บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 7
บทประพันธ์ : รอมแพง บทโทรทัศน์ : ศัลยา
ภายในบริเวณที่ลงอาคม อยู่ในเขตวัดพุทไธสวรรค์ ตอนเย็น ต่อเนื่องมา มีลักษณะเป็นเหมือนป่า มีต้นไม้ใหญ่ๆขึ้นมากมาย ยอดโบสถ์วัดพุทไธสวรรค์อยู่พ้นแนวไม้รำไรๆ
ทางด้านขวามือ เกศสุรางค์ถลาเข้ามายืนงง หันไปดูไม่มีใครตามมา แม้แต่จ้อย
"จ้อย พี่ผิน พี่แย้ม ทำไมไม่ตามมา อยู่ที่ไหน"
เสียงจ้อยดัง "เข้าไม่ได้ขอรับ ตรงนี้มีอาคมอยู่"
เกศสุรางค์เข้าใจ "อาคม...แล้วมันเรื่องอะไร ชั้นถึงเข้ามาได้คนเดียว"
เสียงฟันดาบ เสียงเตะ เสียงต่อยแว่วๆมาตามลม
"เสียงอะไร" เกศสุรางค์ออกเดินไปอย่างเร็ว
เกศสุรางค์แหวกพุ่มไม้ โผล่มาดู เห็นชายฉกรรจ์ล่ำสัน กล้ามสวย ซ้อมฟันดาบ ต่อยมวยเต็มพื้นที่ดูละลานตา
"โอแม่เจ้า...ประกวดชายงามได้เลยนะเนี่ย หล่อล่ำสุดยอด" เกศสุรางค์มองกวาดไป ว้าว ... "ซิกแพ็ค...เซเว่นแพ็ค...เอทแพ็ค"
"เฮ้ย...นั่นใครน่ะ" เสียงดังเข้ามา
เกศสุรางค์หันขวับไป ตาโต ตกใจ
"ไอ้เรือง"
หมื่นเรืองยืนหล่ออยู่ตรงนั้น มองมาหน้าแปลกใจ แต่พอเห็นสวยก็ยิ้มกรุ้มกริ่ม
หมื่นเรืองเดินเข้ามาใกล้
"ออเจ้ารู้จักข้าด้วยฤา"
"เฮ้ย ใช่จริงด้วยเหรอ แกตายเหมือนกันรึ" เกศสุรางค์ คิดว่า ชายตรงหน้าคือเรืองฤทธิ์จึงเดินพรวดเข้าหา
หมื่นเรืองชะงัก แล้วถอยหลังกรูด
"แม่หญิง"
เกศสุรางค์ชะงักกึก "ไม่ใช่เรืองฤทธิ์นี่"
"ข้าชื่อเรือง ยศหมื่นเรืองราชภักดี"
เกศสุรางค์ถึงกับครางเบาๆ "ไม่ใช่"
หมื่นเรืองเสียงเข้มขึ้น"แม่หญิง เข้ามาในเขตนี้ได้อย่างไร"
"ข้าเดินมากับจ้อย พี่ผิน พี่แย้ม แต่เขาหายกันไปหมดแล้ว ที่นี่ที่ไหนค่ายมวยเหรอ แล้วหมื่นสุนทร... " เกศสุรางค์อ้าปากค้าง
หมื่นสุนทรเทวายืนหน้าดุอยู่ตรงนั้น
"คุณพี่"
"ออเจ้ามาได้อย่างไร แม่การะเกด"
"ก็...เอ่อ..."
"แม่การะเกด แม่หญิงคู่หมายของออเจ้าใช่ฤๅ พ่อเดช"
"ใช่"
"จะให้ข้าเชื่อรึ ออเจ้าบอกว่านางไม่งาม แถมยังน่าเกลียดปากร้าย ถ้านางไม่งาม ก็ไม่มีหญิงใดในพระนครจะงามแล้ว"
หมื่นสุนทรเทวาไม่สนใจ
"กลับเรือน อ้ายจ้อยอยู่ไหนเนี่ย อ้ายจ้อย... อ้ายจ้อย มึงไม่ต้องแอบ ออกมาซะดีๆ"
จ้อยซึ่งอยู่ด้านนอก สะดุ้ง ! ตั้งแต่ได้ยินเสียงเรียกตอนแรก ซวยแล้วกู !
พอหมื่นสุนทรเทวาพูดจบ จ้อยก็วิ่งพุ่งเข้าไป ผิน แย้มตามติด
สามคนกระเด็นกระดอนออกมา
"กลับไปไม่ถูกหวายลงหลังแค่ทีสองที มันต้องโบยเป็นครึ่งร้อย"
จ้อยตัวเล็กลีบแทบจะแทรกแผ่นดินลงไปตรงนั้น
"พี่ผิน พี่แย้ม ช่วยด้วยนะ ข้าตายแน่ๆ เพราะพี่สองคนเชียวพาแม่หญิงมาทำไม...ฮะพี่"
ผินบอก "เออ...เดี๋ยวข้าพูดให้เจ้าว่าข้าสองคนผิดเอง"
"เอ็งไม่ผิดหรอกไม่ต้องกลัว"
"อีผินอีแย้มมาด้วยล่ะสิ รอรับหวายลงหลังเถอะ"
ผิน แย้มตัวสั่นงันงก
"ไอ้จ้อย ตัวใครตัวมันเหอะเอ็ง" ผินบอก
ใกล้ๆบริเวณที่ซ้อมดาบเกศสุรางค์บอก
"จ้อยเขาไม่ผิด ข้าแอบตามเขามา เขาไม่รู้เรื่องด้วย"
"ทุกคนมีความผิด หวายต้องลงหลัง"
"เอ๊ะ ชักยัวะแล้วนะเว้ย" เกศสุรางค์พึมพำในคอ "ตัดสินไม่เป็นธรรม เขาไม่รู้เรื่องเขาก็ควร
พ้นผิด มาสิ ข้าผิด จะโบยข้าก็ย่อมได้ ไม่ผิดกติกาอันใด เป็นเจ้านายตัดสินโทษลูกน้องผิดๆถูกๆ มันเสียเหลี่ยมจะบอกให้" เกศสุรางค์พูดเร็วปรื๋อ
"นอกจากฟังไม่ทัน ไอ้ที่ข้าพอฟังทันก็ไม่รู้เรื่อง นางพูดภาษาของผู้ใด" หมื่นเรืองว่า
"ภาษานางนั่นแหละ ถึงได้บอกว่านางน่าเกลียดไง"
"ไม่เห็นจะเกี่ยวกัน"
หมื่นสุนทรเทวาหันมานัยน์ตาดุจัดจ้องหน้าเกศสุรางค์
"หมายความว่า มันคนละเรื่องนะคะคุณพี่"
"กลับเรือนเดี๋ยวนี้"
เกศสุรางค์เหลียวไปดูชายงามทั้งหลาย
"คุณพี่จะกลับหรือยังคะ ข้าขอกลับพร้อมคุณพี่นะเจ้าคะ"
หมื่นสุนทรเทวาสวนทันที "ไม่ได้"
"เพราะอะไร"
"ยืนเถียงฉอดๆประหนึ่งแม่หญิงตลาด"
เกศสุรางค์ตอบทันที
"ถามเจ้าค่ะ ถาม...ไม่ได้เถียง"
หมื่นเรืองบอก "ข้าเป็นพยานว่าแม่หญิงผู้นี้ถามออเจ้า นางมิได้เถียงนะ"
"เห็นมั้ย"
"ปากน่ะ...หุบเสีย"
หมื่นเรืองบอก "แม่หญิง...อย่าเพิ่งแหย่รังแตน"
"แหย่รังแตน" เกศสุรางค์ชำเลืองดูหน้า "อ๋อ เจ้าค่ะ แตนตัวเบ้อเร่อ"
หมื่นเรืองหัวเราะชอบใจ หันมาบอกหมื่นสุนทรเทวา "ข้าชอบนางยิ่งนัก"
"เห็นมั้ยคะคุณพี่ มีแต่คุณพี่นั่นแหละ..."
แย้มตะโกนดังๆเข้าไป
"แม่นายอย่าเถียงท่านหมื่นเจ้าค่ะ"
"เดี๋ยวโดนโบยนะเจ้าคะ" ผินว่า
เกศสุรางค์ตะโกนตอบ
"ไม่ยอมหรอก ลองมาโบยสิ ไม่ได้ทำอะไรผิด"
หมื่นสุนทรเทวาก้าวเท้าเร็วๆแรงๆถึงตัว
หมื่นเรืองเข้าฉวยแขน "พ่อเดช ใจเย็นๆเถิดหนา พ่อเดช"
เกศสุรางค์ยืดตัวยืนเผชิญหน้า จ้องตา
"มานี่เดี๋ยวนี้"
"จะทำไมคะ"
"นั่นสิ...จะทำไมนางรึ"
"หมื่นเรือง...หาใช่กงการของเจ้า"
"ก็อยากรู้"
"ออเจ้ามาตรงนี้ แอบหลังผู้อื่นเรื่องใด"
หมื่นเรืองพูดกับหมื่นสุนทรเทวา
"นี่มิใช่ผู้อื่นเป็นสหายของออเจ้า...แม่หญิง ข้าปกป้องเจ้าเอง"
"ขอบคุณมากค่ะ"
หมื่นสุนทรเทวาตวาด "แม่การะเกด"
"มีอะไรกัน" เสียงหนึ่งดังเข้ามา พร้อมๆกับชายแก่ร่างสูงใหญ่ ดูแข็งแรง แต่ผมและเคราเป็นสีขาวก้าวเข้ามา
ทุกคนหันไป หมื่นสุนทรเทวากับหมื่นเรืองราชภักดีทรุดตัวลงนั่งทันที
เกศสุรางค์ยืน มองตรงที่ท่านอาจารย์ สบตากัน
ดวงตาใสราวลูกแก้วของท่านอาจารย์แวววาว ลึก และมืดดำ
มือของหมื่นสุนทรเทวาจับมือเกศสุรางค์ให้นั่งลง
เกศสุรางค์หันมองหน้าหมื่นสุนทรเทวา แล้วมองมือที่โดนจับ แล้วนั่งคุกเข่า สีหน้าเหมือนถูกสะกด
"ผ่านม่านอาคมมาได้ มิธรรมดาเลยหนาออเจ้า ตามข้ามานี่เถิด"
อาจารย์หันหลังกลับ เกศสุรางค์ยังนั่งตะลึงงัน
หมื่นเรืองเดินไปแล้วหันมา เห็นหมื่นสุนทรเทวาก้มลงจับมือเกศสุรางค์ให้ลุกขึ้น จูงเดินมา 2-3 ก้าว มองตากัน
ท่าทีของหมื่นสุนทรเทวาอ่อนโยน สุภาพ แล้วจึงปล่อยมือ แต่บอกด้วยสายตาว่าไม่ต้องกลัวอะไร
อาจารย์เดินนำ สุภาพเนิบนาบเหมือนลอยไป สามคนเดินตาม เห็นหมื่นสุนทรเทวามอง
เกศสุรางค์ให้กำลังใจ
ป่าที่ต้นไม้สูงใหญ่ ทุกอย่างเงียบสงบ ไม่มีเสียงนกกา ราวไร้กาลเวลา ทั้งหมดเดินเข้ามาช้าๆ เหมือนลอยมา ผ่านต้นไม้ใหญ่ๆไป ด้านหลังเห็นพวกซ้อมดาบ ซ้อมกระบี่ และซ้อมหมัด เป็นภาพเลือนลางอยู่
เกศสุรางค์ตัวสั่น กอดอก ห่อไหล่
"เป็นอะไรหรือออเจ้า"
"หนาวค่ะ...หนาวจัง"
หมื่นสุนทรเทวาจับแขนเกศสุรางค์ เหมือนจะถ่ายทอดความอบอุ่น
เกศสุรางค์นิ่งอยู่สักครู่ พยักหน้าว่าดีขึ้นแล้ว ยิ้มแจ่มใสด้วย "ขอบคุณค่ะ"
หมื่นสุนทรเทวาเองก็มองตะลึงนิดเหมือนกัน แต่พอรู้สึกตัวก็เปลี่ยนสายตา ปล่อยมือและถอยออกไป
อาจารย์ยืนหน้า สามคนยืนด้านหลัง มองกระท่อมของท่านอาจารย์เบื้องหน้า
ในกระท่อม สามคนก้มลงกราบ อาจารย์นั่งตัวตรงเป็นสง่า
อาจารย์ถาม "หมื่นสุนทรสงสัยอะไรในตัวนางคนนี้"
"ข้าแปลกใจ ทำไมนางถึงผ่านม่านอาคมเข้ามาได้ขอรับท่านอาจารย์"
อาจารย์นิ่งไปเล็กน้อย "อ๋อ"
สามคนจ้องเป็นสายตาเดียว คอยฟัง
"นั่นเพราะ..."
เกศสุรางค์ อยากฟังก็อยาก ไม่อยากก็ไม่อยาก
หมื่นสุนทรเทวาจ้องตาเขม็ง ส่วนหมื่นเรืองสีหน้าอยากรู้น้อยกว่า
อาจารย์บอก "นางผู้นี้มิใช่คนที่นี่"
เหมือนว่า หมื่นสุนทรเทวาและหมื่นเรืองจะไม่ได้ยินประโยคนี้
"รู้ได้ยังไงคะ"
หมื่นสุนทรเทวาท้วง
"แม่การะเกด มิใช่เหตุที่เจ้าจะพูดออกมา ท่านอาจารย์ยังมิได้พูดสิ่งใด ออเจ้าสวนคำเช่นนั้นได้อย่างไร"
"คุณพี่ไม่ได้ยินที่ท่านพูดหรือคะ"
"นางเป็นคนพูดจาเลื่อนเปื้อนขอรับท่านอาจารย์"
เกศสุรางค์คิดในใจ "คุณพี่ไม่ได้ยิน โล่งอกไปที"
หมื่นสุนทรเทวาตาเขียว
เกศสุรางค์หันมาทางหมื่นเรือง
"ไม่ได้ยินเหมือนกัน"
หมื่นเรืองยิ้มพราย "ได้ยินสิ ข้าได้ยินออเจ้าทุกคำ"
เกศสุรางค์เหลือบมองค้อนนิดๆ หันมามองอาจารย์ "เอ่อ..."
"เรียกข้าว่าอาจารย์ชีปะขาวเถิดนังหนู"
"เจ้าค่ะ ข้าเจ้าจะเรียกแบบนั้น อาจารย์ชีปะขาว"
"ออเจ้าเคยนั่งสมาธิฤๅไม่"
เกศสุรางค์เสียงดังนิดหน่อย "อ๋อ...สมาธิ"
หมื่นสุนทรเทวาหันมามอง นัยน์ตาเข้ม
เกศสุรางค์จ๋อยลงทันที ทำท่าเหมือนขอโทษ
"เคยนั่งรึ"
เกศสุรางค์คิดแวบหนึ่ง
เกศสุรางค์นั่งสมาธิ คุณยายนั่งอยู่ด้วย แม่ก็นั่งด้วย
เกศสุรางค์ยุกยิก คุณยายแตะตัวเบาๆ เสียงอ่อนโยน “ใจนิ่ง”
"ทำใจให้ว่าง กำหนดแต่ลมหายใจเข้าออกนะลูก"
"เคยเจ้าค่ะ...คุณยายสอนให้นั่งก่อนนอนทุกคืน แม่ก็นั่งประจำเลยค่ะ"
หมื่นสุนทรเทวาจ้องหน้าการะเกด เหมือนจะพูดว่า “ไม่จริง”
"จริงนะเจ้าคะ ไม่มุสาพูดเลยเจ้าค่ะ"
อาจารย์หัวเราะ หึ...หึ...
"จริงอย่างที่นางบอกแล้วหมื่นสุนทร"
"เห็นมั้ย"
หมื่นสุนทรเทวาเมินไป หน้าเฉย
อาจารย์จ้องหน้าเกศสุรางค์...นิ่ง นัยน์ตาพูดอะไรบางอย่าง รับรู้ผ่านจิตและดวงตาทั้งสองเท่านั้น
"ฟังข้า"
เกศสุรางค์รับสารได้ทันที จ้องเขม็ง "เจ้าค่ะ" เธอพูดผ่านนัยน์ตาเช่นกัน
"ชะตาเจ้าหนักหนานัก จิตมิได้ผูกพัน แต่ดวงวิญญาณผูกพัน จึงมาไกลถึงที่นี่"
"เจ้าค่ะ" เกศสุรางค์หน้าหมองลง หลบตาต่ำลงพื้น
"หากจักช่วยแล้วจงช่วยให้ถึงที่สุด อย่าได้ละทิ้งหนาแม่การะเกด"
"ถึงอยากทิ้งก็ทิ้งยากเจ้าค่ะ"
"อือม์" ชีปะขาวนัยน์ตาอ่อนโยนลงเหมือนจะปลอบใจ "อย่าเสียใจให้เป็นเหตุเป็นการ
ต่อไปเลย...หักใจเสียเถิดหนาเจ้า"
นัยน์ตาเกศสุรางค์อ่อนโรยลง ทอดถอนใจใหญ่ จนร่างกายเหมือนจะลู่ลง
สองหมื่นนั่งดูอย่างสงบเงียบตั้งแต่ต้น เพราะรู้ดีถึงวิสัยของอาจารย์
"ออเจ้ายังต้องพบเจอ ต้องแก้ไขเหตุอันจะบังเกิดต่อไป จึงต้องปลงให้ได้ หากเรื่องใดเกินมือเจ้าจักต้านรับ..." อาจารย์ยื่นสมุดข่อยที่หยิบจากย่าม เป็นสมุดสีดำมีเพียงพับเดียว แล้วพูดมีเสียง
"เอานี่ไปท่องดู"
เกศสุรางค์รับมาเปิด...ก้มลงอ่าน
"จำได้หรือยัง"
"จำได้แล้วเจ้าค่ะ"
"ก่อนท่องบทนี้ให้ท่องนะโมสามจบก่อนหนา แต่..."
"เจ้าคะ"
"เจ้ามิต้องเปล่งจากปากให้ผู้ใดได้ยิน มนต์บทนี้แม้จะสั้น แต่อานุภาพยิ่งใหญ่นัก จิตของออเจ้าต้องรวมสมาธิให้มั่น หากออเจ้าเจอเรื่องราวน่าหวาดหวั่น ท่องแล้วจักมีสติรู้คิด หากต้องหลบหนีภัย มนต์นี้จักกำบังกายมิให้ใครเห็น"
เกศสุรางค์จ้องหน้า สายตาตื่นเต้น
"หา...หาย ตัวหรือเจ้าคะ"
อาจารย์พยักหน้าช้าๆ สายตาขำๆนิดๆ
อาจารย์ส่งกระแสจิตตอบ "มิต้องหลับตา ให้ใช้ความคิด"
เกศสุรางค์ก็เช่นกัน "นั่นสิเจ้าคะ หลับตาวิ่งหนีก็หกกะล้มถูกจับได้ตรงนั้นเอง"
อาจารย์หัวเราะขำ เกศสุรางค์ก็หัวเราะด้วย
สองหมื่นมองตากัน หน้าเหวอๆ ก็เห็นเกศสุรางค์กับอาจารย์นั่งมองกันแค่นั้น !
"มีมนต์สะเดาะกลอน เสกใบมะขามเป็นตัวต่อหรือทำควายธนูได้มั้ยเจ้าคะ"
อาจารย์เปิดเสียง "มี"
เกศสุรางค์ เป่ามนต์ให้หลับด้วยใช่มั้ยเจ้าคะ
"มี"
"แหม...แบบนี้ก็แย่สิเจ้าคะ มีคนมาลักหลับทำไงเจ้าคะ"
อาจารย์หัวเราะเต็มเสียง น้ำหมากกระเซ็น
เกศสุรางค์ก็หัวเราะด้วย เต็มเสียง เต็มหน้า หันมองหมื่นเรือง
หมื่นเรืองมองอย่างประทับใจจนออกนอกหน้า
หมื่นสุนทรเทวาเห็นสีหน้าเพื่อน หน้าเครียดขึ้นทันที
เกศสุรางค์หันมามองหมื่นสุนทรเทวา ครางเบาๆ "อูย..."
"ต่อเมื่อกลับถึงเรือน จึงทดลองสวดมนต์"
"เจ้าค่ะ"
หมื่นสุนทรเสียงเข้ม "ลาท่านอาจารย์ได้แล้ว"
เกศสุรางค์ก้มลงกราบ หัวต่ำจรดมือที่กราบบนพื้น พอเงยหน้าก็เห็น
เส้นด้ายแปดฟั่นสีดำ 3 เส้นวางตรงหน้า
เกศสุรางค์มองนัยน์ตาเป็นคำถาม อาจารย์มองให้หยิบไป
เกศสุรางค์กราบอีกครั้ง และหยิบไป
ทางเดินกลับจากกระท่อมท่านอาจารย์หมื่นสุนทรเทวามองเกศสุรางค์ เป็นห่วง
เกศสุรางค์เดินห่อตัวนิดๆ
"หนาวหรือไม่"
เกศสุรางค์หันกลับมา นัยน์ตาระยับขึ้นนิดหน่อย ส่ายหน้าอย่างน่ารัก นัยน์ตายิ้มๆ
หมื่นสุนทรเทวาจ้องนัยน์ตาดุๆอีกแล้ว
เกศสุรางค์หัวเราะเบาๆ
หมื่นสุนทรเทวาเมินไป
บ่าวทั้งสามคนกระวนกระวายใจอยู่ด้านนอก จนหมื่นสุนทรเทวา, เกศสุรางค์ และหมื่นเรืองราชภักดีก้าวออกมาจากม่านอาคม
"ท่านหมื่น" จ้อยเรียก
ผิน/แย้ม เรียก "แม่นาย"
บ่าวทั้งหลายต่างดีใจตื่นเต้น ผินกับแย้มเข้าไปคุกเข่ากอดขา
เกศสุรางค์บอก"ยังอยู่...ยังอยู่ ยังไม่ตาย"
"แม่น๊าย"
หมื่นเรืองถาม "พ่อเดช ข้าไปด้วยออเจ้าได้ฤๅไม่"
หมื่นสุนทรเทวาชะงักนิด มองหมื่นเรืองราชภักดี เห็นหมื่นเรืองชำเลืองไปสบตาเกศสุรางค์ เกศสุรางค์ก็ยิ้มให้เต็มที่ เพราะรู้สึกว่าเหมือนเรืองฤทธิ์
หมื่นสุนทรเทวาหน้าเข้มขึ้นทันที
"แม่การะเกดอยากเที่ยวชมวัดพุทไธสวรรค์ฤๅไม่"
เกศสุรางค์ตอบทันที "อยากค่ะ...อยากสุดๆไปเลย"
หมื่นเรือง งง อะไรวะ"สุดๆ ?"
"อยากมากๆค่ะ หมื่นเรือง"
"อ้อ เป็นวาจาแบบใหม่ ที่เมืองสองแควพูดกันฉะนี้ฤๅ"
"ค่ะ ฉะนี้แหละค่ะ"
"ข้าจะไปคอยที่ท่า" หมื่นสุนทรเทวาเดินไปทันที
จ้อยเดินตาม ผินกับแย้มยังรีรอ
หมื่นสุนทรเทวาหงุดหงิด "อีผินอีแย้ม มึงจะรีรอทำไม...ตามมาเดี๋ยวนี้"
ผินกับแย้มพรวดไปทันที
"แม่นายล่ะเจ้าคะ"
เกศสุรางค์ว่า "โห...ออกนอกหน้ามาก"
"ใช่ ออกนอกหน้า ออเจ้าว่าเรื่องอันใด" หมื่นเรืองถาม
"เก๊าะไม่อยากให้ไปสิคะ จะเรื่องอาไร้"
"อย่างนั้นเราจะไปกันฤๅไม่"
"ข้าว่า...วันหลังดีกว่านะคะหมื่นเรือง ข้าไม่อยากขัดใจคุณพี่ ความผิดยังมีอยู่ค่ะ"
"ออเจ้าคิดสมควรแล้วแม่การะเกด"
บุพเพสันนิวาส ตอนที่ 7 (จบตอน)
ผิน แย้มคอยอยู่ในเรือแล้ว จ้อยอยู่ในเรือของหมื่นสุนทรเทวา
"อีผินอีแย้ม มึงจะคอยท่าอันใด"
"ก็...เอ่อ...คอย"
"แม่นายเจ้าค่ะ"
"คอยแม่นาย อีบ่าวโง่"
ผิน/แย้มร้อง "อ้าว !"
"มึงไม่รู้เรอะว่าแม่นายของมึงเขากำลังสนุก"
"สนุกยังไงเจ้าคะ ไปเที่ยวชมวัด"
"เอ็งเถียงข้าฤๅ ฮะ อีผิน"
ผินหลบตา เสียงอุบอิบ "มิได้เจ้าค่ะ"
"เอ็งเถียงยังไม่ขาดคำ ปากแข็งอย่างนี้ หวายลงหลังสักสิบยี่สิบเป็นอย่างไร"
สองบ่าวพายจ้วงน้ำไปทันที
"ไอ้จ้อย"
"ขอรับ"
"เอ็งขึ้นจากเรือ"
จ้อยกระโจนขึ้นอย่างเร็ว "ขอรับ"
"เดินไป"
"ขอรับ" เดินไปทันที
"ไอ้จ้อย"
จ้อยหันกลับทันควันเหมือนกัน "ขอรับ"
"เอ็งไม่ผูกเรือ"
"ขอรับ"
จ้อยพรวดไป เอาขาเอื้อมไปเกี่ยวเรือที่กำลังลอยห่างไป...เข้ามาแล้วผูกกับหลักตรงนั้น
เสียงหัวเราะของเกศสุรางค์ลอยมา
"แม่หญิงการะเกดมาแล้วขอรับ" จ้อยบอก
"เอ็งรีบไปจะอยู่ช้าทำไมฤๅ"
จ้อยไป
หมื่นสุนทรเทวาหันไป ทางที่ควรเดินออกมา...ไม่มี
หมื่นสุนทรเทวาทิ้งแขนหงุดหงิด เกศสุรางค์กับหมื่นเรืองยืนอยู่อีกด้าน
"คุณพี่"
หมื่นสุนทรเทวาสะดุ้ง หันมา
"ไม่ได้ไปแล้วค่ะ"
หมื่นสุนทรเทวานิ่งอึดใจ "ดี"
ช่างกล้า ! หมื่นเรืองอภัยภักดีถาม
"ข้าไปกับเรือออเจ้านะพ่อเดช"
หมื่นสุนทรเทวาถามกลับ "ไปไหน"
"ไปเรือนออเจ้า"
"ไปทำอันใด"
"ข้าชวนหมื่นเรืองไปเองค่ะคุณพี่ ยังคุยกันไม่เสร็จ"
"พูดจาชอบกล...คุยไม่เสร็จ ใครเขาพูดกันอย่างนั้น"
"คุณพี่รู้เรื่องมั้ยล่ะคะ"
"เออ...จริง ออเจ้ารู้เรื่องฤๅไม่ เพราะข้าเองไม่รู้เรื่องหลายคำที่นางพูด ภาษาเมืองสองแควช่างแปลกประหลาดจริงเจียว" หมื่นเรืองว่า
หมื่นสุนทรเทวาไม่ตอบ เดินหน้าตั้งไปที่เรือ ... หงุดหงิด (โว้ย) !
เกศสุรางค์หันมาชวนหมื่นเรือง
"ไปค่ะหมื่นเรือง...เร้ว"
หมื่นสุนทรเทวาก้าวเท้าเดินเร็วขึ้น
หมื่นเรืองถามย้ำ "ข้าไปด้วยได้ไหมพ่อเดช"
"ข้าไปล่ามขาของออเจ้าไว้รึ"
บนเรือ หมื่นสุนทรเทวาพายเรือ หันหน้ามาทางสองคน เกศสุรางค์นั่งหัวเรือ หมื่นเรืองนั่งกลางเรือหันหน้าไปทางเกศสุรางค์ สีหน้ายังขำๆพ่อเดช ต่างสบตากัน พ่อเดชหน้าเคร่งจัด เกศสุรางค์หันมาทางหมื่นเรือง
เกศสุรางค์นั่งมองหน้าหมื่นเรือง คิดถึงเรืองฤทธิ์มาก
ที่บ้าน คุณยายอยู่ทางด้านหลัง แม่เดินเอาจานขนมมาให้เรืองฤทธิ์กับเกศสุรางค์ในชุดนักศึกษาที่กำลังเถียงกัน
เรืองฤทธิ์ไหว้ พูดเบาๆ “ขอบคุณครับ”
"อยุธยารูปร่างเหมือนเรือสำเภาเว้ย ใครๆก็รู้" เกศสุรางค์บอก
"แชร์แวส บอกเหมือนถุงย่าม" (หมายถึง นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) เป็นนักเดินทางชาวฝรั่งเศส ในสมัยพระนารายณ์)
"บ้าสิ ใครเชื่อแชร์แวสก็บ้าด้วย"
"หรือแกจะเชื่อหมอแกมป์เฟอร์...อยุธยาทั้งเกาะเหมือนฝ่าเท้า" (หมายถึง หมอชาวเยอรมันชื่อ เอนเยลเบิร์ต แกมเฟอร์ (Engelbert Kaempfer) เป็นหมอประจำคณะทูตของเนเธอร์แลนด์สมัยนั้น)
"ยิ่งบ้าเข้าไปใหญ่ เรือสำเภาย่ะ"
"ถุงย่าม"
"เรือสำเภา"
"ถุงย่าม"
เกศสุรางค์หยิบฝรั่งในจานปาเต็มแรง
"โอ๊ย" เรืองฤทธิ์ร้องเสียงดัง
ในเรือ เกศสุรางค์หัวเราะคิกออกมา
หมื่นสุนทรเทวาหน้าบึ้งตึงขึ้นไปอีกเท่าตัว
"ขำอันใดหรือแม่การะเกด"
"ขำหมื่นเรืองค่ะ"
"ขำข้า"
"ไม่มีอะไรค่ะ ข้าล้อเล่น" เกศสุรางค์ทำเสียงสมัยใหม่
หมื่นเรืองราชภักดีหัวเราะดังลั่น
หมื่นสุนทรเทวาพายจ้วงน้ำแรงขึ้น ๆ
เรือลอยในลำน้ำ เกศสุรางค์คุยกับหมื่นเรืองราชภักดี
"ข้าตกใจจริงๆนะเห็นหน้าหมื่นเรืองครั้งแรก"
"เหตุใดฤๅแม่หญิง"
"อ๋อ เพราะว่าท่านหมื่นน่ะ"
"เรียกหมื่นเรืองข้าชอบมากกว่า"
"อ๋อออ...ย่อมได้ หมื่นเรืองน่ะหน้าเหมือนคนที่ข้ารู้จัก"
หมื่นสุนทรเทวา หางตาชำเลืองดูเกศสุรางค์
"จริงดังนั้นฤๅแม่หญิง" หมื่นเรืองว่า
"จริงดังนั้นค่ะ รับรองว่าจริงร้อยเปอร์เซนต์"
หมื่นเรืองหน้าเหวอมาก "ร้อยอะไรนะ"
เกศสุรางค์หัวเราะชอบใจมาก "ไม่พูดซ้ำหรอกค่ะ"
"ข้าจะมาทวงให้เจ้าพูดทุกวันจะได้ไหม"
พายจ้วง โครม โครม ! ลงน้ำเต็มแรง เกิดเรือเอียงนิดหน่อย
เกศสุรางค์กระซิบ " อูย โกรธแล้วค่ะ"
หมื่นสุนทรเทวาเหหัวเรือเข้าหาฝั่ง เป็นท่าน้ำของใครก็ไม่รู้ มองหน้าหมื่นเรือง หมื่นเรืองหัวเราะแล้วลาเกศสุรางค์ กระโดดขึ้นท่าหายตัวไปทันที
ในคลอง เรือที่เหลือเพียง 2 คน แล่นเอื่อยไปตามลำน้ำ ผ่านตลิ่ง ต้นไม้เขียวสวยในยามเย็น เมื่อมองไปทางซ้าย เห็นยอดโบสถ์ของวัดไชย
เรือแล่นเข้า เกศสุรางค์ตื่นเต้นตามเคย มองวัดไชยจนเหลียวหลัง
หมื่นสุนทรเทวาจ้อง สายตาลึกล้ำมาก
จนเรือเทียบท่าเรือนออกญาโหราธิบดี หมื่นสุนทรเทวาก้าวขึ้นจากเรือก่อน เกศสุรางค์ตั้งท่าจะขึ้น หมื่นสุนทรเทวายื่นมือมาคอย เกศสุรางค์เงยหน้าสบตา ยิ้มเหมือนจะถามว่า “แน่นะ” !?
หมื่นสุนทรเทวานัยน์ตายังนิ่งอยู่ ไม่ทำว่ารู้ความนัยนั้น มือที่ยื่นขยับนิดหน่อยแบบ “จับสิ”
เกศสุรางค์หัวเราะออกมา แล้ววางมือบนมือหมื่นสุนทรเทวาแรงๆ พลางเหนี่ยวมือแบบปล่อยน้ำหนักเต็มที่ จนหมื่นสุนทรเทวาก้าวไป 1 ก้าว ก่อนยั้งตัวไว้ทัน
แล้วหมื่นสุนทรเทวาก็ดึงเกศสุรางค์ขึ้นมา ยืนคู่กัน
เกศสุรางค์หันไปไหว้เรียบร้อย "ขอบคุณค่ะ" มีหางเสียงเย้าๆนิดๆ
หมื่นสุนทรเทวาหันกลับเดินไปทันที
ผิน แย้มคอยท่าอยู่บริเวณนั้น เดินเข้ามาเร็วๆ
ผิน/แย้มเรียก "แม่นายเจ้าขา"
"มาแล้ว...มาแล้ว"
แย้มถาม "ท่านหมื่นเรืองไม่มาด้วยฤๅเจ้าคะ"
"คุณพี่หมื่นไล่กลับเรือนไป"
หมื่นสุนทรเทวาหันมาทันที
ทั้งสองบ่าวตัวลีบ
"พายเรือมาด้วยกันดีๆ คุณพี่แวะท่าบ้านใครไม่รู้ ให้หมื่นเรืองขึ้นจากเรือ"
"ออเจ้าพูดจาให้มีความจริง หมื่นเรืองเขาลงท่าน้ำบ้านเขา"
"ข้าจะรู้มั้ยเนี่ย ไม่พูดไม่จาอะไร จอด...ขึ้น...แล้วคุณพี่ก็พายเรือมา"
ผิน แย้มหัวเราะขำ
"นังผิน นังแย้ม เอ็งสองคนขึ้นเรือนไปก่อน"
ผินถามทันที "ท่านหมื่นจะลงโทษแม่นายหรือเจ้าคะ"
"ไม่ใช่เรื่องที่เอ็งจะถามข้า"
สองคนม่อย
"ไป"
สองคนไปอย่างเร็วรี่
สองคนมาแบบอกสั่นขวัญหาย
ผินมายืนขาสั่นพั่บๆ
"อีผิน"
"เอ็งเป็นอันใดวะอีแย้ม"
"กูว่า...แม่นายโดนโบย"
"ว้าย...ตายแล้ว"
"ใช่...กูก็สงสารแม่นาย"
"หาใช่ไม่ ที่กูร้องเพราะแม่นายโดน...หยั่งกะว่า 10 ที เราสองคนโดนคนละ 20 ทีแน่ๆ อีแย้มเอ๋ย"
"ห่วงตัวมึงเองงั้นรึ"
"เออ" ผินรับคำเสียงหนักแน่นหน้าตาเฉย
"อีบ้า"
"เอ้อ... กูก็ห่วงอยู่แล้ว...แม่นายน่ะ"
เกศสุรางค์นั่งจ้องหมื่นสุนทรเทวาที่ยืนครุ่นคิดอยู่ ในที่สุด ขี้เกียจคอยแล้ว
"คุณพี่จะโบยข้าหรือคะ"
หมื่นสุนทรเทวาหันมาทันที พูดอย่างเร็ว
"แม่การะเกด ออเจ้าเพิ่งออกนอกเรือน มิรู้ว่ากิริยาชม้ายชายตาของออเจ้าเป็นวิสัยปกติฤๅเผลอไผล จะเป็นอันใดก็ตามก็มิบังควรกระทำ ผู้ใดเห็นเข้าจักเอาไปนินทาได้ว่า หลานคุณพ่อกิริยามิงาม เป็นหญิงชม้ายตาให้ผู้ชายไปถ้วนทั่ว จักพาขายขี้หน้ากันทั้งเรือน"
พูดจบก็ต้องยืนใจหาย เพราะเกศสุรางค์จ้องหน้าหมื่นสุนทรเทวานิ่งงันอยู่
เกศสุรางค์คิดในใจ "อีตาบ้า มาหาว่าฉันให้ท่าตาหมื่นเรืองเหรอเนี่ย...บ้าจริง ชม้อยชม้ายตาเป็นไงวะ ทำตอนไหน"
เกศสุรางค์ปากขมุบขมิบนิดๆ กัดกรามแน่น
"จะว่าอย่างไรก็ว่ามา"
"ข้าไม่ว่าเพราะข้าฟังไม่รู้เรื่อง คุณพี่พูดถึงอะไร ถ้าจะให้ข้ารู้เรื่องก็พูดใหม่ทั้งหมดนั่นแหละค่ะ"
ถึงทีหมื่นสุนทรเทวาเหวอบ้าง
"คอยฟังอยู่ค่ะ"
"ออเจ้าอย่าพูดจาเหลวไหลเลื่อนเปื้อนเชือนแชไปข้างโน้นข้างนี้"
เกศสุรางค์ครางเบาๆ "โห..."
"ออเจ้าทำสิ่งใดย่อมรู้อยู่แก่ใจ หรือออเจ้ามิรู้ว่าแม่หญิงอโยธยาเขามิทำกิริยาน่าละอายอย่างออเจ้า เห็นจะมีแต่แม่หญิงเมืองสองแควเท่านั้น"
"ผู้หญิงเมืองอโยธยาก็ทำเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่เคยเห็น"
"ออเจ้าหมายจะพูดว่ากระไร"
"ตามนั้น"
"ตามนั้น...ตามไหน"
"ตามนั้นแหละค่ะ เพราะข้าก็เคยเห็นผู้หญิงอโยธยาทำมาแล้ว ไม่ใช่ทำกับใครที่ไหน ทำกะตะเองนั่นแหละ ที่วัดเดิมอโยธยาข้าเห็นหมด ทีงั้นทำได้ ข้าไม่ได้ทำอะไรซักหน่อยยังมาว่า...สองมาตรฐานชัดๆ " เกศสุรางค์น้อยใจ เสียงเครือสั่นนิดๆ
เกศสุรางค์สาวเท้าเร็ว แต่หมื่นสุนทรเทวาก้าวมาจะกันไม่ให้ไป
แต่เกศสุรางค์ไม่ยอม ผลักเต็มแรงจนหมื่นสุนทรเทวาเซไป
ผินกับแย้มแอบดูไกลๆ ตาโตตกใจ
เกศสุรางค์ก้าวเท้าอย่างเร็ว ผ่านไป
หมื่นสุนทรเทวายังยืนงงงวยอยู่
เกศสุรางค์เดินไปเร็วๆ ผิน แย้มตามติด แย้มวิ่งตามเลยไปตักน้ำคอยจะให้ล้างเท้า
แต่เกศสุรางค์เดินผ่านไปอย่างเร็ว
แย้มถือกระบวยค้างอยู่
ผินกระโดดขึ้นบันไดตาม แย้มก็ตาม
เกศสุรางค์เปิดประตูเข้าห้อง ผินกับแย้มกำลังจะตาม เกศสุรางค์ปิดประตูใส่หน้า แต่เบาๆ
สองคนยืนงงงัน แย้มเงื้อมือจะเคาะ ผินจับไว้ส่ายหน้า
"แม่นายร้องไห้ มึงตาบอดรึไง" ผินบอก
"เออ กูเห็นแล้ว"
"มึงเคาะให้ตาย แม่นายไม่เปิดหรอก"
เกศสุรางค์ยืนงงงัน น้ำตายังไหลอยู่ ปาดน้ำตาโดยแรง สักครู่เสียงดัง “ไม่สนเว้ย”
ร่างของเกศสุรางค์นั่งลงขัดสมาธิ หลับตา สีหน้าสงบลง เสียงสวดนะโมจนครบ 3 จบ
มือเปิดสมุดข่อยช้าๆ มองแล้วเอ่ยคำท่อง "จิตติ จิตตัง กัมปิยัง มหาจิตติ"
ภายในห้อง แสงสว่างที่ลอดผ่านหน้าต่างเข้าในห้อง เหมือนจะมืดสลัวลงนิดหน่อย
ทันใดร่างของเกศสุรางค์ก็ค่อยๆหายกลายเป็นโปร่งใส ตั้งแต่ส่วนล่างขึ้นมา จนหายไปหมดหน้า
"Oh my God ! หายตัวแล้ว Invisible ของจริงเว้ย โห...โคตรเจ๋งเลย ต่อไปไปไหนๆก็ได้"
ร่างโปร่งใสของเกศสุรางค์ เดินไปที่ประตู สะดุดเพราะชนอะไรสักอย่างที่พื้น จนของสิ่งนั้น
เคลื่อนที่ไป พร้อมกับมีเสียงดังพอสมควร
"อุ๊ย"
เกศสุรางค์ ยื่นมือจะเปิดประตู
แต่ประตูเปิดออกเสียก่อน เกศสุรางค์ถอยกรูด
หมื่นสุนทรเทวาเปิดประตูให้กว้าง ผินกับแย้มยืนด้านหลัง
หมื่นสุนทรเทวากวาดสายตา
"แม่การะเกดเป็นอะไรฤๅ... เอ็งได้ยินเป็นเสียงอย่างไร"
"หะแรกเป็นเสียงพูดเจ้าค่ะ แล้วมีเสียงเหมือนล้มเจ้าค่ะ" ผินบอก
แย้มบอก "ไม่แค่เหมือนหรอก เสียงแม่นายล้มเลย ดังตึง"
"เข้าไปดูแม่นายของเอ็ง...ข้ามองไม่เห็นนาง"
ผิน/แย้มเสียงดัง "ไม่เห็นฤๅเจ้าคะ"
"ใยต้องตะโกน"
สองบ่าวตัวหมอบไปแทบติดพื้น
"แม่การะเกด"
มุมหนึ่งของห้อง ข้างๆโต๊ะตัวหนึ่งที่มีฉากกั้น ร่างเกศสุรางค์ชัดขึ้นจนเต็มตัว เหลือบมองไปแล้วแกล้งเป็นลมนอนคว่ำหน้าอยู่
ผิน/แย้มโผล่เข้ามา "แม่นาย แม่นายเจ้าขา ว๊าย..."
"เป็นกระไร นังผิน นังแย้ม"
สองคนเข้าไปประคอง
"อีผิน อีแย้ม มึงเงียบทำไม" เสียงห่วงใยของหมื่นสุทรเทวาเกินร้อย "ข้าเข้าไปได้ฤๅไม่"
ผินบอก "แม่นายนอนเงียบเลยเจ้าค่ะ"
แย้มแกล้งถามเสียงดัง "อีผิน...แม่นายตายฤๅไม่"
เท่านั้นแหละ หมื่นสุนทรเทวาพรวดเข้าไปทันทีถึงตัวเกศสุรางค์ทันที
"ตายแล้วกระมัง นอนเงียบไม่สมประดี โธ่เอ๋ย เพราะโดนดุกระมัง" แย้มว่า
"อีแย้ม อีปากตำแย มึงแช่งแม่นายรึ"
หมื่นสุนทรเทวาหันขวับมามองหน้าแย้ม หน้าเข้มจัด
"เอ็งสองคนออกไปให้พ้น"
สองคนถอยไป เกศสุรางค์ลืมตานิดๆ แล้วหลับอย่างเดิม
หมื่นสุนทรเทวาเข้าไปจับตัวให้หงาย มืออังที่จมูก แล้วช้อนอุ้มขึ้นไปวางที่เตียง
"เอ็งไปเอา..." หมื่นสุนทรเทวาหันไปจะสั่งบ่าว แต่ไม่มีแล้ว "อ้าว .... แม่การะเกด เจ้าเป็นอะไร"
หมื่นสุนทรเทวาก้มลงไปมองลมหายใจ มือก็อังหน้าผาก หายใจแรงๆ
"คุณหมื่น จะทำอะไรฉัน เป่าลมอะไรใส่ฉัน"
เกศสุรางค์ลืมตา หน้าหมื่นสุนทรเทวาอยู่ใกล้มาก หมื่นสุนทรเทวาสตั๊นท์ไป 5 วิ แล้วยืดตัวขึ้นแบบมีฟอร์ม ไม่ได้ทำท่าตกใจอันใด
"ฟื้นแล้วฤๅ"
เกศสุรางค์เสียงราบเรียบ "ฟื้นแล้วค่ะ"
"ออเจ้าเป็นอะไร"
"อือม์...ก็เป็นลมธรรมดาๆค่ะ หายแล้ว" เกศสุรางค์ยกมือไหว้ หน้าเฉย เสียงเรียบ "คุณพี่ยังโกรธข้า คุณพี่จะออกไปก็ได้ค่ะ
หมื่นสุนทรเทวายืนเก้อๆอยู่สักครู่ก็เดินตัวตรงออกไป
เกศสุรางค์ลูบอกตัวเอง...จะเป็นลม
"ต่อไปนี้ไม่ทำอีกแล้ว...พูดเลย ถ้าไม่จำเป็นนะเจ้าคะ อาจารย์ชีปะขาว"
หมื่นสุนทรเทวาเดินออกมาจากห้อง สีหน้ายังพูดไม่ออกบอกไม่ถูก หยุดยืนอยู่สักครู่
ภาพอุ้มประคอง ใกล้ชิดกันเหลือเกิน เมื่อครู่แวบเข้ามา
หมื่นสุนทรเทวาหันกลับไปทางห้องเกศสุรางค์
แล้วภาพของความร้ายกาจการะเกดเข้ามาในความคิด
ปีที่แล้ว
"อีผิน...อีแย้ม อีบ่าวจัญไร"
ผิน แย้มถลาออกมาจากห้องการะเกด ซมซานจนล้มคว่ำคะมำหงาย
การะเกดตามมา โยนผ้าทั้งกองสุมลงไปบนตัวบนหัว
"อีสถุล มึงดูแลสำรับผ้ากูอย่างไร หนูแทะจนพรุนเป็นรู"
"แม่นายเจ้าขา บ่าวดูแล้วเจ้าค่ะ แต่มิเห็นเลยเจ้าค่ะ" ผินบอก
"วันก่อนบ่าวยังเอาออกมาสะบัดเลยเจ้าค่ะ" แย้มว่า
การะเกดเข้ามายืนคร่อม แล้วตบไปคนละที
"มึงเอามือหรือเอาตีนสะบัด ฮะ...อีไพร่"
การะเกดเงื้อมือ สองบ่าวเงื้อง่าปิดบัง
การะเกดเงื้อเท้าสูงถีบเข้าไปคนละที สองบ่าวร้องไห้ครางฮือๆ
บ่าวทั้งนั้นวางมือจากงานมองจ้อง การะเกดหันไปตวาดแรง
"อีพวกสาระแน มึงมองกูทำไม"
บ่าวหลบวุ่น
หมื่นสุนทรเทวายืนมอง สายตาเกลียดชังการะเกดเหลือเกิน
ณ ชานเรือนข้างนอก หมื่นสุนทรเทวา สีหน้าใคร่ครวญ...ฉงนสนเท่ห์
เสียงออกญาโหราธิบดีเรียกลูกชาย "พ่อเดช"
"ขอรับคุณพ่อ"
ออกญาโหราธิบดีเดินมาเร็วๆ "เห็นทีพ่อจักต้องรีบเข้าเฝ้าขุนหลวง"
"ขอรับ" แม้ว่าอยากจะถามพ่อ แต่ตามธรรมเนียมลูกจะไม่ซักไซ้พ่อแม่
"มีเรื่องกราบบังคมทูล มิรู้ว่าทรงทราบหรือยัง ต่อเมื่อพ่อกลับมาแล้วจึงจะเล่าสู่ออเจ้า"
บนเรือน ตอนกลางคืน แสงไฟวับแวมตรงโน้นตรงนี้ของเรือนทั้งหลัง
พ่อ ลูก ลงนั่งขัดสมาธิตรงข้ามกัน หมื่นสุนทรเทวารินน้ำชาจากป้านใส่ถ้วย
"พ่อได้ยินข่าวมิสู้ดีด้วยว่า สำเภาเรือฝรั่งที่เข้าเทียบท่า นำข่าวลือมาว่า สำเภาเรือราชทูตที่ขุนหลวงส่งไปเมืองฝรั่งเศส..." เสียงออกญาโหราธิบดีสะอึก
"คุณพ่อขอรับ"
"อับปางเสียแล้ว"
"โอ...คุณพระช่วย"
"ราชทูต อุปทูต ตรีทูต ไม่น่ามีใครรอดชีวิต ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี ราชทูตเป็นคนเก่ง น่าเสียดาย" ออกญาโหราธิบดีว่า
"ลูกจำได้ว่าคุณพ่อเคยกราบทูลขุนหลวงว่า ควรรอจนคนของเราชำนาญการพาสำเภาข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลขนาดนั้น สักสี่ปี"
"เป็นจริงเช่นนั้น ถ้าอ้ายฝรั่งฟอลคอนไม่กราบทูลยุยงส่งเสริมให้รีบไป จนคนไปตาย...น่าโมโหยิ่งนัก"
"ออกหลวงสุระสงครามไม่ใช่คนสัญชาติฝรั่งเศสนี่ขอรับ ไม่น่ากระตือรือร้นให้อยุธยาส่งทูตไปฝรั่งเศสนักหนา"
"ใช่ มันไม่ใช่ฝรั่งเศส เพราะเขาว่าชื่อของมัน คอนสแตนติน ฟอลคอน ไม่ใช่ชื่อฝรั่งเศส แต่เป็นชื่อพวกกรีกอยู่ในดินแดนตะวันตกเหมือนฝรั่งเศส"
"เป็นเพราะเขาพูดภาษาฝรั่งเศสได้ พวกฝรั่งเศสฉลาดรู้ว่าขุนหลวงโปรดปรานออกหลวงสุระสงครามผู้นี้จึงใช้เป็นหนทางพาเข้าไปเฝ้า"
"จะไม่คิดว่าขุนหลวงโปรดปรานได้อย่างไร ประทานยศฐาบรรดาศักดิ์รวดเร็วเกินหน้าข้ารับใช้เบื้องพระยุคลที่เป็นชาวอยุธยากี่คนต่อกี่คน รับราชการไม่นาน ก็รั้งตำแหน่งออกหลวงแล้ว"
วันใหม่ ที่ร้านของฟานิก เขามองร่างสูงใหญ่ตรงหน้า ครางเบาๆ
"ออกหลวงสุรสาคร..."
ฟอลคอนบอก"ข้ามาหาแม่มะลิ"
"แม่มะลิ...เอ่อ...แม่มะลิ...ไม่...ไม่อยู่"
"อยู่ข้างหลัง...เพิ่งลุกไป...ข้าเห็นพอดี มุสาพูดกับขุนนางในพระองค์ขุนหลวง ข้าจะกล่าวโทษเจ้า รู้หรือไม่ว่าทำได้"
มะลิยืนซุ่มอยู่ด้านหลัง
ฟานิกจนมุม ขยับตัวจะหันไป
มะลิเดินออกมา หลวงสุรสาครเดินเข้าไปจับมือจูงแบบจู่โจม
มะลิพลิกมือไม่ให้จับ แต่หลวงสุรสาครจับแน่นมาก ดึงมาแบบบังคับ
"ท่านออกหลวงปล่อยข้าเถิดเจ้าค่ะ"
"ปล่อยกระไรล่ะ ข้ากลัวเจ้าล้ม"
มะลิเสียงแข็ง
"ข้าไม่ล้ม...ข้าเดินทุกวันเหตุใดจะล้ม ที่นี่เป็นบ้านของข้านะเจ้าคะ"
ฟอลคอนหัวเราะชอบใจ เชยคางขึ้นแรงๆ "เก่งจริงเจ้า"
มะลิเบือนหน้าหนี
"ข้าชอบแม่หญิงเก่งๆอย่างนี้ ฟานิกลูกสาวเจ้าหาญกล้ายิ่งนัก ข้าจะมาหาทุกวันได้หรือไม่"
"เป็นการเสียเวลาของท่านออกหลวงเปล่าๆ"
"เฮ้ย...ไม่...ไม่ อะไรที่ข้าชอบทำไม่เสียเวลา"
"ท่านออกหลวงเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ย่อมมีงานราชการมากมาย อย่าเสียเวลา
กับชาวบ้านต่ำต้อยเลยเจ้าค่ะ" มะลิบอก
ออกหลวงสุรสาครมองดูอย่างถูกใจ
แล้วจับแขนแม่มะลิอย่างแรง พลางดึงเข้ามาชิดตัว มองจ้องหน้า...ถูกใจมาก
ฟานิกยืนอย่างไม่รู้จะช่วยลูกสาวอย่างไรดี ละล้าละลัง
"เจ้างามจริงๆนะแม่มะลิ" ฟอลคอนเอามือไล้ที่ปาก แล้วเลื่อนไปที่แก้ม แล้วกลับมาบีบที่คาง
"ปากของเจ้ามันงามน่า..."
มะลิขืนตัวไว้สุดขีด
ข้ารับใช้ที่ยืนอยู่นอกร้าน ทำหน้าทะเล้นแบบรู้ใจเจ้านาย
"ได้โปรดเถิดท่านออกหลวง ขอท่านอย่า..." ฟานิกอ้อนวอน
"หุบปากของเจ้าเสีย เจ้าแขกขายผ้าผู้ต่ำต้อย ข้าจะทำให้ลูกสาวเจ้าสุขสบายเป็นเมียขุนนางยังไม่ชอบหรือฮะ...ว่าไง ตอบมา" ฟอลคอนตวาด
"แต่ลูกสาวข้า...ยังเด็ก"
"ออกหลวงสุระสงคราม ขอเวลาข้าคิดสักน้อยเถิด"
ฟอลคอนร้องเสียงดัง
"ต้องคิดใยกัน...ไม่ต้อง..." แล้วดึงตัวมะลิมาจนชิดอก บีบปาก ก้มลงไป
พูดใส่หน้า "ไม่ต้องคิด"
อ่านต่อตอนที่ 8
#บุพเพสันนิวาส #ออเจ้า #Ch3Thailand #lakornonlinefan #ลมหายใจคือละคร
เกร็ดน่ารู้จากละคร
ชีปะขาวในละคร อาจารย์ทองของโกษาปาน : ทัศน์ทรง ชมภูมิ่ง (นิตยสาร ต่วย “ตูน ฉบับปีที่ ๒๖ เล่มที่ ๑๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๐ ปักษ์แรก)
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงสาเหตุที่โกษาปานจะได้เป็นราชทูตไปกรุงฝรั่งเศสในครั้งนั้นว่า เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ฝรั่งชาวกรีกได้เข้ามารับราชการแล้ว ก็ได้แสดงความเฉลียวฉลาดและความสามารถ จนเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
“...วันหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ในเมืองฝรั่งเศสนั้น มีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็กราบทูลว่า ในเมืองฝรั่งเศสนี้มีช่างทำนาฬิกา ปืนลม ปืนไฟ กล้องส่องทางไกล และเครื่องจักร เครื่องยนต์วิเศษอื่นๆเป็นอันมาก”
“...บ้านเมืองก็ร่ำรวย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงมีเงินและทองขนาดตามถนนหนทางนั้น จะมีเสาเงินเป็นท่อน ๘ เหลี่ยม ใหญ่ ๓ กำ ยาวถึง ๘ ศอก ตั้งอยู่ทั่วไป ในพระราชวังมีแผ่นศิลาสีต่างๆปูพื้น ประดับข้างฝาด้วยเงิน ทอง แก้ว และกระจกส่องเงาอันน่าพิศวง เพดานก็แขวนโคมแก้วเจียระไน พิสดารนิ่งนัก.....”
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบันทึกว่า สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงฟังเจ้าพระยาวิชเยนทร์กราบทูลแล้ว ก็ยังทรงอางขนาง ทรงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่เพื่อพิสูจน์คำพูดของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะส่งราชทูตข้ามน้ำข้ามทะเลไปสืบเอาความจริง โดยทรงเรียกนายปาน น้องชายเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)มาเฝ้าและรับสั่งว่า“อ้ายปาน มึงมีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศสยังจะสมดังคำพระยาวิชเยนทร์กล่าวหรือจะมิสมประการใด กูจะใคร่เห็นเท็จและจริง จะได้หรือมิได้”
ฝ่ายนายปานเมื่อได้ฟังพระราชกระแสรับสั่งเช่นนี้ ก็กราบบังคมทูลรับอาสาที่จะไปสืบราชการตามพระราชประสงค์ แล้วจึงถวายบังคมลาออกมาจัดแจงคัดเลือกผู้คนที่จะเอาติดตามไป เช่น อุปทูต ตรีทูต และอาจารย์ใหญ่ เพื่อให้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาท่านหนึ่ง
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาไม่ได้เอ่ยชื่อเสียงเรียงนามของอาจารย์ท่านนี้ คงกล่าวแต่เพียงสั้นๆว่าอาจารย์ ท่านนี้ได้เรียนในพระกรรมฐานชำนาญในกสิณและรู้วิชามาก แต่เป็นนักเลงสุรา จัดแจงได้เสร็จสรรพ แล้วก็ให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์ติดต่อว่าจ้าง ชาวฝรั่งเศสให้มาทำหน้าที่เป็นล่าต้าตีนหนคนถือท้ายและลูกเรือ ครั้นได้พร้อมสิ้นแล้ว ก็กราบถวายบังคมลา แล่นใบออกจากปากน้ำเจ้าพระยา มุ่งหน้าไปสู่ประเทศฝรั่งเศส
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า กำปั่นของโกษาปานแล่นใบออกจากกรุงสยามไปได้ประมาณ ๔ เดือน ใกล้จะถึงปากน้ำกรุงฝรั่งเศสอยู่รอมร่อ ก็บังเกิดเคราะห์ร้าย บังเอิญให้เกิดมีพายุใหญ่ซัดเอากำปั่นลำนั้นเข้าไปตกอยู่ในวังน้ำวนขนาดใหญ่ ต้องวนเวียนอยู่ถึง ๓ วัน ๓ คืนและเมื่อฝูงคนบนกำปั่นได้รู้ว่าเรือที่ตนโดยสารมาถูกพายุซัดให้ตกเข้ามาอยู่ในวังน้ำวนร้ายกาจ ซึ่งถ้ากำปั่นลำใดถูกซัดเข้ามาวนเวียนอยู่ในวนใหญ่นี้แล้ว ก็จะถูกน้ำดูดจนจมลงไปหมดสิ้นทุกๆลำ ที่จะรอดออกไปได้นั้นไม่ปรากฏว่าเคยมี ต่างก็ร้องไห้อื้ออึงขึ้นมา เพราะความรักตัวกลัวตาย
แต่ท่านราชทูตยังมีสติดีอยู่ เมื่อเห็นเหตุการณ์เป็นๆไปเช่นนั้น ก็ให้ไปเชิญอาจารย์ที่ปรึกษามากราบเรียนถามว่า กำปั่นเราตกลงไปแล่นเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึง ๒-๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านแก้ไขประการใด จึงจะขึ้นจากวนให้พ้นได้ และเราทั้งหลายจะได้รอดจากความตาย
ฝ่ายอาจารย์ใหญ่ ซึ่งพงสาวดารฉบับขุนหลวงหาวัด ระบุว่าชื่ออาจารย์ทอง เมื่อได้เห็นอาการปริวิตกของท่านราชทูตแล้ว ก็เอ่ยปากเล้าโลมเอาใจว่า ท่านอย่าตกใจกลัวเลย เราจะคิดอ่านแก้ไขให้พ้นภัยให้จงได้ ว่าแล้วก็ให้แต่งเครื่องสักการบูชา จุดธูปเทียนแล้วตัวท่านอาจารย์เองก็เข้านั่งเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกสิณ เจริญพระกรรมฐานไปได้ไม่ช้าไม่นาน ก็บังเกิดมหาวาตะพายุใหญ่หวนหอบเอากำปั่นลำนั้นขึ้นพ้นจากวังวนได้ คนทั้งหลายก็มีความยินดี พากันแล่นใบไปถึงปากน้ำเมืองฝรั่งเศส
พระราชพงศาวดารกล่าวย้ำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อีกว่า แม้กระทั่งพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ยังทรงแปลกพระทัยในวิชาความรู้ของท่านอาจารย์ทอง ถึงกับทรงให้เรียกเอาตัวนายเรือ ลูกเรือ ที่เป็นคนฝรั่งเศสมาซักถามปากคำเป็นรายตัว ซึ่งทุกคนก็ให้การถูกต้องตรงกันว่า เรือผ่านพ้นวังน้ำวนมาได้ เพราะวิชาความรู้ของอาจารย์ทอง
แต่ครั้งเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงโปรดให้ล่ามถามโกษาปานถึงเรื่องนี้ โกษาปานกลับใช้สำบัดสำนวนของราชทูตลิ้นทองกราบบังคมทูลว่า“ข้าพระพุทธเจ้าได้กระทำสัตยาธิษฐาน ขอเอาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกสัมพันธมิตรต่อกัน ขอจงอย่าได้เสียศูนย์ขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัตย์นี้เป็นที่พึ่งที่พำนัก ด้วยพระเดชพระคุณบุญบารมีแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ พัดหวนหอบเอากำปั่นขึ้นพ้นจากวนได้”
ก็เห็นจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูลของโกษาปานเช่นนี้แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะมิทรงโสมนัสพระหฤทัย พงศาวดารกล่าวว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูตแล้ว ก็เห็นจริงด้วย ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญมากเสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลให้เป็นอันมาก
ต่อจากนั้นพระราชพงศาวดารก็เล่าถึงความแม่นปืนของทหารฝรั่งเศสว่า วันหนึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงมีรับสั่งให้ทหารฝรั่งเศสยืนเรียงสองแถวหันหน้าเข้าหากันแถวละ ๒๕๐ คน แล้วให้ยกปืนยาวขึ้นประทับบ่า ลั่นไกยิงกันสนั่นหวั่นไหว แต่เพราะทหารฝรั่งเศสยิงปืนแม่นนัก ลูกกระสุนจากปืนแต่ละกระบอกจึงวิ่งเข้าสู่ลำกล้องปืนของทหารที่ยืนอยู่ตรงกันข้าม จึงมิได้มีผู้ใดเป็นอันตราย
เรื่องทหารแม่นปืนฝรั่งเศสยิงปืนกรอกปากกระบอกปืนซึ่งกันและกันนี้ ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารตอนนี้อาจจะไม่รู้ส่วนตื้นลึกหนาบาง คงได้ยินได้ฟังหรือจดจำเอามาจากคำบอกเล่าที่เล่าสืบต่อกันมา และเมื่อเล่าต่อๆกันมาช้านานเข้าก็คงมีการแต้มสีสันหรือมีการโม้ฝอยเพิ่มเติม เรื่องทหารแม่นปืนยิงปืนกรอกปากกระบอกปืนซึ่งกันและกัน มีท่านผู้รู้ได้เคยให้ข้อคิดกับผู้เขียนไว้ว่า น่าจะเป็นตอนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงโปรดให้มีการซ้อมรบให้คณะราชทูตไทยและคณะได้ดู และก่อนที่จะมีการซ้อมรบนั้น ได้มีการยิงสลุตคำนับท่านราชทูต ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนพระองค์ของพระเจ้ากรุงสยาม การยิงสลุตนั้น ตามธรรมเนียมเขาจะบรรจุแต่ดินปืน ไม่ใส่ลูกกระสุน แต่เวลายิงก็จะส่งเสียงครื้นครั่นเหมือนบรรจุลูกกระสุนจริง คณะราชทูตไทยคงจะไม่คุ้นเคยกับธรรมเนียมยิงสลุต พอเห็นทหารฝรั่งเศสยิงปืนใส่กัน และไม่เห็นมีผู้ใดบาดเจ็บล้มตาย ก็เลยนำเรื่องมาฝอยต่อในเมืองไทยว่า ทหารแม่นปืนของฝรั่งเศสยิงปืนแม่นถึงขนาดยิงกรอกปากกระบอกปืนซึ่งกันและกัน
เสร็จจากการซ้อมรบให้ราชทูตและคณะดูแล้ว พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ทรงให้ล่ามถามโกษาปานว่า ทหารกรุงศรีอยุธยานั้น พอจะแกล้วกล้าสามารถเช่นทหารฝรั่งเศสอย่างนี้หรือหาไม่ คำตอบที่ท่านโกษาปานตอบล่ามนั้น มองได้เป็นสองแง่ คือ
ถ้ามองในแง่การทูตแล้ว โกษาปานท่านก็ตอบทำนองตัดรอน คือ ตอบว่าการใช้ทหารเข้าประจัญบานกันเช่นนี้ พระเจ้ากรุงสยามไม่ค่อยจะทรงเชื่อถือ แต่ถ้ามองในด้านความมั่นคงแล้ว คำตอบของท่านโกษาปานนั้นเป็นคำตอบทำนองตัดไม้ข่มนาม คือขู่ไว้ก่อน
ฝ่ายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อได้ทรงฟังคำแปลจากล่ามว่า พระเจ้ากรุงสยามไม่ค่อยจะทรงเชื่อถือการรบเช่นนี้ ก็ทรงเคืองพระราชหฤทัย ทรงสั่งให้ล่ามตั้งกระทู้ถามราชทูตว่า เมื่อพระเจ้ากรุงสยามทรงไม่เลื่อมใสในการสู้รบแบบนี้แล้ว พระทรงทรงเลื่อมใสในการรบวิธีใด ซึ่งโกษาปานก็ตอบไปอย่างทันทีทันควันว่า พระเจ้ากรุงสยามนั้นทรงนิยมในทหารที่อยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาด และสามารถล่องหนหายตัวได้ อย่างทหารเสือของพระองค์ที่ชื่อพระยาสีหราชเดโชชัย(ยะทิปะ)
พอท่านโกษาปานเผลอไผลกราบทูลผ่านล่ามไปแล้ว พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ทรงหัวเราะ ซึ่งเมื่อโกษาปานสังเกตเห็นพระอาการแล้ว ก็ตัดสินใจบอกให้ล่ามกราบบังคมทูลว่า ถ้าหากไม่ทรงเชื่อถือแล้ว ก็ขอพระราชทานให้ทหารแม่นปืนทั้ง ๕๐๐ นี้จงระดมยิงทหารของข้าพเจ้าโดยใกล้และไกล และทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนปืนทั้งสิ้นมิให้ถูกต้องกาย
พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อทรงถูกราชทูตไทยท้าทายเอาซึ่งๆหน้าเช่นนั้นก็ทรงกระอักกระอ่วนพระทัยพระทัยหนึ่งก็อยากจะทดลองให้เห็นดำเห็นแดง แต่ก็ทรงเกรงไปว่าหากยิงทหารโกษาปานบาดเจ็บล้มตายไปก็จะเสียพระราชไมตรี จึงทรงสั่งให้ห้ามเสีย
แต่โกษาปานท่านก็ไม่ยอมย่อท้อ ท่านยืนยันกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสโดยผ่านทางล่ามว่า “พระองค์อย่าทรงวิตกเลย ทหารของข้าพระพุทธเจ้ามีวิชา อาจห้ามกระสุนปืนมิให้ถูกต้องกายได้เป็นแท้ ซึ่งจะเป็นอันตรายนั้นหามิได้ เพลารุ่งพรุ่งนี้ ขอให้ตั้งเบญจาสามชั้นในหน้าพระลาน ให้คาดเพดานผ้าขาวและปักราวัติฉัตรธงล้อมรอบแล้ว ให้ตั้งเครื่องโภชนาหารมัจฉามังสาสุราบานไว้ให้พร้อม ให้ป่าวร้องชาวพระนคราคอยดูทหารของข้าพระพุทะเจ้าจะสำแดงคุณวิชาให้ปรากฏเฉพาะหน้าพระที่นั่ง
โกษาปานกราบบังคมทูลเสร็จแล้ว ก็ถวายบังคมลามาจัดแจงให้อาจารย์ทองผูกเครื่องพระลงเลขยันต์และคาถามหาศาสตราคมให้แก่ทหาร ๑๖ นาย เสร็จพิธีแล้ว ในวันรุ่งขึ้นก็ให้อาจารย์ทองพาทหารทั้ง ๑๖ นาย ซึ่งใส่กางเกง สวมเสื้อ สวมหมวก บัสตู เดินทางไปยังโรงพิธี สำหรับอาจารย์ทองนั้นนุ่งขาวห่มขาว สวมเสื้อครุยขาว พอกเกี้ยวพันผ้าขาว เมื่อไปถึงโรงพิธีแล้วก็นั่งลงและเริ่มรับพระราชทานโภชนาหารมัจฉมังสาสุราบาน พงศาวดารเล่าต่อไปว่า“...พระเจ้าฝรั่งเศสก็สั่งทหารทั้ง ๕๐๐ ให้ระดมยิงทหารไทยพร้อมกัน ด้วยอำนาจคุณพระรัตนตรัย และคุณเลขยันต์สรรพอาคมคาถาวิชาคุ้มครองป้องกันอันตราย พลฝรั่งทั้งหลายยิงปืนนกสับทั้งใกล้และไกลเป็นหลายครั้ง เพลิงศิลาปากนำไม่ติดดินดำ มิได้ลั่นทั้งสิ้น ทหารทั้ง ๑๗ คนก็รับพระราชทานโภชนาหารมัจฉมังสาสุราบานเป็นปกติ มิได้มีอาการสะดุ้งตกใจ
“....พลทหารฝรั่งเศสทั้งหลายก็เกรงกลัวย่อท้อหยุดอยู่สิ้น อาจารย์ไทยจึงร้องอนุญาตไปว่า ท่านจงยิงเถิด ทีนี้ เราจะให้เพลิงติดดินดำแล้ว จะให้กระสุนออกจากลำกล้องทั้งสิ้น..
“....พลทหารพร้อมกันยิงอีกนัดหนึ่ง เพลิงก็ติดดินดำ กระสุนก็ออกจากลำกล้องตกลงตรงปากกระบอกบ้าง ห่างออกไปบ้าง บางกระสุนก็ไปตกลงที่ใกล้เบญจา แต่จะได้ถูกต้องทหารไทยผู้หนึ่งผู้ใดหามิได้
“....พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็ทรงเชื่อเห็นความจริงของราชทูต ทรงพระโสมนัส ตรัสสรรเสริญวิชาทหารไทยว่าประเสริฐหาผู้ใดเสมอมิได้ สั่งให้พระราชทานเงินทองเสื้อผ้าเป็นรางวัลแก่ทหารไทยเป็นอันมาก ให้เลี้ยงดูเสร็จแล้วก็ให้กลับไปสู่ที่สำนัก.........”
ส่วนตัวท่านราชทูตนั้น พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ ....ทรงพระโสมนัสเชื่อถือถ้อยคำราชทูต ทรงพระการุณภาพเป็นอันมาก พระราชประสงค์จะได้พืชพันธุ์ไว้ จึงคิดพระราชทานนางข้าหลวงให้เป็นภรรยาราชทูตคนหนึ่ง แล้วพระราชทานเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง ล้วนประดับด้วยพลอยต่างๆกับฉลองพระองค์ทรงองค์หนึ่ง แล้วให้เขียนรูปราชทูตและจดหมายถ้อยคำไว้ทุกประการ และราชทูตอยู่สมัครสังวาสด้วยภรรยา จนมีบุตรชายคนหนึ่ง มีรูปร่างเหมือนบิดา อยู่ประมาณ ๓ ปีราชทูตจึงกราบบังคมทูลถวายบังคมลา แล้วให้ทูลฝากบุตรภรรยาด้วย
ท่านผู้อ่านที่รัก....ก็เป็นอันว่าโกษาปานท่านไปเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสคราวนั้น ท่านไปอยู่ที่เมืองฝรั่งเศสนานถึง ๓ ปี เกร็ดพิสดารที่ท่านราชทูตไปประสบในเมืองฝรั่งเศสนั้น พอจะหาอ่านกันได้ จึงขอยุติไว้แต่เพียงนี้ ตอนหน้าจะเขียนเล่าเรื่อง อาจารย์ทอง โดยเฉพาะเรื่องของอาจารย์ทองนี้ ถ่ายทอดมาจากบันทึกของฝรั่งเศสร่วมสมัย ซึ่งรับรองว่าหาอ่านได้ยากยิ่ง โดยเฉพาะตอนที่อาจารย์ทองสอนนางคัธรีนเดอ วัวแซง ให้เป็นหมอทำเสน่ห์ยาแฝด และนางเดอ วัวแชงกำเริบเสิบสานถึงกับทำเสน่ห์ยาแฝดกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งผลกรรมจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามอ่านในปักษ์หน้า