xs
xsm
sm
md
lg

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 20 : ทาบโกษาปานเป็นทูต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 20

บทประพันธ์ : รอมแพง บทโทรทัศน์ : ศัลยา

คืนนั้น เกศสุรางค์นอนไม่หลับ พลิกไปมา นัยน์ตาใคร่ครวญ

ผินและแย้มนอนกรนเบาๆ
เกศสุรางค์ลุกขึ้นแรงๆ

ที่ชานเรือน
พระจันทร์เต็มดวง
เกศสุรางค์ยืนแหงนหน้ามองพระจันทร์ คิดถึงวันที่ตัวเองร้องเพลง
ภาพวันนั้นแวบเข้ามาในหัว
สายตาของหมื่นสุนทรเทวาที่เพ่งมองเธอในวันนั้น
เกศสุรางค์เขินกับตัวเอง แล้วหันหลังอย่างเร็ว
"อุ๊ย โธ่คุณพี่มาเป็นนินจาเรื่อยเลยค่ะ"
"ออเจ้ามิต้องพูดจาเฉไฉเป็นสิ่งใดที่ข้าฟังมิรู้ความและคร้านที่จะฟังด้วย" ขุนศรีวิสารวาจายกมือห้ามเมื่อเกศสุรางค์ทำท่าจะพูด "มิต้องต่อคำ บอกมาเลยดีกว่าว่า ออเจ้าคิดถึงใครอยู่ ถึงมิได้ยินว่าข้าเดินมา"
เกศสุรางค์จ้องมองนิ่ง สายตายิ้มๆ
"ถ้าไม่บอกข้าจะคิดเอาเองว่าออเจ้าคิดถึงใคร"
"บอกค่ะ...บอกเดี๋ยวนี้"
ขุนศรีวิสารวาจาทำท่ารอฟัง
เกศสุรางค์ก็ยังไม่พูด
"ข้าจักคิดว่า..."
"บอกแล้วค่ะ"
ขุนศรีวิสารวาจาจ้องตาลึก
เกศสุรางค์สบตานิ่งๆ เหมือนบอกด้วยสายตา
ขุนศรีวิสารวาจาใจเริ่มระทึก จวนเจียนจะยั้งใจไม่ได้
"อยากรู้เหรอเจ้าคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาพยักหน้านิดๆแบบกลัวเสียฟอร์ม
"ส่องคันฉ่องสิเจ้าคะ"
คุณพี่เงิบไปเลย จ้องหน้าเกศสุรางค์ เกศสุรางค์ยักคิ้วเบาๆ สีหน้าน่าเอ็นดู แล้วเดินไป
ขุนศรีวิสารวาจายืนหน้าแดงก่ำ หัวใจพองโตคับอก

เกศสุรางค์เปิดประตูห้องเข้ามา ผิน แย้มผละไปอย่างรวดเร็ว
"นั่นแน่...แอบฟังใช่ม้า"
สองบ่าวเขิน หลบวูบไปทางหนึ่ง
สองบ่าวหน้ายิ้มพอใจ ก่อนล้มตัวลงนอน
ผินทำมือโอ...เคกับแย้ม
แย้มทำตอบอย่างแข็งแรง
สองคนหลับเป็นสุข

รุ่งสาง แย้มแต่งตัวให้เกศสุรางค์เป็นสุดท้าย ผินหวีผมเสร็จพอดีเหมือนกัน
"งามแล้วเจ้าค่ะ" แย้มว่า
"เดินดีๆนะเจ้าคะ...เรียบร้อยหน่อย...เรียบร้อยหน่อย" ผินว่า
"อุ๊ย...พูดจาประสากรุงเทพฯขึ้นทุกวัน น่ารักจริง"
สองบ่าวหัวเราะชอบใจ น้ำหมากจะย้อย
"ต้องแต่งไปทำไม๊...ก็"
บ่าวมองหน้าว่าจะพูดอะไร
"ก็สวยอยู่แล้วนี่"
บ่าวหัวเราะชอบใจ ประสานเสียงกับเกศสุรางค์

เช้าต่อเนื่องมา เรือนออกญาโหราธิบดี
จวง จิกส่งกับข้าวให้ปริก ปริกมาวางที่สำรับ
ขุนศรีวิสารวาจา คุณหญิงจำปา และออกญาโหราธิบดีหันไปทางเสียงหัวเราะ
"อุ๊ย แม่การะเกดหัวเราะดังปานเสียงม้า" คุณหญิงจำปาว่า
ปริกบอก "อีบ่าวสองคนด้วยเจ้าค่ะ"
"นังปริก"
เสียงปรามจากออกญาโหราธิบดี ทำให้ปริกตัวอ่อนลู่ลง
"อยู่เรือนเดียวกัน กินข้าวกระทะเดียวกัน จะรักกันนี่ลำบากนักเชียวรึ"
ปริกก้มหน้านิ่ง
"ว่าไงนางปริก"
"เจ้าค่ะ"
"จะหมายว่ายังไรเจ้าค่ะของเอ็ง"
"เจ้าค่ะ"
"นังปริก"
ปริกลนลาน แล้วเลยคลานกระดุ๊บๆหายไปเลย
"ดูมัน แม่จำปาคนของออเจ้านี่เหลือเกินจริงๆ รังคัดรังแคไม่รับรู้ว่าแม่การะเกดเป็นใคร ออเจ้าปกครองยังไรฤๅ"
คุณหญิงบอก
"ตัวข้าก็ยังไม่พึงใจนาง จักให้บ่าวของข้าพึงใจได้ยังไรเจ้าคะ"
โหราธิบดีส่ายหน้า ไม่อยากต่อคำ
"พ่อเดช เรื่องตบแต่งของลูกได้พูดกับแม่การะเกดอีกหรือไม่"
ขุนศรีวิสารวาจายิ้มลึกซึ้ง
"นางยืนยันคำของนางฤๅพ่อเดชว่าจะไม่ตบไม่แต่ง"

ในห้องการะเกด ผินถาม
"เหตุใดจักไม่ยอมแต่ง แม่นายรักคุณพี่ออกปานฉะนี้"
"ฮ้า..."
แย้มบอก "และออกขุนท่านก็รักแม่นายปานจะกลืนกิน"
"รักกันแต่ไม่ยอมตบแต่งกันเป็นไฉนหรือเจ้าคะ" ผินว่า
"โอ๊ย...รู้หมดเลยเหรอเนี่ย"
ผิน/แย้มรับคำ "เจ้าค่ะ"
เกศสุรางค์ตบหน้าผาก "เป็นลม"

สองบ่าวหัวเราะเสียงดัง

คุณหญิงจำปาถามเกศสุรางค์

"จะมีเรือนอีกไม่นาน เหตุใดจึงหัวเราะหัวใคร่เสียงดังไปถึงคุ้งน้ำข้างโน้นกระมัง"
เกศสุรางค์หันมา
"จริงเหรอคะคุณป้า พี่ผินพี่แย้ม พี่สองคนหัวเราะเสียงดังไม่งามเลยนะพี่"
"ดูทีรึ...ซัดทอดนังบ่าวสองคนมันจะกล้าฤๅถ้านายไม่นำก่อน"
ขณะที่จำปาพูด เกศสุรางค์รู้ว่าคุณพี่มองด้วยสายตารักลึกซึ้งยิ่งนัก จึงชำเลืองไปสบตากันนิ่งอยู่
คุณหญิงจำปาไม่เห็นไม่หนใดๆ เพราะก้มหน้าก้มตาหยิบของในเชี่ยนหมาก บ่นต่อ
"คุณลุงท่านจะถามไถ่ออเจ้าเรื่องตบเรื่องแต่ง ออเจ้าอย่าตอบให้มันมากเรื่องไป ผู้ใหญ่กะเกณฑ์ไว้แล้วอย่าให้ต้องถอนหงอกกันเลย"
หนุ่มสาวสองคนยังสบตากันอยู่
ออกญาโหราธิบดีเห็นเต็มสองตา
"เห็นจะไม่ต้องแล้วหนาแม่จำปา" ออกญาโหราธิบดีเดินไป
คุณหญิงจำปาเงยหน้า
"อ้าว...คุณพี่ไม่ถามไถ่แล้วฤๅเจ้าคะ พ่อเดช"
"ขอรับ"
ขุนศรีวิสารวาจาสีหน้าปกติมาก
"แม่การะเกดคงแคลงใจว่าพ่อเดชตกลงปลงใจตบแต่งกับนางด้วยเหตุตกกะไดพลอยกะโจน พ่อเดชพูดกับน้องเสียว่าถึงจะไม่เต็มใจตบแต่ง แต่จะเป็นสามีที่ดีมิทิ้งขว้างห่างหาย"
เกศสุรางค์ก้มหน้ายิ้มขำ เหลือบตามอง
ขุนศรีวิสารวาจามองอยู่พอดี ยิ้มขำพอกัน
"เรื่องที่พี่เขามิได้รักมิได้ใคร่ออเจ้านั้น ออเจ้าอย่าแคลงแหนงใจเลย อยู่ๆกันไปก็อาจจะมีใจต่อกันได้อยู่หรอกหนา"
"เจ้าค่ะ"
"ออเจ้ามิคิดสงกาแล้วฤๅมิใช่"
"มิคิดสงกาเล้ยเจ้าค่ะ"
"พ่อเดชไปได้แล้วลูก คุณพ่อคอยนานแล้ว"
ขุนศรีวิสารวาจาเดินผ่านเกศสุรางค์ ส่งสายตาที่ทำให้เกศสุรางค์วาบหวามใจเต้นแรงมาก
ขุนศรีวิสารวาจาลับตัวไปแล้ว

ต่อมา จ้อยกับทนายยืนคอยอยู่
ออกญาโหราธิบดีเดินมา ขุนศรีวิสารวาจาเดินเร็วๆตามหลัง
ออกญาโหราธิบดีหันมายืนคอยจนมาถึง แล้วพูดขึ้น
"แม่หญิงผู้นี้...นางจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม นางจะเป็นเมียคู่กายคู่ใจของออเจ้า"
"นางเป็นใครหรือขอรับคุณพ่อ คุณพ่อจับยามดู...เห็นไหมขอรับ"
ผู้เป็นพ่อนิ่งไปสักครู่ เห็นลูกชายสีหน้ากระวนกระวาย
"เห็นแล้วจะมีประโยชน์อันใด อย่าพะวงไปเลยพ่อเดช นางมาเพราะนางต้องมา"
ขุนศรีวิสารวาจานิ่งมองหน้าพ่อ นัยน์ตาตรึกตรอง
"ทุกอย่างถูกลิขิตไว้แล้ว"
ขุนศรีวิสารวาจามองด้วยสายตาอ่อนโยน โน้มตัวลงไหว้ "ขอรับคุณพ่อ"
"ขุนหลวงมีราชการสำคัญในวันนี้เรียกเข้าเฝ้าหลายผู้อยู่ คงสืบเนื่องจากพวกทูตฝรั่งเศส ยังมิเสด็จกลับละโว้นับแต่วันนั้น"
"คุณพ่อรู้ไหมขอรับว่าเรื่องใด"

ท้องพระโรง อยุธยา
คณะเข้าเฝ้า ได้แก่ ออกพระฤทธิกำแหง , ออกญาโหราธิบดี , มหาราชครู , พระเพทราชา ,ออกพระวิสุทธสุนทร , ขุนศรีวิสารวาจา , ขุนเรืองอภัยภักดี , หลวงสรศักดิ์ , ออกญาพระเสด็จ , ขุนพิชัยวาทิต , ขุนพิชิตไมตรี , บรรดาข้าราชการทั้งหลายทั้งปวง ชั้นเด็ก ชั้นผู้ใหญ่
พระนารายณ์ตรัส
"ทูตเดอโชมองต์กำหนดกลับบ้านเมืองมันอีกสองเดือนก็ตกเดือนอ้าย ข้าดำริจะส่งคณะราชทูตของเราออกไปอีกครั้งเป็นคำรบสาม"
ข้าราชการแต่ละคนมีสีหน้าต่างกันไป
"สองครั้งที่แล้วไม่สำเร็จ ครั้งแรกเรือแตกเสียกลางทางน่าสงสารออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีที่ต้องไปตาย...เป็นกรรมของมัน ครั้งที่สองที่เจ้าพิชัยวาทิต"
ขุนพิชัยวาทิตถวายบังคม "พุทธเจ้าค่ะ"
"เจ้าพิชิตไมตรี"
ขุนพิชิตไมตรีถวายบังคม "พุทธเจ้าค่ะ"
"เอ็งสองคนเก่งพอตัวที่ฝ่าฟันไปจนถึงเมืองฝรั่งเศส ข้าเสียดายที่มิได้ตั้งให้เอ็งเป็นราชทูต จึงมิใช่การเจริญสัมพันธไมตรีระดับกษัตริย์ แต่เอ็งสองคนได้กลับมาหาลูกหาเมียได้ถือว่าเป็นบุญ"
สองคนถวายบังคม
"เอ็งสองคนติดอยู่เมืองโน้นนานโข ได้นางแหม่มผู้ใดเป็นเมียฤๅไม่วะ"
ทุกคนหัวเราะกันเกรียว
สองคนก้มหน้าหมอบต่ำ
"ข้าปรึกษากับเจ้าฤทธิกำแหงที่จะส่งทูตไปพร้อมพวกมันครั้งนี้"
ออกพระฤทธิกำแหงถวายบังคม
"เจ้าแผ่นดินหลุยส์ที่ 14 แห่งเมืองฝรั่งเศสเป็นกษัตริย์ที่มีอานุภาพแผ่ไพศาล พระองค์ส่งคณะทูตชุดใหญ่มาคำนับเราถึงกรุงศรีถือว่าเป็นเกียรติยศและไมตรีอันดี อ้ายพวกตาน้ำข้าวที่มันมีท่าทีรุกรานพวกเรา โดยเฉพาะพวกวิลันดาจักเกรงใจไม่กล้าวางโตกับเราอีก"
พระฤทธิกำแหงบอก
"พวกวิลันดาทำกับอยุธยาอย่างคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ครั้งหนึ่งเมื่อยี่สิบปีก่อนถึงกับเอาเรือรบมาคอยจับเรือสินค้าของอยุธยาที่ส่งไปจีนแลญี่ปุ่น อีกทั้งยังประกาศสงครามกับเราผู้เป็นเจ้าของบ้าน"
พระวิสุทธสุนทรบอก
"พูดก็พูดเถิดนะว่าครั้งนั้นเราแย่งตลาดญี่ปุ่นจากเขานะท่านออกพระ เราส่งเรือไปค้าขายกับญี่ปุ่นถึงสิบสองลำ สินค้าเต็มเรือจนญี่ปุ่นไม่ต้องซื้อจากพวกวิลันดาก็ได้"
"อยุธยาเป็นเจ้าของกรุง เรามีสิทธิจะส่งเรือสินค้าไปได้ทุกแห่งที่มีทางไป...ที่รับซื้อสินค้าของอยุธยา" ฟอลคอนพูดเสียงแข็ง
"เขาคงไม่ว่าถ้าสินค้าที่เราขายญี่ปุ่นส่วนใหญ่มิใช่หนังสัตว์"
ขุนศรีวิสารวาจาว่า
"เพราะเขาได้สิทธิพิเศษสำหรับหนังสัตว์ว่าเขาขายได้เจ้าเดียวตั้งแต่รัชกาลขุนหลวงปราสาททอง"
"สัญญาเสียเปรียบมาตั้งเป็นสิบๆปี ฉีกสัญญาก็ไม่ผิดอันใด" พระฤทธิกำแหงบอก
"เขาจึงคิดว่าเอาเรือรบมาจอดแถวปากน้ำก็ไม่ผิดอันใดเหมือนกัน"
ขุนสรีวิสารวาจาต่อคำอย่างเร็วและค่อนข้างดัง
ขาดคำ ทุกอย่างเงียบกริบ
พระนารายณ์นั่งเอ้เตดูลูกน้องเถียงกัน
พระฤทธิกำแหงถาม
"ออกพระวิสุทธสุนทรคิดว่าพวกวิลันดาทำถูกต้องเช่นนั้นหรือ"
"ข้าไม่ได้พูดเรื่องถูกฤๅผิด ข้าพูดถึงเหตุผลที่พวกเขาทำสิ่งที่ออเจ้าพูดว่าเขาบังอาจส่งเรือรบมารุกรานอยุธยา"
"จะย้อนไปเอาเรื่องเก่านานเป็นสิบๆปีมาพูดทำไมให้เสียเวล่ำเวลา" พระเพทราชาพูดเสียงเข้ม
มองออกพระฤทธิกำแหงนัยน์ตากร้าว
ออกพระฤทธิกำแหงสู้ตา ยังไม่พูดอะไร
"เพราะในที่สุดอยุธยาก็ต้องยอมทำสัญญาเสียเปรียบพวกวิลันดาอยู่ดี"
"นั่นน่ะสิ พวกเอ็งจะทุ่มเถียงกันไปใยกันในเมื่อ ณ บัดนี้เราก็ยังต้องยอมมัน เพราะยังไงเราก็แต่งเรือไปขายเองไม่ได้เพราะไม่ชำนาญการเดินเรือ สัญญาฉบับสุดท้ายกับพวกวิลันดา อยุธยาเสียเปรียบแค่ไหนพวกเอ็งต่างก็รู้ดี"
"ออกพระฤทธิกำแหงเป็นผู้เริ่มต้น เรื่องเรือรบกับเรื่องประกาศสงครามกับเรานั้นเกิดเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ยังรื้อฟื้นขึ้นมาให้เป็นเรื่องถกเถียงกัน...เสียเวลาจริงๆ" พระเพทราชาเสียงรำคาญ
ออกพระฤทธิกำแหงไม่พูดอะไร เมินไปทางอื่นเพราะรู้อยู่ว่าพระนารายณ์จะเข้าข้างตัว
หลวงสรศักดิ์พูดลอยๆ"จะได้ไปทำกิจการงานอื่นที่เป็นประโยชน์"
"ชะ ไอ้เดื่อ อย่างเอ็งรึก็เร่ไปเปรียบมวยตามที่ต่างๆน่ะสิโว้ย" พระนารายณ์พูดเสียงหยอก "เป็นประโยชน์มากเหลือเกิน"
หลวงสรศักดิ์บอก
"ยังดีกว่านิ่งฟังเรื่องเก่าแก่ไม่มีประโยชน์พุทธเจ้าค่ะ" หลวงสรศักดิ์กล้าพูด เพราะรู้อยู่ว่าตัวเองนั้น พระนารายณ์เอ็นดู
"เออ...งั้นเข้าเรื่องว่าข้าจะแต่งคณะทูตไปเมืองฝรั่งเศส ออกพระฤทธิกำแหงเอ็งจัดการให้เรื่องนี้สำเร็จโดยเร็ว ทันการที่พวกฝรั่งจะออกเรือกลับไป พระโหรา"
"พุทธเจ้าค่ะ"
"ดูฤกษ์ดูยามว่าควรเดินทางกันเมื่อใด"
"ทางเขาน่าจะกำหนดเวลาของเขามิใช่หรือพุทธเจ้าค่ะ"
"เรากำหนดให้..." พระนารายณ์เสียงเด็ดขาด "ฤกษ์ต้องงามยามต้องดีเพราะมีพวกเราเดินทาง
ไปด้วย" ทรงกวาดตามองทุกคน "พระเสด็จ..."
"พุทธเจ้าค่ะ"
"ออเจ้าเป็นเสนาบดีกรมวัง คิดกำหนดกับออกพระฤทธิกำแหง จัดหาราชทูตสักสามคน ขุนนางมีบรรดาศักดิ์อีก 7-8 คนเป็นขบวนเกียรติยศ ควรมีใครอีก ไอ้ฤทธิกำแหง"
"พวกทำงานพุทธเจ้าค่ะ เป็นนายเวร ล่าม เสมียน อาลักษณ์ หมอยา พนักงานวิเสทคนครัว กับพวกบ่าวรับใช้"
ตอนออกพระฤทธิกำแหงพูด พวกที่ไม่ชอบก็เมินบ้าง จ้องบ้าง หน้าตาไม่พอใจทุกคน โดยเฉพาะพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ออกแนวหมั่นไส้มาก ออกพระวิสุทธสุนทรก็หน้าตาไม่ชอบ รวมทั้งขุนศรีวิสารวาจาด้วย
"ข้าจะคิดดูอีกทีว่าให้ใครเป็นตัวราชทูต"
"ข้าพุทธเจ้าเสนอออกพระวิสุทธสุนทรพุทธเจ้าค่ะ" ฟอลคอนว่า

ทุกคนตะลึงงันไปหมด

บนเรือนออกญาโหราธิบดี กลางวันต่อเนื่อง

เกศสุรางค์ว่า
"คุณป้าเจ้าขาจะสอนอะไรข้าเจ้าคะ วันนี้ข้าจะตั้งใจเรียนให้สุดๆไปเลยเจ้าค่ะ"
คุณหญิงจำปามองเหล่แบบน่าขำ
"คุณป้าสุดยอด" เกศสุรางค์ว่าพลางกดไลค์ให้
"เฮ้อ...ข้าแสนจะเบื่อหน่ายตัวเจ้า"
"แต่ข้าหาเบื่อคุณป้าไม่เจ้าค่ะ"
"นังปริก"
ปริกรี่มาสายฟ้าแลบ "เจ้าขา"
พวกบ่าวหัวเราะกันคิกคัก
"แอบฟังอยู่ล่ะสิ พาแม่หญิงไปหัดทำกับข้าวในครัวไฟ ลูกข้าชอบกินสิ่งใด สอนให้นางทำสิ่งนั้น"
ปริกบอก
"โอ๊ย แม่นายท่านเจ้าขา ออกขุนท่านชอบหมูโสร่ง แม่นายกรึกกรองดูสิเจ้าคะ ว่าข้าเจ้าจักสอนยังไรให้แม่หญิงทำลูกตะกร้อเจ้าคะ หน้าอย่างนี้หาเป็นไม่หรอกเจ้าค่ะ"
"ยังไม่ทันสอนรำพันเสียใหญ่โต ข้าเบื่อเอ็งยิ่งนัก เอ็งไปให้พ้นหน้าข้า ถ้าเอ็งไม่สอนข้าจะสอนนางเอง...จะเอาอย่างนั้นฤๅ"
ปริกไป จำปาลุกขึ้น
"เดี๋ยวเจ้าค่ะคุณป้า แน่ใจนะคะว่าโสร่งกินได้"
ปริกหวนกลับมา
"นั่นไงผิดคำข้าเจ้ามั้ยเจ้าคะแม่นาย ถ้าไม่ถามแปลกประหลาด ไม่ใช่แม่หญิงการะเกด"
เกศสุรางค์เสียงเข้ม
"แม่ปริก ทำไมข้าจะสงสัยไม่ได้"
ปริกเสียงแข็ง "ไม่ได้เจ้าค่ะ เขากินกันทั้งบ้านทั้งเมือง สงสัยใยกัน"
"กินโสร่งเนี่ยนะ"
"หมูโสร่ง ไม่ใช่โสร่ง"
"ปริกพอ นังจวงนังจิกไปยกเตาไฟมาตั้งที่นอกชานเรือน สอนกันต่อหน้าข้า" คุณหญิงบอก

นอกชานเรือน บ่าวนำมีดอรัญญิก และครกดินเผารูปทรงโบราณเข้ามาเสียงคุณหญิงจำปาบอก"สับหมูให้ละเอียด"
ปริกบ่น "สับเร็วกว่านี้หน่อยสิเจ้าคะ แค่สับหมูก็ไม่เป็นแล้วเจ้าค่ะแม่นาย"
เกศสุรางค์รัวมีดอรัญญิกสับหมูจนเรือนสะเทือน
บ่าวหัวเราะขำ
"พอใจเอ็งรึยังปริก" จำปาว่า

เกศสุรางค์ตั้งท่าตำ มือกุมสากมั่น
"รากผักชี...กระเทียม ใส่ไปสิออเจ้า"
"แค่ไหนคะ"
คุณหญิงจำปายังไม่ทันตอบ ปริกหยิบของทั้งหมดใส่ครก
"มีแค่ไหนก็แค่นั้นแหละเจ้าค่ะ"
"บอกให้แม่หญิงหยิบเองก็ได้"
"แม่นายให้ข้าเจ้าสอน"
จวงบอก "บอกให้หยิบเองก็เรียกว่าสอน"
"นังจวง"
จิกบอก "ข้าว่าเหมือนน้าจวง"
บุ้งว่า "ข้าก็ว่าเหมือนนังจิก"
จำปาว่า "นั่นน่ะสิ"
ปริกหน้าคว่ำ หันมาเห็นเกศสุรางค์ถือสากหน้าเหวออยู่
"โขลกสิเจ้าคะ งงทำไมเจ้าคะ"
เกศสุรางค์ตำ...ตำ...ตำ เสียงดังลั่นจนปริกต้องถอย เกศสุรางค์หน้าตายิ้ม ไม่โกรธขึ้งปริกแต่อย่างใด
คุณหญิงจำปาเอื้อมมาจับมือเกศสุรางค์
เกศสุรางค์หันมามองหน้าจำปา สบตากันอย่างอ่อนโยน
คุณหญิงจำปาโขลกให้ดู เป็นจังหวะ...เบาๆ พยักหน้าให้เกศสุรางค์ทำ
เกศสุรางค์โขลกเบาๆเหมือนจำปา
"พริกไทย หยิบใส่ไปโขลกด้วย ห้าหกเม็ดพอ"
เกศสุรางค์หยิบพริกไทย นับถ้วนถี่เสียงดัง 1…2…3…4…5…6 แล้วเงยหน้ายิ้มแป้น
"เกลือสักปลายนิ้วหยิบ"
"โขลกเกลือเหรอคะ" เกศสุรางค์เห็นแล้วเป็นเม็ด "เกลือทำไมเม็ดใหญ่อย่างนี้"
"อ้าว...ก็" ปริกทำท่าจะพูด
จำปาขัด "เกลือส่งมาจากเมืองสมุทรที่อยู่ปากน้ำ"
"อ๋อ...เจ้าค่ะ"

ทุกอย่างโขลกเสร็จ ตักขึ้นผสมกับหมูสับ ตอกไข่ใส่ แล้วใช้มือเคล้าจนเข้ากัน
ปั้นเป็นก้อนกลมเหมือนลูกชิ้น เกศสุรางค์บรรจงปั้น ตั้งใจ จนเต็มจาน
ปริกห่อหมูก้อนด้วยเส้นหมี่ ห่อเร็วๆเจตนาหวงวิชาไม่ให้รู้
เกศสุรางค์เพ่งมองแต่ทำไม่ได้ ดูไม่ทัน
คุณหญิงห่อให้ดู
"เส้นหมี่นี่เรียกว่า หมี่ซั่ว พวกคนจีนนำมาขาย ห่อพันไปมาเบาๆ ช้าๆ จนเหมือนลูกตะกร้อ
"ขอบพระคุณเจ้าค่ะ คุณป้าใจดีที่สุด งามที่สุดด้วยเจ้าค่ะ"
คุณหญิงจำปาทำหน้าเขินอย่างน่าขำมองไปอีกทาง
"เหมือนบางคน"
ปริกเงยหน้าขวับ
"สวยจริงสวยจังถึงแก่ก็ยังสวย"
ปริกเริ่มจะเผยอยิ้ม
"แต่ไม่เหมือนตรงจิตใจไม่ดี"

ปริกค้อนขวับ ทุกคนหัวเราะเบาๆ ก้มหน้าและแอบมองกัน

เกศสุรางค์ห่อหมูสับ ตั้งใจ ปริกสอนอยู่ สอนไปค้อนไป

ลูกตะกร้อวางในจาน หรือในใบตอง หลายลูก
ลูกตะกร้อทั้งหมดทอดอยู่ในกะทะทองเหลืองใบย่อมๆ ลอยฟ่อง สีเหลืองสวย
หมูโสร่งทั้งหมดวางในจาน
"ชื่อหมูโสร่งนี้มีเหตุอันใดออเจ้ารู้หรือไม่แม่การะเกด"
"ก็นี่ไงเจ้าคะ ใส่โสร่งให้หมูไงเจ้าคะ" เกศสุรางค์ตอบมั่นใจ
ผินกับแย้มตบมือพร้อมกัน ปริกค้อนขวับ
จำปาและบ่าวคนอื่นยิ้มแย้มชอบใจ

เลิกประชุมแล้ว พระนารายณ์จะกลับ พวกข้าราชการบางคนเดินค้อมๆตัวตามหลัง พวกที่ยังหมอบเฝ้าก็มี บางคนคุกเข่าแต่ตัวยืดสูงเพื่อทูลตอบคำ
พระนารายณ์เดินทักทายมาตามลำดับ พระฤทธิกำแหงเดินตามหลัง ไม่ถึงกับค้อมตัวเหมือนคนไทย แต่ก็ดูไม่ขัดตา
พระนารายณ์เดินมาจนถึงกลุ่มพระเพทราชา ออกญาโหราธิบดี ขุนศรีวิสารวาจา ออกพระวิสุทธสุนทร ขุนเรืองอภัยภักดี และคนในกลุ่มนี้หมอบเรียงราย
"ว่ายังไรอ้ายปาน"
"พุทธเจ้าค่ะ"
"นายก็องสตังซ์เขาเสนอเอ็งเป็นทูต จักรับเป็นฤๅไม่"
ออกพระวิสุทธสุนทรนิ่ง สีหน้าไม่แน่ใจ
"ฤๅต้องฟังพรรคพวกเอ็งเสียก่อน ไอ้พวกว่าอะไรว่าตามกัน เฮ้ย...หัดแยกเรื่องในเรือนกับเรื่องราชการออกจากกันบ้างสิวะอ้ายปาน ถ้ามัวแต่ฟังคนอื่นเอ็งก็ไม่ได้ไปหรอ" พระนารายณ์หันขวับมาทางพระเพทราชา "หรือว่ายังไรไอ้ทองคำ"
"เป็นเช่นนั้นแหละพุทธเจ้าค่ะ"
"เป็นเช่นไรวะ"
"คนเราเชื่อถือได้ยากพุทธเจ้าค่ะ"
"เพราะเช่นนั้นจึงสมควรดูให้ออกว่าผู้ใดเชื่อได้ผู้ใดเชื่อไม่ได้"
"บางคนไม่ต้องดูหรอกพุทธเจ้าค่ะ แค่เห็นกำพืดก็รู้แล้วว่าไม่สมควรเชื่อถือ"
พระนารายณ์สวนแรง
"งั้นคนที่เชื่อก็มีกำพืดเดียวกันสิวะ"
พระเพทราชาลงกราบ
ขุนนางทั้งหลายก็ตกใจกันทุกคน
ขุนนางที่อยู่ไกลๆก็ตกใจหันมามองกันเป็นตาเดียว
"พระเสด็จ เร่งหาคนไปกับคณะทูต ถามหาคนอาสา จัดสิ่งตอบแทนลูกเมียพ่อแม่มันตามสมควร พระโหรา เร่งดูฤกษ์งามยามดี" พระนารายณ์เสียงยังแข็ง
ออกญาโหราธิบดีบอก
"เห็นทีพวกฝรั่งจะกำหนดเอง เพราะฤกษ์งามหรือยามดีเห็นทีจะสู้ฤกษ์คลื่นฤกษ์ลมมิได้พุทธเจ้าค่ะ"
พระนารายณ์นิ่งคิดสักครู่
"คลื่นลมมีทุกวัน แต่ฤกษ์งามยามดีเห็นทีจะมีวันเดียวจริงฤๅไม่"
"เห็นจะจริงพุทธเจ้าค่ะ"
พระนารายณ์เสียงเป็นคำสั่ง
"ยึดฤกษ์ดีเป็นสำคัญ"
พูดจบเดินไปอย่างรวดเร็ว พระปีย์เดินออกมาพอดี
พระปีย์ รูปร่างเตี้ยมาก ประมาณไม่เกิน 145 ซม. หลังค่อม เดินเอียงๆหน่อยๆ
"เอ้า อ้ายเตี้ย เหตุใดจึงมาช้าป่านนี้"
"ข้าพุทธเจ้าไปเอาลูกประคบพุทธเจ้าค่ะ ลูกเก่าจืดชืดแล้วใช้ประคบไม่ได้เรื่องพุทธเจ้าค่ะ" พระปีย์เสียงนุ่มนวลไพเราะ
"เออ...ดี ข้ากำลังเมื่อยขบอยู่พอดี เอ็งมานวดข้าก็ดีแล้ว"
พระนารายณ์พูดพลางเดินพลางลับตัวไป
พระปีย์สบตากับออกพระฤทธิกำแหงเป็นนัยๆ แล้วตามพระนารายณ์ไป
ทุกคนผ่อนคลาย ลุกขึ้นบิดตัวบิดแขน
ออกพระฤทธิกำแหงจะเดินออก พระเพทราชา หลวงสรศักดิ์เข้าขวางเหมือนไม่เจตนา
ออกพระฤทธิกำแหงมอง หน้าเฉยเมย ไม่แสดงอาการกลัว
คนอื่นๆตกใจมองจับตาอยู่
พระเพทราชามองหัวจรดตีน
"มีแผนการณ์อะไรกับพระปีย์หรือออกพระท่าน" พระเพทราชาเสียงยกย่องแบบประชด
"ไม่มี"
"เชื่อได้แค่ไหนหือ อ้ายเดื่อ" พระเพทราชาหันมาทางหลวงสรศักดิ์ ผู้เป็นลูกชาย
"ไม่มีประตูเชื่อเลย พ่อท่าน"
"ข้าเห็นอย่างเจ้าว่า" พระเพทราชาหันมา เปลี่ยนเสียงเป็นเข้ม "คิดว่าไม่มีผู้ใดเห็นฤๅว่าส่ง
เป็นสัญญาณ" แล้วชี้หน้าออกพระฤทธิกำแหง
ออกพระฤทธิกำแหงเดินหนีไปแล้ว
"ตั้งแต่ได้อวยยศเป็นออกพระฤทธิกำแหง...ชะ มันกำแหงสมชื่อ" พระเพทราชาว่า
หลวงสรศักดิ์ยืนใกล้
"ทำให้มันกำแหงไม่ได้สักสามเดือนดีไหมท่านพ่อ"
พระเพทราชาหันมาทางหลวงสรศักดิ์ สายตาพึงพอใจแต่ไม่นอกหน้า
พระฤทธิกำแหงเดินมาที่ออกพระวิสุทธสุนทร
"โปรดฟังข้าท่านออกพระ ข้ามิเห็นผู้ใดเหมาะสมกับตำแหน่งราชทูตมากไปกว่าตัวท่าน"
ออกพระวิสุทธสุนทรไม่ตอบ...นิ่งอยู่
ออกพระฤทธิกำแหงเดินออกไป
พระเพทราชาพูดลอยๆ
"จำเป็นอันใดต้องยกขบวนไปสวามิภักดิ์กับพวกฟะรังคีถึงเมืองของมัน"
ออกพระวิสุทธสุนทรหันมามองพระเพทราชา และไม่ตอบ
พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์มองนัยน์ตาขุ่น ขยับตัวเดินกลับ ไหว้ออกญาโหราธิบดี ไหว้พระราชครู ไหว้พระเสด็จ
"ข้าลา..."
"กินข้าวกินปลาที่เรือนข้าก่อนเถิด" ออกญาโหราธิบดีว่า
"ข้าไม่หิว"
พระเพทราชาเดินไป หลวงสรศักดิ์ไหว้กราดๆไปทุกคน แล้วตามไป
ทุกคนอึ้ง
"ไม่ต้องไปกับข้าหรอกอ้ายเดื่อ ไปกินข้าวด้วยออกญาท่านเถอะ"
เพทราชาเอียงตัวกระซิบลูกชาย "ไปฟังพวกเขาเจรจากัน"
หลวงสรศักดิ์เดินหน้าตายิ้มแย้มเข้ามา

"หิวแล้วขอรับท่านลุง"

เย็นวันนั้น เรือนออกญาโหราธิบดี

หมูโสร่งในจานรองด้วยใบตองจับจีบสวยงาม
หนุ่มๆจ้องที่ชามหมู
"ไม่เชื่อหรือเจ้าคะว่าข้าทำเอง"
พระวิสุทธสุนทร "เชื่อ..."
ขุนเรืองอภัยภักดี หลวงสรศักดิ์ ตอบพร้อมกัน “เชื่อ”

คุณหญิงจำปา ปริกและบ่าวคนอื่นๆที่อยู่อีกทางหนึ่งหันมาดู
"แต่คุณพี่ไม่เชื่อ"
"ใดจึงคิดว่าข้าไม่เชื่อ"
"เอ้า...ก็คุณพี่นั่งเต๊ะอยู่...ไม่พูดซักคำ"
"ไม่พูดไม่หมายความว่าไม่เชื่อ"
"กลัวดอกพิกุลร่วงหรือเจ้าคะ"
"ดอกพิกุลอะไร"
"พิกุลทองไงคะ เอ๊ะคุณพี่ไม่รู้เรื่องพิกุลทองหรือคะ"
ในสมัยนั้นยังไม่มีเรื่องพิกุลทอง
"ข้ารู้จักดอกพิกุล แต่ไม่รู้จักพิกุลทอง"
"อ๋อ...น่ากลัวเขียนทีหลังเจ้าค่ะ"
ทุกคนสีหน้างงๆ
ขุนเรืองอภัยภักดีว่า
"เออหนอแม่หญิงการะเกดช่างมีเรื่องให้พิศวงอยู่ร่ำไป ไหนออเจ้าว่านางไม่ได้เรื่องได้ราวสักอย่างไงพ่อเดช"
"อ๋อ ได้เรื่องเหมือนกัน"
เกศสุรางค์ยิ้มรับ
"เรื่องที่มิเป็นเรื่อง"
เกศสุรางค์หุบยิ้มทันควัน
"อย่างเรื่องพิกุลทองนี่ไง"
ทุกคนหัวเราะบ้างยิ้มบ้าง เกศสุรางค์ทำท่าจะโต้ตอบ แต่นึกอะไรบางอย่างจึงเงียบไว้
ขุนศรีวิสารวาจาตักหมูโสร่งเข้าปาก หน้าตาเฉยนิ่ง
เกศสุรางค์คอยจ้องอยู่ว่าจะพูดอะไร
ขุนศรีวิสารวาจาสบตาเกศสุรางค์ แล้วทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้
"อร่อยก็บอกมาเถิ๊ด"
ออกพระวิสุทธสุนทร ขุนเรืองอภัยภักดี หลวงสรศักดิ์ ออกญาโหราธิบดีเคี้ยวหมูโสร่งแล้ว ต่างก็รับเป็นเสียงเดียวว่าอร่อย !
"ขอบคุณค่ะ" เกศศุรางค์ถามต่อทันที "วันนี้ขุนหลวงประชุมเรื่องอะไรหรือเจ้าคะ"
ปริกมองเขม้นมา
"ได้ยินมั้ยเจ้าคะแม่นาย ทะลุกลางปล้องขึ้นมาเลยเจ้าค่ะ"
คุณหญิงจำปากระซิบตอบ "ดีแล้ว...เพราะข้ากำลังอยากรู้เหมือนกัน"
ปริกจ๋อย บ่าวคนอื่นหัวเราะคิกคัก
เกศสุรางค์มองทุกคนเห็นไม่ยอมพูดอะไร แต่บ้างตักอาหาร บ้างก็พูดกันเองค่อยๆ
เกศสุรางค์ของขึ้นเล็กๆ "เรื่องส่งทูตไปฝรั่งเศสหรือไม่เจ้าคะ"
ทุกคนเหลียวขวับมาทันที สายตาพิศวงหนัก
หลวงสรศักดิ์ถาม "แม่การะเกดออเจ้ารู้ได้ยังไร ออเจ้ามีญาณงั้นฤๅ"
"โธ่ หลวงสรศักดิ์คะ ข้าไม่มีหรอกค่ะ ญง...ญาณ"
ขุนศรีวิสารวาจาเสียงเข้ม "เรื่องนี้เดาไม่ได้"
"ข้าก็ไม่ได้เดานี่คะ"
"มุสาพูดไม่เดาจะรู้ได้ยังไร"
"เพราะได้ยินค่ะ"
ทุกคนถามพร้อมกัน "ได้ยินอะไร"
"ได้ยินตอนเดินจากท่าน้ำเจ้าค่ะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ข้าแอบฟังอยู่ ได้ยิน..."
"แอบฟัง ! แอบฟังรึ"
"โธ่คุณพี่ ทำเสียงดัง ตกอกตกใจหมด"
ขุนศรีวิสารวาจาหน้าจ๋อยไปเล็กๆ

"ถึงไม่แอบก็ได้ยินเจ้าค่ะ มีคนพูดว่าคุณอาขุนปานจะปลงใจเป็นทูตไปเมืองฝรั่งเศสหรือไม่ขอรับ"

บ่าวยกสำรับเดินกลับโรงครัว

จ้อยถือของมาด้วย จิกถือขันน้ำล้างมือ ปริกกับจวงเดินคุยกัน
"ไอ้เป็นทูตนี่ไปทำอะไรมั่งหือนังจวง"
"พี่ปริกรู้สารพัด ไม่รู้ได้ยังไง"
"ข้าฟังแล้วนึกถึงคนเป็นขี้ทูตกุดถังทุกทีสิเล่า
"เออ...แล้วใช่หรือไม่"
"อีจวง อีบ้า ออกขุนปานจะเป็นเชียวหนา ทูตเทิดเนี่ยจะใช่ขี้ทูตกุดถังได้ยังไร"
"พ่อจ้อยแน่ะ ติดตามท่านขุนไปทุกที่ น่าจะรู้นะน้าจวง"
"เออจริง เอ็งรู้มั้ยพ่อจ้อย"
จ้อยบอก "ข้าก็ไม่รู้ว่ามองข้ามข้าไปได้ยังไร นี่ถ้าไม่ถามข้าหาบอกไม่หรอก"
ปริกเคาะกบาลไปทีหนึ่ง
"ป้าปริก...เจ็บนะ"
ปริกเคาะไปอีกที
จ้อยกระแอม "บอกแล้ว คืออย่างนี้"
ปริกเงื้อ
จ้อยพูดเร็วปรื๋อ "ไปเป็นตัวแทนของขุนหลวง เอาของกำนัลไปให้"
ทุกคนร้อง “ฮ้า”
"ของกำนัล !" จิกว่า
"ก็เป็นเมืองขึ้นมันงั้นฤๅ" จวงว่า
ปริกบอก "ตายแล้ว ทำไมขุนหลวงยินยอม"
จวงถาม "ฝรั่งที่เป็นเสนาบดีพระคลังใช่ฤๅไม่พ่อจ้อย"
"ใช่น้าจวง ฝรั่งคนนั้นนั่นแหละ แต่เขาเป็นผู้ช่วยออกญาพระเสด็จเสนาบดีคลัง"
จิกบอก "เขาเคยวิวาทกับแม่หญิงการะเกด ใครจำได้บ้าง"
"แต่เพื่อนนางแหม่มของแม่หญิงที่มาเรือนเราวันนั้นเป็นเมียมันใช่มั้ยพ่อจ้อย" ปริกถาม
"ไม่ใช่เช่นนั้น ไปเป็นทูต เอาไมตรีไปให้ว่าเป็นเพื่อนกัน ของกำนัลเป็นสินน้ำใจเอาไปฝากตามธรรมเนียม หาใช่บรรณาการไม่"
ทุกคนโล่งอก
"ก่อนลงเรือนข้าได้ยินคนถามออกขุนปานว่าจะยอมเป็นทูตไปครั้งนี้หรือไม่"

เกศสุรางค์นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวด ครุ่นคิดรื้อฟื้นความจำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
พระวิสุทธสุนทรบอก
"ออกพระฤทธิกำแหง น่าจะเข้าทางพระปีย์ไปเกือบเต็มตัวแล้ว ในไม่ช้านี้ อาจจะได้ยินว่าพระปีย์"
ทุกคนมองหน้าพระวิสุทธสุนทร
"เข้ารีต"
ทุกคนหน้าตกใจในอาการสงบ
"พระปีย์" เกศสุรางค์พูดลอยๆ ทุกคนหันมามอง สายตาขุนศรีวิสารวาจาว่าเอาอีกแล้ว "รู้ตัวมั้ยคะว่าตัวเองเป็นโอรสของขุนหลวง"
ทุกคนนิ่ง ลังเลที่จะตอบ
"เรื่องนี้มิใช่ความลับ แต่มิมีผู้ใดพูดให้กระจ่างแจ้ง คงเป็นเรื่องที่พูดกันแบบกระซิบๆ" ออกญาโหราธิบดีบอก
"ทำไมขุนหลวงไม่ยอมรับล่ะคะ เพราะรูปไม่งามเหรอคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาปราม "แม่การะเกด"
"ออเจ้าเคยเห็นฤๅ" ขุนเรืองอภัยภักดีถาม
"มิใช่หรอก นางมาอยู่เรือนนี้เกือบขวบปีนางไม่เคยอยากออกไปที่ใด เพิ่งจะมาชอบเที่ยวเตร่ก็..." ออกญาโหราธิบดีนิ่งไปนิด แล้วทำหน้าพูดก็พูดวะ "ก็...หลังจากข้ากับพ่อเดชสวดมนต์กฤษณะกาลีนี่แหละ"
เกศสุรางค์หัวเราะแหะ...แหะ พูดโต้ไม่ถูก
"เมื่อเป็นเช่นนี้ออเจ้ารู้ยังไรว่า พระปีย์รูปไม่งาม"
"อ๋อ...ได้ยินคนพูดแว่วๆค่ะ"
"ยิ่งรู้ว่าออเจ้าพูดปด คนในเรือนนี้ไม่มีใครเคยเห็น"
ขุนศรีวิสารวาจาถามเสียงนุ่มนวล
"พระปีย์ไม่เคยออกมาให้ใครเห็นหรอก ออเจ้าตอบมาว่ารู้ได้อย่างไร"
"ถามได้ก็ตอบได้เจ้าค่ะ ประวัติศาสตร์บอกเจ้าค่ะ"
ออกญาโหราธิบดีถามต่อทันที "บอกว่ายังไร" ออกญาโหราธิบดีได้ยินคำนี้จากปากเกศสุรางค์หลายหนแล้ว จึงไม่แปลกใจ
"บอกว่าพระปีย์ตัวเตี้ย หลังก็ค่อม เดินตัวเอียงๆ แต่พูดเพราะ กิริยาดี ขุนหลวงนารายณ์เลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม แล้วก็รักมากด้วย" แล้วพึมพำกับตัวเอง "ไหนๆก็ไหนๆแล้วพูดให้หมดเลยวะ"
ทุกคนฟังอย่างตกตะลึง
พระวิสุทธสุนทรแปลกใจถาม "แม่การะเกด เหตุใดออเจ้า"
"จึงรู้แจ้งดั่งนี้น่ะรึ พ่อปานอย่าเพิ่งคิดสงสัยพ่านไป เมื่อถึงเวลาเราก็จะรู้เอง" ออกญาโหราธิบดีบอก
ขุนเรืองอภัยภักดีถาม "ยังไรต่อไป"
"ยังไรเจ้าคะ"
ขุนศรีวิสารวาจาบอก "ประวัติศาสตร์ของเจ้าบอกว่ายังไรต่อไป"
"ขุนหลวงนารายณ์มีน้องชายสององค์ที่มีแม่เดียวกัน เจ้าฟ้าน้อยกับเจ้าฟ้าอภัยทศเจ้าค่ะ แต่เจ้าฟ้าน้อยไม่สบายป่วยหนักใช่ไหมเจ้าคะ ก็เหลือเจ้าฟ้าอภัยทศองค์เดียวที่...น่าจะ" เกศสุรางค์มองหลวงสรศักดิ์
หลวงสรศักดิ์มองไปทางอื่นเหมือนไม่สนใจ แต่ลึกๆในดวงตาเข้มขึ้น
"มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์"
พระวิสุทธสุนทรว่า
"ออกพระฤทธิกำแหงเขาก็เข้าทางเจ้าฟ้าอภัยทศด้วย ที่ข้ารู้มาว่าเขาพยายามให้เจ้าฟ้าอภัยทศเข้ารีตด้วย"
หลวงสรศักดิ์บอก
"มันไม่น่าไว้ใจเลยไอ้ฝรั่งไพร่คนนี้ ชะ จับปลาสองมือ เหยียบเรือสองแคม ทั้งน้องชายทั้งลูกชายของขุนหลวง เฮ้ย...กูจะบอกให้ ลูกชายขุนหลวงไม่ได้มีคนเดียวเว้ย"
ทุกคนเงียบกริบ เสียงหลวงสรศักดิ์เหมือนลอยวนเวียนอยู่ในอากาศ ฟังแล้วทุกคนรู้ดี
หลวงสรศักดิ์เปลี่ยนท่าทีเปลี่ยนเสียง

"สมควรแก่เวลาที่จะกลับกันได้แล้วนะขอรับ"

พวกผู้ชายจะกลับกันแล้ว ต่างไหว้ลาออกญาโหราธิบดี คุณหญิงจำปา แล้วเดินไปที่ชานเรือน

หลวงสรศักดิ์หันมาลาออกพระวิสุทธสุนทร
"คุณอาขุนปานขอรับจะยินยอม"
"ข้ามีโอกาสขัดพระบรมราชโองการฤๅพ่อเดื่อเอ๊ย"
"แต่ยังไม่มีรับสั่งนี่ขอรับ เพียงแต่ถามคุณอาท่านเท่านั้น"

หลวงสรศักดิ์กลับเรือนมารายงานให้พ่อฟัง
"ถึงขุนหลวงไม่มีพระบัณฑูรสั่ง แลถึงเขาไม่ตอบรับคำไอ้ก็องสตั๊งซ์เรื่องเป็นทูตฤๅไม่ แต่อาขุนปานของเอ็งเขานกรู้"
"นกรู้ว่า ?"
"ว่าไอ้ฝรั่งสัญชาติไพร่มันต้องเพ็ดทูลจนมีรับสั่งลงมาอย่างแน่นอน ถึงยังไรออกพระวิสุทธก็ต้องเป็นทูตไปเฝ้ากษัตริย์เมืองฝรั่งเศส เลี่ยงมิได้หรอก พ่อเดื่อ"
พระเพทราชาหน้าตาขัดเคืองใจ
หลวงสรศักดิ์บอก
"เกลียดมันเสียจริง เหตุใดข้าราชการทั้งกรุงศรีจึงยอมให้มันกุมอำนาจข้ามหน้าข้ามตา ในเมืองของมันมันเป็นไอ้ไพร่สถุล แล้วที่กรุงศรีนี่มันเป็นออกพระ มีอำนาจล้นเหลือ เข้านอกออกในพระเจ้าแผ่นดินสบายใจ อยากให้เป็นยังไรก็เพ็ดทูลเข้าไป"
"การสิ่งใดที่จะเกิดขึ้นหาใช่อยู่ที่คนพูดเท่านั้น หากแต่อยู่ที่คนฟังด้วย"
"เหตุใดจึงทรงพระกรรณเบาเชื่อฟังไอ้ฝรั่งไพร่ขนาดนี้" หลวงสรศักดิ์สีหน้าเครียดจัดมาก กัดฟันแน่น ทุบที่นั่งข้างตัวแรงๆ
"พ่อเดื่อ...เป็นอะไรลูก"
"ท่านพ่อ...ข้า" หลวงสรศักดิ์ตบอกดัง "ข้าผู้เป็นลูกชายท่านพ่อคนนี้ แท้ที่จริงเป็นลูกของ
ขุนหลวง เกิดจากสนมลับใช่หรือไม่ท่านพ่อ"
พระเพทราชามองตาหลวงสรศักดิ์แบบลึกล้ำจนหยั่งไม่ถึง
"ถ้าเป็นจริง ทรงมี..."
"พ่อเดื่อลูกพ่อ กาลเวลาผ่านมาเนิ่นนานจนเจ้าเติบใหญ่ เจ้าก็เป็นลูกข้ามาถึงบัดนี้ ถ้าต่อไปภายหน้าเจ้าจะพึงได้สิ่งใดโดยสิทธิ์ของเจ้า เจ้าก็จะได้เพราะเป็นลูกของออกพระเพทราชา หาใช่ราชโอรสของพระนารายณ์เป็นเจ้าไม่"
ประโยคนี้มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก
หลวงสรศักดิ์มองจ้องตาพ่อโดยนัยยะที่เข้าใจกันแล้วพ่อกับลูก
เพทราชาเปลี่ยนเสียงเป็นปกติ "ที่ข้าสงสัยก็คือในเมื่อมันยกย่องกษัตริย์ฝรั่งเศสปานฉะนี้ ทำไมตัวมันไม่ไปเสียเอง"

เกศสุรางค์เขียนบันทึกอย่างรวดเร็วลงสมุดบันทึก
"ทุกอย่างเป็นไปตามประวัติศาสตร์ ออกพระวิสุทธสุนทรเป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาณไมตรีอุปทูต ออกขุนศรีวิสารวาจา" เกศสุรางค์หยุดเขียน ตามองไปข้างหน้า สายตาซาบซึ้ง
อีกมุมหนึ่งการะเกดยืนมองออกไปนอกหน้าต่าง สีหน้าสงบนิ่งและสวยงาม หน้าตาบริสุทธิ์แจ่มใส ยิ้มน้อยๆ
"เป็น...ตรีทูต"

ออกพระวิสุทธสุนทร , หลวงกัลยาณไมตรี , ขุนศรีวิสารวาจา และข้าราชการหนุ่มอีกหลายคนนั่งเรียนภาษาฝรั่งเศสกับ มิชชันนารีปิแอร์ ลองกรัวส์ เป็นคนสอนที่โบสถ์เซนต์เปาโล
"ต่อไปเราต้องเล่าเรียนเขียนอ่านภาษาฝรั่งเศสเป็นการใหญ่ มิชชันนารีปิแอร์ลองกรัวส์ที่โบสถ์เซนต์เปาโลรับอาสาจะสอนให้ แม่หญิงการะเกดออเจ้าจะอาสาเป็นล่ามให้ได้หรือไม่"
"สบายมากเจ้าค่ะท่านออกพระ"
ปิแอร์สอน นักเรียนฟัง จดใส่สมุด
ปิแอร์พูด เกศสุรางค์แปล

ที่ลานบ้านในวันหนึ่ง คุณหญิงจำปาเดินตรวจงาน เตรียมเสบียง ปริกตรวจอยู่ด้วย สั่งการ
ข้าวตากแห้ง จำปาสั่งจวงให้คุม
ปลาตากแห้ง เนื้อตากแห้ง จำปาสั่งปริกให้คุม
พริกตากแห้ง จำปาสั่งจิกให้คุม
น้ำปลา กะปิ บรรจุลงไห ปิดปากไหด้วยเทียนขี้ผึ้ง จำปาสั่งบุ้งให้คุม
ออกญาโหราธิบดีบอก
"เห็นว่าอยู่ในเรือนานโข เสบียงกรังให้ทุกคนเตรียมไปให้พร้อม"

เกศสุรางค์ยืนมองต้นนุ่นที่อยู่ไกลๆ ครุ่นคิด ตรึกตรอง
ผินถาม"มองอะไรเจ้าคะแม่นาย"
เกศสุรางค์ชี้มือไป "มองโน่น"
ผินและแย้มชะเง้อมองด้วย
"อะไรหรือเจ้าคะ" แย้มถาม
"ต้นอะไร มีลูก...ไอ้ที่ห้อยๆน่ะ ลูกนุ่นใช่ฤๅไม่"
แย้มบอก "นุ่นสิเจ้าคะ ลูกห้อยเต็มต้น"
"แม่นายจะทำยังไรหรือเจ้าคะ"

ต่อมา บ่าวชายแบกหลัวใส่นุ่นที่มีเม็ดนุ่นเต็ม เดินข้ามลานบ้านไปขึ้นบันได ลูกทาสวัยต่างๆกันแบกใส่ตะกร้าบ้าง ใส่ผ้าขาวม้าถือคนละชาย
ทุกคนวางแค่ชานเรือน
ปริกบอก "ขนมาวางข้างบนนี้"
บ่าวชายลังเลที่จะขึ้นเรือน "ขึ้นได้หรือแม่ปริก"
"มาเหอะ...ข้าสั่ง"
พูดขาดคำหันไปเห็นคุณหญิงจำปายืนหน้าขรึมมองอยู่

ปริกตัวอ่อนลงไปทันที

บ่าวหญิงแกะนุ่นออกจากฝัก เอาปุยนุ่นใส่หลัวอีกใบจนเต็ม

เกศสุรางค์ตัดผ้าเป็นหมอน หมอนข้าง ผ้าสีขาวขุ่นๆ
ปริกมองเหล่
"ไม่เคยเห็นหมอนอาไร้ใหญ่โต จะเอาหัวที่ไหนหนุน"
เกศสุรางค์อ้าปากค้างกับถ้อยคำน่าขำนั้น
"ไม่เคยพบไม่เคยเห็น"
เกศสุรางค์แย้ง"เคย"
"ไหน"
"นี่ไง"
ปริกค้อนขวับ

ปริกคุมคนเอานุ่นยัดใส่หมอน แย้มเย็บไป
เกศสุรางค์คุมคนยัดหมอนข้าง ผินเย็บไป
คุณหญิงจำปานั่งมอง มือทำงานบางอย่างไปด้วย

จ้อยเทียบเรือที่ท่าน้ำ แหวนยืนอยู่แถวนั้นช่วยดึงเรือให้
ขุนศรีวิสารวาจาไม่เห็นเกศสุรางค์อย่างที่เคย "แม่หญิงล่ะอ้ายแหวน"
"เย็บหมอนขอรับ"
"เย็บหมอน ?"
แหวนหันไปช่วยจ้อย จ้อยหยิบของหลายอย่าง
ขุนศรีวิสารวาจาเดินไปถาม "เย็บหมอนรึ"
"แม่หญิงเอาน้ำชามารับทุกวัน วันนี้ไม่เห็น ก็เลย..." จ้อยบอกแหวน
"ออกขุนท่านหิวน้ำฤๅ"
"อ้ายหน้าเซ่อ"
แหวนหน้ายิ่งเซ่อหนัก
"ยัง...ยังเซ่ออีก"
แหวนเซ่อถึงระดับสูงสุด
"ไม่ได้หิวน้ำเว้ย" จ้อยหงุดหงิด

เมื่อขุนศรีวิสารวาจาขึ้นเรือนมา
"ข้าคอแห้ง"
เกศสุรางค์ทำตาปริบๆ มองงงๆ
"คอแห้ง"
"คอแห้งก็ไปกินน้ำสิเจ้าคะ พี่ผินเย็บสอยตรงนี้ด้วยนะ...พี่ผินฝีมือสุดยอด"
เกศศุรางค์กดไลค์ให้
ผินกดไลค์ตอบ
"ก็...คอแห้ง"
"กินน้ำเจ้าค่ะ หรือจะกินนุ่น" เกศสุรางค์หลิ่วตาใส่
ขุนศรีวิสารวาจาทำหน้างงแบบ...
"ข้าจักไปแล้วหนา"
"เจ้าค่ะ" เกศสุรางค์หันไปบอกจวง "พี่จวงยัดดีๆนะจ๊ะ"
จวงหน้าเหวอ
"พี่จวง ! เรียกพี่จวงหรือเจ้าคะ"
"พี่จวงจ้ะ" เกศสุรางค์เสียงอ่อนโยนมาก
จวงยิ้มหวาน ตื้นตันใจ
"ให้แน่นๆนะพี่จวง จิกด้วย"
"เจ้าค่ะ"
"มันใหญ่นะเจ้าคะแม่หญิง" ปริกว่า
"หมอนเหรอ...ไม่ใหญ่ พอดีแล้ว"
ปริกค้อนขวับ "ฮึ !"
ขุนศรีวิสารวาจายืนเก้อๆอยู่ไปมา แล้วเลยก้มหน้าก้มตาเดินไป ท่าทางน่าสงสารมาก
เกศสุรางค์มองตาม สีหน้ายิ้มกริ่ม ชอบใจที่ได้แกล้งอีตาคุณพี่ !

จ้อยเคาะประตู ขุนศรีวิสารวาจาเปิดอย่างเร็ว หน้าแจ่ม พอเห็นจ้อยหน้าก็จ๋อยลง
"แม่หญิงการะเกดให้นำน้ำชามาให้ขอรับ"
"ไม่กิน" ขุนศณีวิสารวาจางอน ปิดประตูเปรี้ยง
จ้อยหันมายิ้มกับเกศสุรางค์ แล้วถอยออกไป
เกศสุรางค์เคาะประตู เงียบ เคาะอีก ประตูเปิดผาง
"ไอ้จ้อย...อยากโดนตะบันหน้ารึ"
เกศสุรางค์ยืนตรงหน้า
"ไม่อยากเจ้าค่ะ"
ขุนศรีวิสารวาจายืนนิ่ง
"น้ำชาเจ้าค่ะ ได้ยินว่าคอแห้ง"
ขุนศรีวิสารวาจารับ หน้าเฉยนิ่ง ถอยและปิดประตูทันที

เกศสุรางค์ยิ้มสมใจในหน้า รู้ใจตัวเองแล้วคุณพี่เอ๊ย ! ...

อ่านต่อตอนที่ 21

#บุพเพสันนิวาส #ออเจ้า #Ch3Thailand #lakornonlinefan #ลมหายใจคือละคร

เกร็ดน่ารู้จากละคร




เหตุการณ์สำคัญในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ (จากภาคผนวก : จดหมายเหตุ อยุธยาล่มสลาย : ออกพระเพทราชา หรือ ฟอลคอน ใครวางแผนชองบัลลังก์สมเด็จพระนารายณ์ - กีรติ เกียรติยากร บรรณาธิการ หน้า ๕๘๗)

๑. ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์ได้ราชสมบัติ
๒. ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๒๐๗ ฮอลันดาปิดล้อมอ่าวไทย ไทยยอมทำหนังสือให้อภิสิทธิ์ทางการค้าขาย
๓. ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๒๑๖ สังฆราชปาลูเข้าเฝ้านำพระราชสาส์น พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ถวาย สมเด็จพระนารายณ์
๔. ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๑๗ คอนสตันติน ฟอลคอน ปรากฏตัวในราชสำนักครั้งแรก
๕. ปลายปี พ.ศ. ๒๒๒๓ บริษัทค้าขายฝรั่งเศสเข้ามาตั้งบริษัทค้าขายเป็นปีแรก สมเด็จพระนารายณ์ จึงโปรดให้ออกพระพัฒนราชไมตรี เป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์น และเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
๖. ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๒๕ สังฆราชปาลู นำพระราชสาส์นฉบับที่ ๒ ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสเข้าเฝ้าถวาย
๗. พ.ศ. ๒๒๒๗ ออกญาโกษาเหล็กถึงแก่อสัญกรรม ฟอลคอน ได้เลื่อนขึ้นเป็นออกฤทธิกำแหงฯ ผู้ช่วยออกญาพระเสด็จโกษาธิบดีคนใหม่
๘. ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๒๒๗ ออกญาพระเสด็จ และฟอลคอน แต่งข้าราชการผู้น้อย ๒ นายไปสืบข่าวคณะทูตชุดที่ ๑ ยังประเทศฝรั่งเศส
๙. ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ ข้าราชการไทยกลับจากประเทศฝรั่งเศส นำราชทูตเดอโชมองต์, บาทหลวงเดอชัวชี, เรือโทเฟอร์แบง, บาทหลวงตาชาร์ด ฯลฯ เข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา
๑๐. ราชทูตเดอโชมองต์ ยอมถวายเรือโทฟอร์แบง ไว้หัดทหารไทย พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ ออกพระศักดิ์สงคราม และยอมถวายนายช่าง วิศวกรชื่อ เดอลามาร ให้อยู่สร้างป้อมตามแบบฝรั่งเศส
๑๑. ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ คณะทูตฝรั่งเศสลากลับ สมเด็จพระนารายณ์ให้ออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) นำคณะออกไปเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เป็นการตอบแทน
๑๒. ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๙ เกิดขบถแขกมักกะสันที่กรุงศรีอยุธยา ฟอลคอนเป็นหัวหน้านำทหารปราบปรามประสพความสำเร็จ
๑๓. พ.ศ. ๒๒๓๐ ทหารอังกฤษเกิดรบพุ่งกับทหารไทย ที่เมืองมะริด ทหารอังกฤษที่รอดชีวิตหนีตายไปได้ นอกนั้นถูกทหารไทยจับเป็นเชลยร่วม ๓๐๐ คน
๑๔ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ สมเด็จพระนายรายณ์ทรงประกาศสงครามกับบริษัทค้าขายอังกฤษ
๑๕. ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ ออกพระวิสูทธสุนทร และคณะกลับจากประเทศฝรั่งเศส นำราชทูตเดอลาลูแบร์และคณะพร้อมด้วยกองทหารฝรั่งเศสมาถึงสันดอน
๑๖. ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๒๓๐ คณะทูตฝรั่งเศสลากลับออกไป ฟอลคอนจัดให้บาทหลวงตาชาร์ด อัญเชิญพระราชสาส์น ออกไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ด้วย
๑๗. มีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรออกว่าราชการไม่ได้ ออกพระเพทราชาออกว่าราชการแทน หม่อมปีย์ซ่องสุมกำลังจะต่อต้านออกพระเพทราชา เพราะรู้ว่าพระเพทราชาเตรียมการปฏิวัติยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ฟอลคอนมีคำสั่งให้นายพลเดฟาร์ชให้รีบนำทหารขึ้นมายังเมืองลพบุรี
๑๘. ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๒๓๑ นายพลเดฟาร์ช คุมทหารขึ้นมาจากเมืองบางกอก ถึงกรุงศรีอยุธยา ท่านสังฆราชปาลู และบาทหลวงผู้ใหญ่ แนะนำให้กลับไปยังป้อมบางกอกตามเดิม อย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในประเทศ
๑๙. ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ออกพระเพทราชาล้อมพระราชวัง จับฟอลคอนกับหม่อมปีย์ เจ้าฟ้าอภัยทศ สำเร็จโทษ โดยเฉพาะฟอลคอนถูกจับทรมานอยู่หลายวันจึงได้สำเร็จโทษ
๒๐. ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๑ ออกพระเพทราชาใช้ให้ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ลงไปเจรจาความเมืองกับนายพลเดฟาร์ช การเจรจาล้มเหลว ทหารไทยล้อมกองทหารฝรั่งเศสไว้ในป้อมทิศตะวันออก การรบพุ่งระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเป็นไปอย่างดุเดือด
๒๑. ๑๑ กรกฎาคม พศ. ๒๒๓๑ นายพลเดอฟาร์ช เจรจาปรองดองสงบศึกกับพระเพทราชา ออกพระเพทราชาได้ราชสมบัติ
๒๒. ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ นายพลเดอฟาร์ช เซ็นสัญญาสงบศึกคุมทหารฝรั่งเศสที่ยังเหลือมีชีวิต ออกไปนอกพระราชอาณาเขต
๒๓. ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๒๓๑ สมเด็จพระเพทราชาทรงต่ออายุสัญญา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงทำไว้กับบริษัทการค้าฮอลันดา


กำลังโหลดความคิดเห็น