'ETDA' ผนึกพันธมิตรปิดเกมโฆษณาเฟก ดัน 'DPS Trust Every Click' เสริมภูมิดิจิทัล สอนคนไทยเช็กก่อนคลิก ไม่ตกหลุมมิจฉาชีพออนไลน์
น.ส.จิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันก็เปิดช่องให้ภัยโฆษณาหลอกลวงเข้ามาแฝงตัวในระบบออนไลน์ กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของมิจฉาชีพในการหลอกลวงประชาชน
เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ETDA จึงเดินหน้าแคมเปญ "DPS Trust Every Click" จับมือภาคีทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และแพลตฟอร์มดิจิทัล จัดเวทีเสวนาภายใต้แนวคิด "ร่วมพลังปิดสวิตช์ โฆษณาลวง-ผิดกฎหมาย" ตั้งเป้าสร้างความร่วมมือเพื่อป้องกันประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อตั้งแต่ต้นทาง
ทั้งนี้ ETDA เน้นกลยุทธ์รับมือเชิงรุกผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลความเสี่ยง การสื่อสารที่เข้าถึงผู้ใช้งานจริง การแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ และการผลักดันเชิงนโยบาย เพื่อให้ทุกการคลิกของผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าปลอดภัย
ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล ETDA ยังเดินหน้าผลักดันกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) หรือพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565 ควบคู่กับการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติ เช่น คู่มือการดูแลโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อสร้างมาตรฐานกลางในการคัดกรองโฆษณา สอดส่องเนื้อหา และผลักดันให้แพลตฟอร์มมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อเนื้อหาบนระบบของตนมากขึ้น
น.ส.ศุภจิตรา เลาหวัฒนภิญโญ เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ศูนย์พัฒนากฎหมาย ETDA กล่าวว่า สถิติร้องเรียนโฆษณาหลอกลวงในรอบปีที่ผ่านมา พบมากกว่า 3,381 เรื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การหลอกลงทุน การแอบอ้างชื่อ-ภาพคนดัง ขายสินค้าปลอม สวมรอยเป็นสถาบันการเงิน ไปจนถึงสร้างเพจปลอมลวงเหยื่อ มูลค่าความเสียหายรวมทะลุ 19,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 12 เดือน ชี้เป็นภัยเงียบ ที่เติบโตบนหน้าจอสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียที่ผู้บริโภคคุ้นเคย
ETDA จึงเดินหน้าวางกลไกกำกับดูแลโฆษณาอย่างเป็นระบบ มุ่งยกระดับความโปร่งใสและลดความเสี่ยงจากการหลอกลวงออนไลน์ แบ่งมาตรการออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1.แนะแนวปฏิบัติ (Guideline) เช่น การยืนยันตัวตนผู้ลงโฆษณา การกำหนดผู้รับผิดชอบ และการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบ Ads Library เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้
2.ระบบตรวจสอบและรับแจ้ง โดยเน้นกลุ่มโฆษณาเสี่ยงสูง เช่น ด้านการเงินและการลงทุน พร้อมจัดช่องทางให้ผู้ใช้สามารถแจ้งเหตุผิดปกติ
3.มาตรการควบคุมแพลตฟอร์มเสี่ยง หากพบว่าแพลตฟอร์มใดมีความเสี่ยงสูง อาจถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มต้องปฏิบัติตามหน้าที่เพิ่มเติมตามกฎหมาย พร้อมบทลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม
ล่าสุด ETDA ออกประกาศ สพธอ. ที่ ธพด. 4/2568 กำหนดรายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภทตลาดสินค้า ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการกำกับดูแลและป้องกันความเสียหายจากโฆษณาหลอกลวงอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์ในไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดย พ.ต.ท. ดร.ปุริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า ตลอดปี 2567 มีผู้แจ้งความคดีไซเบอร์ทะลุ 400,000 คดี ความเสียหายรวมกว่า 60,000 ล้านบาท และเพียงครึ่งปีแรกของ 2568 ยอดสะสมก็แตะ 166,000 คดี แล้ว ซึ่งมากกว่า 50% เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้หญิงวัยทำงาน คิดเป็นสัดส่วน 64% ของผู้เสียหายทั้งหมด สะท้อนว่ามิจฉาชีพกำลังเล็งเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัลเป็นประจำ
ด้าน ชนิดาภา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์ หรือ เบสท์ นักแสดงชื่อดัง ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากการตกเป็นเหยื่อโฆษณาหลอกลวงในคราบงานรีวิวโรงแรมบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลอกให้โอนเงินสำรองเพื่อทำภารกิจสะสมแต้ม โดยใช้กลยุทธ์สร้างความน่าเชื่อถือและแรงกดดันจากหน้าม้า ในกรุ๊ปแชต จนต้องสูญเงินกว่า 1.2 ล้านบาท พร้อมเตือนว่า "ความมั่นใจว่าเราฉลาดพอจะไม่ถูกหลอก คือกับดักที่อันตรายที่สุด"
ขณะเดียวกัน Google ในฐานะหนึ่งในแพลตฟอร์มหลัก เปิดเผยว่า ภัยคุกคามออนไลน์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้น ตั้งแต่ฟิชชิง (phishing), โรแมนซ์สแกม (romance scam) ไปจนถึงการฝังมัลแวร์ผ่านโฆษณา โดย Andri Kusumo หัวหน้าฝ่าย Trust and Safety Global Engagements ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา Google ลบโฆษณาที่ละเมิดนโยบายได้มากกว่า 5,100 ล้านชิ้น และระงับบัญชีโฆษณาที่ผิดกฎกว่า 40 ล้านบัญชี พร้อมชู 3 ยุทธศาสตร์หลักในการรับมือ ได้แก่
– การป้องกัน (Prevention) ด้วยระบบตรวจจับความเสี่ยงก่อนโฆษณาจะเผยแพร่
– การตรวจจับ (Detection) ด้วย AI วิเคราะห์พฤติกรรมผิดปกติแบบเรียลไทม์
– การตอบสนอง (Response) ลบโฆษณา ระงับบัญชี และแจ้งเตือนผู้ใช้งานทันที
นอกจากนี้ Google ยังย้ำว่า ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่น ETDA จะช่วยยกระดับกลไกการคัดกรองให้แม่นยำและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นมากขึ้น
ภายในเวทีเสวนา ยังเสนอให้ใช้มาตรการ Screening & Monitoring อย่างเข้มงวด โดยทุกโฆษณาควรต้องผ่านระบบคัดกรองก่อนเผยแพร่ (Pre-screening) และมีระบบติดตามหลังเผยแพร่ (Monitoring) ต่อเนื่อง พร้อมผลักดันการจัดทำ Ads Awareness Checklist ให้ประชาชนสามารถสังเกตพฤติกรรมโฆษณาเสี่ยงได้ด้วยตนเอง
นอกจากนี้ ยังเสนอให้พัฒนา Education Plan บูรณาการความรู้เท่าทันภัยออนไลน์เข้าสู่ระบบการศึกษา รวมถึงขยายผลไปยังกลุ่มคอมมูนิตี้ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกันดิจิทัลของคนไทยในทุกช่วงวัย โดย ETDA เตรียมนำข้อเสนอทั้งหมดไปต่อยอดสู่การจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องในระยะถัดไป