อีริคสัน มองโอเปอเรเตอร์ไทย ยังแข่งขันในตลาดที่เน้นคุณภาพของเครือข่าย โดยเฉพาะจากการเติบโตของดาต้าตามความต้องการของผู้ใช้ ชี้คลื่น 3500 MHz ยังจำเป็นสำหรับรองรับปริมาณการใช้งานดาต้าที่คาดว่าภายในปี 2030 คนไทยจะใช้เน็ตเฉลี่ยเดือนละ 67 GB
แอนเดอร์ส เรียน ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า จากรูปแบบพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์เคลื่้อนที่องผู้บริโภคในประเทศไทย โดยเฉพาะการรับชมบริการสตรีมมิ่งไม่ว่าจะเป็นผ่านการใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือรับชมคอนเทนต์ผ่านแอปพลิเคชันและบริการต่างๆ ทำให้ปริมาณการใช้งานดาต้าในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ฝั่งผู้ให้บริการก็มีความท้าทายในการขยายเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ และเพียงพอกับการใช้งาน ในขณะที่ภาครัฐก็ควรที่จะสร้างสภาวะที่เอื้่อต่อการลงทุน โดยเฉพาะการกำหนดราคาคลื่นความถี่ให้เหมาะสม เปิดทางให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้ โดยไม่กระทบต่อการใช้งานของผู้บริโภค”
เทรนด์หนึ่งที่น่าจับตาคือปริมาณการใช้งานทราฟิกที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นของ Generative AI ซึ่งจากผลสำรวจของอีริคสัน ในปีที่ผ่านมา พบว่าการใช้งาน AI ใช้แบนด์วิดท์เพียง 0.6% ของปริมาณแบนด์วิดท์ที่ใช้งานทั่วโลก เพียงแต่ว่าในช่วงเวลานั้น รูปแบบของการใช้งาน AI จะอยู่ในลักษณะของการ Prompt คำสั่งที่เป็นตัวอักษร ทำให้ใช้งานดาต้าน้อยมาก
แต่ในอนาคต เมื่อมีการนำ AI มาใช้งานในชีวิตประจำวันมากขึ้น ผ่านทั้งอุปกรณ์พกพา หรืออุปกรณ์สวมใส่อย่างแว่นตา ที่ใช้การส่งทั้งภาพ และเสียง เพื่อให้ AI ช่วยประมวลผล ปริมาณการใช้งานแบนด์วิดท์มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีลักษณะการใช้งานในแบบ Eary Adopter ในกลุ่มเทคโนโลยี จึงทำให้โอเปอเรเตอร์ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
“ในอนาคต เมื่อ AI เป็นที่แพร่หลาย และแอปฯ AI มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจึงต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการอัปลิงก์ (Uplink) และระยะเวลาแฝงในการรับ-ส่งข้อมูล (Latency) มากขึ้น”
ส่วนหนึ่งของข้อมูลการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นนี้ มาจากรายงาน Ericsson Mobility Reports 2024 ที่ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันคนไทยมีการใช้งานดาต้าเฉลี่ยอยู่ราวเดือนละ 35 GB และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 67 GB ต่อเดือนในปี 2030
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นของภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย จะหนีไม่พ้นเรื่องของการขยายคุณภาพเครือข่ายเพื่อให้รองรับกับการใช้งานของผู้บริโภคที่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงความท้าทายในเรื่องของการสร้างรายได้ จากปริมาณดาต้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายเครือข่ายต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยยังไม่มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3500 MHz ที่เป็นย่านความถี่กลาง ซึ่งรองรับกับการใช้งาน 5G ที่ให้แบนด์วิดท์สูง โดยเฉพาะการทำงานแบบ 5G Standalone (5G SA) จึงทำให้ไม่ได้มีคลื่นความถี่มาตรฐานที่มาใช้รองรับตรงจุดนี้ และกลายเป็นว่าโอเปอเรเตอร์ ยังรอโอกาสที่จะลงทุนเพิ่มจากคลื่น 3500 MHz อยู่
ส่วนในเรื่องของการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา จะเห็นว่าโอเปอเรเตอร์จะเน้นเข้าประมูลคลื่นความถี่เดิมที่ใช้งานอยู่ อย่าง AIS ได้คลื่นความถี่ 2100 MHz ที่มีการลงทุนอุปกรณ์สำหรับให้บริการอยู่แล้ว ขณะที่ True ได้คลื่น 2300 MHz เพิ่มขึ้นมา 10 MHz เพื่อขยายคาปาซิตี้ให้รองรับการใช้งาน 4G หรือ 5G ได้มากขึ้น เสริมด้วยคลื่น 1500 MHz ที่สามารถใช้ได้ทั้ง 4G และ 5G เช่นเดียวกัน
“ปัจจุบันคลื่น 1500 MHz จะถูกใช้งานกับคลื่น 4G เป็นหลักในลักษณะของการนำมาเสริมในเรื่้องของดาวน์ลิงก์ ทำให้รองรับการใช้งานในพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น และมีอุปกรณ์ในตลาดที่รองรับทั้ง iPhone 15 iPhone 16 รวมถึง Galaxy S24 และ S25 เพียงแต่ถ้าเป็นการให้บริการ 5G จะรองรับเฉพาะอุปกรณ์รุ่นใหม่อย่าง iPhone 16 และ S25 เท่านั้น”