บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 26
บทประพันธ์ : รอมแพง บทโทรทัศน์ : ศัลยา
ต่อมา พระศรีวิสารสุนทร ลูบท้องเมียเบาๆ
"เพลานี้ออเจ้าเวียนหัวมากฤๅไม่"
"ข้าไม่เวียนหัวแล้ว แต่รู้สึกว่าตัวเองเริ่มอ้วนอย่างไรไม่รู้เจ้าค่ะ"
"อ้วนอันใดกัน เจ้ามีครรภ์จึงมีน้ำมีนวล กำลังงามต่างหากเล่า"
เกศสุรางค์หน้ามุ่ยคลำพุงตัวเอง
"แม้ออเจ้าจักเป็นโอ่งเดินได้ ออเจ้าก็เป็นเมียข้า"
"แหม...โอ่งเดินได้เชียวหรือเจ้าคะ" แม้จะปลื้มแต่เกศสุรางค์ก็ยังอดกังวลไม่ได้
"สิ่งที่อยู่ภายในต่างหากเล่าที่ผูกมัดใจข้าได้หาใช่ภายนอกไม่ มิเช่นนั้นเมื่อคราที่ออเจ้าเป็นแม่การะเกดคนเก่า ข้าคงรักนางไปเนิ่นนานแล้วหนา ต่อให้ออเจ้าผิดแผกไปจนขี้ริ้วกว่านี้ อวบอ้วนพีจนโอบมิรอบ ในความรู้สึกของข้าแล้ว ออเจ้าก็คือแม่การะเกดของข้าเพียงเท่านั้น"
เกศสุรางค์แสดงความรัก ทั้งกอด ทั้งหอม ทั้งพูดจา ทั้งความรักแบบหญิงในยุคปัจจุบัน ทำให้พระศรีวิสารสุนทรมีความตื่นเต้น แปลกใจ เร้าใจตลอดเวลา
เกศสุรางค์กางแขนโอบกอดพระศรีวิสารสุนทรเต็มอ้อมแขน
"คุณพี่คะ ขุนหลวงประชวรหนักหรือคะ"
"น่าจะหนักอยู่ ไม่ทรงให้ใครเยี่ยมนอกจากพระปีย์กับออกญาวิไชยเยนทร์"
เกศสุรางค์ครุ่นคิด "งั้นหรือคะ"
เกศสุรางค์ถือดินสอ คิดสักครู่แล้วก้มลงเขียนเร็วๆ
"ยังไงพระปีย์ เจ้าฟ้าน้อย เจ้าฟ้าอภัยทศ ก็ต้องตายด้วยฝีมือพระเพทราชา และ...และ"
เกศสุรางค์คิดหนัก ก้มลงเขียน
"คนที่จะหยุดออกญาวิไชยเยนทร์มีคนเดียวคือ พระเพทราชา" เกศสุรางค์ถอนใจแรงๆ "ทุกอย่างเป็นไปตามวงล้อประวัติศาสตร์ เกศสุรางค์เจ้าอย่าคิดอะไรให้ฟุ้งซ่าน เจ้าไม่ได้กลับมาที่นี่เพื่อมาเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ เจ้ากลับมาพบคุณพี่ เจ้ากลับมาเพราะบุพเพสันนิวาส"
เกศสุรางค์เงยหน้า สีหน้าสงบลง
เกศสุรางค์พูดเบาๆ "หรือถ้าคิดอยากจะทำ คิดหรือว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้"
เกศสุรางค์วางดินสอลงแรงๆ แบบตัดสินใจได้
บริเวณพะเนียดช้างของพระเพทราชา ตอนกลางวัน ในวันหนึ่ง
ช้างหลายเชือกดูยิ่งใหญ่สวยงาม
พระเพทราชายืนกับหลวงสรศักดิ์ มองการโชว์ช้าง แต่สีหน้าซีเรียสทั้งสองคน ท่าทางคุยกันแบบมองไปทางอื่นไม่ให้ผิดสังเกต
"ไอ้วิไชยเยนทร์มันหนุนไอ้เตี้ยขาเป๋แน่ท่านพ่อ"
"ยังไม่รู้แน่ว่าขุนหลวงเห็นงามด้วยหรือไม่"
"ข้าว่ามีเค้าอยู่ ขุนหลวงไม่เคยใยดีพระอนุชาทั้งสองพระองค์ ทั้งๆที่มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ทั้งคู่"
"บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ เพราะไอ้ฝรั่งสัญชาติไพร่คนเดียว โปรดมันเหลือเกิน ทรงเชื่อมันทุกอย่างไอ้วิไชยเยนทร์"
"ท่านพ่อจักอยู่นิ่งเฉยหรือขอรับ"
พระเพทราชานั้นก็สับสนคิดไม่ตกเหมือนกัน
ฝูงช้างเดินวนเวียนไปมา พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์อยู่ท่ามกลางฝูงช้าง
แล้วทั้งคู่ก็เดินห่างออกมาจากฝูงช้าง
“ท่านพ่อขอรับ”
พระเพทราชาหันไป
“พ่อเดื่อ ถ้าพ่อจะทำสิ่งใดอย่างที่เจ้าคิดว่าพ่อควรจะทำนั้น พ่อขอให้เจ้ารู้ไว้ว่า พ่อมิใช่มักใหญ่ใฝ่สูงอันใด แต่เพราะมีเหตุอันจำเป็นต่อความพินาศฉิบหายของบ้านเมืองเรา”
ถนนแห่งหนึ่งในอยุธยา
ผู้คนชาวอยุธยา ราว 20 คนเดินไปมาริมกำแพงเมือง บนกำแพงมีทหารยืนรักษาการณ์
เสลี่ยงแปดคนหาม ออกญาวิไชยเยนทร์นั่งเอกเขนกพิงหมอนขวาน สายตาเฉียบคมมองกวาดไปทั่วๆ พนักงานเกียรติยศที่ตามตำแหน่งสมุหนายกตาม
สีหน้าหยิ่งยะโส มองผู้คนที่เดินอยู่พื้นดินเหมือนมองมดปลวก
ชาวบ้านเดินขวางทาง ทำให้เสลี่ยงไปได้ช้า
“เฮ้ย...พวกมึง” ฟอลคอนหันมาชี้ บรรดาพนักงานที่เดินตาม “มาไล่มันไป กูรีบ”
พนักงานมาไล่ชาวบ้าน
“เจ้ากูสองรูปนั่น”
พระสองรูปเงยหน้ามอง
“ถ้าท่านมาเดินชมเมืองเช่นนี้ ถึงเวลาสึกแล้วกระมัง ไปทำประโยชน์บ้าง”
พระสองรูปขยับตัวแล้วเดินหนี
ออกญาวิไชยเยนทร์มองตาพนักงานที่เดินตามหลังเสลี่ยง
พวกข้าราชการตามพระไปทันที
หมากลูกหนึ่งลอยลิ่วมาถูกหัวเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์อย่างแม่นมาก แปรหน้าไม่สบอารมณ์เป็นยักษ์ในทันที ส่งเสียงกัมปนาท
“จับไอ้คนโยนมาให้ได้”
คนแถวนั้นหัวเราะกันอยู่ไปมา
“พวกมึงหยุด”
เหล่าพนักงานกรูไปต้นทางลูกหมาก แล้วหาไปหามา สักครู่ลากคนโยนออกมา
“บังอาจนัก...ลงโทษมัน”
พนักงานเข้าซ้อมใหญ่ บ้านเมืองนี้ประชาชนโดนฝรั่งรังแก
ปริก จ้อย จวงยืนดูอยู่
ปริกปราดไปที่พนักงาน จับคนโน้นคนนี้ผลักด้วยแรงฮึด จนพนักงานกระเด็นไป
“ไป...พวกมึงเป็นอะไรวะ รังแกชาวเรากันเองทำไม ไป๊...ไปให้พ้น เฮ้ย ไอ้จ้อยมาช่วยกูสิวะ ยืนเป็นเบื้อใบ้อยู่ได้ นังจวง...มา”
จ้อย จวงทำท่าแหยงๆ
“มาช่วยกูไม่ต้องกลัวมันโว้ย มันคนต่างถิ่นกลัวมันทำไม”
จ้อยถาม “โอ๊ยป้าปริก กลัวหัวไม่หลุดจากบ่าเร้อ”
“นั่นสิป้า ดูสิดูมันมองนัยน์ตาลุกเป็นไฟ” จวงว่า
ปริกยังผลักพวกพนักงาน
“รังแกชาวเรากันเองทำไม ไป๊...ไป เฮ้ย มึงเข้ามาช่วยกู มีอะไรกูรับเองเว้ย”
สองคนเข้าไปช่วย โรมรันพันตูลากไอ้มือหมากออกมาได้
“หยุด!” เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เสียงดังก้อง
ทุกคนหยุดกึก
“เอาไอ้คนปาหมากทวนมันครึ่งยกแล้วจองจำไว้ คนอื่นๆปล่อยมันไป”
พนักงานวิ่งไปโรมรันกับปริกและจ้อย ลากเอามือปาหมากออกมา ลากหลุนๆไป
คนหามแบกวิไชยเยนทร์เดินต่อไป
ปริกโกรธจนลมออกหู ยืนจ้อง
ออกญาวิไชยเยนทร์เห็นปริก สั่งหยุด เสลี่ยงหยุดแต่ไม่ต้องวาง
“บังอาจนะอีแก่”
“ไม่ได้แก่บนหัวมึง”
จ้อย จวงจะเป็นลม
“นังคนนี้เป็นใคร”
“คนกรุงศรีสิเว้ย” ปริกลั่น
จวง จ้อยร้องโอย...สั่นไปทั้งตัว
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์มองสายตาเหยียดหยามอึดใจหนึ่ง “ไปเถอะ...แก่แล้วเดี๋ยวก็ตาย”
ขบวนเสลี่ยงเดินต่อไป
“ตายเป็นตาย ตายในแผ่นดินกู กลัวใย”
ออกญาวิไชยเยนทร์ฉุกใจกึก สีหน้าเคร่งเครียดขึ้น
หน้าเรือนออกญาโหราธิบดี
ปริก จ้อย จวงกำลังด่าเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ให้บรรดาบ่าวทั้งหลายฟังอย่างเมามัน
“กูอยากปีนไปบนเสลี่ยงจริงๆ” ปริกบอก
“จะไปทำอะไรเค้า...” จ้อยลากเสียงยาว
“ถีบมัน”
จวงบอก “ดี...ไปทำกับข้าวในตะแลงแกงเลยนะนั่น”
จิก บุ้ง กับบ่าวทั้งปวงหัวเราะชอบใจ
จิกบอก“ไม่ก็ไปวัดเลย”
“นังจิก ให้ข้าไปวัดทำไมวะ”
“ไปฟังพระสวดไงป้า”
“ทะลึ่งล่ะมึง”
จ้อยถาม “มันจะรู้ตัวมั่งมั้ยว่าคนเกลียดมันกะพรรคพวกมันเข้าไส้เข้าพุง”
“กูว่าวันหนึ่งมันต้องเจอคนเข้าไปรุมกระทืบ แล้วกูจะบอกให้เว้ย”
ทุกคนจ้องปริก
“กูนี่แหละจะเป็นคนหนึ่งในนั้น”
บ่าวทุกคนจ้องปริก...เลื่อมใส ปริกยืดอยู่อึดใจก็ลงนั่ง
จวง/จ้อยถามพร้อมกัน “เอ้า...นั่งทำไม”
“เมื่อย”
บนระเบียงบ้าน พระศรีวิสารสุนทร หลวงเรืองณรงค์เดชา ยืนฟังหน้าเครียดจัด หันมามองหน้ากัน
มุมหนึ่งในบ้าน พระศรีวิสารสุนทร , หลวงเรืองณรงค์เดชา , เกศสุรางค์ ที่ตอนนี้ท้องได้ 4 เดือนแล้ว สามคนนั่งปรึกษากันแบบจริงจัง หน้าเครียด
หลวงเรืองณรงค์เดชาบอก
“ขุนหลวงประชวรไม่ออกว่าราชการ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์มีอำนาจมากขึ้นทุกวัน ตั้งแต่รับตำแหน่งที่จักรีสมุหนายก ว่าราชการฝ่ายพลเรือนทั้งหมด ตอนนี้ชาวบ้านถูกเหยียบย่ำมาก”
พระศรีวิสารสุนทรมองหน้าเกศสุรางค์เขม็ง “แม่การะเกด” แล้วนิ่งไป แต่ตายังจ้อง
“คะ คุณพี่”
“บอกได้หรือยังว่าวันที่หายตัวไปสอดแนมวิไชยเยนทร์กับนายพลเดส์ฟาร์จได้ยินอะไร”
เกศสุรางค์ถอนใจเบาๆ แต่ก็มองสองคนอย่างตัดสินใจ
“เจ้าค่ะ ข้าจะบอกก็ได้” เกศสุรางค์ลดเสียงลงพึมพำ “ถึงเวลาแล้ว ข้าได้ยินสองคนพูดกันเรื่องทหาร นายพลเดส์ฟาร์จว่าจะส่งทหารฝรั่งเศสทั้งหมดขึ้นมาละโว้เมื่อเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ส่งม้าเร็วไปบางกอก”
หลวงเรืองณรงค์เดชาว่า“มันคิดการไม่ดีเป็นแน่แท้ จริงฤๅไม่พ่อเดช”
“ฟังแม่การะเกดพูดต่อเถิด ข้าเชื่อว่านางมีเรื่องจะพูดมากกว่านี้”
“เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์พูดถึงขุนหลวงว่าเจ็บหนัก ที่เขาคิดการไว้คงได้ทำอีกไม่นาน”
หลวงเรืองณรงค์เดชา/พระศรีวิสารสุนทรพูดพร้อมกัน “กบฏฤๅ”
สีหน้าเกศสุรางค์เหมือนจะพูดว่าใช่
สองคนมองหน้ากันหนักใจมาก
“มีแต่ข่าวว่าผู้คนซ่องสุมจะกบฏ
"มีพวกไหนบ้างคะ"
หลวงเรืองณรงค์เดชาว่า
"พระอนุชาเจ้าฟ้าน้อยกับเจ้าฟ้าอภัยทศ ทั้งสององค์ซ่องสุมผู้คนมากมาย จะลุกมากบฏวันใดวันหนึ่งก็มิรู้"
พระศรีวิสารสุนทรบอก
"ส่วนพระยาวิไชยเยนทร์หนุนพระปีย์ ทำให้พระปีย์เข้ารีตได้ ก็แปลว่าพระปีย์คงยินยอมมันแล้ว"
"พระปีย์เอากำลังจากไหน เป็นกบฏต้องมีคน"
"พระปีย์มีพรรคพวกอยู่พิษณุโลก"
"พระเพทราชาล่ะคะคุณพี่"
ในโบสถ์พระสังฆราชแห่งเมืองละโว้ อีกวันหนึ่ง
เงามืดที่เห็นเป็นโครงอยู่เบื้องหน้านั้นคือ พระสังฆราชแห่งเมืองละโว้ และผู้ร่วมขบวนการมีหลายคน ส่วนใหญ่เป็นเหล่าประชาชน ฆราวาสทั่วไป ทั้งชายและหญิง ปะปนด้วยสมณเพศ 2-3 คน เหล่านี้ ในประวัติศาสตร์คือหัวหอกในการเกลี้ยกล่อมผู้คนมาร่วมก่อการกับพระเพทราชา
พระเพทราชาบอก "ข้าคิดว่าถึงเวลาอันสมควรแล้ว"
ชาวบ้าน 1 บอก "ขุนหลวงยังประชวรอยู่"
หลวงสรศักดิ์ยืนยัน "จึงเป็นเวลาสมควรนั่นไง"
ชาวบ้านพยักหน้าเห็นด้วย
พระเพทราชาเสียงเบาแต่เข้มจัด
"ไอ้ฝรั่งสนับสนุนพระปีย์ เพราะฉะนั้นพระปีย์ต้องไม่อยู่ให้มันจับเชิด เพราะแท้ที่จริงแล้วมันนั่นแหละที่คิดจะฮุบบัลลังก์"
"พระปีย์ไม่เคยโผล่หน้าให้ใครเห็น จะฆ่าได้อย่างไร" ชาวบ้านร่วมก่อการว่า
"เราต้องใช้คนที่พระปีย์สนิทสนม เคารพนับถือลวงออกมา" พระเพทราชาบอก
เสียงพึมพำดังแผ่วๆ ... ใคร…ใครกัน
"เขาเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดขอรับพระคุณเจ้า" พระเพทราชากล่าว
อีกวันหนึ่ง พระเพทราชามาที่เรือนพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
ทั้งสองคนนั่งประจันหน้ากัน
พระเพทราชาบอก
"ออเจ้าเป็นคนที่พระปีย์เคารพนับถือ แม้แต่พระอนุชาเจ้าฟ้าน้อยและเจ้าฟ้าอภัยทศก็สนิทสนมวิ่งเล่นใกล้ชิดกับออเจ้ามาแต่เล็กแต่น้อย"
พระยาโกษาธิบดีมาดสุขุม ลุ่มลึก ยังนั่งนิ่งอยู่
"หากท่านมิเห็นแก่ฝ่ายฝรั่งเศส หรือขุนนางชาติอื่น ก็จงทำตามที่ข้าร้องขอด้วยเถิด ข้านั้นนับถือท่านประดุจญาติแท้ๆ ท่านก็รู้ว่ามิว่าผู้ใดในพระนครก็ล้วนคิดว่าท่านเป็นพวกเดียวกับข้า ดังนั้นหากผู้อื่นมีวาสนาขึ้นมา มีฤๅจักละเว้นต่อท่านแลครอบครัว"
พระยาโกษาธิบดีอึ้งตอบไม่ถูก...ใช้ความคิด
"ข้า...ต่อต้านขุนหลวงมาตลอดเวลา เรื่องนำทหารฝรั่งเศสเข้ามาในบ้านเมืองเรา ขณะนี้ฝรั่งเศสมีอำนาจเหนือประชาชน และทำการดูถูกดูหมิ่นและวางอำนาจ ข้ามีเจตนาเดียวเท่านั้น มิมีเจตนาอื่นใดเลย คือปลดปล่อยชาวกรุงศรีทั้งมวลให้พ้นอาณัติของพวกฝรั่งเศส"
"ข้าลำบากใจยิ่งนักเพราะรู้จักทุกผู้ แม้แต่พระยาวิไชยเยนทร์ ข้าก็ยังไม่ปักใจว่าเขาคิดจะกบฏ"
พระเพทราชาเสียงดัง ตบกระดาน "อย่างนี้ยังไม่เชื่ออีก"
โกษาปานนิ่ง แต่สีหน้ายังคงคำเดิม
ในห้องพระบรรทม พระนารายณ์บรรทมหลับตานิ่ง
พระปีย์ร้องเพลงกล่อม
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ยืนมอง สีหน้ายิ้มแย้มกับพระปีย์
ด้วยพระนารายณ์ตามประวัติ ทรงเป็นโรคหอบหืด จึงหายใจแรง ทำท่าหายใจไม่ออก ตัวโยนขึ้น หมอโปมาตร์จับหมอนให้สูง ถืออะไรบางอย่าง ใส่จมูกเหมือนใส่ลมเข้าไป
พระปีย์เดินเร็วๆเข้าไปที่เตียง "หมอโปมาตร์"
หมอทำเครื่องมืออยู่ห่างไปหน่อย แล้วเดินออกมาหาเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ สีหน้าไม่สู้ดี
"ท่านสมุหนายก ข้าเป็นทุกข์ใจยิ่งนัก"
"ข้าบอกหลายครั้งแล้ว ขอให้วางใจข้า"
พระปีย์กระซิบ
"ข้าตัวต่ำเตี้ยจะเป็นขุนหลวงได้ยังไร กำลังก็ไม่มี ถึงมีก็อยู่ไกลถึงพิษณุโลก"
"ข้ามี"
"ทหารของท่านฤๅ อยู่ไกลถึงบางกอก"
"พวกมันจะมาถึงนี่ทันทีที่ข้าเรียก"
"พระอนุชาเจ้าฟ้าอภัยทศพูดจาเหยียดหยามข้าว่าไอ้เตี้ย มึงอย่าหวังแม้จะคิด..มึงไม่มีสิทธ์"
"อภัยทศรู้เต็มอกว่าท่านมีสิทธิ์ พระปีย์ท่านเป็นโอรสขุนหลวงนะ แม้แต่ขุนหลวงก็ต้องยกบัลลังก์ให้ท่าน ถ้าขุนหลวงรู้องค์"
"ข้ากลัว"
"พระเจ้ากำหนดให้ท่านเป็นกษัตริย์ ท่านฝืนไม่ได้"
ในห้องหอ
เกศสุรางค์ถามพระศรีวิสารสุนทร
"คุณพี่...เลือกอยู่ฝ่ายกบฏพระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์หรือคะ"
พระศรีวิสารสุนทรคิดไตร่ตรอง
"ชีวิตในที่ที่ออเจ้าจากมาเป็นอย่างไรพี่ไม่รู้ หากชีวิตที่นี่ถ้าจักให้ตัวเองแลคนในครอบครัวอยู่รอด แม้ต้องแปดเปื้อนไปสักเล็กน้อยก็ต้องยอม เพ-ลานี้บ้านเมืองมีทุกข์เข็ญ พี่คิดว่าออกพระเพทราชาเป็นผู้ที่สามารถปัดเป่าได้ ถ้าแสวงหาความถูกต้อง ออกหลวงสรศักดิ์ก็มีสิทธิ์ไม่แพ้ใคร อีกอย่างพระปีย์แม้จะรู้กันว่ามีสิทธิ์ แต่ก็เข้ารีตแล้วเหมือนชักศึกเข้าบ้าน"
เกศสุรางค์จ้องหน้า
"เจ้าค่ะ คุณพี่คะ พระอนุชาเจ้าฟ้าน้อยกับเจ้าฟ้าอภัยทศ และอีกคนพระปีย์"
พระศรีวิสารสุนทรขมวดคิ้ว
"ทุกคนต้องตายหรือเปล่าคะ"
"แม่การะเกด บอกพี่มาตรงๆ ออเจ้ารู้อะไรหรือ"
"ข้าพูดไปตามเนื้อผ้าเจ้าค่ะ คนเหล่านั้นเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายกบฏ ออกพระเพทราชาจะปล่อยไว้เป็นหอกข้างแคร่ทำไมคะ"
พระศรีวิสารสุนทรจ้องเขม็ง
"ประวัติศาสตร์เจ้าค่ะ ประวัติศาสตร์บอกข้า"
พระศรีวิสารสุนทรถอนใจใหญ่
"ประวัติศาสตร์ของเจ้าบอกอะไรอีก...เพราะเพลานี้คุณอาโกษาปานยังไม่ยอมร่วมด้วย ถ้าท่านไม่ร่วมด้วย การกำจัดเจ้าฟ้าสองพระองค์กับพระปีย์ทำไม่ได้ ท่านไม่ร่วมด้วยเพราะท่านไม่เชื่อว่าวิไชยเยนทร์จะทรยศต่อขุนหลวงได้ลงคอ"
เกศสุรางค์คิดแล้วตัดสินใจ
"บอกคุณอาโกษาปานเลยค่ะว่า ได้ค่ะ ลื่นลงคอเลย"
พระศรีวิสารสุนทรเหล่เกศสุรางค์อีกแล้ว คราวนี้สายตาไม่ไว้ใจ ระแวงเต็มที่
"ออเจ้าพูดจาประหลาดอีกแล้ว ข้าคร้านจะฟัง"
"เอางี้นะคะคุณพี่ ฝากไปเรียนออกญาโกษาปานด้วยว่า ออกญาวิไชยเยนทร์ได้กระทำสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออยุธยา ถ้าไม่ยับยั้งอยุธยาจะระส่ำระสายแน่นอน"
ที่เรือนออกญาโหราธิบดี อีกหลายวันต่อๆมา
พระยาโกษาธิบดี , พระเพทราชา , หลวงสรศักดิ์ , พระศรีวิสารสุนทร , หลวงเรืองณรงค์เดชา ต่างมีสีหน้าฉงน ตกใจน้อยๆ ไม่เชื่อหู พระเพทราชาหน้าเครียดไตร่ตรอง
โกษาปานถาม "อันตรายอย่างยิ่ง...คืออะไร"
ทุกคนพูดเบาๆ “นั่นสิ...คืออะไร”
"มันจะยกอยุธยาให้พวกของมัน กษัตริย์ของมันที่อยู่ทะเลโพ้นน่ะสิจะมีอะไร" พระเพทราชาบอก
"เป็นเช่นนั้นขอรับ...มีหลักฐานเป็นอันแน่นอนขอรับ"
ทุกคนหันขวับ
"หลักฐานอะไร"
พระศรีวิสารสุนทรสำรวมอารมณ์อึดใจหนึ่ง จึงพูด
"เขาเขียนจดหมายลับส่งถึงบาทหลวงคนหนึ่ง ที่เป็นพระพี่เลี้ยงของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ถวายในทางลับ"
ทั้งหมดจ้องมอง งงไปเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต
หลวงสรศักดิ์ถาม "จดหมายนั้นว่ายังไร"
"ว่า...เขาจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของบริษัทการค้าของฝรั่งเศส เขาจะให้บางกอกและมะริดอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส ว่า...พระเจ้าแผ่นดินกำลังจะสวรรคต เขาจะหาหุ่นเชิดขึ้นปกครองสยามแล..."
"เดี๋ยว...ปกครองอะไรนะ" หลวงสรศักดิ์ว่า
"สยามขอรับ"
หลวงเรืองณรงค์เดชาถาม "คืออะไรไอ้สยามนี่"
"พวกฝรั่งเรียกเราเช่นนี้"
"ใยมาเรียกสยง...สยาม ในเมื่อตรงนี้" หลวงเรืองณรงค์เดชาชี้ลงแผ่นดิน "คือกรุงศรีอยุธยา"
กล่าวขึ้นด้วยเสียงสุขุมพูดอย่างตรึกตรอง
"นั่นน่ะสิ...ประหลาดสิ้นดี"
"ที่สำคัญที่สุด จดหมายฉบับนี้ระบุว่า ให้ตัวเขามีสิทธิและอำนาจปกครองอย่างเด็ดขาด เขาจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของฝรั่งเศส รวมทั้งจะให้แผ่นดินนี้เป็นแผ่นดินของคริสเตียน"
พระเพทราชาตบเข่าฉาด หน้าเครียดจัดมาก
"เป็นอย่างที่กูคิดไว้มิผิดพลาด ไอ้ฝรั่งสันดานไพร่ กูมิได้เกลียดมันคนเดียว แต่กูเกลียดไอ้ฝรั่งทั้งปวง กูเกลียดพวกมันนัก แลกูตั้งใจมั่นว่าจะขับไล่พวกมันออกไปจากแผ่นดินอยุธยาให้หมด"
ทุกคนนิ่ง สีหน้าเครียดเข้มไปหมด
เจ้าพระยาโกษาธิบดีถาม
"พ่อเดช ออเจ้าว่ามีหลักฐาน หลักฐานอะไร แลในเมื่อเป็นจดหมายลับ ใครจะรู้เห็น..."
"แม่การะเกดขอรับ"
คุณหญิงจำปา และบ่าวหญิงทั้งหลาย ไปจนถึงขาใหญ่อย่างปริก ต่างทำกิจกรรมหลายอย่างของบ้านนี้อยู่ทุกตัวคน
พระศรีวิสารสุนทรเดินรวดเร็วผ่านไป ไม่พูดไม่จากับใคร เหมือนมีเรื่องด่วน
บรรดาคนพวกนี้มองดูอย่างแปลกใจ แล้วกลับไปทำงานอย่างเดิม
สักครู่ พระศรีวิสารสุนทรประคองเกศสุรางค์ที่ท้อง 5 เดือนเดินผ่านกลุ่มไป
พวกนี้หน้าประหลาดใจไปตามๆกัน มองตามกันเป็นตาเดียว
ณ ที่เดิม
ทุกหน้ามองเกศสุรางค์ นัยน์ตาอยากรู้เหลือเกิน
"หลักฐานคือ มีคนพบจดหมายฉบับนั้นเจ้าค่ะ"
ทุกหน้างงมากขึ้นอีกเท่าตัว
"ข้าไม่รู้จะยืนยันด้วยอะไร แต่เป็นเรื่องจริงเจ้าค่ะ จดหมายฉบับนั้นมีจริง เป็นลายมือของออกญาวิไชยเยนทร์เองเลยเจ้าค่ะ"
ทุกคนนิ่งไปอีกสักครู่
พระเพทราชาบอกเสียงหนักแน่น
"ข้าเชื่อ...ข้าเชื่อออเจ้าเหมือนที่ท่านอาจารย์เชื่อ เชื่ออย่างไม่ต้องการเหตุผล"
หลวงสรศักดิ์ถาม "ออเจ้าแน่ใจนะแม่หญิงการะเกด"
"ข้าแน่ใจยิ่งกว่าแน่ใจ"
"ขุนหลวงล่ะแม่การะเกด รู้เห็นกับมันหรือไม่"
"ไม่มีหลักฐานเจ้าค่ะว่าขุนหลวงมีส่วนยินดีกับออกญาวิไชยเยนทร์ แม้ว่าจะโปรดวิไชยเยนทร์แค่ไหน"
"ข้าเชื่อว่าขุนหลวงปลงพระทัยให้มันพาทหารฝรั่งเศสตั้งเจ็ดแปดร้อยคนมาถึงกรุงศรี ข้าเชื่อว่าทรงอนุญาตให้มันเอาเรือมาจอดข่มขวัญเรา ข้าแสนจะเสียใจกับขุนหลวง แลข้ามิสามารถปล่อยให้ขุนหลวงนั่งอยู่บนบัลลังก์ต่อไปได้" พระเพทราชาบอก
ขาดคำทุกอย่างเงียบ ! เงียบสงัดถึงขนาดเข็มตกยังได้ยิน
หลวงสรศักดิ์บอก "ท่านพ่อก้อ...ขุนหลวงนอนประชวรอยู่กี่เดือนแล้วนี่หนา จะกลัวทำไม"
"ไอ้ฝรั่งถ่อยมันกำแหงศักดาเหลือเกิน ไม่ว่าตัวมันพรรคพวกของมัน มันคิดว่า อยุธยาทั้งเมืองจะมิมีคนใดขัดขวางมันได้ฤๅ เราชาวอยุธยานี้โง่เขลาเบาปัญญานักฤๅ จึงจะปล่อยให้ไอ้ฝรั่งสัญชาติไพร่ติดดินอย่างมันมาครอบครองได้ง่ายๆ เราไม่ใช่เหมือนขุนหลวงทุกคนหรอกหนา"
ทุกคนเงียบอีก
"ข้าคงต้องทำแม้ว่าข้าจะมิอยากทำ"
เกศสุรางค์ ใจคิด นึกเป็นห่วงแม่มะลิ
เกศสุรางค์ถาม
"ท่านคิดว่าพระมหากษัตริย์ควรจะเป็นเช่นใดเจ้าคะ"
ทุกสายตามองมาเป็นตาเดียวกัน
เจ้าพระยาโกษาธิบดีถามเสียงปรานี มีเมตตา
"ออเจ้าคิดว่าควรเป็นเช่นไรฤๅแม่การะเกด"
เกศสุรางค์รวบรวมความกล้า
"ถ้า... ข้ามีโอกาสได้ยืนตรงหน้ากษัตริย์สักองค์หนึ่งหรือสององค์ ข้าจะทูลว่า สิ่งสำคัญที่กษัตริย์พึงมีคือ ทศพิธราชธรรม เจ้าค่ะ"
ขณะที่พูดเกศสุรางค์มองตรงไปข้างหน้าไม่มองใคร ...
พอพูดจบ จึงหันมามองหน้าพระเพทราชา แล้วหันไปมองหลวงสรศักดิ์
พระเพทราชาถาม "ออเจ้ามีความหมายอื่นใดที่อยากพูดอีกฤๅไม่"
"เจ้าค่ะ...มี"
"ข้ากำลังฟัง"
"ออกญาวิไชยเยนทร์สิ้นอำนาจวาสนาได้รับโทษตามความผิด แต่ลูกเมียที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ควรจะยกเว้น...เจ้าค่ะ"
พระเพทราชาจ้องตากับเกศสุรางค์ อย่างอ่านซึ่งกันและกัน
"ข้าเริ่มริษยาเจ้าแล้วหนาพ่อเดช" หลวงสรศักดิ์บอก
"มีเมียที่รู้ทันกันทุกอย่างน่าริษยาฤๅขอรับ ข้าว่าน่าหดหู่มากกว่านะขอรับ"
ทุกคนหัวเราะเบาๆ
พระเพทราชา เงียบงัน...ไตร่ตรอง
อีกวันหนึ่ง พระนารายณ์นอนในห้องบรรทม หมอโปมาตร์ก้มหน้าก้มตาตรวจอาการ
หน้าประตูทหารยืนเฝ้า ท่าทางเข้มแข็ง
พระปีย์มา ทหารไม่ให้เข้า ทหารท่าทางเข้มแข็งห้ามเด็ดขาด
พระปีย์ถาม "เหตุใดกูจึงจะเฝ้าไม่ได้ พวกมึงหลีกไปโว้ย"
ทหารยืนนิ่งไม่ขยับ
"อ้ายไพร่บังอาจนัก"
พระปีย์พยายามจะเตะทหารแต่ขาไม่อำนวย จนตัวเองหกล้มลงไปนอน ร้องโวยวาย
"มึง...นั่นพ่อกูนะ"
ทหารยังเฉย
พระปีย์พยายามตะเกียกตะกายล้มลุกคลุกคลาน สุดท้ายฟุบหมอบกับพื้น นัยน์ตาแดงก่ำ โกรธจัด จนน้ำตาคลอ ทุบมือกับพื้นอยู่ไปมา
วันหนึ่ง เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์มาหน้าห้องบรรทม เจอทหารเฝ้าหน้าห้องบรรทมอีกเหมือนกัน"หลีกไปนะมึง"
ทหารยังคงยืนปักหลัก
"กูบอกให้หลีกไป"
ทหารยังนิ่งอยู่ดุจเดิม
"มึงไม่รู้จักฤๅว่ากูเป็นใคร นี่สมุหนายกที่จักรีนะ นายเหนือหัวสูงสุดของมึง"
ทหารหน้าตาย
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์โมโหขึ้นขีดสุด ปาดหน้าทหารสองคนที่ยืนเฝ้าจนล้มระเนระนาด
พอขยับจะเดินเข้า มีทหารอีก 2 คนมาจากข้างหลัง วาดดาบเข้ามากั้นและจ่อคอเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ชะงัก พอขยับจะเดินต่อ ดาบจ่อเข้าไปจนสะกิดผิวเลือดซึม
บัดนี้ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์รู้ดีว่าหมดหนทาง !
ต่อมา เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เขียนหนังสืออย่างรวดเร็ว
"น่าเจ็บใจนัก ทุกคนถูกกีดกันไม่ให้เข้าเฝ้า"
หนังสือที่เขียนนี้ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ได้พับส่งให้คนสนิท
"นำไปให้นายพลเดส์ฟาร์จที่ป้อมบางกอก ข้าจำเป็นต้องให้พาทหารมาละโว้...ถึงเวลาแล้ว"
คนสนิทเอาไปทันที
ตองกีมาร์เห็นทุกอย่าง เดินออกมา หน้าเข้ม เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ตกใจ
"ท่านให้นายพลเดส์ฟาร์จนำทหารฝรั่งเศสขึ้นมาละโว้ ท่านคิดจะกบฏรึ"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์นิ่งเงียบไป สีหน้าอึดไม่ตอบอะไร
ตองกีมาร์ถามเสียงดัง "ท่านทำได้อย่างไร"
"ออกพระเพทราชากับออกหลวงสรศักดิ์คิด" เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ทำท่าปาดคอ "ข้าอยู่ จักให้ข้าทำอย่างไร"
"ถ้าท่านมิเริ่มก่อน เขาสองคนหรือจะคิดฆ่าท่าน บ้านเมืองนี้ให้ที่อยู่ที่กินแก่ท่านไม่เพียงพอหรืออย่างไร"
"แต่ข้าจำเป็น ชีวิตข้า ชีวิตเจ้า ชีวิตลูก"
"ไม่จริง ท่านทำให้ใคร คิดดูให้จงดี อย่าอ้างข้าและลูกเลย ฝรั่งเศสมิใช่บ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านทำเพื่อฝรั่งเศสถึงปานนี้"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์กัดกรามแน่น
"แท้ที่จริงท่านทำเพื่อตัวท่านเองใช่หรือไม่ ข้าทนไม่ได้แล้ว" ตองกีมาร์หันหลังจะออก
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เข้าจับแขนดึงไม่ให้ไป "ตองกีมาร์...ไม่ใช่"
"ข้ายินยอมให้ท่านตบตีข้าเป็นร้อยครั้ง แต่ข้าก็มิเคยเห็นด้วยกับท่านเลยแม้แต่น้อย ท่านกำลังใฝ่หาความเสื่อมมาสู่ตัวเอง แลอาจจักลามมาถึงข้าแลลูกได้ อย่างน้อยท่านน่าจักนึกถึงพระมหากรุณาที่ขุนหลวงมอบให้แก่ท่านเสมอมา ทรงเห็นท่านเป็นดุจมิตรแท้ ไว้ใจแลโปรดปรานแทบทุกสิ่งอย่าง แล้วนี่ท่านจักทำการย่ำยีต่อแผ่นดินของพระองค์อย่างนั้นฤๅ"
ตองกีมาร์กล่าวจบก็หันหลังไปอย่างรวดเร็ว
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ยืนนิ่งงันเป็นกังวลลึกๆ
อีกวันหนึ่ง เกศสุรางค์ ท้องเริ่มโตแล้วกำลังแต่งตัวในห้อง
พระศรีวิสารสุนทร
"แม่การะเกด วันนี้ออเจ้าจงอยู่กับคุณแม่เถิดหนา ข้ามีเหตุต้องไปจัดการก่อนพลบค่ำนี้"
"มีอะไรเหรอคะ"
"มิต้องกังวลดอก เป็นเหตุที่มิได้ร้ายแรงกระไร"
"เลี่ยงมิบอกความจริง ก็มิผิดกับมุสาหนาเจ้าคะ"
"เอาเถิดหนา ออเจ้าอยู่ทางนี้ก็จงสงบไว้ บ่าวไพร่ก็อย่าได้ให้ออกไปนอกเรือน ข้านั้นได้ยินเหตุอันไม่สู้ดีนักของพระยาวิไชยเยนทร์"
"ลงมือแล้วหรือเจ้าคะ"
"ใช่ เป็นดังที่เจ้าบอกไว้ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ได้สั่งม้าเร็วไปยังบางกอก ให้ส่งทหารมายังละโว้เป็นร้อยๆนาย แลบัดนี้ข้าได้ยินมาว่าทหารได้เดินทางมาใกล้ถึงอยุธยาแล้วหนา"
"คุณพี่จะไปหยุดยั้งหรือคะ"
"ออกญาโกษาธิบดีกับข้า"
บ้านของเดส์ฟาร์จ เป็นตึก ตกแต่งเรียบๆ
บ่าวผู้ชายพาพระศรีวิสารสุนทรและพระยาโกษาธิบดีเข้ามา
เดส์ฟาร์จนั่งกุมขมับ
"Je suis honore par votre visite, pour quelle raison vous de-placez-vous
jusqu’ici ?- มีเหตุอันใดฤๅ ท่านทูตจึงมาหาข้าถึงที่นี่"
พระยาโกษาธิบดีบอก
"Je ne puis rester trop longtemps. Je dois juste vous entretenir de votre voyage a Lavo -ข้าคงอยู่นานไม่ได้ แค่อยากจักมาเตือนท่านเรื่องที่คิดการจักไปละโว้ในครานี้"
" Vous m’inquietez. Je vous ecoute - มีอันใดฤๅ"
" Ces dernies jours, le trouble monte dans le Siam, en plus la situation a Lavo
n’est pas certain. Si vous y allez, les affrontements seront inevitables. J’ai appris que pres de mille hommes vous attendant en chemin. Vos troupes, meme bien armees, ne pourront resister longtemps a ces valeureux guerriers - เพลานี้นั้นในสยามเกิดเหตุมิสู้ดีนัก แลที่สำคัญในละโว้ก็ล้วนมีเหตุอันสับสน หากว่าท่านเดินทางไปจักกลายเป็นยั่วยุให้เกิดเหตุยิ่งกว่าเดิม ข้ารู้มาว่าคนนับพันดักรอพวกท่านอยู่ระหว่างทาง แม้พวกท่านมีอาวุธร้ายแรงแต่คงมิอาจหาญสู้คนหลายพันคนได้"
"Pourtant, je voulais juste y aller pour soutenir mes homes - กระไรกัน ข้า...ข้าเพียงแต่เดินทางไปช่วยเหลือคนของข้าเท่านั้น"
"Phaya Vichayain? Vous savez bien que la noblesse du Siam le deteste. Si vous y allez avec des hommer et des armes, cela provoquera la confusion - พระยาวิไชยเยนทร์ฤๅ ท่านก็รู้ดีว่าขุนนางสยามส่วนใหญ่นั้นมีความชังในตัวพระยาวิไชยเยนทร์มากนัก ยิ่งท่านยกทหารไปมากมายพร้อมอาวุธอย่างนี้ ยิ่งทำให้เข้าใจผิดไปอีกหนา"
"C’est bien pense, vous avez raison. -ที่ท่านว่ามาก็ถูกนัก"
"Il est preferable de rentrer a Bangkok. La decision vous en revient. Vous
etes le chef, votre vie est entre vos mains, mais le sang de vos hommes est precieux, ne le faites pas couler pour rien. - ท่านควรยกทัพทหารกลับไปยังบางกอกดังเดิมน่าจักดีกว่า ท่านเป็นหัวหน้าเมื่อเห็นว่าทางข้างหน้าจักพาให้ล่มจม ชีวิตท่านแม้ท่านไม่เสียดายแต่จักให้ชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชาไปสูญเสียโดยมิมีดีอันใดนับว่าน่าเสียดายยิ่ง"
เดส์ฟาร์จนิ่งงัน สีหน้าเครียดจัด พระยาโกษาธิบดีเจรจาได้ถูกต้อง
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์นั่งหน้าเครียด วิตกกังวล และอับจนหนทางอยู่ลึกๆ
ตองกีมาร์เข้ามา
"ลือกันทั้งเมืองว่าเจ้าฟ้าสองพระองค์กับพระปีย์ถูกฆ่าหมดแล้ว"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ตกใจลุกพรวด
"จริงหรือ"
ตองกีมาร์พยักหน้า
"ข้าไม่เชื่อ เป็นแค่ข่าวลือ"
"ท่านคิดจะทำยังไรต่อไป"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์นั่งก้มหน้านิ่ง สีหน้าเครียดแทบระเบิด
"ท่านยังคงต้องการทหารอยู่อีกหรือ ท่านต้องการให้ทหารฝรั่งเศสถล่มละโว้ให้พินาศงั้นฤๅ ท่านจะฆ่าให้หมดทุกคน แค่ฝรั่งเศสยิงปืนใหญ่เท่านั้น ละโว้หรืออยุธยาก็ไม่เหลืออะไร"
"ตองกีมาร์ที่รัก ข้ามาไกลเกินกว่าจะกลับไปที่เดิม เรื่องนี้มิใช่มีแค่ข้ากับนายพลเดส์ฟาร์จ แต่มีคนมากมายเกี่ยวข้อง ที่สำคัญที่สุดคือ พระเจ้าอยู่หัวเมืองฝรั่งเศส...หลุยส์ที่ 14"
ต่อมา เกศสุรางค์นั่งจดบันทึก
"ในที่สุดเหตุการณ์วุ่นวายก็ต้องจบ ประวัติศาสตร์แม้ว่าหลายช่วงหลายตอนจะเป็นที่น่าสงสัยในความถูกต้อง แต่ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ อย่างน้อยเรื่องต่อไปนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ"
เกศสุรางค์หยุดเขียน เงยหน้ามองไปข้างหน้า เหมือนกำลังเห็นเหตุการณ์บางอย่างอยู่ข้างหน้า แล้วก้มลงเขียนต่อ
เจ้าฟ้าน้อย และเจ้าฟ้าอภัยทศถูกประหาร
พระปีย์ถูกประหารเช่นเดียวกัน
พระเพทราชา แม้ว่ายังไม่ยกฐานะเป็นกษัตริย์ แต่ก็ปฏิบัติตัวเหมือนกษัตริย์แล้ว เพราะได้นำพระสงฆ์และชาวบ้านบุกพระราชวังที่อยุธยา ประกาศบริหารงานแผ่นดินแทนขุนหลวงนารายณ์
นายพลเดส์ฟาร์จหยุดการส่งทหารบุกละโว้ เพราะโกษาปานกับคุณพี่พระไปยับยั้งไว้ แต่เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์น่าจะยังไม่รู้
ต่อมา เกศสุรางค์หย่อนตัวลงนั่งอย่างลำบากลำบนเพราะท้องเริ่มโตขึ้นมาก
ผิน แย้มจะมาช่วย แต่โดนปริกเหวี่ยงกระเด็นไปทั้งคู่ ตัวเองมาจัดการประคองเองซะงั้น
ผิน แย้มอ่อนใจมาก มองหน้ากันขำๆ
"เอ...น่ากลัวลูกแฝด ท้องใหญ่ท้องโตปานนี้"
เกศสุรางค์เสียงดัง "จริงด้วย"
ทุกคนสะดุ้งไปตามๆกัน
"เรามีกรรมพันธุ์ฝาแฝดนี่หว่า"
พระศรีวิสารสุนทรเข้ามาเร็ว "ฝาแฝดฤๅ"
"ลูกของเราสองคนน่าจักเป็นฝาแฝด เพราะว่าข้ามีแฝด บันทึกทางดีเอ็นเอ แลพันธุกรรมศาสตร์ของข้ามีแนวโน้มว่าจักมีลูกเป็นฝาแฝดได้หนาเจ้าคะ"
"ทึนทึกดีเอ็นกระไรหนา พันกรรมร้อยกรรมผู้ใดกัน ออเจ้ากล่าววาจาแปลกประหลาดอีกแล้วหนา"
"หมายถึงข้าอาจจักมีลูกแฝดได้เจ้าค่ะคุณแม่" เกศสุรางค์หยิบกระเช้ามาหยิบผ้าจะเย็บเป็น
หมอน
จำปาเสียงหลง "จะทำอะไรฤๅนั่น"
"เย็บหมอนเจ้าค่ะ"
"ตายแล้ว...หยุดเดี๋ยวนี้ นังผินนังแย้มนังปริก" คุณหญิงหันไปไล่ต่อ "นังจวงนังจิก
ไม่บอกแม่นายฤๅว่าเย็บผ้าจักทำให้ลูกปากแหว่ง"
เกศสุรางค์อ้าปากค้าง แล้วถอนใจ ค่อยๆเก็บของลงตะกร้าส่งให้จวง
จำปาถอนใจ
"แม่ก็คิดอย่างนั้น ท้องใหญ่โตทั้งที่เป็นท้องสาวท้องแรก หากเด็กมิตัวใหญ่เป็นยักษ์ก็คงมีสองคนอยู่ในนั้น"
"ดีนัก ท้องหนเดียวได้ลูกถึงสองคน เป็นแฝดเถิดหนาลูกพ่อ"
เกศสุรางค์ยิ้มชอบใจ แต่เมื่อนึกถึงการแพทย์ที่ยังไม่พัฒนาของยุคนี้ก็เริ่มหน้าถอดสี
"ข้ากลัวเจ้าค่ะ ออกลูกสมัยนี้คงน่ากลัวพิลึก" เกศสุรางค์กระซิบบอกพระศรีวิสารสุนทร
ปริกได้ยินเพราะทำท่าเผือกอยู่
"กลัวกระไรเจ้าคะ ผู้คนออกลูกกันครึ่ดไป แม่หญิงกินกล้วยน้ำว้าเสกของพระอาจารย์ดังแทบทุกวัน อย่าได้กังวลไปเลยหนาเจ้าคะ อ้าว ออกพระท่านหน้าซีดเป็นไก่ต้ม เป็นอะไรเจ้าคะ"
"ข้าก็ว่าจักต้องเจ็บมากแน่ๆ แต่ออเจ้ารู้ฤๅไม่ หากข้าเจ็บแทนออเจ้าได้ ข้าจัก
ดีใจนัก"
"จริงเหรอเจ้าคะ"
"จริง"
เกศสุรางค์แตะแก้ม "น่ารักอ้ะ"
คุณหญิงจำปาทำเสียงเป็นลม
"เอาก็เอา ลองมันสักตั้งจะเจ็บแค่ไหนกันเชียว" เกศสุรางค์ยิ้มหวานกับพระศรีวิสารสุนทร
คุณหญิงจำปาบอก "ตอนแม่ท้องพ่อเดชก็เจ็บหนา หากแต่เมื่อลูกพ้นท้องความเจ็บปวดก็จักหายสิ้น เมื่อถึงเพลานั้นออเจ้าก็จักรู้เอง"
"เจ้าค่ะ คุณแม่"
จ้อยเดินมาเร็วๆ แล้วยื่นให้
"ออกพระท่านขอรับ ออกพระเพทราชาให้คนถือสารมาขอรับ"
พระศรีวิสารสุนทรอ่านเร็วๆ
"ข้าคงต้องไปละโว้พร้อมท่านขุนปานแลพ่อเรืองวันนี้แล้วหนา"
"กระไรกันลูก วันพรุ่งค่อยเดินทางมิได้ฤๅ"
"มิได้ขอรับคุณแม่ ต้องรีบไปให้เร็วที่สุด ลูกฝากแม่การะเกดด้วยหนาขอรับ ไปครานี้อาจหลายวัน"
"มีเรื่องกระไรฤๅเจ้าคะ" เกศสุรางค์ถาม
"เป็นราชการงานเมือง"
เกศสุรางค์แตะแขน มองหน้ากันนิ่งๆ นัยน์ตาเป็นคำถาม
พระศรีวิสารสุนทรพยักหน้านิดๆเป็นคำตอบ
"ข้าฝากดูแลแม่มะลิกับหลานๆด้วยหนาเจ้าคะ"
พระศรีวิสารสุนทรพยักหน้านิดๆเป็นเชิงรับคำ แต่สีหน้ากังวล
เกศสุรางค์แตะแก้ม พระศรีวิสารสุนทรถอยนิดๆตกใจหน่อยๆ มองแม่แบบเกรงใจ
บ้านพระยาวิไชยเยนทร์วันต่อมา
เขาเงยหน้ามองพระยาโกษาธิบดี , พระศรีวิสารสุนทรที่ยืนอยู่ตรงหน้า
"เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ขุนหลวงรับสั่งให้เข้าเฝ้า" พระยาโกษาธิบดีบอก
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ลุกพรวด หน้าดีใจ"จริงหรือ"
"พระอาการประชวรมิใคร่ดีนัก จึงทรงอยากพบกับท่าน"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ชะงักนิด "ขุนหลวงยังมีพระชนม์ชีพอยู่ฤๅ"
"เหตุใดท่านจึงเอ่ยคำเป็นลางร้าย"
"ข้ามิได้เชื่อคำคนลือหรอกหนา แต่..."
"เราสองคนทำให้ท่านเชื่อมิได้ฤๅ"
"ข้าจะไปเดี๋ยวนี้ ข้าเชื่อท่านทั้งสอง มิมีอันใดสงสัยเลย"
สองคนมองหน้ากัน เพราะนี่คือแผนการหนึ่ง ลวงเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ไปฆ่า สีหน้าทั้งคู่ไม่ค่อยสบายใจทั้งคู่
ณ ตำหนักเย็น ทะเลชุบศร เวลาใกล้ค่ำ
พระยาวิไชยเยนทร์เดินมาท่าทางยังองอาจ มีลูกน้องชาวฝรั่งเศสตามมาด้วย 2 คน
พระศรีวิสารสุนทรและพระยาโกษาธิบดียังเดินขนาบข้าง
รอบตัวมืดสลัว เมื่อมองผ่านความมืดไปจึงค่อยๆมองเห็นรอบข้าง
"ขุนหลวงทรงดีขึ้นแล้วฤๅถึงเสด็จมาถึงตำหนักเย็น...ไกลเหมือนกันนะ" เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์บอก
สองคนหยุด พระยาวิไชยเยนทร์หยุดด้วย
เสียงปืน เสียงอาวุธเตรียม ดังล้อมรอบตัว
พระยาวิไชยเยนทร์หน้าถอดสี หันขวับมาด้วยสัญชาตญาณ จ้องไปที่พระยาโกษาธิบดีและพระศรีวิสารสุนทร สายตาต่อว่า
พระศรีวิสารสุนทรกับพระยาโกษาธิบดีเดินแยกไปคนละทาง
ทหารถือปืนครบครัน ยืนล้อมอยู่ห่างๆเงียบๆ เป็นเงาดำ
พระเพทราชาก้าวออกมา หลวงสรศักดิ์ตาม หลวงเรืองณรงค์เดชา พระศรีวิสารสุนทร และข้าราชการบางคนท่าทางเคร่งขรึม หน้านิ่ง เป็นผู้ร่วมขบวนการ
พระยาวิไชยเยนทร์รู้ดีว่าอะไรจะเกิดขึ้น หน้าเครียดขึ้น
พระเพทราชาบอก "ขุนหลวงสวรรคตแล้ว มิมีผู้ใดคุ้มกะลาหัวมึงอีก"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เสียงดังกังวาน "ท่านฆ่าขุนหลวง"
ขาดคำหลวงสรศักดิ์ก็ปราดเข้าซัดเต็มแรงเกิด
พระยาวิไชยเยนทร์ผงะหงาย แล้วเซแซ่ดๆไปหลายก้าว พยายามจะไม่ล้มแต่ไม่สามารถ แม้จะประคองตัวเองเต็มที่ ไม่ไหว ล้มดังโครมใหญ่
ฟันในปากร่วงลงสู่พื้นทันที 1 ซี่
พระยาวิไชยเยนทร์เงยหน้า เลือดกบปาก กวาดสายตามองทุกคน คนสนิทเข้ามาประคองให้ลุกขึ้น แต่หลวงสรศักดิ์คว้าไหล่แล้วผลักจนกระเด็นไป คนสนิทอีกคนทำท่าจะสู้ แต่หลวงสรศักดิ์ร้อง “อย่านะมึง” พลางก้าวเข้าไปประจันหน้า จนไอ้คนนั้นถอยกรูด
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์หน้าสลด คุกเข่าแล้วถวายบังคมไปทางทิศที่ตั้งวังหลวง
"ขุนหลวง"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์น้ำตาไหลพราก ถวายบังคมจนครบสามครั้งแล้วก้มหน้านิ่ง
"จับมันยืนขึ้น" พระเพทราชาบอก
ทหารเข้าไปกระชากตัวให้ยืน ซึ่งเซไปเซมา
"มารยานักนะมึง" พระเพทราชาเข้าไปกดตัวให้คุกเข่า "ไม่ต้องให้มันยืน มึงอย่าทำหน้าเซ่อ
จำจดหมายลับของมึงมิได้ฤๅ"
พระยาวิไชยเยนทร์กำลังฉงน
"ที่มึงส่งไปให้เจ้านายเมืองฝรั่งของมึง"
พระยาวิไชยเยนทร์เบิกตากว้างเพราะไม่ควรมีใครรู้ทั้งสิ้น ตกใจมากๆ
"คิดว่าไม่มีใครรู้...ชะ พวกกูรู้เว้ย" หลวงสรศักดิ์บอก
พระเพทราชาเดินเข้าไปใกล้ คุกเข่าข้างเดียวประจันหน้าพระยาวิไชยเยนทร์ พูดพอได้ยินกันสองคน
"ไอ้ก็องสตังซ์...ชาติไพร่ มึงบังอาจเอาเมืองของกูไปยกให้พวกมึง บังอาจจักตั้งไอ้เตี้ยเป็นหุ่นเชิด แล้วมึงจักปกครองเสียเอง มึงกำเริบเสิบสานมาก ข้าวแดงแกงร้อนของอยุธยาที่รดกบาลมึงมาเป็นสิบๆปีหาได้มียางเลยฤๅ มึงกระทำย่ำยีบ้านเมืองของกูอย่างนี้ได้ยังไร...หา"
ประโยคสุดท้าย พระเพทราชาตะโกนเสียงดัง เพราะอดใจไม่ไหว
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์สีหน้านิ่ง แต่นัยน์ตาตระหนกไปตามคำ สุดท้ายตัวสั่นสะท้านด้วยความรู้สึกประดังประเดขึ้นมา ทั้งสำนึกผิด ทั้งกลัว ทั้งเสียใจ
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เสียงเหมือนกระซิบ "ท่านรู้เรื่องจดหมายได้อย่างไร"
พระเพทราชาตบกะโหลกอย่างแรงจนคะมำ
"ถึงมึงไม่มีจดหมายกูก็รู้ สันดานคนอย่างมึง ทั้งสับปลับ ทั้งหลอกลวง ขี้โกง ฉ้อฉล ทุรยศ มึงตายเสียเถอะ"
พระเพทราชาหันไปจะสั่งทหาร
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์จับขาอ้อนวอนทันที
"ขอ...ขอพบเมีย...ขอพบลูกเป็นครั้งสุดท้าย"
พระเพทราชานิ่ง สบตาหลวงสรศักดิ์
"ฆ่ามันเสียเดี๋ยวนี้ท่านพ่อ"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ตัวลู่ลงไป ซบหน้ากับพื้นดิน สิ้นหวัง
"ออกพระท่านเขาต้องตายแน่นอน ขอท่านเมตตาเขาเป็นครั้งสุดท้ายเถิด" พระศรีวิสารสุนทรบอก
พระเพทราชาหันไปมอง พระยาวิไชยเยนทร์เงยหน้า สบตาวิงวอน
"พามันไป"
"ข้าจะคุมเขาไปเอง" พระศรีวิสารสุนทรบอก
หลวงสรศักดิ์บอก "ข้าเองท่านพ่อ...มีบุญคุณต่อกันไว้ใจไม่ได้" พลางมองพระศรีวิสารสุนทร "
ได้เป็นทูตเพราะมัน"
พระศรีวิสารวาจาเข้าไปประคองให้ลุกยืน กระซิบบอก
"มิต้องกังวลถึงแม่มะลิ แลลูกชาย ข้ากับแม่การะเกดจักช่วยเหลือเต็มที่"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์มองหน้า น้ำตารื้นจนนัยน์ตาแดงก่ำ
ห้องหนึ่งในตึกฟอลคอน
ทหารที่ควบคุมตัวเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์อยู่ด้านนอก
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ถูกผูกข้อเท้า ตีตรวนเส้นใหญ่ ข้อมือทั้งสองก็ตีตรวนด้วยเช่นกัน
ตองกีมาร์ยืนตรงหน้า เสียงค่อยราวกระซิบ น้ำตาเต็มตา
"ฟอลคอน"
"ตองกีมาร์ ข้าขอโทษ"
"ข้าเคยเตือนท่านแล้ว ข้าเคยบอกท่านแล้วใช่ฤๅไม่ ท่านทำให้ข้าแลลูกต้องเจอเหตุอัปยศอย่างนี้"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์หัวใจสลายสิ้น
"ข้าผิดไปแล้ว"
เสียงเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ที่แห้งโหยกับกิริยาทรุดเข่าลงกับพื้น
"ท่านเจ็บฤๅไม่ ไยต้องต่อยตีจนหน้ามิเป็นหน้าอย่างนี้" ตองกีมาร์เอื้อมแตะใบหน้า
"มิเจ็บดอก ขุนหลวงสิ้นแล้ว ข้ามิเจ็บ มิเจ็บแม้แต่น้อย"
"แล้วท่าน...ท่านจักเป็นอย่างไรต่อไป"
"ข้ามาลา พระศรีวิสารสุนทรออกปากแก่ข้าว่า เขากับเมียจักดูเจ้าแลลูกให้ข้า ข้าจึงมิห่วงนักแม้ต้องตายตกภายในวันนี้ หากแต่ข้าอยากเห็นหน้าลูกก่อนตาย"
ตองกีมาร์เสียงเฉียบ "มิได้!"
"ตองกีมาร์ ได้โปรด ข้ารู้ว่าข้าผิดนัก ผิดต่อเจ้าผิดต่อลูก แต่ขอให้ข้าได้เห็น หน้าลูกก่อนตายด้วยเถิด"
"มิได้เด็ดขาด ลูกทั้งสองควรจดจำถึงพ่อผู้สง่างาม พ่อผู้ยิ่งใหญ่มีแต่คนยำเกรง มิใช่พ่อที่ถูกผูกตรวนถูกทำร้ายจนหาความสง่ามิได้อย่างนี้"
"ได้โปรดเถิดตองกีมาร์"
ตองกีมาร์เดินไปหันหลังให้
"อีกประเดี๋ยวยอร์จและโจฮันจะมาลาข้าไปนอน ท่านจงไปเสียเถิด"
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์หันไปดู ผ่านหน้าต่างเห็นทหารที่ยืนคอยอยู่เป็นเงาๆ
"ข้ามีเรื่องถามเจ้า...ก่อนข้าตาย"
"ได้"
"เจ้าเคยรักข้าฤๅไม่...หัวใจของเจ้ามีข้าฤๅไม่"
ตองกีมาร์นิ่งอึ้ง
"ข้าสัญญา...ชีวิตนี้ข้าจักมีท่านเป็นผัวข้าเพียงผู้เดียว"
ทหารคุมเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ที่เดินก้มหน้า เสียงตรวนดังลั่นในความเงียบ แล้วหยุดหันไปมองผ่านหน้าต่างเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต
ที่กรอบหน้าต่าง ด้านนอกมืด ด้านในสว่างและวูบวาบด้วยแสงตะเกียง ตองกีมาร์นั่งเก้าอี้ ลูกสองคนอยู่ในอก เป็นภาพงามที่ประทับใจ ตะเกียงส่องลงมาที่นาง สาวใช้คนหนึ่งยืนอยู่ด้านหลังห่างๆ เห็นเป็นเงาๆ
เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์หันหลังกลับ น้ำตาเต็มหน้า เดินห่างออกไป เสียงโซ่ตรวนดังก้องจนลับหายไปในความมืด
ตองกีมาร์พึมพำ
"ข้าขอโทษก็องสตังซ์ แม้ท่านตายตกไปในวันนี้ ข้าก็มิอาจรักท่านได้"
ต่อมา เกศสุรางค์นั่งท้องโย้เขียนบันทึก
"วิไชยเยนทร์ตาย 5 มิถุนา สองวันหลังจากวิไชยเยนทร์ตาย พระปีย์ก็โดนฆ่า พระนารายณ์สวรรคต 17 กรกฎาคม สองสองสามหนึ่ง ออกหลวงสรศักดิ์ไม่ยอมเป็นกษัตริย์ ออกพระเพทราชาจึงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์บ้านพลูหลวง และแต่งตั้งหลวงสรศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวร พระมหาอุปราช กษัตริย์องค์ใหม่มีพระโองการเลื่อนคุณอาขุนปานเป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี ตำแหน่งพระคลัง หลวงเรืองเป็นพระรามณรงค์ คุณพี่เดชได้เลื่อนยศเป็นพระยาวิสูตรสาคร และเรา...เกศสุรางค์ ก็เลื่อนเป็นคุณหญิงวิสูตรสาคร...555" วินาทีนั้นเอง ... อาการเจ็บท้อง ใกล้คลอด ก็เริ่มมา "โอ๊ย..."
ในห้องคลอด เรือนออกญาโหราธิบดี
ที่นอกห้อง บ่าวทุกคนชะเง้อมองไปที่ห้องคลอด ยังเงียบเสียง
จนมีเสียงเกศสุรางค์ร้องดังขึ้นมาทันควัน ทุกคนตกใจผงะ เพราะเสียงดังมาก !
ในห้อง ... ถ้วยชามบายศรีวางอยู่มุมห้อง ชามเกลือผลึกวางเตรียมไว้สำหรับเลาะปากทางคลอดกรณีคลอดยาก ยาหม้อไทยมีเฉลวปัก
มีผ้าผูกโยงกับขื่อคา มือเกศสุรางค์จับเหนี่ยวไว้ ใบหน้าเกศสุรางค์ เหงื่อผุดเต็ม หมอตำแยพูดส่งสัญญาณ
"เอ้า...เบ่ง"
เกศสุรางค์เบ่งและร้องเสียงดังมาก "โอ๊ย...โอ๊ย"
ผิน แย้มซับเหงื่อให้ และพัดถี่ๆ
"เบ่ง" หมอตำแยเร่งเร้า
เกศสุรางค์เบ่งพร้อมร้องเสียงดัง
นอกห้อง ... สะดุ้งไปตามๆกัน คุณหญิงจำปาสงบกว่าเพื่อน
ปริกตะโกนเข้าไป "อะไรวะนังหมอ ตั้งครึ่งค่อนวันทำไมไม่ออกซะที"
ในห้อง
เกศสุรางค์ร้องอีกรอบ ร้องเสร็จก็เหนื่อยหอบ
"โอ๊ย...ผ่าได้มั้ย ผ่าออกเถอะ"
หมอตำแยหน้าตาเลิ่กลั่ก
"ป้า...ผ่าท้องข้า...ผ่าเลย ไม่ไหวแล้ว"
ผิน/แย้มบอก
"แม่นาย...อดทนนะเจ้าคะ...จวนแล้ว เบ่งเจ้าค่ะ...เบ่งเลย...เบ่งเจ้าค่ะ...เบ่ง"
เกศสุรางค์เสียงสูงตวาดแว้ด "เบ่งแล้ว"
ผินแย้มจ๋อยทันที
นอกห้อง ยังคงชะเง้อชะแง้อยู่ไปมา
ปริกบอก "โอ๊ย...ข้าจักคอยไม่ไหวแล้ว"
ในห้อง เสียงอุแว้ ! ดัง ออกมาแล้วคนหนึ่ง หมอตำแยรับไว้
"ออกแล้ว...ผู้ชาย" หมอตำแยตะโกนบอก
"ผู้ชาย" ผินลุกพรวดไป
นอกห้อง ผินพรวดออกมา ร้องบอก “ผู้ชายเจ้าค่ะ” แล้วผลุบเข้าไปในห้องเหมือนเดิม
ทั้งนาย ทั้งบ่าว ทุกคนดีใจกันใหญ่
เสียงร้องของเกศสุรางค์ดังวี๊ดสุดท้าย และเสียงเด็กแรกเกิดร้องไห้จ้าดังลั่น
แย้มโผล่ออกมาบอก
"ออกมาอีกคน...แฝดเจ้าค่ะ" แล้วผลุบเข้าไปตามเดิม
ออกญาวิสูตรสาครถาม "เฮ้ย...เอ็ง นังแย้ม เดี๋ยว...เอ็งว่าอะไรนะ"
คุณหญิงจำปาบอกเสียงเรียบร้อย
"พ่อเดช พ่อเดชมีลูกแฝด...อย่างที่คิดไว้แล้วไง จะตื่นเต้น ทำไม"
วันต่อๆมา ห้องคลอดเดิม ถูกปรับเป็นห้องอยู่ไฟ
เกศสุรางค์นอนเตียงกระดาน ไฟเป็นถ่านวางในถาดสังกะสี อยู่ใต้เตียง
อุปกรณ์การคลอดยังอยู่ครบ
เกศสุรางค์นอนหลับตานิ่ง เหงื่อเต็มตัว
ผินจัดการเอาอาหารเข้า แย้มคอยคุมเกลี่ยไฟให้ทั่วกัน
"จะเป็นปลาเค็มอยู่แล้ว" เกศสุรางค์บอก
สองคนไม่สนใจ ผินหยิบลูกประคบ
เกศสุรางค์ดมตัวเอง
"ร้อน...เหม็น ... คัน...คันหัว" เกาหัว "พี่...คันหลัง เกาหลังหน่อย เมื่อไหร่จะเลิกเสียทีตั้งสิบกว่าวันแล้วนะ น้ำก็ไม่ให้อาบ...ทำไมล่ะพี่"
ผินบอก "ประคบนะคะ"
"กินข้าวก่อนเถิด" แย้มว่า
"โอ๊ย..."
สองคนหงายหลังก้นกระแทก
วันต่อมา ที่นอกห้อง
แฝดชายในอู่นอน มีผิน แย้มเฝ้าอยู่
ออกญาโกษาธิบดีมองหลาน แล้วหันกลับเดินมาที่เกศสุรางค์และออกญาวิสูตรสาครนั่งอยู่
"สิบวันแล้วกระมัง"
"เจ้าค่ะ สิบสองวันนี้"
"น่าเกลียดน่าชัง ชื่ออะไรนะแม่การะเกด"
เกศสุรางค์พ่อเรืองกับพ่อริดเจ้าค่ะ
ออกญาวิสูตรสาครบึ้งตึงทันที เมินหน้าไป
คุณหญิงจำปาบอก
"ไม่เคยเห็นใครตั้งชื่อลูกตั้งแต่ออกมาวันเดียว เขาไม่ทำกัน อย่างเร็วก็วันทำขวัญเดือน"
ปริกสอดบอก
"ไม่เป็นไรหรอกเจ้าค่ะ ตั้งเมื่อไหร่ก็ชื่อคุณเรืองกับคุณริดเหมือนกันแหละเจ้าค่ะ"
"ข้าเบื่อเอ็งนังปริก คนอะไรเปลี่ยนเป็นจิ้งจกเปลี่ยนสี"
"เจ้าค่ะ...แต่ข้าเจ้าไม่ใช่ขโมยแล้วกัน"
คุณหญิงจำปาขี้เกียจเถียงด้วย "พ่อขุนปาน เชิญนั่งให้สบายหนา"
คุณหญิงจำปาลุกเดินไป บ่าวๆหัวเราะชอบใจ
"คุณอาเจ้าขา แม่มะลิเป็นอย่างไรเจ้าคะ" เกศสุรางค์ถาม
"นางออกจากคุกหลวงแล้ว ขุนหลวงเพทราชาให้นางไปทำงานในห้องเครื่อง เพราะนางทำขนมเก่ง"
"ดีเหลือเกินเพราะข้าเป็นห่วงนางมาก"
"พระมหาอุปราชขอนางเป็นสนม นางมิยอม นางใจแข็งมาก"
"นางทำถูกต้องแล้วเจ้าค่ะ"
โกษาปานจ้องหน้าเกศสุรางค์นิ่งๆ สายตาค้นหา
เกศสุรางค์ขยับตัวจะลุก"เอ่อ..."
"เดี๋ยว ตอบคำถามข้าสักข้อเถิด ออเจ้ารู้ว่าข้าจะถามอะไร...ว่าไง ออเจ้ารู้เรื่องได้อย่างไร" พระยาโกษาธิบดีเสียงเข้มชัดเจน แต่ก็ยังมีความเมตตา
เกศสุรางค์ชำเลืองมองคุณพี่ ออกญาวิสูตรสาครสีหน้าแม้จะปลอบแต่ก็อยากรู้เหมือนกัน
"เอ่อ..."
"มิตอบมิได้หรอกหนา"
"ตอบเจ้าค่ะ...ตอบ กำลังคิด...มันตอบยากเจ้าค่ะ"
"ตอบยากก็ต้องตอบ"ออกญาวิสูตรสาครบอก
"แหม...ข้ารู้ค่ะคุณพี่"
สองคนจ้องเกศสุรางค์เขม็ง
"เพราะชาติที่ข้าเกิดก่อนหน้าที่จะมาที่นี่ คือ...กาลข้างหน้าอย่างไรเล่าเจ้าคะ"
"กระไรหนา!"
ออกญาวิสูตรสาครว่า
"ออเจ้ากล่าวว่า ออเจ้าเกิดมาแล้วในกาลข้างหน้า แลมาเกิดใหม่ในกาลที่ย้อนหลังกระนั้นฤๅ"
"ค่ะ คือเพ-ลานี้แหละเจ้าค่ะ"
ออกญาโกษาธิบดีและออกญาวิสูตรสาครนิ่งไปอึดใจ
"ข้าจักเชื่อ จักไม่มีข้อกังขาใดๆ แต่ข้าขอถามว่าในกาลข้างหน้าของเจ้า รู้เรื่องที่เกิดขึ้นเพ-ลานี้หมดฤๅ"
"เจ้าค่ะ...รู้หมด"
"รู้หมด...ใครบอก"
เกศสุรางค์หัวเราะเบาๆ
ออกญาวิสูตรสาครดุ "หัวเราะทำไม"
เกศสุรางค์หุบปากทันที
"ใครบอกน่ะหรือคะ เขาเรียกว่า พงศาวดาร งานวิจัย การวิเคราะห์ คำให้การ บันทึกที่จดจารกันต่อๆมา"
"ที่ออเจ้าเรียกประวัติศาสตร์ใช่ฤๅ"
เกศสุรางค์ดีดนิ้วเสียงดัง
"Yes. นั่นแหละเจ้าค่ะ"
ออกญาวิสูตรสาครมองเหล่มาก
"ออเจ้ารู้ เอ่อ...ประวัติศาสตร์ของทุกๆคนฤๅ" โกษาปานถาม
"ไม่ทุกคนเจ้าค่ะ บางคนเท่านั้น คนสำคัญๆเจ้าค่ะ อย่างเช่น คุณลุงขุนเหล็ก คุณอาขุนปาน เป็นสองคนที่คนในเพ-ลาของข้ารู้จักดี เรียกโกษาเหล็ก โกษาปานเจ้าค่ะ"
ออกญาวิสูตรสาครมองแบบอยากถาม
"คุณพี่หรือเจ้าคะ ก็มีบันทึกไว้เจ้าค่ะ เพราะคุณพี่เป็นตรีทูตในคณะของโกษาปาน"
"คุณพ่อล่ะ ประวัติศาสตร์บอกว่าเป็นใคร"
"เป็นคนเขียนหนังสือจินดามณีค่ะ"
"ยังใช้หนังสือนี้อยู่ฤๅในเพ-ลาของออเจ้า"
"ไม่ได้ใช้แล้วค่ะ มีหนังสือใหม่ๆแต่เขียนตามจินดามณีเจ้าค่ะ อย่างตัวหนังสือเหมือนกันเจ้าค่ะ มีเพิ่มจาก 37 ตัวเป็น 44 ตัวเจ้าค่ะ"
โกษาปานหน้าตาสนใจมาก
"อ๋อ... ออเจ้ามาที่นี่ได้ยังไร"
"คุณอาว่าจะไม่ถามไงเจ้าคะ"
"อ้อ...จริง"
"เพราะข้าก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันเจ้าค่ะ"
ออกญาวิสูตรสาครถาม
"ห่างกันกี่ปีเพลานี้กับเพลาของเจ้า"
"เอาตัวเลขแน่ๆนะเจ้าคะ 329 ปีเจ้าค่ะ"
ทั้งสองคนเสียงดัง "329 ปี"
ไวเหมือนโกหก - สิบปีต่อมา...
ออกญาวิสูตรสาครเดินดุ่มๆจะขึ้นเรือน
จ้อยเดินตามหลังถือหีบผ้าและหนังสือแผ่นพับอีกหลายเล่ม
เสียงเจี๊ยวจ๊าวดังมาแต่ไกล
ออกญาวิสูตรสาครหันไปดู จ้อยก็ชะเง้อมองอยู่ที่ไหน
ออกญาวิสูตรสาครเดินมากับจ้อย จ้อยยังอุตส่าห์มองทางโน้นทางนี้
"ไอ้จ้อย เอ็งมองหาอะไร"
"เสียงมาจากตรงนี้ขอรับ"
"ตรงไหน"
จ้อยชี้พื้นดิน "ตรงนี้ ขอรับ"
ออกญาวิสูตรสาครแหงนมองข้างบน "ไอ้จ้อย"
ออกญาวิสูตรสาครชี้ไปบนต้นไม้
เกศสุรางค์อยู่บนต้นไม้
จ้อยแหงนดู เรืองกับริดวิ่งมาจากอีกทางในมือถือพวงผลไม้
"คุณหญิงการะเกด ลงมาเดี๋ยวนี้" ออกญาวิสูตรสาครเสียงดัง
เกศสุรางค์โดดตุ้บ แกะโจงกลายเป็นหน้านางอย่างเดิม
"ไยมิสั่งให้บ่าวไพร่มันเก็บให้ ปีนเองผู้อื่นมาเห็นเข้าจักคิดยังไร ออเจ้าเป็นถึงคุณหญิงพระยาวิสูตรสาครคุมเรือแพเชียวหนา"
เกศสุรางค์ก้มหน้ารับผิด
ออกญาวิสูตรสาครบอกลูกชายทั้งสอง
"เจ้าสองคนจำคำพ่อไว้หนา เหตุปีนต้นไม้นี้ห้ามไปบอกผู้ใด ยิ่งกับคุณย่าแล้ว ยิ่งห้ามปริปากว่าแม่เจ้ามาปีนต้นไม้เป็นลิงเป็นค่างอย่างนี้ เข้าใจฤๅไม่"
เรือง/ริด วัย 10 ขวบรับคำพร้อมเพรียงกัน"ขอรับคุณพ่อ"
"แต่...จริงๆแล้วข้ามิได้อยากปีนต้นไม้หนา แค่ชวนลูกมารับคุณพี่ที่ท่า แล้วเจ้าลิงทั้งสองคนเกิดเดินซนมาเห็นผลไม้สุกเข้าก็อยากกิน แถวนี้มิมีบ่าวไพร่ ข้ามิอยากเรียกไปให้อื้ออึงจึงเก็บให้ลูกเองเจ้าค่ะ"
ออกญาวิสูตรสาครถอนหายใจยาวพลางหัวร่อเบาๆ
"มีลูกถึงสี่คนแล้วหนาเจ้า ยังละเล่นเป็นเด็กๆ" แม้จะบ่นเช่นไร แต่ดวงตาที่ออกญาวิสูตรสาคร
ทอดมองมาก็อ่อนโยนหวานล้ำลึกเหมือนเดิม "อีผินอีแย้มล่ะ"
"ข้าให้ดูแม่แก้วกับแม่ปรางเจ้าค่ะ"
แม่ปราง วัย 6 ขวบกำลังหัดรำละคร มีครูจับท่าพื้นฐานให้
ผินนั่งลุ้นอยู่ แม่ปรางหน้ายิ้มแฉ่ง รำผิดๆถูกๆ แกล้งครูบ้าง
ผินร้อง "แม่หญิงปราง อย่าเจ้าค่ะ"
แม่แก้ววัย 8 ขวบ กำลังหัดร้อยอุบะอยู่กับแม่เดือนลูกสาวจันทร์วาด มีแย้มนั่งช่วยส่งดอกมะลิ
"พี่เดือนเจ้าขา ข้าอยากกินขนม" แก้วกระซิบกระซาบ
"ขนมอะไร"
"ขนมที่คุณป้าท้าวทองกีบม้านำมา"
"ไหน...อยู่ไหน"
"ข้าเห็นนะ เห็นทีจะอยู่ข้างใน เราไปหาป้าปริกกันดีกว่า"
"พี่ถามคุณแม่ก่อนนะแม่แก้ว"
เดือนคลานไปหาจันทร์วาดที่กำลังคุยกับตองกีมาร์
"คุณแม่เจ้าขา"
"แม่เดือนมีอะไรหรือลูก"
"ข้าอยากกินขนมเจ้าค่ะ ที่คุณป้าท้าวทองกีบม้านำมาให้"
"เช่นนั้น แม่เดือนต้องถามคุณป้าเองแล้วลูก"
"คุณป้า...ได้ไหมเจ้าคะ"
"ถ้าแม่เดือนบอกชื่อขนมของป้าถูก"
มีเสียงเจี๊ยวจ๊าวดังมาจากอีกทาง
ตองกีมาร์หันไป จันทร์วาดก็หัน
เด็กชาย 4 คน พ่อเรือง พ่อริด ยอร์จ โยฮัน ทั้ง 4 คนกำลังหัดฟันดาบกัน พ่อเรืองกับยอร์จ และพ่อริดกับโยฮัน กำลังเถียงกัน พ่อริดมีการผลักอกยอร์จด้วย จนยอร์จหกล้มก้นกระแทก โยฮันจะไปช่วยพี่ชาย แต่พ่อเรืองคว้าตัวไว้ก่อน คือกอดขาไว้อย่างเหนียวแน่น
"พี่โยฮัน"
"เฮ้ยเจ้าเรืองปล่อยข้า ยอร์จ...ลุก" โยฮันบอก
"ปล่อยแล้วหยุดฤๅ"
"ไม่หยุดเว้ย...ยอร์จ ลุก...เร็ว"
"พี่เรือง ปล่อยมันมาเถิดหนา ถึงตัวโตกว่าข้าหากลัวไม่" ริดบอก
"แต่ข้ากลัว"
"กลัวอันใด"
"กลัวออเจ้าเจ็บ พี่โยฮันเอาจริงหนาพ่อริด"
โยฮันพยายามลากขาไป พ่อเรืองกอดแน่น แต่โยฮันมีแรงกว่าลากไปเรื่อยๆ
จันทร์วาดจะลุกไป เกศสุรางค์มาพอดี
"ไม่ต้องหรอกแม่จันทร์วาด"
"เดี๋ยวตีกันตายนะแม่การะเกด"
"เด็กพวกนี้โตมาด้วยกัน เขารักกัน ไม่ตีกันหรอกแม่จันทร์วาด"
"นั่นไง"
เหลียวไปดูอีกทาง
เด็กชายทั้ง 4 คนเล่นกันเสียแล้ว มีจ้อยเป็นตัวประสานงาน ช่วยหัดดาบคนโน้นทีคนนี้ที
ออกญาวิสูตรสาครกับพระรามณรงค์นั่งเอกเขนกคุยกัน นัยน์ตามองดูเมียบ้างดูเด็กๆบ้าง
พระรามณรงค์บอก
"มารดาออเจ้ามุ่งหมายแม่หญิงจันทร์วาดให้ออเจ้า แลตัวข้าพึงพอใจแม่การะเกด หากการเป็นดังผู้ใหญ่คิด เมียข้าเป็นเมียออเจ้า เมียออเจ้าก็เป็นเมียข้า"
ออกญาวิสูตรสาครมองจ้องพระรามณรงค์นัยน์ตาเขียว
พระรามณรงค์หัวเราะจ๋อยๆ "ลืมเสียนะว่าข้าพูดอะไร"
"ข้าพอใจในเมียข้ายิ่งนัก"
"สมควรแล้วพ่อเดช แม่การะเกดมิมีหญิงใดเสมอเหมือนในอยุธยา"
"มิต้องเสียเวลาแสวงหา จะไม่มีวันพบพาน"
สองคนหัวเราะกันดังๆ
เกศสุรางค์นั่งพับเพียบอยู่ใกล้ๆหัวเราะด้วย
สองคนหันไปตกใจจริงจัง
เกศสุรางค์นั่งยิ้มหวานอยู่ใกล้ๆตั้งนานแล้ว
ทั้งสองถามแบบฟังไม่เป็นคำ "มาตั้งแต่เมื่อไหร่"
"ตั้งแต่คุณพี่ทั้งสองเริ่มนินทาเมียเจ้าค่ะ"
สองคนหมดคำถาม
มีเสียงเจี๊ยวจ๊าวอีก ทุกคนหันไปดู
จวง จิก บุ้งถือถาดขนม ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองออกมา
"ยังไงล่ะแม่เดือน ชื่อขนม" ตองกีมาร์ถาม
"ขนมทองหยิบ ทองหยอด และขนมฝอยทองเจ้าค่ะ"
"เก่งแท้ออเจ้า...แม่เดือน"
พระรามณรงค์ลุกไปหาจันทร์วาด
เกศสุรางค์เขยิบเข้าไปนั่งใกล้ๆออกญาวิสูตรสาคร มองหน้ากัน
"แม่การะเกด"
เกศสุรางค์มองหน้า นิ้วชี้...ชี้ล้อๆ
"แม่เกศสุรางค์"
"เจ้าขา..."
"ในเพลาของออเจ้า กรุงศรีอยุธยาของเราจักเป็นฉันใด"
เกศสุรางค์นิ่งเงียบไปนาน
ออกญาวิสูตรสาครหน้าไม่ดี "แม่เกศ..."
"คุณพี่เจ้าขา"
ออกญาวิสูตรสาครมองแบบหน้าหวั่นๆใจ
"อยุธยาในยุคของข้าคือประวัติศาสตร์เจ้าค่ะ ประวัติศาสตร์ที่ต้องเกิด...จึงเกิดเจ้าค่ะ"
ออกญาวิสูตรสาครนิ่งอึ้งไป
เด็กชายหญิง 4 คนไปหาคุณหญิงจำปา ไปนัวเนียกอดบ้างหอมบ้าง จำปากอดหลานไปมา
สิปางคุกเข่าข้างคุณยายนวล ที่เหม่อมองไปนอกหน้าต่าง เพราะคิดถึงหลาน
สิปางเสียงอ่อนโยน "คุณแม่คะ"
คุณยายหันมา
"เกศมีความสุขแล้วค่ะคุณแม่"
คุณยายนวลสีหน้าพิศวง
ภาพฝันของสิปาง เกศสุรางค์แต่งงานกับพระศรีวิสารสุนทร
เกศสุรางค์กับพระศรีวิสารสุนทรอยู่ด้วยกัน มีความสุข เพิ่งแต่งงานใหม่ๆ
"เกศพบคนที่รักเกศ เกศก็รักเขา เกศแต่งงานกับเขา มีเหลนให้คุณแม่ 4 คน
น่ารักเหลือเกิน คนโตเป็นฝาแฝดผู้ชายค่ะ"
สายตาคุณยายวูบวาบยินดี
"เกศอยู่ที่ไหน" เสียงยายแผ่วเบาเหมือนกระซิบ มองหน้าลูกเหมือนจะให้ย้ำว่าที่พูดนั่น
เป็นเรื่องจริง
สิปางยิ้มน้อยๆ หน้าตาสว่างสดใส
"อยู่ที่ใดที่หนึ่ง หนูไม่ทราบว่าที่ไหน แต่หนูว่าบุพเพสันนิวาสชักนำให้เกศไปที่นั่น...คุณแม่ขา คุณแม่ต้องไม่เศร้าแล้วนะคะ"
คุณยายนวลยิ้มน้อยๆ
สิปางกอดแม่
ต่อมา ...
เรือนาย ลำใหญ่สามคนพาย แล่นมาตามลำน้ำ พ่อแม่ลูกทั้งหลายอยู่ในเรือลำนี้
มีเรือใหญ่น้อยพายสวนไปมา
เสียงกรีดกราดดัง แต่ทุกคนไม่กลัว เพราะคุ้นเคยกับเรือแล้ว
แม่ปรางเกาะติดอยู่กับพ่อ
พ่อเรืองนั่งสงบนิ่ง ท่าทางสุขุม พ่อริดมองโน่นนี่อย่างสังเกตสังกา
แม่แก้วอิงแอบอยู่กับแม่
พวกบ่าวนั่งเรือตามมา
เรือจอดที่ท่าน้ำ เป้าหมายคือ ตลาดบ้านจีน
บ่าวจูงมือนายน้อยๆไปตามทาง ในตลาดเห็นพ่อค้าแม่ค้าขายของ ส่งเสียงร้องเรียกคนให้ซื้อ
เกศสุรางค์เดินมากับออกญาวิสูตรสาคร
ผู้ใหญ่เดินตามหลังต้องตกใจสะดุ้ง แหวกทางเป็นแถว
เป็ดไก่วิ่งพรูกันมา และวิ่งกระเจิดกระเจิงไปคนละทาง
แม่ปรางเปิดสุ่ม 1 เปิดสุ่ม 2 เปิดสุ่ม 3
ไก่ก็เลยวิ่งเกรียวกราวไปทั้งตลาด
เกศสุรางค์เสียงดัง "แม่ปราง...ทำอะไรลูก"
ผู้คนในตลาดร้องเอะอะส่งเสียงกันล้งเล้ง
ผู้คนวิ่งพยายามจับเป็ดไก่
พ่อริด พ่อเรืองก็วิ่งจับ ยืน มีไก่ในมือคนละ 2 ตัวซ้ายขวา และยืนยิ้มจ๋อยๆ เมื่อพ่อเรียกเสียงดัง
เด็ก 4 คนชะงักกึก หยุดยืนหน้าเสียกันทุกคน
แม่ปรางเริ่มร้องไห้
"โถ...อย่าร้องหนาแม่ปราง แค่เสียงไก่เสียงเป็ดแม่ก็จักเป็นวิปลาสแล้วหนา"
เกศสุรางค์รีบคว้าตัวลูกมากอดโอ๋ แม่แก้วเองก็มาช่วยปลอบเจ้าตัวน้อยด้วยอีก
เจ้าของร้านค้าเป็ดไก่ที่ถูกเปิดสุ่ม วิ่งไล่จับไก่และเป็ดกันจ้าละหวั่น บ่าวไพร่หลายคนก็ช่วยกันจับด้วย รวมไปถึงผู้ที่มาจับจ่ายซื้อหา แม้แต่พ่อเรืองคนขรึมก็พลอยเป็นไปด้วย ต่างพากันวิ่งไล่จับเป็ดไก่ที่ยังเป็นอิสระ ส่วนพ่อริดนั้นมิต้องพูดถึง มีไก่อยู่ในอ้อมกอดถึงสองตัว พ่อค้าขายเป็ดไก่ทำหน้ามุ่ย หากไม่กล้าเอ่ยปากต่อคำ เพราะทราบดีว่าแม่ตัวเล็กนั้นเป็นถึงลูกสาวพระยาวิสูตรสาคร
ออกญาวิสูตรสาครเสียงเข้ม
"แม่ปราง ทำกระไรลงไปรู้ตัวฤๅไม่"
หัวใจดวงน้อยกำลังร้องไห้ด้วยพูดไม่ออกถึงความรู้สึกที่อยู่ข้างใน แม่ปรางซุกหน้ากับซอกคอแม่ แล้วร้องเสียงดัง
เรืองบอก "คุณพ่อขอรับ ข้าใคร่จักบอกว่าข้ารู้ว่าแม่ปรางคิดกระไรขอรับจึงปล่อยเป็ด ปล่อยไก่"
"เจ้าคิดว่าแม่ปรางคิดกระไรฤๅพ่อเรือง"
"น้องสงสารมันขอรับ แม่ปรางเป็นคนใจอ่อนขี้สงสาร แรกเข้าตลาดก็น้ำตาคลอ ยิ่งเห็นเป็ดไก่รอการเชือดจึงยิ่งสงสารหนัก"
ริดบอก
"คงคิดตามประสาแม่ปรางว่าปล่อยแล้วไก่เป็ดพวกนี้จักไม่ต้องถูกเชือดขอรับ"
เกศสุรางค์ทนเก๊กอยู่นานตั้งแต่แรกที่มีเรื่องโกลาหลถึงกับหัวเราะก๊ากออกมาอย่างเสียงกิริยา
ฝ่ายแม่แสบน้อยเห็นแม่แสบใหญ่หัวร่อออกมา จึงค่อยคลายความหวาดกลัวจากการถูกลงโทษไปได้บ้าง จึงรีบพูดยืนยันในสิ่งที่ตนคิด
"ใช่เจ้าค่ะ พี่เรืองพูดเหมือนที่ลูกคิดมิผิดเลยเจ้าค่ะ"
เรือแล่นกลับ นั่งกันอย่างเดิม
เรือบ่าวมีกรงต่อหยาบๆ 2-3 กรง
ในนั้นมีเป็ด มีไก่ ร้องระเบ็งเซ็งแซ่
เด็กๆมองเป็ดไก่ แล้วพูดคุยหัวเราะต่อกระซิก
พระยาวิสูตรสาครบอก
"เตือนข้าด้วยหนาแม่การะเกด ว่าข้าจักมิยอมพาลูกๆ โดยจำเพาะแม่ปรางไปเที่ยวชมตลาดน้อยอีกแล้วหนา"
เกศสุรางค์หัวเราะขำ
"ว่ายังไงลูกแม่ปราง ยอมมั้ย"
แม่ปรางไม่ตอบ แต่ทำกิริยาที่บ่งบอกว่าพระยาวิสูตรสาครไม่สามารถทำตามคำได้คือ นั่งตัก มือโอบรอบคอ ซุกหน้าเข้าที่อกพ่อ
บ่าวไพร่ มองขำๆ
เรือแล่นไป เสียงหัวเราะยังดังแว่วมา
คืนนั้น เกศสุรางค์กำลังเก็บของอยู่ไปมา พลางบ่น
"แม่ปรางหนอแม่ปราง...เฮ้อ"
"แม่ปรางนี่ก็คือออเจ้านั่นเอง" ออกญาวิสูตรสาครว่า
"คุณพี่ถึงได้รักแม่ปรางกว่าลูกคนอื่นๆใช่มั้ยเจ้าคะ คุณพี่ลำเอียง" เกศสุรางค์ยิ้มล้อ
"คุณแม่ข้ายังรักแม่แก้วมากกว่าหลานคนอื่นๆเลยหนา ออเจ้าเช่นกันรักพ่อเรืองพ่อริดมากมายมิใช่ฤๅ"
"แน่ะ เรื่องอะไรว่าข้าลำเอียงอย่างนั้น"
"ตั้งชื่อเหมือนคู่รักเก่าของเจ้ามิใช่ฤๅ"
เกศสุรางค์หัวเราะเสียงใส "นึกว่าไม่หึง ไม่ท้วงถามเสียแล้ว"
"ข้าหึงหวง แต่ข้าเห็นใจ คนผู้นั้นคงเจ็บช้ำมากที่ต้องพลัดพรากจากออเจ้า เพราะหากเป็นข้าคงทานทนแทบมิได้เป็นแน่"
พระวิสูตรสาครเข้ามากอดเคล้าเคลีย
"แล้วไม่อยากรู้เหรอคะว่า เรืองฤทธิ์เป็นใครในชาตินี้"
"ผู้ใดกัน พ่อเรืองก็มิใช่นี่"
"เมื่อข้ากลับไป ข้าเห็นร่างที่อยู่ข้างในของเรืองฤทธิ์"
แววตาที่จับจ้องมองมา ทำให้ออกญาวิสูตรสาครเริ่มกระจ่างแก่ใจ
"ข้ากระนั้นรึ!"
"เจ้าค่ะ ที่ข้าได้มาเกิดใหม่ในอดีตอย่างนี้ ก็อาจเป็นเพราะเรืองฤทธิ์ที่บวชให้ ข้าจึงตั้งชื่อลูกของเราไว้เป็นที่ระลึกถึงว่าพ่อรักแม่ของพวกเขามากแค่ไหน ถึงกับพลิกฟ้าพลิกดินจนมาคู่กันได้"
"หากเป็นบุพเพสันนิวาส มิว่ากี่ภพกี่ชาติข้าก็มั่นใจว่าจักติดตามเคียงคู่ออเจ้าทุกชาติไป แม้ในชาติหน้าของออเจ้าก็เช่นกัน"
"ชาติหน้า" เกศสุรางค์เอาจมูกชนจมูกคุณออกญาวิสูตรสาครแล้วขยี้ไปมาอย่างรักใคร่ "คุณพี่รู้หรือไม่ว่า ข้าจะเกิดเป็นม้าน้ำ"
"ม้าน้ำ...อ๋อ ม้าน้ำ พี่ก็จะเป็นม้าน้ำตัวผู้ใช้หางเกี่ยวม้าน้ำตัวเมีย แล้วดำลงไปใต้สมุทร ครองคู่กันไปชั่วนิรันดร์ ดีฤๅไม่"
คุณพี่กอดจูบนัวเนียพันพัว แต่ด้วยกิริยานุ่มนวลยิ่งนัก
ความรักของทั้งสอง มีดวงจันทร์เต็มดวง บนฟากฟ้าเป็นสักขีพยานในความมั่นคง ซื่อสัตย์ ทุกชาติไป
จบบริบูรณ์...
#บุพเพสันนิวาส #ออเจ้า #Ch3Thailand #lakornonlinefan #ลมหายใจคือละคร
เกร็ดน่ารู้จากละคร
บาทหลวงตาชาร์ด จากหนังสือ "หอกข้างแคร่" สำนักพิมพ์มติชน
จดหมายเหตุ การเดินทางสู่ประเทศสยาม ของบาทหลวง ตาชาร์ด
ลา ลูแบร์ จาก "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม"
"จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
รูปจากเพจ "กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา" แชร์จาก โบราณคดีสมัครเล่น - Amateur Archaeology เมื่อ 26 มกราคม 2018 เวลา 17.42 น.
รูปจากเพจ "กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา" แชร์จาก โบราณคดีสมัครเล่น - Amateur Archaeology เมื่อ 26 มกราคม 2018 เวลา 17.42 น.
บาทหลวงกี ตาชาร์ด : (ข้อมูลจาก "ฟอลคอน Phaulkon" , เสฐียรโกเศศ แปลและเรียบเรียง , สำนักพิมพ์ศยาม, หน้า ๑๑๕)
บาทหลวงกี ตาชาร์ด (le Pères Jésuites Guy Tachard ค.ศ. ๑๖๕๑ - ๑๗๑๒) เป็นพระในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก คณะเยซูอิต โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV de France) ได้ส่งมาร่วมกับซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) อัครราชทูตฝรั่งเศส คนที่ ๒ เพื่อมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเมื่อเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสยามคือ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม ( Le voyage du père Tachard ๑๖๘๖ Vol. ๑) จดหมายเหตุการเดินทางครั้งที่ ๒ ของบาทหลวงตาชาร์ดสู่ราชสำนักสยาม (Second voyage du père Tachard et des Jésuites envoyez par le Roy de Siam) การเดินทางของบาทหลวงตาชาร์ด เล่ม ๓ (Le voyage du père Vol ๓) เป็นต้น นอกจากนี้ยังสนิทสนมกับคอนสแตนติน ฟอลคอนอีกด้วย
ลาลูแบร์ : ประพต เศรษฐกานนท์ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ได้กล่าวได้ในถ้อยแถลงใน หนังสือ "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย มร. เดอะ ลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร ว่า
"จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฉบับนี้ ( The Kingdom of Siam) มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประพันธ์ขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๒๓๑ " ลา ลูแบร์" ได้พรรณาถึงกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างกว้างขวาง มีข้อความเป็นประโยชน์ชัดเจน ทั้งด้านเศรษฐกิจ , การกินอยู่, การแต่งงาน, ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ตลอดจนเรื่องราวทั่วๆไป ไม่เฉพาะแต่เท่านั้น ลู ลาแบร์ยังวิพากษ์วิจารณ์ไปถึงการเมือง การปกครองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไว้มากมายหลายเรื่องจะผิดจะถูกอย่างไร เป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์ที่จะใช้วิจารณญาณใคร่ครวญไตร่ตรองตามกำลังปัญญาของตน
จากจดหมายเหตุนี้ จะเห็นได้ว่า ลาลูแบร์เป็นคนฉลาด มีความสามารถหลากหลาย ยากจะหาคนไทยในสมัยนั้นเทียบเคียงได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จากการที่ลูลาแบร์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาแค่เพียง ๓ เดือน ๖ วันเท่านั้น หนังสือของขาจึงไม่ใช่จะถูกไปเสียทั้งหมด ..."
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ เป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เดินทางเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณณ์มหาราช พร้อมคณะ และทหารฝรั่งเศสอีกราว 600 คน ในวิทยานิพนธ์ของ มาลินี ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ ศิลปบัณฑิต (โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) เรื่อง "การต่างประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์" หน้า ๙๘ ได้กล่าวว่า "เมื่อคณะทูตไทยเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ ฝ่ายฝรั่งเศสได้จัดส่งกองทหารมากองหนึ่งรวม ๖๓๖ คน ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเดฟาช"
ส่วน เดอ ลา ลูแบร์ ยังได้รับคำสั่งให้สังเกตเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยาและบันทึกข้อสังเกตทั้งหลายเหล่านั้นกลับไปรายงานให้ราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ให้ทรงทราบ ต่อมา บันทึกจากคณะบุคคลที่มาอยุธยาในยุคนั้น นับว่า เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องเรื่องราวในยุคสมัยดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ผลงานการบันทึกของลู ลาแบร์ ประกอบด้วย
Du Royaume de Siam, 1691
Traité de l'origine des jeux floraux de Toulouse (1715)
De la Résolution des équations, ou de l'Extraction de leurs racines,
จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับแปลในประเทศไทยมีอยู่ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปล โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลของสันต์ ท.โกมลบุตร จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ วิกิพีเดีย เข้าถึงเมื่อ 19.15 น. วันที่ 10 พฤษภาคม
จดหมายเหตุลาลูแบร์ วิกิพีเดีย เข้าถึงเมื่อ 19.17น. วันที่ 10 พฤษภาคม
บางส่วนจากหนังสือที่เกี่ยวข้องในยุคพระนารายณ์
ภาพพระเจ้าแผ่นดินสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โปรดให้ราชทูตวิสามัญ เชอวาเลีย เดอ โชมองต์ เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ปารีส ฝรั่งเศส (ภาพและคำอธิบายจากคู่มือนิทรรศการ ความสัมพันธ์ไทยกับฝรั่งเศส ๓๐๐ ปี "สมเด็จพระนารายณ์และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔" กรมศิลปากรจัดพิมพ์ในโอกาสจัดนิทรรศการความสัมพันธ์ไทยกับฝรั่งเศส ๓๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙) จากหนังสือ "การเมืองไทย สมัยพระนารายณ์" สำนักพิมพ์มติชน
คอลสแตนติน ฟอลคอน (ภาพจาก E.W. Hutchinson, 1688 Revolution in Siam, Hong Kong University Press , 1968) จากหนังสือ "ชิงบัลลังก์พระนารายณ์" สำนักพิมพ์มติชน
ภาพพระสงฆ์ ถือตาลปัตร ภาพพิมพ์ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ (หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส) จากหนังสือ "การเมืองไทย สมัยพระนารายณ์" สำนักพิมพ์มติชน
ภาพขุนนางชาวสยาม พิมพ์อยู่ในหนังสือ Du royaume de Siam ของ Simon de La Loubère ตีพิมพ์ ค.ศ. ๑๙๖๑ (หอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส) จากหนังสือ "การเมืองไทย สมัยพระนารายณ์" สำนักพิมพ์มติชน
เพียงบางส่วนเพื่อเป็นตัวอย่างว่า หนังสือในยุคสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีความหลากหลายมาก
หนังสือในยุคพระนารายณ์ในตลาดมีเป็นจำนวนมาก ทั้งบันทึกของชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสยามประเทศโดยตรงก็มี ตลอดจนถึงผู้รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยช่วงนั้น อาทิ คนอังกฤษ, ฮอลันดา, โปรตุเกส ฯลฯ มีหนังสือเกี่ยวกับช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการแปลแล้วในเมืองไทยจำนวนไม่น้อย รวมถึงหนังสือนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เขียนโดยชาวต่างประเทศ หรือแม้แต่หนังสือที่เขียนเล่า วิเคราะห์ โดยคนไทยก็มีจำนวนไม่น้อย ขอยกตัวอย่าง
- จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม (The Kingdom of Siam - Simon de la Loubère) , มองซิเออร์ เดอ ลู ลาแบร์ เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา
- จดหมายเหตุ การเดินทางสู่ประเทศสยาม ของบาทหลวง ตาชาร์ด ครั้งที่ ๑ และ จดหมายเหตุ การเดินทางครั้งที่ ๒ , สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา
- บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอะแบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ์ ฟอลคอน, บาทหลวง เดอะแบส เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา
- ออกญาวิไชยเยนทร์ หรือ การต่างประเทศในสมัยพระนารายณ์ , ขจร สุขพานิช, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- เล่าเรื่องกรุงสยาม Description du royaume thai ou siam, มงซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. ๑๖๘๕ และ ๑๖๘๖ , บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- จดหมายเหตุ โกศาปานไปฝรั่งเศส Archives Kosa Pan dignitaries to France, มองซิเออร์ เดอ วีเซ เขียน, เจษฎาจารย์ ฟ. ฮีเลย์ แปล (จากภาษาฝรั่งเศส) , สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- โกษาปาน ราชทูตผู้กู้แผ่นดิน , ภูธร ภูมะธน, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จัดพิมพ์
- ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) , นิโกลาส์ แชรแวส เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- จดหมายเหตุมองซิเออร์ เซเบเรต์, โคลด์ เซเบเรต์ เดอ บูเล เขียน , ราชบัณฑิตยสภา จัดแปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- จดหมายเหตุ ฟอร์บัง (บันทึกความทรงจำของออกพระศักดิสงคราม) , Chevalier de Forbin - เชอวาลิเยอร์ เดอ ฟอร์บัง เขียน, มจ. ดำรัสดำรง เทวกุล แปล, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- ชิงบัลลังก์พระนารายณ์ Relation des revolutions arrivées a Siam, dans l'année 1688, นายพลเดส์ฟาร์จ เขียน, ปรีดี พิศภูมิวิถี แปล, สำนักพิมพ์มติชน
- หอกข้างแคร่ : บันทึกการปฏิวัติในสยาม และความหายนะของฟอลคอน, พันตรีโบซอง เขียน, ปรีดี พิศภูมิวิถี แปล (พันตรีโบซอง เป็นนายทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ในช่วงปี พ.ศ. ๒๒๓๑), สำนักพิมพ์มติชน
อื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกันของนักเขียนท่านอื่นๆ อาทิ
- การค้าและการเมืองในพระราชประวัติ สมเด็จพระนารายณ์ , อานนท์ จิตรประภาส เขียน, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
- ออกพระเพทราชา หรือฟอลคอน ใครวางแผนชิงบัลลังก์สมเด็จพระนารายณ์, กีรติ เกียรติยากร บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์ จดหมายเหตุ
- ฟอลคอน (นวนิยาย) , เสฐียรโกเศศ แปลและเรียบเรียง, พินิจ หุตะจินดา บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์ศยาม
- รุกสยาม ในนามของพระเจ้า (Pour la plus grande gloire de Dieu) , เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์ (Ombres Siamoises) (นวนิยาย) , มอร์การ สปอร์แดซ Morgan Sportes เขียน, กรรณิกา จรรย์แสง แปล, สำนักพิมพ์มติชน
- การเมืองไทย สมัยพระนารายณ์ , นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน, สำนักพิมพ์มติชน
ฯลฯ