“อินเด็กซ์” ทุ่ม 30 ล้าน ทำ “รอยดุริยางค์ เดอะมิวสิคัล”
เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
“อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” จัดงานแถลงข่าวแนะนำละครเวทีเรื่อง “รอยดุริยางค์ เดอะมิวสิคัล” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ดนตรีไทย และในโอกาสครบรอบ 130 ปี คนไทย 19 คน เดินทางไปเล่นดนตรีไทย ในงานมหกรรมแสดงสินค้าและดนตรีนานาชาติ ณ กรุงลอนดอน พ.ศ. 2427
เปิดงานด้วย “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาละครเวที รอยดุริยางค์ เดอะมิวสิคัล ต่อด้วยความร่วมมือจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม “ดร. อภินันท์ โปษยานนท์” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยมีนักแสดงในเรื่อง “แบงค์ วงแคลช, โบว์ สาวิตรี AF, นัททิว AF, เก่ง The Voice , แอน นันทนา บุญหลง” เข้าร่วมงาน
“เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน” ประธานบริหาร บ. อินเด็กซ์ ฯ
“ในโอกาสครบรอบ 25 ปีอินเด็กซ์ฯ และเป็นปีมงคลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ องค์อุปภัมภ์ดนตรีไทย อินเด็กซ์ฯ จึงได้สร้างสรรค์ละครเวที “รอยดุริยางค์ เดอะมิวสิคัล” เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของดนตรีไทย อันเป็นเอกลักษณ์และรากเหง้าที่บรรพบุรุษนำมาเป็นเกราะป้องกันเอกราชไว้เพื่อลูกหลาน อยากให้ทุกคนได้ดู เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน ภูมิใจในศิลปะของชาติ"
“มารุต สาโรวาท” ผู้กำกับ
“เราอยากทำเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทยที่คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกเกี่ยวพันว่าเป็นสมบัติของตัวเอง ประกอบกับการสืบค้นทางประวัติศาสตร์พบว่า มีนักดนตรีไทย 19 คน เดินทางรอนแรมไปแสดงดนตรีถึงหน้าพระที่นั่งพระราชินีนาถวิคตอเรีย ยังไม่มีใครหยิบเรื่องนี้มา เป็นเรื่องที่ตกหล่นทางประวัติศาสตร์ เราก็อยากให้เรื่องนี้อยู่ในความทรงจำของคนไทย
ด้วยการเล่าให้อยู่ในยุคปัจจุบันแล้วกลับไปยังอดีต ลักษณะแฟนตาซี น่าตื่นตะลึง ด้วยเทคนิคพิเศษที่อินเด็กซ์จะสามารถพาคนดูย้อนเวลากลับไปได้ เปลี่ยนทั้งหมดตั้งแต่เหตุการณ์ในปัจจุบัน ข้าวของเครื่องใช้ สีสัน สำเนียง กลับไปใน 130 ปีในยุคที่รุ่งเรืองของดนตรีไทย
จากหลักฐานหนึ่งหน้าใช้เวลาสองปีสืบค้นตัวตนบุคคลทำให้ได้ข้อมูล นักดนตรี 19 คนเดินทางกลับมาเมืองไทย 17 อีก 2 คนเสียชีวิตที่นั่น เล่นอะไรบ้าง โปรแกรมที่ไหนบ้าง ก่อนจะได้เข้าเฝ้าจริงๆ ได้เล่น “ก๊อดเซฟเดอะควีน” พระราชินีนาถทรงชื่นชม ซึ่งเครื่องดนตรีจีนกับอินเดียเล่นเพลงนี้ยังเพี้ยน แต่เครื่องดนตรีจากสยามประเทศเล่นได้เพราะและเทียบคีย์สากลได้ จากนั้นยังไม่ได้กลับบ้าน ไปแสดงศักยภาพของดนตรีไทยต่อ ประเทศเล็กๆ เอาอารยธรรมตัวเองไปเผยแพร่ในต่างชาติ
“แบงค์ วงแคลช”
“ถ้าเรื่องนี้มาติดต่อเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จะไม่รับเล่น เพราะว่า เกินตัว แล้วก็ยากเหลือเกิน แต่พอตอนนี้ติดต่อมา ผมไม่เล่นไม่ได้ แล้วก็ยอมไม่ได้ มีโจทย์มากมาย ต้องตีระนาดให้เหมือนคนที่ตีระนาดมาหลายปี ล่าสุดมีโจทย์ใหม่ เป่าขลุ่ยด้วย ก็ต้องทำให้ได้ เตรียมตัวด้วยการทำหลายอย่าง ทั้งการแสดง ต้องแคสหนักมาก แล้วมีช่วงพักให้กลับไปซ้อมใหม่
ละครเวที การซิงค์มันไม่มีอยู่แล้ว จะมาซิงค์ระนาดก็ตลกมาก เป็นไปไม่ได้ ผมเป็นคนค่อนข้างชาตินิยม โตมากับคุณย่า คุณแม่ เราเป็นคนไทย เราภูมิใจ เวลาไปเกาหลีคนจะไปถ่ายกับชุดฮันบก ชุดกิโมโน ผมว่าชุดไทยสวยกว่า ไม่ว่าการถักทอ หรือออปชั่นต่างๆ มากมาย เรามีดี น่าภูมิใจมาก”
“นัททิว AF”
“ผมรู้สึกภูมิใจ เราทำงานอยู่ต่างประเทศจนคนไทยมองเราไม่ใช่คำว่าไทย วันนี้เรามีโอกาสได้ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านตัวเราเอง เป็นโอกาสที่ดีมาก แล้วก็เข้าใจที่พี่แบงค์พูด ถ้าไม่รับ นี่ไม่ได้จริงๆ เพราะว่าน่าสนใจมาก เป็นโอกาสดีมาก ที่คนไทย โดยเฉพาะวัยรุ่นสมัยนี้อยู่ในเทรนด์ของเพลงนานาชาติ อยากให้กลับมาเห็นคุณค่าวัฒนธรรมของเพลงไทยด้วย พอได้รับตรงนี้ ได้มีโอกาสถ่ายทอดก็ดีใจมาก ภูมิใจมาก”
“โบว์ สาวิตรี AF”
“โบดีใจ อยากเล่นมาก ตอนมาแคส ก็บอกผู้จัดการว่าอยากเล่นมาก บทนี้เป็นบทที่รอคอย โบหลงใหลในดนตรีไทยตั้งแต่เด็กๆ อยากเป็นนางรำแต่ไม่มีโอกาสได้เรียนจริงจัง พอมาแคสบทนี้ จะได้รำละครจริงจังเลย ยิ่งดีใจมาก อยากได้บทนี้มากค่ะ ส่วนตัวเล่นขิมด้วย ฟังดนตรีไทยแล้วจะรู้สึกเย็น ดีใจที่เป็นคนหนึ่งได้มีโอกาสถ่ายทอดวัฒนธรรมไทย เกี่ยวกับดนตรีไทยค่ะ”
“เก่ง The Voice”
“ผมดีใจครับ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ผมว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่ ละครเวทีเรื่องอื่น ผมได้สร้างสิ่งมีค่าให้กับประเทศชาติด้วยครับ แล้วเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เด็กวัยรุ่นหันมาดู จริงๆ เรามีวัฒนธรรมที่สวยงามมากๆ โดยเฉพาะดนตรีไทย ก็ยังหายใจอยู่ตรงนี้”
“แอน นันทนา บุญหลง”
“ก็ตื่นเต้นนะคะ ในเรื่องเราเป็นคนเดียวที่ย้อนยุค แต่เป็นคนสมัยใหม่มาก ได้สะท้อนให้เห็นคนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ ที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างเอาไว้ วันนี้ก็ดีใจแล้วก็ภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งของ รอยดุริยางค์”
เปิดการแสดงเพียง 6 วันเท่านั้น 20-25 สิงหาคมนี้ เพียง 10 รอบ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
(เรื่องและภาพ กนก โชคะ รายงาน)