xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด “โซลาร์แลนด์” ขุมพลัง AWS สิงคโปร์ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยุคดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแอปพลิเคชันอัจฉริยะต่างๆ กำลังทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล ข้อมูลที่น่าสนใจคือ การบริโภคพลังงานของศูนย์ข้อมูลในเอเชียแปซิฟิกนั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 60 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี ไปเป็น 240 เทราวัตต์ชั่วโมงภายในปี 2050 แสดงว่าเวลานี้คือโอกาสดีเยี่ยมสำหรับการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด

และเมื่อพูดถึงพลังงานสะอาด อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (Amazon Web Services, Inc. หรือ AWS) บริษัทในเครือของ Amazon.com, Inc. ถือเป็นผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเอง AWS ได้ลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนแล้วกว่า 90 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 2.5 กิกะวัตต์ และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายเดิมคือการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030 แต่ AWS สามารถทำได้สำเร็จก่อนกำหนดในปี 2025 นี้แล้ว และเป้าหมายต่อไปคือการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ภายในปี 2040

AWS เชื่อว่าจะเป็น Net Zero Carbon ได้บน 3 แนวคิดหลัก ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูล จะมีการวัดประสิทธิภาพด้วยค่า PUE (Power Usage Effectiveness) ซึ่งค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 1.25 แต่ไซต์งานที่ทำงานได้ดีที่สุดของ AWS ในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 1.07

SolarLand Pesawat เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตพลังงานสะอาดมากกว่า 30,400 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
แนวคิดที่ 2 คือนวัตกรรมชิป การคิดค้นชิปที่ใช้พลังงานน้อยลง เช่น หน่วยประมวลผล Graviton ที่ใช้พลังงานน้อยกว่า EC2 instance ที่เทียบเคียงกันได้ถึง 60% หรือ Trainium 2 instances สำหรับการฝึกอบรม Generative AI ที่ใช้พลังงานน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 3 เท่า

กองทัพแผงโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ของโครงการ EDP and JTC SolarLand ในสิงคโปร์
และแนวคิดที่ 3 คือการจัดหาพลังงานสะอาด ด้วยฐานะผู้ซื้อพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลก การจัดหาพลังงานสะอาดของ AWS มีความคืบหน้าน่าสนใจมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอาเซียน โดยเฉพาะการร่วมมือกับโครงการ EDP and JTC SolarLand ในสิงคโปร์ ที่เป็นตัวอย่างชัดเจนของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนพลังงานสะอาด

*** SolarLand ระอุไฟฟ้าแดนแสงอาทิตย์

จีทีซี (JTC Corporation) นั้นเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลสิงคโปร์ในการพัฒนาและจัดการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรม โดยได้ริเริ่มโครงการพลังงานสะอาดสองโครงการคือ SolarRoof และ SolarLand ในส่วนโครงการ SolarLand นั้นเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นที่อุตสาหกรรมที่ว่างอยู่ชั่วคราวเพื่อผลิตพลังงานสะอาดให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

รูบนกรอบโครงสร้างที่ยึดแผงโซลาร์เซลล์ เจ้าหน้าที่สามารถถอดชุดแผงโลหะออกจากช่อง และดึงลากแผงโซลาร์เซลล์ที่พับเก็บไว้ออกมาเพื่อติดตั้งและใช้งานด้วยรูนี้ ทำให้รื้อถอนแผงโซลาร์ได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับการใช้งานชั่วคราวหรือในกรณีที่ต้องการพลังงานฉุกเฉิน

EDP ได้รับมอบหมายให้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบผลิตไฟฟ้า (PV) บนพื้นที่ว่างชั่วคราวกว่า 40 เฮกตาร์ทั่วสิงคโปร์
ในปี 2021 บริษัท EDP ได้รับ 1 ใน 2 สัญญาภายใต้โครงการ SolarLand เฟส 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของ JTC ในการทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และภายใต้สัญญา EDP ได้รับมอบหมายให้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบผลิตไฟฟ้า (PV) บนพื้นที่ว่างชั่วคราวกว่า 40 เฮกตาร์ทั่วสิงคโปร์ และได้พัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนพื้นดินขนาดใหญ่ (utility-scale) กว่า 50 เมกะวัตต์พีคภายใต้โครงการ SolarLand

EDP ได้รับมอบหมายให้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์แบบผลิตไฟฟ้า (PV) บนพื้นที่ว่างชั่วคราวกว่า 40 เฮกตาร์ทั่วสิงคโปร์
หนึ่งในโครงการเด่นที่ EDP พัฒนาภายใต้โครงการ SolarLand คือ SolarLand Pesawat ซึ่งมีกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ร่วม 23.2 เมกะวัตต์พีค มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 38,000 แผง ผลิตพลังงานสะอาดได้ มากกว่า 30,400 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ขณะที่ SolarLand Kallang ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ 9.2 เมกะวัตต์พีค ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ มากกว่า 15,000 แผงผลิตพลังงานสะอาดได้ มากกว่า 12,000 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

พลังงานที่ผลิตจากโครงการเหล่านี้ ถูกนำไปใช้ในการดำเนินงานของ AWS ในสิงคโปร์
EDP ยังได้นำนวัตกรรมที่น่าสนใจมาใช้ในโครงการ SolarLand ด้วย หนึ่งในนั้นคือโครงสร้างการติดตั้งแบบโมดูลาร์ (Modular Mounting Structures) ที่ยืดหยุ่นและสามารถถอดประกอบเพื่อนำไปติดตั้งใหม่ได้ เมื่อพื้นที่นั้นถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น รวมถึงโซลูชันโซลาร์เซลล์แบบตู้คอนเทนเนอร์ (Modular Containerised Solar Solution): ที่ช่วยให้สามารถติดตั้งและรื้อถอนแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยแผงโซลาร์เซลล์จะถูกเชื่อมต่อกันภายในตู้คอนเทนเนอร์และสามารถกางออกได้ด้วยระบบลูกกลิ้ง ณ ไซต์งาน ทำให้ลดทรัพยากรที่จำเป็นลงอย่างมาก

โซลูชันนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่ต้องการการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ชั่วคราว หรือที่ต้องการการติดตั้งและรื้อถอนอย่างรวดเร็ว และที่น่าทึ่งคือ ในปี 2023 โซลูชันนี้ถูกยกมาใช้เพื่อจ่ายไฟให้กับส่วนหนึ่งของงานพาเหรดวันชาติของสิงคโปร์ ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 75 กิโลวัตต์พี (kWp) พร้อมแผงโซลาร์เซลล์ 200 แผงบรรจุอยู่ในระบบเดียว

  วาเลอรี ชอย (Valerie Choy) หัวหน้าฝ่ายพลังงานหมุนเวียน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก AWS
พลังงานที่ผลิตจากโครงการเหล่านี้ ถูกนำไปใช้ในการดำเนินงานของ AWS ในสิงคโปร์ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความยั่งยืนในการบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2040

***ไทยรอต่อไป

วาเลอรี ชอย (Valerie Choy) หัวหน้าฝ่ายพลังงานหมุนเวียน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก AWS กล่าวว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) และสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ยืดหยุ่นขึ้น แนวทางเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นใหม่และไม่เคยมีเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ถือเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไทยเปิดกว้างมากขึ้นในการพิจารณาวิธีการต่างๆ เพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน

“AWS กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทย เพื่อให้พร้อมใช้ประโยชน์จากกลไกเหล่านี้เมื่อมีการประกาศ”

EDP ได้ถอนตัวออกจากตลาดประเทศไทยในปี 2020 โดยก่อนหน้านี้เคยมีส่วนร่วมเล็กน้อย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ชัดเจนด้านเวลา เพราะยังไม่มีการระบุช่วงเวลาที่ชัดเจนสำหรับการประกาศใช้จริง และแม้จะมีนโยบาย แต่ช่องทางที่ AWS จะสามารถเข้าถึงและจัดหาโครงการพลังงานหมุนเวียนได้อย่างอิสระยังไม่ชัดเจนและต้องใช้เวลา ซึ่งปัจจุบัน EDP ได้ถอนตัวออกจากตลาดประเทศไทยในปี 2020 โดยก่อนหน้านี้เคยมีส่วนร่วมเล็กน้อย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว

แนวทางนี้ถือว่าล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ที่ AWS ได้ลงนามข้อตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 กับ PLN ซึ่งเป็นบริษัทสาธารณูปโภคของอินโดนีเซีย เพื่อให้ PLN จัดหาพลังงานแสงอาทิตย์จากฟาร์มโซลาร์ใหม่ 4 แห่ง รวม 210 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีบริษัทใดทำมาก่อนในอินโดนีเซีย ณ เวลานั้น

นอกจากนี้ยังมีมาเลเซีย ที่ได้ประกาศโครงการนำร่อง Virtual PPA เมื่อปี 2022 และตอนนี้ได้พัฒนาเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้นเพื่ออนุญาตให้องค์กรจัดหาพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง


ฟิลิปา ริชคาร์ดี (Filipa Ricciardi) กรรมการบริหาร EDP Renewables APAC กล่าวว่าตลาดพลังงานสะอาดของประเทศไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นใน APAC ที่ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการควบคุม (regulated market) และแตกต่างจากตลาดที่มีการเปิดเสรี เช่น สิงคโปร์ ที่มีตลาดไฟฟ้าค้าส่ง สำหรับตลาดที่มีการควบคุมอย่างประเทศไทยนั้นยังไม่สามารถทำ Virtual PPA ได้โดยตรง แต่สามารถซื้อพลังงานหมุนเวียนผ่านโปรแกรมอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว (green tariff program) ซึ่งการทำสัญญายังคงต้องทำกับบริษัทสาธารณูปโภค

ความท้าทายที่สำคัญสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย อยู่ที่กระบวนการและและการรวมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะการทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเห็นชอบในแนวทางเดียวกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย นอกจากนี้ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบส่งจ่ายไฟฟ้า (grid strengthening) ยังจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบส่งจ่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับกำลังการผลิตใหม่ๆ ที่เข้ามา และป้องกันปัญหาการลดกำลังการผลิต (curtailment) ซึ่งเคยเป็นปัญหาใหญ่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

อุปกรณ์จัดการพลังงานของ Huawei ที่ใช้ใน SolarLand
สำหรับ AWS บริษัททิ้งท้ายว่าจะมุ่งเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก และแม้จะไม่ปฏิเสธพลังงานที่ปลอดคาร์บอนรูปแบบอื่นๆ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ แต่ก็มองว่าพลังงานหมุนเวียนนั้นมีครบครันแล้ว และเป็นสิ่งที่รัฐบาลและบริษัทสาธารณูปโภคต่างๆ เริ่มเปิดใจยอมรับมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งความตระหนักรู้ของภาครัฐและบริษัทสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เกี่ยวกับความสำคัญของพลังงานสะอาดนี้ เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในภูมิภาคนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น