อินฟิเนียน (Infineon Technologies) เจ้าพ่อโซลูชันเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติเยอรมัน ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MoU กับสมาคมสมองกลฝังตัวไทยหรือ TESA จับมือปั้น "แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ในทุกสรรพสิ่งแห่งชาติที่ปลอดภัย" หรือ National Secure Artificial Intelligence of Things (AIoT) Platform ชูจุดเปลี่ยนประเทศไทยลุกขึ้นมาสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ ไม่ใช่แค่การเป็นฐานการผลิตเหมือนที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) กล่าวถึงความร่วมมือนี้ว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของวงการเทคโนโลยีไทย โดยไม่เพียงเป็นจุดเปลี่ยนที่ประเทศไทยจะสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ แต่ยังเป็น Jump Start ก้าวกระโดดที่ไทยจะได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ
"หากไทยออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ และต่างประเทศรับรอง (certify) เราก็จะสามารถนำไปขายในระดับนานาชาติได้ทันที ไม่ต้องกังวลว่าคนไทยจะไม่ซื้อ เพราะเราสามารถนำไปขายที่อื่นได้"
โปรเจ็กต์นี้ถือเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจในวงการเทคโนโลยีไทย โดย TESA หรือ Thai Embedded Systems Association) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ดำเนินงานมาเกือบ 18 ปี และในปีนี้จะเข้าสู่ปีที่ 19 ในฐานะองค์กรมีบทบาทด้านการพัฒนาบุคลากรด้าน IoT (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถสื่อสาร เก็บข้อมูล และทำงานร่วมกันได้โดยอัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์สมาร์ทโฮม (ไฟอัจฉริยะ, กล้องวงจรปิด), เซ็นเซอร์ในโรงงาน, หรือนาฬิกาอัจฉริยะ โดยอุปกรณ์เหล่านี้จะเก็บข้อมูล ส่งต่อไปยังระบบคลาวด์ และสามารถควบคุมหรือวิเคราะห์ได้ผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบ ทำให้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ Infineon Technologies เป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์สัญชาติเยอรมัน ก่อตั้งในปี 1999 โดยแยกตัวออกจาก Siemens AG มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองนอยบีแบร์ก (Neubiberg) ใกล้เมืองมิวนิก บริษัทนี้เป็นผู้ผลิตไมโครคอนโทรลเลอร์รายใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นผู้นำในด้านเซมิคอนดักเตอร์สำหรับยานยนต์ รวมถึงเป็น 1 ใน 10 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์แถวหน้าของโลก ในปี 2024 Infineon มีพนักงานประมาณ 58,000 คน และมีรายได้ราว 15,000 ล้านยูโร
***จับตา AIoT ไทยปลอดภัยขึ้น
รศ.ดร.วิรุฬห์ กล่าวว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้วิศวกรและนักพัฒนาชาวไทยสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้ตั้งแต่ระดับฮาร์ดแวร์ เฟิร์มแวร์ ไปจนถึงแพลตฟอร์ม AIoT ที่สมบูรณ์ โดยทีมทำงานของ 2 องค์กรจะร่วมกันพัฒนาการออกแบบที่เน้นความปลอดภัยเป็นอันดับแรก (Security-First design) ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ
นอกจากนี้จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ Edge AI มูลค่าสูงที่มาพร้อมความสามารถขั้นสูงและเฟิร์มแวร์ที่ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์ม AIoT แห่งชาติ ที่จะทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการแพลตฟอร์มต่างๆ และจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่ออุตสาหกรรมหลักที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย, อาเซียน และตลาดโลก
ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดจากข้อตกลงที่ Infineon ได้ทำไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือ TSRI ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างระบบนิเวศเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย และตอกย้ำบทบาทของประเทศในฐานะผู้นำในด้าน AI และ IoT
TESA เชื่อว่าโครงการนี้เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากความวุ่นวายของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ที่ทำให้ทุกประเทศต้องการทรัพยากร และประเทศไทยมีทรัพยากรที่ดี รวมถึงตำแหน่งที่ตั้ง (location) ที่ดี ทำให้จีนและอเมริกาเองก็ยังไม่กล้าบีบไทยมากนัก นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวะที่คนไทยที่เชี่ยวชาญเริ่มกลับมารวมตัวกัน จากก่อนหน้านี้ไม่เคยรวมตัวกัน
ในส่วนของบทบาทของสมาคมสมองกลฝังตัวไทย TESA มองตัวเองเป็นเหมือน "ทีมชาติไทย" ที่ยอมออกมาจากความเป็นสโมสรส่วนตัว แล้วมาคัดคนเก่งจากแต่ละส่วนของประเทศให้มารวมตัวกัน เพื่อรวมพลังไปตกลงกับองค์กรระดับต่างประเทศอย่าง Infineon ซึ่งทำให้ต่างชาติรู้สึกประหลาดใจและให้ความสำคัญมากกว่าการไปในฐานะองค์กรเดียว
นายก TESA เล่าถึงประวัติของโปรเจกต์นี้ว่ามีการบ่มเพาะกับ Infineon มาเกือบ 10 ปีแล้ว เริ่มจากการนำชิป Security ของ Infineon มาลองใช้กับการทำนาฬิกาสวมใส่ได้ (Wearable) และอุปกรณ์ IoT อื่นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แม้จะพบว่ายังไม่มีปัจจัยแวดล้อมรองรับ แต่ Infineon ก็เริ่มรู้จักและเห็นว่าความร่วมมือกับไทยสามารถเห็นผลได้จริง และเมื่อ 2 ปีที่แล้วก็ได้มีการตั้งศูนย์ IT บูรพา Infineon Lap ขึ้น ซึ่งการลงนาม MoU ในครั้งนี้ เปรียบได้กับการขอ Infineon แต่งงาน หลังจากหมั้นหมายมานาน
สำหรับ AIoT คืออุปกรณ์ IoT ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้อุปกรณ์เครื่องใช้ทั่วไปที่ออนไลน์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างกล้องวงจรปิด หลอดไฟ หรือตู้เย็นที่สั่งการได้จากโทรศัพท์มือถือนั้นสามารถเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างอัจฉริยะ ซึ่งแทนที่นักพัฒนาไทยจะแยกกันพัฒนาระบบซอฟต์แวร์แบบตามมีตามเกิด ก็จะสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ในการพัฒนาต่อยอดอย่างมีมาตรฐานได้
*** Infineon หนุนไทย
ซีเอส ฉัว (CS Chua) ประธานและกรรมการผู้จัดการของ Infineon Technologies Asia Pacific ย้ำว่า Infineon จะร่วมกับ TESA เพื่อเป็น One-Stop Shop ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงสตาร์ทอัป สามารถพัฒนาโซลูชันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์ไอเดียและ Use Case แทนที่จะต้องใช้เวลามากในการพัฒนาฮาร์ดแวร์
"การพัฒนา AIoT ต้องคำนึงถึงสามปัจจัยสำคัญคือ ใช้พลังงานต่ำ ประสิทธิภาพสูง และมีความปลอดภัย ความร่วมมือนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ Infineon ในการสนับสนุนเป้าหมายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย พร้อมส่งเสริมการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยี"
Chua มั่นใจว่าโครงการนี้สอดคล้องกับแนวโน้มที่ทุกประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นคลื่นลูกใหญ่และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างที่กำลังเผชิญอยู่ได้ ขณะเดียวกันความก้าวหน้าในด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซอฟต์แวร์ การทำดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน และคลาวด์ ก็ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีต้นทุนที่ลดลงจนผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
Chua อธิบายเพิ่มว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีเซ็นเซอร์พัฒนาไปอย่างมากและยังฉลาดขึ้น เพราะสามารถวัดสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น การตรวจจับจำนวนคนในห้องโดยไม่ระบุตัวตน หรือเซ็นเซอร์ก๊าซที่สามารถวัดก๊าซได้หลายชนิด ดังนั้น AI จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะสามารถตีความข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถทำได้
สิ่งที่ Infineon นำเสนอในโปรเจ็กต์แพลตฟอร์ม AIoT แห่งชาติ คือเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการพัฒนา AIoT นั้นปลอดภัยและประหยัดพลังงาน ทั้งฮาร์ดแวร์และชิปที่สามารถรันเฟิร์มแวร์และซอฟต์แวร์ที่ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ได้ รวมถึงจัดหาเครื่องมือ (Tools) เช่น Deep Craft Studio เพื่อเร่งความเร็วในการพัฒนาซอฟต์แวร์
ยังมีโมเดล AI สำเร็จรูป (Ready-made Models) ที่หลากหลาย เช่น การตรวจจับการไอ การจดจำท่าทาง การกรน การร้องไห้ของเด็ก การตรวจจับการล้ม หรือสัญญาณเตือนภัยในโรงงาน โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะสร้างโมเดลเอง ใช้โมเดลสำเร็จรูป หรือผสมผสานกันก็ได้ ขณะเดียวกันก็มีโซลูชันแบบครบวงจร (End-to-End Solutions) ที่สามารถนำ AI ไปใช้ในระดับที่ใหญ่ขึ้น เช่น การวิเคราะห์ประสิทธิภาพของระบบในอาคารขนาดใหญ่ด้วย.