xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้อง! ประธาน กสทช. ไม่ละเลยหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลยกฟ้อง ประธาน กสทช. ชี้มติสอบไตรรัตน์-เปลี่ยนเลขาธิการ กสทช. เกินอำนาจ กฎหมายไม่รับ ประธานไม่ทำตามไม่ผิด

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.68 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง กับพวก ได้แก่ รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม รวม 4 ราย

ยื่นฟ้อง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ฐานละเลยต่อหน้าที่ กรณีไม่ปฏิบัติตามมติ กสทช. ที่เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้บริหารระดับสูง และเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. จาก นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เป็นบุคคลอื่น

คดีนี้มีต้นเรื่องจากการที่ กสทช. มีมติเมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 ให้นำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 600 ล้านบาท ไปสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

ต่อมาเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ จนนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง และในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 กสทช. มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยนายไตรรัตน์ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการและรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ในขณะนั้น พร้อมเสนอเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาฯ เป็นรองเลขาธิการอีกคนหนึ่ง

ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เห็นว่า การที่ ประธาน กสทช. ไม่ดำเนินการตามมติดังกล่าว ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ จึงยื่นฟ้องต่อศาล

อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มติที่ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยนายไตรรัตน์ เป็นมติที่เกินอำนาจตามกฎหมาย เพราะการดำเนินการทางวินัยกับพนักงาน เป็นอำนาจของเลขาธิการ กสทช. ไม่ใช่อำนาจของกรรมการ กสทช. ทั้งคณะ อีกทั้งเมื่อนายไตรรัตน์เป็นผู้ถูกร้อง จึงต้องให้ผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่า คือประธาน กสทช. เป็นผู้พิจารณาโดยชอบ

ขณะเดียวกัน มติที่ประชุม กสทช. ที่เสนอให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาการเลขาธิการ กสทช. ก็ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายเช่นกัน เพราะกฎหมายกำหนดให้การแต่งตั้งผู้รักษาการเลขาธิการ เป็นอำนาจของประธาน กสทช. โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่การริเริ่มจากมติของคณะกรรมการโดยตรง

ศาลระบุว่า การไม่ปฏิบัติตามมติดังกล่าวของ ประธาน กสทช. จึงไม่เข้าข่ายเป็นการละเลยต่อหน้าที่ และไม่มีผลเป็นคำสั่งที่ผูกพันให้ต้องดำเนินการตามมตินั้น จึงมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวในวันที่ 17 ก.ค.68 โดยเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดตามที่ผู้ฟ้องกล่าวหา


กำลังโหลดความคิดเห็น