xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสงครามไซเบอร์ ถอดรหัสเกมย้ายหมุดปราสาทตาเมือนธมใน Google Maps

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ่านเกมย้ายหมุดปราสาทตาเมือนธมใน Google Maps ผ่าน 4 ขั้นตอนการแก้ไขข้อมูลในระบบแผนที่สุดฮิต จับตาสัญญาณปัญหาความแม่นยำ - ข้อจำกัดของแผนที่ดิจิทัลที่ผู้ใช้เทคโนโลยีต้องรู้ในยุคสงครามข้อมูล ซึ่งเทคโนโลยีถูกหยิบมาใช้ในการสื่อสารตลอดเวลา

***ย้ายหมุด ทำง่าย?

เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางการกัมพูชาได้ทำการย้ายหมุดของ "ปราสาทตาเมือนธม" ใน Google Maps จากฝั่งประเทศไทยไปอยู่ในเขตแดนของตัวเอง


จากข้อมูลของเพจ "Army Military Force - สำรอง" พบว่า รัฐบาลเขมรได้ทำการย้ายหมุดปราสาทตาเมือนธมในแอปพลิเคชัน Google Maps จากฝั่งประเทศไทยไปอยู่ในฝั่งกัมพูชา โดยใช้พิกัด 14.349597904473361, 103.26662069859759

สิ่งน่าสนใจคือ ปราสาทตาเมือน บายกรีม และปราสาทตาเมือนโต๊ด ริมถนน 2407 ยังคงอยู่ในเขตประเทศไทยเหมือนเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการนี้มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง

หากมองในมุมคนไอที การย้ายหมุดใน Google Maps นั้นทำได้ไม่ยาก ผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้ฟีเจอร์ "แนะนำการแก้ไข" หรือ Suggest an Edit ได้ง่ายๆ ผ่าน 4 ขั้นตอน


ขั้นที่ 1 คือเข้าสู่ Google Maps และค้นหาสถานที่ที่ต้องการแก้ไข ขั้นที่ 2 คือคลิกเลือก "แนะนำให้แก้ไข" ขั้นที่ 3 คือปรับตำแหน่งหมุดไปยังตำแหน่งใหม่ และขั้นที่ 4 คือส่งคำขอแก้ไขไปยัง Google

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขจะต้องผ่านการตรวจสอบโดยอัลกอริทึมของ Google และทีมงาน ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของข้อมูล

***แม่นย้ำหรือไม่แม่น? แผนที่ดิจิทัล

เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของแผนที่ดิจิทัล Google Maps ที่อาศัยข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งดาวเทียม GPS ผู้ใช้ และหน่วยงานพาร์ทเนอร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข้อพิพาท เช่น เขตชายแดน

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้ชมต้องเข้าใจคือ การย้ายหมุดใน Google Maps ไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อมูลในแผนที่อย่างเป็นทางการของรัฐบาล และไม่มีผลทางกฎหมายในระดับชาติหรือนานาชาติแต่อย่างใด ซึ่งในอีกด้าน กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ "สงครามข้อมูล" หรือ Information Warfare ในยุคดิจิทัล ซึ่งมีการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อโฆษณาชวนเชื่อหรือสร้างความเข้าใจผิด


แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็สามารถจุดกระแสความขัดแย้งหรือความเข้าใจผิดในหมู่สาธารณชนได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังของแผนที่ดิจิทัลในการกำหนดการรับรู้ของสาธารณชน โดยก่อนหน้านี้ ฝ่ายไทยก็เล่นเกมสงครามไซเบอร์บน Google Maps เช่นกัน ด้วยการตั้งชื่อพิกัดที่เกี่ยวข้องกับผู้นำกัมพูชาบนแผนที่ จนทำให้เกิดไวรัลทั่วโซเชียล

ฝ่ายไทยก็เล่นเกมสงครามไซเบอร์บน Google Maps เช่นกัน ด้วยการตั้งชื่อพิกัดที่เกี่ยวข้องกับผู้นำกัมพูชาบนแผนที่ จนทำให้เกิดไวรัลทั่วโซเชียล
อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่สอนทุกคนได้ คือเหตุการณ์นี้แสดงให้โลกเห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบข้อมูลในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถแก้ไขได้ ทำให้ชาวเน็ตจำเป็นต้องศึกษาและรู้ให้ทันความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จด้วย


สรุปแล้ว การย้ายหมุดปราสาทตาเมือนธมใน Google Maps เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างรับผิดชอบ และควรตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ก่อนเชื่อและแชร์ต่อ ที่สำคัญคือเทคโนโลยีมีทั้งด้านดีและความเสี่ยง การใช้อย่างถูกต้องและมีสติจะช่วยให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี.


กำลังโหลดความคิดเห็น