กระทรวงดีอี ล้างไพ่ เดินหน้าปรับ พ.ร.บ.ไปรษณีย์ จัดโครงสร้างกำกับใหม่ บีบทุกเจ้าเข้าระบบ ดันไปรษณีย์ไทยเป็น Banking Agent ไม่แบกความเสี่ยงเป็น Virtual Bank
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการไปรษณีย์ พ.ศ. … ได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินแล้วอย่างครบถ้วน ชัดเจนว่าต้องมีการแก้ไข โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการกำกับดูแลที่จะครอบคลุมผู้ให้บริการทุกรายในระบบ ไม่เว้นแม้แต่ไปรษณีย์ไทยที่ต้องเข้าระบบเดียวกันนี้ด้วย ประเด็นที่ยังต้องพิจารณา คือ ระดับการเชื่อมโยงระหว่างคณะกรรมการกำกับกับฝ่ายบริหาร ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด โดยแนวทางที่กำลังวางกรอบอยู่มีความใกล้เคียงกับคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (กธอ.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงดีอีจะมีบทบาทร่วมอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ความเห็นชอบในทุกเรื่อง
"ยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้ล่าช้า เพียงแต่ต้องใช้เวลาในการเคลียร์ประเด็นด้านการกำกับดูแลให้ชัดเจนมากขึ้น และท่ามกลางการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ที่รุนแรง มองว่า การมี Regulator ไม่ได้ป้องกันการแข่งขัน แต่ช่วยยกระดับบริการให้ผู้บริโภค ขณะที่เรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม ยังมีสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ทำหน้าที่กำกับอีกชั้นหนึ่ง โดยภาพรวมไปรษณีย์ไทยในครึ่งปีแรกถือว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี มีกำไรในธุรกิจขนส่ง แต่เป้าหมายของกระทรวงไม่ได้ต้องการให้ไปรษณีย์มีกำไรเพียงอย่างเดียว หากต้องการให้ตลาดมีผู้ให้บริการที่เหมาะสมและเติบโตอย่างสมดุล" ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ไปรษณีย์ไทยไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง คิดว่าไม่ควรลงทุนตั้งแต่ต้น เพราะการดำเนินธุรกิจต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูงและมีความเสี่ยงมาก ไปรษณีย์ไทยไม่ควรนำจุดแข็งเรื่องเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์มาใช้ผิดทิศผิดทาง แต่ควรเน้นบทบาทในฐานะ Banking Agent แทนการเป็น VirtualBank เอง โดยให้บริการแทนธนาคารในพื้นที่ห่างไกล เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ และผู้ไม่มีบัญชีธนาคาร
"ไปรษณีย์ไทยยังคงเป็นกำลังสำคัญของประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ ควรรักษาจุดแข็งด้านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ มีความสามารถในการให้บริการประชาชนถึงบ้าน และมีความไว้วางใจจากสังคม จึงเหมาะสมที่จะพัฒนาบทบาทสนับสนุนระบบ Virtual Bank โดยไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินโดยตรง" ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว