กรณี "เจ๊หง" หรือซิสเตอร์หง หนุ่มจีนผู้ใส่วิกแต่งหญิงหลอกเหยื่อหลงรักกว่า 1,600 คนก่อนแฉคลิปแอบถ่ายนั้นถือเป็นอีกบทเรียนสำคัญเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 68 ตำรวจนครนานจิง มณฑลเจียงซู ได้จับกุมชายวัย 38 ปี นามสกุลเจียว ที่มีอีกชื่อเรียกว่า "ลุงแดงแห่งนานจิง" (Nanjing Uncle Red) ในข้อหาเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร
สิ่งที่น่าสนใจในมุมเทคโนโลยีคือวิธีการที่ผู้กระทำผิดใช้เทคโนโลยีในการล่อลวงและเอาเปรียบเหยื่อ ซึ่งจากการหารูปแบบหรือ pattern ในการลงมือ พบว่าเจ๊หงอาจจะใช้หลายแพลตฟอร์มในการหาเหยื่อ โดยเฉพาะ "Weibo" (微博) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักของจีน ที่มีรูปแบบคล้ายกับ Twitter เดิม
เจ๊หงอาจสร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นผู้หญิงบน Weibo โพสต์เนื้อหาที่ดูน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความไว้วางใจ และใช้ฟีเจอร์ส่งข้อความโดยตรง Direct Message เพื่อเข้าหาเป้าหมาย
ในอีกด้าน เจ๊หงอาจจะเลือกใช้ "Douyin" (抖音) บริการวิดีโอออนไลน์ที่เป็น TikTok ของจีน อัปโหลดวิดีโอที่แสดงตัวในชุดผู้หญิง แน่นอนว่ามีการใช้ฟิลเตอร์และเทคโนโลยีแต่งภาพ deepfake พื้นฐานเพื่อเปลี่ยนโฉมหน้า และปล่อยให้ระบบ recommendation algorithm ของแพลตฟอร์ม นำทางให้เนื้อหาไปถึงกลุ่มเป้าหมาย
***ซ่อนกล้อง ต้องระวัง
อีกจุดที่เด่นมากจากเคสของเจ๊หง คือเทคโนโลยีกล้องขนาดเล็กในปัจจุบัน ความที่กล้องสามารถซ่อนได้ในวัตถุธรรมดา มีความละเอียดสูง บันทึกได้ทั้งเสียงและภาพ แถมยังสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ส่งข้อมูลได้แบบ real-time
ภาพจากกล้องที่ถูกซ่อนและแอบถ่ายไว้นั้นถูกนำไปสร้างรายได้ โดยรายได้งามมาจากการขายคลิปผ่านกลุ่มปิดซึ่งเก็บค่าสมาชิก 150 หยวน (ประมาณ 700 บาท) ไม่แน่ว่าเจ๊หงอาจใช้ระบบคริปโต (cryptocurrency) เพื่อซ่อนการทำธุรกรรมก็ได้
อีกสิ่งที่น่าสนใจจากเคสนี้คือการแพร่กระจายของเนื้อหาในวิดีโอแบบไวรัล ทำให้ใบหน้าของเหยื่อหลายคนถูกเปิดเผยบนโซเชียลมีเดีย แม้ตำรวจจะเตือนไม่ให้แชร์ แต่ผู้คนยังคงแชร์ต่อ
***ป้องกันตัวเองในยุคดิจิทัล
กลับมามองที่ตัวเอง ชาวเน็ตทุกคนควรรู้เท่าทันภัยออนไลน์เพราะ Digital Literacy เป็นเรื่องสำคัญกว่าที่คิด อย่าลืมตรวจสอบโปรไฟล์ของบุคคลที่วางแผนจะไปพบให้ดี เช่นอาจใช้วิธีการ reverse image search หรือการค้นหาภาพแบบย้อนกลับที่ผู้ใช้สามารถนำไฟล์ภาพที่สงสัย ไปค้นหาภาพที่มีลักษณะคล้ายกันว่ามีในเว็บไซต์ไหนอีกบ้าง ซึ่งจะช่วยให้รู้ถึงต้นตอและที่มาของภาพได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ อาจจะใช้ video call ก่อนพบจริง เพื่อยืนยันถึงการมีตัวตน ซึ่งหากพบผู้ที่หลีกเลี่ยงการพูดคุยทางโทรศัพท์ ก็ถือว่ามีพิรุธน่าสงสัยเป็นพิเศษ
หากไปพบแล้ว ทางที่ดีควรตรวจสอบห้องพักก่อนเข้าไป โดยมองหากล้องที่มีโอกาสแอบซ่อนไว้ อาจจะใช้แอปตรวจจับ Detector ที่สามารถค้นหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
ที่สุดแล้ว เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม สามารถใช้เพื่อสร้างสรรค์ แต่ก็สามารถใช้ในทางที่ผิดได้ง่ายกว่าที่คิด ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ "ความรู้และความระมัดระวัง" และการท่องจำให้ขึ้นใจว่า "บางที ของฟรีก็อาจแพงที่สุด" ดังที่เน็ตติเซนจีนพูดไว้ เพราะสิ่งที่ดูเหมือนฟรี อาจมีต้นทุนที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน.