xs
xsm
sm
md
lg

ไต่แล้วขยุ้ม แบบ "แมงมุม พงษธัช รัตนเศรณี" (ชมคลิป!)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไต่แล้วขยุ้ม แบบ "แมงมุม พงษธัช รัตนเศรณี"

อาจจะเป็นหน้าใหม่ในวงการบันเทิงและแวดวงละครโทรทัศน์ แต่ "แมงมุม พงษธัช รัตนเศรณี" ก็คร่ำหวอดกับการก้าวขึ้นเวทีการประกวดเพื่อผลักพาตัวเองเข้ามาทำงานในวงการบันเทิงด้วยความมุ่งหวังตั้งใจที่มั่นคงและแน่วแน่ว่าจะเอาดีทางด้านนี้ให้ได้ เพราะเป็นอาชีพที่เขารักอีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้มาจุนเจือตัวเองและครอบครัวให้มีกินมีใช้ได้อีกด้วย




"เริ่มตั้งแต่ ม. 4 ตอนนั้นอยู่ที่เชียงใหม่ ก็จะประกวดทุกอย่างที่ขวางหน้า ใช้เวลานานมาก เฉลี่ยรวมๆ แล้วก็ประมาณเกือบสิบปีที่เรารู้สึกว่าเราค่อยๆ เก็บเกี่ยว หาจุดที่เราบกพร่องน่ะครับ ทุกครั้งที่เราไปเวทีการประกวดทุกครั้งเราจะรู้สึกว่า เออ เราได้เรียนรู้ ได้แก้ไขในสิ่งที่เรายังบกพร่อง ทำให้มันดีขึ้น ค่อยๆ แก้ไปทีละจุดๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการแสดง บุคลิกภาพต่างๆ ความสามารถที่ต้องเพิ่มเติม ลุ๊ค การแต่งตัว อะไรอย่างนี้น่ะครับ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ครับ"

จากเชียงใหม่ เด็กหนุ่มคนนี้หอบความฝันก้อนนั้นมุ่งตรงมาพักอยู่กับน้าที่กรุงเทพมหานคร ด้วยจุดหมายหลักคือการได้ศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมตอนปลาย แต่ผลพลอยได้ที่มาเกื้อหนุนความฝันดังกล่าวก็คือการที่ได้มาเปิดโลกทัศน์และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่เวทีการประกวดในเมืองหลวงแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

"พอเรามาอยู่กรุงเทพฯ ก็มาเรียนที่บดินทร์เดชา แต่ระหว่างนั้นก็ประกวดไปด้วยแต่ก็ตกรอบหมดเลย จนเราเข้ามหาวิทยาลัย เราคิดว่าเราอยากเรียนละครเวที เพราะผมเคยไปดูละครเวทีที่น้าของผมทำงานอยู่ พอผมได้ไปดูก็รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ การที่คนๆ นึงจะเล่นละครได้ตลอดระยะเวลาสองชั่วโมงโดยที่ไม่หยุดเลย คิดว่ามันน่าสนใจ ตอนนั้นผมคิดว่ามันเข้าทีวียากเย็นซะเหลือเกิน ก็เลยจะลองผันตัวไปแสดงละครเวทีดู ผมก็ใช้เวลาในการศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับการกำกับการแสดงอยู่ในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง เอกกำกับการแสดง ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ พอผมศึกษาเสร็จหมดทุกอย่าง พอทำตัวจบสารนิพนธ์ทุกอย่าง ผมรู้สึกว่าตลอดสี่ปีที่เราอยู่ในนั้น เราก็ได้ฝึกทั้งร้องทั้งเต้นทั้งเล่นละคร ทั้งแอคติ้งทีวี ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการแสดง กำกับการแสดงทั้งหมดเลย"

จุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของแมงมุมเกิดจากละครเวทีที่เขาหลงใหล จากการที่เขาได้ร่วมแสดงละครเวที สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล เมื่อปลายปีที่แล้วในฐานะนักแสดงสมทบซึ่งเป็นกลุ่มคนซึ่งต้องคอยร้อง คอยเต้นเพื่อทำให้ละครเวทีออกมาสมบูรณ์ที่สุด และเพราะรูปร่างสูงใหญ่ประกอบกับการแสดงที่มุ่งมั่นตั้งใจทำให้ผู้กำกับชื่อดังอย่าง "ต้อ มารุต สาโรวาท" รู้สึกสะดุดตาแม้ว่าแมงมุมจะแสดงอยู่ท่ามกลางกลุ่มคนมากมาย

“ตอนนั้นพี่ต้อให้คนที่เป็นโคโรกราเฟอร์ซึ่งเป็นเพื่อนพี่ต้อติดต่อมาว่าเห็นหน่วยก้านดี อยากให้ลองมาเดินแบบดู เป็นงานเดินแบบที่บริษัทพี่ต้อดีลกับใครสักอย่างผมจำไม่ได้ แต่ที่สุดแล้วโปรเจคนั้นมันเลื่อนหรือว่ามีอะไรสักอย่างทำให้โปรเจคนั้นเราพลาดไป เขาก็ยังไม่ได้ใช้งานผม จากตรงนั้นปุ๊บเขาก็หายเงียบไป"

"จากนั้นพี่ต้อก็ทำละครเรื่องหนึ่งขึ้นมาคือ ไฟหวน เขาเลยบอกว่าลองไปแจมๆ ดูสิ ไปรับเชิญสักฉากสองฉาก อะไรประมาณนี้ครับ พอเราไปเจอพี่ต้ออีกทีนึง ตอนนั้นผมดัดฟันเสร็จแล้ว พี่ต้อก็คงเห็นแววว่าเออ มันก็หน้าตาพอไปวัดไปวาได้ (หัวเราะ) อะไรแบบนี้น่ะครับ เขาก็เลยให้ลองเล่นให้ดู อยากจะลองดูแอคติ้งอะไรประมาณนี้ครับ พอเล่นเสร็จปุ๊บ พี่ต้อก็พอใจในระดับหนึ่งว่าเรายังสามารถที่จะพัฒนาได้อีก เขาก็เลยบอกว่า งั้นเดี๋ยวเรื่องหน้ามาเล่นให้หน่อยจะมีบทที่เยอะมากขึ้นแล้ว ก็เลยมาเป็นเรื่องปีกมงกุฎนี่แหล่ะครับ พี่ต้อก็ชวนว่าลองมาเล่นสิ รับบทเพชร เป็นพระเอกของละครที่ซ้อนละครอีกที"

การดำดิ่งลงไปในศาสตร์ละครเวทีตลอดเวลาสี่ปีเต็มๆ ที่เรียนอยู่ทำให้เมื่อต้องมาแสดงละครโทรทัศน์ซึ่งมีวิธีสื่อสารแตกต่างจากละครเวทีแทบจะคนละฝั่งแบบนี้ทำให้แมงมุมต้องกลับไปหยิบหนังสือเกี่ยวกับการแสดงละครโทรทัศน์ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเรียนขึ้นมาทบทวนใหม่อีกครั้ง และนั่นก็คือการเปิดและเปลี่ยนโลกใบเดิมที่ผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่คนนี้เคยชินมาตลอดไปอย่างสิ้นเชิง

“ปกติก่อนหน้านี้ผมก็เรียนแอคติ้งทีวีอยู่แล้วครับ มีอยู่ในภาควิชา เราแค่ต้องรื้อมันมาเท่านั้นเอง ใช้ประสบการณ์ ปรับตัว น่าจะเป็นเรื่องการทำการบ้านมากกว่าครับ เพราะเรื่องไปเรียนเพิ่มนี่ปุบปับมาก เพราะพอเราแคสต์ผ่าน ละครก็มาจ่อคิวสองเรื่องเลย"

"ละครเวทีจะเล่นแบบขยายออกมา มันต้องเคลื่อนที่จากบล็อคกิ้ง เราต้องใช้ภาษากายที่ขยายออกมามากกว่าในทีวี แรกๆ ก็คือไปไม่ถูกเลย เพราะเราเล่นละครเวทีอยู่ใช่มั้ย พี่ต้อบอก โห มันใหญ่ไป เวลาเล่นอะไรทีวีมันนิดเดียว เป็นธรรมชาติ พอพี่ต้อบอกมันใหญ่ไป งั้นเราไม่เล่นเลย เล่นธรรมดานี่แหล่ะ โห แข็งไป (หัวเราะ) มันหาตรงกลายากมาก ผมต้องใช้เวลาในการหาตรงกลางซึ่งยากมาก ทีวีมันต้องรับกล้องไงครับ จะมีกล้องนั้นกล้องนี่ บางทีอย่างพี่เกรซ(กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า) เขาจะคอยบอกว่าเดี๋ยวรับกล้องนี้นะๆ ทำงานกับพี่อั้ม(พัชราภา ไชยเชื้อ) พี่อั้ม เฟรนด์ลี่มาก เขาจะคอยสอนว่าอย่ามาซุกพี่ตรงนี้ ออกมารับกล้องตรงนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวโดนบัง ไลน์บัง เราก็ต้องเรียนรู้เยอะมากครับ การพูดก็ไม่ใช่แล้ว บางทีก็ไม่ธรรมชาติน่ะครับ อย่างปีกมงกุฎจะเห็นเลยว่าช่วงแรกๆ เรายังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ช่วงหลังๆ เราเริ่มจับทางได้ก็โอเคมากขึ้นครับ"

ตลอดระยะเวลาสิบปีเต็มที่แมงมุมให้โอกาสตัวเองในการประกวดบนเวทีต่างๆ เขาต้องพานพบทั้งอุปสรรค ความไม่สมหวัง ความท้อแท้ที่ถาโถมเข้ามาจนเคยยกธงขาวยอมแพ้ไปแล้ว
"การประกวดแต่ละทีมันต้องมีค่าใช้จ่ายนะครับ ไม่ว่าจะเป็นค่ารถ ค่าเสื้อผ้า ครอบครัวผมก็ไม่ได้รวยขนาดนั้น หลายๆ อย่าง เราจะต้องผ่อนรถ ไหนจะค่ากินของเรา ค่าที่เราต้องใช้ในการดำเนินชีวิต พวกนี้มันจับต้องไม่ได้น่ะครับ แล้วมันไม่สำเร็จสักที แล้วมาเจออะไรแบบนั้น ผมเคยคิดว่าเราคงไม่เหมาะหรอกมั้ง ผมเลยไปทำพวกเครือข่ายอะไรแบบนั้นน่ะครับ ตอนนั้นก็มุ่งมั่นมาก ไปทำสองเดือนก็ได้ประมาณสี่หมื่นอัพต่อเดือน แต่ก็ทำไปเรื่อยๆ จนผมรู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ใช่ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราศรัทธา มันเป็นสิ่งทีที่ทำให้เรารู้สึกแย่มากที่เราทำ แล้วเพื่อเงินอย่างเดียวเหรอ ชีวิตคนเราต้องมีอะไรที่มากกว่านี้สิ ไม่ใช่แค่เงินอย่างเดียว ก็คือตรงนี้แหล่ะ ความศรัทธาในการแสดงที่ผมอยากจะเล่นออกมาแล้วก็ชีวิตของนักแสดงมากกว่า ผมก็เลยคิดย้อน เลิก แล้วเอาใหม่ ลองดู ก็เลยเข้ามาเชื่อมกับที่ผมเข้าฟิตเนส เปลี่ยนแปลงตัวเอง ฟิตหุ่น เปลี่ยนหุ่นตัวเองเลย จากไอ้กุ้งแห้งก็มาเป็นแบบนี้"

แนวคิดที่แมงมุมเชื่อมั่นจนปลูกฝังลงไปในจิตใต้สำนึกของตัวเองคือการกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง หากสิ่งนั้นขัดขวางการเติบโตและพัฒนาตัวเองเขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยน และนั่นก็ทำให้ผู้ชายวัย 25 คนนี้ยืนยันที่จะค้นหาจุดบกพร่องของตัวเองเสมอ

"คติที่ผมคิดเสมอๆ ก็คือถ้าเรายังทำเหมือนเดิมนะ ไม่เปลี่บนแปลงตัวเอง ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ใครพูดอะไรมารู้สึกอาย รู้สึกแย่แล้วก็ไปว่าเขา ไปโทษเขา อันนี้เหมือนกับว่ามนัจะเป็นดาบสองคมที่จะกลับมาทิ่มเราแน่นอน แล้วทำให้เรายังอยู่ที่เดิม ไม่พัฒนา สิ่งที่ผมทำก็คือผมต้องทำตัวเป็นแก้วเปล่า เพราะต่อให้ผมจบการแสดงมา จบกำกับการแสดงมา สิ่งสำคัญที่สุดที่คนส่วนใหญ่ไม่ไปถึงไหนเพราะว่าเราพูดมากกว่าฟัง เวลาพูดมันไม่ค่อยได้ยินอะไรครับ ต้องหยุด เงียบ แล้วฟังเขา ฟังให้มากๆ พอเราฟังเสร็จ ไม่รู้แหล่ะว่าสิ่งที่เขาพูดมามันจะดีจริงอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า เพราะว่าเขาพูดบางทีก็ออกมาจากคนที่มีความรู้หรือไม่มีความรู้ในศาสตร์นั้นๆ เราก็ต้องมาชั่งดูหลายๆ เสียง เออ สรุปมันใช่ว่ะ ถ้าใช่ ต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง นั่นแสดงว่าคุณไม่มีทางที่จะก้าวเดินต่อได้ ผมก็เลยใช้หลักการข้อนี้มาตลดว่า ถ้ายังทำเหมือนเดิม ยังดื้อเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนเดิมก็อยู่ที่เดิม เมื่อไหร่ที่เปลี่ยนแปลงต้องได้สิ่งใหม่ๆ แน่นอน ไม่รู้แหล่ะว่าจะดีหรือไม่ดีแต่มันต้องก้าวไป"

"ทุกวันนี้ผมก็ยังปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาดตัวเองตลอดเลยครับ(หัวเราะ) ขนาดตอนที่ยังไม่เข้าวงการ เรายังขนาดนั้น พอเราเข้าวงการมาปุ๊ป เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่คือสิ่งที่เราตามหามาตลอดสิบกว่าปี ผมจะบอกกับผู้จัดการผมตลอด จนบางทีผมยังรู้สึกว่าเขาจะเบื่อกูป่าววะ(หัวเราะ)”
ต้อ-มารุต สาโรวาท (ผู้กำกับ, ผู้จัด)






กำลังโหลดความคิดเห็น