เรื่องย่อละคร “ธิดาผ้าซิ่น”
บทประพันธ์ : เทพิตา
บทโทรทัศน์ : ฐา-นวดี สถิตยุทธการ
กำกับการแสดง : สุรวุฑ ไหมกัน
แนวละคร : โรแมนติก - ดราม่า
ผลิต : บริษัท มาสก์ จูเนีย จำกัด
วันเวลาออกอากาศ :
ระยะเวลาออกอากาศ : เริ่มตอนแรก
จำนวนตอนออกอากาศ : 15/+/-
ธิดา (รับบทโดย นุชนารถ อุชุพงศธร) ผู้ที่อยู่ในครอบครัวยากจนแต่เปี่ยมไปด้วยความสุข เธอเป็นลูกสาวคนโตของ นายแก้ว (รับบทโดย ชรัส เฟื่องอารมย์) และ นางบุษบา (รับบทโดย รัชนี ศิระเลิศ) นายแก้วทำงานเป็นคนขับรถในโรงงานทอผ้าซิ่น อุดมประเสริฐ จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเป็นสาวทอผ้าซิ่นในโรงงานแห่งนี้เช่นกัน ธิดาตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยและเสียสละให้น้องสาวคนกลางอย่าง ธาริณี เรียนแทน เพื่อแบ่งเบาภาระของทางบ้าน ซึ่งเธอก็ยังมีน้องชายคนเล็กชื่อ ธิติ ที่เพิ่งเข้าเรียนระดับ ม.1 อีก 1 คน แถมยังมีเพื่อนรักอย่าง จารุณี (รับบทโดย ภรภัสสรณ์ ชัยอนันต์นิธิ) และ สันติ (รับบทโดย คณิศ ปิยะปภากรกูล) ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่เด็ก โดยที่จารุณีก็แอบอิจฉาธิดาเล็กๆ จากการที่ธิดามีครอบครัวที่รักกันกลมเกลียว และสันติ ชายที่เธอรักดันไปแอบหลงรักธิดาอีก แต่เธอก็รู้ดีว่าสายสัมพันธ์แห่งเพื่อนสำคัญกว่าสิ่งใดทั้งมวล…
ธิดาไปลงประกวดร้องเพลงในวาระครบรอบปี การก่อตั้งโรงงานอุดมประเสริฐ โรงงานทอผ้าซิ่นใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคอีสาน และได้มีความรู้สึกพิเศษกับ สุรนาถ (รับบทโดย ณัฏฐ์ ทิวไผ่งาม) ลูกชายคนเดียวของ ปรียาภรณ์ (รับบทโดย มยุริญ ผ่องผุดพันธ์)ที่เพิ่งเรียนจบจากต่างประเทศ เป็นเจ้าของโรงงานที่มารับช่วงบริหารงานแทน สุวัฒน์ ผู้เป็นสามีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งปรียาภรณ์ก็รู้สึกถูกชะตากับธิดาไม่แพ้กัน ผิดกับ ลลิตา (รับบทโดย นภัสนันท์ อัจฉริยะกุณช์) ลูกสาวของ ลิลุนารถ เพื่อนรักของแม่ที่แอบหลงรักและคอยตามติดสุรนาถ
ในการประกวดครั้งนี้เธอต้องแข่งขันกับ ชนิษา (รับบทโดย อรินทร์มาศ บุญครองทรัพย์) ลูกสาวของ กำนันก้อน ผู้ทรงอิทธิพลของหมู่บ้านซึ่งก็ได้ใช้เล่ห์กลโกงทั้งจากการที่ให้พ่อวิ่งเต้นกรรมการ รวมถึงเธอที่ใช้ตัวเข้าแลกกับ ปลัดบุญชัย ประธานกรรมการตัดสินเพื่อได้มาซึ่งชัยชนะ และสุดท้ายเธอก็ได้เป็นผู้ชนะสมใจทำให้ธิดาได้เพียงรางวัลรองอันดับ 1 แต่เธอก็ได้กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนรักทำให้เธอไม่ยอมแพ้แค่นี้นอกจากนั้นธิดายังได้คำปลอบใจจากปรียาภรณ์ที่รักเธอเหมือนลูก และเธอได้ขอไปทำงานที่โรงงานทอผ้าอีกแห่งของปรียาภรณ์ในจ.ปทุมธานีแทนการที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านของปรียาภรณ์เพราะอยากทำฝันหลายอย่างให้เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แถมเธอยังภูมิใจในอาชีพสาวโรงงงานทอผ้าแบบแม่ อยากทำให้อาชีพนี้เป็นที่ยอมรับ และเป้าหมายสำคัญคือ เป็นสาวโรงงานปริญญาให้จงได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของธิดาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกในชีวิตกับสังคมแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แต่ในที่สุดเธอก็สามารถพิสูจน์และทำตามความฝันได้สำเร็จ และได้รับตำแหน่ง ‘ธิดาผ้าซิ่น’ จากการประกวดในที่สุด