ผ่าวิธีถ่ายคลิปวิดีโอให้ปลอดภัยหลังมีกรณีทหารกัมพูชาทำคอนเทนต์ในรถยิงจรวด จนข้อมูลพิกัดละติจูดและลองติจูดไหลรั่วครบเซ็ตจนทำให้ที่ตั้งทางทหารถูกเปิดเผย
อะไรคือบทเรียนที่ชาวโลกผู้ใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นเรื่องปกติ ต้องรู้ในการถ่ายคลิป โพสต์รูป แชร์ชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้ความสนุกกลายเป็นดาบสองคมที่เปิดเผยความลับของเราโดยไม่รู้ตัว
การถ่ายคลิปที่ทำให้ที่ตั้งของผู้ถ่ายถูกเปิดเผยนั้น กลายเป็นประเด็นน่าสนใจจากกรณีที่ทหารกัมพูชากลุ่มหนึ่งถ่ายคลิปวิดีโอทำคอนเทนต์สนุกสนานในรถยิงจรวดหลายลำกล้องรุ่น RM-70 แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่ปรากฏว่าคลิปดังกล่าวทำให้ที่ตั้งทางทหารของกัมพูชาถูกเปิดเผยพิกัดอย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องมีใครแอบแฮกข้อมูลแบบหลบซ่อน เนื่องจากสามารถใช้ข้อมูลสาธารณะระบุพิกัดผู้ถ่ายได้อย่างแม่นยำถึงขั้นบอกเป็นตัวเลข Latitude Longitude ได้เลยว่าอยู่ที่จุดใด
***ภาพวิวไม่กี่วินาที เปิดเผยข้อมูลมหาศาล
ก่อนจะไปเรียนรู้วิธีป้องกัน เราควรรู้ว่าจุดเริ่มต้นของการถอดรหัสพิกัดจากวิดีโอ (Geolocation) คือการหาจุดเด่นของคลิปที่สะดุดตา
กรณีในคลิปทหารกัมพูชา โลกโซเชียลได้เห็นภาพวิวจากหน้าต่างรถเป็นแนวสันเขาที่มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ นี่คือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่นักสืบไซเบอร์จะนำภาพแนวสันเขานี้ไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมอย่าง Google Earth หรือโปรแกรมแผนที่อื่นๆ เพื่อหาว่าสันเขาหน้าตาแบบนี้ อยู่ส่วนไหนของประเทศกัมพูชา
จากนั้นจะมีการเทียบเคียงวัตถุรอบข้าง (Cross-referencing) เมื่อได้พื้นที่เป้าหมายโดยคร่าว จากนั้นจะเริ่มซูมเข้าไปดูรายละเอียดในคลิป ซึ่งจากถนนที่ในคลิปเป็นถนนลูกรังเส้นตรง นักวิเคราะห์ก็จะมองหาถนนลักษณะเดียวกันในแผนที่ดาวเทียม รวมถึงภาพกลุ่มต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นบริเวณริมถนน ก็จะนำมาเทียบตำแหน่งกับภาพจากดาวเทียมเช่นกัน
จุดอ้างอิงเหล่านี้สามารถประกอบร่างสร้างพิกัด (Triangulation) ได้เมื่อนำข้อมูลทั้งแนวสันเขา, ถนน, และต้นไม้ มาประกอบกันก็จะสามารถระบุไปยังจุดๆ เดียวบนแผนที่ได้อย่างแม่นยำ เหมือนการเล่นเกมจับผิดภาพ ที่ทำให้ตำแหน่งของรถยิงจรวดที่จอดอยู่เผยออกมา
***4 วิธีป้องกันได้
แม้ข้อมูลพิกัดที่อยู่ของประชาชนอย่างเราอาจไม่ได้มีความลับระดับชาติ แต่ข้อมูลส่วนตัวอย่าง "บ้านอยู่ที่ไหน" หรือ "ตอนนี้กำลังอยู่ที่ไหน" ก็ถือว่าอันตรายมากหากตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพ
ผู้ที่ชอบถ่ายรูป ถ่ายคลิปลงโซเชียล สามารถป้องกันภาวะพิกัดรั่วได้ด้วยการปิด Location Tagging ในกล้องมือถือ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สิ่งแรกที่ควรทำ
เข้าไปที่การตั้งค่า (Settings) ของแอปกล้องในมือถือ แล้วปิดฟังก์ชัน "บันทึกข้อมูลตำแหน่ง" หรือ "GPS Tag" เพื่อไม่ให้พิกัด GPS ถูกฝังไปกับไฟล์รูปภาพตั้งแต่แรก
ต่อมาคือควรสังเกตฉากหลังก่อนโพสต์ โดยก่อนจะกดโพสต์ ลองดูฉากหลังในรูปหรือคลิปของเราให้ดี ว่ามีป้ายชื่อซอย, เลขที่บ้าน, ชื่ออาคาร, หรือจุดสังเกตที่ระบุตำแหน่งได้ชัดเจนเกินไปหรือไม่ ถ้ามี อาจจะลองเปลี่ยนมุมถ่าย หรือครอปภาพออกไป
นอกนั้นคือการเบลอข้อมูลสำคัญ หากเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เช่น ถ่ายรูปกับรถแล้วติดป้ายทะเบียน หรือถ่ายในร้านแล้วติดชื่อร้านชัดเจน ให้ใช้แอปแต่งรูปง่ายๆ เบลอข้อมูลเหล่านั้นออกไปก่อนโพสต์
วิธีอื่นคือการตรวจสอบข้อมูล Metadata สำหรับคนที่กังวลมาก ก่อนโพสต์ภาพลงเว็บไซต์สาธารณะ อาจใช้โปรแกรมลบข้อมูลแฝงออกจากไฟล์ภาพก่อน เพื่อความปลอดภัยใส่ใจเพิ่มขึ้นก่อนจะแชร์อะไรลงไป.