xs
xsm
sm
md
lg

15 รสนิยายรักในวาระก้าวสู่ปีที่ 15 "สถาพรบุ๊คส์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประวิทย์  สุวณิชย์
เริ่มต้นปรากฏตัวบนบรรณพิภพด้วยหนังสือแนวสารคดี แต่ต่อมาคลำหาจุดที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตจนเจอ ในที่สุดสำนักพิมพ์ "สถาพรบุ๊คส์" ก็ปักธงเอาไว้ที่การนำเสนอหนังสือประเภทนวนิยายซึ่งเป็นหมวดหมู่หนังสือที่มีผู้อ่านมากเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศ เมื่อค้นจนพบสถาพรบุ๊คส์ก็ยึดมั่นการผลิตหนังสือนิยายเป็นหลักมาตลอด 15 ปีที่ผ่านไป

และเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง 15 ขวบปีที่เติบโตมาโดยตลอด สถาพรบุ๊คส์จึงผุดโปรเจค '15 ปีสถาพรบุ๊ค 15 นิยายรักจับใจ' ขึ้นมาเป็นของขวัญแด่แฟนๆ นิยายของสถาพรบุ๊คส์ วันนี้ "ประวิทย์ สุวณิชย์” บรรณาธิการบริหารของสถาพรบุ๊คส์จูงมือนักเขียนแม่เหล็กที่เป็นตัวแทนของโปรเจคนี้ 4 คน(จากทั้งหมด 15 คน) มานั่งพูดคุยแบบหมดเปลือกเกี่ยวกับที่มาที่ไปของโปรเจคยักษ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการนิยายรัก ตลอดจนก้าวต่อไปของสถาพรบุ๊คส์ที่คอนิยายและแฟนละครโทรทัศน์(นิยายของสถาพรบุ๊คส์ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์สูงเป็นอันดับต้นๆ) ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ประวิทย์เริ่มต้นเล่าย้อนไปถึงวันแรกที่ก่อตั้งสำนักพิมพ์แห่งนี้ด้วยท่าทีสบายๆ เนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในขุนพลคนสำคัญที่ขับเคลื่อนสถาบุ๊คส์ให้เติบโตมาตามเส้นทางที่เห็นและเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้

“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นตัวเลขกลมๆ ที่จำได้แม่น เราไม่ได้เริ่มมาจากงานนิยายเลย จุดเริ่มต้นของเราคืองานสารคดี เพียงแต่ว่าพอได้เห็นช่องทางว่าตลาดหนังสือของไทย หนังสือประเภทนวนิยายเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุด พอเราเริ่มต้นจากก้าวแรกมาแล้วเนี่ย มันก็มีทางเดินมาเป็นลำดับ ซึ่งเราก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่านิยายประเภทไหนที่เป็นที่สนใจของผู้อ่าน เราก็พยายามจะตอบสนองความต้องการของผู้อ่านไปในทางนั้น"

หลังจากปักหลักบนเส้นทางสายนิยาย สถาพรบุ๊คส์ก็ค่อยๆ แตกแขนงนิยายออกไปอีกหลายประเภทเพื่อตอบสนองตลาดและเปิดตลาด พร้อมทั้งมองหานักเขียนที่ถนัดชำนาญในแต่ละประเภทมาร่วมงานด้วย ถึงปัจจุบันนี้สถาพรบุ๊คส์ได้แตกสำนักพิมพ์ย่อยๆ ในเครือออกมาจำนวนหนึ่ง เช่น พิมพ์คำ ชูการ์บีท มายดรีมเพื่อผลิตนิยายที่โดนใจนักอ่านแต่ละประเภทและเพื่อให้เกิดเอกภาพในแต่ละแบรนด์ไม่ทับซ้อนปนเปื้อนกันจนผู้อ่านงุนงง

“พิมพ์คำเป็นแบรนด์แรกของเรา แล้วก็จะเป็นผู้นำนิยายในท้องตลาด ถ้าเดินเข้าไปในร้านหนังสือหรือในตลาดนิยายทั่วไป พิมพ์คำก็ต้องถือว่าเป็นแถวหน้าของผู้ผลิตหนังสือประเภทนิยายนะครับ เพราะว่าเท่าที่เราทำมาก็มีหนังสือน่าจะเกือบๆ พันชื่อเรื่องนะครับ แค่ประเภทนิยาย แล้วนิยายของเราก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้อ่าน แล้วก็โยงไปถึงความเป็นละครโทรทัศน์ที่สร้างมาจากนิยายของพิมพ์คำด้วย" ประวิทย์เล่าอย่างภาคภูมิใจ

เมื่อประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 15 ปีเต็ม ก็ถึงเวลาที่สถาพรบุ๊คส์จะต้องมีอะไรตอบแทนผู้อ่านกลับไปบ้าง ในวาระที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติเวียนมาถึงอีกครั้งก็เป็นโอกาสอันดีที่สถาพรบุ๊คส์จะผุดโปรเจคใหญ่ยักษ์ขึ้นมาเพื่อปลุกเร้าแวดวงหนังสือนิยายรักให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

“วาระที่เราจะก้าวขึ้นสู่ปีที่ 15 ของสถาพรบุ๊คและของพิมพ์คำ เราคิดว่าน่าจะต้องทำโปรเจคอะไรสักอย่างเพื่อมาตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดนิยายของเรา ก็เอาตัวเลข 15 ปี มาเล่น เราหานักเขียนที่เป็นตัวแม่เหล็กของสามสำนักพิมพ์ของเรา คือ พิมพ์คำ ชูการ์บีท และมายดรีม เป็นสามสำนักพิมพ์หลักที่พิมพ์หนังสือนิยายโรแมนติก ก็ได้คัดเลือกนักเขียน 15 คนซึ่งเป็นนักเขียนแม่เหล็ก แล้วก็ดูสิว่าทั้ง 15 คน เวลาเขาเขียนนิยายสักเรื่องนึง เขามีนิยามความรักในมุมมองของเขาอย่างไรบ้าง ก็จะได้มา 15 นิยาม 15 เรื่อง"

และสี่ในสิบห้านักเขียนที่ร่วมกันทำงานในโปรเจคนี้ก็นั่งอยู่ข้างๆ ของประวิทย์ เริ่มต้นที่นักเขียนนิยายรักแนวหักมุมอย่าง "อุมาริการ์" คุณแม่ลูกสองที่จบปริญญาโททางด้านการจัดการสารสนเทศ (MIS) ซึ่งเคยทำงานประจำให้กับAIA, TA Telecomunication และองค์กรนานาชาติ อย่าง United Airlines Maintenance Center ใน San Francisco อุมาริการ์ตัดสินใจทิ้งความมั่นคงของงานประจำเพื่อมาเขียนหนังสือเต็มตัวในวันที่มีสถานะเป็นแม่โดยสมบูรณ์

"เราพบว่าชีวิตการทำงานบริษัทที่เป็นสาวออฟฟิศไม่เหมาะกับการเป็นแม่น่ะ เพราะว่างานเราหนักมาก แล้วตอนหลังเราต้องประสานงานระหว่างประเทศ ประสานงานกับฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวลาเขาไม่แมทช์กับเรา เราไปถึงเจ็ดโมง แปดโมงเขาทำงานแล้ว พอสิบเอ็ดโมงเขาเที่ยง เขาพักแต่เรายังทำงาน พอเราจะกินข้าวเขาทำงานอีกแล้ว อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ แล้วเราก็ต้องทำงานหนักเพื่อทีม เสร็จแล้วลูกก็ต้องอยู่กับพี่เลี้ยง เรามีความรู้สึกว่าอย่างนี้ลูกของเราก็ต้องโตมากับพี่เลี้ยง เราก็จำเป็นต้องเลือกน่ะ"

เพราะชอบเขียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้อุมาริการ์เดินหน้าสู่การเป็นนักเขียนอาชีพภายในเวลาไม่นาน หลังจากที่ให้โอกาสตัวเองเข้าไปเรียนวิชาการเขียนบทโทรทัศน์กับ "ลลิตา ฉันทศาสตร์โกศล" และ "ปราณ ประมูล" ผลงานของเธอเข้าตาอาจารย์จนทั้งสองชักชวนให้อุมาริการ์ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมเขียนบทละครที่ชื่อ "คนหลังม่าน"

“เขียนบทได้ประมาณห้าปีค่ะ ทีนี้ช่วงนึงเราเหนื่อยมาก อาชีพเขียนบทมันเหนื่อยมากๆ แล้วตอนนั้นเราก็มีลูกเล็กๆ ตอนนั้นมีน้องคนที่สอง ก็รู้สึกว่าเหนื่อยและไม่สบาย พี่ไม่ไหวแล้ว เราเลยคิดว่าลองไปเขียนนิยายดีมั้ย พอลองไปเขียนก็ได้ตีพิมพ์ ก็เลยเป็นจุดของการกลับไปเขียนนิยายอีกครั้งนึงค่ะ"

ด้วยฝีไม้ลายมืออันเป็นเอกลักษณ์ของอุมาริการ์ทำให้เธอได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักอ่าน การกำหนดตัวละครออกมาอย่างลุ่มลึกเสมือนเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่ยากจะหาใครลอกเลียนแบบ และเมื่อได้รับการทาบทามให้มาเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจค 15 ปีสถาพรบุ๊คส์ อุมาริการ์ก็เลือกโจทย์ที่เธออยากเขียนมานานแต่ไม่เคยได้เริ่มสักที

“เขาให้เราเลือกโจทย์นะ เขามีเรื่องรัก 15 ปี 15 เรื่อง ก็ต้องชิงดำกับคุณซ่อนกลิ่น(หัวเราะ) จริงๆ เราแย่งกับพี่เชอร์รี่(นามปากกา เชอริณ)ไม่ทัน พี่เชอร์รี่เขาได้รักต้องหลอนไป เราชอบเขียนเปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ และไม่เคยเขียนเรื่องผีก็เลยอยากเขียน เราช้ากว่าพี่รี่ไปเส้นยาแดงผ่าสิบแปด(หัวเราะ) แต่ไวกว่าคุณซ่อนไปนิดนึง โจทย์ที่เราเลือกคือ รักต่างวัย พอดีว่าก่อนหน้านี้เคยคุยกับพี่วิทย์เอาไว้บ้างแล้ว พี่วิทย์เลยบอกว่าก็เอาอันนี้สิ เธอเคยคิดแล้วนี่ พระเอกกับนางเอกอายุห่างกัน 18 ปี"

“จริงๆ แล้วเหมือนมันจะง่ายเพราะถ้าเราจะคิดว่ามันก็เป็นเรื่องของโคแก่กินหญ้าอ่อน อะไรแบบนั้น แต่ด้วยความที่พี่วางบุคลิกของพระเอกเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้นำแบรนด์ CEO ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในเมืองไทยซึ่งคนอย่างนี้เขาจะไม่เหลาะแหละน่ะ เขาจะไม่ได้โกรธผู้หญิงแล้วไปฉุดมาปล้ำ ต้องไม่ใช่แบบนั้นแน่ ถ้าเราเขียนไปก็ดูวุฒิภาวะไม่ได้ ดูไม่น่าเชื่อด้วยลักษณะ นิสัย งาน สิ่งแวดล้อม ตัวละคร ก็เลยกลายเป็นโจทย์ๆ นึงที่เราจะต้องแก้ออกมาให้ได้ว่า 18 ปีนี้ จุดที่เขาแตกต่างกัน ข้อที่เป็นสิ่งกีดขวางระหว่างสองคนคืออะไร"

นักเขียนหญิงคนต่อมาคือ "เชอริณ" นามปากกาของคนที่อุมาริการ์บอกว่าเลือกหัวข้อนิยายตัดหน้าเธอไปได้ เชอริณจบปริญญาโทคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปศึกษาต่อหลักสูตรภาษาอังกฤษระยะสั้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาทำงานก็อปปี้ไรท์เตอร์ในบริษัทเอเจนซี่ ทำงานสักพักพบว่าตัวเองอยากแปลนิยายจึงเริ่มหันไปทำงานแปลและลงเอยด้วยการเขียนนิยายของตัวเองภายใต้นามปากกา "อิสย่าห์" ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเชอริณในปัจจุบัน

เชอริณเริ่มต้นบนเส้นทางนักเขียนอย่างจริงจังเมื่อหกปีที่แล้ว ด้วยการเขียนนิยายลงในเว็บไซต์เด็กดี ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ในยุคนี้เลยทีเดียว
"เรื่องแรกที่เขียนคือ “กามเทพเล่นกล” เมื่อ 6 ปีที่แล้ว มาเริ่มเขียนจริงจังตอนอายุ 35-36 อยากเขียนมานานแล้วแต่ยังเขียนไม่เป็น ก็เลยไปแปลนิยายภาษาอังกฤษก่อน 3 ปี 17-18 เล่ม เป็นนิยายโรแมนซ์ พาฝันไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีอะไร ตอนแปลทรมานมากเพราะว่าแปลไม่เก่ง ต้องส่งไปส่งมา แก้ใหม่ทั้งเล่มกว่าจะผ่านได้"

การหมกมุ่นดูซีรี่ย์เกาหลีทำให้มุมมองของเชอริณเปลี่ยนไป เธอเริ่มคิดพล็อตนิยายของตัวเองขึ้นมาได้จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเธอในปัจจุบันที่นิยายของเธอจะต้องมีกลิ่นอายความโรแมนติกน้ำเน่าที่สะสมมาจากการดูซีรี่ย์และภาพยนตร์เรื่องต่างๆ

อย่างละครเรื่อง แรด ที่กำลังจะลงจอที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก็เป็นผลผลิตจากปลายปากกาของเธอ "แรด เป็นแนวโรแมนติกคอมาดี้ เป็นคนชอบเขียนอะไรขำๆ พระเอกจะเป็นเพลย์บอยเจ้าชู้ พระเอกก็คือแรด นี่ล่ะค่ะ ส่วนนางเอกจะเป็นเด็กใจแตก ที่บ้านมีปัญหา เขาไม่ได้ทำตัวไม่ดี แต่แกล้งทำตัวเละเทะ ประชด เขาจะร้ายมาก แล้วพระเอกก็เจ้าชู้มาก สองคนมาเจอกัน วุ่นวายไปทั้งเรื่องเลย พระเอกก็เจ็บตัวทั้งเรื่อง เราได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องแรด เขาบอกเอาแนวขำๆ นะ พอเขียนจบจะตั้งชื่อให้ใหม่ โอเค.ค่ะ ปรากฏว่า ไม่เปลี่ยนชื่อ จะได้ดูปลายปี”

เมื่อพูดถึงโปรเจค 15 ปีสภาพรบุ๊คส์ เชอริณก็พูดถึงนิยายรักที่เธอเขียนขึ้นมาจากการเลือกโจทย์ "รักต้องหลอน" ซึ่งอุมาริการ์จ้องจะหยิบไป เรื่อง “วิวาห์สนธยา” เป็น 1 ใน 15 เรื่อง 15 ความรัก เขาให้ธีมมาเป็นรักต้องหลอน ในเรื่องจะมีผีเด็ก ก็จะขำๆ ไม่อยากเขียนให้น่ากลัวมาก มีคอมเมดี้ น่ากลัวบ้าง สืบสวน แต่ก็โรแมนติกด้วย โรแมนติกมาก” เชอริณย้ำด้วยรอยยิ้ม

นักเขียนคนต่อไปคือ "เตชิตา" คุณแม่ยังสาวลูกสามที่เลี้ยงลูกด้วยตัวเองมาโดยตลอดจนถ่ายทอดความรักและความศรัทธาที่มีต่อสถาบันครอบครัวลงไปในงานทุกชิ้นของเธอ เตชิตาพูดถึงเส้นทางที่เดินมาก่อนที่จะเป็นนักเขียนที่มีแฟนๆ อย่างในทุกวันนี้ว่า "“เริ่มจากเขียนลงในเว็บไซด์เด็กดีก่อนเลย ตั้งแต่ปี 51 ตอนนั้นทำงานแล้ว ปี 50 เศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจรับซื้อวัสดุที่ทำกับสามีก็ไม่ดี เราค่อนข้างเครียด ประสบปัญหา บ้านโดนยึด รถโดนยึด ทำอะไรไม่ได้ก็เข้าเว็บไซด์อ่านนิยาย"

"ช่วงนั้นพี่ณาราดังมาก เราเข้าไปอ่านในเว็บส่วนตัวของเขา ซึ่งช่วงนั้นในเว็บนี้มีแต่นิยายรักสีขาว ทุกคนที่ไปลงในเว็บนี้จะไม่อัพเรื่องวาบหวิว ถ้าลงเขาก็จะแบน ส่วนเว็บอื่นๆ ก็มีแต่เราไม่รู้จัก ตอนนั้นติดเรื่อง “ทุวะดารา” มาก เรื่องเกี่ยวกับกับสามีภรรยามีปัญหาฟ้องร้อง น้องคนเขียนเรียนด้านกฎหมายมา เราอ่านแล้วติด พอนักเขียนไม่ได้ลงทุกวัน เราก็เกิดความอยากอ่าน เฮ้ย เขียนช้า เขียนเองดีกว่า ตอนนั้นที่เขียนยังไม่ได้คิดว่าจะขายได้หรืออย่างไรเลย”

"เขียนมาปีหนึ่ง ลองส่งสำนักพิมพ์ดอกหญ้าดู ไปหาเขาที่งานสัปดาห์หนังสือ พอเขาเข้าไปดูในเว็บว่าเรามีแฟนหนังสือเขาก็พิมพ์ให้ ชื่อเรื่อง “เริ่มที่ร้ายลงท้ายที่รัก” ปี 52 ในหนึ่งปีนั้นเราเขียน 4 เรื่อง เขียนทีละเรื่องต่อเนื่องกัน พอเขียนเรื่องแรกก็มีเพื่อนของพระเอกนางเอกก็เอามาจับเป็นเรื่อง 2 เรื่อง 3 เรื่อง 4”

สำหรับโปรเจค 15 ปีสถาพรบุ๊คส์ 15 นิยายรักนั้น เตชิตาได้รับการทาบทามให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งทันทีที่โปรเจคอนุมัติ โจทย์ที่คุณแม่ลูกสามคนนี้เลือกก็คือ "รักพอเพียง"

"ของเราเป็นความรักแบบหนึ่งในนั้นชื่อเรื่อง “พันธะสัญญาหัวใจ” นางเอกเป็นเกษตรกร รักบ้านเกิด รักชุมชน สูญเสียพ่อตอนอายุ 17 พ่อเป็นทหาร พระเอกก็เป็นทหาร ความรักของทหารคือเสียสละเอาตัวเข้าปกป้องพระเอก เกิดบุญคุณต้องทดแทน ก่อนพ่อนางเอกจะเสียชีวิตก็ฝากฝังไว้กับพระเอก เพราะนางเอกตัวคนเดียว อายุน้อย ญาติจะมาฮุบสมบัติ ฝากฝังให้พระเอกดูแลให้บรรลุนิติภาวะดูแลตัวเองได้ ก็แต่งงานกันในนาม พระเอกรับปาก ส่งเสียค่าเล่าเรียนให้นางเอก เรียนเกษตร แนวเรื่องโรแมนติก ใช้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง"

"ขอฝากผลงาน “พันธะสัญญาหัวใจ” 15 ปีกับสถาพรไว้ด้วยนะคะ อยากให้เพื่อนๆ มาลองดูว่า การที่คนๆ หนึ่งรักถิ่นฐานบ้านเกิดของเขา เขาทำอะไรเพื่อถิ่นฐานบ้านเกิดของเขามันไม่ใช่ความรักแค่หนุ่มสาว ความรักของพ่อที่ห่วงลูก ความรักของผู้หญิงคนหนึ่งที่มีต่อชุมชนของเธอ เธอทำอะไรเพื่อชุมชน และความรักของหนุ่มสาว ของเธอได้บ้าง"

“ซ่อนกลิ่น" คือนักเขียนคนสุดท้ายที่มาเปิดตัวนิยายในโปรเจค 15 ปีสถาพรบุ๊คส์ในวันนี้ บางคนอาจจะรู้แล้วว่าซ่อนกลิ่นคือผู้ชาย แต่ก็มีนักอ่านอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ เพราะนามปากกา "ซ่อนกลิ่น" ชวนให้เข้าใจไปว่าเธอคือนักเขียนหญิงผู้เพ้อฝันคนหนึ่ง

“ไปแจกลายเซ็นต์ทุกปี ก็จะมีคนเข้ามาถามทุกปีว่า อ้าว เป็นผู้ชายหรอกหรือ (หัวเราะ) ตอนแรกที่เขียนนิยายลงเว็บ ทางบก. แกไปเห็นต้นฉบับเข้าก็อยากเอามาพิมพ์ แกก็บอกว่ามีนามปากกาสักหน่อยดีมั้ย ก่อนหน้านั้นเคยออกหนังสือกับสยามอินเตอร์บุ๊คเล่มนึงก่อน เป็นแนวสืบสวนเพียวๆ เลย ก็ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงเป็นนามปากกาไปเลย พอเปลี่ยนมาเขียนแนวรัก ก็ อ่ะ มีนามปากกาหน่อยดีมั้ย คนจะได้จำง่ายๆ แล้วถ้ามาเขียนแนวรักเราก็นึกถึงดอกไม้น่ะครับ ที่มันเป็นตัวแทนของความรัก ทีนี้ก็ไปเปิดดูดอกไม้ เขาก็ใช้กันหมดแล้ว กฤษณา กุหลาบ อะไรแบบนี้ ก็ความหมายดีๆ ใช้กันหมดแล้ว ก็ไปเห็นซ่อนกลิ่น คงจะไม่มีใครใช้ เพราะมันเอาไปใช้ในงานศพ ชื่อมันไม่ค่อยเป็นมงคลเท่าไหร่"

ซ่อนกลิ่นเริ่มต้นเป็นนักเขียนด้วยแนวทางคล้ายๆ กับนักเขียนร่วมยุคร่วมสมัยกับเขาอีกหลายคน นั่นคือการเขียนลงบนพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับนักเขียนหน้าใหม่อย่างเว็บเด็กดี ก่อนจะได้รับการทาบทามจากสถาพรบุ๊คส์ให้เขียนนิยายรักเป็นประจำ โดยซ่อนกลิ่นบอกว่านิยายรักที่เขาเขียนส่วนใหญ่จะเป็นแนวรักตบจูบ

โปรเจค 15 ปีสถาพรบุ๊คส์ 15 นิยายรักนี้ ซ่อนกลิ่นเลือกโจทย์ที่เขามีพล็อตเรื่องที่วางเก็บไว้ในลิ้นชักมานานอย่างการเล่นกับความรักที่เกิดขึ้นต่างช่วงมิติของเวลา

“มันมีให้เลือกเยอะครับ แต่เรามาดูว่าเราสนใจอะไร เพราะการที่จะเขียนหนังสือได้ หนึ่งเลยต้องมีความสนใจในเรื่องนั้นๆ ก่อน เราถึงจะเขียนได้อย่างถูกต้องและสนุกสนาน นั่งดูไปดูมา เรามีพล็อตเกี่ยวกับรักต่างเวลาอยู่แล้วเรื่องนึง ก็เลยเอา ส่งให้บรรณาธิการ เขาก็โอเค ก็เอาเรื่องนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของผู้หญิงสามคนซึ่งอายุต่างกัน อยู่ต่างเวลา แต่สุดท้ายมันจะขมวดปมมาให้สามคนนี้เกี่ยวพันกันได้อย่างไร ถ้าบอกมาเดี๋ยวจะเฉลยกันหมด(หัวเราะ)”

ประวิทย์บอกว่าโปรเจค 15 ปีสถาพรบุ๊คส์ 15 นิยายรักจับใจเป็นโปรเจคใหญ่ที่สถาพรบุ๊คส์ต้องการมอบเป็นของขวัญคืนกลับไปให้ผู้อ่าน “ตัวเลข 15 เป็นแค่กิมมิกเฉยๆ น่ะครับ เพราะการเขียนนิยายรักเป็นสิ่งที่นักเขียนทำอยู่แล้ว เขียนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเขาอาจจะไม่ได้พูดขึ้นมาชัดๆ ว่านิยายเรื่องนี้ของเขาเป็นความรักรูปแบบไหน เพียงแต่ว่าถ้าคนอ่านได้อ่านก็จะเข้าใจกันเอง ว่า อ๋อ เรื่องนี้เป็นนิยายรักข้ามภพนะ เล่มนี้เป็นนิยายรักต่างวัยนะ คนอ่านจะรู้เอาเอง แต่การที่เราหยิบยกขึ้นมาให้เห็นชัดๆ เหมือนเป็นลูกเล่นทางการตลาดน่ะครับ ว่าเราจะเฉลิมฉลอง 15 ปีสถาพรบุ๊คส์ด้วยนิยายรัก 15 เล่ม ซึ่งมันก็จะผ่านการดีไซน์ให้มันเป็นคาแรกเตอร์บางอย่างที่ผู้อ่านจะรู้ว่าอันนี้เป็นหนังสือชุดที่จะออกมาในวาระโอกาสนี้"

เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของสถาพรบุ๊คส์ ประวิทย์ก็หัวเราะออกมาพร้อมกับยอมรับว่านี่เป็นหนึ่งในคำถามที่ถูกถามทุกปีเมื่อสถาพรบุ๊คส์มีทิศทางในการก้าวเดินที่ชัดเจนและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดนิยายอย่างทุกวันนี้

“เรื่องแบบนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน เพราะในโลกของนิยายต้องไปด้วยกันทั้งสามขาเลย คือสำนักพิมพ์ นักเขียน และนักอ่าน เหมือนกับว่า โอเค บางครั้งเราก็อยากจะนำกระแส คิดค้นแนวเรื่องใหม่ๆ คิดว่าแนวนี้น่าจะเวิร์ค ก็คิดมา นักเขียนก็อาจจะช่วยสำนักพิมพ์แต่การตลาดอาจจะไม่เวิร์คก็ได้ ในขณะเดียวกันคนอ่านก็อาจจะอยากอ่านอะไรแบบเดิมๆ เพราะรู้สึกว่ามันก็สนุกดี มันก็แฮปปี้มีความสุขดี เขาก็อาจจะไม่อยากอ่านในสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากที่เขาเคยอ่าน"

"ก็เหมือนการทดลองไปในทุกๆ เดือน ว่าเราโยนหนังสือแนวนี้ เดือนนี้มีหนังสือหมวดนี้เยอะบ้าง เราลองโยนเข้าไปในตลาด แล้วก็ดูว่าคนอ่านตอบรับดีมั้ย ซึ่งคนอ่านจะบอกเราเองว่าเขาสนใจเรื่องประเภทไหน บางเรื่องโยนลงไปแล้วคนอ่านไม่ซื้อเลย เราก็ต้องหยุดไป เพียงแต่ตอนนี้ที่ผู้บริหารพยายามจะคิดอยู่ก็คือเราอยากทำนิยายที่มีอะไรมากกว่านิยายน่ะ ก็พยายามจะใส่อะไรเข้าไป เพียงแต่สิ่งที่ใส่เข้าไปในเชิงนวนิยายมันต้องมีกลวิธีที่ค่อนข้างแนบเนียนในการที่จะเสนอสิ่งเหล่านั้นลงไปในนิยาย เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่กลมกลืน ไม่เนียน ไม่สนุก"

ประวิทย์ทิ้งท้ายว่าตอนนี้เขากับทีมผู้บริหารก็กำลังระดมสมองคิดหาวิธีที่จะทำให้นิยายเป็นมากกว่านิยาย โดยอาจจะสอดแทรกสาระลงไปในความบันเทิง ซึ่งเขาเห็นจากซีรี่ย์ของต่างประเทศที่ไม่ได้พูดกันถึงเรื่องความรักแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีประเด็นอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงในซีรี่ย์อีกด้วย ซึ่งโปรเจค 15 นิยายรักที่จะเริ่มวางก่อนทั้งหมด 8 เรื่องในช่วงงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของความแปลกใหม่ในวงการหนังสือนิยายในบ้านเราด้วย

“คงเป็นอีกโอกาสนึงที่เราจะได้ตอกย้ำแนวทางของสำนักพิมพ์ที่มุ่งเน้นหรือเอาจริงเอาจังกับนวนิยายของเรา และเราก็พยายามที่จะคิด ค้นหา แนวทางใหม่ๆ หรืออะไรบางอย่างสอดแทรกใส่เข้าไปในนวนิยายซึ่งใน 15 เล่มนี้ก็อาจจะได้เริ่มเห็นร่องรอยอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เราใส่เอาไว้ใน 15 เล่มนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราวางแผนที่จะทำต่อไปในอนาคต ถ้าสิ่งที่เราสอดแทรกเอาไว้ทั้ง 15 เล่มนี้ได้รับการตอบรับที่ดี ก็จะเอาไปขยายต่อไปครับ” ประวิทย์ปิดท้ายด้วยรอยยิ้มบางๆ ที่สาดประกายแห่งความหวังเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม

อุมาริการ์

เชอริณ

เตชิตา

ซ่อนกลิ่น

สี่นักเขียนชื่อดัง
กำลังโหลดความคิดเห็น