xs
xsm
sm
md
lg

AIS-อมตะ อัด 5G พลิกนิคมอุตสาหกรรม EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



AIS-อมตะ รีบูตนิคมอุตสาหกรรม EEC อัด 5G–AI เปลี่ยนโรงงานไทยหลุดยุค 2.0 สู่ 4.0 รองรับเม็ดเงินทุนทั่วโลกทะลัก ขึ้นแท่นฮับอุตฯอัจฉริยะแห่งอาเซียน

นายสมภพ กิตติวิรุฬห์วัฒน หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออก AIS เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ทั้งทะเล หมู่เกาะ ภูเขา และระบบขนส่งที่เชื่อมต่อทั้งทางเรือ สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง

AIS มีบทบาทหลักในการวางรากฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC และโดยรอบ ทั้งในเขตเมือง นิคมอุตสาหกรรม ชุมชนเกษตร และพื้นที่ท่องเที่ยว โดยในภาคเกษตร ได้มีการนำเทคโนโลยี IoT และระบบ 4G/5G เข้าไปช่วยควบคุมสวนผลไม้ เช่น ทุเรียนในจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมติดตั้งกล้องและเซ็นเซอร์เพื่อป้องกันการโจรกรรม

ในภาคอุตสาหกรรม AIS ได้ขยายเครือข่ายเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ เช่น การใช้ 5G แทน Wi-Fi ในท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรของระบบการทำงาน โดยในพื้นที่ EEC ขณะนี้มีสัญญาณครอบคลุม 100% ส่วนพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกครอบคลุมกว่า 95%

ด้านการท่องเที่ยว AIS ได้ลงทุนขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออปติก (Fiber Optic) ไปยังเกาะสำคัญ เช่น เกาะล้าน เกาะเสม็ด และเกาะช้าง รวมถึงสร้างระบบสื่อสารสำรองใต้ทะเลและระบบไมโครเวฟ เพื่อรองรับการใช้งานหนาแน่นในฤดูกาลท่องเที่ยว พร้อมวางแผนรองรับการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด และเปิดช่องทางจำหน่ายใหม่ในจุดท่องเที่ยวยอดนิยม

นายสมภพ กิตติวิรุฬห์วัฒน หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค-ภาคตะวันออก AIS
ขณะที่ นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวว่า เกาะท่องเที่ยวในภาคตะวันออกอยู่ใกล้ชายฝั่งมากกว่าภาคใต้ จึงเอื้อต่อการวางระบบไฟเบอร์ออปติกและระบบไมโครเวฟให้มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้ AIS สามารถขยายโครงข่ายครอบคลุมกว่า 96% ทั้งในเกาะล้าน เกาะช้าง เกาะเสม็ด และเกาะกูด รองรับการท่องเที่ยวแบบไร้รอยต่อ

ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของ GDP ประเทศ AIS มองว่า ประเทศไทยยังคงอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 2.0 ถึง 61% ขณะที่มีเพียง 2% เท่านั้นที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ AIS เข้ามาปลั๊กอินระบบ IoT, AI, Cloud และ Big Data เข้ากับระบบโรงงานเดิม ผ่านการออกแบบเฉพาะเจาะจง (Tailor-Made) แทนการใช้โซลูชันสำเร็จรูป

นายวสิษฐ์ กล่าวว่า AIS ได้ทำงานร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม 16 แห่งใน EEC พร้อมพัฒนาโครงข่ายร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และจัดตั้งศูนย์ Collaboration Center เพื่อแสดงรูปแบบการใช้งาน (Use Case) จริง ที่สามารถวัดผลได้ ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต (Productivity) และการลดต้นทุนอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการเด่น เช่น โรงงานต้นแบบ 5G ในวังจันทร์วัลเลย์ ระบบ IoT ในท่าเรือแหลมฉบัง และ AI สำหรับบริหารจัดการ Supply Chain ถือเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีลงสู่ระบบเศรษฐกิจจริง โดย AIS ยังเป็นผู้ให้บริการ NB-IoT เชิงพาณิชย์รายเดียวในประเทศไทย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ยังไม่พร้อมเปลี่ยนเครื่องจักรในทันที

ขณะเดียวกัน AIS ยังทำหน้าที่เป็นโค้ชดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการโรงงาน ในการจัดทำโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ EEC รวมถึงการช่วยยกระดับทักษะแรงงานท้องถิ่น ผ่านความร่วมมือกับสถาบันไทย-เยอรมัน และคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC)

"การยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่คือการเข้าใจโจทย์ของแต่ละโรงงานอย่างลึกซึ้ง แล้วจึงออกแบบโซลูชันที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละบริบทจริง AIS จึงไม่ได้ขายเทคโนโลยี แต่ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในทุกขั้นตอน เพื่อให้เทคโนโลยีสามารถสร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจได้จริง" นายวสิษฐ์ กล่าว

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS
ด้าน นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน อมตะมีพื้นที่นิคมรวมกว่า 50,000 ไร่ในประเทศไทย และตั้งเป้าขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 65,000 ไร่ ภายในปี 2568 พร้อมทั้งมีการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม ลาว และเมียนมา โดยเฉพาะในลาวที่เตรียมพัฒนาโครงการระยะแรกขนาด 200 ตารางกิโลเมตร และมีแผนขยายสูงสุดถึง 500 ตารางกิโลเมตรในอนาคต

อมตะเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่แค่แหล่งตั้งโรงงาน แต่เป็นเมืองครบวงจรที่มีทั้งโรงเรียน โรงแรม ระบบชีวิต และโครงสร้างพื้นฐานครบทุกมิติ รองรับแรงงานและผู้บริหาร โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างระบบเชื่อมต่อดิจิทัลที่มีเสถียรภาพ และพร้อมใช้งานได้ภายใน 4 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานรูปแบบใหม่ของ AIS

นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอมตะและ AIS ยังครอบคลุมถึงการติดตั้ง 5G Private Network และระบบ IoT ภายในเครื่องจักรของโรงงาน อาทิ กรณีของสยามโตโยต้า ที่สามารถลดปัญหาจากการเคลื่อนย้ายสายการผลิต ด้วยระบบควบคุมคุณภาพและการจัดการพลังงานแบบเรียลไทม์ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จะไม่เกิดขึ้นเพียงเพราะมีระบบไฟเบอร์หรือ 5G เท่านั้น แต่ต้องมีระบบหลังบ้านที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล โรงเรียน ระบบน้ำ และพลังงาน รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐที่ต้องมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่า สามารถเปิดดำเนินการโรงงานได้ภายใน 7-8 เดือนหลังจากตัดสินใจลงทุน

ในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล อมตะมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ในนิคมมานานกว่า 10 ปี และกำลังขยายพื้นที่เพิ่มอีกกว่า 1,000 ไร่ เพื่อรองรับผู้เล่นระดับโลก อาทิ NTT Docomo บริษัทโทรคมนาคมและโทรศัพท์ของญี่ปุ่น และบริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด (GSA) โดยกำหนดให้ต้องมีเส้นทางเชื่อมต่อใยแก้วนำแสงอย่างน้อย 5 เส้นทางใต้ดิน เพื่อความปลอดภัยในระดับสูง

นอกจากนี้ AIS ยังเดินหน้าวางโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมทุกโซนของนิคมอมตะ โดยเฉพาะในจุดทดสอบนวัตกรรม เช่น ห้องทดลองของ ITAP ที่สามารถควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกลแบบเรียลไทม์ และตั้งเป้าขยายรูปแบบการใช้งานให้ครอบคลุมนิคมทั้งหมด

แม้เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศยังคงมีความไม่แน่นอน แต่มุมมองของอมตะเชื่อว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขต EEC ยังคงเป็นแม่เหล็กสำคัญที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน

"ความร่วมมือกับ AIS ไม่เพียงแต่ช่วยให้เรามีโครงข่ายที่เร็วขึ้น แต่คือการต่อยอดศักยภาพของนิคมฯ ไปสู่ยุคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ทั้งระบบ 5G, IoT และดาต้าเซ็นเตอร์ ล้วนเป็นหัวใจที่ทำให้นิคมของอมตะไม่ใช่แค่พื้นที่ตั้งโรงงาน แต่เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่พร้อมรองรับอนาคตได้อย่างแท้จริง" นายวิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)










กำลังโหลดความคิดเห็น