xs
xsm
sm
md
lg

AI ปฏิวัติกฎหมายไทย 70,000 ฉบับเทียบภาษาไทย-อังกฤษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจับมือไมโครซอฟท์ ใช้พลังปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบคลาวด์ (Cloud) เปลี่ยนโฉมหน้าระบบกฎหมายของประเทศไทย ลุยเปิดระบบ TH2OECD ใช้เปรียบเทียบกฎหมายภาษาไทยและอังกฤษ สางปมภาษาที่อาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการทำกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือ สคก. กล่าวว่า สคก.ในฐานะหน่วยงานที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลไทย ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และ AI โดยจับมือกับไมโครซอฟท์ เพื่อยกระดับระบบกฎหมายของประเทศ และก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) อย่างมั่นคง

"การเป็นสมาชิก OECD ไม่ใช่เพียงการได้เครื่องหมายรับรอง แต่เป็นคำมั่นสัญญาว่าเราจะยึดมั่นในมาตรฐานสากล ความโปร่งใส และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"

 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือ สคก.
ก่อนหน้านี้ ภารกิจในการทำให้กฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอาจจะท้าทายและใช้เวลานานหลายปีในการดำเนินการ แต่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำเทคโนโลยี AI มาใช้จนทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้ภายในไม่ถึงหนึ่งปี ตั้งแต่พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา ประกาศ และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความซับซ้อนอย่างมาก เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา "ภาษา" กลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการทำให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการแปล รวมถึงการเปรียบเทียบเอกสารทางกฎหมายระหว่างภาษาไทยและอังกฤษนั้นซับซ้อนและใช้เวลามาก

นี่คือจุดที่ความร่วมมือระหว่าง สคก. กับไมโครซอฟท์เข้ามามีบทบาท ทั้งคู่ได้พัฒนาระบบ AI ที่ชื่อว่า "TH2OECD" ขึ้นมา ซึ่งสร้างบนแพลตฟอร์ม Microsoft Azure OpenAI


ระบบนี้มีความสามารถที่น่าทึ่ง สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ กับข้อกำหนดของ OECD กว่า 270 ฉบับ ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

สิ่งที่น่าสนใจคือระบบ AI นี้ไม่เพียงแค่ช่วยแปลภาษาเท่านั้น แต่ยังใช้เทคโนโลยี Natural Language Processing หรือ NLP ในการเปรียบเทียบและไฮไลต์ความแตกต่าง ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายสามารถประเมินความสอดคล้องและแนะนำแนวทางปรับปรุงได้อย่างแม่นยำ

เป้าหมายของการพัฒนาระบบ OECD ไม่ใช่เพียงการปฏิรูปกฏหมายระดับชาติ แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือระดับโลก

ในอีกด้าน สคก. จะสามารถเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลกฎหมายในรูปแบบ PDF ที่ไม่สามารถสืบค้นได้ ไปสู่การจัดเก็บในรูปแบบที่เป็นโครงสร้าง พร้อมค้นหาได้ทันที นอกจากนี้ ยังใช้ Microsoft 365 และ Copilot เพื่อให้ทีมงานสามารถทำงานร่วมกัน อัปเดตเอกสาร และวิเคราะห์เชิงนโยบายได้จากทุกที่ทั่วประเทศ

นายไมค์ เย รองประธานภูมิภาคฝ่ายกิจการองค์กรภายนอกและกฎหมายจากไมโครซอฟท์
นายไมค์ เย รองประธานภูมิภาคฝ่ายกิจการองค์กรภายนอกและกฎหมายจากไมโครซอฟท์ ได้ให้ความเห็นว่าภารกิจในการเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับกับเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD กว่า 276 รายการภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

"เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการนำ AI มาใช้เพื่อปรับกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ภารกิจในการเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับกับเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD กว่า 276 รายการภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ ขณะที่สคก. ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าและความเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน"

ในอนาคต สคก. มีแผนขยายการใช้งานระบบนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ รวมถึงเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่นๆ พร้อมพัฒนา "ศูนย์รวมข้อมูลกฎหมายส่วนกลาง" ที่ให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยมี AI คอยสนับสนุนต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น