบดาบของบรรพบุรุษให้กับพ่อจันทร์ลูกชาย บอกว่าดาบบรรพบุรุษมีสองเล่ม คู่ดาบอีกหนึ่งเล่มคือดาบของหลวงเทพผู้เป็นลุงผู้ซึ่งถูกกวาดต้อนไปอยู่กรุงอังวะ คำสาบานของสองพี่น้องก่อนกรุงศรีอยุธยาถึงกาลพินาศว่าสักวันหนึ่ง ดาบคู่ของบรรพบุรุษจะต้องกลับมาอยู่รวมกัน
วันนั้นจะมาถึงหรือไม่
นักแสดง
1. ศรัณย์ ศิริลักษณ์ : ขุนไกร
2. ทิสานาฏ ศรศึก : ดาวเรือง
3. ชนะพล สัตยา : หมื่นทิพเทศา
4. ณัฐชา นวลแจ่ม : แม่หญิงเยื้อน
5. ดวงดาว จารุจินดา : คุณย่านิ่ม
6. อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา : หลวงเทพฤทธิ์อริศัตรูพ่าย
7. กวิตา จินดาวัฒน์ : ลำดวน
8. รชนีกร พันธุ์มณี : นางปริก
9. ขจรศักดิ์ รัตนนิสสัย : พระวิชิตปรีชา
10. ศรุต วิจิตรานนท์ : พระสุวรรณราชา
11. อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา : พระยาพิริยะแสนพลพ่าย
12. ขวัญฤดี กลมกล่อม : คุณหญิงศรีนวล
13. นนทพันธ์ ใจกันทา : หลวงเสนาสุรภาค (พ่อเดือน)
14. สุเมธ องอาจ : พระยาพลเทพ
15. ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล : เจ้าพระยาจักรี
16. สุรวุฑ ไหมกัน : พระเจ้าตาก
17. อินทิรา เจริญปุระ : นางเยื้อน
18. สุรศักดิ์ โชติทินวัฒน์ : พันสิงห์
19. อรุชา โตสวัสดิ์ : พระเจ้าอลองพญา
20. พูลภัทร อัตถปัญญาพล : พระเจ้ามังระ
21. ธนายง ว่องตระกูล : เนเมียวสีหบดี
22. ธิตินันท์ สุวรรณศักดิ์ : พระเจ้าเอกทัศน์
23. เพชรฎี ศรีฤกษ์ : พระเจ้าอุทุมพร
24. กัญญารัตน์ พงศ์กัมปนาท : เจ้าจอมเพ็ง
25. อิงฟ้า เกตุคำ : เจ้าจอมแม้น
26. นึกคิด บุญทอง : สมุนหพระกลาโหม
27. สุระ มูรธานนท์ : มังมหานรธา
28. พลกฤษณ์ จักรสุวรรณ : สุกี้
29. โอภาภูมิ ชิตาพัณณ์ : ขุนรองปลัดชู
30. บรรเจิดศรี ยมาภัย : ยายนวล
31. ชนัญญา พงษ์นาค : อีพวง
32. ศรุฒ สุวรรณภักดี : ไอ้มิ่ง
33. กฤษณนาท มะลิวัลย์ : ไอ้มา
34. ศุภชัย เธียรอนันต์ : พระยารัตนาธิเบศร์
35. สุธี ศิริเจริญ : พระยายมราช
36. สุรจิต บุญญานนท์ : พระราชบังสันเสนา
37. ธนภัทร สีงามรัตน์ : เจ้าพระยามหาเสนา
38.โชคดี ฟักภู่ : พ่อทับ
39. รุ่งกานดา เบญจมาภรณ์: ยายเผื่อน
40. ชลมารค ธ เชียงทอง: นางอิ่ม
41. ณัฐมนต์ พันธุ์เพ็ง : นางชด
42. สวีเดน ทะสานนท์ : ไอ้จั่น
43. อุดมศักดิ์ ตันติพรกุศล : ไอ้โห่
44. พรรณี โต๊ะนายี : นังอ้น
45. ณัฎฐวรรณ มังคะตะ : อีกุลา
46. ศิริพร ไพบูลย์กิจกุล: อีหอม
47. ศิริวรรณ พวงทอง : นังจุ้น
48. จรินรัตน์ ทาสี : อีแพ้ว
49. ด.ญ.สุภาภัสสร์ ผลเจริญรัตน์: ดาวเรือง (ตอนเด็ก)
50. ด.ช.ทินภัทรทินกร: จันทร์
51. ด.ช.ธีรพัฒน์ คงสว่าง : กลด
52. ด.ช.เอ็กเซเวียร์ เจค๊อบสัน : กล้า
53. ด.ญ.สิริวลี อภิชาตบุตร : บัวผัน
54. ด.ญ.ปารย์ชนก ผ่านสำแดง : พลับพลึง